โยคะแห่งภควัทคีตา



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2559

ภควัทคีตา เป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ชาวฮินดูรักที่สุด การสนทนาระหว่างอรชุนกับพระกฤษณะก่อนมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรจะเริ่มขึ้นนั้น มีความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณที่เป็นดั่งกุญแจไขไปสู่การวิวัฒน์ของจิต เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแผนที่ให้แก่ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณทั่วโลก

ภควัทคีตา เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งอาจจะเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก อาจารย์เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย) อธิบายถึงนัยของมหากาพย์ไว้ในหนังสือ ลิงจอมโจก ว่า “เป็นการนำเรื่องจริงในประวัติศาสตร์มาห่อหุ้มใหม่พร้อมกับดัดแปลงตัวละครให้เป็นคุณค่าทางศีลธรรมหรือโลกุตรธรรม เหล่าวีรบุรุษในมหากาพย์ถูกปัดความเป็นคนออกไปสิ้น เหลือแต่ความเป็นทิพยลักษณะ (Divinity) สำหรับฮินดูธรรม และเป็นคุณธรรม หรือบารมีสำหรับพุทธธรรม”

ดังนั้น การจะอ่านเรื่องราวเหล่านี้ให้เข้าถึงสัญลักษณ์ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ จึงต้องอาศัยความกระจ่างทางจิตวิญญาณ ผนวกกับความแตกฉานในภาษาที่มหากาพย์ใช้ซ่อนความหมายต่างๆ ไว้ อรรถาธิบายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้เริ่มต้น หนังสือ The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในอรรถาธิบายภควัทคีตาชิ้นเอกของโลก เป็นเรื่องน่ายินดีที่ โยคะแห่งภควัทคีตา หนังสือฉบับย่อของ The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยแล้วด้วยความงดงามยิ่ง

ท่านปรมหังสา โยคานันทะ (ค.ศ.๑๘๙๓-๑๙๕๒) เป็นบุคคลสำคัญที่นำโยคะ-ศาสตร์แห่งจิตวิญญาณอันเก่าแก่ของอินเดียไปเผยแพร่ในโลกตะวันตก โยคะตามวิถีดั้งเดิมที่ท่านสอนมิใช่แค่เพียงการฝึกกายหรืออาสนะเท่านั้น หากแต่เป็นหนทางการพัฒนาจิตไปสู่การหลุดพ้นจากพันธนาการของสังสารวัฏ เป็นหนทางสากลที่ผู้แสวงหาไม่ว่าศาสนาใดก็ฝึกได้ หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตตามวิถีแห่งโยคะของท่าน ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือคลาสสิกทางจิตวิญญาณเล่มหนึ่งของโลก มีการแปลไปแล้ว ๔๐ กว่าภาษา ตีพิมพ์ไปแล้วกว่า ๔ ล้านเล่ม ท่านนำเสนอโยคะศาสตร์ มรดกอันสืบทอดมาแต่โบราณให้คนยุคใหม่เข้าใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเข้าถึงได้

โยคะแห่งภควัทคีตา ผลงานชิ้นเยี่ยมอีกเล่มของท่าน ได้ให้ความกระจ่างถึงศาสตร์แห่งโยคะที่ปรากฏในคีตา นี่ไม่ใช่งานเขียนเชิงวิชาการที่มาจากการคิดวิเคราะห์ ท่านโยคานันทะกล่าวว่า การจะเข้าใจพระคัมภีร์ต้องอาศัยการใช้สหัชญาณมากะเทาะเปลือกหุ้มภาษาและความคลุมเครือ ดังนั้น อาจารย์ของท่านคือ สวามี ศรียุกเตศวร จะไม่ยอมให้ท่านอ่านภควัทคีตา เพียงเพราะสนใจในทฤษฎี หากต้องให้ท่านบำเพ็ญสมาธิภาวนาถึงสัจจะในพระคัมภีร์จนเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น แล้วท่านศรียุกเตศวรจึงจะสนทนาเรื่องดังกล่าวด้วย ด้วยวิธีเช่นนี้ ท่านโยคานันทะจึงเข้าถึงกุญแจที่เผยความเร้นลับของคีตา

ตัวอย่างความเร้นลับที่ท่านโยคานันทะไขให้เห็นแจ้งในหนังสือเล่มนี้ก็เช่น คำว่า “กุรุเกษตร” ซึ่งตามท้องเรื่องแล้วคือสนามรบของกองกำลังฝ่ายปานฑพและเการพ กุรุ มีรากศัพท์มาจากคำว่า “กริ” หมายความถึง “การงาน การกระทำทางวัตถุ” ส่วนเกษตรนั้นแปลว่า “ทุ่ง” “ทุ่งแห่งการกระทำ” นี้ก็คือกายมนุษย์นั่นเอง มหาสงครามในทุ่งนี้ก็คือสงครามภายในมนุษย์ ระหว่างวิญญาณฝ่ายพุทธิปัญญา แทนด้วยฝ่ายปาณฑพ กับจิตมืดบอดแห่งการกระทำโง่หลงที่ขาดการควบคุม แทนด้วยวงศ์เการพ หรือบุตรของธฤตราษฎร์จักษุบอด

ชื่อบุตรทั้งห้าของปาณฑุ ตัวละครสำคัญในท้องเรื่อง ล้วนแล้วแต่ซ่อนความหมายของผู้ฝึกปฏิบัติที่ปรับสมาธิเข้ากับจักระทั้งห้า ท่านโยคานันทะไขปริศนาของชื่อเหล่านี้ไว้ว่า

สหเทพ คือการยับยั้งระวังตน อำนาจที่จะอยู่ห่างจากความชั่ว สัมพันธ์กับการสั่นสะเทือนของดินในจักระก้นกบ หรือมูลธารจักระ

นกุล คือการยึดมั่น อำนาจที่จะปฏิบัติตามระเบียบที่ดี สัมพันธ์กับการสั่นสะเทือนของน้ำในจักระกระเบนเหน็บ หรือสวาธิษฐานจักระ

อรชุน ตัวเอกของเรื่อง คือการควบคุมตน สัมพันธ์กับการสั่นสะเทือนของไฟในจักระบั้นเอว หรือ มณีปุระ ทำไมคัมภีร์จึงให้อรชุนเป็นนักรบผู้เก่งกล้าสามารถที่สุดในกองทัพฝ่ายปาณฑพ ท่านโยคานันทะอธิบายว่า นี่คือจุดหักเหของผู้ฝึกสมาธิที่ละจากวัตถุมาสู่จิตวิญญาณ ตามวิสัยของมนุษย์ที่ปราศจากการฝึกฝน ชีวิตและจิตจะไหลลงล่างสู่กายจิตฝ่ายผัสสะและวัตถุ ผ่านจักระบั้นเอวลงไปถึงจักกระเบนเหน็บและจักระก้นกบ แต่การทำสมาธิจะทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติถอนตัวจากแรงดึงดูดของวัตถุ ขึ้นสู่จักระที่สูงกว่า อำนาจอันร้อนแรงของจักระบั้นเอวก็จะถอนความสนใจจากวัตถุ มุ่งผดุงการงานแห่งจิตวิญญาณด้วยอำนาจของจักระที่สูงขึ้นไป

อรชุนเป็นตัวแทนของการควบคุมตนในจักระบั้นเอว ปลุกไฟสมาธิและขันติแห่งวิญญาณ เมื่อตัดสินใจแน่วแน่แล้ว เขาถอนชีวิตและจิตที่กำลังไหลลงสู่จักระเบื้องล่างให้กลับสู่จักระด้านบน ทำให้ผู้ฝึกตนมีกำลังกายและจิตที่จะปฏิบัติสมาธิขั้นลึกต่อไป ถ้าขาดการควบคุมตนและไฟนี้แล้ว ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณจะไม่อาจเป็นไปได้เลย

ภีมะ คือพลังของความมีชีวิตชีวา ที่ควบคุมวิญญาณ สัมพันธ์กับการสั่นสะเทือนของลมในจักระลำตัว หรืออนาหตจักระ อำนาจของจักระนี้ช่วยให้ผู้ฝึกปฏิบัติใช้เทคนิคปราณยามะ เพื่อทำให้ลมหายใจสงบ ควบคุมจิตผัสสะได้

ยุธิษเฐียร คือความสงบแห่งสวรรค์ สัมพันธ์กับแรงสั่นสะเทือนของอากาศธาตุที่จักระคอหรือวิสุทธิจักระ ยุธิษเฐียร คือพี่คนโตของพี่น้องปาณฑพ เขาเหมาะที่จะเป็นราชาแห่งปัญญาทั้งปวง เพราะหากจิตกระเพื่อมแล้ว การรับรู้จะบิดเบือนไป แต่ความสงบคือการเห็นที่กระจ่างชัด เป็นสหัชญาณโดยตัวมันเอง

ส่วนพระกฤษณะนั้น เป็นตัวแทนขององค์พระเป็นเจ้า สัมพันธ์กับจักระท้ายสมองและจักระบัวพันกลีบ ที่ส่วนบนของสมองใหญ่ การที่พระกฤษณะสนทนากับอรชุนก็คือการที่ทิพยปัญญามาชี้นำอัตตาฝ่ายต่ำที่หลงทางในวังวนของจิตผัสสะ ให้รู้วิธีที่จะยกตนให้สอดคล้องกับความจริงนิรันดร์ ทำหน้าที่ที่พระเจ้าประทานมาให้สำเร็จผล

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกุญแจสู่คีตาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ แม้จะเป็นฉบับย่อ โยคะแห่งภควัทคีตา ยังมีกุญแจล้ำค่าอีกมากมายที่ท่านโยคานันทะได้มอบให้กับผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณ ส่วนอรรถกถาฉบับเต็ม The Bhagavad Gita: God Talks with Arjuna คงจะปรากฏสู่สายตาผู้อ่านชาวไทยในไม่ช้า

ไม่ว่าท่านจะแสวงหาทิพยลักษณะตามฮินดูธรรม คุณธรรมและบารมีตามพุทธธรรม หรือการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในคริสตธรรม ท่านสามารถใช้หนังสือเล่มนี้เป็นดั่งแผนที่เดินไปบนหนทางสู่ชัยชนะทางจิตวิญญาณได้

Back to Top