พฤษภาคม 2011

๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2554

ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ ปูชนียบุคคลของไทยท่านหนึ่งจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปีบริบูรณ์ การมีอายุครบ ๑๐๐ ปี เป็นสิ่งที่หาได้ยาก และถ้าเป็น ๑๐๐ ปีของชีวิตวิวัฒน์และจิตวิวัฒน์ ก็เป็นมงคลที่จะคบหาศึกษาเรียนรู้ ตามพุทธภาษิตในมงคลสูตรที่ว่า “บัณฑิตานัญ จะ เสวนา”

อาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว จบแพทย์จากศิริราชเมื่อพ.ศ.๒๔๗๖ ถูกส่งไปปราบอหิวาต์ที่อัมพวา ในสมัยนั้นในจังหวัดต่างๆ ไม่มีแพทย์ ชีวิตของผู้คนล้มตายด้วยเรื่องง่ายๆ เช่นไส้ติ่งอักเสบ คอตีบ เมื่ออหิวาต์ระบาดแต่ละครั้ง ประชาชนจะล้มตายเป็นเบือ เช่นเมื่อครั้ง ร.๓ ศพที่วัดสระเกศเผาไม่ทัน กองสุมกันอยู่และมีแร้งบินว่อน อาจารย์เสมออกไปเป็นแพทย์ชนบทในสภาพสังคมเช่นนั้น เมื่อไปปราบอหิวาต์ ท่านต้องนอนที่ศาลาวัด ต่อมาท่านไปเป็นแพทย์คนแรกและคนเดียวของจังหวัดเชียงรายอยู่ช้านาน แพทย์หนุ่มคนนี้มีบุคลิกโดดเด่นเตะตาและอยู่ในความทรงจำของคนทั้งหลาย กล่าวคือเป็นผู้อุทิศตัวบริการประชาชนทุกชั้นวรรณะเสมอกัน เป็นคนซื่อตรงสุจริตโอบอ้อมอารี มีความประณีตในชีวิตและการงาน เป็นผู้ทรงคุณในวิทยาการและความรอบรู้ และเป็นแพทย์ฝีมือดีสามารถทำได้ทุกอย่าง เป็นหมอเด็กก็ได้ เป็นหมอยาก็ได้ เป็นหมอสูติก็ได้ เป็นหมอผ่าตัดก็ได้

คนดีเด่นขนาดนี้อยู่จังหวัดเชียงรายห่างไกลชายแดน ตามปรกติก็รู้กันแต่ในจังหวัดนั้น แต่ช่วงนั้นมีสงครามเชียงตุง กองทัพไทยเดินทางผ่านเชียงราย กิตติศัพท์อันงามของแพทย์หนุ่มผู้นี้ปรากฏแก่แม่ทัพนายกองไปทั่ว เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องการสร้างโรงพยาบาลหญิง จึงขอให้ท่านมาดำเนินการ หลวงนิตย์ เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ขณะนั้น กับอาจารย์เสมผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง เป็นที่รักใคร่นับถือของนายกรัฐมนตรีและครอบครัวเป็นอันมาก จอมพล ป. ถึงกับตั้งชื่อลูกคนหนึ่งว่า นิตย์ (นายนิตย์ พิบูลสงคราม) นายแพทย์ทั้งสองจะได้ใช้ความใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่ประการใดก็หาไม่ แต่ได้ใช้เป็นโอกาสให้รัฐบาลสร้างโรงพยาบาลจังหวัดครบทุกจังหวัดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะนายกรัฐมนตรีคอยถามท่านทั้งสองอยู่เสมอว่า “จะให้ผมทำอะไรบ้าง” ผมเป็นเด็กบ้านนอกได้รู้เห็นสภาพที่ในจังหวัดไม่มีหมอ ไม่มีบุคลากรใดๆ จึงรู้สึกประทับใจมากว่าการสาธารณสุขไทยได้ก้าวหน้าโดยรวดเร็ว ที่มีโรงพยาบาลจังหวัดทุกจังหวัด มีโรงพยาบาลชุมชนครบทุกอำเภอ มีสถานีอนามัยครบทุกตำบล เพราะวิสัยทัศน์และการอุทิศตัวของบรรพชนคนสาธารณสุข ในเรื่องนี้มีตัวละครหรือผู้เกี่ยวข้องในบทบาทต่างๆ อย่างหลากหลายสุดพรรณนาประดุจมหากาพย์แห่งการสาธารณสุขไทย อาจารย์เสมเป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในมหากาพย์นี้

อาจารย์เสมเป็นบุคคลเรียนรู้ที่ชอบเรียนรู้ทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่ะเป็นการแพทย์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรืออะไรอย่างอื่น ที่บ้านของท่านเป็นเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ ทำให้ท่านเป็นพหูสูตรและมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ปัญหาใหญ่ของไทยคือขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้ ทำให้ขาดความรู้ ขาดปัญญา ขาดวิสัยทัศน์ มีแต่รูปแบบ แต่ขาดสาระ จึงพัฒนาบ้านเมืองได้ยาก การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปจากสังคมอำนาจนิยมไปเป็นสังคมปัญญานิยม บุคคลควรจะเป็นบุคคลเรียนรู้ องค์กรควรจะเป็นองค์กรเรียนรู้ อาจารย์เสมเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าบุคคลเรียนรู้เป็นอย่างไร บุคคลเมื่อเป็นบุคคลเรียนรู้แล้วมีคุณลักษณ์อย่างไร

ความที่ท่านมีวิสัยทัศน์ จึงเห็นว่าการมีโรงพยาบาลอย่างเดียวหาเพียงพอแก่การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนไม่ จำเป็นต้องสร้างบุคลากรและวิทยาการต่างๆ ท่านได้สร้างวิทยาลัยพยาบาลแห่งแรกที่โรงพยาบาลหญิง ติดต่อยูซ่อม (USOM: องค์กรช่วยเหลือต่างประเทศของอเมริกันขณะนั้น) ให้ส่งคนมาช่วยสร้างคณะเทคนิคการแพทย์แห่งแรกของไทยที่ศิริราช ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยามาวิจัยโรคที่ขณะนั้นไม่รู้ว่าอะไร ซึ่งบัดนี้รู้แล้วว่าคือโรคธาลัสซีเมียซึ่งแพร่หลายมาก ท่านสนับสนุนให้มีศูนย์บริการโลหิต

เมื่อผมเดินทางไปไหนกับท่านจะสังเกตเห็นคนเข้ามาแสดงความเคารพท่านและแนะนำตัวว่า “คุณหมอเป็นผู้ทำคลอดหนู” บ้าง “คุณหมอเคยรักษาคุณแม่หนูบ้าง” บ้าง “หนูจบพยาบาลจากวิทยาลัยที่ท่านสร้าง” บ้าง เช่นนี้เสมอๆ เป็นประจำ ทำให้ผมคิดว่าคงมีคนที่ท่านทำคลอด ดูแลรักษา หรือช่วยเหลือด้วยประการอื่นใดเป็นหมื่นๆ คน และอัศจรรย์ในการเป็นคนที่ทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ของท่าน การทำเพื่อเพื่อนมนุษย์เป็นอาการของจิตวิวัฒน์อย่างหนึ่งและเป็นความงามในแผ่นดิน

ในช่วงก่อน ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ มีแพทย์กลุ่มหนึ่งรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในการปฏิรูประบบสุขภาพ อาจารย์เสมซึ่งมีอาวุโสกว่ากลุ่มยังเติร์กทางสาธารณสุขก็เข้าร่วมด้วย สิ่งหนึ่งที่กลุ่มนี้คิดก็คือการสร้าง “โรงเรียนแพทย์ชุมชน” โดยเห็นว่าแพทย์ที่ผลิตในโรงเรียนแพทย์กระแสหลักไม่เข้าใจระบบชุมชน หลัง ๑๔ ตุลาคม ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กลุ่ม “โป๊ยเซียน” ที่คิดเรื่องโรงเรียนแพทย์ชุมชนก็ย้ายที่ไปประชุมกันในกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้ทำไม่สำเร็จเพราะมีกระแสต่อต้านมาก บัดนี้เกือบ ๔๐ ปีหลังจากความพยายามของคนไทยในการผลิตแพทย์ที่เอาระบบเป็นตัวตั้ง เกิดความเคลื่อนไหวในระดับโลกที่จะปฏิรูปการผลิตบุคลากรสาธารณสุขครั้งใหญ่ โดยเอาระบบเป็นตัวตั้ง

อาจารย์เสมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ และรัฐบาลเปรม เป็นช่วงที่องค์การอนามัยโลกกำลังรณรงค์เรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้าโดยสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยได้มีบทบาทนำในเรื่องนี้โดยนักการสาธารณสุขหัวก้าวหน้า มีนายแพทย์อมร นนทสุต เป็นอาทิ อาจารย์เสมมีความเป็นเยี่ยมอีกด้านหนึ่งคือวาทศิลป์ ที่สามารถพูดได้ทันทีในทุกเรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เวลาพบกับนายแพทย์มาห์เลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกขณะนั้น เป็นเรื่องที่น่าดูมาก เพราะนายแพทย์มาห์เลอร์เป็นนักคิดและผู้มีวาทศิลป์ยิ่งใหญ่ระดับโลก นายแพทย์มาห์เลอร์ประทับใจในความสามารถของอาจารย์เสมและนายแพทย์อมรมาก ถึงกับประกาศให้ประเทศไทยเป็นอิสระในการตัดสินใจการใช้งบประมาณขององค์การอนามัยโลกเอง ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น

อาจารย์เสมเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพจากวงการองค์กรพัฒนาเอกชนมาก เช่น ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิเด็ก มูลนิธิหมอชาวบ้าน กลุ่มศึกษาปัญหายา และเครือข่ายของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทั้งหมด ที่ถึงกับเอาชื่อท่านไปตั้งองค์กรเพื่อการศึกษาแนวใหม่ คือ SEM (Spirit in Education Movement) อาจารย์เสมเป็นผู้ที่อาจารย์สุลักษณ์เคารพนับถือและยอมให้แนะนำสั่งสอนท่านได้ จึงนับเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง

มนุษย์แม้ฉลาดและสามารถสุดเพียงใดก็ติดอยู่ในข้อจำกัดในตัวเอง คือกิเลส ข้อจำกัดนี้ได้นำไปสู่การทำลายอย่างใหญ่หลวง ทั้งทำลายตัวเอง ทำลายกันเอง และทำลายธรรมชาติแวดล้อมของโลก จนโลกทั้งใบวิกฤตใหญ่อยู่ในขณะนี้ อาจารย์เสมเป็นผู้ที่ก้าวข้ามข้อจำกัด (Transcendenting) ในตัวเองไปแล้ว เป็น Transcendent man ที่มีชีวิตอยู่จริงๆ และเป็นบุคคลร่วมสมัยกับเรา ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ในหนังสือมติชนนี้ เราพูดกันเสมอๆ ตลอดมาว่า วิกฤตใหญ่ของโลกในปัจจุบันไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีใดอื่นนอกจากมนุษย์เกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) ผู้เกิดจิตสำนึกใหม่จะมีอิสระ มีความสุขอันประณีต มีความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม มนุษยชาติได้มาถึงจุดเปลี่ยนทางอารยธรรม (Civilization Turning Point) จิตสำนึกใหม่จำเป็นต่อการสร้างอารยธรรมใหม่แห่งการอยู่ร่วมกัน การระลึกถึงชาตกาลครบ ๑๐๐ ปีของอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ จักเกื้อกูลต่อการเกิดจิตสำนึกใหม่ อันจักเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญของแต่ละท่านในฐานะปัจเจกบุคคล และเพื่อการสร้างอารยธรรมใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสืบไป

วิกฤตของความไม่ศรัทธา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2554

หากท่านได้มีโอกาสเข้าไปกราบนักบวชที่เป็นที่เคารพนับถือรูปหนึ่ง ท่านแตกฉานในเรื่องคำสอนในศาสนาของท่านอย่างลึกซึ้ง แต่จะด้วยอย่างไรไม่ทราบ นักบวชผู้นี้ยังเชื่อว่าโลกที่เราอยู่อาศัยกันอยู่นี้มันมีรูปพรรณสัณฐาน 'แบน' เหมือนจานข้าว แทนที่จะ ‘กลม’ แบบผลส้ม อย่างที่เรารู้กันอยู่ ตัวท่านเองจึงพยายามอธิบายให้นักบวชเปลี่ยนความเชื่อล้าหลังนี้เสีย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรความพยายามของท่านก็ไม่เป็นผล

ท่านจะยังให้ความเคารพนับถือนักบวชผู้นั้นอยู่หรือเปล่า?

ท่านจะยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในคำสอนของศาสนานั้นอยู่หรือไม่?

.................
ที่ตั้งกระทู้ถามด้านบน ผมนำมาจากประสบการณ์ของ สตีเฟน แบชเลอร์ ในหนังสือเล่มใหม่ของเขา Confession of a Buddhist Atheist สตีฟมีงานเขียนในเชิงพุทธศาสนาที่ได้รับการแปลออกมาในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น พุทธพ้นลัทธิ และล่าสุด อยู่กับมาร

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สตีฟพยายามอธิบายให้พระลามะของทิเบตเข้าใจว่าโลกมันกลม ไม่ได้แบนอย่างที่ท่านเชื่อ แต่ไม่ว่าจะใช้ความพยายามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เขาอธิบายว่าถึงแม้ตัวเขาเองจะหันมานับถือศาสนาพุทธอย่างจริงจังโดยออกบวชเป็นพระอยู่สิบสองพรรษา แต่พื้นฐานความเป็นคนจากโลกตะวันตก เขาจึงมีความสงสัยอยู่เป็นนิจและไม่ปลงใจเชื่อโดยไม่มีเหตุผล เขาพบว่าสำหรับชาวพุทธโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ต้องมาตกม้าตายเพราะ 'ศรัทธา' อย่างเถรตรง ทั้งฆราวาสและภิกษุสงฆ์

เขายกตัวอย่างเรื่องความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ชาวพุทธที่ถูกถามเรื่องนี้พันเปอร์เซนต์ย่อมตอบว่าเชื่อ แต่ถ้าหากถามว่าแล้วทำไมจึงเชื่อเช่นนั้น เขาจะตอบไม่ได้ หรือก็บอกว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มีบอกเอาไว้ในตำรา หรือเชื่อตามคำครูบาอาจารย์ เขาสารภาพว่าตัวเขาเองก็เคยคลางแคลงกับเรื่องนี้ เพราะหากเขาเชื่อตามว่ามีโลกนี้โลกหน้า โดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ด้วยตัวเอง ก็เท่ากับเขาก้าวล่วงไปในดินแดนของ 'ความเชื่อ' แต่ในขณะเดียวกัน หากเขาไม่เชื่อเรื่องนี้เขาก็เป็นได้เพียงชาวพุทธจอมปลอม แล้วถ้าหากเขาจะลองทำใจให้เชื่อตามนั้น ก็เท่ากับเป็นการ "หลอกตัวเอง"
ความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่กับเขาแม้ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในผ้าเหลือง เขาจึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ทรยศเรื่อยมา...
สตีฟเปรียบเทียบพุทธศาสนาที่เขารู้จัก กับศาสนาเทวนิยมอื่นๆ เช่น คริสต์ และอิสลาม ว่าถ้าหากมองในแง่นี้ ศาสนาพุทธก็ไม่ได้แตกต่างจากศาสนาที่กล่าวมานี้เลย เพราะ 'บังคับ' ให้เชื่อในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ในขณะที่ศาสนาอื่นๆ ก็บอกให้ยอมรับในพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข

ด้วยความที่ไม่อาจจะหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ ต่อมาเมื่อถูกถามเขาจึงให้คำตอบเพียงว่า เขาไม่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อในเรื่องนี้ (agnostic) เรียกให้หรูหน่อยก็คือการดำรงตนอยู่ในพรมแดนของความไม่รู้ แปลแบบชาวบ้านอาจจะเป็น 'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่' หรือเปล่า? เพราะเขาไม่ทั้งปฏิเสธและในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยอมรับในเรื่องที่ยังฝืนความรู้สึก ความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของสตีฟน่าจะเป็นสิ่งที่กระตุกให้เราได้ฉุกใจเรียนรู้ การปฏิเสธแบบหัวชนฝาฆ่าการเรียนรู้ ในขณะที่การไม่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกก็หมักหมมความเบาปัญญา

ส่วนตัวแล้วผมพบว่ามันยากมากที่จะชวนคุยเรื่องศรัทธาและความเชื่อ ปีเตอร์ เซงกี้ เรียกมันว่ากรอบคิด (Mental Models) เดวิด โบห์ม พูดถึงสมมุติฐานซ่อนเร้น (hidden assumptions) และ เปาโล แฟร์ พูดถึงเรื่องการประกอบสร้างของตัวตนผ่านวัฒนธรรม (enculturated self) มันยากเพราะในท้ายที่สุดการสนทนาจะนำไปสู่การกลับมาขุดคุ้ยความเป็น ‘ตัวตน’ ของเรา (หรือความเข้าใจผิดว่ามีตัวตน) เพราะต่อให้มีดจะคมแค่ไหนก็ไม่สามารถเหลาด้ามตัวเองได้ เช่นเดียวกัน เราก็มักจะมีปัญหาในการกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมา การวิจารณ์ตนเองต้องอาศัยความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก คือไม่หลอกตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร ไม่เอาความคิดไปแทนที่หรือกลบเกลื่อนความรู้สึก ในขณะเดียวกันก็ต้องหากัลยาณมิตรผู้คอยชี้แนะตักเตือนเราได้ แต่ใครเล่าจะตักเตือนตัวเองได้ในเมื่อเรายังติเตียนตัวเองไม่ค่อยจะได้ ไม่แปลกใจที่ผมเคยได้ยิน ส. ศิวรักษ์ กล่าวว่า กัลยาณมิตรคือผู้ที่กล้าพูดในสิ่งที่เรา ‘ฟังได้ยาก’

ในเมื่อรักที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งปฏิเสธความเชื่อโบร่ำโบราณ ไม่เอาศรัทธาอันหาที่มาไม่ได้ ไม่งมงายกับความเชื่อทางศาสนา ก็ต้องหาให้เจอว่าเราเชื่อในอะไร และเราใช้หลักอะไรในการชี้นำชีวิต เราฟังใครหรือน้อมใจให้กับใครหรือคำพูดของใคร และครูบาอาจารย์ของเราดำเนินชีวิตอย่างที่ท่านชี้แนะหรือไม่ สำหรับคนรุ่นใหม่ บางทีเราอาจจะไม่ได้มีวิกฤตศรัทธา แต่เราอาจจะมีวิกฤตของความไม่ศรัทธา คือเราเที่ยวช๊อปปิ้งหาอะไรใหม่ไปเรื่อย จนกระทั่งเราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะเอาอย่างไรกับตัวเอง และหลายต่อหลายครั้งเมื่อเผชิญกับวิกฤตของชีวิต เราก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะความรู้ทั้งหลายที่เรามีมันกลับไม่มาช่วยเหลืออะไรเราในยามคับขัน ได้แต่สบถคำปลอบประโลมใจตื้นเขิน เช่น “ช่างแม่ง” หรือไม่ก็ “ปล่อยวาง”

ถ้ามองเอาแต่เฉพาะแง่นี้ เราก็ไม่ได้ดีกว่าลามะคนที่เชื่อว่าโลกแบนเท่าไหร่?

โลกใบเดียว แต่ถูกบิดเบี้ยวให้แตกต่าง
ด้วยความคิด ความเชื่อ และการกระทำของมนุษย์



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2554

ภาพและเสียงที่เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาพผู้คนกลุ่มหนึ่งแสดงความดีใจ และสะใจที่ได้ทราบข่าวและการยืนยันจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า โอซามา บิน ลาเดน ถูกทหารหน่วยคอมมานโดนาวิกโยธินสหรัฐ (Navy SEALs) ตามล่าและสังหารได้สำเร็จ กระทบความรู้สึกของผู้เขียนพอควร แต่เมื่อหยุดคิดพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันกระแทกจิตสำนึกมากทีเดียว ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้และเป็นส่วนหนื่งของการทำงานขับเคลื่อนเรื่องสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อสาธารณะ ยิ่งทำให้ต้องรู้สึกและคิดเพิ่มมากขึ้น เพราะปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับโลกและภายในประเทศของเราเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและปรากฏในสื่อต่างๆ กำลังตอกย้ำและสร้างค่านิยมแปลกใหม่และแปลกแยกให้ประชาคมโลกและประชาชนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใช่หรือไม่?

สังคมโลก สังคมไทยจะเป็นอย่างไร หากค่านิยมทำนองเดียวกันนี้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่

คงจำได้ การวิจัยสำรวจของสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศเราพบและเผยแพร่ในสื่อว่า นักการเมืองโกงและคอร์รัปชั่นได้ ถ้ายังสร้างความเจริญให้กับประเทศ การ ”กินตามน้ำ” เป็นเรื่องปกติ

คงจำได้ ผู้นำประเทศหนึ่งประกาศอย่างอหังการ์ว่า ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณคือศัตรูของเรา

คงได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ข้ออ้างของผู้ผลิตละครน้ำเน่าคือต้องการสะท้อนให้เห็นสภาพที่แท้จริง (บางส่วน โดยเฉพาะที่เลวๆ) ของสังคม หรือพูดเพราะมาก “ดูละครแล้วย้อนดูตัว” และอีกหลายๆ กรณี เช่น อายุเริ่มมากขึ้นเลยอยากถ่ายภาพ (นู้ด) ไว้เป็นที่ระลึก เราโตแล้ว รู้ว่าอะไรควรไม่ควร และบางคนพูดในทำนองว่านี่เป็นร่างกายของเขา ที่พ่อแม่ให้มา ผู้อื่นก็ได้แค่ดู เอาไปไม่ได้ มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้ไปขอใครกิน...

แต่สิ่งที่กระตุ้นให้ผู้เขียนอยากแสดงความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ก็คือ เหตุการณ์ล่าสุดที่เกริ่นนำในตอนแรก บวกกับคำกล่าวของประธานาธิบดีโอบามา ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า หากใครไม่คิดว่าหัวหน้าผู้ก่อการร้ายอย่าง บิน ลาเดน ไม่สมควรจะพบจุดจบหรือมีชะตากรรมแบบนี้ พวกเขาเหล่านั้น “จำเป็นต้องไปตรวจเช็คหัวสมองกันแล้ว” (needs to have their head examined)

ช่างคล้ายคลึงกับผู้นำระดับโลกอีกท่านหนึ่งที่พูดว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณคือศัตรูของเรา”

ถ้าผู้นำระดับโลกยังมีความคิดและการพูดในลักษณะนี้ และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ไปทั่วโลก โดยที่สื่อเองก็อาจจะมิได้ตระหนักถึงอิทธิพลของสารที่สื่อส่งไปให้ผู้รับสาร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน โลกของเราในอนาคตจะมีสันติภาพได้จริงหรือ?

ความขัดแย้งทางความคิด การพูด และการกระทำ ที่เกิดจากความสับสน การขาดสติ และขาดปัญญาที่จะรู้และเข้าใจความต่างและความคล้ายระหว่างความดีกับความชั่ว ถูก-ผิด จริง-ไม่จริง ควร-ไม่ควร สงคราม-สันติภาพ...ของผู้นำ อาจจะเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะ ไม่ถูก ไม่ควรให้กับผู้อื่นได้

คำถามหรือประเด็นที่ควรร่วมกันพิจารณาก็คือ

การฆ่าศัตรู ไม่ว่าจะเป็นศัตรูทางความคิด ศัตรูทางผลประประโยชน์ ศัตรูทางการเมือง ศัตรูทางศาสนา...เป็นสิ่งที่น่ายินดี น่าสะใจหรือ? มันเป็นความถูกต้องชอบธรรมของกลุ่มผู้ฆ่าหรือ?

เราควรจะหยุดการฆ่าด้วยการฆ่าหรือ? การฆ่าจะช่วยให้หยุดการฆ่าได้จริงหรือ?

ทำไมไม่หยุดการฆ่าด้วยการหยุดฆ่า?

ทำไมไม่สร้างสันติภาพด้วยสันติวิธี ด้วยความรัก ความเมตตา?

สื่อสารมวลชนและโดยเฉพาะสื่อสาธารณะควรเสนอข่าวอย่างที่เสนอ หรือมีวิธีการอื่นในการนำเสนอที่ดีกว่านั้น?

สื่อ และโดยเฉพาะสื่อสาธารณะ ไม่ควรทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ส่งหรือทางผ่านของสารไปยังผู้รับสารเท่านั้น แต่ควรพิจารณาว่าสารนั้นควรส่งหรือไม่เพราะอะไร และจะมีวิธีหรือช่องทางอย่างไรในการส่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้รับสารที่แตกต่างและหลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

การใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าว ไม่ใช่แค่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ต้องใช้ความมีคุณธรรมและจริยธรรมในการนำเสนอข่าวด้วย โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดชึ้น เช่นจะต้องพิจารณาว่าการนำเสนอข่าวตามที่ปรากฏตามที่เป็นจริง จะส่งผลกระทบในทางดีหรือร้ายต่อผู้รับสารและสังคมโดยรวม หากมีการหยุดคิดพิจารณา ภาพแสดงความยินดีก็ไม่จำเป็นต้องปรากฏก็ได้

ผู้สื่อข่าว และโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวสาธารณะ ไม่ใช่แค่มีความรับผิดชอบ (Responsibility) ต่องานในหน้าที่เท่านั้น ที่ยิ่งใหญ่กว่า ท้าทายกว่า และน่าภาคภูมิใจมากกว่า คือการเป็นผู้สื่อข่าวที่มีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อสังคมโดยรวม มิเช่นนั้นผู้สื่อข่าวก็เป็นเพียงเครื่องมือถ่ายทอดข่าวที่ไม่มีชีวิตจิตใจ จึงไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม รับผิดชอบแค่เสนอข่าวเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ตามข่าวให้ทันเพื่อจะได้ไม่ตกข่าว หรือเพื่อแข่งขันความเร็วในการเสนอข่าวเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือผู้สื่อข่าวและโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวสาธารณะที่ดีควรมีสติและปัญญาที่จะรู้เท่าทันข่าว เพื่อให้ผู้รับสารจากเราได้รู้เท่าทันข่าวและรู้เท่าทันสื่อด้วย เพราะผู้สื่อข่าวสาธารณะที่ดีมีหน้าที่ที่ต้องตอบคำถาม อธิบาย และรับผิดชอบต่อสังคม

ทำนองเดียวกับละครและรายการน้ำเน่าทั้งหลายที่ปรากฏหน้าจอ และในสื่อต่างๆ เบื้องหลังที่แท้จริงคือกระบวนการขับเคลื่อนทางธุรกิจ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากกว่าคุณธรรมจริยธรรม ความทันสมัยมากกว่าจารีตประเพณีที่ดีงาม ทุนมากกว่าธรรม แข่งขันมากกว่าแบ่งปัน...

แต่เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะออกมาปกป้องว่าเป็นการสะท้อนความจริงทางสังคม ต้องการให้สังคมรู้ว่า เรื่องเลวๆ ร้ายๆ มันมีอยู่จริง แถมให้เกียรติผู้ชมว่า มีปัญญาและฉลาดพอที่จะรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ให้ผู้ชมเป็นผู้ตัดสิน นักวิชาเกินไม่ต้องยุ่ง เอ็นจีโอไม่ต้องเกี่ยว ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ไม่ควรมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการทำมาหากินที่บริสุทธิ์

แล้วทำไมไม่สะท้อนความจริงทางสังคมที่ดีๆ เพราะผู้ชมเขาก็มีปัญญาและฉลาดพอที่จะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี หรือกลัวว่าจะขายไม่ออก ไม่สนุก ไม่มีคนดู โฆษณาไม่เข้า เราอยู่ไม่ได้...

ที่จริงถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ มีเทคนิคในการนำเสนอที่แปลกใหม่ เรื่องดีๆ ก็สนุกได้ ตื่นเต้นได้ ท้าทายได้ ขายได้ โฆษณาเข้า เราอยู่ได้...และที่สำคัญอยู่อย่างมีความสุขที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม

ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด เราก็มีโอกาสได้ความคิดใหม่และกลับกัน เมื่อความคิดเปลี่ยน การกระทำและการพูดก็จะเปลี่ยน หากฐานของการเปลี่ยนแปลงตั้งอยู่บนความรักความเมตตา ยอมรับและเคารพในความเป็นมนุษย์ ยอมรับและเคารพในความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความคิด และวิถีดำเนินชีวิตของกันและกัน การเปลี่ยนแปลง (Change) เหล่านั้นก็จะพัฒนาไปเป็นการเปลี่ยนผ่าน (Transforming) สู่สิ่งใหม่ที่ผนวกควบรวม (Include) สิ่งเดิมที่แตกต่างไว้ แล้วขยาย/คลี่คลายออก (unfolding/transcending) เป็นสิ่งใหม่ ทำนองเดียวกับน้ำที่ประกอบไปด้วยสองสิ่งที่แตกต่างคือไฮโดรเจนกับออกซิเจน แต่น้ำมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากทั้งไฮโดรเจนและออกซิเจน

แต่ถ้าเรายังคิดแบบเดิม แบ่งแยก แปลกแยก ไม่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์แบบองค์รวมได้ เราก็จะรับรู้แบบแยกส่วนไปเรื่อยๆ แตกต่างกันออกไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีความสันพันธ์ระหว่างกัน สัมพันธภาพก็ไม่เกิด สันติภาพก็ไม่มี

โอซามา บิน ลาเดน วีรบุรุษหรือฮีโร่ของคนจำนวนมาก ก็จะยังคงเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นศัตรูตัวฉกาจต้องถูกสหรัฐตามล่าชีวิตตลอดไป

ส่วนฮีโร่ของผู้ที่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้ ก็คือทีมปฏิบัติการและโดยเฉพาะผู้ที่ยิงศีรษะของบินลาเดนจนเสียชีวิต แต่ต้องเป็นฮีโร่นิรนามที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ เพราะเกรงว่าจะถูกตามล่าจากฝ่ายศัตรูและเกรงว่าครอบครัวของฮีโร่จะเป็นอันตราย เพราะฮีโร่ของฝ่ายหนึ่งคือศัตรูของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่น่าเห็นใจที่สุดคือครอบครัวของทั้งสองฝ่ายต้องรับผลกระทบด้วยกันทั้งคู่

ไม่น่าเชื่อว่าการรับรู้ที่แตกต่างที่มาจากความคิดและความเชื่อที่แตกต่าง จะทำให้โลกใบเดียวกันนี้บิดเบี้ยวไปตามการรับรู้ได้มากมาย จนเกิดความวุ่นวาย ไร้สันติภาพไปทั่ว

ไม่น่าเชื่อว่าสื่อ สื่อสารมวลชน และสื่อสาธารณะ ก็มีส่วนช่วยให้โลกใบเดียวกันนี้ ถูกรับรู้บิดเบี้ยวไป โดยการทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ส่งผ่าน และบางครั้งเป็นกระบอกเสียงให้แหล่งข่าวโดยไม่รู้ตัว หรือไม่รู้เท่าทัน

ความฝันที่บ่อยเหลือเกินกับการแปลความฝัน



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2554

ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะมีประสบการณ์เหมือนกับผู้เขียนหรือไม่? เพราะยิ่งแก่ตัวลงผู้เขียนยิ่งฝันบ่อยและถี่ขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้นอนหลับเป็นไม่ได้ต้องฝันทุกครั้งไป คือฝันทุกวันไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ที่แปลกคือไม่ว่าจะหลับนานเท่าไรเป็นต้องฝัน และยิ่งแปลกเข้าไปอีกที่ความฝันของผู้เขียนจะต้องมีสองอย่างประกอบกันเสมอ คือฝันต่อได้ และความฝันจะเหมือนเป็นประสบการณ์เชิงประจักษ์จริง คือกระจ่างชัดมากๆ และจำได้ทุกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจะฝันซ้ำๆ ไมรู้กี่หนภายในหลายๆ วัน จนจำรูปแบบและเนื้อหาของความฝันนั้นได้ และแทบจะทายล่วงหน้าถึง “ความฝันในครั้งต่อๆ ไป” ที่ทำยังไม่ทันสำเร็จแล้วเสร็จได้ เช่นฝันว่ามีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ “ชั้นในหรือในเมือง” ตัวเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ที่ไร้การวางผังเมือง ตั้งแต่เยาวราช ราชวงศ์ มาถึงโอเดียน ว่าบริเวณนั้นๆ จะเต็มไปด้วยตึกระฟ้าสูงมากๆ แน่นขนัด หรือถนนสีสม พระรามหนึ่ง และหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมสามแยกเฉลิมบุรี ตลอดเจริญกรุงตะวันออก โดนรื้อทิ้งทั้งหมดกับห้ามการปลูกอาคารใหม่ทุกชนิด เหลือแต่โคลนตม

ส่วนที่ผู้เขียนกล่าวถึง “งานที่ทำยังไม่ทันสำเร็จแล้วเสร็จ” จนกระทั่งทายฝันในครั้งต่อๆ ไปล่วงหน้าได้ เป็นต้นว่า จะฝันเห็นทุกตรอกซอกซอยและถนนสายสั้นๆ ที่เชื่อมระหว่างถนนสีลมกับถนนสุรวงศ์ หรือถนนสีลมกับถนนสาธร “จะเป็นช่วงการทำงานที่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ” คือยังเป็นลูกรังหรือกำลังก่อสร้างทั้งสิ้น ภาพความฝันรูปแบบนั้นจะปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่านับสิบนับร้อยครั้ง ถึง “งานที่ไม่สำเร็จแล้วเสร็จ” (เพราะผู้เขียนจะตื่นจากความฝันก่อนทุกครั้งเลย)

ส่วนในความฝันของผู้เขียนสองหรือสามรูปแบบอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาสาระเหมือนๆ กัน เช่นเดินทางไปในซอยหรือสวน เผชิญอุปสรรคต่างๆ ที่ล้วนเป็นงานที่ผู้เขียนยังทำไม่แล้วเสร็จซึ่งทายล่วงหน้า - ในฝัน - ได้ แล้วตื่นขึ้นมาทั้งๆ ที่ “งานนั้นๆ” ยังไม่ทันสำเร็จแล้วเสร็จแต่ประการใด

ทั้งหมดที่ผู้เขียนฝันและเล่ามา ใคร่ขอให้ผู้อ่านโดยเฉพาะที่เป็นนักจิตวิทยาช่วยกันพิจารณาดูว่าจะมีความเห็นอย่างไร? (บางคนอาจจะเรียก “จิตไร้สำนึก” ว่า “จิตใต้สำนึก” แต่ผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อฟรอยด์เท่าใดนัก เพราะคิดว่าฟรอยด์เป็นแมตทีเรียลิสติกที่ตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งเพราะว่าการบริหารโดยสมองกับที่สมองนั้น ผู้เขียนคิดว่ามีทั้งความเป็นโดยรวมและปัจเจก ซึ่งใช้เวลาทางโลกไม่เท่ากัน ฉะนั้น จิตไร้สำนึกจึงเก่ากว่ากับใช้เวลานานกว่ามากนัก)

แน่นอนว่าความฝันที่ผู้เขียนเห็น โดยเนื้อหาจะสังเกตว่ามีความสัมพันธ์กับเวลาที่กำลังฝันอยู่ ทั้งฟรอยด์ ทั้งจุง ทั้งอ็อตโต ไม่ได้พูดอย่างจำเพาะเจาะจงในเรื่องนี้ แต่ผู้เขียน “ค่อนข้างจะชอบคาร์ล จุง” แม้จะมีหลายอย่างที่เรายืนอยู่ตรงกันข้ามเพราะผู้เขียนคิดว่าคาร์ล จุง เป็นทั้งมิสติก (mystic) และมิทติค (mythic) เกินไป แม้นักวิชาการเช่น ซิสเตอร์ซิสิเลีย (sister Sicilia) จะบอกว่าผู้เขียนก็เป็นมิสติกร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

ตอนที่คาร์ล จุง ประกาศเป็นทางการว่าตนเลิกเป็นลูกบุญธรรมของ ซิกมัน ฟรอยด์ และขอเป็นตัวของตัวเองแทนที่จะเป็นแมตทีเรียลิสต์ (materialist) ดั่งฟรอยด์ แล้วไปเชื่อคนอย่าง ชาร์ล ดาร์วิน อย่างหัวปักหัวปำ (ซึ่งผู้เขียนคิดเอาเอง) การตัดความสัมพันธ์จากฟรอยด์ที่ในเวลานั้นทรงอิทธิพลมากในทางจิตวิทยา ทำให้คาร์ล จุง กลายเป็นคนหัวเดียวกะเทียมลีบในหมู่นักวิชาการและนักจิตวิทยาสมัยนั้นไปช่วงเวลาหนึ่ง

ที่ผู้เขียนชอบคาร์ล จุง เป็นพิเศษอาจเป็นเพราะผู้เขียนเพิ่งค้นพบเมื่อตอนแก่ไม่ถึงยี่สิบปีมานี้เองว่าผู้เขียนก็เป็นมิสติกดังที่ซิสเตอร์ซิสิเลียว่าไว้ เช่นเดียวกับคาร์ล จุง เพียงแต่การแปลความฝันของผู้เขียนรวมถึงการสะท้อนความจำ ยังไมรู้ว่าถูกหรือไม่ หรือแม้แต่ใกล้เคียง - ห่างไกลหรือไม่ประการใด? เห็นจะต้องรอจนกว่าจะถึงปีค.ศ.๒๐๑๒ และปีค.ศ.๒๐๒๐ ที่มีการล่มสลายทางกายภาพ และวิวัฒนาการทางจิตของประชากรโลกโดยรวมส่วนใหญ่ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าโลกไม่ได้แตก แต่วัฒนธรรมและอารยธรรมที่มี “ตัวกูของกู” (self) และอหังการมมังการ (ego) จะหายไปจากโลกในปีนั้นๆ พร้อมกับประชากรจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐

มนุษย์เราจะได้เลิกแตกแยกเอาชนะกันเสียที

ถ้าหากว่าเราเชื่อคาร์ล จุง (บอกแล้วว่าผู้เขียนเชื่อในการ “วิจัย” หรือการสังเกตอย่างเป็นระบบของเขามากกว่าไม่เชื่อ ไม่ใช่เพราะว่าคาร์ล จุง เป็นมิสติกเหมือนกับผู้เขียนเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าจุงเป็นหลานนอกสมรสแท้ๆ ของกวีและนักปรัชญาเกอเธ่ และไม่เป็นการเกินเลยแต่อย่างใดหากเราจะพูดว่าคาร์ล กุสตาฟ จุง เป็นอัจฉริยะ) ว่าจิตไร้สำนึก (unconscious) ของจักรวาลคือต้นเหตุของความฝัน ไม่ใช่จิตสำนึกที่ฟรอยด์และนักวิทยาศาสตร์แมตทีเรียลิสต์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ไทยในปัจจุบันแทบทั้งหมด และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ของประเทศพัฒนาใหม่ๆ ในเอเชียที่ไม่รู้จักควอนตัมฟิสิกส์มากพอ หรือมองควอนตัมฟิสิกส์ไปทางสสาร หรือทางรูปกาย เช่นว่าความฝันเป็นเรื่องความปรารถนา หรือที่ ซิกมัน ฟรอยด์ บอกว่าความฝันคือความอยากของเราที่ทำไม่เสร็จหรือไม่กล้าทำยามตื่นหรือยามรู้ตัว จึงเอาไปทำให้เสร็จในฝัน

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะแพทย์ – ที่ส่วนมากจะมองชีวิตแบบฝรั่งเพราะเรียนมา โดยมักจะโยนอะไรๆ ที่เป็นตะวันออกทิ้งแทบจะโดยสิ้นเชิง แล้วทำท่าเหมือนดูถูกคนอื่นๆ ที่เรียนน้อยกว่าตน และบูชาฝรั่ง (ที่เป็นเหมือนเทวดา) นั่น - เราพูดกันรวมๆ – และที่สำคัญคือคนมักไปคิดว่าแพทย์เป็นอาชีพที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นอาชีพที่ช่วยชีวิตมนุษย์ อะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนย่อมจะสำคัญกว่าอย่างอื่น

แพทย์ส่วนใหญ่จะคิดว่า ฝันไม่มีอะไรสำคัญเลยเพราะมองก็ไม่เห็นและแม้ฝรั่งก็คิดไม่ออก แล้วเราชาวตะวันออกจะคิดได้อย่างไร จึงตามฝรั่งตามครูไปดีกว่า จึงแปลฝันได้ว่าเป็นผลของอาหารไม่ย่อย กระเพาะปัสสาวะเต็ม หรือครุ่นคิดมากๆ ฯลฯ

คนเราทุกคนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของจิตรู้อยู่ตลอดเวลา ในเบื้องแรกคือจิตแห่งอัตตาตัวตน (self) ซึ่งเหมือนๆ กับการเจริญเติบโตของเด็กเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ แล้วเสื่อมแก่ชรา พูดง่ายๆ วันเวลาจากนาทีวินาทีที่ผ่านไป คือตัวรู้ หรือธาตุรู้ หรือจิตสำนึก (ภาวะตระหนักรู้ที่สมองเรามีหน้าที่ “บริหารจิตไร้สำนึก” (หรือจิตจักรวาลร่วมของคาร์ล จุง) ที่เข้ามาอยู่ในทุกที่ว่างของสมอง

เราต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของจิตแห่งอัตตาตัวตนของแต่ละปัจเจกนั้น เป็นเรื่องที่แยกย่อย และเป็นไปตามขั้น ชั้น หรือระดับวิวัฒนาการของสเปคตรัมทางจิตที่หยาบใหญ่กว่า และใช้เวลาวิวัฒนาการนานกว่า ทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวมที่จะต้องวิวัฒนาการไปตามระดับ ชั้น หรือขั้นนั้นๆ จนกว่าเราจะวิวัฒนาการทางจิตจนถึงสภาวะจิตวิญญาณไล่สู่นิพพาน หรือรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า

ดังนั้นคาร์ล กุสตาฟ จุง และผู้เขียนจึงเชื่อว่าจิตไร้สำนึกหรือจิตไร้สำนึกร่วมจักรวาล (universal unconscious continuum) คือตัวรู้ต่างหากที่ไม่ผ่านการบริหารที่สมอง ไม่ใช่จิตสำนึกปกติธรรมดา คาร์ล จุง ถึงได้เรียกว่า “ตัวรู้ของจิตไร้สำนึก (unconscious cognition)” และทุกวันนี้ นักจิตวิทยาทั่วไปรู้กันดี เช่นการรู้ในความพ้องจองกัน (synchronicity) ในปรภพเมื่อเราตายไปแล้ว ย่อมไม่มีสมองบริหารจิตจักรวาลหรือในความฝัน (จุงเชื่อว่าความฝันเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึกทั้งนั้น) อย่างน้อยในตอนแรกหรือเป็นตัวนำ และผู้เขียนเชื่ออย่างนั้น จึงไม่เชื่อฟรอยด์เลยในเรื่องของความฝัน

ไม่รู้จริงๆ ว่าคาร์ล จุง จะเชื่อในเรื่องปรภพหรือไม่? เพราะฝรั่งมักเป็นคริสต์ จึงไม่เชื่อในการเกิดใหม่ไปเรื่อยๆ เวียนว่ายอยู่อย่างนั้น แต่รู้ว่า โจเอล ฟิชเชอร์ จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตเชื่อ และเรียกว่าอภิจิต (meta-consciousness) ซึ่งเป็นจิตรู้ของจิตไร้สำนึกในปรภพ - ปรภพนั้นไม่มีกายจึงไม่มีสมอง ฉะนั้นจะไม่มีจิตสำนึก (หรือจิตรู้ตามปกติ) มีแต่จิตไร้สำนึก

สำหรับผู้เขียน “ความฝัน” คือช่องทางติดต่อกับจิต (ไร้สำนึก) นั้น แต่มีผู้คนมากมายในโลกที่มีช่องทางอื่นๆ ติดต่อกับจิตไร้สำนึกของจักรวาลหรือความจริงที่แท้ได้ เช่นคนที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย (NDEs) อย่าลืมว่าทุกๆ สิ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงติดต่อกันเป็นหนึ่งเดียวกัน – ที่พิสูจน์ได้ทางควอนตัม – โดยเฉพาะทางจิตที่มองไม่เห็น

การแปลความฝันของจุงเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าค่อนข้างจะซับซ้อนมากสำหรับผู้เขียน แต่บอกแล้วว่าในระยะหลังผู้เขียนฝันบ่อยมากๆ แถมจำได้กระจ่างชัดเสียด้วย ที่สำคัญคือซับซ้อนไม่มากนัก ดังนั้นส่วนใหญ่ยังคิดว่าพอแปลได้ สังเกตเอาเองว่ามีอยู่สามประการที่เห็นแต่จะเป็นจริงดังที่สังเกตหรือไม่-ไม่แน่ใจ คือหนึ่ง การฝันของผู้เขียนที่ว่าบ่อยเหลือเกินนั้นพบว่าสัมพันธ์กับการฝึกสมาธิที่ทำทุกวันภายหลังปีพ.ศ.๒๕๔๕ เป็นประจำ วันหนึ่งๆ อย่างน้อยสองชั่วโมง สอง สำหรับผู้เขียน ความรู้ที่ได้มานั้นๆ ล้วนมาด้วยความฝันหรือตอนตื่นขึ้นมาจากฝันทั้งสิ้น สาม ความฝันของผู้เขียนนั้นคิดว่าพอที่จะแปลได้ เพราะว่าฝันซ้ำๆ ซากๆ และฝันต่อได้ แถมความฝันของผู้เขียนในตอนหลังเหมือนกับว่าจะกระจ่างชัดแทบทุกครั้งเสียด้วย

Back to Top