พัฒนาครูที่จิต เพื่อศิษย์งอกงามที่ใจ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2550

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พบกับเพื่อน ๓ คน ซึ่งเป็นแกนนำของสถาบันขวัญเมือง เชียงราย มีการทบทวนการทำงานและการเรียนรู้เรื่องพัฒนาจิตในประเด็น ๗ ขวบปีของสุนทรียสนทนา

ผู้เขียนฟังการพูดคุยด้วยความรู้สึกตื่นรู้และเบิกบาน เป็นช่วงเวลาที่ปลุกให้ฉุกคิดว่าการฝึกฝนตนเองร่วมกับกัลยาณมิตรนั้น ทำให้ชีวิตสงบสุขและมีความหมาย ความคิดหนึ่งฉายวาบขึ้นมา ว่าตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปีที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา หลักสูตร วิธีการสอนและการฝึกอบรม เหตุใดจึงมิได้เกิดผลต่อผู้เรียนสมดังใจ มันมีกรอบทฤษฎีทางการศึกษามาครอบงำและกักขังจินตนาการของผู้เขียนหรือไม่ ทำให้ไม่กล้าทำลายรั้วของความคุ้นชิน ออกไปสู่ความนอกคอก

หรือว่า ความนอกคอกนั้นเป็นเรื่องผิดบาปอย่างยิ่ง?

หรือว่า ความคิดของเราควรจะผสมกลมกลืนกันระหว่างพื้นฐานหลักการที่เป็นกรอบ กับการริเริ่มออกนอกกรอบ เพื่อแสวงหาปัญญาใหม่ที่ใช้ฐานความรู้และจินตนาการ

วงการแพทยศาสตร์ศึกษา กำลังเริ่มตื่นตัวปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตร์ครั้งใหม่ เพื่อสร้างและผลิตแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของระบบสาธารณสุขแห่งชาติ คือ Humanized Health Care

ผู้เขียนคิดเชื่อมโยงมาสู่หลักสูตรฝึกหัดครู ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ กรอบของหลักสูตรนั้นคงที่แน่นอนมาไม่น้อยกว่า ๕ ทศวรรษ ว่าต้องประกอบด้วย ๔ หมวดวิชา คือ หมวดการศึกษาทั่วไป หมวดวิชาการ หมวดวิชาชีพ และหมวดวิชาเลือกเสรี ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปนั้น ก็ยังมีสูตรว่าต้องครอบคลุมสาระทางมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ นอกจากนั้น การฝึกหัดครู ยังมีเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญอีก ๓ มาตรฐาน คือมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต กรอบและเกณฑ์เหล่านี้มุ่งไปสู่คุณภาพและสมรรถภาพทางวิชาการที่สามารถวัดและประเมินได้ ด้วยการทดสอบและแบบประเมิน ซึ่งจะคิดสรุปออกมาเป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่สิ่งที่ไม่สามารถรับประกันได้ด้วยวิธีใดๆ ก็คือหลักสูตรการฝึกหัดครู (หรือจะเรียกว่า “การผลิตครู” ก็แล้วแต่) นั้นได้สร้างหัวใจของความเป็นครูมากน้อยเพียงใด

กรอบและเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่สามารถครอบงำการพัฒนาหลักสูตรฝึกหัดครูได้ ถ้าผู้พัฒนาหลักสูตรก้าวพ้นจากความคุ้นชินเดิมๆ และก้าวออกมาสู่การออกแบบสาระและกระบวนการเรียนรู้ใหม่

ก้าวพ้นออกจากวิธีการทาบกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีทางลัด เอาความรู้จากภายนอกมาทาบ และฉาบทาสมองของนิสิตนักศึกษา ให้เขาเติบโตตามกิ่งตอนที่เอามาทาบติด ดอกผลที่เกิดจึงไม่ใช่เนื้อในและสายพันธุ์ของตนเอง

คนทำสวนจะเปลี่ยนวิธีคิดได้หรือไม่ แสวงหาวิธีเพาะเมล็ดพันธุ์ให้นิสิตนักศึกษาได้รับการพัฒนาจากภายในตน ค้นหาจิตสำนึก ความรู้สึก ความสามารถ ความถนัดที่ตนเองมี

มหาวิทยาลัยเปรียบดุจอุทยานแห่งปัญญา ที่คณาจารย์เป็นเสมือนคนทำสวน ที่จะเตรียมดิน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ จัดแสงสว่าง รดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช เพื่อให้นิสิตนักศึกษา คือไม้ดอกอันงดงามได้เติบโตจากภายใน งอกงาม แตกกิ่งก้าน ผลิดอกสวยสดสมบูรณ์

เป็นการพัฒนาเติบโตจากภายในตนของนิสิตนักศึกษา ผลิบานออกมาผสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและความรู้ภายนอก สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปรับตนอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง

กระบวนการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครู จึงมิใช่การถ่ายทอดทฤษฎี เนื้อหา และฝึกฝนประสบการณ์ที่จะไปถ่ายทอดบทเรียนให้แก่นักเรียนอีกต่อหนึ่ง แต่จะต้องเริ่มกล่อมเกลาจิตใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ และการรู้จักผิดชอบชั่วดี ควบคู่กันไปตลอดหลักสูตรการศึกษา

นิสิตฝึกหัดครูใช้เวลามากเหลือเกินในการเรียนเนื้อหาวิชาที่เป็นตัวบท (text) แต่มีโอกาสน้อยในการที่จะได้ศึกษาบริบท (context) ซึ่งจะทำให้การเรียนมีสีสันและชีวิตชีวา นำไปสู่กระบวนการที่อาจารย์และศิษย์จะได้โต้ตอบ สนทนา ฝึกหัด ฝึกฝน แก้ปัญหาในกรณีศึกษาที่ต้องขบคิด เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม

การถักทอเส้นใยของความเมตตาในหัวใจครู คือการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสออกจากห้องบรรยายไปสร้างความสัมพันธ์กับเด็กและผู้คนทุกช่วงวัย หลายสถานภาพ

  • แต่งเรื่องสั้นๆ ไปอ่านให้เด็กๆ ฟัง
  • ทำจุลสาร แผ่นพับเล็กๆ ให้ความรู้ที่น่าสนใจ ส่งไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน
  • อ่านนิทานอัดเทปให้โรงเรียนคนตาบอด
  • เยี่ยมผู้ป่วยพักฟื้นและคนชรา
  • อาสาช่วยสอนตามความต้องการของโรงเรียนวันอาทิตย์
  • ช่วยงานในห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนรู้

ฯลฯ


ส่วนการพัฒนาความรู้คู่กับคุณธรรมและสุนทรียภาพ อาจใช้สูตรง่ายๆ คือ นิสิตมีเวลาเรียนอย่างผ่อนคลายทางด้านดนตรี ศิลปะ พละ และการพัฒนาจิต (MAPS : music, art, physical and spiritual development)

ผู้เขียนได้เคยทำนายไว้หลายปีก่อนแล้ว ว่านับวันการศึกษาจะไม่ใช่การเรียนหนังสือในโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ก้าวออกไปสู่สังคมที่สับสนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน นิสิตของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ก็จะต้องได้รับการกล่อมเกลาภายในจิตสำนึกและความตื่นรู้เท่าทัน เพื่อสามารถรับมือกับกระแสสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาตลอดเวลาด้วย

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จึงไม่น่าจะเป็นการฝึกสอนในสถานศึกษาเท่านั้น

ผู้เขียนได้ทำงานร่วมกับครูดีๆ จำนวนมาก ยืนยันได้ว่า การสอนที่ดีจริงของครูนั้น เกิดขึ้นจากจิตสำนึกและความตระหนักภายในตนของครูเอง วิธีการสอนที่ดีมากๆ ไม่เหมือนกับที่ครูเคยทำเมื่อเวลาฝึกสอน บรรยากาศ สื่อการสอน และส่วนประกอบต่างๆ เป็นความคิดและฝีมือของครูโดยแท้

ครูสอนดี เพราะครูตั้งใจ และครูเข้าใจนักเรียน

ครูสอนดี เพราะมีกัลยาณมิตร และเป็นกัลยาณมิตร

ครูสอนดี เพราะครูมีศรัทธาต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ชีวิตของเด็กและครูเองมีหัวใจของความเป็นมนุษย์

ผู้เขียนหวังที่จะให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันฝึกหัดครู มีจิตใจที่อ่อนโยน ลดความเห็นแก่ตัว รักเมตตาลูกศิษย์ ถนอมและพัฒนาชีวิตอันอ่อนเยาว์ให้งอกงาม นี่คืออานิสงส์ที่เด็กและเยาวชนไทยจะได้รับจากครู

ขอจบบทความด้วยการแปลบทกวีของ กาเบรียล มิสตรัล กวีชาวชิลี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ดังนี้

เราสำนึกความผิดมามากครั้ง
ความพลาดพลั้งพานพบมาหลายหน
แต่บาปอันมหันตโทษของผู้คน
คือทิ้งเด็กต้องผจญความเดียวดาย
อีกเมินผ่านธารทองของชีวิต
ทุกสิ่งสิทธิ์ปรารถนาวิญญาณ์หมาย
เราอาจคอยเวลาเฝ้าท้าทาย
แต่เด็กสายเกินนักจักรอไว้
ทุกเวลาก่อร่างและเลือดเนื้อ
จิตสำนึกโอบเอื้อเพื่อเติบใหญ่
สำหรับเด็กมิอาจรอ “วันต่อไป”
ชื่อเด็กไซร้แม่นมั่นคือ “วันนี้”

Back to Top