มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2553
หากเราไม่เกี่ยงงอนเรื่องที่มา หากมนุษย์คือมนุษย์ ศิลปศาสตร์ทั้งหมดย่อมสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ จิตตปัญญาศึกษาย่อมไม่ถูกตัดขาดเป็นห้วงๆ หากสามารถปะติดปะต่อเชื่อมโยง ไม่ว่าจะมาจากตะวันออกตะวันตก จากห้องทดลองหรือห้องสมาธิ จากอารยธรรมที่เจริญแล้วหรือชุมชนบุพกาล ปัญญาปฏิบัติอาจร้อยเชื่อมเข้าหากันอย่างปราศจากการตีตรา ปราศจากพรมแดนกีดกั้น และเมื่อนั้นหัวใจของเราย่อมอาจเชื่อมถึงกันได้
ด้านหนึ่งของการเทียบเคียงกับศาสตร์ตะวันตก คือการเปรียบเทียบกับงานวิจัยอันเกี่ยวเนื่องกับสมอง ซึ่งผมได้ติดตามมาโดยตลอด ผมคิดว่ามันให้อะไรใหม่ออกไปด้วย อย่างน้อยคือให้การอธิบายอีกมุมมองหนึ่ง มีคนอยู่ไม่น้อยที่จะบอกว่า พุทธศาสนาของเราดีอยู่แล้ว มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ผมไม่อยากเชื่อเช่นนั้นจะได้ไหม ผมสนใจอ่านงานของท่านพุทธทาส งานของเจ้าคุณประยุทธ (พระพรหมคุณาภรณ์) แต่ผมเห็นว่าตะวันตกเขามีอะไรให้เราเรียนจริงๆ ผมอาจจะแยกตะวันตกที่น่าเรียนรู้ออกเป็นสองสาย สายหนึ่งคือเรื่องของงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง อีกสายหนึ่งคือการค้นเข้าไปในจิตไร้สำนึก โดยเฉพาะในสาย คาร์ล จุง สโตนสามีภรรยา (ฮัล กับ ซิดรา สโตน) และมินเดลสามีภรรยา (อาร์โนลด์ กับ เอมี มินเดล) ซึ่งน่าสนใจมากๆ ผมอยากจะค่อยๆ เทียบเคียงพุทธกับจุงและงานวิจัยทางสมองดู โดยเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องตัวตนกับการภาวนา อยากจะเขียนเป็นเรื่องยาว ซึ่งไม่จบในตอนเดียว โดยเรื่องแรกที่อยากจะเอามาเทียบเคียงคือเรื่องอารมณ์
อารมณ์
เราจะทำความเข้าใจเรื่องของอารมณ์อย่างไร? ในยุคข้อมูลข่าวสาร จะมีหลากหลายวัฒนธรรมแห่งความรู้ไหลเข้ามาปะปนกันอย่างไม่อาจจะแยกออกจากกันชัดเจนได้ หรือเราจะผสมผสานความรู้ต่างๆ เข้ามา แล้วทำให้เป็นความรู้ของเราเอง
แจ็ค คอนฟิลด์ เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาโรคซึมเศร้าอย่างลุ่มลึก เขาสามารถนำพาตัวเองให้เป็นโรคซึมเศร้าแล้วนำพาตัวเองให้หายจากโรคซึมเศร้าได้ เขาจึงรู้จักมันเป็นอย่างดี เขากล่าวว่า เราไม่สามารถบังคับหรือกำกับอารมณ์ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้ แต่เราสามารถกำกับพฤติกรรมได้ ในการรักษาโรคซึมเศร้า คอนฟิลด์จะกำกับพฤติกรรมของตัวเอง ทำสิ่งที่สวนทางกับอาการของโรคซึมเศร้า เช่น แทนที่จะเก็บตัว เขาก็ฝืนนำพาตัวเองไปในงานสังคมต่างๆ แทนที่จะปล่อยปละละเลยตัวเอง เขาก็บังคับตัวเองให้แต่งตัวสดใส เป็นต้น
แคนเดส เพิร์ต เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของอารมณ์ เธอบอกว่า ศูนย์กลางของชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ความคิด ความคิดเป็นส่วนหนึ่งของจิต และจิตนั้นกระจายตัวอยู่ทั่วร่างกายของเรา ที่จริงเมื่อเรามีอารมณ์ อารมณ์จะเป็นของเซลล์ทุกเซลล์ ที่ผนังเซลล์จะมีที่รองรับเปปไทด์ (peptide) หรือโมเลกุลอารมณ์อยู่ เหมือนแม่กุญแจ ส่วนเปปไทด์เป็นลูกกุญแจ โดยเปปไทด์จะก่อเกิดในสมองส่วนไฮโปไทลามัสแล้วถูกสูบฉีดไปทั่วร่างกาย เราจึงสามารถเสพติดอารมณ์ได้เช่นเดียวกับที่เราเสพติดยาเสพติด เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอารมณ์ เราจะกลายเป็นอารมณ์นั้นๆ หรือเราได้กลายมาเป็นตัวตนหนึ่งๆ บุคลิกหนึ่งๆ หรือคือการเสวยชาติภพในปฏิจจสมุปบาท ณ ขณะนั้นๆ
ความเป็นปกติ
สิ่งที่น่าสนใจคือ "ความปกติ" ทางอารมณ์ หรือในทางปฏิบัติธรรม ที่ท่านพุทธทาสพูดถึงความเป็นปกติ แต่ผมจะขอกล่าวถึงความไม่เป็นปกติทางอารมณ์เสียก่อน เพื่อจะได้เข้าใจว่าความเป็นปกติคืออะไร ผมได้บอกเล่าไว้ในหนังสือ หันหน้าเข้าหากัน คู่มือกระบวนกร ว่าชีวิตมีอยู่สองโหมด คือโหมดปกติกับโหมดปกป้อง ในโหมดปกป้องนี้เองที่เราจะไม่ปกติ ในระดับของมนุษย์ เมื่อเข้าสู่โหมดปกป้อง สมองจะวิ่งไปหาความทรงจำทางอารมณ์อันไม่ปกติในอมิกดาลาที่อยู่ในสมองส่วนกลาง (สมองสามส่วนจะเชื่อมโยงเข้าหากัน คือ อมิกดาลา สมองสัตว์เลื้อยคลาน และสมองซีกซ้าย) โดยสมองเลื้อยคลานจะเป็นผู้นำ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ เรียกกระบวนการใช้สมองแบบนี้ว่า “de-evolution” หรือแปลไทยคือ “ความถดถอยทางวิวัฒนาการ” อันที่จริงมันเป็นกลไกของชีวิตที่ต้องการนำพาชีวิตให้รอดเมื่อเจอภัยอันตราย จึงไม่อาจชักช้าใคร่ครวญ จึงตัดวงจรของสมองส่วนหน้าแห่งการใคร่ครวญออกไป เข้าไปสู่สัญชาตญาณแห่งการอยู่รอด
แต่ในความพิเศษของมนุษย์อันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย คือเราสามารถจินตนาการ ดังนั้น แทนที่เราจะเข้าสู่โหมดปกป้องเฉพาะในยามที่เผชิญอันตรายจริงๆ การณ์กลับกลายเป็นว่า เราเข้าสู่โหมดปกป้องทุกครั้งที่จินตนาการเห็นเรื่องเลวร้าย โดยที่ยังไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นเลย
ในพุทธศาสนา ความเป็นปกติเป็นฐานแรกแห่งการเรียนรู้ เราจะตื่นรู้เรียนรู้การออกจากทุกข์ได้ด้วยการเข้าสู่ความเป็นปกติ โดยท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ศีลคือความเป็นปกติ
แบบแผนอันคุ้นชินแห่งจิตและจิตไร้สำนึก
ตรุงปะใช้คำว่า habituated pattern ในหนังสือของเขา ส่วนใน สู่ชีวิตอันอุดม หรือ Understanding Our Mind ของไถ่ นัท ฮันห์ กล่าวถึง store consciousness หรืออาลัยวิญญาณ ผมคงเทียบเคียงกับจิตไร้สำนึก และเทียบเคียงกับวงจรสมองในงานวิจัยสมอง โดยในอาลัยวิญญาณนี้มีเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล อกุศลและกลางๆ หากเรานำเมล็ดพันธุ์นั้นๆ มาปฏิบัติ เช่น หากเราโกรธ เมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธก็จะงอกงามขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ และอาจจะขยายพันธุ์ครอบคลุมสวนของเรา ซึ่งได้แก่อาลัยวิญญาณ เช่นเดียวกับที่เราก็อาจจะขยายพันธุ์เมตตากรุณาให้แพร่หลายและเติบใหญ่ได้เช่นกัน
เมื่อเทียบเคียงกับเรื่องของสมอง วงจรสมองนั้น หากเราทำซ้ำๆ จะเกิดวงจรสมองที่เข้มแข็ง กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา กลายมาเป็นตัวตนหนึ่งๆ นิสัยหนึ่งๆ บุคลิกภาพหนึ่งๆ ดังเช่นความเป็นคนขี้หงุดหงิด อาจจะกลายมาเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งของเรา ดังที่คนเป็นโรคเบาหวาน ความดัน มักจะเป็นคนดื้อ ไม่ยอมเปลี่ยนนิสัยอย่างง่ายๆ ได้เลย เป็นต้น
เราเอาเรื่องนี้กลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นปกติและความไม่เป็นปกติของเราได้หรือไม่ หากเราหวาดผวา กลัว สร้างจินตนาการแห่งความกลัวในชีวิตของเราไปเสียหมดทุกเรื่อง มันจะกลายมาเป็นแบบแผนแห่งความคุ้นชิน แบบแผนที่ฝังตัวเป็นวงจรสมองที่อุปไมยอุปมาจากทางเดินเล็กๆ ได้กลายมาเป็นทางเกวียน กลายมาเป็นถนนลูกรัง กลายมาเป็นถนนลาดยาง จนกระทั่งบัดนี้ได้กลายเป็นทางด่วน จึงสะดวกที่จะจินตนาการด้านลบ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเรา อย่างยากที่จะกลับกลายเปลี่ยนแปลง
หรือตรงกันข้าม เราจะตื่นรู้และไม่หลงไปในทางดังกล่าว จินตนาการดังกล่าว หากเรามีความตื่นรู้และการใคร่ครวญในทุกเรื่องราวแห่งชีวิต เทียบเคียงกับสมองแล้ว เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า นักวิทยาศาสตร์ชื่อ เดวิด เดวิดสัน ได้วิจัยว่าเมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะออกมาจากวงจรลบๆ ของอมิกดาลา ที่เชื่อมโยงอยู่กับสมองสัตว์เลื้อยคลานกับสมองซีกซ้ายบางส่วน ดังที่กล่าวถึงไว้แล้วข้างต้น คือหากใคร่ครวญ มันจะไม่คิดลบ ไม่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ เป็นต้น
ความตื่นรู้
ความตื่นรู้และความรู้เท่าทันจึงอาจกลายเป็นความคุ้นชินอย่างใหม่ให้แก่เราได้ หากเราฝึกฝืน อันนี้เป็นที่มาของการฝึกสติและสมาธิในพุทธศาสนา ใน ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของไถ่ นัท ฮันห์ ท่านให้เราฝึกการตื่นรู้ในทุกๆ กิจกรรม ทุกๆ อิริยาบถในชีวิต ไม่ว่าจะล้างหน้า แปรงฟัน พูดคุยกับคน แม้แต่ในขณะที่กำลังคิดโครงการในอนาคต เราก็สามารถฝึกการตื่นรู้ได้ หรือการตื่นรู้เป็นวงจรสมองอีกอันหนึ่ง ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงสมองหลายส่วนเข้าด้วยกันกับการทำงานแห่งการตื่นรู้นี้ เราอาจจะไม่ต้องลงไปลึกนักในเรื่องของสมอง แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่า เราสามารถทำการตื่นรู้นี้ ให้ชีวิตเข้มแข็ง แจ่มจำรัส ขึ้นได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2553
วิธีการอบรมในโครงการยกระดับคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระบบ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ที่ดำเนินการโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เครือข่าย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากวิธีการอบรมทั่วไปที่สำคัญประการหนึ่งคือ การใช้แนวคิดและกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาเป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เข้ารับการอบรม โดยเฉพาะในชุดการเรียนรู้ (Learning Module) ที่ ๑ เรื่อง “การวิเคราะห์บริบท: ความท้าทายของการบริหารการศึกษาในอนาคต” ที่ผู้เขียนเป็นผู้ออกแบบและอบรมวิทยากรแกนนำ ๑,๑๐๐ คน รวมถึงการเป็นวิทยากรกระบวนการตามที่ได้รับเชิญทั่วประเทศ โดยดำเนินการอบรมภายใต้กรอบความคิด “๔ – ๓ - ๓”
โดยที่ ๔ หมายถึง การอบรมตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐาน/หลักการ ๔ ประการ คือ
- เชื่อมั่นและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้
- ยอมรับและเคารพในความไม่เหมือน/ความแตกต่างของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง
- เชื่อในความเป็นองค์รวม (Holism) ไม่ใช่กองรวม (Heap) หรือแยกส่วน
- เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้
บนความเชื่อดังกล่าว การอบรมจึงไม่เน้นการบรรยาย แต่ใช้การจัดกระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายเช่น กิจกรรมสามเหลี่ยมด้านเท่า การเขียนอิสระจากใจ การสื่อสารแบบผึ้งหรือผึ้งสื่อสาร และสายธารชีวิต: กว่าจะมาเป็นผู้บริหาร โดยกิจกรรมทั้งหมดจะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน ๓ กระบวนหลัก และ ๓ ฐานการเรียนรู้
โดยที่ ๓ กระบวนการหลักตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ได้แก่
- สุนทรียสนทนา (Dialogue)
- การฟังอย่างลึกซึ้ง
- การสะท้อนการเรียนรู้ ทั้งส่วนบุคคล และ กลุ่ม
และ ๓ ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านฐานกาย ฐานหัว และ ฐาน (หัว) ใจ
กิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนว “๔ – ๓ - ๓” มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิด/พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่าปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นแนวทางที่พึงประสงค์ พอเพียง และเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสังคม/วัฒนธรรมไทย และโดยเฉพาะกับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในขณะเดียวกัน กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้เข้าใจสาระสำคัญและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมโนทัศน์หลัก ๖ เรื่องในโมดูลที่ ๑ คือ การวิเคราะห์บริบท การวินิจฉัยองค์การ SWOT Analysis การคิดเชิงระบบ แนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา และ การบริหารการศึกษาในอนาคต โดยไม่ใช้การบรรยายเนื้อหา แต่เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและกระบวนการทางจิตตปัญญาศึกษา ที่ผู้เข้ารับการอบรม (ผู้เรียนรู้) และวิทยากรกระบวนการร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันแบบสดๆ และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพห้อง ปริมาณของผู้เข้าร่วมและบริบทของการอบรมแต่ละรุ่นที่แตกต่างกัน
ในช่วงระยะเวลา ๒ - ๓ เดือนของการเตรียมการและการจัดอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เขียนได้รับประสบการณ์การเป็นวิทยากรกระบวนการในโครงการมากมาย การเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ไปกับความท้าทายที่แตกต่างตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมในแง่ของตำแหน่งและประสบการณ์ทางการบริหารการศึกษา อายุ ความคาดหวังและความคุ้นชินกับการอบรมในกระแสหลัก ความไม่พร้อมและความไม่เหมาะสมของสถานที่ เช่นคับแคบหรือมีเสาอยู่กลางห้อง กลิ่นอับชื้น พิธีการ/พิธีกรรมตามรูปแบบการอบรมเดิม การทำ pre-post tests เงื่อนไข/กติกาการอบรม จำนวนผู้เข้าอบรมในแต่ละรุ่นที่ใหญ่มากสำหรับการจัดกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา คือมีจำนวนร้อยกว่าจนถึงสองร้อยกว่าคน ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับตอนที่อบรมวิทยากรแกนนำ (รุ่นละประมาณ ๕๕๐ คน)
ผู้เขียนต้องเดินทางตลอดในช่วงของการอบรมในโครงการ ยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ดีที่งามให้กับวงการศึกษา และหายเหนื่อยทุกครั้งที่ผู้เข้ารับการอบรมแสดงความสนใจและชื่นชอบกับกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา หลังการอบรมแต่ละรุ่นจะมีผู้บริหารสถานศึกษาบางท่านที่สนใจและขอให้ผู้เขียนไปจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ให้กับครูทั้งโรงเรียน
ผู้เขียนอยากจะบันทึกประสบการณ์บางส่วนทั้งในแง่วิชาการ เบื้องหลังการถ่ายทำและการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในการอบรม เพื่อเป็นบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นวิทยากรกระบวนการ และมอบเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจเรียนรู้ที่จะเป็นวิทยากรกระบวนการในอนาคต
เนื่องจากผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้บริหารสถานศึกษา มีความเป็นนักวิชาการอยู่ในตัว มีประสบการณ์ชีวิต และผ่านการอบรมมามาก ผู้เขียนจึงออกแบบการนำเสนอเพื่อเน้นให้เห็นจุดสำคัญที่แตกต่างจากการอบรมทั่วๆ ไป เพื่อดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ตามหลักจิตวิทยาการสอนผู้ใหญ่และจิตวิทยาการเรียนรู้ของมนุษย์
การจัดห้องและบรรยากาศในห้องอบรม ในกรณีที่ห้องเล็ก ไม่สามารถจัดเก้าอี้เป็นวงกลมวงเดียวได้สำหรับผู้เข้าอบรมประมาณ ๑๒๐ คน จะใช้วิธีจัดเป็นสองวงติดกัน โดยเว้นช่องระหว่างวงสำหรับวิทยากรกระบวนการเดินทะลุไปมาได้ ในกรณีที่มีจำนวนผู้เข้าอบรมใกล้ ๒๐๐ ถึง ๒๐๐ กว่าคนเล็กน้อยจะจัดเป็นสองวงดังกล่าวเช่นกัน ส่วนกิจกรรมและการดำเนินการทั้งหมดจะทำคู่ขนานไปพร้อมๆ กันทั้งสองวง จุดสำคัญคือทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมและกระบวนการ ยกเว้นช่วงฝึกกลุ่มวิทยากรกระบวนการแกนนำที่มีผู้เข้าร่วมรุ่นละประมาณ ๕๕๐ คน ผู้เขียนใช้วิธีจัดเป็นวงกลมตรงกลางหนึ่งวง (ประมาณร้อยว่าคน) สำหรับจัดกระบวนการสาธิต และมีผู้เข้าร่วมที่เหลือทั้งหมดแบ่งเป็นสี่กลุ่มตามภูมิภาค อยู่รอบวงกลมตรงกลาง สังเกตและร่วมกิจกรรมอยู่นอกวง แล้วใช้วิธีผลัดกันเข้ามาอยู่วงกลางเพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การจัดสภาพห้องดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกต่างตั้งแต่เริ่มต้น
การเกริ่นนำจุดเน้นที่แตกต่างของการอบรมครั้งนี้ โดยเฉพาะการใช้แนวคิด แนวปฏิบัติและกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ๔ – ๓ - ๓ รวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์เฉพาะ/ชุดภาษา ๖ ชุด ได้แก่
1) การเรียน – การรู้ – การเรียนรู้
2) วิทยากร – กระบวนกร – วิทยากรกระบวนการ
3) Systematic – Systems – Systemic
4) การอภิปราย (กลุ่มย่อย-กลุ่มใหญ่) – สุนทรียสนทนา
5) มิติภายนอก - มิติภายใน - มิติภายในที่สัมพันธ์กับมิติภายนอก
6) การเปลี่ยนแปลง – การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนฐานคิด/จิตสำนึก
การเริ่มต้นด้วยการอุ่นเครื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา ผ่านฐานกาย (กิจกรรมสามเหลี่ยมด้านเท่า) การสะท้อนการเรียนรู้ส่วนบุคคลและกลุ่ม หลังการทำกิจกรรม ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง (การเรียนรู้ผ่านฐานหัวและฐาน (หัว) ใจ
การดำเนินการการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่ออกแบบไว้จนครบถ้วน
จัดสรรเวลาประมาณ ๒๐ - ๓๐ นาที เพื่อทำการสะท้อนการเรียนรู้ในกลุ่มใหญ่
ในตอนที่หนึ่งของบทความนี้ที่ลงในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ วันเสาร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้บันทึกไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ในทำนองว่าความร่วมมือระหว่างสามฝ่ายได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ) เป็นความร่วมทางวิชาการและการบริหารจัดการโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ และควรมีความร่วมมือกันต่อไป
ในระหว่างการดำเนินงานโครงการ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในเรื่องของการบริหารจัดการโครงการ ที่ต้องดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จในเวลาสั้น ปัญหาการสื่อสารระหว่างทีมทำงาน ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่หน่วยงาน งบประมาณและการเบิกจ่าย แต่สุดท้ายก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ด้วยการที่คนทำงานในพื้นที่ทุกฝ่ายคิดเอางานและผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นตัวตั้ง อดทน ทุ่มเท ด้วยจิตอาสา ด้วยจิตสำนึกที่ใหญ่กว่าความวุ่นวายและความยากลำบากส่วนตัว ผู้เขียนขอชื่นชมและแสดงความเคารพทุกท่านด้วยความจริงใจ เรายังมีงานท้าทายร่วมกันในอีกสองปีข้างหน้าคือการอบรมครูทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนตัวของผู้เขียนรู้สึกเสียดายที่กลุ่มครูเน้นเนื้อหาสาระไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาเช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริหาร เพราะครูสามารถนำกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนได้จริง เป็นการพัฒนาครูและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน ก็ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2553
ยง - เด็กหนุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน พ่อชื่อหลี แม่ชื่อเฮียะ ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีโอกาสเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งมีการเรียนการสอนแบบใหม่ แต่ก็ไม่มีโอกาสเรียนจนจบมัธยมปลาย เพราะหลังจากขึ้นชั้น ม. ๕ ได้ไม่นานก็ต้องลาออกเพื่อทำงานหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทำงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ลกับฝรั่งไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ไปสมัครเป็นเสมียนในกรมศุลกากรเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร รับราชการจนได้ยศช้างขุนนางพระตั้งแต่ขุน หลวง พระ จนเป็นพระยาอนุมานราชธน เมื่ออายุได้ ๓๗ ปี
นายยงได้เรียนหนังสือน้อย แต่หมั่นศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งไทยและเทศ กระทั่งสามารถแปลหนังสือภาษาอังกฤษอย่าง หิโตปเทศ กามนิต ฯลฯ อันเป็นต้นแบบหนังสือแปลงดงามคลาสสิกมาจนถึงปัจจุบัน มีบทบาทสำคัญในราชบัณฑิตยสถานในการจัดทำพจนานุกรมและสารานุกรมในยุคแรกเริ่ม เป็นอธิบดีกรมศิลปากรที่ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดีต่องานของพระเจนดุริยางค์และอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลิตงานเขียนทางด้านไทยคดีศึกษาอันทรงคุณค่าอย่างชุดประเพณีไทย และเรื่องความรู้ต่างๆ ถือว่าเป็นโปรเฟสเซอร์ด้านไทยคดีศึกษาที่ไม่จบมัธยมปลายคนแรกของประเทศไทยที่แม้กระทั่งฝรั่งมังค่าก็ยังให้การยอมรับ
ปรีดี - ลูกชายชาวนา หลังจากจบมัธยมปลายก็ไปช่วยที่บ้านทำนาอยู่หนึ่งปี ก่อนกลับเข้ามาเรียนกฎหมาย สอบไล่เนติบัณฑิตได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จากนั้นจึงสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ได้เป็นด็อกเตอร์คนไทยคนแรกจากมหาวิทยาลัยปารีสเมื่ออายุเพิ่งย่างเบญจเพศ เป็นหัวหอกเชื้อเชิญนักเรียนนอกจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์มาประชุมที่หอพักนักศึกษาถนน Rue de Summard ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นครั้งแรก ห้าหกปีหลังจากนั้น คนหนุ่มหัวก้าวหน้าเหล่านี้ ซึ่งกลับเข้ามารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ก็สามารถยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จในนามของคณะราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์หรือหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม ในวัย ๓๒ ปี ได้จัดทำร่างเค้าโครงเศรษฐกิจที่ถือหลักการประกันสังคมและการกระจายทรัพย์สินเสนอต่อรัฐบาลใหม่ หากด้วยความล้ำสมัยเกินความรับรู้และเข้าใจของผู้คนยุคนั้น จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศเสียปีหนึ่ง ก่อนจะกลับเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีคลัง ตามลำดับ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จำนวนมาก เช่น การจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ ก่อตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อตั้งธนาคารชาติ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสัญญาอันไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชรวม ๑๒ ประเทศ เป็นต้น
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นายปรีดีไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสยบยอมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร และรัฐบาลขอให้ลาออกจากคณะรัฐมนตรี นายปรีดีในวัย ๔๒ ปี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ และดำรงตำแหน่งลับ-ลับเป็นหัวหน้าเสรีไทยเพื่อดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้ขบวนการเสรีไทยได้รับการยอมรับจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ทำให้ไทยอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม แถมได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติอีกด้วย
ป๋วย – เด็กน้อยผู้กำพร้าพ่อตั้งแต่เก้าขวบ แม่เซาะเซ็งพยายามกัดฟันส่งเข้าเรียนที่อัสสัมชัญ จบชั้นมัธยมแปดแล้วก็ทำงานเป็นครูตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี พร้อมกันนั้นก็สมัครเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจนจบปริญญาตรี กลางวันทำงานกลางคืนอ่านหนังสือ สอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยลอนดอนก็ได้คะแนนสูงสุดในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยให้ศึกษาระดับปริญญาเอกได้ทันที ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักเรียนนอกอนาคตไกลขอพักการเรียนมาเป็นทหารชั่วคราว เพื่อเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ ปฏิบัติการลับและเสี่ยงตายอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามจึงกลับไปศึกษาต่อจนจบ
ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เลือกที่จะกลับมารับราชการเงินเดือนต่ำเตี้ยแทนการทำงานเอกชน เพราะถือว่าเกิดเมืองไทย กินข้าวไทย รับทุนรัฐบาลจากชาวนาไทยไปเมืองนอก ควรที่จะรับราชการเป็นเครื่องสนองคุณ เป็นข้าราชการกระทรวงการคลังที่กล้าคัดง้างกับผู้มีอำนาจยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมาหลายครั้งหลายหน เมื่อจอมพลสฤษดิ์ก่อรัฐประหารและเชิญมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ป๋วยปฏิเสธ โดยอ้างคำสาบานครั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นเสรีไทยว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ จอมพลสฤษดิ์จึงแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วงเวลา ๑๒ ปีที่ดำรงตำแหน่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชื่อว่าปลอดจากการเมืองมาแทรกแซง เพราะป๋วยได้รับความเชื่อถือจากนักการเมือง ในฝีมือการบริหาร ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงิน และความซื่อสัตย์สุจริต
เงื่อม – เรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เพราะต้องออกมาค้าขายแทนพ่อที่ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน บวชเรียนเมื่ออายุ ๒๐ ปี ตั้งใจเข้ากรุงเทพฯ หวังศึกษาพระธรรมให้แตกฉานลึกซึ้ง แต่กลับพบพฤติปฏิบัติที่ย่อหย่อนไปจากพระวินัยของพระเมืองกรุง ยิ่งศึกษาค้นคว้าเองนอกตำรายิ่งขัดแย้งกับการเรียนการสอนในระบบที่ใช้วิธีท่องตามกันมา ปราศจากการคิดวิเคราะห์ พระหนุ่มทั้งสับสนเบื่อหน่าย เมื่อสอบตกเปรียญธรรม ๔ ก็เริ่มมองเห็นว่าชีวิตนักบวชตามระบอบระบบไม่อาจทำให้บรรลุเป้าหมายทางธรรมได้
ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ พระเงื่อม อินทปัญโญ – ผู้ไม่จบเปรียญธรรม ๔ - กลับบ้านเกิด อ.ไชยา สุราษฎร์ธานี อุทิศตนเป็นทาสพระพุทธเจ้า ใช้มรดกที่มารดามอบให้ทำนุบำรุงสวนโมกขพลารามและคณะธรรมทาน สถานปฏิบัติธรรมตามแบบพุทธกาลของพระเงื่อมปฏิเสธพิธีกรรมและวัตถุนิยม ตัวพระเงื่อมเองก็พยายามนำหลักธรรมคำสอนอันเป็นเนื้อหาสาระซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นเรื่องยากต่อการเข้าถึงในโลกนี้มาเผยแพร่ เป็นต้นว่า ความว่าง อิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุปบาท และยืนยันว่านิพพานก็เป็นเป้าหมายในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องรอโลกหน้า มีงานเขียนแพร่หลายจำนวนมากทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ
ในยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย คนเล็กคนน้อยทั้งสี่มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชนคนธรรมดา สองคนเป็นนักเรียนใน อีกสองคนเป็นนักเรียนนอก ในขณะที่สองคนได้ชื่อว่าเรียนเก่งเป็นเลิศ แต่อีกสองคนเข้าถึงความเป็นเลิศจากการศึกษาด้วยตนเอง ยงมีวิถีเป็นปราชญ์สมถะใจสัตย์ซื่อ ปรีดีและเงื่อมเป็นนักปฏิรูป ต่างแต่ว่าปรีดีเป็นนักการเมืองที่มุ่งปฏิรูปในทางโลก พระเงื่อมมุ่งแหวกแผ้วถางทางในทางธรรม ส่วนป๋วยนั้นสวมเสื้อข้าราชการรับใช้รัฐบาลเผด็จการ และดูเหมือนว่าผู้คนทั้งสี่แทบไม่มีอะไรที่เป็นพิมพ์นิยมของคนเก่งและดีของยุคสมัยปัจจุบันนี้เลย แต่ผู้คนทั้งสี่มีหัวใจชนิดเดียวกัน – หัวใจของคนหนุ่มสาว หัวใจที่มุ่งอุทิศตนให้กับผู้อื่น หัวใจที่ปรารถนาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หัวใจชนิดนี้เป็นหัวใจใหม่-สด นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคสมัยได้ และหัวใจใหม่-สดนี้ย่อมอดทนต่อความทุกข์ความบีบคั้นเพื่อการเปลี่ยนแปรได้
หัวใจของคนหนุ่มสาวนี้เราจะพบได้ทั่วไปในเรื่องราวของปูชนียบุคคล พวกเขาล้วนผ่านการเคี่ยวกรำจากสถานการณ์ มีปณิธานยิ่งใหญ่ตั้งแต่วัยเยาว์ มุ่งทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าทรัพย์และยศส่วนตัว มุ่งทำการงานที่ยังประโยชน์ข้ามกาลเวลามาสู่คนรุ่นหลัง และมีความรักความกรุณามากกว่าความโกรธความเกลียด
หัวใจในประวัติศาสตร์นี้มีเต้นอยู่กลางใจคนร่วมสมัยอยู่บ้างไหม? – คำถามนี้คงต้องช่วยกันตอบ สำคัญกว่านั้นก็คือ – หาหัวใจชนิดนี้ในตนเองให้เจอ