เมษายน 2008

การสนทนาสร้างวัฒนธรรม

โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 เมษายน 2551

เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคมที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานประชุมประจำปี (National Forum) ครั้งที่ ๙ ของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล มีหมอ พยาบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยจากทุกสารทิศ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ประมาณ ๗ พันกว่าคน ผมและคุณหมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเรียกว่า เวิร์ลด์ คาเฟ่ (World Café) เป็นครั้งแรกสำหรับงานนี้

อันว่า เวิร์ลด์ คาเฟ่ นี้ไม่ใช่ของใหม่ เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่พัฒนามาโดย ฮวนนิตา บราวน์ (Juanita Brown) และ เดวิด ไอแซคส์ (David Isaacs) แทนที่จะเป็นการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ฟังนั่งตาแป๋ว คอยจด คอยบันทึก กิจกรรม เวิร์ลด์ คาเฟ่ วางอยู่บนสมมติฐานว่า อันความรู้ที่แท้จริงนั้น แฝงซ่อนอยู่ในตัวตนของเราทุกคนนี่เอง เป็นความรู้จากการปฏิบัติจริง เจอปัญหาจริงในชีวิต ไม่ได้เป็นความรู้ตามทฤษฎี ข้อสำคัญก็คือ เมื่อไรก็ตามที่คนเราอยู่ในบริบทอันผ่อนคลาย ปราศจากความกลัว เราถึงจะเกิดแรงผลักดันที่จะแสดงออกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่าสำคัญ โดยไม่มีการออมรั้ง

ผมก็เลยขอร้องให้ทางผู้จัดพยายามสร้างบรรยากาศที่ว่านี้ขึ้น เป็นห้องไม่ใหญ่นัก เอาโต๊ะกาแฟกลมวางสลับไปมาประมาณ ๑๐ โต๊ะ ตอนแรกจะใช้ผ้าปูโต๊ะลายหมากรุก ปรากฏว่าหาไม่ได้ ทางผู้จัดก็เลยใช้ผ้าขาวม้า (ใหม่เอี่ยม ยังไม่ได้ใช)้ มาปูแทน ก็ดูดีทีเดียว แต่ละโต๊ะมีเก้าอี้รายล้อมประมาณ ๔-๕ ตัว เป็นการจำกัดวงคนสนทนา มีการเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ สร้างบรรยากาศ มีคนเสิร์ฟกาแฟและขนมเหมือนนั่งอยู่ในร้านกาแฟ และองค์ประกอบที่สำคัญอีกสองประการคือ คนสนทนา และประเด็นร้อน

เราพูดคุยกันทั้งหมด ๔ ประเด็น ใน ๔ ช่วงของวันนั้น ได้แก่ ศิลปะบำบัด (Art Therapy) สุนทรียสนทนาแก้ปัญหาได้หรือไม่ การทำให้เกิดโรงพยาบาลที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Care Hospital) และการสร้างองค์กรที่มีชีวิต (Living Organization) โดยแต่ละหัวข้อนั้น แต่ละโต๊ะจะเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันประมาณ ๒๐ นาที เสร็จแล้วจะเหลือเจ้าภาพนั่งประจำที่ ๑ คน แล้วที่เหลือก็จะกระจายไปหาโต๊ะใหม่ เพื่อสร้างกลุ่มสนทนาใหม่ในหัวข้อเดิม พร้อมทั้งจะมีประเด็นแตกแขนงเป็นโจทย์ให้ทำต่ออีกเล็กน้อย แต่ละคนจะได้สลับพูดคุยกันทั้งหมด ๓ กลุ่ม ประมาณ ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาที แล้วตัวแทนแต่ละโต๊ะก็จะมาเล่าให้กัลยาณมิตรที่พึ่งเจอะเจอเป็นครั้งแรกฟังว่าตนเองได้อะไรบ้าง

กิจกรรมที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่ปรากฏว่า ผลที่ได้จากการสนทนาแลกเปลี่ยนแบบนี้ ก่อให้เกิดคลื่นพลังความรู้ที่แปลกใหม่ขึ้นมาในทุกๆ รอบเลยทีเดียว บรรยากาศที่คนนั่งชิดติดกัน แทบจะศอกชนศอก มีโต๊ะเล็กๆ ขวาง ผ่อนคลาย ไม่เป็นงานเป็นการ ใครจะลุกไปเติมกาแฟ หยิบขนม ก็ทำได้ตลอดเวลา กลับสามารถขจัดความหวาดกลัว ความไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกไปได้เป็นอย่างดี มีน้องคนหนึ่งก่อนเข้ามาร่วมก็กล้าๆ กลัวๆ บอกว่าผมไม่เคยทำเลยนะครับ ศิลปะบำบัดอะไร แล้วจะให้มาสนทนาแลกเปลี่ยนจะทำได้หรือ ปรากฏว่าพอเข้ากลุ่ม ก็ค้นพบว่า ศิลปะ และความสุนทรีย์ รวมทั้งการเยียวยานั้น อยู่ในประสบการณ์ของทุกๆ คน น้องคนนี้ก็ได้อยู่ร่วมต่อจนจบ และขอแถมอยู่ต่อในประเด็นถัดไปอีกต่างหาก

โลกของเราในปัจจุบัน เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เต็มไปด้วยนักวิชาการผู้เก่งกล้าสามารถ มีดีกรีพ่วงห้อยตามชื่อยาวเหยียด ซึ่งก็เป็นสิ่งดี ขอเพียงแต่ไม่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อคนธรรมดาๆ ในการพูดคุยแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความขัดแย้งต่อทฤษฎีที่ผู้เชี่ยวชาญแสดงปาฐกถามา สังคมในความเป็นจริงกอปรด้วยคนทุกชั้นวรรณะ ที่อยู่อาศัยอยู่ในนิเวศเดียวกัน หายใจอากาศเดียวกัน ใช้น้ำใช้ท่า ใช้สาธารณูปโภคเดียวกัน ดังนั้น ความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ของคนทุกคนในนิเวศ จะส่งผลถึงกันหมด วัฒนธรรมที่สมบูรณ์เกิดขึ้นจากผลรวมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และไม่จำต้องเป็นอุดมคติด้วย เพราะเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

การสนทนาที่เปิดกว้าง ที่ทุกคนในวงสนทนาสนใจ ตั้งใจฟังในสิ่งที่คนอื่นๆ กำลังพูดอย่างแท้จริง จะนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจ เปิดโลกทรรศน์ และข้อสำคัญคือ เพิ่มความสามารถในการมองและรับรู้เรื่องราวในมุมมองของผู้อื่นได้ ไม่รีบด่วนตัดสิน ไม่รีบด่วนคัดค้าน ทุกครั้งที่การสนทนาเสร็จสิ้น เฉดสีแห่งความเข้าใจเรื่องราวของเราจะเปลี่ยนไป เพิ่มประกายสีสันของนิเวศรวมมากขึ้น และเมื่อนั้น จะลดความบาดหมาง ลดการขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และคนเราสามารถจะประนีประนอมได้มากขึ้นด้วย

ในโลกแห่งสันติสุขนั้น ไม่จำเป็นจะต้องประกอบด้วยคนที่คิดเห็นเหมือนกันหมดอยู่ในนิเวศเดียวกัน แต่ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจ และยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ศาสนา อุดมคติทางการเมือง ฯลฯ ความสามารถนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในยุคปัจจุบัน ที่ความคิดของคนเราเดินทางไปมาหากันด้วยความเร็วที่มากขึ้นเรื่อยๆ ความแตกต่างมีแนวโน้มจะถูกนำมาเปรียบเทียบและเทียบเคียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ

วัฒนธรรมแต่ดึกดำบรรพ์ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นมาจากวงสนทนา ที่ผู้คนตีแผ่ความในใจ กล้าพูดสิ่งที่ตนเองคิดว่าสำคัญ และเหนือไปกว่านั้นคือ มีการฟังอย่างเคารพในกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ไม่ถึงกับเสแสร้ง ปัญหาต่างๆ จึงถูกแก้ไขโดยสมุหปัญญาของผู้คนในนิเวศนั้นๆ อย่างแท้จริง วงสนทนาที่มีคุณภาพจึงเป็นรากฐานที่สำคัญ ในวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีความยืดหยุ่นปรับตัวสูง จะคงอยู่ได้ยาวนาน และมั่นคงตลอดไป

ช็อกโกแลตอารมณ์ดี



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 เมษายน 2551

คุณแม่ของผมเป็นคนมีฝีมือและชอบทำกับข้าว เมื่อก่อนครอบครัวเราเคยมีร้านอาหารซึ่งขายดีมาก ปัจจุบันแม้จะเลิกขายไปแล้วแต่คุณแม่ยังชอบทำอาหารเลี้ยงเพื่อนของลูกๆ คุณแม่เป็นคนใจกว้าง เวลามีเพื่อนๆ ของผมมาเยี่ยมมักได้ของติดไม้ติดมือกลับไปฝากที่บ้านเสมอๆ

ผมมีเพื่อนรักคนหนึ่งที่สนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เวลาเขามาเยี่ยมบ้านครั้งใด คุณแม่มักจะพิถีพิถันในการเลือกของฝากให้เป็นพิเศษ ด้วยว่านายคนนี้มีสัมผัสพิเศษ ของฝากธรรมดากินได้อร่อยดี ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นของไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งที่บ้านก็ไหว้อยู่เป็นประจำเสียด้วยแล้วละก็ เป็นได้ไม่สบาย ปวดท้อง หรือท้องเสีย ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าของอะไรไหว้แล้วหรือยังไม่ได้ไหว้บ้าง ที่น่าแปลกใจยิ่งขึ้นคือ หากว่าของนั้นเป็นของไหว้พระกลับไม่เป็นอะไรเสียนี่

พวกเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ? เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรดี?

เป็นไปได้หรือที่พิธีกรรมหรือกระบวนการทางจิตนั้นจะสามารถทำให้วัตถุมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นทางที่เราคิดว่าเป็นผลบวกหรือผลลบก็ตาม ในวัฒนธรรมท้องถิ่นในทุกทวีปทั่วโลกล้วนมีความเชื่อเหล่านี้ เช่น การเสกน้ำมนต์ ที่ดื่มแล้วหายเจ็บป่วย ให้ปลอดภัย ขับไล่ความเลวร้ายในชีวิต การเสกข้าวสาร ปังและเหล้าองุ่น

ฟังดูแล้วหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ แล้วถ้าเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวเราล่ะ เช่น กับข้าวที่แม่ของเราทำให้กินอร่อยกว่ากับข้าวตามร้านข้างนอกใช่ไหม? เป็นไปได้ไหมว่าอาหารแบบเดียวกันที่เตรียมโดยคุณแม่ของเราด้วยความรักความห่วงใยจะทำให้เราอารมณ์ดีหรือสุขภาพดีกว่าอาหารแบบเดียวกันเลย ถูกสุขอนามัยเหมือนกัน เพียงแต่ขาดส่วนผสม คือ ความรักความเมตตาจากคนปรุง?

หากเป็นไปได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรดี?

บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นเรื่องของความเชื่อเฉพาะบุคคล อาจแถมท้ายเสียด้วยซ้ำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ (ฮา) แต่ก็มีคนทำวิจัยศึกษาเรื่องทำนองนี้เอาไว้อย่างจริงจัง และใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างรัดกุมไว้แล้วครับ

งานดังกล่าวเป็นของ ดร. ดีน ราดิน แห่งสถาบันโนเอติกซายน์ส และคณะ เขาได้ตีพิมพ์งานวิจัยผลของช็อกโกแลตที่ได้รับการกระตุ้นด้วยความตั้งใจที่ดี ต่ออารมณ์ของผู้รับประทาน โดยการทดลองถูกออกแบบอย่างรัดกุม จัดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม โดยทั้งผู้ทดลองและผู้ถูกทดลองไม่ทราบว่าใครอยู่กลุ่มไหน (double-blind, randomized, placebo-controlled experiment)

อาสาสมัคร ๖๒ คนถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ทุกคนบันทึกอารมณ์ของตนเองในแต่ละวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ด้วยแบบบันทึกทางจิตวิทยาที่ได้มาตรฐาน ในวันที่สาม สี่ และห้า แต่ละคนจะได้รับประทานช็อกโกแลตคนละประมาณสิบห้ากรัม กลุ่มควบคุมได้รับช็อกโกแลตปรกติ ขณะที่กลุ่มทดลองอีกสามกลุ่มได้รับช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการหนึ่งสามแบบ คือ ก) ให้พระผู้ปฏิบัติภาวนามาอย่างยาวนาน ๒ รูปสวดแผ่ความปรารถนาดีใส่เข้าไป ข) เปิดเสียงสวดภาวนาด้วยความปรารถนาดีโดยพระ ๖ รูป อย่างต่อเนื่องตลอด ๕ วัน และ ค) ประกอบพิธีโดยพ่อหมอพื้นบ้านชาวมองโกเลีย

ผลปรากฏว่าหลังจากได้ทานช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการไป ๓ วัน อารมณ์ของอาสาสมัครดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ทานช็อกโกแลตปรกติ อาสาสมัครรายงานว่าการอ่อนเพลียน้อยลงและมีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น และช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการทั้งสามแบบล้วนให้ผลเช่นเดียวกัน

เราจะถือว่าผลการวิจัยนี้ได้ยืนยันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องอาหารไหว้เจ้าและกับข้าวฝีมือแม่ได้ไหม?

แม้ว่าอาจจะยังอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ผลการวิจัยก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการเสกหรือประกอบพิธีใส่ความตั้งใจหรือจิตที่ดีงามให้อาหารนั้นอาจมีผลมากกว่าการเป็นแค่พิธีกรรมที่เราเห็นว่างมงาย แต่สามารถวัดผลได้ด้วย

งานวิจัยนี้ทำให้นึกถึงเรื่องของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ท่านเล่าไว้เมื่อครั้งไปพูดคุยกับนักศึกษาในชั้นเรียนของผม อาจารย์เล่าว่าเมื่อครั้งยังสอนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการทดลองศึกษาพลังของความรักความเมตตา โดยปลูกต้นดาวกระจายสองแปลง แปลงหนึ่งให้นิสิตสวดภาวนา ส่งความรักความเมตตาความปรารถนาดีไปให้กับต้นไม้ ส่วนอีกแปลงปล่อยไว้ตามปรกติให้เป็นแปลงควบคุม ผลคือต้นดาวกระจายในแปลงที่ได้รับการสวดอวยพรนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด และมีดอกสวยงามทุกต้น ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีดอกเลย (อาจารย์ยังแถมท้ายอีกว่า มีต้นหนึ่งที่เหี่ยวเป็นพิเศษโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาจึงได้มีนิสิตมาสารภาพว่าได้ไปสาปแช่งต้นนั้น ทำให้ต้นไม้เฉาลง และภายหลังตนเองก็กลับป่วยด้วย)

ทั้งเรื่องต้นดาวกระจาย ของไหว้เจ้า กับข้าวฝีมือแม่ และช็อกโกแลตอารมณ์ดี ทุกเรื่องเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และทุกคนเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่บางคนอาจจะยากทำใจให้ยอมรับ หรือเป็นเพราะว่ายังไม่มีใครให้เหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้?

ศาตราจารย์ วิลเลียม เจมส์ นักจิตวิทยาและนักปรัชญาชื่อดัง ผู้บุกเบิกเรื่องจิตวิทยาของประสบการณ์ทางศาสนาและประสบการณ์ลี้ลับต่างๆ เคยเขียนไว้ว่า “ในศาสตร์ว่าด้วยจิตวิทยา สรีรวิทยา และการแพทย์นั้น เมื่อใดก็ตามที่การถกเถียงกันระหว่างผู้มีสัมผัสพิเศษ (the mystics) กับนักวิทยาศาสตร์ (the scientifics) ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอน เรามักจะพบว่าผู้มีสัมผัสพิเศษนั้นเป็นฝ่ายถูกต้องในแง่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มักจะเก่งกว่าในการใช้ทฤษฎีอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น”

อันที่จริงผลของพลังจิตหรือความตั้งใจต่อคุณสมบัติของสสารนั้นเริ่มมีการค้นพบ บันทึก และอธิบายอย่างชัดเจนมากขึ้นในการศึกษาด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิต-สสาร (Mind-Matter Interaction – MMI) ในปัจจุบันเราสามารถทดลองซ้ำได้อย่างง่ายดายเพื่อพิสูจน์ “ความพัวพันทางควอนตัม” (quantum entanglement) ว่า อนุภาคที่เคยสัมพันธ์กันยังคงส่งผลกระทบต่อกัน (เช่น เมื่อเราทำอะไรบางอย่างกับอนุภาคหนึ่ง อีกอนุภาคหนึ่งก็ได้รับผลด้วย) แม้ว่าจะอยู่ห่างจากกันไปแล้วก็ตาม โดยผลกระทบดังกล่าวก็เกิดขึ้นทันทีทันใด แสดงว่าอนุภาคทั้งสองโยงใยสัมพันธ์กัน สื่อสารรับรู้ถึงกันและกันได้ด้วยความเร็วยิ่งกว่าความเร็วของแสงเสียด้วย หรือแม้แต่ในระดับที่ใหญ่กว่าอิเล็กตรอนขึ้นมา ก็มีงานวิจัยหลายเรื่องตีพิมพ์ใน เนเจอร์ วารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อกันอย่างนี้แล้ว เป็นไปได้ไหมที่เราจะเชื่อสิ่งที่พิสูจน์ได้แล้วว่าเกิดขึ้นจริง แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

หรือว่า ... เราควรเชื่อเฉพาะในสิ่งที่เรามีทฤษฎีอธิบายการเกิดขึ้นของมันได้อย่างแน่ใจแล้วเท่านั้นหรือ?

กัลยาณมิตรประเมิน : การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ
(Amicable Evaluation)

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 เมษายน 2551

สมัยที่ผู้เขียนเรียนวิชาการประเมินผลการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ได้เรียนรู้ว่าการประเมินมีอยู่สองลักษณะใหญ่ๆ ถ้ายึดวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง คือ การประเมินเพื่อตัดสินกับการประเมินเพื่อพัฒนา และได้รับการปลูกฝังในเชิงทฤษฎีว่า การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการประเมินทางการศึกษา แต่ในภาคปฏิบัติมักพบแต่การประเมินเพื่อตัดสินที่เต็มไปด้วยความสุขความสมหวัง และความทุกข์ความสิ้นหวัง ขึ้นอยู่กับผลการประเมินที่ออกมา

ต่อมาในกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินของผู้เขียน และในฐานะวิทยากรด้านการประเมินผลการปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ ผู้เขียนก็เชื่อ สอน และปฏิบัติตามคำขวัญที่ว่า การประเมินไม่ใช่เพื่อการพิสูจน์ แต่เพื่อปรับปรุง (Evaluation is not to prove but to improve)

ต่อมาก็ประทับใจหรือ “อิน” กับ “กัลยาณมิตรประเมิน” การประเมินแนวใหม่ ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สมหวัง พิธิยานุวัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ริเริ่มและนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานระยะแรกของ สมศ.

ต่อมามีโอกาสออกไปประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ รอบ ๑๒ เดือน ยิ่งเห็นคุณค่าและความสำคัญของกัลยาณมิตรประเมิน เพราะกัลยาณมิตรประเมิน โดยปรัชญา และแนวปฏิบัติ เป็นความสัมพันธ์และเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงและถักทอความร่วมมือร่วมใจ (collaborative process) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันคุณภาพการศึกษา จึงต้องมีความละเอียดอ่อน ให้ความเคารพและนุ่มนวลต่อความเปราะบางของกันและกัน ต้องมีสติและมีสมาธิในการฟัง (deep listening) มีสติที่จะแขวนการตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถามเพื่อความเข้าใจ ขอข้อมูลและเสนอแนะแบบกัลยาณมิตร

ความแตกต่างระหว่างกัลยาณมิตรประเมินกับการประเมินเพื่อตัดสินและการประเมินเพื่อพัฒนา ที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญมีอยู่สองประการ คือตัวความคิด (ปรัชญาการประเมิน) กับ การปฏิบัติ กล่าวคือกัลยาณมิตรประเมินจะมีระดับของความเป็นองค์รวม (holism) มากกว่า (เพราะเชื่อในความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง) จึงมีและให้ความลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวมมากกว่าการประเมินเพื่อตัดสินที่เน้นการวัดและการประเมินผลผลิต (outputs) หรือผลลัพธ์ (outcomes) มากกว่ากระบวนการ (processes) ปัจจัย (inputs) บริบท (context) และความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตัวแปรทั้งหมดในภาพรวม

การประเมินเพื่อพัฒนา โดยหลักการเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรมนุษย์โดยทั่วไปโดยเฉพาะสถาบันการศึกษา แต่ในการปฏิบัติหากดำเนินไปเพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันไว้ โดยปราศจากจิตสำนึกที่จะสร้างและพัฒนาคุณภาพ ผลที่ปรากฏก็จะเป็นเพียงผลของการพยายามปฏิบัติตามข้อตกลง (เสมือนถูกบังคับให้ทำ) ทำเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ดี ทำเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ แต่ ไม่ใช่การทำด้วยใจใฝ่คุณภาพ โดยนัยนี้กัลยาณมิตรประเมินก็จะมีและให้ความลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวมมากกว่าการประเมินเพื่อพัฒนา

เพราะเชื่อในความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่ลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวมที่แปรเปลี่ยนตลอดตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง กระบวนการประเมินในแต่ละขั้นตอน ภายใต้เงื่อนไขที่เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลา งบประมาณ บุคลากร ทั้งผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน บริบทและฐานของสถานศึกษาที่แตกต่าง มีความสำคัญอย่างยิ่งที่การประเมินควรจะต้องดำเนินไปภายใต้บรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร มีความอ่อนโยน เคารพสภาพความเป็นจริง มีสุนทรียสนทนา เพราะโดยความคิดและการปฏิบัติ กัลยาณมิตรประเมินในความหมายที่ผู้เขียนกล่าวถึง มีลักษณะที่เป็นการพูดคุยปรึกษาบนฐานความจริง การยอมรับ เคารพแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นร่วมกัน

กัลยาณมิตรประเมินเป็นกระบวนการที่จงใจ และใคร่ครวญอย่างรอบคอบ (deliberate and deliberative process) บนฐานของความจริง เพี่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพที่เป็นไปได้และพึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง (possible and desirable continuous quality improvement)

กัลยาณมิตรประเมินจึงไม่ใช่กระบวนการเจรจาต่อรอง (bargaining process) หรือการโต้แย้งเพื่อเอาชนะคะคานกัน จึงไม่ต้องปกป้องตนเองด้วยการหาแพะรับบาป ด้วยการโต้แย้งหรือกล่าวโทษซึ่งกันและกัน

โดยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่ากัลยาณมิตรประเมินเป็นประโยชน์และสมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเรียนรู้และพัฒนา เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทุกประเภททุกระดับ รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ เพราะหากทำได้ดี สถาบันการศึกษา สถาบัน และองค์กรทั้งของรัฐและเอกชน ก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นสถาบันและองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอน หรือผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารทุกระดับ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมประเมิน ร่วมพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างมีความสุข

มาช่วยกันเพาะและขยายเมล็ดพันธุ์ “กัลยาณมิตรประเมิน”ให้เต็มแผ่นดินไทย แล้วแพร่ขยายไปสากล

มาช่วยกัน “สร้าง” “เสริม” และ “เติมเต็ม” อย่าง “ต่อเนื่อง” ด้วยกัลยาณมิตรประเมิน การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ การประเมินที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ การประเมินที่เกิดจากใจ ทำด้วยใจ และสุขใจที่ได้ทำ

ศักยภาพ-พลังของสำนึกร่วม

โดย ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 เมษายน 2551

ท่ามกลางวิกฤตการณ์อันซับซ้อนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ที่โยงใยถึงกันอย่างซับซ้อน ดูประหนึ่งทุกอย่างทุกปัญหาจะนำไปสู่การล่มสลายและภัยพิบัตินานาประการของเมืองไทย เอเชีย และโลกโดยรวม ยิ่งติดตามข้อมูลข่าวสารมากๆ ทั้งกว้างและลึก ก็ดูจะทำให้คนเราหวั่นไหว มีความวิตกกังวลมากขึ้นทุกที ฤาจุดจบจะมาถึงในวันข้างหน้าอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง?

แต่ทว่า เบื้องลึกในใจคนได้เกิดการก่อตัวของกระแสสำนึกร่วมใหม่ๆ หลายประการที่อาจนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ สรรพชีวิต สรรพสิ่ง หรืออย่างน้อยก็เพื่อผ่อนคลายปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ เข้าทำนอง “เมื่อมีมืด ก็มีสว่าง มีร้าย ก็มีดี”

ว่าจำเพาะสังคมไทย กระแสสำนึกร่วมเพื่อฟันฝ่าวิกฤตต่างๆ พอจะมองเห็นลีลาได้บ้างในปัจจุบัน กล่าวคือ การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑ แม้ฝ่ายนิยมชมชอบระบอบทักษิณจะได้เสียงข้างมากจนได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ฝ่ายที่ใช้สติปัญญารู้เล่ห์กลต่างๆ ของทุนนิยมเผด็จการรัฐสภา และรู้ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตเหนือวิถีประชาธิปไตยก็ขยายวงเติบโตเพื่อถ่วงดุลอย่างมีนัยสำคัญทั้งในและนอกสภา การต่อสู้กันครั้งนี้ยังไม่จบง่ายๆ คงต้องตามดูกันต่อไปว่า ระหว่างธรรมะกับอธรรม ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สำนึกที่อยากให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข มีความสุจริตยุติธรรม และมีความก้าวหน้าเป็นตัวของเราเอง ได้ “ผุดเกิด” และขยายวงกว้างขวางยิ่งขึ้นทุกขณะ

ในมิติเศรษฐกิจและสังคม ทุนนิยม (สามานย์) ใช้เล่ห์กลครองโลก ครองเมืองไทย ครองประเทศตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ดูเผินๆ คิดน้อยๆ ก็เห็นว่ากำลังเฟื่องฟู ทว่าดูให้ดี ดูให้ลึก ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ได้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นแล้ว โดยเฉพาะกับประเทศยักษ์ใหญ่ของทุนนิยม ด้วยเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ซึ่งโดยภาพรวมก็กำลังวิบัติเสื่อมโทรมตามนัยของ “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน”

ในภาวการณ์เช่นนี้ สำนึกร่วมเรื่องความสมดุล ความพอดีพองาม ในนามของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับวิถีชาวพุทธและมุสลิม และความสมดุลในธรรมชาติที่มนุษยชาติคุ้นเคยมาหลายชั่วคน ก็กำลังเจริญเติบโตในจิตใจและวัตรปฏิบัติของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเล็กคนน้อยระดับพื้นฐานที่เป็นเกษตรกรและมนุษย์เงินเดือนในเมืองที่จำเป็นต้องอยู่ให้ได้กับรายได้ที่จำกัด การผลิตและการบริโภคของคนทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าคิดเป็นทำเป็น จะพบว่าสอดคล้องกับความจำกัดของทรัพยากรที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติมีให้

ทั้งสิ้นทั้งปวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นและเติบโตได้ก็ด้วยพระปัญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ความกล้าทางจริยธรรมที่จะปลีกตัวออกมาจากอิทธิพลครอบงำของทุนนิยมเบ็ดเสร็จ แล้วหันมาเข้าใจ เข้าถึง ศักยภาพและพลังสั่งสมในถิ่นฐานบ้านเมืองของเราเอง กล่าวได้โดยรวมว่า นี่คือ สำนึกร่วมที่เหมาะสมดีงามอีกประการหนึ่งที่กำลังเจริญเติบโต

จะว่าไป สังคมอื่นๆ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ไม่มีความสุข ก็มีคนใช้ปัญญาและเข้าใจข้อจำกัดของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจ “ความไม่จำกัด” ในตัณหาความต้องการของมนุษย์ คนเหล่านี้กำลังปรับใจ ปรับตัว ปรับวิถีการผลิต และการบริโภคครั้งใหญ่ ด้วยสำนึกร่วมที่ใกล้เคียงกับที่เราชาวพุทธคิดและทำอยู่ในเวลานี้มากขึ้นทุกที ยิ่งสำรวจ ยิ่งค้นคว้า ก็ยิ่งพบมากขึ้น

ที่เป็นดังนี้ นับว่าเป็นรุ่งอรุณของสำนึกใหม่ที่ดี และเป็นไปได้ว่า ในอนาคตที่พอมองเห็น ดัชนีชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจสังคม อาจจะเปลี่ยนจาก GNP (Gross National Products) มาเป็น GNH (Gross National Happiness) ที่เคยถูกเย้ยหยันโดยนักเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจ

ถ้าสำนึกร่วมของคนจำนวนมากมีขนาดและมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะก่อตัวเป็นกลุ่มนำร่อง ความเปลี่ยนแปลง (Critical Mass) โดยไม่ต้องรอเสียงส่วนใหญ่ มนุษยชาติและโลกโดยรวมก็อาจอยู่รอดได้

เรื่องความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของสังคมก็เช่นเดียวกัน คอรัปชั่นระดับนโยบาย อาชญากรรมต่างๆ ยาเสพย์ติด อบายมุข การแพร่กระจายของสื่อลามก รวมถึงเล่ห์กลของบริษัทข้ามชาติที่เห็นแก่ตัว ล้วนเป็นเหตุให้เกิดสำนึกร่วมใหม่เพื่อต่อต้าน ปราบปรามความเสื่อมทรามต่างๆ เหล่านี้ มีการรวมตัวกันต่อรอง การปฏิบัติธรรม ดูแลสุขภาพกายใจ เล่นกีฬา ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเอาจริงเอาจังทางกฎหมายเพื่อปราบปรามคอรัปชั่นและอำนาจมืด การตื่นตัวและรวมกันทำอะไรดีๆ มากขึ้นเช่นนี้ บ่งบอกสำนึกร่วมอีกแง่หนึ่งที่ต้องการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ทางศีลธรรม จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามกันต่อไป

เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวม ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของสรรพชีวิต สรรพสิ่ง ตามนัยของหลักอิทัปปัจจยตา และการกระทำของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเสียสมดุลของธรรมชาติ ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติรุนแรงนานาประการที่กำลังมาแรง ทำให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงร่วมกันทั่วโลก

สำนึกร่วมเพื่อความอยู่รอดของโลกใบนี้ของมนุษยชาติและของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงได้รับการปลุกเร้าอย่างกว้างขวางเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์รุนแรงทางธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องใดๆ ทั้งหมด ต้องระดมปัญญาและสติอย่างมาก

สำนึกร่วมเพื่อความอยู่รอด หยั่งรากและแพร่กระจายมากแล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งจึงอยู่ที่ความกล้าทางจริยธรรมที่จะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ทางจิตวิญญาณ และการเปลี่ยนวิธีการผลิตและการบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ท้าทายความรู้ความสามารถและท้าทายจริยธรรมของมนุษย์ทั่วโลก บางที ธรรมะที่บ่มเพาะให้มนุษย์ลดความโลภลงให้อยู่ในระดับต่ำพอที่จะจัดการให้ยังชีพอยู่ได้โดยเคารพธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเรามา น่าจะมีพลังที่ช่วยได้ ถ้าสำนึกร่วมนี้มีอยู่ในใจของคนจำนวนมากที่กำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ร่วมกัน

ทั้งหมดทั้งปวงที่เลือกหยิบยกขึ้นมาสาธกในที่นี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์ทำให้เกิดปัญญาและสติ ปัญญาและสติถ้าเกิดขึ้นในใจคนจำนวนมากก็จะเป็นศักยภาพและพลังที่จะร่วมมือร่วมใจกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์ กระแสสำนึกร่วมดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะแฝงเร้น (tacit) และอย่างเปิดเผย ความสำคัญอยู่ที่ “ทราบแล้วเปลี่ยน” เปลี่ยนอะไร เปลี่ยนใจ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนระบบการผลิตและการบริโภค เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ และเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันด้วยสำนึกร่วมดังกล่าวต้นและเปลี่ยนให้ทันการณ์

เวลาไม่ค่อยท่าใคร พรุ่งนี้ก็ช้าไปแล้ว

Back to Top