ปัญญาเพื่อใช้ประโยชน์



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2554

ยุคสมัยนี้มีคนเชื่อว่าเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ พร้อมที่จะถูกเข้าถึง ดึงมาใช้ เอามาอ้าง จากผู้คนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้องขอบคุณเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ที่ทำให้ความคิด ข้อคำนึงของคนจากมุมโลกหนึ่งไปถึงคนอีกมุมโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดายเพียงนั้น ในปัจจุบัน เวลาได้ไปเข้าร่วมประชุมวิชาการทีไร ก็จะอดทึ่งมิได้ในความพยายามที่มนุษย์ได้ทุ่มเท เพื่อหาคำตอบ เพื่อตั้งคำถาม และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ข้อมูล สาระ ความรู้ เป็นคำที่เรียกหาในระดับแตกต่างกัน เมื่อเกิดการ “เรียบเรียง” สาระข้อมูลต่างๆ ถ้าเราพิจารณาให้ดี เราจะพบว่าความรู้ที่ตกผลึกลงมานั้น จะมีการนำไปใช้ นำไปทดสอบทันที เพื่อทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของมนุษย์ดีขึ้นกว่าเดิม (ในแง่หนึ่ง “ความเข้าใจ” ก็ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นไปด้วย) เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่ความรู้ใหม่ๆ จะถูกนำมาใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นอันดับต้นๆ เพราะที่สุดแล้วปัจจัยสี่ก็ดี ความรู้ก็ดี เทคโนโลยีอะไรก็ดี มนุษย์อยากจะได้ “สุขภาวะ” เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมและกัลยาณมิตรหลายท่านได้เดินทางไปร่วมงานประชุมวิชาการการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Hospice Palliative Care Conference) ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดทุกสองปี เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) รวมทั้งเป็นการรณรงค์ให้มีการกระจายความรู้ในด้านนี้ออกสู่สังคมให้กว้างขวางที่สุด ความรู้ในด้านนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาใหม่ ซึ่งไม่ได้ใหม่ในแง่เป็นเรื่องใหม่ โรคใหม่ สภาวะใหม่ แต่ใหม่ในฐานะที่มีการรวบรวมความรู้ ชำระเป็นหมวดหมู่ และทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมแก่แพทย์ในเวชปฏิบัติเมื่อไม่นานมานี้เอง

ในงานประชุมนี้มีลักษณะพิเศษที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ทั่วๆ ไปคือ ผู้มาเข้าร่วมจะมีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ในปริมาณที่สูงกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะลักษณะการทำงาน ดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายนี้ เป็นการดูแลที่มีมิติของสุขภาพครบทั้งสี่มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ผลก็คือ กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในวงการนี้ จะไม่ใช่เพียงเฉพาะแพทย์สาขาต่างๆ และพยาบาลเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยประชาชนที่เป็นอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ นักอาชีวะบำบัด นักโภชนากร นักกายภาพบำบัด นักกฏหมาย ผู้นำทางศาสนา เช่น พระสงฆ์ บาทหลวง แม่ชี ไปจนถึงนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการวัด การประเมินผลของสาขาการแพทย์ใหม่นี้

การที่มีคนมากมายหลายสาขามาเกี่ยวข้อง เป็นเพราะ “การตาย” เป็นอีกมิติหนึ่งทางสุขภาพ ที่จะสะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุดนั่นเอง

“การตายดี” เป็นวลีที่ให้นิยาม หรือคำจำกัดความยาก และทำให้ “วิธี” ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์นี้ ไม่ตรงไปตรงมาแบบสมการเชิงเดี่ยว หากเป็นสมการเชิงซ้อน ที่มีบริบท ทั้งของปัจเจกบุคคล ของครอบครัวและสังคม ความเชื่อ ศาสนา มาเกี่ยวพันหลายชั้น

ในขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรเพื่อหาทางที่ดีที่สุด ในการควบคุมอาการต่างๆ ในระยะสุดท้ายของชีวิตให้ได้ แต่ดูเหมือนว่า “การตายดี” จะต้องพึ่งพามิติอื่นๆ ของสุขภาวะอีกไม่น้อย คุณค่าของชีวิต มุมมองของสังคม มีผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อมต่อการจัดการความตายของปัจเจกบุคคลเป็นอย่างมาก ไม่นับการเกิดกฏหมายที่เกี่ยวข้อง การตีความคุณภาพชีวิตเป็นตัวเงิน หรือคุณค่าทางมิติอื่นๆ ไปถึงการค้นหา “เครื่องยึดเหนี่ยว” ให้เจอ เจอบ้าง ไม่เจอบ้าง ของสังคมในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์การแพทย์อาจจะมีโอกาสผลิตยาที่เยียวยาบาดแผลทางกายได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าในการเยียวยา “บาดแผลทางจิตวิญญาณ” นั้น คำตอบยังดูลางเลือน และไม่แน่นอนอยู่

ในยุคการแสวงหา “เสรีภาพ” ดูเหมือนว่าเสรีภาพที่สำคัญที่สุด ได้แก่ เสรีภาพจากความทุกข์ (หรือเสรีภาพจากเหตุแห่งทุกข์) นั้น ยังเป็นปริศนาอยู่ เรายังคงขวนขวายที่จะเพิ่มสิ่งลวงตามากมาย ทั้งแบบ “ไม่มีแล้วจะทุกข์” หรือ “มีแล้วก็ทุกข์ที่ต้องมีเพิ่ม มีต่อไปเรื่อยๆ” สิ่งเหล่านี้อันวางอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้ นำมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไม่ได้ วางไม่ลง วางไม่ได้ ใครแนะให้วางหรือในการแสวงหาก็จะฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด สุดท้ายดูเหมือนว่า แม้เราจะดูแลอาการทางกายได้ดีเพียงไร เรายังขาดองค์ความรู้ภาคปฏิบัติ ในการเยียวยาจิตวิญญาณอยู่มาก

งานประชุมวิชาการการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และจิตวิญญาณ อาจจะเป็นงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ที่ไม่พบบ่อยนัก ว่ามีหัวข้อ “การนั่งสมาธิ” หรือ “การดูแลอารมณ์ ความรู้สึก” และมีการเน้นประเด็นเรื่อง “ความเศร้าเสียใจ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสังคม” อยู่ในหัวข้อวิชาการด้วยเสมอๆ

จากงานประชุมวิชาการครั้งนี้ มีข่าวดีก็คือ ประเทศไทยได้รับพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งต่อไปในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ประมาณเดือนกรกฏาคม เราได้ตั้งหัวข้อไว้ว่า “Integration and Harmony of Wisdoms” หรือ “การบูรณาการประสานรวมแห่งปัญญา” เพื่อที่จะสะท้อนคุณค่าของชีวิตในมิติต่างๆ ของทั้งปัจเจก ครอบครัว สังคม ความเชื่อ ศาสนา เข้ากับวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ต่างๆ ทุกสาขา เพื่อนำมาซึ่งสุขภาวะของมวลมนุษย์ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ เราเชื่อว่าหากคนในประเทศไทย ทุ่มเทจิตใจค้นหาและสรรค์สร้างองค์ความรู้ในด้านนี้อย่างจริงจัง ชีวิตของเราทุกคนจะมีความหมายมากขึ้น ต่อตัวเราเอง ต่อลูกหลานของเรา และต่อมวลมนุษยชาติ

One Comment

Unknown กล่าวว่า...

ชอบคำนี้มากเลยครับ เสรีภาพจากความทุกข์ ขอเอาไปใช้บ้างนะครับ ยิ่งเทคโนโลยีมีมากขึ้น ก็มีความโลภเกิดมาขึ้นตามไปด้วย ต้องทำใจให้เป็นกลางครับ จะได้ไม่ต้องทุกข์มาก

Back to Top