วิกฤตของความไม่ศรัทธา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2554

หากท่านได้มีโอกาสเข้าไปกราบนักบวชที่เป็นที่เคารพนับถือรูปหนึ่ง ท่านแตกฉานในเรื่องคำสอนในศาสนาของท่านอย่างลึกซึ้ง แต่จะด้วยอย่างไรไม่ทราบ นักบวชผู้นี้ยังเชื่อว่าโลกที่เราอยู่อาศัยกันอยู่นี้มันมีรูปพรรณสัณฐาน 'แบน' เหมือนจานข้าว แทนที่จะ ‘กลม’ แบบผลส้ม อย่างที่เรารู้กันอยู่ ตัวท่านเองจึงพยายามอธิบายให้นักบวชเปลี่ยนความเชื่อล้าหลังนี้เสีย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรความพยายามของท่านก็ไม่เป็นผล

ท่านจะยังให้ความเคารพนับถือนักบวชผู้นั้นอยู่หรือเปล่า?

ท่านจะยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในคำสอนของศาสนานั้นอยู่หรือไม่?

.................
ที่ตั้งกระทู้ถามด้านบน ผมนำมาจากประสบการณ์ของ สตีเฟน แบชเลอร์ ในหนังสือเล่มใหม่ของเขา Confession of a Buddhist Atheist สตีฟมีงานเขียนในเชิงพุทธศาสนาที่ได้รับการแปลออกมาในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น พุทธพ้นลัทธิ และล่าสุด อยู่กับมาร

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สตีฟพยายามอธิบายให้พระลามะของทิเบตเข้าใจว่าโลกมันกลม ไม่ได้แบนอย่างที่ท่านเชื่อ แต่ไม่ว่าจะใช้ความพยายามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เขาอธิบายว่าถึงแม้ตัวเขาเองจะหันมานับถือศาสนาพุทธอย่างจริงจังโดยออกบวชเป็นพระอยู่สิบสองพรรษา แต่พื้นฐานความเป็นคนจากโลกตะวันตก เขาจึงมีความสงสัยอยู่เป็นนิจและไม่ปลงใจเชื่อโดยไม่มีเหตุผล เขาพบว่าสำหรับชาวพุทธโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ต้องมาตกม้าตายเพราะ 'ศรัทธา' อย่างเถรตรง ทั้งฆราวาสและภิกษุสงฆ์

เขายกตัวอย่างเรื่องความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ชาวพุทธที่ถูกถามเรื่องนี้พันเปอร์เซนต์ย่อมตอบว่าเชื่อ แต่ถ้าหากถามว่าแล้วทำไมจึงเชื่อเช่นนั้น เขาจะตอบไม่ได้ หรือก็บอกว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มีบอกเอาไว้ในตำรา หรือเชื่อตามคำครูบาอาจารย์ เขาสารภาพว่าตัวเขาเองก็เคยคลางแคลงกับเรื่องนี้ เพราะหากเขาเชื่อตามว่ามีโลกนี้โลกหน้า โดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ด้วยตัวเอง ก็เท่ากับเขาก้าวล่วงไปในดินแดนของ 'ความเชื่อ' แต่ในขณะเดียวกัน หากเขาไม่เชื่อเรื่องนี้เขาก็เป็นได้เพียงชาวพุทธจอมปลอม แล้วถ้าหากเขาจะลองทำใจให้เชื่อตามนั้น ก็เท่ากับเป็นการ "หลอกตัวเอง"
ความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่กับเขาแม้ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในผ้าเหลือง เขาจึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ทรยศเรื่อยมา...
สตีฟเปรียบเทียบพุทธศาสนาที่เขารู้จัก กับศาสนาเทวนิยมอื่นๆ เช่น คริสต์ และอิสลาม ว่าถ้าหากมองในแง่นี้ ศาสนาพุทธก็ไม่ได้แตกต่างจากศาสนาที่กล่าวมานี้เลย เพราะ 'บังคับ' ให้เชื่อในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ในขณะที่ศาสนาอื่นๆ ก็บอกให้ยอมรับในพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข

ด้วยความที่ไม่อาจจะหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ ต่อมาเมื่อถูกถามเขาจึงให้คำตอบเพียงว่า เขาไม่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อในเรื่องนี้ (agnostic) เรียกให้หรูหน่อยก็คือการดำรงตนอยู่ในพรมแดนของความไม่รู้ แปลแบบชาวบ้านอาจจะเป็น 'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่' หรือเปล่า? เพราะเขาไม่ทั้งปฏิเสธและในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยอมรับในเรื่องที่ยังฝืนความรู้สึก ความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของสตีฟน่าจะเป็นสิ่งที่กระตุกให้เราได้ฉุกใจเรียนรู้ การปฏิเสธแบบหัวชนฝาฆ่าการเรียนรู้ ในขณะที่การไม่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกก็หมักหมมความเบาปัญญา

ส่วนตัวแล้วผมพบว่ามันยากมากที่จะชวนคุยเรื่องศรัทธาและความเชื่อ ปีเตอร์ เซงกี้ เรียกมันว่ากรอบคิด (Mental Models) เดวิด โบห์ม พูดถึงสมมุติฐานซ่อนเร้น (hidden assumptions) และ เปาโล แฟร์ พูดถึงเรื่องการประกอบสร้างของตัวตนผ่านวัฒนธรรม (enculturated self) มันยากเพราะในท้ายที่สุดการสนทนาจะนำไปสู่การกลับมาขุดคุ้ยความเป็น ‘ตัวตน’ ของเรา (หรือความเข้าใจผิดว่ามีตัวตน) เพราะต่อให้มีดจะคมแค่ไหนก็ไม่สามารถเหลาด้ามตัวเองได้ เช่นเดียวกัน เราก็มักจะมีปัญหาในการกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมา การวิจารณ์ตนเองต้องอาศัยความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก คือไม่หลอกตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร ไม่เอาความคิดไปแทนที่หรือกลบเกลื่อนความรู้สึก ในขณะเดียวกันก็ต้องหากัลยาณมิตรผู้คอยชี้แนะตักเตือนเราได้ แต่ใครเล่าจะตักเตือนตัวเองได้ในเมื่อเรายังติเตียนตัวเองไม่ค่อยจะได้ ไม่แปลกใจที่ผมเคยได้ยิน ส. ศิวรักษ์ กล่าวว่า กัลยาณมิตรคือผู้ที่กล้าพูดในสิ่งที่เรา ‘ฟังได้ยาก’

ในเมื่อรักที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งปฏิเสธความเชื่อโบร่ำโบราณ ไม่เอาศรัทธาอันหาที่มาไม่ได้ ไม่งมงายกับความเชื่อทางศาสนา ก็ต้องหาให้เจอว่าเราเชื่อในอะไร และเราใช้หลักอะไรในการชี้นำชีวิต เราฟังใครหรือน้อมใจให้กับใครหรือคำพูดของใคร และครูบาอาจารย์ของเราดำเนินชีวิตอย่างที่ท่านชี้แนะหรือไม่ สำหรับคนรุ่นใหม่ บางทีเราอาจจะไม่ได้มีวิกฤตศรัทธา แต่เราอาจจะมีวิกฤตของความไม่ศรัทธา คือเราเที่ยวช๊อปปิ้งหาอะไรใหม่ไปเรื่อย จนกระทั่งเราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะเอาอย่างไรกับตัวเอง และหลายต่อหลายครั้งเมื่อเผชิญกับวิกฤตของชีวิต เราก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะความรู้ทั้งหลายที่เรามีมันกลับไม่มาช่วยเหลืออะไรเราในยามคับขัน ได้แต่สบถคำปลอบประโลมใจตื้นเขิน เช่น “ช่างแม่ง” หรือไม่ก็ “ปล่อยวาง”

ถ้ามองเอาแต่เฉพาะแง่นี้ เราก็ไม่ได้ดีกว่าลามะคนที่เชื่อว่าโลกแบนเท่าไหร่?

Back to Top