ถอดหมวก - กลับสู่ธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2554

- ๑ -


เคยสังเกตไหม ว่าในการประชุมที่เริ่มด้วยการแนะนำตัว เราแนะนำตัวเองต่อผู้อื่นกันอย่างไร?

ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งหนึ่ง กระบวนกรขอให้ผู้เข้าร่วมแนะนำตัวด้วยชื่อที่อยากให้คนอื่นเรียก และพูดถึงความภาคภูมิใจในชีวิตอย่างสั้น-สั้น

เมื่อกระบวนการแนะนำตัวจบลง กระบวนกรขอให้ทุกคนทำท่าจับหมวกที่สมมติว่ากำลังสวมอยู่บนหัว แล้วก็ขอให้ทุกคนทำท่าถอดหมวกลงมาวางด้านหน้า

หมวกใบนั้น – ตัวตนที่อยากให้ผู้อื่นรู้จัก ความสำเร็จและภาคภูมิใจที่อยากให้ผู้อื่นรับรู้ – หากถอดออกมาวางแล้ว ตัวเราก็จะกลับมาสู่ความเปลือยเปล่าอีกครั้ง ปราศจากการแบ่งแยกฉันกับคนอื่น-อื่น ไม่มีเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทางสังคมมาส่งเสริมอหังการมมังการ และพร้อมที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยหัวจิตหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ล้วน-ล้วน

- ๒ –


กิจกรรมในการจัดกระบวนการเรียนรู้หนึ่งที่น่าสนใจมากกิจกรรมหนึ่งก็คือ “คุณคือใคร?”

ผู้เข้าร่วมจะจับคู่กันสองคน คนหนึ่งจะถามว่า “คุณคือใคร?” อีกคนก็จะต้องตอบคำถามนั้น เมื่อฟังคำถามแล้ว ผู้ถามจะตอบด้วยประโยคว่า “ดีแล้ว งดงามแล้ว” แล้วก็ย้อนกลับไปที่คำถาม “คุณคือใคร?” อีกครั้ง ผู้ตอบก็จะต้องตอบโดยไม่ให้ซ้ำกับคำตอบเดิม ทำเช่นนี้ซ้ำเดิม ๒๐ ครั้ง

กิจกรรมนี้นำพาเราไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญมากของชีวิตคำถามหนึ่ง ซึ่งอัตตาตัวตนของเรามักจะเล่นกลหลบเลี่ยงคำถามนี้เสมอ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการหัวเราะเห็นขัน การย้อนถามโดยไม่ตอบ หรือการตอบแบบเล่นลิ้นแสดงโวหาร

การถากถางทางไปสู่คำตอบที่แท้จริงนั้น ต้องอาศัยการใช้ใจเพ่งพินิจใคร่ครวญ ยอมลอกเปลือกของตัวตนที่ห่อหุ้มตัวเราออกไปทีละชั้นทีละชั้น เพื่อที่จะตระหนักได้ว่า ธรรมชาติของเปลือกหุ้มตัวเราไม่ใช่ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์

แต่ - ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับชีวิตปัจจุบัน ในโลกและสังคมที่ซับซ้อนขึ้น มนุษย์คนหนึ่งเป็นได้หลากหลายสถานะ เราอาจจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใหญ่หรือคนเด็ก เป็นคนทำงานภาครัฐหรือภาคประชาชน เป็นคนที่ลงไปทำงานคลุกคลีกับผู้ยากไร้หรือนักคิดที่ทำงานอยู่ในรั้ววิชาการ เป็นคนมีตำแหน่งหรือไม่มีอะไรเลย ฯลฯ – มนุษย์หลายมิติอย่างเราจึงสวมหมวกหลายใบ มีเปลือกหลายชั้น ครอบครองประสบการณ์และความรู้ล้าสมัยไว้หลายห้วงเวลา

- ๓ –


ในโหมดสามัญธรรมดา เมื่อเราปล่อยตัวเองอยู่กับความคุ้นชินเดิมอัตโนมัติ ให้ความทรงจำทำงานแทนจิตตื่นรู้อันสดใหม่ พวกเราก็มักจะมองเห็นคนอื่นมากกว่าตัวเราเอง เห็นแต่หมวกที่คนอื่นสวม ไม่เห็นหมวกของตัวเอง

ก็กระทั่งตัวเราเองยังสวมหมวกหลายใบ ซ่อนตัวอยู่ในเปลือกหลายชั้น – คนอื่นก็เหมือนกัน – การพยายามสรุปลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่นให้เหลือแต่เพียงหมวกใบเดียวที่ปรากฎ แท้จริงแล้วก็คือความรุนแรง

ที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นก็เห็นจะเป็นว่า เห็นว่าหมวกคนอื่นดีไม่เท่ากับหมวกตัวเอง - จิตอันคับแคบจะทำให้หมวกของเราใหญ่คับฟ้า เป็นกะลาที่พยายามไปครอบหมวกคนอื่นอีกทีหนึ่ง – หมวกจึงไม่ผิด แต่จิตแบบกะลาต่างหากที่มีปัญหา

- ๔ –


ในวงสนทนาตามองค์ประกอบทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งประกอบด้วยคนสวมหมวกภาครัฐ คนสวมหมวกนักวิชาการ และคนสวมหมวกภาคประชาชน หลายครั้งที่พบว่า คนสวมหมวกใบหนึ่งก็เพื่อใช้กระแทกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนสวมหมวกอีกใบหนึ่ง เป็นไปได้ล่ะหรือที่หมวกใบหนึ่งจะมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าหมวกใบอื่น? เรื่องดี-ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในพื้นที่ที่คนเห็นแต่หมวกแต่ไม่เห็นความเป็นมนุษย์?

หลายต่อหลายครั้งที่หน้าที่การงานทำให้เราต้องสวมหมวกพูดคุยกัน และหลายต่อหลายครั้งที่หมวกคนละใบทำให้ขัดแย้งกัน จนหลงลืมไปว่าพวกเรามานั่งพูดคุยร่วมกันเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของตนเอง บทสนทนาจึงไม่มีความคืบหน้า

แม้ในวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการของคนที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นเดียวกัน หมวก “ฉันรู้ดีกว่า” หรือ “ฉันเป็นคนทำเรื่องนี้มานาน” ก็ปรากฏตัวให้เห็นเป็นระยะ เพียงเพื่อจะผูกขาดความชอบธรรมหรือความสำเร็จไว้กับตัวเอง หมวกแห่งความฉ้อฉลเช่นนี้ คนอื่นมองเห็นได้ง่าย แต่เจ้าตัวกลับมองเห็นได้ยาก

- ๕ -


การเป็นกัลยาณมิตรนั้นเริ่มจากการถอดหมวก เปล่าเปลือยตัวเองสู่ความเป็นมนุษย์แท้-แท้ แต่การถอดหมวกกับการเชื้อเชิญให้ผู้อื่นถอดหมวกนั้นเป็นกระบวนการที่แตกต่างกันมาก แบบแรกนั้นคือการฝึกฝนตน แบบที่สองคือศิลปะ

การทำให้คนเป็นกัลยาณมิตรต่อกันจึงเริ่มจากการจัดสิ่งแวดล้อมให้มีที่ฝากหมวกชั่วคราว ความจริงจึงจะค่อยผุดเผยในบทสนทนาระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน

การถอดหมวกเป็นการถอดถอนตัวเองออกจากโครงสร้างอำนาจที่กำกับวิธีคิดวิธีพูดของเรา นำพาเรากลับมาสู่ความเป็นมนุษย์อันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดพื้นที่ว่างทั้งภายในและภายนอก พื้นที่ว่างนี้เต็มไปด้วยโอกาสที่เมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้จะงอกงามขึ้นมา

เมื่อประกอบเข้ากับการจัดกระบวนการที่เหมาะสม มีการตั้งคำถามในวงสนทนาในจังหวะพอเหมาะพอดี กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนขึ้นมาระดับหนึ่ง ปัญญากลุ่มก็จะผุดบังเกิดขึ้นได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดและถ้อยคำนั้นเอง

2 Comments

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมอ่านบทความแล้วรู้สึกสดชื่น สบายใจและมองเห็นแนวทางที่จะนำไปประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานของกระผมมากทีเดียว ในสังคมปัจจุบันคนเราเห็นแก่ตนเองมากยิ่งขึ้น เห็นแก่ศักดิ์ศรี และหน้าตาทางสังคมมากกว่าตัวตนที่แท้จริง ทำให้เราสื่อสาร สัมพันธ์ต่อกันผิดๆ หากนำความเหมือนของมนุษย์มาเป็นฐานในการสื่อสารกัน หลอมรวมกัน สังคมคงน่าอยู่กว่านี้

Unknown กล่าวว่า...

ใช่ครับ คนเราไม่ต้องการอะไรหรอก แต่ก็ตอบไม่ได้ว่า ต้องดิ้นรนอยู่หาเงินเพื่ออะไร มี 2 อย่างในหัวกำลังถกเถียงกันอยู่ ไม่เช่นนั้น ทุกคนก็ไปบวชหมดแล้ว ใช่ไหมครับ ต้องศึกษาธรรมชาติ ดีที่สุดครับ

Back to Top