สิงหาคม 2011

การลดความเหลื่อมล้ำคือศีลธรรม



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2554

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาก็เป็นของดี แต่ทำไมจึงความเสื่อมเสียทางศีลธรรมเต็มไปหมด

ความรุนแรงและการฆ่ากันภายในประเทศไทยสูงกว่าในญี่ปุ่น ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่พระให้ศีลข้อปาณาติบาตวันละหลายหมื่นเที่ยว การลักขโมย การฉ้อฉลคอร์รัปชั่น เป็นวิสัยทั้งๆ ที่สมาทานศีลอทินาทาน ทำไมสังคมไทยจึงยอมให้ลูกผู้หญิงของเราต้องเป็นโสเภณีในรูปแบบต่างๆ เป็นแสนคน ทั้งๆ ที่สมาทานกาเมสุมิฉาจาร การพูดไม่จริง การใช้วาจาทำร้ายกันถูกขยายใหญ่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ยาเสพติดระบาดทั่ว เหล่านี้เป็นต้น

เรามีวัดประมาณ ๓ หมื่นแห่ง พระประมาณ ๒ แสน ๕ หมื่นรูป เณรอีกประมาณ ๑ แสนรูป ทำไมสถาบันที่ใหญ่โตมหาศาลเหล่านี้ไม่สามารถเป็นพลังสร้างสังคมศีลธรรมได้ คงจะไม่ใช่ว่าสิ่งที่ท่านทำไม่ดี แต่คงจะมีอะไรผิดฝาผิดตัวไปอย่างฉกรรจ์ในสังคมไทย ที่ทุกฝ่ายน่าจะต้องช่วยกันพิจารณาจากหลักฐานข้อเท็จจริงใหม่ๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษสองคน คือ ริชาร์ด วิลคินสัน และเคท พิคเคตต์ ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานจากงานวิจัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคม เช่นความมีอายุยืน การติดยาเสพติด ความรุนแรง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรคอ้วน ปัญหาสุขภาพจิต การขาดความเชื่อถือไว้วางใจกันในสังคม ฯลฯ

โดยสรุป ความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความแตกต่างที่มากเกินระหว่างคนจนกับคนรวยสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมทั้งปวง ดูกราฟที่นำมาแสดงข้างล่างนี้

ญี่ปุ่นกับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ความเหลื่อมล้ำน้อย ปัญหาสังคมน้อย สหรัฐอเมริกากับอังกฤษความเหลื่อมล้ำมาก ปัญหาสังคมมาก



กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับปัญหาสุขภาพและสังคม เช่น ความมีอายุยืน การติดยาเสพติด ความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต ความเชื่อถือไว้วางใจกันในสังคม (จาก วิลคินสัน และพิคเคตต์)

พฤติกรรมของคนอเมริกันเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่นเมื่อประสบหายนภัยแสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ภายหลังพายุไซโคลนแคทรีนาถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ เกิดจลาจลปล้นสดมภ์กันจนต้องใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้ามาปราบ แต่ที่ญี่ปุ่นเมื่อโดนสึนามิถล่นจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด คนญี่ปุ่นเผชิญหายนภัยด้วยความสงบ ไม่มีจี้ปล้น ไม่มีแก่งแย่ง มีแต่น้ำใจ อดทน เสียสละ เป็นที่สรรเสริญของคนทั้งโลก คนอเมริกันมีฐานะแตกต่างกันสุดๆ แต่คนญี่ปุ่นฐานะใกล้เคียงกันสุด อยู่ปลายสุดของกราฟที่แสดงข้างบนคนละด้าน

ควรสังเกตว่าอังกฤษและอเมริกาเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ทั้งสองประเทศอยู่ทางปลายสุดของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากและปัญหาสังคมมาก แสดงให้เห็นว่าลำพังสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและประชาธิปไตยยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสังคมศีลธรรม แต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นเองส่งเสริมให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสวงหาเข้าตนโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนี้ในสมัยต้นๆ ที่ประชากรยังน้อย และทรัพยากรธรรมชาติมีมาก อาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเท่าไร แต่ในสมัยปัจจุบันที่ประชากรมาก และทรัพยากรน้อย การคำนึงถึงแต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของส่วนรวม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและวิกฤตการณ์ทางสังคมได้ ดังที่เกิดกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย

ข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับความเสื่อมเสียทางจิตใจและสังคมอย่างชัดเจนถึงเพียงนี้ น่าจะนำไปสู่จิตสำนึกใหม่และวิถีคิดใหม่ ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนก็ดี ธรรมะแบบปัจเจกบุคคลก็ดี สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลก็ดี ประชาธิปไตยตามรูปแบบก็ดี ไม่เพียงพอที่จะอธิบายวิกฤตการณ์ทางศีลธรรมที่ระบาดทั่วโลก

วิกฤตการณ์ทางศีลธรรมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ

การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมคือศีลธรรม

การที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องการจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดจากวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม คอลัมน์จิตวิวัฒ์นี้ได้พูดถึงจิตสำนึกใหม่อยู่เนืองๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ จิตเล็กคือจิตที่เห็นแคบๆ คิดแคบๆ เห็นแต่เรื่องของตัวเอง คิดแต่เรื่องของตัวเอง จิตใหญ่คือจิตที่เห็นทั้งหมด คิดถึงทั้งหมด ดังที่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนทั้งหมด ต้องคิดถึงเสรีภาพของทั้งหมด (wholistic freedom) คือเมื่อมีความถูกต้องเป็นธรรมของทั้งหมด ทั้งหมดก็เป็นไปอย่างราบรื่น คล่องตัวไม่ติดขัด

โครงสร้างต่างๆ เช่น โครงสร้างอำนาจรัฐ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการศึกษา โครงสร้างทางความยุติธรรม และคำสอนทางศาสนา ควรจะมุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ มิฉะนั้นโครงสร้างต่างๆ จะส่งเสริมความเหลื่อมล้ำอันนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรม

ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ควรจะเป็นยุทศาสตร์ชาติที่รัฐบาลใหม่และสังคมไทยร่วมกันขับเคลื่อน องค์กรที่สนับสนุนการวิจัยและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ควรจะวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ แล้วนำความรู้ที่ได้มาสู่การรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง ความเข้าใจและความมุ่งมั่นร่วมกันจะทำให้การแก้ไขโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้ด้วยสันติวิธี

การยึดมั่นกับความเชื่อและการปฏิบัติผิดๆ ทางพระเรียกว่า สีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางสังคมและความรุนแรง เพื่อลบล้างความเชื่อและการปฏิบัติที่ผิดๆ ถ้าจะพ้นจากวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม สังคมไทยต้องทบทวนความยึดมั่นในความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่ได้ผล

ถ้าเห็นตรงกันว่าการลดความเหลื่อมล้ำคือศีลธรรม ก็สามารถหลอมรวมพลังของคนไทยไปสู่จุดลงตัวใหม่เพื่อสร้างสังคมศานติสุขได้

จิตไม่ได้ลอยตัวแยกเป็นเอกเทศจากสังคมและสิ่งแวดล้อม จิตและสังคมเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามหลักอิทัปปัจจยตา จิตสำนึกใหม่กับสังคมที่มีความเสมอภาคเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จิตสำนึกใหม่ไม่ใช่เพื่อปัจเจกเท่านั้น นั่นยังไม่ใช่จิตใหญ่จริง จิตสำนึกใหม่ที่เป็นจิตใหญ่ต้องเป็นไปเพื่อทั้งหมด โดยเห็นว่าทั้งหมดคือเรา เราคือทั้งหมด ด้วยจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างต่างๆ ในสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น ศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจึงจะเป็นไปได้

ถอดหมวก - กลับสู่ธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2554

- ๑ -


เคยสังเกตไหม ว่าในการประชุมที่เริ่มด้วยการแนะนำตัว เราแนะนำตัวเองต่อผู้อื่นกันอย่างไร?

ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งหนึ่ง กระบวนกรขอให้ผู้เข้าร่วมแนะนำตัวด้วยชื่อที่อยากให้คนอื่นเรียก และพูดถึงความภาคภูมิใจในชีวิตอย่างสั้น-สั้น

เมื่อกระบวนการแนะนำตัวจบลง กระบวนกรขอให้ทุกคนทำท่าจับหมวกที่สมมติว่ากำลังสวมอยู่บนหัว แล้วก็ขอให้ทุกคนทำท่าถอดหมวกลงมาวางด้านหน้า

หมวกใบนั้น – ตัวตนที่อยากให้ผู้อื่นรู้จัก ความสำเร็จและภาคภูมิใจที่อยากให้ผู้อื่นรับรู้ – หากถอดออกมาวางแล้ว ตัวเราก็จะกลับมาสู่ความเปลือยเปล่าอีกครั้ง ปราศจากการแบ่งแยกฉันกับคนอื่น-อื่น ไม่มีเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทางสังคมมาส่งเสริมอหังการมมังการ และพร้อมที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยหัวจิตหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ล้วน-ล้วน

- ๒ –


กิจกรรมในการจัดกระบวนการเรียนรู้หนึ่งที่น่าสนใจมากกิจกรรมหนึ่งก็คือ “คุณคือใคร?”

ผู้เข้าร่วมจะจับคู่กันสองคน คนหนึ่งจะถามว่า “คุณคือใคร?” อีกคนก็จะต้องตอบคำถามนั้น เมื่อฟังคำถามแล้ว ผู้ถามจะตอบด้วยประโยคว่า “ดีแล้ว งดงามแล้ว” แล้วก็ย้อนกลับไปที่คำถาม “คุณคือใคร?” อีกครั้ง ผู้ตอบก็จะต้องตอบโดยไม่ให้ซ้ำกับคำตอบเดิม ทำเช่นนี้ซ้ำเดิม ๒๐ ครั้ง

กิจกรรมนี้นำพาเราไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญมากของชีวิตคำถามหนึ่ง ซึ่งอัตตาตัวตนของเรามักจะเล่นกลหลบเลี่ยงคำถามนี้เสมอ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการหัวเราะเห็นขัน การย้อนถามโดยไม่ตอบ หรือการตอบแบบเล่นลิ้นแสดงโวหาร

การถากถางทางไปสู่คำตอบที่แท้จริงนั้น ต้องอาศัยการใช้ใจเพ่งพินิจใคร่ครวญ ยอมลอกเปลือกของตัวตนที่ห่อหุ้มตัวเราออกไปทีละชั้นทีละชั้น เพื่อที่จะตระหนักได้ว่า ธรรมชาติของเปลือกหุ้มตัวเราไม่ใช่ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์

แต่ - ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับชีวิตปัจจุบัน ในโลกและสังคมที่ซับซ้อนขึ้น มนุษย์คนหนึ่งเป็นได้หลากหลายสถานะ เราอาจจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใหญ่หรือคนเด็ก เป็นคนทำงานภาครัฐหรือภาคประชาชน เป็นคนที่ลงไปทำงานคลุกคลีกับผู้ยากไร้หรือนักคิดที่ทำงานอยู่ในรั้ววิชาการ เป็นคนมีตำแหน่งหรือไม่มีอะไรเลย ฯลฯ – มนุษย์หลายมิติอย่างเราจึงสวมหมวกหลายใบ มีเปลือกหลายชั้น ครอบครองประสบการณ์และความรู้ล้าสมัยไว้หลายห้วงเวลา

- ๓ –


ในโหมดสามัญธรรมดา เมื่อเราปล่อยตัวเองอยู่กับความคุ้นชินเดิมอัตโนมัติ ให้ความทรงจำทำงานแทนจิตตื่นรู้อันสดใหม่ พวกเราก็มักจะมองเห็นคนอื่นมากกว่าตัวเราเอง เห็นแต่หมวกที่คนอื่นสวม ไม่เห็นหมวกของตัวเอง

ก็กระทั่งตัวเราเองยังสวมหมวกหลายใบ ซ่อนตัวอยู่ในเปลือกหลายชั้น – คนอื่นก็เหมือนกัน – การพยายามสรุปลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นให้เหลือแต่เพียงหมวกใบเดียวที่ปรากฎ แท้จริงแล้วก็คือความรุนแรง

ที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นก็เห็นจะเป็นว่า เห็นว่าหมวกคนอื่นดีไม่เท่ากับหมวกตัวเอง - จิตอันคับแคบจะทำให้หมวกของเราใหญ่คับฟ้า เป็นกะลาที่พยายามไปครอบหมวกคนอื่นอีกทีหนึ่ง – หมวกจึงไม่ผิด แต่จิตแบบกะลาต่างหากที่มีปัญหา

- ๔ –


ในวงสนทนาตามองค์ประกอบทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งประกอบด้วยคนสวมหมวกภาครัฐ คนสวมหมวกนักวิชาการ และคนสวมหมวกภาคประชาชน หลายครั้งที่พบว่า คนสวมหมวกใบหนึ่งก็เพื่อใช้กระแทกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนสวมหมวกอีกใบหนึ่ง เป็นไปได้ล่ะหรือที่หมวกใบหนึ่งจะมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าหมวกใบอื่น? เรื่องดี-ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในพื้นที่ที่คนเห็นแต่หมวกแต่ไม่เห็นความเป็นมนุษย์?

หลายต่อหลายครั้งที่หน้าที่การงานทำให้เราต้องสวมหมวกพูดคุยกัน และหลายต่อหลายครั้งที่หมวกคนละใบทำให้ขัดแย้งกัน จนหลงลืมไปว่าพวกเรามานั่งพูดคุยร่วมกันเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของตนเอง บทสนทนาจึงไม่มีความคืบหน้า

แม้ในวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการของคนที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นเดียวกัน หมวก “ฉันรู้ดีกว่า” หรือ “ฉันเป็นคนทำเรื่องนี้มานาน” ก็ปรากฏตัวให้เห็นเป็นระยะ เพียงเพื่อจะผูกขาดความชอบธรรมหรือความสำเร็จไว้กับตัวเอง หมวกแห่งความฉ้อฉลเช่นนี้ คนอื่นมองเห็นได้ง่าย แต่เจ้าตัวกลับมองเห็นได้ยาก

- ๕ -


การเป็นกัลยาณมิตรนั้นเริ่มจากการถอดหมวก เปล่าเปลือยตัวเองสู่ความเป็นมนุษย์แท้-แท้ แต่การถอดหมวกกับการเชื้อเชิญให้ผู้อื่นถอดหมวกนั้นเป็นกระบวนการที่แตกต่างกันมาก แบบแรกนั้นคือการฝึกฝนตน แบบที่สองคือศิลปะ

การทำให้คนเป็นกัลยาณมิตรต่อกันจึงเริ่มจากการจัดสิ่งแวดล้อมให้มีที่ฝากหมวกชั่วคราว ความจริงจึงจะค่อยผุดเผยในบทสนทนาระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน

การถอดหมวกเป็นการถอดถอนตัวเองออกจากโครงสร้างอำนาจที่กำกับวิธีคิดวิธีพูดของเรา นำพาเรากลับมาสู่ความเป็นมนุษย์อันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดพื้นที่ว่างทั้งภายในและภายนอก พื้นที่ว่างนี้เต็มไปด้วยโอกาสที่เมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้จะงอกงามขึ้นมา

เมื่อประกอบเข้ากับการจัดกระบวนการที่เหมาะสม มีการตั้งคำถามในวงสนทนาในจังหวะพอเหมาะพอดี กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนขึ้นมาระดับหนึ่ง ปัญญากลุ่มก็จะผุดบังเกิดขึ้นได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดและถ้อยคำนั้นเอง

ปัญญาเพื่อใช้ประโยชน์



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2554

ยุคสมัยนี้มีคนเชื่อว่าเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ พร้อมที่จะถูกเข้าถึง ดึงมาใช้ เอามาอ้าง จากผู้คนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้องขอบคุณเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ที่ทำให้ความคิด ข้อคำนึงของคนจากมุมโลกหนึ่งไปถึงคนอีกมุมโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดายเพียงนั้น ในปัจจุบัน เวลาได้ไปเข้าร่วมประชุมวิชาการทีไร ก็จะอดทึ่งมิได้ในความพยายามที่มนุษย์ได้ทุ่มเท เพื่อหาคำตอบ เพื่อตั้งคำถาม และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ข้อมูล สาระ ความรู้ เป็นคำที่เรียกหาในระดับแตกต่างกัน เมื่อเกิดการ “เรียบเรียง” สาระข้อมูลต่างๆ ถ้าเราพิจารณาให้ดี เราจะพบว่าความรู้ที่ตกผลึกลงมานั้น จะมีการนำไปใช้ นำไปทดสอบทันที เพื่อทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของมนุษย์ดีขึ้นกว่าเดิม (ในแง่หนึ่ง “ความเข้าใจ” ก็ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นไปด้วย) เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่ความรู้ใหม่ๆ จะถูกนำมาใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นอันดับต้นๆ เพราะที่สุดแล้วปัจจัยสี่ก็ดี ความรู้ก็ดี เทคโนโลยีอะไรก็ดี มนุษย์อยากจะได้ “สุขภาวะ” เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมและกัลยาณมิตรหลายท่านได้เดินทางไปร่วมงานประชุมวิชาการการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Hospice Palliative Care Conference) ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดทุกสองปี เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) รวมทั้งเป็นการรณรงค์ให้มีการกระจายความรู้ในด้านนี้ออกสู่สังคมให้กว้างขวางที่สุด ความรู้ในด้านนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาใหม่ ซึ่งไม่ได้ใหม่ในแง่เป็นเรื่องใหม่ โรคใหม่ สภาวะใหม่ แต่ใหม่ในฐานะที่มีการรวบรวมความรู้ ชำระเป็นหมวดหมู่ และทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมแก่แพทย์ในเวชปฏิบัติเมื่อไม่นานมานี้เอง

ในงานประชุมนี้มีลักษณะพิเศษที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ทั่วๆ ไปคือ ผู้มาเข้าร่วมจะมีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ในปริมาณที่สูงกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะลักษณะการทำงาน ดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายนี้ เป็นการดูแลที่มีมิติของสุขภาพครบทั้งสี่มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ผลก็คือ กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในวงการนี้ จะไม่ใช่เพียงเฉพาะแพทย์สาขาต่างๆ และพยาบาลเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยประชาชนที่เป็นอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ นักอาชีวะบำบัด นักโภชนากร นักกายภาพบำบัด นักกฏหมาย ผู้นำทางศาสนา เช่น พระสงฆ์ บาทหลวง แม่ชี ไปจนถึงนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการวัด การประเมินผลของสาขาการแพทย์ใหม่นี้

การที่มีคนมากมายหลายสาขามาเกี่ยวข้อง เป็นเพราะ “การตาย” เป็นอีกมิติหนึ่งทางสุขภาพ ที่จะสะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุดนั่นเอง

“การตายดี” เป็นวลีที่ให้นิยาม หรือคำจำกัดความยาก และทำให้ “วิธี” ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์นี้ ไม่ตรงไปตรงมาแบบสมการเชิงเดี่ยว หากเป็นสมการเชิงซ้อน ที่มีบริบท ทั้งของปัจเจกบุคคล ของครอบครัวและสังคม ความเชื่อ ศาสนา มาเกี่ยวพันหลายชั้น

ในขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรเพื่อหาทางที่ดีที่สุด ในการควบคุมอาการต่างๆ ในระยะสุดท้ายของชีวิตให้ได้ แต่ดูเหมือนว่า “การตายดี” จะต้องพึ่งพามิติอื่นๆ ของสุขภาวะอีกไม่น้อย คุณค่าของชีวิต มุมมองของสังคม มีผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อมต่อการจัดการความตายของปัจเจกบุคคลเป็นอย่างมาก ไม่นับการเกิดกฏหมายที่เกี่ยวข้อง การตีความคุณภาพชีวิตเป็นตัวเงิน หรือคุณค่าทางมิติอื่นๆ ไปถึงการค้นหา “เครื่องยึดเหนี่ยว” ให้เจอ เจอบ้าง ไม่เจอบ้าง ของสังคมในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์การแพทย์อาจจะมีโอกาสผลิตยาที่เยียวยาบาดแผลทางกายได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าในการเยียวยา “บาดแผลทางจิตวิญญาณ” นั้น คำตอบยังดูลางเลือน และไม่แน่นอนอยู่

ในยุคการแสวงหา “เสรีภาพ” ดูเหมือนว่าเสรีภาพที่สำคัญที่สุด ได้แก่ เสรีภาพจากความทุกข์ (หรือเสรีภาพจากเหตุแห่งทุกข์) นั้น ยังเป็นปริศนาอยู่ เรายังคงขวนขวายที่จะเพิ่มสิ่งลวงตามากมาย ทั้งแบบ “ไม่มีแล้วจะทุกข์” หรือ “มีแล้วก็ทุกข์ที่ต้องมีเพิ่ม มีต่อไปเรื่อยๆ” สิ่งเหล่านี้อันวางอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้ นำมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไม่ได้ วางไม่ลง วางไม่ได้ ใครแนะให้วางหรือในการแสวงหาก็จะฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด สุดท้ายดูเหมือนว่า แม้เราจะดูแลอาการทางกายได้ดีเพียงไร เรายังขาดองค์ความรู้ภาคปฏิบัติ ในการเยียวยาจิตวิญญาณอยู่มาก

งานประชุมวิชาการการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และจิตวิญญาณ อาจจะเป็นงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ที่ไม่พบบ่อยนัก ว่ามีหัวข้อ “การนั่งสมาธิ” หรือ “การดูแลอารมณ์ ความรู้สึก” และมีการเน้นประเด็นเรื่อง “ความเศร้าเสียใจ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสังคม” อยู่ในหัวข้อวิชาการด้วยเสมอๆ

จากงานประชุมวิชาการครั้งนี้ มีข่าวดีก็คือ ประเทศไทยได้รับพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งต่อไปในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ประมาณเดือนกรกฏาคม เราได้ตั้งหัวข้อไว้ว่า “Integration and Harmony of Wisdoms” หรือ “การบูรณาการประสานรวมแห่งปัญญา” เพื่อที่จะสะท้อนคุณค่าของชีวิตในมิติต่างๆ ของทั้งปัจเจก ครอบครัว สังคม ความเชื่อ ศาสนา เข้ากับวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ต่างๆ ทุกสาขา เพื่อนำมาซึ่งสุขภาวะของมวลมนุษย์ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ เราเชื่อว่าหากคนในประเทศไทย ทุ่มเทจิตใจค้นหาและสรรค์สร้างองค์ความรู้ในด้านนี้อย่างจริงจัง ชีวิตของเราทุกคนจะมีความหมายมากขึ้น ต่อตัวเราเอง ต่อลูกหลานของเรา และต่อมวลมนุษยชาติ

ไม่เปลี่ยน ไม่ทำ ไม่พัฒนา



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2554

ช่วงนี้ผมหลอมรวมเป็นคลื่นเดียวกันกับลูกชาย เพื่อแก้ปัญหาอัตราเร่งของชีวิต คือระบบประสาทอัตโนมัติของพวกเรามันชอบเร่งขึ้นและเร่งขึ้นอย่างเดียว ไม่ยอมผ่อนลง ไม่ยอมคลายตัว ไม่ยอมเบาเครื่อง คิดว่าเรื่องนี้เป็นมรดกที่ผมหยิบยื่นไปให้ลูกอย่างไม่รู้ตัวผ่านช่องทางจิตไร้สำนึก ผมเองก็รับมาจากผู้ใหญ่ในบ้านอีกที อัตราเร่งเช่นนี้ก็จะทำให้พวกเราเหนื่อยล้ามากถึงเครียดและอาจจะเครียดเรื้อรังถึงป่วยได้เลย แล้วจะทำอย่างไรในเมื่ออัตราเร่งนี้ทำงานอยู่ในจิตไร้สำนึก?

เราจะติดต่อพูดคุยกับจิตไร้สำนึกอย่างไร? ในเมื่อปกตินั้น การรับรู้ของเรา การดำเนินชีวิตของเราก็ดำเนินไปในระนาบของจิตสำนึก? ที่ผมคิดได้ในตอนนี้ก็มี หนึ่ง เรียนรู้เรื่องตัวตนและการเคลื่อนย้ายตัวตน ซึ่งในแต่ละตัวตนก็จะมีแบบแผนของจิตไร้สำนึกแต่ละแบบ บางตัวตนมีอัตราเร่งแบบนี้ติดมาด้วย เลยมาอย่างเป็นอัตโนมัติเลย บางตัวตนก็ไม่มี บางตัวตนจะปล่อยวางผ่อนคลายมากๆ ดังนั้นเพียงเปลี่ยนตัวตน เราก็ผ่อนคลายได้ อันนี้เป็นแบบเรียนจากวอยซ์ไดอะล็อกของ ดร.ฮัล และซิดรา สโตน

ผมคิดถึงหลักหวูไว่ของจางจื้อ คือ อกรรม หรือไม่กระทำ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย แต่อาจจะแยกแยะระหว่างการกระทำที่คาดหวัง ออกจากการกระทำที่ไม่คาดหวัง เมื่อเราเดินไป เราพอใจในการเดินทาง เราก็บรรลุวัตถุประสงค์แล้วหรือไม่ นอกจากนี้เรายังเพลิดเพลินกับดอกไม้ริมทางได้อีกด้วย แทนที่จะก้มหน้าเดินดุ่มๆ ไปอย่างไม่สนใจบรรยากาศรอบข้างระหว่างทางเดิน และความคาดหวังอันนี้เองใช่ไหม ที่มันมากระตุ้นเรา ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่เร่งเร้าทำงาน และหากเร่งเร้าเกินไป เราก็เครียดและป่วย ชีวิตก็ไม่สมดุล เต๋าให้ความสำคัญกับสมดุลมาก เมื่อมีหยินก็มีหยาง เมื่อมีกระตุ้นเร้า ก็ต้องมีผ่อนคลาย สลับกันไป มีกลางวันกลางคืน หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ธรรมชาติก็วิปริต แปรปรวน ล่มสลาย

ตอนที่ผมไปสวนโมกข์ ท่านพุทธทาสท่านมีภาพถ่ายแล้วเขียนคำไว้ล้อตัวตนที่ต้องการทำงานมากมาย ท่านเขียนไว้ว่า “วันทั้งวัน ฉันไม่ได้ทำอะไร” ทั้งที่ท่านก็คงทำอะไรต่ออะไรของท่านไปเรื่อยๆ ท่านสนุกกับชีวิต สนุกกับการคิดค้นแง่ธรรมะที่จะมาสอนผู้คน โดยท่านจะมีสมุดโน้ตเล็กๆ ไว้ติดตัวเสมอ แต่ท่านก็ทำงานอย่างสบายๆ ผ่อนคลาย ผมยังจำที่ประชา (หุตานุวัตร) ไปสัมภาษณ์ท่านแล้วบันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าไว้ในวัยสนธยา” ได้ ในช่วงที่ท่านกำลังจะก่อตั้งสวนโมกข์ใหม่ ท่านจะชอบเที่ยวเล่น ดูเหมือนว่า ประชาจะพยายามซักแบบหาสาระอะไรออกมา ท่านก็ยืนยันว่าท่านไปเที่ยวเล่นธรรมดาๆ นี่เอง ความไม่พยายามจะทำอะไรต่ออะไรของท่าน แต่แล้วก็มีงานออกมาเรื่อยๆ อันนี้น่าสนใจใช่ไหม? ผมว่าท่านอยู่กับปิ๊งแว้บหรือญาณทัศนะเช่นนี้อย่างเป็นหลักเป็นฐานเลยทีเดียว

อีกด้านหนึ่งผมอยากจะพูดถึง “กายฝัน” ของ อาร์โนลด์ มินเดล แปลตรงตัวจากคำว่า dreambody เลย มันคล้ายกับกายานุปัสสนา คือการดำรงอยู่กับกาย ตื่นรู้ในกาย เวลาเราอยากจะเรียนรู้เรื่องอัตราเร่งของประสาทอัตโนมัติ ให้ไปจับความรู้สึกของกาย และเรียนรู้ว่า ความรู้สึกอย่างนี้ๆ มันกำลังเพิ่มอัตราเร่ง ความรู้สึกอย่างนี้ๆ มันกำลังลดอัตราเร่งและกลับเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย หากเราตามดูกายอย่างนี้ เราก็สามารถเพิ่มและลดอัตราเร่งได้อย่างที่ปรารถนา คือหากเอาประสาทอัตโนมัติมาเชื่อมไว้กับการตื่นรู้ คือจิตสำนึก เราก็สามารถเข้าไปกำกับการทำงานของจิตไร้สำนึกได้ หรือไม่?

แต่การทำงานกับกายฝันของมินเดลมีมากกว่านั้น มินเดลให้ขยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกาย (ผมยังไม่พูดในรายละเอียดนะครับ) แล้วอยู่กับการขยายสัญญาณนั้นๆ จนกระทั่งเราอาจจะพบเห็นปัญญาที่ส่งผ่านเข้ามาให้เราได้ดูได้สัมผัส ปัญญาอันนั้นก็จะคลี่คลายปัญหาให้เรา ทำให้เราสามารถทะลุข้ามพ้นปัญหานั้นๆ ไปได้ เรื่องงานกระบวนการ จิตวิทยากระบวนการของมินเดลนี้ก็สนุกครับ เขาเป็นศิษย์สาย คาร์ล ยุง อีกคนหนึ่ง วิถีของมินเดลคล้ายกับวิปัสสนา คือเข้าไปเห็นมูลเหตุของปัญหาและถอนรากมันขึ้นมา เป็นการเยียวยาปัญหานั้นๆ อย่างถาวรเลย

ผมกับลูกชายเลยตั้งปณิธานสำหรับเดือนกรกฎาคมว่า เราจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอันใด ไม่พยายามพัฒนาตัวเองอันใด ไม่พยายามกระทำการอันใดให้สำเร็จ นี่อาจจะเป็นการภาวนาที่ดีสำหรับคนบ้างานอย่างเราทั้งสองคนหรือเปล่า? หรืออาจจะต้องการเข้าใจ “อกรรม” มากขึ้น หรือจะมอบคืนความวางใจให้แก่การจัดสรรของธรรมะ หรือธรรมชาติมากขึ้น???

หลายวันก่อนผมอ่านหนังสือของมินเดล เขาเล่าเรื่อง แรงอ่อน (weak force) ในวิชาฟิสิกส์ ว่า แรงอ่อนนี้อาจจะหมายถึงแรงอะไรนิดหนึ่งที่ทำให้หิมะที่เกือบจะถล่มได้ถล่มทลายลงมา มินเดลกล่าวถึงว่า เวลาเราอารมณ์ไม่ดี อะไรนิดหนึ่งที่เข้ามาก็อาจจะทำให้เราระเบิดออกมาได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราอยู่ใน "อกรรม" ไม่คิดจะทำอะไร จิตนิ่งสงบ อะไรเล็กๆ ที่แวบเข้ามา เรารับรู้ได้ และสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้น อาจจะนำมาซึ่งงานสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่

มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำให้น้อยที่สุดอีกหรือไม่? อันหนึ่งก็คือเสียงวิจารณ์ภายในหรือผู้วิจารณ์ภายในของเราจะเงียบเสียงลง เพราะว่า เราไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ต้องการจะทำอะไร ไม่ต้องการจะสำเร็จอะไร เสียงผู้วิจารณ์นี้จึงเงียบลงไป อย่างน้อยก็ในช่วงที่เราคิดว่าจะไม่ทำอะไร

ที่จริงเสียงวิจารณ์ภายในไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากแต่ว่าเมื่อมันเข้มข้นมาก มันได้มาหยุดยั้งการดำเนินชีวิตของเรา มันกักขังเราไว้ในกำแพงของความกลัวและความวิตกกังวล ผมเคยทำแบบฝึกหัดในเวิร์คชอป โดยการตั้งชื่อใหม่ให้กับเสียงวิจารณ์ในตัวเรา แบบฝึกหัดนี้ทำให้เราเข้าใจเจตนาของเสียงวิจารณ์ ลึกที่สุดของเสียงวิจารณ์ก็คือปัญญา คือเสียงเตือนเราให้ใช้ปัญญา ไม่ให้เราทำอะไรโดยขาดสติ หากเรารู้เจตนาที่แท้จริงของเสียงวิจารณ์ เราให้ที่ทางกับเสียงวิจารณ์อย่างถูกต้อง เราจะพบว่าเสียงวิจารณ์มีคุณประโยชน์ และหากเราฟังเสียงวิจารณ์ดีพอ เสียงวิจารณ์ก็จะลดความดุดันลง เมื่อเสียงวิจารณ์กับเรากลายมาเป็นเพื่อน กลายมาเป็นกัลยาณมิตร เสียงวิจารณ์ก็จะเป็นคุณมากกว่าโทษ และหมดความจำเป็นที่จะต้องมาเตือนเราอย่างพร่ำเพรื่อ
อีกด้านหนึ่งของการไม่เปลี่ยน ไม่พัฒนา ไม่ทำ ก็คือความโล่งกว้างของการรับรู้ ความโล่งกว้างของพื้นที่แห่งจิต พื้นที่การรับรู้ของจิตมันเปิดออกเป็นที่โล่งกว้างๆ ไม่ถูกผูกมัดกับอะไร จิตที่ไม่ถูกมัดติดกับอะไร เป็นจิตอิสระ เป็นพื้นน้ำกว้างๆ เรียบๆ ที่สะท้อนให้เห็นอะไรต่ออะไร อย่างเช่นกับกระจกเงา

ในงานของกระบวนกร ที่ทำงานเพื่อจัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่ผู้คน พื้นที่โล่งๆ กว้างๆ แห่งจิตนี้สำคัญมาก ทำให้การรับรู้เปิดออกอย่างกว้าง รอบด้าน รอบตัว ไม่ถูกกักไว้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง หากเพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งนั้น ก็ยังสามารถรับรู้รอบตัวได้อยู่ด้วยพร้อมๆ กันไป อันนี้เป็นคุณลักษณะของจิตอิสระ ซึ่งการรับรู้ได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันไปนี้ เป็นคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมที่สุดในกระบวนกร หากมีได้ กระบวนกรคนนั้นก็ถือว่าไต่ระดับไปเป็นกระบวนกรชั้นเซียนแล้ว

ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ จิตอิสระขนาดนี้ ก็จะเป็นจิตที่อาจเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวหรือหลอมรวมเข้ากับอะไรก็ได้ ใครก็ได้ สนามพลัง สนามปัญญาของกลุ่มหรือของจักรวาลก็ได้ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ในทฤษฎีตัวยูของ ออตโต ชามเมอร์ หมายถึงการหลุดพ้นออกจาก I in Me หรือความคิดเอาแต่ตัวเองอย่างแคบๆ ไปสู่ I in It คือรับรู้สภาพของสรรพสิ่งรอบๆ ตัวได้อย่างไม่เข้าข้างตัวเอง (เป็นการรับรู้ในระดับวิทยาศาสตร์เก่า) และไปสู่ I in You คือหลอมรวมเข้าไปในใจผู้คนได้ และสุดท้าย I in Now คือจิตอันแผ่กว้าง connect หรือต่อท่อได้ในทุกสนามพลัง สนามปัญญานั้นแล

Back to Top