โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2560
โครงการประเมิน “โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทาน มีเวลาต่อเนื่องกันสามปี นับเป็นโครงการแรกของไทยและของโลกที่มีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของการประเมินแนวใหม่ที่เรียกว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
จากการ “ปิ๊งแว้บ” ทางความคิดในเรื่องกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินของผู้เขียนในต้นปี ๒๕๕๑ สู่การมีโอกาสนำไปปฏิบัติจริงกับโครงการของกรมชลประทาน ในปี ๒๕๕๖ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองหลายประการ ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ไปแล้วสองครั้ง ในลักษณะของการสะท้อนการเรียนรู้จากปีที่หนึ่งและปีที่สองของโครงการ
โครงการพัฒนาฯ นี้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปในปี ๒๕๕๙ ในฐานะทีมประเมินผู้นำกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้ ผู้เขียนมีบางประเด็นที่จะนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังต่อไปนี้
เมื่อพิจารณาจากปรัชญาการประเมินแนวใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การเอื้อ/การสร้างให้เกิดความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และความยั่งยืนของโครงการ พบว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าทุกพื้นที่นำร่องใน ๔ จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการได้รับความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ ทั้งในแง่ของการพัฒนากระบวนการวางแผนและการทำงานอย่างมีส่วนร่วม กระบวนการผลิต การตลาด และผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ โดยรวม กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการในทุกพื้นที่มีความภาคภูมิใจที่ชุมชนพื้นที่ของตนได้รับความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการ และจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้าน คณะทำงานในพื้นที่ ทีมพัฒนา โดยรวมมีความคาดหวังและตั้งใจจะสานต่อการทำงานการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนได้ในระดับหนึ่ง