๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2554

ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ ปูชนียบุคคลของไทยท่านหนึ่งจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปีบริบูรณ์ การมีอายุครบ ๑๐๐ ปี เป็นสิ่งที่หาได้ยาก และถ้าเป็น ๑๐๐ ปีของชีวิตวิวัฒน์และจิตวิวัฒน์ ก็เป็นมงคลที่จะคบหาศึกษาเรียนรู้ ตามพุทธภาษิตในมงคลสูตรที่ว่า “บัณฑิตานัญ จะ เสวนา”

อาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว จบแพทย์จากศิริราชเมื่อพ.ศ.๒๔๗๖ ถูกส่งไปปราบอหิวาต์ที่อัมพวา ในสมัยนั้นในจังหวัดต่างๆ ไม่มีแพทย์ ชีวิตของผู้คนล้มตายด้วยเรื่องง่ายๆ เช่นไส้ติ่งอักเสบ คอตีบ เมื่ออหิวาต์ระบาดแต่ละครั้ง ประชาชนจะล้มตายเป็นเบือ เช่นเมื่อครั้ง ร.๓ ศพที่วัดสระเกศเผาไม่ทัน กองสุมกันอยู่และมีแร้งบินว่อน อาจารย์เสมออกไปเป็นแพทย์ชนบทในสภาพสังคมเช่นนั้น เมื่อไปปราบอหิวาต์ ท่านต้องนอนที่ศาลาวัด ต่อมาท่านไปเป็นแพทย์คนแรกและคนเดียวของจังหวัดเชียงรายอยู่ช้านาน แพทย์หนุ่มคนนี้มีบุคลิกโดดเด่นเตะตาและอยู่ในความทรงจำของคนทั้งหลาย กล่าวคือเป็นผู้อุทิศตัวบริการประชาชนทุกชั้นวรรณะเสมอกัน เป็นคนซื่อตรงสุจริตโอบอ้อมอารี มีความประณีตในชีวิตและการงาน เป็นผู้ทรงคุณในวิทยาการและความรอบรู้ และเป็นแพทย์ฝีมือดีสามารถทำได้ทุกอย่าง เป็นหมอเด็กก็ได้ เป็นหมอยาก็ได้ เป็นหมอสูติก็ได้ เป็นหมอผ่าตัดก็ได้

คนดีเด่นขนาดนี้อยู่จังหวัดเชียงรายห่างไกลชายแดน ตามปรกติก็รู้กันแต่ในจังหวัดนั้น แต่ช่วงนั้นมีสงครามเชียงตุง กองทัพไทยเดินทางผ่านเชียงราย กิตติศัพท์อันงามของแพทย์หนุ่มผู้นี้ปรากฏแก่แม่ทัพนายกองไปทั่ว เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องการสร้างโรงพยาบาลหญิง จึงขอให้ท่านมาดำเนินการ หลวงนิตย์ เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ขณะนั้น กับอาจารย์เสมผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง เป็นที่รักใคร่นับถือของนายกรัฐมนตรีและครอบครัวเป็นอันมาก จอมพล ป. ถึงกับตั้งชื่อลูกคนหนึ่งว่า นิตย์ (นายนิตย์ พิบูลสงคราม) นายแพทย์ทั้งสองจะได้ใช้ความใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่ประการใดก็หาไม่ แต่ได้ใช้เป็นโอกาสให้รัฐบาลสร้างโรงพยาบาลจังหวัดครบทุกจังหวัดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะนายกรัฐมนตรีคอยถามท่านทั้งสองอยู่เสมอว่า “จะให้ผมทำอะไรบ้าง” ผมเป็นเด็กบ้านนอกได้รู้เห็นสภาพที่ในจังหวัดไม่มีหมอ ไม่มีบุคลากรใดๆ จึงรู้สึกประทับใจมากว่าการสาธารณสุขไทยได้ก้าวหน้าโดยรวดเร็ว ที่มีโรงพยาบาลจังหวัดทุกจังหวัด มีโรงพยาบาลชุมชนครบทุกอำเภอ มีสถานีอนามัยครบทุกตำบล เพราะวิสัยทัศน์และการอุทิศตัวของบรรพชนคนสาธารณสุข ในเรื่องนี้มีตัวละครหรือผู้เกี่ยวข้องในบทบาทต่างๆ อย่างหลากหลายสุดพรรณนาประดุจมหากาพย์แห่งการสาธารณสุขไทย อาจารย์เสมเป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในมหากาพย์นี้

อาจารย์เสมเป็นบุคคลเรียนรู้ที่ชอบเรียนรู้ทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่ะเป็นการแพทย์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรืออะไรอย่างอื่น ที่บ้านของท่านเป็นเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ ทำให้ท่านเป็นพหูสูตรและมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ปัญหาใหญ่ของไทยคือขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้ ทำให้ขาดความรู้ ขาดปัญญา ขาดวิสัยทัศน์ มีแต่รูปแบบ แต่ขาดสาระ จึงพัฒนาบ้านเมืองได้ยาก การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปจากสังคมอำนาจนิยมไปเป็นสังคมปัญญานิยม บุคคลควรจะเป็นบุคคลเรียนรู้ องค์กรควรจะเป็นองค์กรเรียนรู้ อาจารย์เสมเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าบุคคลเรียนรู้เป็นอย่างไร บุคคลเมื่อเป็นบุคคลเรียนรู้แล้วมีคุณลักษณ์อย่างไร

ความที่ท่านมีวิสัยทัศน์ จึงเห็นว่าการมีโรงพยาบาลอย่างเดียวหาเพียงพอแก่การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนไม่ จำเป็นต้องสร้างบุคลากรและวิทยาการต่างๆ ท่านได้สร้างวิทยาลัยพยาบาลแห่งแรกที่โรงพยาบาลหญิง ติดต่อยูซ่อม (USOM: องค์กรช่วยเหลือต่างประเทศของอเมริกันขณะนั้น) ให้ส่งคนมาช่วยสร้างคณะเทคนิคการแพทย์แห่งแรกของไทยที่ศิริราช ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยามาวิจัยโรคที่ขณะนั้นไม่รู้ว่าอะไร ซึ่งบัดนี้รู้แล้วว่าคือโรคธาลัสซีเมียซึ่งแพร่หลายมาก ท่านสนับสนุนให้มีศูนย์บริการโลหิต

เมื่อผมเดินทางไปไหนกับท่านจะสังเกตเห็นคนเข้ามาแสดงความเคารพท่านและแนะนำตัวว่า “คุณหมอเป็นผู้ทำคลอดหนู” บ้าง “คุณหมอเคยรักษาคุณแม่หนูบ้าง” บ้าง “หนูจบพยาบาลจากวิทยาลัยที่ท่านสร้าง” บ้าง เช่นนี้เสมอๆ เป็นประจำ ทำให้ผมคิดว่าคงมีคนที่ท่านทำคลอด ดูแลรักษา หรือช่วยเหลือด้วยประการอื่นใดเป็นหมื่นๆ คน และอัศจรรย์ในการเป็นคนที่ทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ของท่าน การทำเพื่อเพื่อนมนุษย์เป็นอาการของจิตวิวัฒน์อย่างหนึ่งและเป็นความงามในแผ่นดิน

ในช่วงก่อน ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ มีแพทย์กลุ่มหนึ่งรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในการปฏิรูประบบสุขภาพ อาจารย์เสมซึ่งมีอาวุโสกว่ากลุ่มยังเติร์กทางสาธารณสุขก็เข้าร่วมด้วย สิ่งหนึ่งที่กลุ่มนี้คิดก็คือการสร้าง “โรงเรียนแพทย์ชุมชน” โดยเห็นว่าแพทย์ที่ผลิตในโรงเรียนแพทย์กระแสหลักไม่เข้าใจระบบชุมชน หลัง ๑๔ ตุลาคม ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กลุ่ม “โป๊ยเซียน” ที่คิดเรื่องโรงเรียนแพทย์ชุมชนก็ย้ายที่ไปประชุมกันในกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้ทำไม่สำเร็จเพราะมีกระแสต่อต้านมาก บัดนี้เกือบ ๔๐ ปีหลังจากความพยายามของคนไทยในการผลิตแพทย์ที่เอาระบบเป็นตัวตั้ง เกิดความเคลื่อนไหวในระดับโลกที่จะปฏิรูปการผลิตบุคลากรสาธารณสุขครั้งใหญ่ โดยเอาระบบเป็นตัวตั้ง

อาจารย์เสมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ และรัฐบาลเปรม เป็นช่วงที่องค์การอนามัยโลกกำลังรณรงค์เรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้าโดยสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยได้มีบทบาทนำในเรื่องนี้โดยนักการสาธารณสุขหัวก้าวหน้า มีนายแพทย์อมร นนทสุต เป็นอาทิ อาจารย์เสมมีความเป็นเยี่ยมอีกด้านหนึ่งคือวาทศิลป์ ที่สามารถพูดได้ทันทีในทุกเรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เวลาพบกับนายแพทย์มาห์เลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกขณะนั้น เป็นเรื่องที่น่าดูมาก เพราะนายแพทย์มาห์เลอร์เป็นนักคิดและผู้มีวาทศิลป์ยิ่งใหญ่ระดับโลก นายแพทย์มาห์เลอร์ประทับใจในความสามารถของอาจารย์เสมและนายแพทย์อมรมาก ถึงกับประกาศให้ประเทศไทยเป็นอิสระในการตัดสินใจการใช้งบประมาณขององค์การอนามัยโลกเอง ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น

อาจารย์เสมเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพจากวงการองค์กรพัฒนาเอกชนมาก เช่น ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิเด็ก มูลนิธิหมอชาวบ้าน กลุ่มศึกษาปัญหายา และเครือข่ายของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทั้งหมด ที่ถึงกับเอาชื่อท่านไปตั้งองค์กรเพื่อการศึกษาแนวใหม่ คือ SEM (Spirit in Education Movement) อาจารย์เสมเป็นผู้ที่อาจารย์สุลักษณ์เคารพนับถือและยอมให้แนะนำสั่งสอนท่านได้ จึงนับเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง

มนุษย์แม้ฉลาดและสามารถสุดเพียงใดก็ติดอยู่ในข้อจำกัดในตัวเอง คือกิเลส ข้อจำกัดนี้ได้นำไปสู่การทำลายอย่างใหญ่หลวง ทั้งทำลายตัวเอง ทำลายกันเอง และทำลายธรรมชาติแวดล้อมของโลก จนโลกทั้งใบวิกฤตใหญ่อยู่ในขณะนี้ อาจารย์เสมเป็นผู้ที่ก้าวข้ามข้อจำกัด (Transcendenting) ในตัวเองไปแล้ว เป็น Transcendent man ที่มีชีวิตอยู่จริงๆ และเป็นบุคคลร่วมสมัยกับเรา ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ในหนังสือมติชนนี้ เราพูดกันเสมอๆ ตลอดมาว่า วิกฤตใหญ่ของโลกในปัจจุบันไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีใดอื่นนอกจากมนุษย์เกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) ผู้เกิดจิตสำนึกใหม่จะมีอิสระ มีความสุขอันประณีต มีความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม มนุษยชาติได้มาถึงจุดเปลี่ยนทางอารยธรรม (Civilization Turning Point) จิตสำนึกใหม่จำเป็นต่อการสร้างอารยธรรมใหม่แห่งการอยู่ร่วมกัน การระลึกถึงชาตกาลครบ ๑๐๐ ปีของอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ จักเกื้อกูลต่อการเกิดจิตสำนึกใหม่ อันจักเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญของแต่ละท่านในฐานะปัจเจกบุคคล และเพื่อการสร้างอารยธรรมใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสืบไป

Back to Top