กรกฎาคม 2007

ปลูกให้เป็นป่า: มองนิเวศน์ป่าสู่หัวใจตัวเอง

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2550

เมื่อครั้งที่ยังเด็ก ข้าพเจ้าคิดว่าในกระบวนวิชาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด นิเวศวิทยาถือเป็นวิชาที่มีความงามมาก เนื่องจากให้ภาพที่ชัดเจนของระบบธรรมชาติ มีความซับซ้อนอันเรียบง่าย และมีองค์ประกอบร่วมจำนวนมากมายมหาศาล ระบบนิเวศเล็กๆ เปรียบได้กับโลกใบย่อย ซึ่งทุกสิ่งในโลกใบน้อยล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ต่อกันไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ครั้นเมื่อครูบาอาจารย์ได้อรรถาธิบายหลักของอิทัปปัจจยตา หรือความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า แท้จริงแล้ว นิเวศวิทยาก็เป็นภาพอุปมาของอิทัปปัจจยตานั่นเอง

การออกแบบระบบที่สมบูรณ์พร้อมไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่เคยเลี้ยงปลาในตู้กระจกคงตระหนักดีว่า การจัดระบบนิเวศน์ในตู้ปลาให้สมดุล หรือออกแบบระบบนิเวศน์แบบปิด ซึ่งไม่ต้องให้อาหาร เปลี่ยนต้นไม้ หรือเปลี่ยนปลาอีก เป็นเรื่องค่อนข้างยาก และสำหรับระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายไปแล้ว การจะฟื้นฟูกลับมาให้เหมือนเดิมก็เป็นเรื่องต้องลงแรงลงทุนอยู่มากโขทีเดียว

แล้วการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในป่าที่ถูกทำลายล่ะ? เราจะโคลนนิงระบบนิเวศน์ของป่าให้กลับคืนมาได้อย่างไร?

กิจกรรมปลูกป่าโดยทั่วไปมักจะเป็นการนำอาสาสมัครไปปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่กำหนด กล้าไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เศรษฐกิจได้มาจากสถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้ เมื่อนำกล้าไม้ไปปลูกลงดินหมด อาสาสมัครก็เดินทางกลับ การอยู่หรือตายของกล้าไม้หลังจากนั้นกลายเป็นเรื่องของบุญของกรรม

คำถามก็คือ – การปลูกป่าง่ายเพียงนี้ล่ะหรือ?

ในเมื่อกระบวนทัศน์แบบองค์รวมมิได้หมายถึงผลรวมของส่วนประกอบทั้งหมด ผลรวมของจำนวนต้นไม้ที่ปลูกก็คงมิใช่ดัชนีชี้วัดความเป็นป่าเช่นเดียวกัน

หากมองป่าอย่างเป็นระบบนิเวศน์ ป่าย่อมประกอบด้วยต้นไม้และสัตว์หลากหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน และหากมีชุมชนอยู่ติดกับป่า ระบบนิเวศน์ย่อมหมายรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนอีกด้วย

FORRU หรือ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้คนกลุ่มเล็กๆ ทำงานต่อเนื่องกันมาสิบกว่าปี ได้เสนอแนะแนวคิดการปลูกป่าแบบองค์รวมที่น่าสนใจไว้ว่า

๑. ก่อนปลูก ดูว่าไม้เดิมมีต้นอะไรบ้าง พันธุ์ไม้หลักคืออะไร มีสัตว์ใดอาศัยอยู่บ้าง จะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ได้อย่างไร

๒. เมื่อเลือกพันธุ์ไม้หลักได้แล้ว จะวางแผนเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีระยะเวลางอกแตกต่างกัน ให้งอกออกมาพร้อมกัน เพื่อนำกล้าไม้ไปปลูกทันต้นฤดูฝน อย่างไรบ้าง

๓. เมื่อปลูกแล้ว จะเชื้อเชิญให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ป่าปลูกมาช่วยดูแลรักษากล้าไม้ที่ยังไม่แข็งแรงได้อย่างไร

การปลูกป่าแบบนี้จึงเป็นไปในลักษณะ “ทำน้อย ได้มาก” เพราะเป็นการทำงานที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ทั้งหมด หากเริ่มจากการอิงธรรมชาติ ดูพื้นที่ ดูชุมชน และโยงไปถึงการให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ผ่านเครือข่ายอาสาสมัคร ดังเช่น เครือข่ายจิตอาสา เป็นต้น

ป่าปลูกที่บ้านแม่สาใหม่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จึงมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างเร็ว มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าเดิม นั่นคือ มีต้นไม้หลากชนิดขึ้น มีสัตว์มากมายเข้ามาอยู่อาศัย และเริ่มเชื่อมโยงผืนป่าเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน เข้าหากัน ชุมชนชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้มากขึ้น ชาวจิตอาสาที่โดยมากเป็นคนเมืองกรุงก็ได้เรียนรู้ทักษะการมองเห็นความเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวม และโยงกำลังจากฐานกายสู่ฐานใจและความคิดได้อย่างเป็นระบบ

แม้ว่าความมหัศจรรย์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในข้ามวัน แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าการฟื้นคืนระบบนิเวศน์ให้กับป่านั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ถ้าเรามีทัศนะที่ถูกต้องในการมองเห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงอันซับซ้อน และมีความอดทนเพียงพอในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีสัมมาทิฏฐิ

กระบวนทัศน์การปลูกป่าแบบองค์รวมดังกล่าวนั้นเป็นคู่ตรงข้ามกับการทำสวนสำเร็จรูปในเมืองใหญ่ ที่ใช้วิธีขุดเอาไม้ใหญ่จากป่ามาปลูกเป็นสวนในบ้านตัวเอง และคงเป็นคู่ตรงข้ามกับวัฒนธรรมมักง่ายที่หวังผลอะไรเร็วๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ร่ำรวยโดยไม่ต้องทำงานหนัก มีผลงานนำเสนอปีต่อปีโดยไม่สนใจการสร้างคนทำงานที่มีคุณภาพ ผลิตกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญสวยๆ โดยไม่สนใจกระบวนการ และแม้กระทั่งการพัฒนาจิตก็ยังต้องหาหนทางอันลัดสั้นที่สุด และถูกที่สุด

แต่การปลูกป่าต้องใช้ทั้งเวลา ต้องใช้ทั้งความอดทน มีศรัทธา มีวิริยะ อุตสาหะ – เรื่องอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

คนเมืองอย่างพวกเรา อาจจะหาโอกาสไปปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้ได้ยาก แต่ถ้าหากเรามองเห็นสายโซ่ความสัมพันธ์ในวิถีชีวิตของเราที่โยงไปสู่ป่าได้ ดังเช่น การเห็นต้นไม้ที่ถูกแปรรูปมาทำเป็นกระดาษ ในหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายเดือน รายสัปดาห์ ในกระดาษเช็ดปาก ในกระดาษชำระ ในผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป

หรือเห็นพื้นที่ป่าที่หายไปเพื่อทำพื้นที่เกษตรกรรมหรือปศุสัตว์ ในร้านกาแฟ ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ในร้านอาหารที่ทำจากสัตว์ปีกบางร้าน ฯลฯ

เพียงเท่านี้ เราก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดมากขึ้น แต่คิดให้ละเอียดขึ้น แล้วเราจะสัมพันธ์กับต้นไม้ สัตว์ป่า ชาวบ้านที่อยู่ไกลออกไป ความกรุณาในใจเราจะแผ่กว้างออกไปแม้ยังสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ไปถึงแม้ยังผู้ที่เราไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นหน้า แล้วเราจะสัมพันธ์กับโลกได้จริงๆ

What is the use of Life,
That full of care,
If there is no place,
To stand and stare.

- กวีนิรนาม



จิตวิวัฒน์คงไปไหนไม่ได้หรอก หากไม่มีอากาศดี-ดีไว้หายใจ – โลกกระซิบบอกดังๆ

ศิลปะแห่งการจัดการความดี: ศึกษาจากฉือจี้

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2550

มูลนิธิฉือจี้เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศถึง ๖ แห่ง มีธนาคารไขกระดูกใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก มีสถาบันการศึกษาที่ครบทุกระดับจากประถม มัธยม วิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ในด้านการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเผยแพร่คุณธรรมผ่านเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อีกมากมายกระจายทั่วประเทศ เช่น ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์คนชรา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งงานแยกขยะ ทั้งนี้โดยมีอาสาสมัครที่ทำงานอย่างแข็งขันถึง ๒ แสนคน

มูลนิธิฉือจี้ถือกำเนิดเมื่อปี ๒๕๐๙ โดยภิกษุณีเจิ้งเหยียนวัย ๒๙ ปี เริ่มต้นด้วยการเชิญชวนแม่บ้านในเมืองห่างไกลความเจริญ จำนวน ๓๐ คน สละเงินทุกวัน ๆ ละ ๕๐ เซ็นต์ (เทียบเท่ากับ ๒๕ สตางค์ในเวลานั้น) ภายในเวลา ๒๐ ปีสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาด ๑,๐๐๐ เตียงด้วยทุนสูงถึง ๘๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน (ขณะที่งบประมาณประจำปีของทั้งจังหวัดมีเพียง ๑๐๐ ล้านเหรียญ) อีก ๒๐ ปีต่อมา สามารถขยายกิจการสู่งานด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และพัฒนาจากองค์กรการกุศลระดับจังหวัด ไปเป็นระดับชาติ และระดับโลกได้ โดยมีสมาชิกเกือบ ๖ ล้านคนในไต้หวัน (เกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากร) และอีก ๔ ล้านคนใน ๓๙ ประเทศ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกำลังเงินจำนวนมหาศาล และความรู้ที่ทันยุค แต่หัวใจสำคัญก็คือกำลังคนที่มีคุณภาพ

บุคลากรเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเงิน ชื่อเสียง อำนาจ หรือผลประโยชน์ส่วนตนเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างธุรกิจเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ แต่อาศัยคุณธรรมหรือความดีเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้เห็นเป็นแบบอย่างว่า แม้ไม่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตนหรือตัณหาเป็นแรงจูงใจ องค์กรอย่างฉือจี้ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพระดับชาติหรือระดับโลกได้ไม่แพ้บรรษัทข้ามชาติ โดยก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

การใช้ความดีเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดงานสร้างสรรค์จำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากคนเล็กคนน้อยเพียง ๓๐ คน และเงินบริจาควันละ ๕๐ เซนต์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว จะเรียกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ก็คงไม่ผิด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ลำพังเจตนาดีย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยความสามารถอย่างมาก ความสามารถที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การดึงเอาความดีจากแต่ละคนออกมา และนำมารวมกันให้มากพอจนเกิดพลัง ขณะเดียวกันก็รักษาความดีนั้นให้คงอยู่ และพัฒนาให้เพิ่มพูนมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ อาจเรียกได้ว่า “การจัดการความดี”


๑. ศรัทธาในความดีของมนุษย์ทุกคน
ชาวฉือจี้ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่งเน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคนมีโพธิสัตวภาวะอยู่แล้วในตัว แนวความคิดดังกล่าวทำให้ชาวฉือจี้มีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเมตตากรุณาและคุณงามความดีอยู่แล้วในจิตใจ เป็นแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำคุณธรรมดังกล่าวออกมา หรือดูแลรักษาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น แนวความคิดนี้เป็นที่มาของท่าทีและวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ของฉือจี้ เช่น การมองคนในแง่บวก การกล่าวคำชื่นชมมากกว่าการตำหนิ การแสดงความเคารพและอ่อนน้อมต่อผู้อื่น แม้ในยามที่ไปช่วยเหลือเขาก็ตาม

๒. น้อมนำความดีออกมาจากใจ
ฉือจี้มีวิธีการหลากหลายในการดึงความดีออกมาจากใจของผู้คน เริ่มจาก

ก. เปิดโอกาสให้เขาได้ทำความดี
เมื่อคนเราได้ทำความดี ย่อมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะได้ตอบสนองความใฝ่ดีในส่วนลึก ขณะเดียวกันก็ทำให้ความใฝ่ดีหรือคุณภาพฝ่ายบวกมีพลังมากขึ้น จนสามารถควบคุมคุณภาพฝ่ายลบ (เช่น ความเห็นแก่ตัว โลภะ โทสะ โมหะ) การที่บางคนทำความชั่ว ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความใฝ่ดีหรือคุณธรรมในจิตใจ เป็นแต่ว่าคุณภาพฝ่ายบวกเหล่านั้นไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ทัดทานคุณภาพฝ่ายลบได้ต่างหาก

ฉือจี้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความดี โดยเริ่มตั้งแต่การให้ทานหรือบริจาคเงิน จากนั้นจึงเขยิบมาสู่การทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ อาทิ งานแยกขยะ การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย งานเหล่านี้นอกจากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวอาสาสมัครเอง หลายคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคม คนชราซึ่งมาช่วยแยกขยะบางคนถึงกับพูดว่า ตนเองเป็นเสมือน “ขยะคืนชีพ”

ข .ชื่นชมมากกว่าตำหนิ
ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจะเน้นให้ชาวฉือจี้กล่าวแสดงความชื่นชมผู้อื่นให้มาก มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้พูด แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง กล่าวคือเมื่อได้รับคำชม ก็ทำให้ผู้ฟังอยากทำความดีหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์มากขึ้น คำชมจึงเปรียบเสมือนการชักชวนความดีหรือคุณภาพฝ่ายบวกให้ออกมาจากใจมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคำตำหนิ ที่มักกระตุ้นให้คุณภาพฝ่ายลบออกมาจากใจของผู้ฟัง เช่น เกิดความโกรธ ปฏิเสธความผิดพลาด โทษผู้อื่น หรือโกหกเพื่อปกป้องตนเอง

ค. เห็นความทุกข์ของผู้อื่น
ความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์สามารถกระตุ้นความเมตตากรุณาในใจเราให้เกิดพลังที่อยากทำความดีเพื่อช่วยเขาออกจากทุกข์ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจเขา ดังนั้นกิจกรรมส่วนหนึ่งของฉือจี้ คือการพาสมาชิกไปประสบสัมผัสกับผู้ทุกข์ยาก เริ่มตั้งแต่คนชรา คนป่วย คนพิการ ไปจนถึงผู้ประสบภัยพิบัติ สมาชิกเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการบริจาคเงิน หลังจากที่ได้รับฟังกิจกรรมของฉือจี้จากอาสาสมัครที่ไปเยี่ยมเยือนเป็นประจำ ใครที่สนใจก็จะได้รับการเชื้อเชิญให้เยี่ยมดูงานสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากของฉือจี้ ทำให้เกิดความอยากที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น

ง. แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกัน
การได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ทำความดี ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี ฉือจี้จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่วนนี้มาก ส่วนหนึ่งด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เช่น หนังสือ ละคร หรือรายการโทรทัศน์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำดี (เรียกว่า “โพธิสัตว์รากหญ้า”) แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ การสนทนาแลกเปลี่ยนกันในหมู่สมาชิก การนำเอาประสบการณ์ของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจอยากทำความดี ฉือจี้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำนองนี้ในหลายระดับ ทั้งในระหว่างสมาชิกกลุ่มเดียวกัน และแลกเปลี่ยนข้ามกลุ่ม

๓. รวบรวมและประสานความดีให้เกิดพลัง
เมื่อสามารถดึงความดีของแต่ละคนออกมาแล้ว ฉือจี้ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่ยังสามารถรวบรวมความดีของแต่ละคนมาผนึกให้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ได้ ตรงนี้อาจแตกต่างจากองค์กรศาสนาทั่ว ๆ ไป เช่น วัด ซึ่งเมื่อสอนให้คนทำดี หรือดึงความดีออกมาจากใจเขาแล้ว ก็มักจะปล่อยให้ต่างคนต่างทำความดีในชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำบุญให้ทาน ความดีที่กระทำจึงมักเป็นความดีส่วนบุคคล ซึ่งแม้จะมีคุณค่า แต่ขาดพลังที่จะก่อให้ความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม

ความสามารถในการประสานเชื่อมโยงความดีของบุคคลจำนวนมากมายให้เกิดพลัง เป็นเรื่องของการจัดองค์กร จุดเด่นของฉือจี้อยู่ตรงที่มีการบริหารและจัดการอาสาสมัครที่ดี อาสาสมัครเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการรักษาและขยายจำนวนสมาชิก (อาสาสมัครที่ “ฝึกงาน” มีหน้าที่บอกบุญหาสมาชิกหรือผู้บริจาค ๒๕ รายเป็นประจำทุกเดือนในปีแรก และเพิ่มเป็น ๔๐ รายในปีที่สอง อีกทั้งยังไปเยี่ยมเยือนผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ) ขณะเดียวกันยังมีการสร้างสายสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ อีกหลายด้าน เช่น สายสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครกับพี่เลี้ยง สายสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครด้วยกันตามศูนย์ต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้นในแต่ละเมืองยังมีการซอยย่อยออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่เกิน ๒๐ คน มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ประสานงาน การจัดองค์กรในระดับนี้เอื้อให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างใกล้ชิด

๔. หล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความด
ความดีนั้นนอกจากจะต้องนำออกมาและใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว จำเป็นต้องมีการหล่อเลี้ยงรักษาและทำให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น จึงจะก่อให้เกิดผลสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของ “การศึกษา” หรือ ไตรสิกขาตามหลักพุทธศาสนาโดยตรง แต่เวลาพูดถึงการศึกษา เรามักนึกถึงครูและห้องเรียน แท้ที่จริงการศึกษาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและในทุกรูปแบบ กรณีฉือจี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ใช้วิธีการหลากหลายในการหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดีของบุคคล เช่น การปลูกฝังคุณธรรมผ่านการทำงานอาสาสมัคร (เป็นธรรมดาที่จะเห็นนักธุรกิจหรือซีอีโอของฉือจี้ยืนถือกล่องรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย นั่งแยกขยะ หรือกวาดใบไม้ในโรงพยาบาล เช่นเดียวกับเด็กเรียนดีจะได้รับเกียรติให้ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงเรียน) การเคารพและเห็นคุณค่าของผู้อื่นผ่านการเรียนรู้ชีวิตของเขา การมีกำลังใจทำความดีผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น การซึมซับความดีงามผ่านการเล่านิทาน เล่นละคร หรือวาดภาพ (ซึ่งใช้มากในโรงเรียนประถมของฉือจี้) ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การส่งเสริมคุณธรรมด้วย “จริยศิลป์” ได้แก่ การจัดดอกไม้ ชงชา และเขียนพู่กันจีน ซึ่งแม้แต่นักศึกษาแพทย์ก็ยังต้องเรียน ทั้งนี้เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้ละเมียดละไม และหล่อหลอมให้นักศึกษามีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

กระบวนการจัดการความดีทั้ง ๔ ประการ จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เริ่มจากการเชื่อมั่นและมองเห็นความดีในมนุษย์ทุกคน จากนั้นก็พยายามน้อมนำความดีออกมาจากใจของเขา แล้วรวบรวมความดีเหล่านั้นมาผนึกเป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้นก็มีการหล่อเลี้ยงและต่อเติมความดีเพื่อให้มีความยั่งยืนและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

ในยุคที่เมืองไทยกำลังแสวงหาทางออกจากวิกฤตทางศีลธรรมที่กำลังรุมเร้าอยู่ในเวลานี้ แทนที่จะนึกถึงแต่การเพิ่มวิชาศีลธรรม ระดมคนเข้าวัด นิมนต์พระมาเทศน์ให้มากขึ้น เซ็นเซอร์สื่อ หรือกวดขันกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ น่าจะช่วยกันคิดค้นและสร้างสรรค์ศิลปะในการส่งเสริมคุณธรรมและจัดการความดีให้มากกว่านี้ อย่างน้อยฉือจี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าศึกษา

เจ็ดขวบปี สุนทรียสนทนา
ปลอดภัย เปราะบาง เปลี่ยนแปลง

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กรกฏาคม 2550

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันขวัญเมืองได้รับโอกาสให้ไปนำเสนอเรื่องราวการทำงานผ่านสุนทรียสนทนาในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมาในวงสนทนาประจำเดือนของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ทำให้พวกเรา มี วิศิษฐ์ วังวิญญู นพ.วิธาน ฐานะวุฒฑ์ และผู้เขียน ได้ใคร่ครวญร่วมกันในหลายแง่มุม โดยในที่นี้ ผู้เขียนจะขอเสนอแง่มุมของตนเองในฐานะที่เป็นกระบวนกรสุนทรียสนทนา

หากมองย้อนกลับไปในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พัฒนางานสุนทรียสนทนาขึ้นมาอย่างเข้มข้นและใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เปรียบได้กับคนสวนที่ใส่ใจกับเหตุปัจจัยที่จะทำให้ต้นไม้และสวนเติบโต พวกเราช่วยกันเฝ้ามองว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยหล่อเลี้ยงให้จิตวิญญาณของเราเองและเพื่อนมนุษย์ในสังคมงอกงามไปพร้อมๆ กันในยุคสมัยที่ท้าทายเช่นนี้

จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะมาสนใจงานของ เดวิด โบห์ม ผู้เขียนสนใจกระบวนการเรียนรู้แนวชนเผ่าพื้นเมืองและแนวสันติวิธีในสำนักต่างๆ ที่มีมิติความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณ เพราะในวิถีของชนเผ่าบางเผ่าในอเมริกาเหนือ การนั่งล้อมวงฟังเสียงของกันและกันอย่างใส่ใจนั้น เปรียบเสมือนการรับฟังเสียงของบรรพบุรุษและเสียงของแผ่นดินแม่ที่มีชีวิต เรียกได้ว่าเป็น สภาแผ่นดิน (Earth Council) ที่สติปัญญาของมนุษย์นั้นไม่ได้มาจากเพียงการนั่งคิดร่วมกัน แต่มาจากการเปิดโอกาสให้กับญาณทัศนะที่ดำรงอยู่ในข่ายใยแห่งชีวิตอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ

แม้ชาวคริสตชนเควกเกอร์ (Quaker) ที่เชื่อเรื่องสันติวิธีหรือความไม่รุนแรงและความเสมอภาค ก็มีวิธีการเข้าโบสถ์ที่ต่างจากจารีตอื่นๆ กล่าวคือ จะนั่งรวมกันในความเงียบ ฟังเสียงของความเงียบ แล้วหากมีความรู้สึกนึกคิดอันใดที่ผ่านเข้ามาในใจและอยากจะบอกกล่าว ก็ให้ลุกขึ้นพูด เมื่อพูดจบก็นั่งลง แล้วความเงียบก็กลับคืนสู่โบสถ์อีกครั้งหนึ่ง คล้ายๆ กับการรอเสียงพระเจ้าหรือจิตใหญ่ที่จะพูดผ่านเราในภาษามนุษย์นั่นเอง

มาภายหลัง เมื่อพวกเราได้นำเอางานของ เดวิด โบห์ม มาศึกษา ก็เห็นว่าปฏิบัติการทางความคิดและการสื่อสารนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ดังที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้กล่าวว่า ทุกวันนี้ หากเทียบกันแล้ว ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อกันส่วนใหญ่คือการสนทนา คือวจีกรรม จะทุกข์หรือสุขก็ขึ้นอยู่กับการสื่อสารและสนทนากัน การทำงานหรือบริหารงานส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่ต้องผ่านการประชุม เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการร่วมกันอย่างเป็นทีม หากคุยกันไม่เป็นทีมแล้วจะหวังถึงการทำงานเป็นทีมอย่างมีพลังนั้นเห็นจะยาก ส่วนกายกรรมนั้นก็เป็นไปในเรื่องการงานเสียมากกว่า เพราะเราก็ไม่ได้ทำร้ายกันทางกายสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นทางคำพูดและความคิด (มโนกรรม) จะอยู่ร่วมอย่างแบ่งแยกหรือบรรสานนั้นล้วนผ่านสองทางดังกล่าวเป็นหลัก

การทำงานกับสุนทรียสนทนา (Dialogue) ชวนให้เรากลับมาดูว่า เราพูดคุยกันอย่างไร ไม่เพียงแต่ใส่ใจว่าเราคุยกันเรื่องอะไร หรือมีข้อสรุปอย่างไร สาระเชิงกระบวนการที่สำคัญ ที่ทางสถาบันขวัญเมืองได้พัฒนาขึ้นมาเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปงอย่างเป็นสมุหภาพนั้น คือ สภาวะ ๓ ป. คือ ปลอดภัย เปราะบาง เปลี่ยนแปลง

ความปลอดภัย เป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิต มนุษย์ต้องการมากกว่าความปลอดภัยทางกาย เราอาจอยู่รอดได้ ไม่มีภัยคุกคามทางกาย (โดยเฉพาะในองค์กรทั่วไป) แต่อาจไม่ปลอดภัยทางใจ นั่นคือยังอาจเกรงกลัวการถูกทำให้ด้อยค่า เสียหน้า อับอาย หรือถูกพิพากษาให้เป็นสิ่งต่างๆ ที่ตนไม่ได้เป็น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติได้เมื่อผู้คนรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยนี้

ในการจัดการความรู้แบบสถาบันขวัญเมืองนั้นจำต้องดูแลความลดหลั่นทางสังคม (Social Hierarchy) ที่มีแนวโน้มกดทับมากกว่าเกื้อหนุนการเรียนรู้ โดยพยายามสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง มีความมั่นใจ วางใจ และเชื่อมั่น ซึ่งถือเป็นประตูบานแรกในการก้าวผ่าน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่มีปัญญาเชิงปฏิบัติสั่งสมอยู่ในตัวแต่ไม่กล้าแสดงออก ในแง่หนึ่งนี่เป็นความพยายามถอดถอนสิ่งที่ผู้คนเรียนรู้มาอย่างผิดๆ จากอดีต เช่น ความรู้สึกกลัวการถูกลงโทษ หรือให้คะแนนติดลบ หรือถูกเปรียบเทียบ และการแข่งขันแบบเอาตัวเองรอดและไร้ความกรุณา ซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์

เมื่อเกิดความปลอดภัยและเชื่อมั่นแล้ว สุนทรียสนทนายังช่วยหล่อเลี้ยงให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนม ไปจนถึงความผูกพัน เสริมแรงบวกของสมองชั้นกลางของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกและสัมพันธภาพแล้ว สมองชั้นนอกก็จะเปิดกว้าง สร้างสรรค์ เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้มากมายในพื้นที่หรือวัฒนธรรมกลุ่มที่ปลอดภัย

และเมื่อพูดถึงความรู้ เรามักคิดว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากความสัมพันธ์ เป็น “สิ่ง” ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ เช่น อยู่ในตำรับตำราหรืออยู่ในผู้คนที่เราจะสามารถดึงออกมาใช้งานได้ แต่ในสมมติฐานที่ว่า สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงและเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน ความรู้ก็มีเงื่อนไขการดำรงอยู่ไม่ต่างกัน คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของความสัมพันธ์ เราสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างไร จะส่งผลต่อมุมมองหรือความเข้าใจที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ อย่างนั้น นอกจากนี้ สัมพันธภาพยังส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้คนในองค์กรหรือสังคมอีกด้วย

ความรู้อันเกิดมาแต่ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimate knowledge) ระหว่างคนในองค์กรเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ท่ามกลางการแบ่งแยก ความลดหลั่น และช่องว่างทางสังคม ภายใต้โครงสร้างองค์กรแนวดิ่ง มีส่วนทำให้ผู้คนสัมพันธ์กันอย่างผิวเผิน ห่างเหิน โดยยึดเอากรอบคิดแบบระบบมาตรฐานและผู้เชี่ยวชาญนิยมเป็นสรณะ ในภาวการณ์เช่นนี้ การที่จะสร้างสรรค์ให้บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ได้ฟื้นคืนกลับมานั้นจึงต้องการสัมพันธภาพที่ดีเป็นสำคัญ ดังที่ มาการ์เร็ต วีทเล่ย์ ได้กล่าวว่า มนุษย์มักจะเลือกแบ่งปันความรู้แก่กันและกันในสัมพันธภาพที่ดี กล่าวโดยง่ายก็คือ เราเลือกคุยกับคนที่เราชอบหรือไว้วางใจนั่นเอง

เมื่อเราได้สัมพันธ์กับโลกอย่างใกล้ชิด เราจะได้เรียนรู้โลกทัศน์หรือมุมมองและความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย และเมื่อความเชื่อเดิมที่เรายึดมั่นอย่างตายตัวมาตลอดถูกท้าทาย ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเปราะบาง ที่อาจทำให้รู้สึกหมิ่นเหม่ ไม่มั่นใจ อึดอัด ปั่นป่วน โกลาหล ซึ่งถือเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้ก่อนการแปรเปลี่ยนด้านใน ทั้งนี้การเรียนรู้ที่สำคัญจะเกิดขึ้นเมื่อเราสืบค้นเข้าไปในโลกภายในของเราเอง จนเห็นข้อจำกัด หรือจุดบอด หรือมุมมืดภายในที่เรามองไม่เห็นมาก่อนนั่นเอง เราไม่สามารถบังคับหรือใช้อำนาจในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านในของผู้คนได้ แต่เราเชื้อเชิญและช่วยสร้างโอกาสเหล่านี้ได้
ดังนั้น ภารกิจหลักคือการโฮส (เป็นเจ้าภาพ) หรือดูแลพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ยอมรับความปลอดภัย เปราะบาง และเปลี่ยนแปลง โดยเจ้าภาพช่วยทำหน้าที่เชื้อเชิญให้ผู้คนได้มาหันหน้าเข้าหากัน เปิดใจเรียนรู้จากกันและกันด้วยความเคารพ ในขณะที่บรรยากาศหลักของสังคมปัจจุบันคือการแก่งแย่งแข่งขัน การสื่อสารเชิงลบที่กระตุ้นความวิตกกังวลและความกลัว พื้นที่ของสุนทรียสนทนาจึงเป็นเสมือนบ่อน้ำในทะเลทราย ที่นิ่งใส สงบเย็น ปลอดภัย ดังที่คำว่า HOST อาจขยายความได้เป็น Human Oasis for Spiritual Transformation หรือ แอ่งน้ำเพื่อความงอกงามแห่งจิตวิญญาณมนุษย์

โดยหากเราร่วมกันสร้างพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมาในสังคม ให้เป็นที่ที่ผู้คนสามารถหันหน้าเข้าหากัน สื่อสารและสัมพันธ์กันได้อย่างแท้จริง ตามวาระเรื่องราวที่แต่ละคนถือว่าสำคัญอย่างแท้จริงในชีวิต รับฟังและใส่ใจในกันและกันได้อย่างเกื้อกูล อารยธรรมแห่งการเรียนรู้ผ่านการสนทนาของสังคมยุคใหม่ก็อาจได้รับการฟื้นฟูให้เกิดขึ้นได้ และไม่เป็นเพียงตำนานที่เราโหยหา หรือดำรงอยู่ในเพียงบางเสี้ยวส่วนของสังคมอีกต่อไป

พัฒนาครูที่จิต เพื่อศิษย์งอกงามที่ใจ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2550

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พบกับเพื่อน ๓ คน ซึ่งเป็นแกนนำของสถาบันขวัญเมือง เชียงราย มีการทบทวนการทำงานและการเรียนรู้เรื่องพัฒนาจิตในประเด็น ๗ ขวบปีของสุนทรียสนทนา

ผู้เขียนฟังการพูดคุยด้วยความรู้สึกตื่นรู้และเบิกบาน เป็นช่วงเวลาที่ปลุกให้ฉุกคิดว่าการฝึกฝนตนเองร่วมกับกัลยาณมิตรนั้น ทำให้ชีวิตสงบสุขและมีความหมาย ความคิดหนึ่งฉายวาบขึ้นมา ว่าตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปีที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา หลักสูตร วิธีการสอนและการฝึกอบรม เหตุใดจึงมิได้เกิดผลต่อผู้เรียนสมดังใจ มันมีกรอบทฤษฎีทางการศึกษามาครอบงำและกักขังจินตนาการของผู้เขียนหรือไม่ ทำให้ไม่กล้าทำลายรั้วของความคุ้นชิน ออกไปสู่ความนอกคอก

หรือว่า ความนอกคอกนั้นเป็นเรื่องผิดบาปอย่างยิ่ง?

หรือว่า ความคิดของเราควรจะผสมกลมกลืนกันระหว่างพื้นฐานหลักการที่เป็นกรอบ กับการริเริ่มออกนอกกรอบ เพื่อแสวงหาปัญญาใหม่ที่ใช้ฐานความรู้และจินตนาการ

วงการแพทยศาสตร์ศึกษา กำลังเริ่มตื่นตัวปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตร์ครั้งใหม่ เพื่อสร้างและผลิตแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของระบบสาธารณสุขแห่งชาติ คือ Humanized Health Care

ผู้เขียนคิดเชื่อมโยงมาสู่หลักสูตรฝึกหัดครู ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ กรอบของหลักสูตรนั้นคงที่แน่นอนมาไม่น้อยกว่า ๕ ทศวรรษ ว่าต้องประกอบด้วย ๔ หมวดวิชา คือ หมวดการศึกษาทั่วไป หมวดวิชาการ หมวดวิชาชีพ และหมวดวิชาเลือกเสรี ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปนั้น ก็ยังมีสูตรว่าต้องครอบคลุมสาระทางมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ นอกจากนั้น การฝึกหัดครู ยังมีเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญอีก ๓ มาตรฐาน คือมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต กรอบและเกณฑ์เหล่านี้มุ่งไปสู่คุณภาพและสมรรถภาพทางวิชาการที่สามารถวัดและประเมินได้ ด้วยการทดสอบและแบบประเมิน ซึ่งจะคิดสรุปออกมาเป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่สิ่งที่ไม่สามารถรับประกันได้ด้วยวิธีใดๆ ก็คือหลักสูตรการฝึกหัดครู (หรือจะเรียกว่า “การผลิตครู” ก็แล้วแต่) นั้นได้สร้างหัวใจของความเป็นครูมากน้อยเพียงใด

กรอบและเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่สามารถครอบงำการพัฒนาหลักสูตรฝึกหัดครูได้ ถ้าผู้พัฒนาหลักสูตรก้าวพ้นจากความคุ้นชินเดิมๆ และก้าวออกมาสู่การออกแบบสาระและกระบวนการเรียนรู้ใหม่

ก้าวพ้นออกจากวิธีการทาบกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีทางลัด เอาความรู้จากภายนอกมาทาบ และฉาบทาสมองของนิสิตนักศึกษา ให้เขาเติบโตตามกิ่งตอนที่เอามาทาบติด ดอกผลที่เกิดจึงไม่ใช่เนื้อในและสายพันธุ์ของตนเอง

คนทำสวนจะเปลี่ยนวิธีคิดได้หรือไม่ แสวงหาวิธีเพาะเมล็ดพันธุ์ให้นิสิตนักศึกษาได้รับการพัฒนาจากภายในตน ค้นหาจิตสำนึก ความรู้สึก ความสามารถ ความถนัดที่ตนเองมี

มหาวิทยาลัยเปรียบดุจอุทยานแห่งปัญญา ที่คณาจารย์เป็นเสมือนคนทำสวน ที่จะเตรียมดิน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ จัดแสงสว่าง รดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช เพื่อให้นิสิตนักศึกษา คือไม้ดอกอันงดงามได้เติบโตจากภายใน งอกงาม แตกกิ่งก้าน ผลิดอกสวยสดสมบูรณ์

เป็นการพัฒนาเติบโตจากภายในตนของนิสิตนักศึกษา ผลิบานออกมาผสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและความรู้ภายนอก สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปรับตนอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง

กระบวนการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครู จึงมิใช่การถ่ายทอดทฤษฎี เนื้อหา และฝึกฝนประสบการณ์ที่จะไปถ่ายทอดบทเรียนให้แก่นักเรียนอีกต่อหนึ่ง แต่จะต้องเริ่มกล่อมเกลาจิตใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ และการรู้จักผิดชอบชั่วดี ควบคู่กันไปตลอดหลักสูตรการศึกษา

นิสิตฝึกหัดครูใช้เวลามากเหลือเกินในการเรียนเนื้อหาวิชาที่เป็นตัวบท (text) แต่มีโอกาสน้อยในการที่จะได้ศึกษาบริบท (context) ซึ่งจะทำให้การเรียนมีสีสันและชีวิตชีวา นำไปสู่กระบวนการที่อาจารย์และศิษย์จะได้โต้ตอบ สนทนา ฝึกหัด ฝึกฝน แก้ปัญหาในกรณีศึกษาที่ต้องขบคิด เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม

การถักทอเส้นใยของความเมตตาในหัวใจครู คือการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสออกจากห้องบรรยายไปสร้างความสัมพันธ์กับเด็กและผู้คนทุกช่วงวัย หลายสถานภาพ

  • แต่งเรื่องสั้นๆ ไปอ่านให้เด็กๆ ฟัง
  • ทำจุลสาร แผ่นพับเล็กๆ ให้ความรู้ที่น่าสนใจ ส่งไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน
  • อ่านนิทานอัดเทปให้โรงเรียนคนตาบอด
  • เยี่ยมผู้ป่วยพักฟื้นและคนชรา
  • อาสาช่วยสอนตามความต้องการของโรงเรียนวันอาทิตย์
  • ช่วยงานในห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนรู้

ฯลฯ


ส่วนการพัฒนาความรู้คู่กับคุณธรรมและสุนทรียภาพ อาจใช้สูตรง่ายๆ คือ นิสิตมีเวลาเรียนอย่างผ่อนคลายทางด้านดนตรี ศิลปะ พละ และการพัฒนาจิต (MAPS : music, art, physical and spiritual development)

ผู้เขียนได้เคยทำนายไว้หลายปีก่อนแล้ว ว่านับวันการศึกษาจะไม่ใช่การเรียนหนังสือในโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ก้าวออกไปสู่สังคมที่สับสนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน นิสิตของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ก็จะต้องได้รับการกล่อมเกลาภายในจิตสำนึกและความตื่นรู้เท่าทัน เพื่อสามารถรับมือกับกระแสสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาตลอดเวลาด้วย

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จึงไม่น่าจะเป็นการฝึกสอนในสถานศึกษาเท่านั้น

ผู้เขียนได้ทำงานร่วมกับครูดีๆ จำนวนมาก ยืนยันได้ว่า การสอนที่ดีจริงของครูนั้น เกิดขึ้นจากจิตสำนึกและความตระหนักภายในตนของครูเอง วิธีการสอนที่ดีมากๆ ไม่เหมือนกับที่ครูเคยทำเมื่อเวลาฝึกสอน บรรยากาศ สื่อการสอน และส่วนประกอบต่างๆ เป็นความคิดและฝีมือของครูโดยแท้

ครูสอนดี เพราะครูตั้งใจ และครูเข้าใจนักเรียน

ครูสอนดี เพราะมีกัลยาณมิตร และเป็นกัลยาณมิตร

ครูสอนดี เพราะครูมีศรัทธาต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ชีวิตของเด็กและครูเองมีหัวใจของความเป็นมนุษย์

ผู้เขียนหวังที่จะให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันฝึกหัดครู มีจิตใจที่อ่อนโยน ลดความเห็นแก่ตัว รักเมตตาลูกศิษย์ ถนอมและพัฒนาชีวิตอันอ่อนเยาว์ให้งอกงาม นี่คืออานิสงส์ที่เด็กและเยาวชนไทยจะได้รับจากครู

ขอจบบทความด้วยการแปลบทกวีของ กาเบรียล มิสตรัล กวีชาวชิลี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ดังนี้

เราสำนึกความผิดมามากครั้ง
ความพลาดพลั้งพานพบมาหลายหน
แต่บาปอันมหันตโทษของผู้คน
คือทิ้งเด็กต้องผจญความเดียวดาย
อีกเมินผ่านธารทองของชีวิต
ทุกสิ่งสิทธิ์ปรารถนาวิญญาณ์หมาย
เราอาจคอยเวลาเฝ้าท้าทาย
แต่เด็กสายเกินนักจักรอไว้
ทุกเวลาก่อร่างและเลือดเนื้อ
จิตสำนึกโอบเอื้อเพื่อเติบใหญ่
สำหรับเด็กมิอาจรอ “วันต่อไป”
ชื่อเด็กไซร้แม่นมั่นคือ “วันนี้”

Back to Top