มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 เมษายน 2551
สมัยที่ผู้เขียนเรียนวิชาการประเมินผลการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ได้เรียนรู้ว่าการประเมินมีอยู่สองลักษณะใหญ่ๆ ถ้ายึดวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง คือ การประเมินเพื่อตัดสินกับการประเมินเพื่อพัฒนา และได้รับการปลูกฝังในเชิงทฤษฎีว่า การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการประเมินทางการศึกษา แต่ในภาคปฏิบัติมักพบแต่การประเมินเพื่อตัดสินที่เต็มไปด้วยความสุขความสมหวัง และความทุกข์ความสิ้นหวัง ขึ้นอยู่กับผลการประเมินที่ออกมา
ต่อมาในกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินของผู้เขียน และในฐานะวิทยากรด้านการประเมินผลการปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ ผู้เขียนก็เชื่อ สอน และปฏิบัติตามคำขวัญที่ว่า การประเมินไม่ใช่เพื่อการพิสูจน์ แต่เพื่อปรับปรุง (Evaluation is not to prove but to improve)
ต่อมาก็ประทับใจหรือ “อิน” กับ “กัลยาณมิตรประเมิน” การประเมินแนวใหม่ ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สมหวัง พิธิยานุวัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ริเริ่มและนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานระยะแรกของ สมศ.
ต่อมามีโอกาสออกไปประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐ รอบ ๑๒ เดือน ยิ่งเห็นคุณค่าและความสำคัญของกัลยาณมิตรประเมิน เพราะกัลยาณมิตรประเมิน โดยปรัชญา และแนวปฏิบัติ เป็นความสัมพันธ์และเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงและถักทอความร่วมมือร่วมใจ (collaborative process) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันคุณภาพการศึกษา จึงต้องมีความละเอียดอ่อน ให้ความเคารพและนุ่มนวลต่อความเปราะบางของกันและกัน ต้องมีสติและมีสมาธิในการฟัง (deep listening) มีสติที่จะแขวนการตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถามเพื่อความเข้าใจ ขอข้อมูลและเสนอแนะแบบกัลยาณมิตร
ความแตกต่างระหว่างกัลยาณมิตรประเมินกับการประเมินเพื่อตัดสินและการประเมินเพื่อพัฒนา ที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญมีอยู่สองประการ คือตัวความคิด (ปรัชญาการประเมิน) กับ การปฏิบัติ กล่าวคือกัลยาณมิตรประเมินจะมีระดับของความเป็นองค์รวม (holism) มากกว่า (เพราะเชื่อในความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง) จึงมีและให้ความลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวมมากกว่าการประเมินเพื่อตัดสินที่เน้นการวัดและการประเมินผลผลิต (outputs) หรือผลลัพธ์ (outcomes) มากกว่ากระบวนการ (processes) ปัจจัย (inputs) บริบท (context) และความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตัวแปรทั้งหมดในภาพรวม
การประเมินเพื่อพัฒนา โดยหลักการเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรมนุษย์โดยทั่วไปโดยเฉพาะสถาบันการศึกษา แต่ในการปฏิบัติหากดำเนินไปเพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันไว้ โดยปราศจากจิตสำนึกที่จะสร้างและพัฒนาคุณภาพ ผลที่ปรากฏก็จะเป็นเพียงผลของการพยายามปฏิบัติตามข้อตกลง (เสมือนถูกบังคับให้ทำ) ทำเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ดี ทำเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ แต่ ไม่ใช่การทำด้วยใจใฝ่คุณภาพ โดยนัยนี้กัลยาณมิตรประเมินก็จะมีและให้ความลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวมมากกว่าการประเมินเพื่อพัฒนา
เพราะเชื่อในความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่ลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวมที่แปรเปลี่ยนตลอดตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง กระบวนการประเมินในแต่ละขั้นตอน ภายใต้เงื่อนไขที่เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลา งบประมาณ บุคลากร ทั้งผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน บริบทและฐานของสถานศึกษาที่แตกต่าง มีความสำคัญอย่างยิ่งที่การประเมินควรจะต้องดำเนินไปภายใต้บรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร มีความอ่อนโยน เคารพสภาพความเป็นจริง มีสุนทรียสนทนา เพราะโดยความคิดและการปฏิบัติ กัลยาณมิตรประเมินในความหมายที่ผู้เขียนกล่าวถึง มีลักษณะที่เป็นการพูดคุยปรึกษาบนฐานความจริง การยอมรับ เคารพแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นร่วมกัน
กัลยาณมิตรประเมินเป็นกระบวนการที่จงใจ และใคร่ครวญอย่างรอบคอบ (deliberate and deliberative process) บนฐานของความจริง เพี่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพที่เป็นไปได้และพึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง (possible and desirable continuous quality improvement)
กัลยาณมิตรประเมินจึงไม่ใช่กระบวนการเจรจาต่อรอง (bargaining process) หรือการโต้แย้งเพื่อเอาชนะคะคานกัน จึงไม่ต้องปกป้องตนเองด้วยการหาแพะรับบาป ด้วยการโต้แย้งหรือกล่าวโทษซึ่งกันและกัน
โดยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่ากัลยาณมิตรประเมินเป็นประโยชน์และสมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเรียนรู้และพัฒนา เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทุกประเภททุกระดับ รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ เพราะหากทำได้ดี สถาบันการศึกษา สถาบัน และองค์กรทั้งของรัฐและเอกชน ก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นสถาบันและองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอน หรือผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารทุกระดับ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมประเมิน ร่วมพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างมีความสุข
มาช่วยกันเพาะและขยายเมล็ดพันธุ์ “กัลยาณมิตรประเมิน”ให้เต็มแผ่นดินไทย แล้วแพร่ขยายไปสากล
มาช่วยกัน “สร้าง” “เสริม” และ “เติมเต็ม” อย่าง “ต่อเนื่อง” ด้วยกัลยาณมิตรประเมิน การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ การประเมินที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ การประเมินที่เกิดจากใจ ทำด้วยใจ และสุขใจที่ได้ทำ
แสดงความคิดเห็น