มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2551
การคิดของมนุษย์เรานั้น เกี่ยวพันกับพื้นฐานของความรู้ที่ผู้คิดมีอยู่ในขณะนั้นหรือขณะใด และที่สำคัญยังขึ้นกับวิธีคิดวิธีวิเคราะห์ซึ่งขึ้นกับความใจกว้าง ความเป็นกลาง และประสบการณ์ของผู้นั้นอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผลของการคิดหรือความคิดของมนุษย์เราจึงแตกต่างกัน โดยเฉพาะหากเป็นความคิดของคนที่เป็นผู้นำทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ จนบางทีทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงสับสนและไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี คนที่ได้รับความนิยม คนที่มีชื่อเสียง หรือคนที่ทำงานเฉพาะด้านนั้นๆ มานาน หรือเรียนจบมหาวิทยาลัยมาทางด้านนั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสติปัญญาความฉลาด (Intelligence) แต่อย่างใด จึงมักได้เปรียบ เพราะทำให้สาธารณชนเชื่อว่า สิ่งที่คนเหล่านั้นพูดหรือเขียนหรือโฆษณานั้นคงจะเป็นข้อเท็จจริง เราถึงได้มีความแตกต่างกระทั่งแตกแยกกัน หรือแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นพรรคเป็นพวก ดีไม่ดีถึงกับยกพวกมาตีกัน อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ รวมทั้งบ้านเราในขณะนี้
ฉะนั้น การคิดไม่ว่าของใครจึงต้องรอบคอบรอบด้าน ครอบคลุมทั้งกายและจิต การยกความสามัคคีมาอ้างนั้น หากคิดไม่รอบด้านจริงๆ จะไม่เกิดประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากคนทั่วไปที่กำลังสับสนและไร้ข้อมูล มักจะคิดถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์ที่อยู่ในสังสารวัฏ
ทอมัส กิเออรีน กับ แอนนี ฟิกเกิร์ต (Thomas Gieryn and Anne Figert: Irregularities for Science in Society, 1990) กล่าวว่า ประชาชนคนทั่วไปมักจะเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์ไว้ก่อนในเรื่องข้อมูลทางวิชาการ เพราะตัวเองไม่รู้และคิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องรู้ แต่ทว่าวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์รู้นั้น ก็เป็นเฉพาะเรื่องของธรรมชาติทางด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว และบ่อยครั้งที่วิทยาศาสตร์อธิบายธรรมชาติอย่างกำกวม ยืดหยุ่น และโดยประวัติศาสตร์มักจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอๆ - โดยนักวิทยาศาสตร์จะโต้เถียงกันเอง - ความจริงทางวิทยาศาสตร์กายภาพจึงไม่แน่ว่าจะถูกเพียงอย่างเดียว (science is no a single thing) ดังนั้น การพูดถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีขอบเขตโดยคำนึงถึงบทบาทของสังคมวัฒนธรรมที่ประชาชนสนใจในขณะนั้นๆ ร่วมไปด้วย ไม่ใช่ไปสรุปว่า อะไรๆ ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้จอมปลอมทั้งหมด (pseudoscience or pseudoknowledge) หรือผิดทั้งหมด ทางที่ดีนักวิทยาศาสตร์ต้องคำนึงถึง “ขอบเขต” ความแตกต่างของมโนทัศน์ (concept or perspective) ของประชากรในชุมชนบนฐานของวัฒนธรรมในเวลานั้นๆ พร้อมกันไปด้วย
ผู้เขียนเห็นด้วยครึ่งหนึ่งและไม่เห็นด้วยครึ่งหนึ่งกับที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ที่เห็นด้วยเพราะเข้าใจว่า ประชาชนทั่วไปและแม้ทางการเองก็เชื่อถือในวิทยาศาสตร์จริงๆ ในแง่วิชาการ เพราะไปเอาเทคโนโลยีมาปนเปเข้ากับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น พัดลม หรือโทรทัศน์ สาธารณชนที่เอามาใช้จะเห็นได้อย่างเด่นชัด ได้ประโยชน์จริงๆ และมีประสิทธิภาพจริงๆ ด้วย อย่างน้อยเท่าที่ประสาทสัมผัสภายนอกบอกให้เรารู้ เพราะมันให้ความสุขสะดวกสบายกับเราจริง ส่วนจะจริงแท้หรือหยาบและตื้นเขินแค่ไหนเราไม่สนใจ ตราบเท่าที่มันให้ความสุขที่เราต้องการ และที่เรารู้นั้น ก็เป็นการรู้สำหรับมนุษย์แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว หมาย่อมไม่สนใจโทรทัศน์และไม่รู้จักรถยนต์ว่าแข็งและแรงมากกว่า มันถึงได้ถูกชนจนพิการบ่อยๆ ดังนั้น ขอบเขตของมโนทัศน์ต่อความเข้าใจว่าเป็นความจริงของประชาชนในเรื่องวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีจึงกลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นวัฒนธรรมไปด้วย
ส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้วนเป็นการทำเทียมหรือจำลองโลกธรรมชาติในด้านของกายภาพเพียงด้านเดียว จึงเป็นความจริงเฉพาะทางกายภาพ ไม่จริงทั้งหมด เพราะไม่ได้รวมจิตหรือแม้แต่นามเอาไว้ มันจึงเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวที่หยาบและผิวเผินเท่านั้น แม้วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือแควนตัมเมคานิกส์เอง ก็เป็นประสบการณ์ของบุคคลที่สามซึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพ แต่เนื่องจากเป็นวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยคิดมาก่อน คือเล็กละเอียดจนห่างจากความเป็น “กาย” แทบจะโดยสิ้นเชิง มันจึงทำงานคล้อยๆ ไปทางจิต คือให้ความจริงยิ่งกว่าเก่า และแทบจะตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์เก่า เหมือนกับความแตกต่างของหน้ามือกับหลังมือ คือคล้ายกับจิตซึ่งมีความละเอียดที่สุด จนไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสภายนอกทั้ง ๕ ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแควนตัมสตัฟ (quantum stuff) จะเป็นกายที่ละเอียดมากๆ จนมีการทำงานคล้อยไปทางจิต แต่มันก็ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นประสบการณ์ของบุคคลที่หนึ่ง รับรู้ด้วยจิตที่สงบนิ่งระหว่างสมาธิเท่านั้น คนทั่วไป - นอกจากผู้ที่ศรัทธา - จึงมักคิดว่าจิตเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เป็นความงมงาย
ที่พูดมาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นการคิดที่แตกต่างกัน ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กายภาพ - ที่มองโลกและจักรวาลว่าเป็นเพียงรูปกายที่เกิดมาจากความบังเอิญ - กับผู้เขียน - ที่มองโลกและจักรวาลว่ามีชีวิตหรืออย่างน้อยเป็นองค์กรชีวิตที่บริหารและควบคุมสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ให้ดำเนินไปตามแผนหรือรูปแบบพิมพ์เขียวของจักรวาล - ดังนั้น การมองเรื่องทั้งหลาย รวมทั้งเรื่องของชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์แต่ละคนหรือโดยรวม (collectively) แทนที่จะเป็นเรื่องของความบังเอิญ หรืออุบัติเหตุ หรือแม้แต่การจัดองค์กรให้กับตนเองซึ่งเป็นเรื่องของกายภาพ หรือเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์แห่งความซับซ้อน (science of complexity) แต่เพียงอย่างเดียว โดยอธิบายว่าที่เหลือเป็นเรื่องของความบังเอิญนั้น ผู้เขียนกลับเชื่อว่ามีกฎแห่งกรรมเข้ามามีส่วนที่อาจจะสำคัญกว่าการจัดองค์กรให้กับตัวเองอีกกฎหนึ่ง นั่นเป็นความจริงที่ทางพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่อุบัติขึ้นจากอินเดียยอมรับกัน มีทั้งตรรกะเหตุผลและอนุมานที่นักคิดนักปราชญ์ต่างเห็นด้วยกันอย่างเป็นเอกฉันท์มาตั้งหลายพันปีแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ เนื่องจากกรรมเป็นเรื่องของการกระทำในอดีตที่นานมาแล้วจนจำไม่ได้ (very long term memory) อาจจะนานข้ามภพข้ามชาติ จึงเป็นเรื่องของจิตที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ให้เป็นวิทยาศาสตร์กายภาพไม่ได้ ทั้งๆ ที่การกระทำใดๆ ไม่ว่าในอดีตกาลนานสักเท่าไหร่ ล้วนเป็นไปตามแรงที่กระทำนั้นๆ (action-reaction) เป็นไปตามกฎแห่งการเคลื่อนที่ข้อที่สามของนิวตัน อันสอดคล้องกันกับที่พุทธศาสนาว่าไว้ว่า กรรมเป็นปฏิกิริยาที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะจิตไม่ได้ตายไปกับกาย โลกก็เช่นนั้น ประชาโลกไม่ว่าปัจเจกหรือโดยรวมก็เช่นนั้น ซึ่งการคิดบนตรรกะและเหตุผลเช่นนั้น ในความคิดของผู้เขียนน่าจะดีกว่าที่จะใช้คำว่าบังเอิญหรือขี้เกียจคิดมากนัก
ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง ที่แน่ๆ คือ โลกกำลังจะพังเพราะภาวะโลกร้อน เรื่องของโลกร้อนนี้ ผู้เขียนต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ต้องเขียนต้องพูดซ้ำๆ ไม่ใช่เพียงแต่มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการอยู่รอดของมนุษย์เราเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานว่าจิตจักรวาล คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของจักรวาลกายภาพหรือจักรวาลแห่งปรากฏการณ์ อันเป็นที่มาของวิทยาศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์ แต่เราคิดว่ามันสมบูรณ์แล้ว เป็นความผิดพลาดของมนุษย์อีกครั้งหนึ่งก่อนที่มนุษย์จะมีวิวัฒนาการทางจิตต่อๆ ไป ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเชื่ออย่างมีหลักฐานและเหตุผลว่า วิวัฒนาการทางจิตจะต้องเป็นไปจนถึงที่สุดหรือถึงวิมุตตินิพพานเท่านั้น - นั่นคือเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาล - ส่วนภาวะโลกพังกับมหันตภัยต่างๆ ที่ก่อความทุกข์ทรมานทั้งในขณะนี้หรือที่จะรุนแรงกว่านี้เป็นร้อยเท่าพันเท่าในอนาคตนั้น คือ คาตาลิสต์ (catalyst - ตัวเร่งปฏิกิริยา) สุดสำคัญต่อวิวัฒนาการทางจิต - อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายในงานเขียนของผู้เขียน - ซึ่งถ้าหากเราคิดทั้งเรื่องกายภาพพร้อมกับเรื่องของจิตและความทรงจำไปด้วยกัน ซึ่งไม่ค่อยมีคนคิด มันย่อมไม่มีทางคิดเป็นอื่น นอกจากเรื่องของ “กริยากับปฏิกิริยา” หรือกรรมกับวิบากกรรมเท่านั้น หรือจะพูดว่าเป็นเรื่องของฟ้าที่ลงโทษหรือให้รางวัลแก่มนุษย์และแผ่นดินก็ได้ ผู้เขียนจึงคิดว่าในโลกนี้จักรวาลนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุและผลของการกระทำทั้งนั้น ดังที่อริสโตเติลกล่าวไว้ในเรื่องของเหตุที่ก่อผล (causation) เพราะฉะนั้นเรื่องของโลกพัง (mass extinction) ที่เกิดเฉพาะกับโลกแห่งชีวิตทุกๆ ครั้งทั้ง ๕ ครั้ง – ตั้งแต่ครั้งแรกในยุคไซลูเรียน (Silurian) เป็นต้นมา - จึงเป็นประหนึ่งลิขิตของฟ้าหรือเป็นไปตามแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาล และหากว่าโลกจะพังอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้ จากสภาวะโลกร้อน ตามที่นักวิทยาศาสตร์แทบจะทุกคนว่าไว้ - เพียงต่างกันที่เมื่อไร - และหากเราคิดในประเด็นของจิตหรือกรรมไปพร้อมๆ กับวิทยาศาสตร์กายภาพด้วย มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลีกเลี่ยงสภาวะโลกพังจากโลกที่ร้อนจัดไปได้ ไม่ว่าเราจะหาทางป้องกันและแก้ไขอย่างไร เช่น ด้วยการหาพลังงานทดแทน รีไซเคิล ปลูกป่า หรืออย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้เขียนเอามาเขียน หรือต่อให้ประชากรทุกคนทั้งโลกพากันเปลี่ยนใจจากบริโภคนิยมและหันมาหาวิถีชีวิตแบบกรีนทั้งหมดในวันนี้พร้อมๆ กัน อย่างที่ อัล กอร์ คิดว่าอาจจะช่วยโลกได้ ผู้เขียนก็ยังคิดว่ามันคงไม่ทันการณ์เพราะสายเกินไป
เรารู้อย่างค่อนข้างแน่นอน พร้อมด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พอที่จะเชื่อได้ว่า สภาพโลกพังครั้งที่ ๕ ในสมัยเครตาเซียส (Cretaceous) เมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน มีสาเหตุจากอุกกาบาตขนาดใหญ่วิ่งมาชนโลกจนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปทั้งหมด และนักวิทยาศาสตร์หลายคนยังเชื่อว่ามีหลักฐานที่ว่า แม้สภาพโลกพังครั้ง ๓ ในยุคเพอร์เมี่ยน (Permian) หรืออาจเป็นไปได้ว่าแม้สภาพโลกพังครั้งที่ ๔ ในยุคสมัยไตรอัสซิค (Triassic) ก็อาจจะเกิดจากอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกเหมือนกัน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า สาเหตุของโลกพังครั้งที่ ๖ ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ มาจากภาวะโลกร้อนอันเป็นฝีมือของมนุษย์ ดังที่ผู้เขียนเอามาเขียนก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการห้ามไม่ให้เกิดสภาพโลกพังจากอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกอีกครั้ง นั่นอยู่ที่ว่ามนุษยชาติโดยรวม - ในเวลานั้น - ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากจนต้องสูญพันธุ์เหมือนกับไดโนเสาร์หรือไม่ คิดถึง อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กับจีน ที่แม้โดยรวมจะนิยมวัตถุอย่างหนัก แต่ก็มีนักจิตนิยมหรือจิต-กายนิยมอยู่ไม่น้อยในประเทศเหล่านั้นและในที่อื่นๆ อีก มนุษยชาติจึงอาจจะไม่ถึงกับสูญพันธุ์ไปหมดก็ได้
สรุปจากย่อหน้าข้างบนบอกได้ว่า หากเราคิดบนกาย-จิตพร้อมกัน เรายังมีสิทธิเลือกได้ ระหว่างสูญพันธุ์ไปหมดด้วยอุกกาบาตขนาดใหญ่วิ่งมาชนโลก หรือเหลืออยู่บางส่วน - ราวร้อยละ ๒๐ ของประชากรโลกในเวลานั้นจากภาวะโลกร้อน - ดังที่ เจมส์ ลัฟล็อค ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์การ์เดียน มันจึงอยู่ที่การตื่นและเปลี่ยนแปลงของเราในวันนี้กับวันต่อไปว่าจะตื่นและเปลี่ยนแปลงทางจิตหรือไม่ หากว่าเราสามารถตื่นทางจิตได้ทัน เราอาจจะเหลือมากกว่าร้อยละ ๘๐ ก็ได้ กรรมทางกายนั้นเป็นผลของมโนทุจริตทั้งนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็หนีไม่ได้ นอกจากการตื่นทางจิตเท่านั้น
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2551
วงการศึกษาในปัจจุบัน มีหัวข้อซึ่งเป็นที่สนใจมากอยู่หัวข้อหนึ่งคือ “การศึกษาที่ทำให้เกิดหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง มุ่งเข็ม ตั้งใจมั่น ที่จะปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้เอื้ออำนวยต่อการหล่อหลอมบัณฑิตผู้มีคุณสมบัติอย่างที่ว่านี้ให้กลายเป็นมาตรฐานของระบบการศึกษาให้ได้ จึงทำให้เกิดข้อน่าคิดว่า แล้วหลักสูตรแต่ก่อนๆ นี้ไม่ได้มีส่วนที่ทำให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวบรรลุหรอกหรือ?
คุณพ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่า วิชาที่ท่านเรียนสมัยก่อนนั้น มีรายวิชาน้อยกว่าสมัยที่ผมเรียน (ท่านจบมัธยมแปดประมาณก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ตอนที่ท่านได้ทุนไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร ท่านเรียนคณิตศาสตร์ วรรณกรรม ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่กลับมาเมืองไทยก็สามารถทำงานได้หลากหลาย และประสบความสำเร็จพอสมควร ท่านบอกว่าอาจจะเป็นเพราะสมัยก่อน เราเรียนเพื่อแสวงหาความเฉลียวฉลาด (wisdom) มากกว่าแสวงหาความรู้ (knowledge) กระมัง โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้มีการค้นพบความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นๆ ศาสตร์ต่างๆ มีการแตกแขนง และลงลึกซึ้งไปถึงระดับโมเลกุล ระดับพันธุกรรม ใครจะเรียนอะไรในตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีสาขาเฉพาะทางที่ลงรายละเอียดไปหมด ซึ่งก็เป็นประจักษ์พยานถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการของมนุษยชาติ และน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ปรากฏว่าเรากลับเดินหมิ่นเหม่อยู่กับการหมกมุ่นในเรื่องราวระดับเล็ก ลงลึก จนกระทั่งมองไม่เห็นภาพรวม ภาพใหญ่ เสมือนมดเดินอยู่บนแนวตะเข็บผ้า ซึ่งไม่มีทางทราบว่าเสื้อผ้าทั้งชุดนั้นสวยงามเพียงไร
มนุษย์เป็นตัวอย่างของชีวภาพที่น่าทึ่ง เรามีร่างกายที่ใช้รับรู้โลกภายนอก เพื่อเชื่อมต่อกับโลกภายใน เรามีระบบสัมผัสและมีระบบความรู้สึกที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน ทำให้ไม่เพียงแต่รับรู้ความเจ็บปวด ความนุ่ม ความแข็ง แต่เรายังมีความรู้สึกรักใคร่ โกรธเกลียด ไม่เพียงแต่เท่านั้น มนุษย์ยังมีสมองส่วนหน้า ซึ่งมีหน้าที่ระดับสูงไปกว่านั้นคือ บูรณาการความทรงจำทั้งหลาย ความรู้สึก กอปรเป็นความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ เราจึงมี “ความรู้สึก” ที่มากไปกว่าระดับพื้นฐาน อาทิ เรามีความภาคภูมิใจ ความทรนง ศักดิ์ศรี ไปจนถึงความสามารถในการพัฒนาจิตไปสู่ความสงบสันติสุข และมีความเข้าใจอย่างถึงที่สุดจนหลุดพ้น (transcendence) อย่างที่สัตว์อื่นไม่สามารถกระทำได้
ดังนั้น ถ้าหากจะมีการทำให้ศักยภาพที่ว่านี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องเกิดจาก “บริบท” บางประการที่ทำให้เกิดความถดถอยในสิ่งที่คนเราสามารถกระทำได้ บริบทที่ว่านั้นคืออะไร?
ศักยภาพสูงสุดของมนุษย์นั้น เกิดจากความสามารถในการเชื่อมโยงการรับรู้ ความรู้สึก ความทรงจำ ประสบการณ์ ความคิด จินตนาการ หรือหน้าที่ทั้งหมดของสมองเข้าหากันอย่างไร้ตะเข็บ ไร้รอยต่อ เกิดเป็นสภาวะแห่งองค์รวม (holistic) ที่สิ่งแวดล้อมภายในเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกันกับปรากฏการณ์ภายนอก ความเป็นไปได้จึงมีอย่างไม่สิ้นสุด ไร้ขอบเขต
การศึกษาที่ทำให้การเชื่อมโยงดังที่ว่านี้ขาดสะบั้น จะเป็นบริบทที่จำกัดศักยภาพของมนุษย์ลง ทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆ โดยขาดความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมในนิเวศ หรือบางครั้งถึงขนาดขาดความเชื่อมโยงระหว่างอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราเองเสียด้วยซ้ำไป บางคนทุ่มเททำงานจนขาดการดูแลตนเอง หรือทุ่มเทให้กับอารมณ์จนความรู้สึกเป็นตัวชี้นำร่างกาย และที่ไม่ควรเกิดมากที่สุดก็คือ บางคนที่เรียนมากขนาดไหนก็ตาม กลับไม่สามารถเชื่อมโยงความดีของศาสตร์ ของความรู้ต่างๆ นั้น เข้ากับความภาคภูมิใจในตนเอง เข้ากับความดีของตนเอง และไม่เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมได้ ภาพรวมของการผลิตบัณฑิตในระบบการศึกษาแบบนี้ก็คือ ความโกลาหลอลหม่าน การสูญเสียความสัมพันธ์ ที่การสื่อสารไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการสื่อสารเพื่อรัก เพื่อสามัคคี เพื่อเชื่อมโยง หากเป็นการสื่อสารด้วยความเกลียดชัง บ่อนทำลาย และแบ่งแยกมากขึ้นเรื่อยๆ
สังคมไทยที่แล้วมา มีข่าวด้านลบเกี่ยวกับวงการแพทย์อยู่เสมอๆ มีการพบเห็นแพทย์ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมในที่นี้บ้าง ที่นั้นบ้าง จนกระทั่งคนในระบบการศึกษาของแพทย์ คือ โรงเรียนแพทย์ ต้องหันมาคุยกันว่าระบบการศึกษามีส่วนอะไรหรือไม่ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ความซับซ้อนของพฤติกรรมผลลัพธ์ในการศึกษานั้นลึกซึ้งยิ่งนัก จนมีการกล่าวอย่างทีเล่นทีจริงว่า “เราใช้เวลา ๖ ปี ในการผลิตแพทย์ออกมา แต่เราอาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตหรือไม่ที่จะทำให้เขากลับมาเป็นคนอีกครั้ง”
พระราชดำรัสใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2551
สุขภาพคือสุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา สุขภาวะทั้ง ๔ ด้าน เชื่อมโยงกันเป็นบูรณาการ เชื่อมโยงถึงกัน และอยู่ในกันและกัน แต่ละด้านมีองค์ประกอบ ๔ รวมกันเป็นสุขภาวะ ๔ x ๔ = ๑๖
การที่ว่ามีองค์ประกอบด้านละ ๔ ไม่ได้แสดงว่ามีเท่านั้น แต่เป็นการพอประมาณและเพื่อให้จำได้ง่าย
ทางกาย ๔ อย่างเป็นไฉน ทางกาย ๔ อย่าง ประกอบด้วยร่างกายแข็งแรง ความปลอดสารพิษ มีความปลอดภัย ความมีปัจจัย ๔ ซึ่งมาจากการมีสัมมาชีพ
ทางจิต ๔ อย่างเป็นไฉน ทางจิต ๔ อย่างประกอบด้วย ความดี ความงาม หรือ สุนทรียะ ความสงบ ความมีสติ
ทางสังคม ๔ อย่างเป็นไฉน ทางสังคม ๔ อย่างประกอบด้วย สังคมสุขสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกระดับ สังคมเข้มแข็ง สังคมยุติธรรม สังคมสันติ
ทางปัญญา ๔ อย่างเป็นไฉน ทางปัญญา ๔ อย่างประกอบด้วย ปัญญารู้รอบรู้เท่าทัน ปัญญาทำเป็น ปัญญาอยู่ร่วมกันเป็น ปัญญาบรรลุอิสรภาพ
ปัญญาเป็นศูนย์กลาง ถ้าปราศจากปัญญา สุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคมก็เป็นไปไม่ได้ การพัฒนาปัญญาต้องนำไปสู่การพัฒนากาย จิต และสังคม การพัฒนากาย จิต และสังคม ต้องนำไปสู่การพัฒนาปัญญาทั้ง ๔ ร่วมกัน จึงเกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ ในที่นี้จะขยายความเฉพาะเรื่องปัญญา ๔ ประการ คือ
(๑) ปัญญารู้รอบรู้เท่าทัน การรู้อะไรแจ่มแจ้งแทงทะลุทำให้เกิดความสุข ความมืด ความไม่รู้อะไร ความไม่แจ่มแจ้ง ทำให้เกิดความบีบคั้น เสมือนคนที่อยู่ในเหวทั้งมืดทั้งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะมีความทุกข์ความบีบคั้นอย่างยิ่ง ต่อเมื่อขึ้นมาจากปากเหว มองเห็นได้ทั่วไป เกิดความสุขจากการหลุดพ้นความบีบคั้นของความไม่รู้ การมีปัญญาเห็นโดยรอบ รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ทำให้มีความสุข คนที่รู้รอบที่เรียกว่าเป็นพหูสูต จึงมีความสงบและมีความสุขอยู่ในตัว รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตรงข้ามกับคนที่ไม่รู้ รู้น้อย รู้เป็นส่วนๆ ไม่รู้เชื่อมโยงย่อมอยู่ในความบีบคั้น เหะหะ โวยวาย แก้ปัญหาไม่ตก หลุดไปเป็นพาลได้ง่าย การรู้เท่าทันปัญหาแม้ยังไม่ได้แก้ปัญหา ก็ทำให้ความเป็นปัญหาหมดไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ป้าคนหนึ่งมีความทุกข์มาก เพราะแกพูดอะไรลูกสาวก็ไม่เชื่อแก เมื่อได้รับคำบอกเล่าว่าแบบนี้เป็นกันทุกบ้าน แกอุทานว่า “หรือ ฉันนึกว่าเป็นแต่ฉันคนเดียว ถ้ามันเป็นกันทุกบ้าน ฉันก็ค่อยยังชั่ว” ที่หายทุกข์ก็เพราะมีปัญญารู้เท่าทันว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือ “ธรรมดาเนาะ” เรื่องการมีปัญญารอบรู้ รู้เท่าทัน รวมไปถึงโลกทัศน์และวิธีคิด ถ้ามีโลกทัศน์และวิธีคิดที่ถูกต้องก็ทำให้มีความสุข
การมีปัญญาเข้าใจธรรมชาติตามที่เป็นจริง เห็นความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) ของสรรพสิ่ง ทำให้ไม่ถูกบีบคั้นจากความเห็นผิด ว่าสิ่งต่างๆ ดำรงอยู่อย่างแยกส่วนตายตัว เมื่อเป็นอิสระจากความบีบคั้นก็ไม่ทุกข์ เมื่อเห็นอะไรเป็นกระแสของอิทัปปัจจยตา ก็จะอยู่ในกระแสแห่งปัญญา มีสุขภาวะเพราะปัญญา
(๒) ปัญญาทำเป็น หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำและทำเป็น ในการพัฒนากาย ๔ ประการ และทางจิต ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น การเรียนรู้จากการทำ และเกิดปัญญาที่ทำให้ทำได้ดี ทั้งเรื่องทำให้ร่างกายแข็งแรง ปลอดสารพิษ มีความปลอดภัย สร้างสัมมาชีพ มีปัจจัย ๔ มีจิตใจที่มีความดี ความงาม ความสงบ และความมีสติ ปัญญาในการทำเป็นนี้ย่อมก่อให้เกิดความสุขอย่างยิ่ง
(๓) ปัญญาอยู่ร่วมกันเป็น ได้แก่ปัญญาที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน (Living together) ไม่ใช่ตัวใครตัวมันเป็นเอกเทศ สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกระดับ รวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นชุมชนเข้มแข็ง และประชาสังคม มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) การที่มีความเสมอภาคและภราดรภาพจนสามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำได้ จะทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพานและทำให้ทำอะไรๆ สำเร็จได้ง่าย ตรงนี้เป็นอปริหานิยธรรมหรือธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว การอยู่ร่วมกันเป็นต้องสามารถสร้างสังคมยุติธรรม ความยุติธรรมในสังคมเป็นบ่อเกิดของความสุขอย่างยิ่ง การอยู่ร่วมกันเป็นต้องสามารถสร้างสังคมสันติ สามารถแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ขจัดความรุนแรงประเภทต่างๆ มีสันติภาพ สังคมสันติเป็นสุขภาวะทางสังคมอย่างยิ่ง บุคคลควรเรียนรู้ให้เกิดปัญญาอยู่ร่วมกันเป็น
(๔) ปัญญาบรรลุอิสรภาพ ความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นเครื่องก่อทุกข์ วิชชา หรือ ปัญญาเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เพราะความไม่รู้มนุษย์ยึดถือตัวตนของตนเองเป็นศูนย์กลาง จึงขัดแย้งกับความจริง ความขัดแย้งคือทุกขตาหรือความทุกข์ อาการของการเอาตัวเองเป็นใหญ่ประกอบด้วย ตัณหา อันได้แก่ความอยากเอาอยากเป็น มานะ อันได้แก่การใช้อำนาจเหนือคนอื่น ทิฏฐิ การเอาความเห็นของงานเป็นใหญ่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ การเอาความเห็นของงานเป็นใหญ่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ บีบคั้นตนเอง และบีบคั้นผู้อื่น ยิ่งมีมากยิ่งก่อทุกข์มาก ถึงอาจก่อให้เกิดจลาจลและสงครามได้ ไม่เป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะอวิชชาจึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ หรือความเห็นแก่ตัว หากลดความเห็นแก่ตัวลงได้มากเท่าไร เรียกว่ามีปัญญาเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น มีอิสรภาพจากความบีบคั้นมากขึ้น ปัญญาและอิสรภาพจึงซ้อนทับอยู่ที่เดียวกัน ผู้ที่หมดความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิง ก็มีอิสรภาพหลุดพ้นจากความบีบคั้นโดยสิ้นเชิง มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นวิมุติสุข
มนุษย์ควรเรียนรู้เพื่อลดความเห็นแก่ตัวหรือเพื่อบรรลุอิสรภาพ ในทางพุทธได้แก่ไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นมรรควิถีที่พิสูจน์มาแล้วว่ามนุษย์จำนวนมากที่ศึกษาบนเส้นทางนี้แล้วบรรลุอิสรภาพได้จริง ตามปรกติมนุษย์ไม่สามารถสัมผัสความจริงได้เพราะติดอยู่ในความคิด การมีสติรู้กายรู้ใจ ทำให้จิตสงบจากความคิด สัมผัสความจริง และถอดถอนจากความยึดมั่นในตัวตนได้ การเจริญสติจึงเป็นเครื่องมือพัฒนาจิตและปัญญาอย่างยิ่งยวด การเจริญสติทำให้เกิดสุขภาวะอันล้ำลึกอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ขณะนี้มีผู้ฝึกเจริญสติกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพบว่าทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหมด เช่น สุขภาพดี สมองดี ความสัมพันธ์ดีขึ้น และเกิดสุขภาวะอันล้นเหลือ เป็นความสุขที่ราคาถูก (Happiness at low cost) เป็นความสุขที่ไม่ต้องการบริโภคมากขึ้น เป็นเครื่องลดบริโภคนิยมอย่างชะงัด ฉะนั้นถ้ามนุษย์เจริญสติกันมากๆ แล้ว นอกจากจะลดความร้อนอกร้อนใจแล้ว จะช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้ดีที่สุด
ขณะนี้มีการเรียนรู้ที่เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ด้วยวิธีการต่างๆ อันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่ก็รวมอยู่ที่การเรียนรู้ที่รู้จิตของตัวเอง จิตตปัญญาศึกษาทุกประเภทเป็นไปเพื่อบรรลุอิสรภาพ
โดยสรุปสุขภาวะทางปัญญาเกิดจากการเรียนรู้ที่ทำให้รู้รอบ รู้เท่าทันสรรพสิ่ง เรียนรู้ให้ทำเป็น เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน และการเรียนรู้เพื่อบรรลุอิสรภาพ การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เกิดสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา รวมกันเป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์ สุขภาวะที่สมบูรณ์เกิดจากการเรียนรู้ที่ดี การเรียนรู้ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะแสวงหาและช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้พบการเรียนรู้ที่ดี
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 7 มิถุนายน 2551
ในระยะหลังนี้ผมพบว่า ความเข้าใจเรื่อง “สี่ระดับ” ของเรื่องราวต่างๆ ในทฤษฎียู (Theory U) ของออตโต ชาร์มเมอร์ นั้นมีประโยชน์มาก ทั้งในการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจและในการนำไปใช้ปฏิบัติจริง
ผมได้เขียนถึง “สี่ระดับ” ของ “การฟัง” (การฟังที่ใช้วิธีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว, การฟังเพื่อจับผิด, การฟังอย่างเปิดหัวใจ และการฟังไปถึง "ความหมายที่แท้จริง") มาแล้วในคอลัมน์ “จับจิตด้วยใจ” มติชนรายวัน ๙ มีนาคม ๒๕๕๑
ในบทความนี้ผมอยากจะเขียนถึง “สี่ระดับ” ของ “การต่อสู้” ซึ่งจริงๆ แล้ว ชาร์มเมอร์ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้นะครับ แต่ผมไปอ่านเจอในหนังสือไอคิโดที่ชื่อ Aikido and the Dynamic Sphere ได้เขียนถึง “จริยธรรม” ของการต่อสู้ที่แบ่งออกเป็นสี่แบบ และพบว่าตรงกันกับเรื่องสี่ระดับนี้อย่างน่าสนใจมากและน่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้
ผมคิดว่าความเข้าใจเรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับคนไทยในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองของเรากำลังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้
ในระดับที่หนึ่งของการแก้ไขปัญหา เป็นเรื่องของการตอบกลับอย่างรวดเร็ว (Reacting)
คือการดาวน์โหลด (Downloading) เพื่อนำข้อมูลเก่ามาใช้แบบอัตโนมัติ ไม่มีการคิดใหม่ ไม่มีการสร้างสรรค์ใหม่
ในแง่ของการต่อสู้นั้น เราจะพยายามแยกแยะมองมิตรและศัตรูแยกจากกันอย่างเด็ดขาด ประมาณว่า “ถ้าไม่ใช่พวกฉันก็เป็นศัตรูของฉัน” จริยธรรมในระดับที่หนึ่งนี้ เราจะเข้าไปไล่ล่าโจมตีคนที่เราคิดว่าเป็นศัตรูของเราเลย เข้าไปทำร้ายเลยหรือฆ่าให้ตายกันไปเลย เพราะคิดว่าโจมตีก่อนได้เปรียบ ทำลายล้างไปก่อน เราจะได้อยู่รอด เราเลือกที่จะใช้ “ความกลัว” เป็นที่ตั้ง เป็นฐานในการกระทำการต่างๆ ของเรา
ระดับที่สอง เป็นระดับของการที่ออกแบบใหม่ (Redesigning)
พยายามหาหนทางใหม่ๆ แต่ยังเป็นกรอบคิดแบบเดียวกันกับระดับที่หนึ่ง คือ ยังแยกแยะมิตรและศัตรูอย่างชัดเจน และพยายามหาหนทางใหม่ๆ ในการทำให้เห็นว่าใครเป็นมิตรใครเป็นศัตรูให้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
อาจจะมีการทดสอบมิตรว่าจะคิดแบบเดียวกันกับเราหรือไม่ ถ้ามิตรไม่คิดเหมือนเราตามที่เราได้ทดสอบ มิตรคนนั้นก็จะต้องกลายไปเป็นศัตรู
จริยธรรมของการต่อสู้ในระดับที่สองนี้ เราจะไม่โจมตีฝ่ายตรงข้ามก่อน แต่จะหาหนทางในการแยกแยะความเป็นมิตรความเป็นศัตรูให้ชัดเจน หาหนทางใหม่ๆ ในการยั่วยุให้ฝ่ายตรงกันข้ามโกรธ
เมื่อเกิดการต่อสู้ขึ้นก็จะมุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามด้วยความรุนแรง
ระดับที่สาม เป็นระดับของ “กรอบคิดใหม่” (Reframing)
เป็นระดับสำคัญที่เราเริ่ม “มองเห็น” ว่า “ไม่มีมิตรไม่มีศัตรู” มีแต่ “เพื่อนมนุษย์” เริ่มมองเห็น “ความเป็นคนอื่น” ในตัวเรา เรื่องราวที่เราเคยด่าเคยว่าคนอื่นนั้นบางทีเราเองก็ทำเหมือนเขานั่นแหละ
เราเริ่มมองเห็นแล้วว่าการโจมตีก่อนนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เป็นการทำลาย เป็นการสร้างศัตรูมากกว่าการที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน การต่อสู้ในระดับนี้เราเริ่มเข้าใจคู่ต่อสู้หรือศัตรูของเรามากขึ้น เราเลือกที่จะ “ไม่โจมตีก่อน” แต่เราจะยังคงป้องกันตัวเอง แต่ในระดับนี้บางครั้งการป้องกันตัวเองของเราก็ไปทำร้ายคู่ต่อสู้ของเราถึงแก่ชีวิต โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพราะเรายังควบคุมพลังงานของเราได้ไม่ดีเพียงพอ
ระดับที่สี่ เป็นระดับของ “การก่อเกิดตัวตนใหม่” ของเรา (Regenerating)
ในระดับนี้เรากับเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน การต่อสู้ในระดับนี้ เราจะเป็นฝ่ายเฝ้าดู สังเกต ตั้งรับ เราจะไม่เป็นฝ่ายโจมตีคู่ต่อสู้ของเราก่อน ในไอคิโดมีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ก็คือ “Protect the attacker” คือเราจะปกป้องดูแลผู้ที่มาโจมตีเราไม่ให้เขาบาดเจ็บได้อย่างไร
และนี่คือจริยธรรมระดับลึกที่สุดของศิลปะการต่อสู้
การต่อสู้ในระดับที่สี่ “มีความเป็นไปได้” ที่จะเกิดขึ้น และได้เกิดขึ้นแล้ว ในศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไอคิโด คาราเต้ ไท้ฉีฉวน หรือแม้แต่มวยไทยของเรา ผู้โจมตีจะถูกปลดอาวุธโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ
ถึงตรงนี้ ผมอยากจะให้เราลองย้อนมาดูตัวเรานะครับ ความเป็นจริงมีอยู่ว่า “ความขัดแย้ง” เกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตมนุษย์ ในทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ไม่สถานที่ใดก็สถานที่หนึ่ง
เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่มีความขัดแย้งในชีวิตนี้
แต่คำถามก็คือ “เราเลือกที่จะ ‘จัดการดูแลความขัดแย้ง’ เหล่านั้นอย่างไร?”
“เราใช้ระดับไหนของศิลปะการต่อสู้ในการจัดการดูแลความขัดแย้งเหล่านั้น?”
มนุษย์ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างทุกเรื่องในระดับที่หนึ่งและสอง แต่ความเข้าใจเรื่อง “สี่ระดับ” แบบนี้จะช่วยทำให้มองเห็นว่า “เรายังมีหนทาง” และ “เรายังมีทางเลือก” ที่จะใช้ “ระดับการแก้ไขปัญหา” ที่ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิม
“การฟังสี่ระดับ” ที่เคยเขียนไปแล้วก็น่าจะพอทำให้เห็นภาพว่า แค่เรื่องง่ายๆ อย่างการฟัง คนส่วนใหญ่ก็ยังใช้ระดับที่หนึ่งและระดับที่สองอยู่ โดยรวมๆ ก็คือ “ยังไม่ฟังกันจริงๆ ด้วยหัวใจ”
เรื่องที่เขียนนี้ ผมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องอุดมคติ
เป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ สามารถปฏิบัติได้จริง ถ้า “เรามองเห็น” และ “เราเลือก” ผมเชื่อว่าไม่เคยมี “เหยื่อของสถานการณ์” นะครับ มีแต่ว่าเราเลือกที่จะเป็นอย่างนั้นเท่านั้นจริงๆ ต่างหาก