กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๒



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558

ประสบการณ์การนำแนวคิดและแนวปฏิบัติ “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” ไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ในปีที่สองของผม มีความสนุก ท้าทาย และยากมากขึ้น เพราะความแปลกแยกลดลง ความสนิทสนมระหว่างทีมประเมินกับทีมพัฒนาเพิ่มขึ้น ทีมประเมินจึงต้องหาความสมดุลระหว่างการเป็นผู้ประเมินกับความเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ผมต้องคอยเตือนตนเอง บอกทีมประเมิน ทีมพัฒนา และทีมกรมชลฯ เป็นระยะๆ ว่า ถึงแม้เรามีเป้าหมายร่วมกัน แต่บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเฉพาะของเราแตกต่างกันออกไป เปรียบเสมือน “กล้วยเครือเดียวกัน แต่คนละหวี”

ที่ยากและท้าทายมากกว่านั้นคือ เรายังไม่พบว่าทีมพัฒนาได้นำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับวิทยากรกระบวนการชุมชน (FA ชุมชน) และประชาชนในพื้นที่ ทั้งในปีแรกและในช่วงแรกของปีที่สอง ทั้งที่ในทางปฏิบัติผมได้ทำกระบวนการจิตตปัญญากับทีมพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ มีการพูดคุยประเด็นนี้ในการประชุมร่วมสามฝ่าย นำไปสู่การตกลงร่วมกันว่าให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างเป็นทางการให้กับทีมทำงานทั้งสามฝ่ายโดยมีผมเป็นวิทยากรกระบวนการ และหวังว่าจะมีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับ FA ชุมชน และ FA ชุมชนนำไปใช้กับประชาชนในพื้นที่

เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่สอง ทีมพัฒนาได้เริ่มนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเน้นความสำคัญของการฟังในกระบวนการปรึกษาหารือและการทำงานร่วมกัน และการสะท้อนการเรียนรู้ หรือ AAR (After Action Review) กับ FA ชุมชน แต่จากการสังเกตการทำงานของ FA ในพื้นที่ และจากข้อมูลทางเอกสารรายงานของทีมพัฒนา ทีมประเมินยังไม่พบหลักฐานว่า FA ชุมชนได้นำกระบวนการจิตตปัญญาไปใช้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นเรายังพบว่า การวางแผน และการออกแบบการประชุมเสริมความรู้และการประชุมถอดบทเรียนในปีที่สอง FA ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในแนวดิ่ง ไม่ใช่แนวตั้งจากล่างขึ้นบน และไม่ใช่แนวระนาบ จึงมิใช่การทำงานแบบร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล และร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างครบวงจรและอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นในปีสุดท้ายของโครงการ จะต้องทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น

ในการประชุมสามฝ่ายช่วงปลายปีที่สอง ทีมกรมชลฯ และทีมประเมินเห็นพ้องต้องกันว่า ในปีที่สาม ทีมพัฒนาต้องทำมาถึงจุดนี้ให้ได้ ให้เขาร่วมทำ PDCA (วงจรการบริหารงานคุณภาพ) ด้วยพวกเขาเอง ทีมพัฒนาทำหน้าที่เป็นโค้ช และให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของประชาชนในพื้นที่ได้ ประชาชนในพื้นที่จึงจะยืนอยู่ได้เมื่อเราถอนตัวออกมา และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน FA ในพื้นที่ต้องเรียนรู้ ซึมซับ นำแนวคิดและแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการจิตตปัญญากับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของตนเอง ก่อให้เกิดความเข้าใจ และเข้าถึง “คุณค่า” ของสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ ว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อชุมชน ต่อตนเอง และต่อลูกหลานที่จะตามมา ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้คนในพื้นที่ร่วมกันหาทางที่จะพัฒนาการเกษตรยั่งยืน ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี สิ่งที่งามให้กับชุมชนและสังคมโดยรวมต่อไปอย่างต่อเนื่อง นี่จึงจะเป็นการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากการระเบิดจากภายในที่แท้จริง โอกาสแห่งความยั่งยืนก็จะเพิ่มขึ้น สำหรับทีมประเมิน การประเมินแบบกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน จะพิจารณาจากแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาตามกรอบ 4-3-3 ซึ่งได้แก่ความเชื่อ 4 ประการ กระบวนการหลัก 3 ประการ และฐานการเรียนรู้ 3 ฐาน ว่าทีมประเมิน และ FA ชุมชน ได้ใช้แนวคิดแนวปฏิบัติของ “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” หรือไม่ อย่างไร และมากน้อยแค่ไหน ผนวกกับการตรวจสอบแบบสามเส้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดก็ได้ เช่นข้อมูลเอกสารรายงานของทีมพัฒนา การสังเกตการจัดและกระบวนการจัดกิจกรรมของทีมพัฒนาและผลที่เกิดขึ้น การสัมภาษณ์ทีมพัฒนา การสัมภาษณ์ FA และประชาชนในพื้นที่ การใช้แบบสำรวจและแบบสอบถาม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น

จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาตอนต้น ทีมประเมินก็สามารถประเมิน (เชิงคุณภาพ) ได้ว่า ทีมพัฒนายังไม่ได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมว่ามีความเชื่อพื้นฐานหลัก 4 ประการของจิตตปัญญาศึกษา เพราะ FA ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างครบวงจรตั้งแต่เริ่มคิดเริ่มวางแผน มีส่วนร่วมเฉพาะการทำกิจกรรมที่ทีมพัฒนาออกแบบมาแล้วเท่านั้น แต่จากการสังเกตการทำกิจกรรม ทีมประเมินสังเกตพบว่า มีการพูดเน้นให้เห็นความสำคัญของการฟัง มีการกำหนดกติกาในการพูดคุยในกลุ่มย่อย และมีการทำ AAR ที่เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนความรู้สึกจากการที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาทั้งวัน

ในส่วนนี้ประเมินได้ว่า ทีมพัฒนาได้มีการเริ่มนำกระบวนการหลักสามประการของจิตตปัญญาศึกษามาใช้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องการฟัง และการสะท้อนการเรียนรู้ ส่วนฐานการเรียนรู้ ที่สังเกตพบ ทีมพัฒนาใช้ฐานกาย (ร้องเพลง เล่นสนุก ทำกิจกรรมชายหาด ฯลฯ) และฐานหัว (การระดมความคิด การตอบโจทย์ การสรุปถอดบทเรียน การทำผังความคิด ฯลฯ) มากกว่าฐานใจ (สามกระบวนการหลักที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสี่ความเชื่อพื้นฐานของจิตตปัญญา)

สำหรับทีมพัฒนา เมื่อทราบแนวทางการประเมินของทีมประเมิน ที่จะประเมินไม่เฉพาะแต่เชิงปริมาณผลผลิตที่ตกลงไว้ในสัญญากับกรมชลฯ เท่านั้น แต่ยังมีการประเมินตามกรอบและแนวทางจิตตปัญญา ที่ให้ความสำคัญเรื่องการประเมินเพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพ ผลลัพธ์ และผลกระทบเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในปีที่สาม ทีมพัฒนาก็สามารถที่จะพัฒนากระบวนการทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้โครงการส่งผลถึงการพัฒนาเกษตรยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป้าหมายได้จริง เมื่อทีมพัฒนาและทีมประเมินถอนตัวออกมาเมื่อสิ้นสุดโครงการในปีที่สาม

ในการประชุมสรุปถอดบทเรียนปีที่สองของการทำงานของทีมพัฒนา และการเตรียมการสำหรับปีที่สามของการทำงานร่วมกันสามฝ่าย ผมได้เน้นย้ำว่า จิตตปัญญาศึกษาสำหรับโครงการนี้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เนื้อหา ไม่ใช่กิจกรรม และกระบวนการหลักที่สำคัญที่สะท้อนความเป็นจิตตปัญญาคือ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ เพราะทั้งสามกระบวนการนี้พัฒนาขึ้นมาจากความเชื่อพื้นฐาน 4 ประการของจิตตปัญญาศึกษา ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างความเชื่อและกระบวนการจึงสำคัญ สายสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อ ความคิด/ความคาดหวัง/ความต้องการ และการกระทำ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม มีอิทธิพลต่อกันและกัน ไหลเลื่อนเคลื่อนที่อย่างเป็นองค์รวมไปเรื่อยๆ สิ่งนี้ใช่หรือไม่ ที่เป็นความหมายแห่งสารัตถะของความยั่งยืน?

การประเมินแนวใหม่นี้จึงไม่ใช่แต่การประเมินผลผลิตเชิงปริมาณ แต่ต้องให้ความสำคัญไปที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมิติภายนอกที่สังเกตได้ เช่นการกระทำ สีหน้าท่าทาง คำพูด น้ำเสียง ลีลาการนำเสนอ หลักฐานที่มีรูปแบบและลักษณะต่างๆ เช่นเอกสาร ศูนย์การเรียนรู้ ปริมาณผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กับมิติภายในเช่นความต้องการ ความคาดหวัง ความคิด และความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่าของการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

Back to Top