โดย
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2559
ภควัทคีตา เป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ชาวฮินดูรักที่สุด การสนทนาระหว่างอรชุนกับพระกฤษณะก่อนมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรจะเริ่มขึ้นนั้น มีความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณที่เป็นดั่งกุญแจไขไปสู่การวิวัฒน์ของจิต เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแผนที่ให้แก่ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณทั่วโลก
ภควัทคีตา เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งอาจจะเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก อาจารย์เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย) อธิบายถึงนัยของมหากาพย์ไว้ในหนังสือ
ลิงจอมโจก ว่า “เป็นการนำเรื่องจริงในประวัติศาสตร์มาห่อหุ้มใหม่พร้อมกับดัดแปลงตัวละครให้เป็นคุณค่าทางศีลธรรมหรือโลกุตรธรรม เหล่าวีรบุรุษในมหากาพย์ถูกปัดความเป็นคนออกไปสิ้น เหลือแต่ความเป็นทิพยลักษณะ (Divinity) สำหรับฮินดูธรรม และเป็นคุณธรรม หรือบารมีสำหรับพุทธธรรม”
ดังนั้น การจะอ่านเรื่องราวเหล่านี้ให้เข้าถึงสัญลักษณ์ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ จึงต้องอาศัยความกระจ่างทางจิตวิญญาณ ผนวกกับความแตกฉานในภาษาที่มหากาพย์ใช้ซ่อนความหมายต่างๆ ไว้ อรรถาธิบายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้เริ่มต้น หนังสือ
The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในอรรถาธิบายภควัทคีตาชิ้นเอกของโลก เป็นเรื่องน่ายินดีที่
โยคะแห่งภควัทคีตา หนังสือฉบับย่อของ
The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยแล้วด้วยความงดงามยิ่ง
ท่านปรมหังสา โยคานันทะ (ค.ศ.๑๘๙๓-๑๙๕๒) เป็นบุคคลสำคัญที่นำโยคะ-ศาสตร์แห่งจิตวิญญาณอันเก่าแก่ของอินเดียไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก โยคะตามวิถีดั้งเดิมที่ท่านสอนมิใช่แค่เพียงการฝึกกายหรืออาสนะเท่านั้น หากแต่เป็นหนทางการพัฒนาจิตไปสู่การหลุดพ้นจากพันธนาการของสังสารวัฏ เป็นหนทางสากลที่ผู้แสวงหาไม่ว่าศาสนาใดก็ฝึกได้ หนังสือ
อัตชีวประวัติของโยคี ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตตามวิถีแห่งโยคะของท่าน ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือคลาสสิกทางจิตวิญญาณเล่มหนึ่งของโลก มีการแปลไปแล้ว ๔๐ กว่าภาษา ตีพิมพ์ไปแล้วกว่า ๔ ล้านเล่ม ท่านนำเสนอโยคะศาสตร์ มรดกอันสืบทอดมาแต่โบราณให้คนยุคใหม่เข้าใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเข้าถึงได้