ไม่เปลี่ยน ไม่ทำ ไม่พัฒนา



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2554

ช่วงนี้ผมหลอมรวมเป็นคลื่นเดียวกันกับลูกชาย เพื่อแก้ปัญหาอัตราเร่งของชีวิต คือระบบประสาทอัตโนมัติของพวกเรามันชอบเร่งขึ้นและเร่งขึ้นอย่างเดียว ไม่ยอมผ่อนลง ไม่ยอมคลายตัว ไม่ยอมเบาเครื่อง คิดว่าเรื่องนี้เป็นมรดกที่ผมหยิบยื่นไปให้ลูกอย่างไม่รู้ตัวผ่านช่องทางจิตไร้สำนึก ผมเองก็รับมาจากผู้ใหญ่ในบ้านอีกที อัตราเร่งเช่นนี้ก็จะทำให้พวกเราเหนื่อยล้ามากถึงเครียดและอาจจะเครียดเรื้อรังถึงป่วยได้เลย แล้วจะทำอย่างไรในเมื่ออัตราเร่งนี้ทำงานอยู่ในจิตไร้สำนึก?

เราจะติดต่อพูดคุยกับจิตไร้สำนึกอย่างไร? ในเมื่อปกตินั้น การรับรู้ของเรา การดำเนินชีวิตของเราก็ดำเนินไปในระนาบของจิตสำนึก? ที่ผมคิดได้ในตอนนี้ก็มี หนึ่ง เรียนรู้เรื่องตัวตนและการเคลื่อนย้ายตัวตน ซึ่งในแต่ละตัวตนก็จะมีแบบแผนของจิตไร้สำนึกแต่ละแบบ บางตัวตนมีอัตราเร่งแบบนี้ติดมาด้วย เลยมาอย่างเป็นอัตโนมัติเลย บางตัวตนก็ไม่มี บางตัวตนจะปล่อยวางผ่อนคลายมากๆ ดังนั้นเพียงเปลี่ยนตัวตน เราก็ผ่อนคลายได้ อันนี้เป็นแบบเรียนจากวอยซ์ไดอะล็อกของ ดร.ฮัล และซิดรา สโตน

ผมคิดถึงหลักหวูไว่ของจางจื้อ คือ อกรรม หรือไม่กระทำ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย แต่อาจจะแยกแยะระหว่างการกระทำที่คาดหวัง ออกจากการกระทำที่ไม่คาดหวัง เมื่อเราเดินไป เราพอใจในการเดินทาง เราก็บรรลุวัตถุประสงค์แล้วหรือไม่ นอกจากนี้เรายังเพลิดเพลินกับดอกไม้ริมทางได้อีกด้วย แทนที่จะก้มหน้าเดินดุ่มๆ ไปอย่างไม่สนใจบรรยากาศรอบข้างระหว่างทางเดิน และความคาดหวังอันนี้เองใช่ไหม ที่มันมากระตุ้นเรา ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่เร่งเร้าทำงาน และหากเร่งเร้าเกินไป เราก็เครียดและป่วย ชีวิตก็ไม่สมดุล เต๋าให้ความสำคัญกับสมดุลมาก เมื่อมีหยินก็มีหยาง เมื่อมีกระตุ้นเร้า ก็ต้องมีผ่อนคลาย สลับกันไป มีกลางวันกลางคืน หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ธรรมชาติก็วิปริต แปรปรวน ล่มสลาย

ตอนที่ผมไปสวนโมกข์ ท่านพุทธทาสท่านมีภาพถ่ายแล้วเขียนคำไว้ล้อตัวตนที่ต้องการทำงานมากมาย ท่านเขียนไว้ว่า “วันทั้งวัน ฉันไม่ได้ทำอะไร” ทั้งที่ท่านก็คงทำอะไรต่ออะไรของท่านไปเรื่อยๆ ท่านสนุกกับชีวิต สนุกกับการคิดค้นแง่ธรรมะที่จะมาสอนผู้คน โดยท่านจะมีสมุดโน้ตเล็กๆ ไว้ติดตัวเสมอ แต่ท่านก็ทำงานอย่างสบายๆ ผ่อนคลาย ผมยังจำที่ประชา (หุตานุวัตร) ไปสัมภาษณ์ท่านแล้วบันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าไว้ในวัยสนธยา” ได้ ในช่วงที่ท่านกำลังจะก่อตั้งสวนโมกข์ใหม่ ท่านจะชอบเที่ยวเล่น ดูเหมือนว่า ประชาจะพยายามซักแบบหาสาระอะไรออกมา ท่านก็ยืนยันว่าท่านไปเที่ยวเล่นธรรมดาๆ นี่เอง ความไม่พยายามจะทำอะไรต่ออะไรของท่าน แต่แล้วก็มีงานออกมาเรื่อยๆ อันนี้น่าสนใจใช่ไหม? ผมว่าท่านอยู่กับปิ๊งแว้บหรือญาณทัศนะเช่นนี้อย่างเป็นหลักเป็นฐานเลยทีเดียว

อีกด้านหนึ่งผมอยากจะพูดถึง “กายฝัน” ของ อาร์โนลด์ มินเดล แปลตรงตัวจากคำว่า dreambody เลย มันคล้ายกับกายานุปัสสนา คือการดำรงอยู่กับกาย ตื่นรู้ในกาย เวลาเราอยากจะเรียนรู้เรื่องอัตราเร่งของประสาทอัตโนมัติ ให้ไปจับความรู้สึกของกาย และเรียนรู้ว่า ความรู้สึกอย่างนี้ๆ มันกำลังเพิ่มอัตราเร่ง ความรู้สึกอย่างนี้ๆ มันกำลังลดอัตราเร่งและกลับเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย หากเราตามดูกายอย่างนี้ เราก็สามารถเพิ่มและลดอัตราเร่งได้อย่างที่ปรารถนา คือหากเอาประสาทอัตโนมัติมาเชื่อมไว้กับการตื่นรู้ คือจิตสำนึก เราก็สามารถเข้าไปกำกับการทำงานของจิตไร้สำนึกได้ หรือไม่?

แต่การทำงานกับกายฝันของมินเดลมีมากกว่านั้น มินเดลให้ขยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกาย (ผมยังไม่พูดในรายละเอียดนะครับ) แล้วอยู่กับการขยายสัญญาณนั้นๆ จนกระทั่งเราอาจจะพบเห็นปัญญาที่ส่งผ่านเข้ามาให้เราได้ดูได้สัมผัส ปัญญาอันนั้นก็จะคลี่คลายปัญหาให้เรา ทำให้เราสามารถทะลุข้ามพ้นปัญหานั้นๆ ไปได้ เรื่องงานกระบวนการ จิตวิทยากระบวนการของมินเดลนี้ก็สนุกครับ เขาเป็นศิษย์สาย คาร์ล ยุง อีกคนหนึ่ง วิถีของมินเดลคล้ายกับวิปัสสนา คือเข้าไปเห็นมูลเหตุของปัญหาและถอนรากมันขึ้นมา เป็นการเยียวยาปัญหานั้นๆ อย่างถาวรเลย

ผมกับลูกชายเลยตั้งปณิธานสำหรับเดือนกรกฎาคมว่า เราจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอันใด ไม่พยายามพัฒนาตัวเองอันใด ไม่พยายามกระทำการอันใดให้สำเร็จ นี่อาจจะเป็นการภาวนาที่ดีสำหรับคนบ้างานอย่างเราทั้งสองคนหรือเปล่า? หรืออาจจะต้องการเข้าใจ “อกรรม” มากขึ้น หรือจะมอบคืนความวางใจให้แก่การจัดสรรของธรรมะ หรือธรรมชาติมากขึ้น???

หลายวันก่อนผมอ่านหนังสือของมินเดล เขาเล่าเรื่อง แรงอ่อน (weak force) ในวิชาฟิสิกส์ ว่า แรงอ่อนนี้อาจจะหมายถึงแรงอะไรนิดหนึ่งที่ทำให้หิมะที่เกือบจะถล่มได้ถล่มทลายลงมา มินเดลกล่าวถึงว่า เวลาเราอารมณ์ไม่ดี อะไรนิดหนึ่งที่เข้ามาก็อาจจะทำให้เราระเบิดออกมาได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราอยู่ใน "อกรรม" ไม่คิดจะทำอะไร จิตนิ่งสงบ อะไรเล็กๆ ที่แวบเข้ามา เรารับรู้ได้ และสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้น อาจจะนำมาซึ่งงานสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่

มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำให้น้อยที่สุดอีกหรือไม่? อันหนึ่งก็คือเสียงวิจารณ์ภายในหรือผู้วิจารณ์ภายในของเราจะเงียบเสียงลง เพราะว่า เราไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ต้องการจะทำอะไร ไม่ต้องการจะสำเร็จอะไร เสียงผู้วิจารณ์นี้จึงเงียบลงไป อย่างน้อยก็ในช่วงที่เราคิดว่าจะไม่ทำอะไร

ที่จริงเสียงวิจารณ์ภายในไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากแต่ว่าเมื่อมันเข้มข้นมาก มันได้มาหยุดยั้งการดำเนินชีวิตของเรา มันกักขังเราไว้ในกำแพงของความกลัวและความวิตกกังวล ผมเคยทำแบบฝึกหัดในเวิร์คชอป โดยการตั้งชื่อใหม่ให้กับเสียงวิจารณ์ในตัวเรา แบบฝึกหัดนี้ทำให้เราเข้าใจเจตนาของเสียงวิจารณ์ ลึกที่สุดของเสียงวิจารณ์ก็คือปัญญา คือเสียงเตือนเราให้ใช้ปัญญา ไม่ให้เราทำอะไรโดยขาดสติ หากเรารู้เจตนาที่แท้จริงของเสียงวิจารณ์ เราให้ที่ทางกับเสียงวิจารณ์อย่างถูกต้อง เราจะพบว่าเสียงวิจารณ์มีคุณประโยชน์ และหากเราฟังเสียงวิจารณ์ดีพอ เสียงวิจารณ์ก็จะลดความดุดันลง เมื่อเสียงวิจารณ์กับเรากลายมาเป็นเพื่อน กลายมาเป็นกัลยาณมิตร เสียงวิจารณ์ก็จะเป็นคุณมากกว่าโทษ และหมดความจำเป็นที่จะต้องมาเตือนเราอย่างพร่ำเพรื่อ
อีกด้านหนึ่งของการไม่เปลี่ยน ไม่พัฒนา ไม่ทำ ก็คือความโล่งกว้างของการรับรู้ ความโล่งกว้างของพื้นที่แห่งจิต พื้นที่การรับรู้ของจิตมันเปิดออกเป็นที่โล่งกว้างๆ ไม่ถูกผูกมัดกับอะไร จิตที่ไม่ถูกมัดติดกับอะไร เป็นจิตอิสระ เป็นพื้นน้ำกว้างๆ เรียบๆ ที่สะท้อนให้เห็นอะไรต่ออะไร อย่างเช่นกับกระจกเงา

ในงานของกระบวนกร ที่ทำงานเพื่อจัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่ผู้คน พื้นที่โล่งๆ กว้างๆ แห่งจิตนี้สำคัญมาก ทำให้การรับรู้เปิดออกอย่างกว้าง รอบด้าน รอบตัว ไม่ถูกกักไว้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง หากเพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งนั้น ก็ยังสามารถรับรู้รอบตัวได้อยู่ด้วยพร้อมๆ กันไป อันนี้เป็นคุณลักษณะของจิตอิสระ ซึ่งการรับรู้ได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันไปนี้ เป็นคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมที่สุดในกระบวนกร หากมีได้ กระบวนกรคนนั้นก็ถือว่าไต่ระดับไปเป็นกระบวนกรชั้นเซียนแล้ว

ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ จิตอิสระขนาดนี้ ก็จะเป็นจิตที่อาจเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวหรือหลอมรวมเข้ากับอะไรก็ได้ ใครก็ได้ สนามพลัง สนามปัญญาของกลุ่มหรือของจักรวาลก็ได้ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ในทฤษฎีตัวยูของ ออตโต ชามเมอร์ หมายถึงการหลุดพ้นออกจาก I in Me หรือความคิดเอาแต่ตัวเองอย่างแคบๆ ไปสู่ I in It คือรับรู้สภาพของสรรพสิ่งรอบๆ ตัวได้อย่างไม่เข้าข้างตัวเอง (เป็นการรับรู้ในระดับวิทยาศาสตร์เก่า) และไปสู่ I in You คือหลอมรวมเข้าไปในใจผู้คนได้ และสุดท้าย I in Now คือจิตอันแผ่กว้าง connect หรือต่อท่อได้ในทุกสนามพลัง สนามปัญญานั้นแล

Back to Top