พฤศจิกายน 2015

COPAR: งานวิชาการที่ทำไปพร้อมกับการจัดตั้งชุมชน



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558

ช่วงเวลาหนึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์ทำงานในโครงการที่นำความรู้ทางมานุษยวิทยามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนนำความรู้ไปขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงงานที่ทำมีความแตกต่างจากชุดประสบการณ์เดิม ที่ถูกฝึกให้เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาที่เข้าไปสังเกตศึกษาเรียนรู้ชุมชนและตีความตามประสบการณ์ของตนเอง การทำงานช่วงแรกความเข้าใจที่มีต่อ “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน” จึงเป็นไปอย่างตื้นเขินจนกระทั่งผ่านไประยะหนึ่งจึงเรียนรู้ว่าเมื่อเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนการเรียนรู้ร่วมกัน สามารถเกิดขึ้นได้และมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนโดยมาตระหนักในเวลาต่อมาว่า กระบวนการทำงานนี้ที่จริงแล้วก็คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมหรือ PAR (Participatory Action Research) ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดนักวิจัย“คนใน” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนตนเอง

อย่างไรก็ตามการทำงานที่ผ่านมาผู้เขียนขาด “จิ๊กซอว์” ที่จะต่อภาพการทำงานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะสื่อสารในระดับโครงสร้างส่งผลให้โครงการไม่ได้ดำเนินงานต่อ และกลายเป็นประเด็นที่ครุ่นคิดมาตลอดว่าทำอย่างไรงานที่ใช้ความรู้เพิ่มอำนาจคนในชุมชน ถึงจะมีความยั่งยืนได้จริงจนกระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลและนายกสมาคมเพศวิถีศึกษาจึงพบว่า “จิ๊กซอว์” ที่หายไปคือกระบวนการวิจัยที่เรียกว่า “COPAR” อาจารย์สุชาดาอธิบายถึงกระบวนการวิจัยว่ามีหลายเฉดตั้งแต่ PR (Participatory Research) คือการอบรมให้ชุมชนเป็นผู้เก็บข้อมูล PAR (Participatory Action Research) คือกระบวนการฝึกคนในชุมชนให้ทำวิจัยเองและนำผลวิจัยนั้นมาแก้ปัญหาของชุมชนและ COPAR (Community Organizing Participatory Action Research) คือการใช้กระบวนการ PAR เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งชุมชนด้วยการปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนในชุมชน

อ่านต่อ »

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๒



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558

ประสบการณ์การนำแนวคิดและแนวปฏิบัติ “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” ไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ในปีที่สองของผม มีความสนุก ท้าทาย และยากมากขึ้น เพราะความแปลกแยกลดลง ความสนิทสนมระหว่างทีมประเมินกับทีมพัฒนาเพิ่มขึ้น ทีมประเมินจึงต้องหาความสมดุลระหว่างการเป็นผู้ประเมินกับความเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ผมต้องคอยเตือนตนเอง บอกทีมประเมิน ทีมพัฒนา และทีมกรมชลฯ เป็นระยะๆ ว่า ถึงแม้เรามีเป้าหมายร่วมกัน แต่บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเฉพาะของเราแตกต่างกันออกไป เปรียบเสมือน “กล้วยเครือเดียวกัน แต่คนละหวี”

ที่ยากและท้าทายมากกว่านั้นคือ เรายังไม่พบว่าทีมพัฒนาได้นำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับวิทยากรกระบวนการชุมชน (FA ชุมชน) และประชาชนในพื้นที่ ทั้งในปีแรกและในช่วงแรกของปีที่สอง ทั้งที่ในทางปฏิบัติผมได้ทำกระบวนการจิตตปัญญากับทีมพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ มีการพูดคุยประเด็นนี้ในการประชุมร่วมสามฝ่าย นำไปสู่การตกลงร่วมกันว่าให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างเป็นทางการให้กับทีมทำงานทั้งสามฝ่ายโดยมีผมเป็นวิทยากรกระบวนการ และหวังว่าจะมีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับ FA ชุมชน และ FA ชุมชนนำไปใช้กับประชาชนในพื้นที่

เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่สอง ทีมพัฒนาได้เริ่มนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเน้นความสำคัญของการฟังในกระบวนการปรึกษาหารือและการทำงานร่วมกัน และการสะท้อนการเรียนรู้ หรือ AAR (After Action Review) กับ FA ชุมชน แต่จากการสังเกตการทำงานของ FA ในพื้นที่ และจากข้อมูลทางเอกสารรายงานของทีมพัฒนา ทีมประเมินยังไม่พบหลักฐานว่า FA ชุมชนได้นำกระบวนการจิตตปัญญาไปใช้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นเรายังพบว่า การวางแผน และการออกแบบการประชุมเสริมความรู้และการประชุมถอดบทเรียนในปีที่สอง FA ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในแนวดิ่ง ไม่ใช่แนวตั้งจากล่างขึ้นบน และไม่ใช่แนวระนาบ จึงมิใช่การทำงานแบบร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล และร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างครบวงจรและอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นในปีสุดท้ายของโครงการ จะต้องทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น

อ่านต่อ »

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๑



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558

เกือบสองปีของการมีประสบการณ์ตรงในการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินไปใช้ในการประเมินโครงการ

บอกได้อย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า การประเมินแนวใหม่นี้เหมาะมากกับการประเมินโครงการ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่มุ่งสร้างความสำเร็จ และความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จากการ “ปิ๊งแว้บ” ทางความคิดในต้นปี ๒๕๕๑ สู่การปฏิบัติจริง ในปี ๒๕๕๖ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองหลายประการ จึงขอนำมาเสนอเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจ

ในฐานะที่ผมเป็นทีมประเมินที่ทำหน้าที่หลักในการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งในช่วงของการประชุมเชิงปฏิบัติการสามฝ่ายระหว่างเจ้าของโครงการ (กรมชลประทาน) ทีมพัฒนา และทีมประเมิน และโดยเฉพาะในช่วงปฏิบัติจริงในเกือบสองปีที่ผ่านมา โดยส่วนตัวผมมีความสุขและสนุกกับโครงการนี้มาก เพราะมีความเชื่อเบื้องต้นโดยบริสุทธิ์ใจว่า หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนของชุมชนบุกเบิกทั้งสี่ชุมชนในสี่จังหวัดนำร่อง (พิษณุโลก กาญจนบุรี ศรีสะเกษ และมหาสารคาม) และมีโอกาสที่จะเป็นต้นแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนา ขยายฐานการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนให้กับชุมชนอื่นต่อไป

ในช่วงเริ่มต้นโครงการ สมาชิกส่วนใหญ่ในแต่ละฝ่ายทั้งสามฝ่าย ต่างสะท้อนในการประชุมร่วมกันและวงสุนทรียสนทนาว่า ตนเองยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าจิตตปัญญาคืออะไร ไม่คุ้นกับกัลยาณมิตรประเมิน จึงไม่แน่ใจว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมีหลักการ รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการอย่างไร จึงเกิดการประสานงานให้มีการประชุมร่วมกันสามฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งที่กรมชลฯ และที่จุฬาฯ โดยมีผมเป็นวิทยากรพูดให้ฟัง เปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นโดยยังไม่มีการทำกระบวนการ

อ่านต่อ »

คำสอนสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558

ในรอบปีที่ผ่านมา การมรณภาพของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม เป็นข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่ง แม้จะมีพระมหาเถระและเกจิอาจารย์เป็นอันมากละสังขารไปในช่วงดังกล่าว ก็ไม่เป็นข่าวดังเท่ากับการสิ้นลมของหลวงพ่อคูณ และหากมีการพระราชทานเพลิงศพของท่านอย่างที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติที่ผู้คนทั้งประเทศตั้งตารอคอยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่างานดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อคูณได้เขียนไว้ในพินัยกรรมของท่านอย่างชัดเจนว่า “ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ” ยิ่งกว่านั้นท่านยังกำชับว่า งานศพของท่านั้น “ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ” ว่าจำเพาะพิธีกรรมทางศาสนา ท่านระบุว่า ให้มีการสวดอภิธรรมศพ เพียง ๗ วันเท่านั้น

ใช่แต่เท่านั้นท่านยังได้สั่งเสียอย่างชัดเจนว่า “ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังจากมรณภาพลง” เพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่”ให้แก่นักศึกษาแพทย์ นี้เป็นการให้ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ ในยามที่ยังมีชีวิตท่านให้ทุกอย่างที่ท่านมีหรือได้มา ไม่ว่า เงินทอง วัตถุมงคล และคำสอน ด้วยเมตตาจิตอันใหญ่หลวง สมกับโวหารที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวท่านว่า “กูให้มึง” เป็นการสอนด้วยการกระทำตลอดทั้งชีวิตว่า “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้” สุดท้ายเมื่อท่านสิ้นลม แม้เอาอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่าง แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ได้ นั่นคือ ร่างกายของท่าน

อ่านต่อ »

Back to Top