โดย
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2559
ปรากฏการณ์ที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงานในไทย เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจและได้รับการศึกษามากขึ้น ล่าสุดปลายเดือนสิงหาคม 2559 มีการเปิดเผยผลสำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าแรงงานข้ามชาติกำลังก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยเป็นเจ้าของร้านกิจการทั้งในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ตลาดสด และตลาดชุมชน
1
บทบาททางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติ ถ้ามองด้วยกรอบของรัฐชาติ อาจนำไปสู่ความวิตกกังวล แต่ถ้าพิจารณาจากโครงสร้างกำลังแรงงาน จะพบว่าสังคมไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน คาดการณ์ว่า “ถึงอย่างไรยังจำเป็นต้องใช้แรงงานเหล่านี้ ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร แปรรูปสัตว์น้ำอยู่ เพราะความสามารถของเทคโนโลยีอนาคตยังยากต่องานเฉพาะประเภทนี้ เช่น เครื่องจักรคงไม่สามารถแกะกุ้งได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผลเสียอะไร เพราะคนกลุ่มนี้เข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาด รวมถึงนำเงินมาจับจ่ายซื้อของ ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการหมุนเวียนดีขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการติดต่อซื้อสินค้ากันมากขึ้นด้วย”
2
เมื่อแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับคนในสังคมไทย ความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันจะเป็นอย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ ผู้เขียนอยากชวนให้คิดถึงประเด็นคำถามเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจแรงงานข้ามชาติในอีกแง่มุมหนึ่ง
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการอยู่ร่วมกันของแรงงานข้ามชาติและคนในชุมชนบ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งดำเนินกระบวนการโดย สุรชัย รักษาชาติ และทีมอรุณอินบางกอก
3 บ้องตี้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนที่อยู่ในชุมชนประกอบไปด้วยชาวไทย ชาวเมียนมา ชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง และชาวไทยเชื้อสายปากีสถาน มีภาษาในพื้นที่ 12 ภาษา มีความเชื่อดั้งเดิมและนับถือศาสนาหลัก 3 ศาสนา คือ คริสต์ พุทธ อิสลาม ในเวทีแลกเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้นำชุมชน 2. ผู้นำทางศาสนา 3. ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งส่วนมากทำงานในภาคเกษตรกรรม ประเด็นหลักในการพูดคุย คือ หัวใจของการอยู่ร่วมกัน อุปสรรคของการอยู่ร่วมกัน และแนวทางร่วมสร้างสังคมคุณธรรม จากการพูดคุยพบว่า ต้นทุนสำคัญที่ทำให้ผู้คนที่บ้องตี้อยู่ร่วมกันได้ คือเงื่อนไขของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ของเครือญาติที่เดินทางข้ามพรมแดนรัฐชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้เส้นแบ่งของแรงงานข้ามชาติและคนในพื้นที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับในชุมชนมีกระบวนการเชื่อมความสัมพันธ์คนกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมพัฒนาชุมชน กิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมตามปฏิทินของภาครัฐ เช่น วันเด็ก วันสงกรานต์ รวมไปถึงกิจกรรมตามปฏิทินทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น งานปีใหม่กะเหรี่ยง
หลังจากนั้น สุรชัยมาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของบ้องตี้อีกครั้งที่เวที “ล้อมวงคุยจิตอาสาในอาเซียน” ในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ 8 วันที่ 1 กันยายน 2559 ซึ่งเวทีเดียวกันนี้ สมพงษ์ สระแก้ว จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในประเด็นแรงงานข้ามชาติ ทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย โดยเล่าถึงการทำงานว่า เริ่มจากกลุ่มคนทำงานอาสา และปัจจุบันทางมูลนิธิได้ใช้ระบบการจัดการอาสาสมัครขับเคลื่อนงาน เช่น การจัดค่าย I need care เปิดรับสมัครอาสาสมัครมาสอนหนังสือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งพบว่ามีอาสาสมัครสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ค่าย I need care จัดต่อเนื่องทุกปีติดต่อกันมา 11 ครั้ง ล่าสุดมีการจัดค่ายเด็ก Border of Love: Border to Sea ที่โรงเรียนหม่องสะเทอ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเปิดรับอาสาสมัครจากกรุงเทพฯ ไปร่วมจัดกิจรรม รวมทั้งเปิดรับอาสาสมัครที่เป็นแรงงานข้ามชาติมาร่วมงานกับมูลนิธิ ซึ่งกลุ่มที่เข้ามาเป็นจำนวนมากคือ แรงงานจากเมียนมา ลาว กัมพูชา
ช่วงท้ายของเวทีพูดคุย สมพงษ์เสนอให้มองความสัมพันธ์ของแรงงานข้ามชาติและคนในสังคมไทยว่า “เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” และที่สำคัญต้องมองว่าแรงงานข้ามชาติมีศักยภาพ มีความรู้ติดตัว มีภูมิปัญญา และควรเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของสุรชัยว่า สังคมไทยต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม (Cultural dialogue) เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดอคติทางวัฒนธรรมให้น้อยลง
เรื่องเล่าจากเวทีแลกเปลี่ยนที่บ้องตี้ และเวที “ล้อมวงคุยจิตอาสาในอาเซียน” แสดงให้เห็นว่าสื่อกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์ของแรงงานข้ามชาติและคนในสังคมไทย คือ “จิตสำนึกของการอยู่ร่วม” ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากการตระหนักด้วยตนเอง และการจัดกระบวนการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วม
กระบวนการส่งเสริมจิตสำนึกของการอยู่ร่วม มีวิธีการที่หลากหลาย และแตกต่างกันไปตามบริบท อาจเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เช่น การจัดกิจกรรมร่วมกันของแรงงานข้ามชาติและคนในชุมชนบ้องตี้ หรือมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การสร้างระบบการจัดการอาสาสมัคร เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างแรงงานข้ามชาติและคนในสังคมไทย โดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
ถึงแม้วิธีการอาจจะแตกต่างกัน แต่จุดร่วมของกระบวนการส่งเสริมจิตสำนึกของการอยู่ร่วม อยู่ที่การยกระดับจิตของมนุษย์ให้ก้าวข้ามพรมแดนรูปแบบต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนของรัฐชาติ พรมแดนทางวัฒนธรรม และร่วมกันสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้โดยเคารพในความแตกต่างหลากหลาย
1 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: มติชน. “สำรวจพบแรงงานต่างด้าวหันมาค้าขายเป็นจำนวนมาก” http://www.matichon.co.th/news/267621.
2 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: วิรวินท์ ศรีโหมด. “มุมบวกแรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน ทดแทนส่วนขาดหนุนวงจร ศก.ไทย” โพสต์ทูเดย์. 14 กันยายน 2559. http://m.posttoday.com/analysis/report/454330?refer=http%3A%2F%2Fm.facebook.com%2F.
3 สุรชัย รักษาชาติ. (อยู่ระหว่างดำเนินการ). โครงการศึกษาวิจัยการสร้างระบบคุณธรรมร่วมของกลุ่มประชากรชาวไทยและกลุ่มประชากรผู้ใช้แรงงานจากภูมิภาคอาเซียนในบริบทสังคมเมืองและสังคมชนบทของประเทศไทย. สนับสนุนโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน).
แสดงความคิดเห็น