สิงหาคม 2010

จิตตปัญญา แบบบ้านๆ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2553

“แต่ก่อนกินเหล้า ชอบกินของสดๆ พอเมียพูดไม่เข้าหู ผมก็ซัดเอาให้ แต่ตอนนี้เลิกเหล้าแล้ว มาทำอย่างที่อาจารย์ให้ทำ ทำทุกวัน ตื่นมาก็ทำ ก่อนนอนก็ทำ” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านผู้เข้ารับการอบรม พี่ชายคนนี้มีอาชีพเป็นสัปเหร่อ ใบหน้าดุเข้มแบบเด็กเล็กๆ เห็นแล้วร้องไห้ จบการอบรมสองเดือนให้หลังเขาเปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างที่คนในหมู่บ้านเองก็รู้สึกแปลกใจ มันน่าสนใจว่าชาวบ้านรู้อะไร เขาจึงเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างนั้น

“ความรู้ที่นำไปใช้ไม่ได้ ไม่ถือเป็นความรู้”

ไม่รู้ทำไมประโยคนี้จึงวนเวียนเข้ามาในกระแสสำนึกอยู่บ่อยครั้ง อาจเป็นเพราะเวลาทำงานกับชาวบ้านอย่างกลุ่ม อสม. ความรู้ในทางจิตตปัญญาที่เราคิดว่ามี กลับกลายเป็น “กระสุนด้าน” อยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการ “ธาราลิขิต” ที่เชื้อเชิญให้เขียนอะไรก็ได้ ปล่อยไหลไป ตามแต่ว่าอะไรจะมาสะกิดให้เรื่องราวใดไหลพรั่งพรูออกมา กระบวนการนี้อาจจะนำไปใช้ได้กับการประเมินผลของการอบรมแนวจิตตปัญญาได้ดี แต่กระบวนการนี้ล้มคว่ำไม่เป็นท่าเมื่อนำมาใช้กับชาวบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า “เขียนหนังสือไม่แตก” เพราะในชีวิตจริงของชาวบ้านมือทั้งสองแตกเป็นรอยริ้ว เพราะใช้ถอนหญ้า ไม่ได้ใช้เขียนหนังสือ เมื่อให้เขียนหนังสือชาวบ้านจึงรู้สึกด้อย เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่กับตัวหนังสืออย่างพวกเรา ชีวิตของเขาอยู่กับทุ่งนา อยู่กับการทำงานจริงๆ ผมเคยไปรำมวยจีนให้ชาวบ้านดู เมื่อรำเสร็จ มีชาวบ้านคนหนึ่งถามผมว่า

“อาจารย์มาทำนา แข่งกับผมไหม?”

ผมตอบว่าผมคงทำไม่ได้หรอก แวบแรกผมคิดว่าเขาท้าทายผม แต่ต่อมาเขาคุยให้ฟังเรื่องการทำนาด้วยมือ สมัยที่ยังต้องลากคันไถทำนา เขาทำท่าเอี้ยวตัวบังคับคันไถเพราะไม่มีตัวบีบทดแรง เขาคงจะรำลึกอดีตเมื่อได้เห็นผมรำมวยจีน ไม่ได้มีเจตนาจะโพล่งให้เสียบรรยากาศ ผมเกิดความสนใจจึงขอให้ อสม.หญิงคนหนึ่งลองทำท่าดำนาให้ผมดู แล้วก็ “โป๊ะเชะ” คำตอบมาปรากฏตรงหน้าอย่างคาดไม่ถึง ชาวบ้านมีความแข็งแรงมาก ท่าก้มลงดำนาต้องใช้ทั้งความยืดหยุ่นและกำลังขา หลังที่ก้มลงแบบนั้น ให้พวกเราไปทำคงจะทำได้เพียงสองสามนาทีก็จอด แต่พวกเขาทำแบบนี้เป็นไร่ๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องใช้ความอดทนขนาดไหน การทำงานอย่างหนักชดเชยด้วยการกินอย่างหนักไม่แพ้กัน พวกเขาจึงมีรูปร่างท้วมออกแนวสมบูรณ์ แน่นอนว่ารูปร่างแบบนี้หากวัดด้วยมาตรฐานทางสาธารณสุขเช่นพวกดัชนีมวลกาย หรือรอบเอว ก็ต้องจัดให้พวกเขาอยู่ในพวก “กลุ่มเสี่ยง” แต่ดูไปดูมา พวกเราที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันต่างหากน่าจะจัดอยู่ในพวกกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะไอ้คุณหมอสุรชัยเพื่อนร่วมชั้นเรียนเตรียมอุดมของผมเขาไม่เคยตรวจสุขภาพร่างกายตัวเองเลยเป็นเวลาสามปีมาแล้ว ทั้งๆ ที่เวลาอยู่โรงพยาบาลมากกว่าเวลาอยู่บ้าน

ยิ่งผมได้พูดคุยกับชาวบ้านแบบใกล้ชิดมากเท่าใด ก็พบว่าการสาธารณสุขของเราใกล้จะถึงจุดวิกฤติอยู่รอมร่อแล้ว เจ้าหน้าที่อนามัยอำเภอรุ่นหนุ่มรุ่นกระทงหน้าตาถอดแบบนักร้องเกาหลี คุยกับผมแบบติดตลกว่า ทุกวันนี้การทำงานของเขาเหมือนกับอยู่ในสนามรม แล้วชาวบ้านก็คือ “ข้าศึกที่ฆ่าไม่ตาย” ในความหมายก็คือดาหน้าเข้ามาเรื่อยๆ อย่างไม่มีหยุด น้องอีกคนหนึ่งพูดด้วยเสียงกระซิบ “ลองมาทำแล้วพี่จะรู้” เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับที่ต้องสัมผัสกับชาวบ้านยังต้องง่วนอยู่กับการทำงานเชิงรักษา เช่นฉีดวัคซีน จ่ายยา เต็มเวลาและเต็มอัตราอย่างเช่นทุกวันนี้ ใครเล่าจะไปทำงาน “เชิงรุก” หมายถึงเชิงป้องกัน ในเมื่ออนามัยทุกคนมีงานล้นมือ และคนไข้ก็มีล้นโรงพยาบาล

“ป้าไม่เคยอบรมแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นพวกเต้นแอโรบิค อะไรนั่น ป้าก็เต้นไม่เป็น เห็นพวกหนุ่มสาวเขาเต้นกันก็ไปลองดูบ้าง กลับมาบ้านปวดหลังปวดเอวไปตั้งหลายวัน” คุณป้าวัยหกสิบปลายๆ คุยกับผม ส่วนน้องหญิงหุ่นล่ำสันเข้ามาเสริม “ของฉันเอาไอ้ห่วง (ฮูลาฮูบ) ที่เขาให้ไปหมุนๆ ตอนหมุนๆ อยู่มันก็สนุกดีหรอก แต่กลับบ้านรอบเอวนี่ช้ำเป็นจ้ำๆ หมดเลย” ดูจากรอบเอวผมรู้สึกว่าห่วงฮูลาฮูบนี้คงไม่ได้ผลสำหรับเธอ ผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไมกลยุทธ์เกี่ยวกับสุขภาพเชิงป้องกันจึงไม่ค่อยได้ผลในทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คงไม่ใช่เป็นเพราะเราไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ความรู้ที่เรามีมันเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะขาดความละเมียดในกระบวนทัศน์ คือคนนำไปใช้กลับมองไม่เห็น ส่วนคนที่มองเห็นกลับบอกไม่ได้

ยกตัวอย่างการเต้นแอโรบิค มาจากฐานความเชื่อของวิทยาศาสตร์กายภาพที่บอกกับเราว่า การออกกำลังกายที่ดีจะต้องทำให้หัวใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ เราจึงเข้าใจไปว่าการเต้นแอโรบิคทำให้เราสุขภาพดี และหุ่นดี เรามาลองดูว่าการเต้นแอโรบิคประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ก่อนอื่นเราจะต้องมีเสียงเพลงที่เร้าใจ ดังตูมตาม เสียงเบสเยอะๆ ยิ่งดี นัยว่าทำให้ร่างกายขยับได้คล่องขึ้น ส่วนครูฝึกจะต้องมีรูปร่างดี ยืนอยู่บนเวทีที่ทุกคนมองเห็นชัดๆ แล้วไม่ว่าเราจะเต้นได้ดีแค่ไหนก็ตาม เราก็จะไม่มีวันเต้นได้เท่ากับครูฝึก นอกจากนั้นแล้วจะต้องเต้นกันหลายๆ คน ยิ่งเยอะยิ่งสนุกคึกคัก หากน้อยคนถือว่าผิดธรรมเนียมจะดูหงอยเหงา สิ่งที่เราจะต้องจ่ายไปกับกิจกรรมแบบนี้ ก็คือการทำงานของกายที่ไม่ได้ดุลยภาพกับจิต เสียงที่ดังเร้าใจ ส่งอารมณ์ให้เราติดอยู่กับความรุนแรงที่มาทางโสตประสาท ผู้นำที่ยืนอยู่ข้างหน้าเปลี่ยนท่าทางรวดเร็ว ทำให้เราต้องใช้สายตาคอยสอดส่าย ใจจึงไม่อยู่กับการเคลื่อนไหวและท่วงท่าที่กำลังกระทำอยู่ จิตใจจึงไม่มั่นคงเพราะหวั่นไหวไปกับภาพที่มากระทบทางตา แล้วยิ่งครูฝึกมีหุ่นดีอย่างที่ชาตินี้เรามีไม่ได้ ลึกๆ ยิ่งตอกย้ำถึงความด้อยของเราว่า เรามันช่างไม่เอาไหนเลยที่หุ่นไม่ดีอย่างเขา

จิตใจที่ไม่คู่ควรกับการงานย่อมสั่งสมกำลังไม่ได้ ในขณะที่เราออกกำลังกายแบบแอโรบิค เรากำลังทำกายภาพบำบัด แต่เราไม่ได้ทำ “จิตภาพบำบัด” ร่างกายและจิตใจจึงไม่ได้ดุลยภาพ เราอาจจะสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ แต่จิตใจเรากลับอ่อนแรง ถูกไล่ต้อนง่าย สะดุ้งสะเทือนหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่มากระทบได้ง่าย แล้วอย่างนี้เราจะเอาอะไรไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราจะเอากำลังใจที่ไหนไปสู้กับสื่อโฆษณาที่ระดมยิงเข้ามาให้เราอยากได้นั่น อยากกินนี่ เราโกรธง่ายขึ้น เครียดง่ายขึ้น แล้วเราก็หยิบของใส่ปากโดยไม่มีเบรค ด้วยระบบราชการแบบไทยๆ งานสุขภาพเชิงรุกของเราจึงก้าวช้ากว่าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นก้าวหนึ่งเสมอ

ด้วยวิธีให้ชาวบ้านลองสังเกตความรู้สึกในขณะทำท่วงท่าง่าย ๆ กลายเป็นอุบายที่ทำให้กายกับจิตมาประกอบกันเข้า การสังเกตการณ์ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปอย่างไม่หยุดหย่อนของความรู้สึกในกาย คืออุบายฝึกจิตให้เกิดความละเมียด จิตใจที่ละเมียดย่อมมีความฉับไวในการจัดการกับเรื่องราวที่ประเดประดังเข้ามาในแต่ละวัน เพราะถ้าหากอิ่มแล้วไม่รู้ว่าอิ่ม จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะไปรู้ว่าวันหนึ่งคนไทยควรต้องกินข้าวไม่เกิน ๖ ทัพพี หรือไปรู้ว่าผัดไทยหนึ่งจานเท่ากับกี่แคลอรี ในเมื่อแยกไม่ออกระหว่าง “ความหิว” กับ “ความอยาก” โรคเรื้อรังต่างๆ ย่อมมาถึงเราแบบ “ก่อนกำหนด”

ชาวบ้านฝึกปฏิบัติได้ดีอย่างน่าแปลกใจ เพียงวันสองวันก็เข้าใจและทำได้ แต่บางครั้งเราชอบวัดผลด้วยการพูดหรือการเขียน เมื่อเอาไมโครโฟนจ่อปาก เขาจะพูดไม่ได้ เรียบเรียงไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาทำไม่ได้ ตรงกันข้ามหากสนิทสนมกับเขามากพอ พวกเขาจะพูดปร๋อแบบที่เรานึกไม่ถึง และเมื่อเรากลายเป็นเพื่อนกับเขาแล้ว การวัดประเมินแบบกระบวนทัศน์เก่าก็เป็นเรื่องไร้ความหมาย เพราะมีแต่ตัวเลขที่ไร้ชีวิต มีแต่มาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยผู้อื่นแต่ไม่เคยถูกกำหนดด้วยตัวผู้ถูกวัดเอง เรากินข้าวแทนกันไม่ได้ และเราก็อิ่มแทนกันไม่ได้ แต่ทำไมเราจึงมั่นใจเวลาเราตีตราให้ผู้อื่นจัดอยู่ในจำพวก “กลุ่มเสี่ยง” หรือ “กลุ่มโรคเรื้อรัง”

“ตอนแรกตักข้าวต้มมาเยอะกลัวจะไม่อิ่ม แต่พอกินไปได้ครึ่งเดียวอิ่มซะแล้ว” ข้าวต้มครึ่งแรกคือความหิว ครึ่งที่เหลือคือความอยาก ความอยากมักจะล้ำหน้าความหิว เรากินข้าวเพราะหิวเป็นเรื่องปกติ หิวแล้วไม่กินจึงเป็นเรื่องผิดปกติ ผู้หญิงบางคนกินแล้วล้วงคออาเจียนออกมาเพราะอยากหุ่นดีนี่ก็ผิดปกติ เมื่อไม่นานมานี้ คุณป้า เจน ฟอนดา เจ้าแม่แห่งวงการแอโรบิค ออกมาสารภาพว่าที่เธอมีหุ่นที่เป็นยอดปรารถนาของผู้หญิงทั่วโลกสมัยหนึ่งนั้น เป็นเพราะเธอป่วยเป็นโรคบูลิเมีย คือทุกครั้งที่ทานอาหารเข้าไปจะต้องไปล้วงคอให้อาเจียนออกมา ถ้าไปเล่าเรื่องนี้ให้ชาวบ้านฟังว่ามีคนกินแล้วล้วงคอเพื่ออาเจียน พวกเขาคงหัวร่องอหาย

เอ้า..ใครป่วยยกมือขึ้น

จิตวิวัฒน์เตรียมพร้อมเพื่อจิตวิญญาณโลกานุวัตร



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2553

ก่อนอื่น อยากจะพูดว่าผู้เขียนไม่ใช่สักแต่เชื่อเฉยๆ แต่เชื่อมั่นอย่างที่สุดในสองเรื่อง คือหนึ่ง ในพุทธศาสนา กับสอง ในแควนตัมฟิสิกส์ที่นักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หลายๆ คนเขียนไว้ว่า ทั้งสองศาสตร์ “มีความสอดคล้องแนบขนานกันที่สุด” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อในบทความกับข้อคิดข้อเขียนส่วนใหญ่ของคาร์ล จุง จุงเป็นอัจฉริยะในเรื่องจิตโดยเฉพาะจิตไร้สำนึกที่ผู้เขียนสนใจมาก จุงได้เขียนเรื่องของจิตจักรวาลไว้ว่า เป็นจิตไร้สำนึกในขั้นลึกสุดลึกของจิต – ที่มีอย่างไม่จำกัดหรือไม่สิ้นสุด – “ถอยหลังไป...ถอยหลังไปสู่ความมืดมิด...ที่ไม่มีใครรู้” จุงเป็นผู้อธิบายไว้ในช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ ๑๙๓๐ (The Archetypes and The Collective Unconscious) เขาเรียกจิตนี้ว่า จิตไร้สำนึกร่วมโดยรวมของจักรวาล (universal unconscious continuum) หรือที่ผู้เขียนเรียกว่าจิตจักรวาลนั่นเอง

นั่นเป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้จากที่ได้อ่านๆ มา แต่ส่วนที่ได้จากการครุ่นคิดอย่างจริงจังเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะสี่ห้าปีหลังๆ ผู้เขียน “รู้แน่นอน” ว่าจิตนั้นไม่ใช่สมอง และสมองไม่ใช่จิตทั้งในสัตว์และในคน แต่จิตไร้สำนึกจักรวาล – หลังเกิดจักรวาลขึ้นมาแล้วซึ่งพุทธศาสนาบอกว่าโดยจิตปฐมภูมิ (ญานา) ที่แยกจากพลังงานปฐมภูมิ (ญานะปราณ) ไม่ได้ – นั้น จะวิ่งเข้ามาอยู่ในทุกๆ ที่ว่างของอวกาศของจักรวาล ไม่ว่าที่ว่างนั้นจะเล็กละเอียดสักปานใด แม้ที่ว่างระหว่างอะตอมในสมอง สมองจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับสัตว์โลกโดยเฉพาะมนุษย์ แม้ว่ามันจะไม่ใช่จิต เพราะสมองคือตำแหน่งแหล่งที่บริหารจิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึกใหม่ๆ ตลอดเวลา

จิตของสัตว์แต่ละตัวและคนแต่ละคนจะประกอบด้วยสองส่วน คือหนึ่ง จิตจักรวาลหรือจิตไร้สำนึกร่วมโดยรวมของจักรวาลที่กล่าวมาแล้ว กับสอง จิตสำนึกที่ผ่านการบริหารของสมองไปแล้ว แต่มนุษย์แต่ละคนนั้น ได้ตายไปแล้วมาเกิดใหม่ในภพภูมิที่มีสมอง เช่นในโลกมนุษย์อีก จิตสำนึกเก่าในชาติก่อน จะถูกสะสมเป็นจิตไร้สำนึกในชาติใหม่ที่มีสมองใหม่ในชาติใหม่ - ที่เรียกว่า “บารมี” - ซึ่งจะเกิดเป็นคนที่มีสมองที่พร้อมจะบริหารจิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึกตลอดเวลา จึงเป็นผู้ที่มีปัญญาหรือ “พรสวรรค์” ในรูปแบบต่างๆ

ไม่ถึงสามสี่ปีที่ผ่านมา ในเมืองนอกมีผลงานวิจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องจิตและสมอง หรือประสาทวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย ที่ต่างชี้บ่งไปในทางจิตไม่ใช่สมอง หรือสมองเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่บริหารจิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึกเท่านั้น เช่น Amit Goswami: Creative Evolution, 2008 and 2007 Shift Reports, Mario Beauregard: The Spiritual Brain, Matthieu Recard: Personal Communication

กลุ่มจิตวิวัฒน์ก่อตัวมาราวเจ็ดปีแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะ “เร่ง” ให้มนุษย์มีวิวัฒนาการทางจิตที่ควบคุมพฤติกรรมหรือความประพฤติทั้งหลายของมนุษย์เรา แน่นอนที่สมาชิกของกลุ่มจะรู้ดี เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาส่วนมากในปัจจุบันรู้ จากงานวิจัยมากหลายที่ชี้บ่งเช่นนั้นแทบจะเป็นเอกฉันท์ หมอประเวศ วะสี ผู้เป็นเสมือนประธานของกลุ่มบอกคล้ายๆ กับว่า วัตถุประสงค์คือการระดมความคิดของสมาชิกเพื่อหาทางสื่อให้ประชาชนในวงกว้างสนใจ และเร่งขบวนการวิวัฒนาการธรรมชาติของจิตให้มีจิตสำนึกใหม่หรือ “จิตใหญ่” จะได้ควบคุมความประพฤติของคนและสังคมไทย – ซึ่งในสายตาของหลายๆ คนคิดว่าในขณะนี้คนทั้งโลก รวมทั้งและโดยเฉพาะคนไทยและสังคมไทย - มีความเสื่อมสลายทางศีลธรรมและจริยธรรมลงไปกว่าแต่ก่อนมาก การแก้ไขวิกฤตอันใหญ่หลวงครั้งนี้ ไม่มีทางที่จะใช้มาตรการอะไรได้นอกจากจิตสำนึกของชาวโลกและชาวไทยเองเท่านั้น

บทความนี้มีความสำคัญมากสำหรับจักรวาล โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเรา เพราะว่ามีถึง ๔ เรื่อง ที่ดูเผินๆ อาจจะไม่เกี่ยวกัน แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าเกี่ยวกันและจัดมารวมกันเพื่อนำเสนอท่านผู้อ่านได้ช่วยพิจารณาว่า ถูกต้อง ชอบธรรม และควรปฏิบัติหรือไม่? ประการใด?

เรื่องที่หนึ่ง ชาวโลกประมาณหนึ่งในสาม ต่างรู้แล้วว่า กระบวนทัศน์ใหม่ทางสังคม (Alexander King’s Social Revolution ที่เยอรมัน Paul H. Ray’s Cultural Creative ที่อเมริกา ประเวศ วะสี คลื่นลูกที่สามแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ประเทศไทย ประสาน ต่างใจ สู่มิติที่ห้า และ บุพนิมิตกระบวนทัศน์ใหม่ ประเทศไทยเหมือนกัน และ Jose Arguelles and Stephanie South’s Cosmic History ที่อเมริกา) นั่นคือวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ และการย่างเท้าก้าวถึงยุคแห่งจิตวิญญาณ ในปี ค.ศ.๒๐๑๓ ไปแล้ว

เรื่องที่สอง นักการเมืองและนักเศรษฐกิจ นักธุรกิจ เพราะความเชื่อมั่นในวัตถุรูปธรรมและวิทยาศาสตร์กายภาพ จึงเป็นวัตถุนิยมอย่างไม่รู้ตัว หรือไม่มีความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ติดตามวิทยาศาสตร์ใหม่ไม่พอ หรือไม่ได้พิจารณาอย่างลึกซึ้งว่า วิทยาศาสตร์ใหม่หรือฟิสิกส์แห่งยุคใหม่นั้นมีความสอดคล้องอย่างที่สุด โดยหลักการ กับศาสนาที่อุบัติขึ้นที่อินเดียและจีน เช่น ศาสนาพุทธหรือศาสนาเต๋า ซึ่งวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ คือคนส่วนใหญ่ของโลก รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์สังคม นักธุรกิจ นักการเมือง ฯลฯ เมื่อถึงยุคดังกล่าว โดยเฉพาะในประเทศไทยจะมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมแทบทั้งสิ้น

เรื่องที่สาม นักคิดใหญ่ๆ พวกนิวเอจ รวมทั้งผู้เขียน ล้วนแล้วแต่ถือว่า กระบวนทัศน์ใหม่หรือการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมใหม่ในครั้งนี้ คือวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ หรือสู่ระดับที่สูงกว่า เช่นเดียวกับวิวัฒนาการทางกายจากหมา สู่ลิง และมนุษย์

ส่วนเรื่องสุดท้าย คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบที่เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบทุกระบบที่มีในจักรวาลแห่งนี้ โดยกฎของทฤษฎีไร้ระเบียบ เราคงต้องการตัวดึงดูดหรือตัวเร่งที่มีความสำคัญต่อการ “โผล่ปรากฏ” ของรูปแบบระบบใหม่ ตัวดึงดูดหรือตัวเร่งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งกับทฤษฎีไร้ระเบียบ และเป็นกลไกธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ ตัวดึงดูดจะทำหน้าที่เร่งให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ ที่เป็นกฎของธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ค้นพบเช่นกัน จนไปถึงขอบของจุดแห่งทางสองแพร่ง (margin of chaos) ซึ่งทางสองแพร่งนี้ (bifurcation) จะนำสู่ความล่มสลายจบสิ้นของกระบวนทัศน์ “เก่า” และการ “โผล่ปรากฏ” (emergent) ของกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง การหาตัวดึงดูดที่ให้การเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนและเหมาะสมจึง “สำคัญอย่างยิ่ง” คือจะต้องเป็นธรรมชาติหรือเป็นบุคคลที่มีบารมีสูง การโผล่ปรากฏกระบวนทัศน์ใหม่ทางจิต จึงจะมีวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้น หัวเรื่องของบทความนี้ หมายความว่าโลกมนุษย์กำลังย่างเท้าเข้าสู่ยุคสมัยแห่งจิตวิญญาณ นั่นคือจะเป็นประวัติศาสตร์ของทั้งโลกเลย ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า ถึงเวลาที่มนุษยชาติจะได้ผ่านพ้นวัยเด็กหรือวัยรุ่นมาเป็นผู้ใหญ่เสียที เรามนุษย์โลกทั้งผองรวมทั้งในประเทศไทยที่กำลังแตกแยกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งนับวันยิ่งซับซ้อนเป็นทวีคูณ เพราะว่าทุกคนจะมีความทุกข์ยิ่งกว่าเก่า – ที่ผู้เขียนคิดเอาเองว่า - ความทุกข์ที่มนุษย์ในยุค ๒,๕๐๐ ปีก่อน หรือยุคสมัยที่พระพุทธองค์ค้นพบและสอนเรื่องของ “ทุกขา” ซึ่งคิดว่าจะมีหลักการคล้ายๆ กัน เพราะว่าสังคมใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นกับจำนวนประชากรของโลกที่มีมากขึ้นยิ่งนัก ความแตกแยกขัดแย้งของคนไทยกันเองหรือระหว่างประเทศ รวมทั้งมนุษย์โลกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยิวกับปาเลสไตน์ เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ หรือระหว่างพวกสุดโต่งทางชาติ-ศาสนาที่แตกแยกกัน กระทั่งฆ่าแกงกัน ฯลฯ ทั้งหมดทำให้โลกมีความทุกข์มากขึ้นๆ โดยมองทางออกไม่เห็น

ผู้เขียนเชื่อว่ามีสาเหตุจากประชากรโลกที่มีมากขึ้นเร็วมากๆ หนึ่ง วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีวัตถุนิยมกายภาพหนึ่ง และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมการตลาดเสรีทำให้คนทั่วทั้งโลกเห็นแก่เงินมากยิ่งกว่าอื่นใดทั้งสิ้น อีกหนึ่ง ความแตกแยกกันหรือ “ทุกขา” เมื่อไล่ไปแล้วคือ เงิน จนกระทั่งทำให้ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่าจิตจักรวาลคงจะลงโทษมนุษยชาติอย่างสาสม นั่นเป็นการมองในทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เดินเป็นเส้นตรง กับเหตุที่ก่อผลข้างล่างหรือข้างล่าง (downward causation) นั่นคือสิ่งที่นำทฤษฎีไร้ระเบียบ ทฤษฎีที่ไม่เคยผิดเลย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าตรงกับพุทธศาสนาว่า “ตถตา” “มันเป็นเช่นนั้นเองง”

ผู้เขียนขอรับรองว่า ท้ายที่สุดแล้ว ธรรมชาติระดับบนหรือ “ธรรมชาติที่สุดของธรรมชาติ” โลกจะต้องมีรูปแบบของสังคมรูปแบบใหม่ หรือยุคสมัยจิตวิญญาณโลกานุวัตร “โผล่ปรากฏ” ออกมา (หลังจากผ่านพ้นทางสองแพร่งแล้ว) ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าระบบสังคมใหม่ซึ่งเป็นระบบแห่งจิตวิญญาณที่จะต้องเกิดขึ้น (noosphere) ซึ่งนักคิดนักปรัชญาหลายคน รวมทั้งปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง และศรีอรพินโท จะต้องเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ การเปลี่ยนแปลงทางจิตสู่จิตวิญญาณและยุคสมัยแห่งจิตวิญญาณโลกานุวัตร ต้องเกิดขึ้นและกระบวนทัศน์ใหม่จะต้องเกิดขึ้น เพราะว่าวัฏจักรของธรรมชาติ “เป็นไปเช่นนั้นของมันเอง”

อย่าลืมว่า อย่างดีความเคยชินหรือสามัญสำนึกที่ทำให้เราเชื่อมั่นในสิ่งหรือเรื่องใดๆ นั้น เพิ่งอยู่กับเราจริงๆ เพียงอย่างมากเมื่อเราตั้งหลักฐานบ้านช่องแล้ว หรือเมื่อ ๑๕,๐๐๐ ปีมานี้เอง แต่ธรรมชาติไม่ว่าระดับไหน อยู่กับโลกเรามาพร้อมๆ กับธรรมชาติด้านลบเพื่อรักษาดุลยภาพของโลกไว้ ผู้อ่านทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ ย่อมจะคิดออกว่า จักรวาลหรือโลกมนุษย์ เรามีทั้งรูปกับนาม หรือมีทั้งกายกับจิต เราคงจะคิดแต่เฉพาะสิ่งที่ตาเรามองเห็นหรือที่เรารับรู้ไม่ได้ เพราะย่อมมีสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีทางเห็นไม่ว่าจะขยายอย่างไร เหมือนกลางวันที่สว่างจ้า กับกลางคืนที่มืดมิด ธรรมชาติจะต้องมีอยู่คู่กันเสมอ ถ้าหากว่ากายมีวิวัฒนาการทางรูปกายได้ จิตย่อมต้องมีวิวัฒนาการได้ มนุษย์เราไม่ได้เป็นเช่นปัจจุบันเป็นแสนเป็นหมื่นปีเสียเมื่อไหร่? ทุกวันนี้ เหลียวไปมองประเทศไหนจะมีผู้แสวงหาการอยู่รอดและความจริงที่แท้อยู่ทุกหัวระแหง รวมทั้งที่บ้านเรา มีคนเข้าวัด ปฏิบัติศาสนาทำสมาธิ หรือเข้าป่าแสวงหาธรรมชาติกันมากขึ้น

ในทางอ้อม มนุษย์เราเริ่มรู้ว่าเราอยู่กับมายาแสงสีและความไม่จริงมาตลอดตั้งแต่ต้นเลย กลุ่มจิตวิวัฒน์และการเตรียมพร้อมเพื่อยุคสมัยจิตวิญญาณโลกานุวัตร ซึ่งในบ้านเราจะเริ่มมาถึงภายในสองหรือสามปีนี้ ก็เพื่อการณ์นั้น

โลกใบนี้ไม่สมบูรณ์แบบ



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 14 สิงหาคม 2553

เมื่อถึงฤดูฝน ผืนดินเล็กๆ ไม่ถึงงานหลังบ้านผม จะมีต้นหญ้าชนิดต่างๆ งอกขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เผลอแผลบเดียวก็เริ่มรู้สึกว่ารกไปแล้ว

แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เพียงไม่มากแค่นั้น ผมเคยพยายามตัดหญ้าให้หมดในครั้งเดียว ก็พบว่าต้องใช้เวลาไม่น้อย แถมยังเหนื่อยหอบและเจ็บมือไปหลายวันเลยทีเดียว

ฝนนี้ผมมีไอเดียใหม่-ผมไม่คิดว่าผมจะต้องกำจัดต้นหญ้าเหล่านั้นให้เสร็จภายในวันเดียว หลังบ้านผมไม่จำเป็นจะต้องเรียบแป้แบบทันทีทันใด เพราะถึงจะสามารถถางหญ้าให้เรียบแค่ไหน ไม่กี่วันต้นหญ้าก็จะงอกออกมาใหม่อย่างรวดเร็วเนื่องจากฝนจะตกลงมาเรื่อยๆ

ความเขียวของต้นหญ้าหลังบ้านก็เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่งของผมได้ แม้มันจะ “เคย” ถูกให้ความหมายว่าเป็นเพียงวัชพืช

ผมใช้จอบเก่าๆ อันหนึ่งค่อยๆ ถางหญ้าออกทีละนิดๆ แบบถากๆ ผืนดินส่วนใหญ่จะมีหินเกล็ดทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผมนำมาโรยไว้ การถางหญ้าให้บางที่สุดโดยที่ไม่ตักเอาหินหรือดินให้ออกมามากเกินไป เป็นงานที่ท้าทายไม่น้อยในการลงจอบแต่ละครั้ง

ผมเลือกที่จะถางหญ้าแบบสุ่มๆ ไปเรื่อยๆ คือตรงไหนที่ดูรกหรือมีหญ้าหลายชนิดขึ้นมา ก็ลุยๆ ถางๆ เข้าไปก่อน โดยไม่ได้วางแผนว่าจะถางจากซ้ายไปขวาหรือถางจากขวาไปซ้าย หรือจะต้องให้เสร็จเป็นบริเวณๆ ไป

มือที่จับด้ามจอบก็เริ่มตึง รวมทั้งหัวไหล่ แผ่นอก และลำตัว ยังได้เหงื่อเพิ่มมาอีกเยอะมาก แม้ว่าจะได้ออกกำลังกายตอนเช้าไปแล้ว

วันแรกนั้นผมเก็บหญ้าออกไปได้เยอะมาก เป็นหญ้ากองใหญ่ที่ยัดอย่างแน่นลงถุงดำขนาดใหญ่ได้เต็มๆ เช้าวันที่สองและสาม ผมยังทำแบบเดิมคือค่อยๆ ถางไปเรื่อยๆ ดูว่าดูว่าตรงไหนรกที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ก็เข้าไปลุยๆ ถางๆ ได้หญ้ามาอีกวันละกองใหญ่เต็มถุงดำใหญ่

ต้นหญ้าถูกนำไปทิ้งแล้วถึงสามถุงดำใหญ่แต่เมื่อมองไปดูสนามหญ้าที่ถูกถางไปแล้ว ด้วยมือที่เริ่มๆ ระบมพอสมควร ดูๆ แล้วหลังบ้านก็ยังดูมีต้นหญ้ารกๆ เหมือนเดิม

จริงๆ แล้วผมไม่ได้สนใจว่า ต้นหญ้าจะถูกกำจัดไปหมดหรือไม่ ผมเพียงรู้สึกมีความสุขกับการยกด้ามจอบขึ้นๆ ลงๆ กับความปวดเมื่อยนิดๆ กับเหงื่อที่ออกมาหลังจากการถางหญ้าและกับความรู้สึกสบายๆ แบบแปลกๆ หลังการถางหญ้า

วันต่อๆ มา ผมยังคงค่อยๆ ทยอยถางหญ้าอีกวันละนิดละหน่อย โดยที่ไม่ต้องมีเศษหญ้าเต็มถุงเหมือนสามวันแรกและเช้าวันวันหนึ่ง จู่ๆ ผมก็พบว่า “หลังบ้านผมโล่งขึ้นมาก” แม้จะยังมีต้นหญ้ารกๆ อยู่บางจุด

“การมองเห็นความโล่ง” ของหลังบ้านผมเหมือนกับมันเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดยังไงไม่รู้

มันเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้นึกถึงความโล่งสะอาดว่ามันจะต้องเกิดขึ้น

แต่มันก็เกิดขึ้นเองเมื่อเราค่อยๆ ถางหญ้าทีละน้อยๆ โดยไม่คาดหวังว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าให้คนอื่นๆ มาดูหลังบ้านผมก็อาจจะบอกว่า “มันยังรกอยู่นะ”

อืมมม แล้วไงล่ะ คนๆ นั้นก็คงจะเห็นแบบนั้นตราบเท่าที่เขายังไม่เคยเห็นความรกที่มีอยู่เดิม

การถางหญ้าในครั้งนี้ทำให้ผมนึกถึงงานด้าน “การเรียนรู้ในเรื่องสุขภาพ” ที่ทำกันอยู่กับเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ ในกลุ่มหัวใจใหม่ชีวิตใหม่

ตลอดเวลาร่วมสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มงานแบบนี้ พวกเราจะถูกถามเสมอว่า “ทำกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไปแล้ว คนจะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ หรือ และจะเปลี่ยนแปลงได้กี่เปอร์เซ็นต์?”

ตัวผมเองก็เคยติดกับดักนี้ ผมเองเคยฝันว่า ถ้าคนไทยเข้าใจเรื่องสุขภาพแบบใหม่นี้แล้ว คนไทยก็คงจะเป็นคนที่มีสุขภาพดีในระดับแนวหน้าของโลก

เคยฝันว่าจะเกิดสังคมอริยะที่มีแต่ความสงบสุขเรียบร้อยดีงาม

สังคมแบบนั้นไม่เคยเกิดขึ้น

ความสุขคู่กับความทุกข์ ความดีคู่กับความชั่วร้าย ความสะอาดคู่กับความรก

ต้นหญ้าหลังบ้านผมไม่มีทางเรียบเป็นระเบียบได้ตลอดเวลา

สังคมนี้ไม่มีวันเรียบร้อยหมดจดหรอกครับ โลกใบนี้ไม่มีทางสมบูรณ์แบบหรอกครับ

ผมรู้สึกว่า ถ้าอยากจะวัดผล ก็ต้องวัดผลจากต้นหญ้ามากมายที่ถูกกำจัดออกไป ไม่ใช่มาวัดผลด้วยสายตาของคนที่ไม่เคยเห็นหลังบ้านผมแล้วบอกว่า มันยังรกอยู่นะ

ถ้าจะวัดผล ก็ลองวัดจากสิ่งดีงามมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ด้วย ไม่ใช่มาวัดภาพรวมแล้วมองเห็นแค่ว่า สังคมมันเลว สังคมมันแย่ เพียงอย่างเดียว

ในสังคมก็มีสิ่งดีงามมากมายที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ถ้าเราเชื่อและศรัทธา ว่าโลกใบนี้เป็นโลกที่พร้อมจะช่วยเหลือเรา อยากให้มนุษย์บนโลกมีชีวิตที่ดีๆ กันแล้ว สิ่งดีงามเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้หลายๆ คนบนโลกใบนี้มีแรงที่จะอยู่ มีแรงที่จะทำเรื่องราวดีๆ กันให้มากขึ้นๆ

ดีกว่าเสียเวลาไปมองภาพรวมๆ แล้วบ่นว่ามันแย่นะ มันยังรกอยู่นะ ปัญหาอาจจะไม่ใช่เรื่องราวของสังคมซะแล้ว ปัญหาอาจจะอยู่ที่วิธีการมองของผู้คนกระมัง มัวแต่มองเห็นความสมบูรณ์แบบ-แบบสวยงามในฝันของตัวเอง

โลกใบนี้ไม่มีวันสมบูรณ์แบบได้แบบนั้นหรอกครับ อย่าไปเสียเวลาฝันถึงหลังบ้านที่สะอาดเป็นระเบียบอยู่เลย ความรกใหม่เกิดขึ้นทุกๆ วัน

กลับมานึกถึงต้นหญ้าที่ถูกถางออกทีละต้นๆ นึกถึงการยกด้ามจอบแต่ละครั้ง ถึงตรงนี้ผมนึกถึงประโยคที่ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดเสมอๆ ว่า ให้พึงพอใจกับความสำเร็จของงานเล็กๆ ทุกๆ วัน

ช่วยๆ กันยกจอบ ช่วยๆ กันทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้มีความหมายให้มีความสุขให้เอื้อเฟื้อต่อกันและกัน ก็เพียงพอแล้ว

เพราะวันหนึ่งเมื่อคุณเงยหน้าขึ้นมองจริงๆ คุณจะมองเห็นความสวยงามของความโล่งความสะอาดที่อยู่คู่กับความรกรุงรังบางส่วนบนโลกใบนี้ได้

โลกใบนี้สวยงามได้อย่างที่เธอเป็นโดยที่ไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบเลย

เพื่อนที่หายไปในเฟซบุ๊ก



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2553

“ประเทศอะไรมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่สามของโลก?”

หากมีใครถาม อย่าเผลอตอบว่า “สหรัฐอเมริกา” (รองจากจีนและอินเดีย) เชียวนะครับ และก็อย่าได้ไปเปิดหาจากแผนที่เลย เพราะมันอยู่ในโลกเสมือน ในอินเทอร์เน็ต

ประเทศที่ว่านี้เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ชื่อ “เฟซบุ๊ก” (facebook) ครับ คนไทยเรียกสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) แม้จะเพิ่งตั้งมา ๗ ปี แต่ก็โตไวมาก ในช่วง ๑๕ เดือนที่ผ่านมา มีประชากรเพิ่มขึ้น ๘ คน ทุกๆ วินาที และเมื่อไม่กี่วันมานี้ เฟซบุ๊กก็เพิ่งประกาศว่าประชากรหรือสมาชิกทะลุหลัก ๕๐๐ ล้านคนแล้ว (เป็นชาวไทย ๔.๒ ล้านคน)

จำนวนครึ่งหนึ่งในนั้นเข้าเว็บของเฟซบุ๊กทุกวัน เพื่อไปอ่าน ไปเขียนข้อความ ตอบจดหมาย รวมถึงเล่นเกมที่มีให้เลือกมากมาย บ้างก็ปลูกผัก (ฟาร์มวิลล์ – ๘๓ ล้านคน) เปิดร้านอาหาร (คาเฟ่เวิลด์ – ๓๐ ล้านคน) เล่นไพ่ (เทกซัสฯ – ๒๗ ล้านคน) เลี้ยงปลา (แฮปปี้อะควอเรียม – ๒๖ ล้านคน) ตั้งแก๊งมาเฟีย หาลูกน้อง สะสมอาวุธ (มาเฟียวอร์ – ๒๕ ล้านคน) ฯลฯ

รวมกันแล้วเดือนหนึ่งๆ มีผู้คนเข้าไปใช้เวลาในเว็บแห่งนี้ ๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ นาที (เจ็ดแสนล้านนาที) หรือราว ๑๒,๐๐๐ ล้านชั่วโมงทำงาน (man-hour) เลยทีเดียว

ข้อมูลหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือค่าเฉลี่ยจำนวน “เพื่อน” ของสมาชิกในเฟซบุ๊กที่มีอยู่ราว ๑๓๐ คน เมื่อเทียบเคียงไปยังข้อสรุปการวิจัยของ โรบิน ดันบาร์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการและนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตกลุ่มไพรเมต (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มลิงและมนุษย์) เขาศึกษาขนาดและความสามารถของสมองโดยเฉพาะส่วนนีโอคอร์เทกซ์ (สมองส่วนนอก ควบคุมการรับรู้ อารมณ์ ความคิด) และพบว่าศักยภาพของสมองนั้นมีผลต่อจำนวนตัว (ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน) ที่สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวจะสามารถสร้างและดูแลความสัมพันธ์ทางสังคมที่มั่นคงด้วยได้ ในกรณีของมนุษย์แล้ว พบว่ามีค่าโดยประมาณที่ ๑๕๐ เผอิญใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กใช่ไหมครับ?

ตัวเลข ๑๕๐ นี้หมายความว่าในเชิงทฤษฎีแล้ว ตามข้อจำกัดของสมองของเรา ทำให้แต่ละคนจะมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ประมาณ ๑๕๐ คน โดยที่เรายังคงรู้จักแต่ละคน รู้ว่าแต่ละคนเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ อย่างไร และยังรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ได้ (แต่ถ้าจำนวนมากขึ้นกว่านั้นก็ต้องการกฎหรือระเบียบที่มากขึ้น)

แต่ในยุคสมัยของเฟซบุ๊กที่การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและรวบรัดบนอินเทอร์เน็ตนี้ล่ะครับ? เรายังมีความแน่ใจแค่ไหนว่าจะยังคงสามารถดูแลรักษาความสัมพันธ์ให้มีคุณภาพได้ดีเท่าเดิม ศักยภาพของสมองให้เรามีความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริงได้กับ ๑๕๐ คน แต่ในความเป็นจริงเราดูแลได้สักเท่าใด

แม้ค่าเฉลี่ยของเพื่อนในเฟซบุ๊กอยู่ที่ ๑๓๐ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวน “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กของเรานั้นก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมาชิกจิตวิวัฒน์บางท่านมีเพื่อนเกิน ๕,๐๐๐ คนแล้ว (แม้ยังห่างไกลจากนักร้องอย่าง เลดี้กาก้า ที่มี “เพื่อน” ทั่วโลก ๑๔ ล้านคน) มันง่ายมากเลยที่จะมีเพื่อนใหม่ๆ มีเพื่อนมากๆ ในเฟซบุ๊ก ง่ายที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่

เพราะสิ่งที่เราต้องทำเพื่อสร้างความเป็น “เพื่อน” ในเฟซบุ๊ก ช่างสะดวกง่ายดายเพียงแค่กดคลิกเมาส์ขอ แล้วรอเขาตอบกลับ (ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนพร้อมเป็นเพื่อนมาก กดขอปุ๊บ ได้เป็นปั๊บ ... แหม ช่างทันใจจริงๆ!) ถึงแม้เราไม่กระตือรือร้นค้นหาชื่อเพื่อขอเพิ่มจำนวนเพื่อน เฟซบุ๊กก็จะคอยแนะนำเราอยู่เสมอว่าผู้ใช้คนไหนน่าสนใจให้เราไปพิจารณาขอเป็นเพื่อนบ้าง ส่วนจะเลิกคบกันยิ่งง่าย คลิกยกเลิกไปเลย ไม่ต้องขอ

ศักยภาพของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เรามีเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนเพิ่มขึ้น แต่ในโลกของความเป็นจริงที่เราต้องใช้ชีวิตและใช้เวลาอยู่จริงล่ะครับ? เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? เพื่อนที่หมายถึงทุกคนซึ่งเรามีความสัมพันธ์ด้วยนะครับ ใช่ว่าเพียงคนคอเดียวกัน แต่รวมไปถึงคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และทุกคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยในโลกใบนี้

ที่สำคัญ คุณภาพของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้เล่า เป็นอย่างไรกันบ้าง?

พ่อ แม่ สามี/ภรรยา ญาติผู้ใหญ่ ลูกหลาน คนในครอบครัวของเรา บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นเพื่อนอันมีฐานะเป็นกัลยาณมิตรผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลเราบนเส้นทางจิตวิญญาณ เรากำลังมีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไรบ้าง เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพหรือไม่? เพื่อนเหล่านี้ถูกเราปล่อยทิ้งละเลยไว้ในขณะที่เราไปอัพโหลดรูป-อัพเดทสถานะ-ปลูกผัก-เลี้ยงปลา-ล่าสัตว์ในโลกเสมือนหรือเปล่า

หรือว่าเราใช้เฟซบุ๊ก (และอินเทอร์เน็ต) เป็นที่หลบจากความสัมพันธ์ยากๆ ในชีวิตจริง เราใช้เวลาในเฟซบุ๊กให้มากเพื่อหลีกเลี่ยงมาเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่ยากกว่าในชีวิตจริงหรือเปล่า?

โลกเรากำลังต้องการการปฏิรูป/ปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุด คือ การปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ซึ่งเป็นทางออกเดียวของมนุษยชาติ และช่องทางหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ การหวนกลับมาเยียวยา ฟื้นฟู และดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดของเราเอง

ไม่ว่าเราจะฝึกปฏิบัติเจริญสติหรือทำงานเสียสละแก่ส่วนรวมเพื่อลดละอัตตาอย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงๆ เราก็ยังจะอดหัวเสีย เครียดและจี๊ดได้ง่ายๆ และบ่อยๆ ก็เพราะคนใกล้ตัวนี่เอง ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน หลายครั้งโจทย์ที่ยากยิ่งในชีวิตของเราก็กลับเป็นคนที่เรารักหรือคนที่รักเราอย่างยิ่ง บ้างก็เป็นพ่อแม่ของเราเอง บ้างก็เป็นคู่ที่เราเลือกมาเอง หรือลูกที่เราเลี้ยงมาเองกับมือ แต่ถึงกระนั้นคนที่เราเลือก คนที่เราเลี้ยงมา ก็ยังไม่วายทำให้เราหัวเสียได้ทั้งวัน และนอกจากในบ้าน เราก็ยังพบว่ามันเกิดขึ้นง่ายและบ่อยครั้งมากกับคนที่ทำงานด้วย

เราอาจอดทนกับกริยาท่าทางของคนแปลกหน้าได้นาน แต่แค่คนในครอบครัวพูดอะไรไม่เข้าหูแค่คำเดียวก็อาจทำให้เราโมโหหรือเสียใจไปครึ่งค่อนวันได้

คำพูดสวยหรูที่ว่า “ดูแลคนใกล้ชิดดั่งอาคันตุกะ” จึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิต ในยามปรกติก็ว่าดูแลยากแล้ว ในยามที่เราเกิดอาการเซ็งกับสิ่งที่คนเหล่านี้ทำ พูด หรือเป็น การดูแลคนใกล้ชิดที่ว่านี้ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ความสัมพันธ์กับคนที่รักเรา กับคนที่เรารัก กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์ใกล้ตัวเราที่ว่ายากและถูกละเลยมองข้ามเหล่านี้เอง หากได้รับการเยียวยาและหล่อเลี้ยงจึงจะกลับกลายเป็นพลังและเป็นประตูที่พาเราไปสู่ชีวิตที่เต็มพร้อม ให้เราได้มีชีวิตที่ไม่เพียงแต่ “อยู่รอด” แต่ยัง “อยู่ร่วม” และ “อยู่อย่างมีความหมาย” ด้วย

สิ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์คุยกันหลายครั้งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่ใช้ในการเยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกหักเสียหาย หรือดูแลความสัมพันธ์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา (Dialogue) การสนทนากับเสียงภายใน (Voice Dialogue) การสื่อสารด้วยความกรุณา (Compassionate or Non-violent Communication) หรือ นิเวศภาวนา (Vision Quest – Eco Quest)

เครื่องมือและความรู้เหล่านี้ทำให้การมีชีวิตอยู่นั้นมีความหมายมากขึ้น

การไปอบรมเรียนทักษะความรู้ใดๆ สำหรับใช้ชีวิตหรือในการทำงานก็ตาม ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความสัมพันธ์นี้ได้ก็ยากจะประสบผล จากประสบการณ์ของผู้เขียน ในการอบรมหลายครั้ง ผู้เข้าร่วมอบรมจะรู้สึกว่า ความรู้นี้เป็นสิ่งที่ใช่ และรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหา ก็ต่อเมื่อเขาพบหรือสัมผัสว่าสิ่งที่อบรมไปจะทำให้ความสัมพันธ์ที่เขาให้ความสำคัญนั้นมันดีขึ้นและกลับมามีความหมายต่อชีวิตเขาได้

เรื่องเล็กๆ ง่ายๆ อย่างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แข็งแรง ย่อมเป็นดั่งต้นทุนให้เราและครอบครัวสามารถรับมือกับวิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าเราได้ดีขึ้น

ยุคของอินเทอร์เน็ตที่มีข่าวสารข้อมูลไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วจึงไม่ได้มีแค่พื้นที่บันเทิงในเฟซบุ๊กเท่านั้น อินเทอร์เน็ตยังสร้างพื้นที่และให้โอกาสดีแก่มนุษยชาติอย่างมาก ที่เปิดให้เราได้เข้าถึงเครื่องมือความรู้ต่างๆ ที่เราสามารถเอามาใช้ในการดูแลความสัมพันธ์เหล่านี้ได้

ผู้เขียนไม่ได้บอกให้ไปยกเลิกสมาชิกของเฟซบุ๊ก หรือเลิกเล่น แต่เชิญชวนว่าอย่าปล่อยให้เฟซบุ๊กหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มาครอบงำปิดกั้นเราจากความจริงที่ว่าโลกเรานี้ช่างซับซ้อน การดูแลความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ต้องใช้ใจ ใช้เวลา ใช้พลัง และทำให้เราต้องเลิกใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลางในการมองและตัดสินโลก

ดูแลเพื่อนบนเฟซบุ๊กของเราก็ไม่เสียหายอะไร แต่อยากให้เราได้ดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนที่บ้านของเราด้วย

Back to Top