โดย
ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2559
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก NextGEN Korea กลุ่มคนหนุ่มสาวของเกาหลีซึ่งอยู่ในเครือข่ายชุมชนนิเวศโลก (Global Ecovillage Network) ให้ไปจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในโลกปัจจุบัน เป็นการเรียนรู้ชุดแรกของโครงการการศึกษาเพื่อออกแบบชุมชนนิเวศ (Ecovillage Design Education) ซึ่งมีทั้งหมด ๔ ชุด เขาใช้ชุดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ๖ วันเป็นชุดเปิดโครงการ
คนที่มาเรียนมีตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงคนทำงานวัยกลางคน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบต้นๆ เต็มไปด้วยกำลังวังชา จบมหาวิทยาลัยแล้วทำงานในกระแสหลักมาระยะหนึ่ง แต่ไม่เห็นว่าจะช่วยให้ชีวิตมีความหมายลึกซึ้งได้ หลายคนจึงออกเดินทาง โดยไปเยี่ยมชุมชนนิเวศ (Ecovillage) ต่างๆ ทั่วโลก แล้วกลับมาตั้งขบวนการในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
คนที่มารับผมจากสนามบินอายุเพียง ๒๔ ปี มีชื่อเล่นว่า แฮรี (Haeri) คล้ายชื่อผู้ชาย แต่เขียนคนละแบบ เธอเดินทางตะเวนชุมชนนิเวศในยุโรปมาแล้ว ๑ ปีก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอเป็นสมาชิกและทำงานให้กับพรรคเขียว (Green Party) ของเกาหลี ทำหน้าที่ให้การศึกษาและหาสมาชิกพรรค เราได้คุยกันระหว่างนั่งรถเมล์หลายชั่วโมงกว่าจะถึงที่จัดอบรม
เธอเป็นผู้เข้าเรียนคนหนึ่ง ผมถามว่าเธอมาเรียนทำไม เธอบอกว่าเธอต้องการเชื่อมโยงพรรคเขียวกับขบวนการจัดตั้งชุมชนระดับรากหญ้า พรรคเธอลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อคราวที่แล้วเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภา แต่การทำงานของพรรคก็ยังเข้มแข็ง เธอบอกว่าพรรคหวังผลระยะยาว คือก้าวขึ้นมาเป็นพรรคหลักในสังคมเกาหลีสำหรับคนรุ่นต่อไป แทนที่พรรคเก่าสองพรรคใหญ่ในปัจจุบันที่หมดความหมายสำหรับสังคมเกาหลีในอนาคตเสียแล้ว เพราะได้แต่แย่งอำนาจกันไปมา และไม่มีอุดมการณ์เป็นเรื่องเป็นราว นอกจากปล่อยให้ทุนใหญ่ครอบงำการเมือง และดำเนินนโยบายเพื่อทุนใหญ่เป็นหลัก ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างออกตลอดเวลา และสิ่งแวะล้อมต่างๆ ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
ผมถามว่าพรรคหาทุนอย่างไร เธอตอบว่ารณรงค์รับบริจาคจากสาธารณะ (Crowd Funding) โดยไม่ยอมรับบริจาคเงินรายใหญ่จากธุรกิจเลย พรรคพร้อมจะโตไปอย่างช้าๆ จากการสนับสนุนของประชาชน เพราะคนหนุ่มสาวเกาหลีในปัจจุบันไม่มีความหวังอะไรต่ออนาคตของตน อุตสาหกรรมต่างๆ ใช้เครื่องจักรมากขึ้น ใช้คนน้อยลง คนจบมหาวิทยาลัยแล้วตกงานมากขึ้น ความหวังว่าจะมีงานทำมั่นคงเหมือนคนรุ่นพ่อแม่นั้นหมดไปแล้ว คนรุ่นเธอแม้แต่จะคิดสร้างครอบครัวและแต่งงานยังแทบจะทำไม่ได้
แม้จะอายุเพียง ๒๔ ปีแต่เธอมีความรู้เรื่องสังคมการเมืองเกาหลีคมคาย ถึงจะบอกผมว่าตนเองเป็นคนขี้อาย แต่เธอกลับตอบคำถามยากๆ ได้อย่างฉาดฉาน
สถานที่ฝึกอบรมชื่อโรงเรียนคานธี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา เรากินข้าวที่โรงอาหารทุกมื้อ ได้กินอาหารธรรมดาๆ ที่แสนอร่อยของเกาหลี ผิดกับการมาเกาหลีครั้งก่อนๆ ของผมที่อยู่ในโรงแรมหรู อาหารฟู่ฟ่า เลือกกินจนเบื่อ แต่ที่นี่อาหารพอดีๆ ระหว่างที่เราอบรม โรงเรียนปิดเทอมพอดี มีคนกลุ่มอื่นๆ มาใช้โรงเรียนเป็นที่พักแรมด้วย เพราะโรงเรียนอยู่ในหุบเขา บรรยากาศดีมาก
อดีตครูคนหนึ่งลาออกมาทำงานกับคนหนุ่มสาวที่เชิญผมไปในครั้งนี้ เธอชื่อบุปผา ผมถามว่าทำไมโรงเรียนถึงใช้ชื่อนี้ และต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างไร เธอบอกว่าโรงเรียนต้องการสร้างคนเปลี่ยนโลก (change makers) สอนเรื่องปัจจัยพื้นฐานของชีวิตเป็นหลัก ทำเอาผมหูผึ่ง เธอเลยนัดให้คุยกับครูใหญ่ของโรงเรียนตอนมื้อกลางวันวันหนึ่ง นับว่าเป็นโรงเรียนที่น่าสนใจมาก
การเรียนการสอนในระดับมัธยมต้น ๓ ปีแรกเป็นระยะเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนทั่วไปให้ค่อยๆ มาสู่โรงเรียนคานธี ยังเป็นการเรียนแบบเก่าแบบใหม่ผสมผสานกัน พอถึงระดับมัธยมปลายอีก ๓ ปี จึงเรียนแบบโรงเรียนคานธีเต็มที่ คือ เรียน ๖ วิชา วิชาละครึ่งปีโดยประมาณ ได้แก่
หนึ่ง คือ วิชาจาริกแสวงบุญ ห้ามใช้พาหนะใดๆ ทั้งสิ้น ให้เดินด้วยเท้าเท่านั้น
สอง คือ วิชาฝึกงานอาชีพ ๑ ไปอยู่กับห้างร้านหรือบริษัทที่เขาทำอาชีพนั้นๆ เลย
สาม คือ ฝึกงานอาชีพ ๒ เช่นเดียวกัน
สี่ คือ วิชาสร้างบ้าน
ห้า คือ วิชาเกษตรกรรมยั่งยืน
หก คือ วิชาเขียนเรียงความ เป็นวิชาสุดท้ายก่อนจบ
แต่เด็กจะไม่เลือกเรียนทั้ง ๖ วิชาก็ได้ ให้คิดวิชาของตัวเองแล้วเรียนอย่างจริงจัง เช่น มีเด็กคนหนึ่งเลือกเรียนวิชาช่างศร พอเรียนจบแล้วเขามีฝีมือเป็นช่างศรระดับสองของประเทศ และถ้านักเรียนต้องการเรียนมหาวิทยาลัยทั่วไป ก็ต้องเตรียมตัวสอบอีกปีหนึ่งต่างหากออกไป
ในระดับมัธยมปลาย มีนักเรียน ๖๐ คน ครู ๑๒ คน ผมถามว่าค่าเรียนคงแพงมากเพราะอัตราครูต่อนักเรียนใกล้เคียงกันขนาดนี้ เขาบอกว่า เปล่า ค่าเล่าเรียนไม่แพงนัก เพราะครูรับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียวของครูทั่วไป
โรงเรียนแบบนี้มี ๓ แห่ง อยู่ในเครือข่ายโรงเรียนทางเลือกที่มีประมาณ ๖๐ แห่งทั่วประเทศ ครูใหญ่ได้ยินเรื่องโรงเรียนหมู่บ้านเด็กในประเทศไทยด้วย แต่ไม่เคยไปเยี่ยม
ล่ามที่แปลให้ผมมีสองคน ทำงานคู่กัน สลับกันไปมา ทั้งสองคนเป็นสมาชิกของชุมชนนิเวศสองแห่งในเกาหลี คนหนึ่งอยู่ในชุมชนสร้างใหม่ อีกคนอยู่ในชุมชนดั้งเดิมที่ช่วยกันปรับเปลี่ยนให้เป็นชุมชนนิเวศ คนแรกชื่อแคธาลีน คนหลังชื่อแอ๊กนัส
ชุมชนของแคธาลีนก่อตั้งโดยอาจารย์หญิงของเธอ ถือหลักปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบปลุกจุดตันเถียนในร่างกาย เป็นการรื้อฟื้นการภาวนาแบบเก่าแก่ของเกาหลี สมาชิกมาร่วมกันตั้งชุมชนเพราะทุกคนสนใจเรื่องภาวนาตามแบบที่ครูสอนมา โดยภาวนาไม่น้อยกว่าวันละ ๒ ชั่วโมง และถ้าจะให้ดี ต้องภาวนาวันละ ๔ ชั่วโมง
สังเกตได้ว่า เธอมีลักษณะมั่นคงจากภายในมาก มีสติในชีวิตประจำวันอย่างสง่างาม แต่ไม่อวดเคร่ง ถ้าไม่ถามก็ไม่พูดเรื่องต่างๆ ที่เล่ามาแล้ว หลักสำคัญที่เธอถือติดตัวตามที่ครูสอนมาคือ ต้องพึ่งตนเองได้ทั้งสามด้าน ได้แก่ ต้องสุขภาพดี พึ่งตนเองได้ด้านสุขภาพ ต้องมีงานการหาเลี้ยงชีพได้ ไม่พึ่งพาใครทางเศรษฐกิจ และสุดท้าย ต้องเข้มแข็งพึ่งตัวเองได้ทางจิตใจ ไม่ว่าจะแต่งงานหรือเป็นโสด
ชีวิตคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ล้วนน่าสนใจ มีโอกาสคงได้เขียนมาเล่าสู่กันฟังอีก หลังจากกลับมาเมืองไทยแล้ว ข้อคิดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมคือ ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนกลุ่มนี้ รวมทั้งคนแบบครูใหญ่โรงเรียนคานธีด้วย และทำให้นึกถึงคนกลุ่มคล้ายๆ กันนี้ในประเทศอื่นๆ ที่เคยชวนผมไปจัดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นพม่า จีน ลาว และชาวยุโรปเมื่อผมไปสอนที่ชุมชนฟินด์ฮอร์นแถบเหนือของสกอตแลนด์
คนเหล่านี้มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เห็นวิกฤติที่กำลังคุกคามสังคมมนุษย์อย่างรุนแรง เริ่มจากถิ่นที่อยู่ของตนเอง สอง ไม่เห็นว่ารัฐบาลหรือธุรกิจขนาดใหญ่จะให้คำตอบหรือแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้ ไม่ว่ารัฐบาลประเภทไหนๆ ในโลกหรือมูลนิธิของนักธุรกิจขนาดใหญ่แค่ไหน ต่างเห็นว่าคนเล็กคนน้อย ชาวบ้านร้านตลาดต้องลงมือช่วยตนเอง และช่วยกันและกัน
หรือคำตอบสำหรับอนาคต ด้านหนึ่งจะอยู่ที่การโยงใยระหว่างกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเหล่านี้ แบบกระจายอำนาจ ทุกกลุ่มเป็นตัวของตัวเอง และพึ่งพากันและกัน บางทีการคิดแก้ปัญหาโดยมองไปที่รัฐประชาชาติอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้วกระมัง รัฐอาจเล็กเกินไปที่จะแก้ปัญหาระดับนานาชาติที่กำลังร้ายแรงขึ้นทุกที และรัฐอาจจะใหญ่เกินไปสำหรับแก้ปัญหาของชุมชนและปัจเจกบุคคล เราอาจจะรอรัฐไม่ได้เสียแล้ว
แสดงความคิดเห็น