พฤษภาคม 2010

เปลี่ยนแปลงสังคมและตนเองผ่านงานเขียน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2553

ความผาสุกของสังคมใดก็ตามมิได้ขึ้นอยู่กับการมีระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่ก้าวหน้าเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้คนด้วย จริงอยู่คุณภาพของผู้คนนั้น ด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคมที่แวดล้อมตัวเขา แต่อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณค่าที่สังคมนั้นยึดถือร่วมกันจนเป็นวัฒนธรรมของสังคม หากวัฒนธรรมของสังคมหรือคุณค่าที่ผู้คนยึดถือนั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน คุณภาพของผู้คนก็ถดถอยและบั่นทอนสังคมให้อ่อนแอ จนนำไปสู่วิกฤตต่าง ๆ มากมาย

สังคมไทยวันนี้กำลังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ ๆ ซึ่งอาตมาขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นได้ปลุกกระตุ้นให้ผู้คนถือเอาวัตถุเป็นสรณะ มีชีวิตเพื่อการเสพสุข เพราะเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุ ยิ่งมีมากเท่าไรก็เชื่อว่าจะมีความสุขมากเท่านั้น ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ผู้คนจึงมีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างผู้คน ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้การทุจริตคอรัปชั่น และอาชญากรรมนานาชนิดแพร่ระบาด รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวง ทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า มีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบันเท่านั้น ที่สวมใส่เสื้อสีนั้น ๆ หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน

หากวัฒนธรรมแห่งความละโมบ แวดล้อมอยู่ที่คำว่า กิน กาม เกียรติ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ก็รวมศูนย์อยู่ที่คำว่า โกรธ เกลียด กลัว ทั้ง ๖ ก. นี้กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยและกัดกินจิตวิญญาณของผู้คนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในสภาพเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณให้แก่ผู้คน เพื่อต้านทานการครอบงำของวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ดังกล่าว ด้านหนึ่งก็ด้วยการฟื้นฟูคุณค่าอันดีงามเพื่อให้ประชาชนยึดถือและเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่เท่านั้นย่อมไม่พอ หากควรส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงความสุขทางจิตใจ อันเป็นความสุขที่ประณีตและประเสริฐกว่าความสุขทางวัตถุ ผู้ที่เข้าถึงความสุขดังกล่าวนอกจากจะไม่หวั่นไหวต่อการเย้ายวนของกิน กาม เกียรติแล้ว ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เพราะประจักษ์แก่ใจว่า การให้ความสุขแก่ผู้อื่น ย่อมทำให้ตนมีความสุขด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการลดละความยึดติดถือมั่นใน “ของกู” จึงทำให้จิตใจเบาสบาย สงบเย็น

ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงความสุขทางจิตใจ ก็คือการส่งเสริมให้ผู้คนมีสติรู้เท่าทันความโกรธ-เกลียด-และกลัวในใจ รวมทั้งเห็นถึงโทษของความยึดติดถือมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งนอกจากทำให้จิตใจคับแคบแล้ว ยังทำให้เกิดทิฏฐิมานะหนาแน่น จนอัตตาครองใจ ไม่เพียงทำให้ตนมีความทุกข์เท่านั้น หากยังสามารถก่อความทุกข์นานัปการแก่ผู้อื่น รวมทั้งการทำลายล้างกัน เมื่อใดก็ตามที่มีสติ ความโกรธ-เกลียด-กลัวย่อมครองใจได้ยาก ทำให้สามารถเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับตน เห็นความทุกข์ของเขา เห็นแม้กระทั่งความดีของเขา เมื่อนั้นก็พร้อมจะให้อภัยและสามารถให้ความรักความเมตตากับเขาได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเขาก็เป็นเพื่อนที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา แม้จะยังมีความขัดแย้งกันอยู่จะเป็นเพราะความแตกต่างทางด้านความคิดหรือผลประโยชน์ก็ตาม แต่ก็จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ยิ่งกว่าที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน

อาตมาตระหนักดีว่า หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ประสานกัน

แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำพาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากันประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสี หรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด

ชีวิตการเขียนของอาตมาเริ่มก่อนมานานก่อนที่จะอุปสมบท นั่นคือเมื่อ ๓๘ ปีก่อน เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ตื่นมารับรู้ถึงปัญหานานาชนิดที่เกาะกินบ้านเมืองเวลานั้น อาตมาปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีความยุติธรรม เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย จึงใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นมโนธรรมสำนึกของผู้คนให้ตื่นตัวมารับใช้สังคม ควบคู่กับการวิพากษ์สังคม ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีงาม เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อทุกชีวิต เป็นความปรารถนาพื้นฐานที่ผลักดันให้เกิดงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่งานเขียนก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ควบคู่กันไปก็คือการทำกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่างานสิทธิมนุษยชน สันติวิธี อนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะอาตมาไม่ได้ถือตัวว่าเป็นนักเขียน หากเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า แม้เมื่ออุปสมบทแล้ว จะเปลี่ยนบทบาทไป แต่ก็ไม่ทิ้งงานเขียนและงานกิจกรรมอีกหลายอย่าง เป็นแต่ว่าระยะหลังจุดเน้นได้เปลี่ยนไป มาให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณหรือประเด็นทางศาสนธรรมมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปมากในขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม

การได้บวชเป็นพระภิกษุและบำเพ็ญภาวนา หันมามองตนอย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมกับการเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ดุลยภาพระหว่างงานภายนอกกับงานภายในเป็นสิ่งจำเป็น ที่ช่วยให้กิจกรรมทางสังคมเป็นไปเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อสนองอัตตาของตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้มีความสงบเย็นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้มีความสุข ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรม และไม่ยี่หระต่อสิ่งเย้ายวนหรือยั่วยุ ไม่ว่ากิน กาม เกียรติ รวมทั้งไม่พลัดตกไปในความโกรธ-เกลียด-กลัวด้วย

ความเข้าใจดังกล่าวยังทำให้อาตมาเห็นชัดว่า การทำงานเพื่อสังคมกับการฝึกฝนพัฒนาตน มิใช่เป็นสิ่งที่ต้องแยกออกจากกัน พูดอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ด้วยเหตุนี้จากเดิมที่เคยมองว่าการเขียนหนังสือเป็นปฏิบัติการทางสังคมอย่างหนึ่ง บัดนี้ได้เห็นกว้างขึ้นว่าการเขียนยังเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยในเวลาเดียวกัน จริงอยู่การเขียนนั้นมองในแง่หนึ่งก็คือการประกาศตัวตน แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อคน ๆ หนึ่งเขียนหนังสือ เขาได้นำเอาความคิดความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาสู่ที่สาธารณะ ให้ผู้คนได้รับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ นักเขียนที่ดีย่อมต้องเปิดใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์ มิใช่รับแต่คำชื่นชมสรรเสริญเท่านั้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องลดทิฐิมานะหรือลดความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกูของกู” ให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยก็ต้องมีสติรู้ทันความกระเพื่อมของใจเมื่อได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ นี้คือกระบวนการฝึกฝนตนอย่างหนึ่งที่ช่วยลดอัตตาได้มาก

ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเขียนถึงศรีบูรพาว่า “การปฏิบัติธรรมนั้น ที่แท้ก็คือการประพันธ์นั่นเอง” มองในอีกแง่หนึ่ง คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า “การประพันธ์นั้นที่แท้ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง” ในข้อนี้อาตมาประทับใจคำพูดประโยคหนึ่งของ โรเบิร์ต ฟรอสต์ กวีชาวอเมริกันซึ่งเตือนใจได้ดีมาก เขากล่าวไว้ว่า “การศึกษาคือความสามารถในการฟังสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียความรู้สึกหรือเสียความมั่นใจในตนเอง” นี้คือทัศนะของการศึกษาซึ่งใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก กล่าวคือบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาย่อมต้องวางใจเป็นปกติต่อคำวิจารณ์ได้ แม้อาตมาจะยังไม่สามารถทำได้อย่างที่ว่า แต่ก็ตระหนักว่าบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาตามนัยนี้แหละที่อาตมาควรก้าวไปให้ถึง โดยมีงานเขียนเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาตนไปถึงจุดดังกล่าว

(บางส่วนจาก “สุนทรกถาในโอกาสรับรางวัลศรีบูรพา”เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์)

กล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2553

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางสังคม/การเมือง ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤตจนยากจะเยียวยา เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองคล้ายๆ กัน เช่น

คู่กรณีโดยตรง (หรือตัวแทน) ต่างอ้างความชอบธรรมของฝ่ายตน และกล่าวโทษ/โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างนำหลักฐาน/พยานเฉพาะที่สนับสนุนฝ่ายตนมานำเสนอ เพื่อหักล้างอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเอง

กองเชียร์ของแต่ละฝ่าย ต่างก็ออกมาสนับสนุน กระตุ้น และปลุกเร้าฝ่ายของตนเอง

บุคคล กลุ่มบุคคล ตัวแทนขององค์กร/หน่วยงานต่างๆ จะออกมาเรียกร้องให้คู่กรณีหันหน้ามาเจรจากัน ไม่ใช้ความรุนแรง ขอให้ใช้แนวทางสันติ ยุติการเข่นฆ่า ขอให้ถอยคนละก้าว...

การคิด การกระทำ การพูดดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นปฏิกิริยา (Reaction) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกำลังดำเนินอยู่

ความคิดเห็นที่ให้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในลักษณะของการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียทางวัตถุสิ่งของ หรือโดยเฉพาะหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปเพื่อสังเวยวิกฤตการณ์...

ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่เป็นแบบ “แพ้-แพ้” เช่นขอให้ถอยคนละก้าว หรือขอให้ยอมเสียสละทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการชัยชนะ และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้

คำถามก็คือ ทำไมไม่ช่วยกันหาวิธีที่ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสได้ หรือรู้สึกว่าได้ชัยชนะ

ชัยชนะที่ไม่ใช่มาจากการทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ ด้วยกำลังหรืออาวุธหรือด้วยเล่ห์เพทุบาย

แต่เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยืนยาว ไม่ใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอการแก้แค้นและมีโอกาสพ่ายแพ้

เป็นชัยชนะที่เกิดจากการเข้าใจ และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และผลกระทบหลากหลายที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นชัยชนะที่เกิดจากสติ และปัญญา จึงจะนำมาซึ่งสันติสุขที่แท้จริง...

ข้อเสนอให้พิจารณาคือ...ขอให้มีความกล้าที่จะ เปลี่ยน (ความคิด) เปลี่ยน (คำพูด) เปลี่ยน (การกระทำ)

เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับกระบวนท่า กล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจ...

เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยืนยาว มิใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอคอยความพ่ายแพ้และการแก้แค้น

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางสังคม/การเมือง ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤตจนยากจะเยียวยา จะมีนักวิชาการ และนักวิเคราะห์ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่าย ในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ จะมีการเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการให้ข้อมูล มีการยกตัวอย่าง อ้างอิงข้อเท็จจริงบางส่วน แล้วมีข้อสรุปตามที่ผู้พูดหรือผู้วิเคราะห์ต้องการจะนำเสนอ และในหลายกรณีที่มีการสรุปเกินจริง หรือมีการตัดสิน/ประเมินว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด ทั้งทางกฎหมาย และ/หรือทางคุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติของสังคมไทยและของสากล

วิธีคิดและการปฏิบัติในทำนองดังกล่าวเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปในสังคมกระแสหลัก ปัญหาอาจแก้ไขหรือมีข้อสรุปได้ด้วยกฎหมาย ด้วยเสียงส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผล...แต่ความขัดแย้ง ความโกรธแค้นชิงชังยังคงอยู่ รอเวลาที่จะแก้แค้นเอาคืน เมื่อมีโอกาส...ดังสำนวนนวนิยายกำลังภายในของจีนที่ว่า “แค้นนี้ สิบปีชำระก็ยังไม่สาย”

สำนวนฝรั่งที่ว่า Reason leads to conclusion (เหตุผลนำไปสู่ข้อสรุป) และ Emotion leads to action (อารมณ์นำไปสู่การกระทำ) ก็ให้แง่คิดที่น่าสนใจ แต่เราจะต้องระวังไม่ด่วนสรุปและตีความไปในลักษณะสุดโต่ง แบบแยกส่วนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง การก้าวข้ามหรือการก้าวพ้นแต่ปนอยู่ (transcend but include) จะสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่งมากกว่า การคิด การพูด และการกระทำของฝ่ายหนึ่งจะผนวกควบรวมเป็นการคิด การพูด และการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ไหลเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่สามารถตัดส่วนหนึ่งส่วนใดแยกออกมาเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วบอกว่าสาเหตูเริ่มต้นมาจากฝ่ายใด แต่ในความเป็นจริง คู่กรณีมักจะอ้างจุดหนึ่งจุดใดเป็นจุดเริ่มต้น แล้วใช้กระการบวนการอ้างเหตุผล เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตนเอง

การใช้หัว (เหตุผล/ความคิด) สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ก็จริง แต่อาจไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงจากผู้ถูกตัดสินว่าผิดหรือแพ้เพราะส่วนใหญ่จะตกอยู่ในลักษณะจำยอมมากกว่า ไม่ว่าจะจำยอมด้วยเหตุผล ถูกบีบบังคับ จำยอมด้วยกฎหมาย หรือเสียงส่วนใหญ่...

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางสังคม/การเมือง ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤตจนยากจะเยียวยา เราจะพบว่าต่างฝ่ายต่างยื่นข้อเสนอให้อีกฝ่ายยอมหยุดหรือถอยออกไปก่อน โดยอ้างว่าเพื่อแสดงความจริงใจ อีกฝ่ายต้องปฏิบัติก่อน ผลก็คือไม่มีฝ่ายใดยอมหยุดหรือถอยก่อน

ถ้าจะแสดงความจริงใจต่อกันและกันทั้งสองฝ่าย ทำไมทั้งสองฝ่ายไม่นัดวัน/เวลาหยุดหรือถอยพร้อมๆ กัน โดยมีกลุ่มคน/องค์กรกลางเป็นพยานสังเกตการณ์

ขอเสนอให้ทุกฝ่าย กล้าที่จะทำสิ่งต่อไปนี้...๒ หยุด และ ๒ ยื่นที่ยิ่งใหญ่

หยุด เพื่อให้โอกาสตนเองได้มีเวลาทบทวนใคร่ครวญอย่างจริงจังเกี่ยวการคิด การพูด และการกระทำของตนเอง ผลที่เกิดขึ้นตามมา...แล้วถามว่าประเทศไทยได้อะไร จากการคิด การพูด และการกระทำของเรา

หยุด เพื่อให้โอกาสตนเองมีเวลาใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีศักดิ์ศรี...แล้วถามว่าเราจะให้อะไรที่เรามี เราทำได้ และภูมิใจที่จะให้ ภูมิใจที่จะทำ เพื่อประเทศของเรา

ยื่น ความรัก ความเมตตาให้กับตนเอง ผู้อื่น และประเทศไทย

ยื่น ความร่วมมือ เท่าที่จะทำได้ตามสถานการณ์ และลงมือทำทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ทำเพื่อประเทศไทย บ้านของเราทุกคน

ทั้งหมด ขอให้ทำด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความเมตตาที่ไม่มีสิ้นสุด อย่างมีสติ

ข้อเสนอนี้มิได้ปฏิเสธความเป็นนิติรัฐ ผู้ทำผิดกฎหมายยังคงต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายยังคงต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่เขาจะเข้าสู่กระบวนการด้วยความเข้าใจและด้วยความเต็มใจ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีหัวใจให้กัน ไม่ใช่แค่การเอาแพ้เอาชนะกันทางกฎหมาย กำลัง และ/หรือเล่ห์เพทุบาย

เรากล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจหรือไม่ เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และยืนยาว มิใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอคอยการแก้แค้น

ขอให้กล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจ เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยืนยาว มิใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอคอยความพ่ายแพ้...ด้วยกัน

ให้โอกาสตัวเอง ให้โอกาสผู้อื่น ให้โอกาสประเทศไทย

สติมา ปัญญาเกิด

สติมา ปัญญาเกิด

สติมา ประเทศไทยเกิด

โกรธกันก็ได้นะ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียดกันเลย



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 15 พฤษภาคม 2553

สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงถ้อยคำที่ “สมเด็จองค์ทะไลลามะ” ได้เคยตรัสไว้ว่า “โกรธได้แต่อย่าเกลียด”

“ความโกรธ” เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องมีต้องเกิดขึ้นมา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีอารมณ์นี้เอาไว้

แต่ “ความเกลียด” ดูเหมือนจะเป็นอารมณ์โกรธที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีพัฒนาไปในทิศทางที่รุนแรงมาก “เกินจำเป็น”

“ความเกลียด” จะทำให้ตัวเรา “ไกลห่าง” จากความเป็นมนุษย์มากเกินไป และ “ห่างไกล” จาก “ความสุข” ที่มนุษย์ควรจะได้รับได้สัมผัส

“ความโกรธ” เป็นแค่ไฟร้อนๆ เพื่อมาเตือนมนุษย์ว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อ “ดับความร้อน” นี้ เหมือนกับตอนที่มือของเราไปแตะถูกของร้อนแล้วเราก็ต้องรีบรู้ตัวและระมัดระวัง ส่วน “ความเกลียด” เหมือนกับความร้อนที่ปล่อยทิ้งไว้ ควบคุมไม่ได้ กลายเป็นระเบิดที่ทำลายล้าง

เมื่อเริ่มเกิด “ความโกรธ” ขึ้น เราจึงต้อง “รู้ตัวให้ทันท่วงที”

เมื่อรับรู้แล้วก็ต้อง “ดูแล” เอาใจใส่กับความโกรธของตัวเราเองให้ดี

“มองเห็น” ความโกรธที่เกิดขึ้นด้วยมิตรไมตรี ด้วยความรัก “ยิ้มต้อนรับ” ความโกรธ เหมือนกับที่เรายิ้มต้อนรับ “เพื่อนสนิท” ที่แวะมาเยือนบ้านของเรา

เพราะ “ความโกรธ” เป็นสิ่งที่ดีที่เหมือนเป็นเพื่อนรักที่มาเตือนตัวเราให้เรียนรู้ และฝึกพัฒนาตัวเอง

แต่ถ้าเรา “ไม่ใส่ใจ” หรือ “ไม่สนใจ ไม่รับรู้” ความโกรธที่เกิดขึ้น “ความโกรธ” จะพัฒนาไปเป็น “ความเกลียดชัง” ซึ่งรุนแรงและจะหันมาทำร้ายตัวเราเองในที่สุด

นอกจากนั้น เราจะต้องฝึกแยกระหว่าง “ตัวความโกรธ” กับ “เรื่องราวที่ทำให้เราโกรธ” ออกจากกันให้ได้ เพราะ “เรื่องราว” ที่ทำให้เราโกรธจะเป็น “ตัวสุมไฟ” ให้ความโกรธของเรากระพือออกเกินควบคุม

เช่น สมมติว่าลูกเรากลับบ้านดึกและทำให้เราโกรธ ให้ลองแยก “เรื่องกลับบ้านดึก” เก็บทิ้งไปก่อน ให้เหลือแต่ “ตัวอารมณ์โกรธ” แล้วดูว่า “มันมีลักษณะเป็นอย่างไร” “ตัวความโกรธ” ในครั้งนี้ ก้อนใหญ่มากแค่ไหน มีสีอะไรและร่างกายเรารู้สึกอย่างไร แต่ถ้าเราไปคิดถึง “เรื่องราวกลับบ้านดึก” เราจะยิ่งโกรธและอาจจะรู้สึกว่าควบคุมความโกรธไม่ได้

เมื่อแยก “เรื่องราว” ออกไปแล้ว ให้เราลอง “ยิ้มต้อนรับ” เจ้าตัวความโกรธตัวนี้อย่างดี เหมือนกับมันเป็นเพื่อนของเราที่แวะมาเยี่ยมเยียนเรา

คือโดยธรรมชาติแล้ว “ความโกรธ” ก็เป็น “อารมณ์ชนิดหนึ่ง” อารมณ์ก็เป็น “พลังงานชนิดหนึ่ง” เหมือนกับพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เมื่ออารมณ์เป็นพลังงาน “อารมณ์จึงเปลี่ยนรูปไปมาได้เอง” เหมือนกับที่พลังงานแสงอาทิตย์ที่เมื่อมาถึงโลก บางส่วนก็เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน และยังสามารถนำมาเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้

“อารมณ์โกรธ” ก็เป็น “เฉกเช่นเดียวกัน” คือ “เปลี่ยนรูป” ไปเป็น “อารมณ์อื่นๆ” ได้ในไม่ช้า

“ความโกรธ” ไม่ได้อยากอยู่กับเรานานนักหรอก เพราะถ้านานเกินไป “ความโกรธ” ก็อาจจะทำร้ายตัวเราได้เหมือน “ไฟสุมทรวง”

ถ้าเราลองทำความรู้จักกับอารมณ์แบบนี้ “อารมณ์ต่างๆ” จะไม่ทำร้ายเรา และยังจะเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเราได้อีกด้วย เหมือนกับที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้าหรือเปลี่ยนพลังงานน้ำให้เกิดประโยชน์

“เฉกเช่นเดียวกัน”

แต่หากว่าพลังงานเหล่านั้นถูกเก็บกักไว้หรือถูกสุมไฟให้มากขึ้น ก็เหมือนกับ “กาต้มน้ำ” ที่ปิดฝาแน่น และวางอยู่บนเตาไฟ “ความโกรธ” จะถูกเคี่ยวจนเป็น “ความเกลียด” ความร้อนที่ถูกขังอยู่ในกาต้มน้ำ ย่อมหาทางออกและอยากจะระเบิดออกมา

ในขณะเดียวกัน ให้ “กลับมา” ที่ “ความรัก” ให้มากๆ คือไม่ว่าคุณจะรักทักษิณหรือรักอภิสิทธิ์ รักใครชอบใครก็ขอให้อยู่เฉพาะกับ “ด้านความรัก” เท่านั้น

โดยหลีกเลี่ยงที่จะดึงตัวเองเข้าไปสู่ “ด้านมืด” หรือ “ความโกรธความเกลียด” ถ้ารักทักษิณก็ลองไม่สนใจไปโกรธไปเกลียดอภิสิทธิ์ หรือถ้ารักอภิสิทธิ์ก็ไม่จำเป็นต้องไปโกรธไปเกลียดทักษิณ

แล้วลอง “ขยายความรัก” ที่เรามีอยู่นั้นให้ใหญ่โตให้มากขึ้นเป็นสิบเท่า ด้วยหัวใจของเรา แล้ว “เผื่อแผ่” ความรักที่เกิดขึ้นที่ขยายตัวขึ้นนั้นให้กับคนอื่นๆ หรือโลกใบนี้

โดยสรุปรวมๆ พอจะได้ว่า หนึ่ง-ฝึกฝนการรับรู้อารมณ์ของตัวเราเองให้ชัด

สอง-ให้รีบดึงเรื่องราวเหตุการณ์เหล่านั้นออกไปจากอารมณ์เมื่อรู้ตัว

สาม-เฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยิ้มต้อนรับด้วยมิตรไมตรีอย่างที่มันเป็น

สี่-ฝึกฝนเรื่องความรักให้บ่อยขึ้น โดยนึกถึงคนที่เรารัก คนที่มีบุญคุณกับเรา คนที่ทำดีๆ กับเรา ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร

ห้า-“อาบแช่กับความรู้สึกดีๆ” แบบนั้น แล้วใช้หัวใจของเราขยายความรู้สึกรักความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างน้อย “สิบเท่า” แล้วแผ่ขยายออกไปให้กับคนอื่นๆ

หก-ศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์ทุกคน

เจ็ด-การแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน อย่าคิดที่จะไปแก้ไขคนอื่น ทุกปัญหามีทางออกของมันเสมอ

และแปด-เชื่อมั่นในความสำเร็จเล็กๆ ความดีงามเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้ลงมือกระทำ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว และกรุงโรมต้องการอิฐก้อนแรก เราทุกคนสามารถเป็นอิฐก้อนแรกได้เสมอ

“ความเกลียด” ไม่เคยแก้ไขปัญหาได้เลย

อย่ายอมปล่อยให้ “ความโกรธ” ของคุณเติบโตไปเป็น “ความเกลียด” เลยครับ

คนช่างฝัน (ดี)



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2553

ได้อ่านบทความของคุณ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น วันที่ 28 เมษายน 2553 เรื่อง “หยุดตอนนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป” (Stop Now Before It’s Too Late) ก็ได้ลองคิดจินตนาการตามไปถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้อย่างแย่ที่สุด (worst case scenario) ที่ผู้เขียนได้ลองช่วยทำการบ้านมาให้ มันก็น่ากลัวไม่น้อยทีเดียวครับ

คุณประวิตร มองว่าอาจเกิดเหตุการณ์ “สงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึงสามวันสามคืน โดยมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากทั้งสองฝ่ายเป็นพันคน ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมหรูย่านราชประสงค์ ที่ซึ่งคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมอยู่ ก็อาจจะกลายเป็นซากปรักหักพังดังที่เราเคยได้เห็นที่เมืองคาบูล

หลังสิ้นสุดวันและคืนอันยาวนานแห่งสงครามกลางเมือง คนเสื้อแดงก็คงจะแปลงสภาพไปเป็นขบวนการใต้ดิน ตามด้วยสงครามกลางเมืองหลายเดือนหรือไม่ก็เป็นปี เหล่าอนาธิปไตยทั้งหลายก็คงจะยึดพื้นที่ตามต่างจังหวัดเป็นฐานที่มั่นเพื่อ ต่อสู้กับรัฐต่อไป

ในขณะเดียวกัน เหล่าชายชุดดำลึกลับก็คงจะพยายามทำ ‘หน้าที่’ ของเขา ในการทำให้เกิดการสูญเสียมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะความสูญเสียในฝั่งรัฐบาล

ความเกลียดชังระหว่างคนเสื้อแดง ทหารและพันธมิตรฯ (หรือคนเสื้อชมพู หรือสีเสื้ออะไรก็ตามแต่ที่สนับสนุนรัฐบาล) อาจจะถึงจุดที่ทำให้เกิดการฆ่าแขวนคอ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และถึงแม้ว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงนี้ มันก็ไม่น่าที่จะสามารถทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบสุขได้

พม่าอาจจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัยกว่าประเทศไทย และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาก็จะมีการถูกนำมาฉายซ้ำที่นี่ เศรษฐกิจจะพังทลาย เหล่าคนเสื้อแดงก็จะไม่เหลือความศรัทธาและวางใจในระบบการเมืองที่เหลืออยู่ อีกเลย และก็คงจะพยายามล้มล้างระบบการเมืองใดๆ ที่มีอยู่ด้วยการปฏิวัติประชาชน”





อ่านแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่อยากพบเจอกับสภาพเช่นนั้นแน่นอน ถึงแม้ไม่อยากเห็นสภาพรัฐที่ล้มเหลว (failed state) จัดการอะไรไม่ได้ แต่สภาพของประเทศชาติที่ถูกทำลายและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง (destroyed and hate-filled nation) คงจะเป็นภาพที่ทุกคนไม่อยากเห็นยิ่งกว่า

เลยลองออกไป คิดนอกกล่อง คิดนอกกรอบ จินตนาการดูว่าสถานการณ์ที่เป็นไปได้อย่างดีที่สุด (best case scenario) สักเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น

ทุกคนมาร่วมกันสร้างทางออกของประเทศที่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะร่วมกัน

ไม่สนับสนุน ไม่เลือกข้าง หรือแนวทางที่สร้างทางออกเร็วๆ ผ่านความรุนแรง แต่เลือกสนับสนุนเฉพาะการสร้างทางออกดีๆ ผ่านสันติวิธี แม้จะช้ากว่าก็ตาม


สิ่งงดงาม (ที่พอจะมี) ของการเดินทางอันเจ็บปวดร่วมกันของประเทศมาถึงทุกวันนี้ ก็คือ การที่คนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับแล้วว่าสำหรับการชุมนุมนี้คงจะไม่มีการชนะหรือแพ้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่ๆ ซึ่งทั้งดีและทั้งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการแพ้ชนะแบบเดิมๆ ที่ผู้ชนะกินรวบ ชนะทั้งหมด ผู้ชนะลำพองใจ จะทำให้เราไม่ไปไหน ถอยหลังกลับไปอยู่ที่จุดเดิม คือ มองโลกแบบขาว-ดำ ดี-เลวแบบง่ายเกินไป มองเห็นว่าฝ่ายแพ้เลวหมด ไม่มีดีอะไรเลย ทำให้ไม่สามารถนำเอาสิ่งดีของอีกฝ่ายมาใช้ได้ อีกทั้งยังมองข้ามด้านไม่ดีของฝ่ายตนเองที่ต้องเอาออก อะไรที่เป็นโรคเป็นฝีของฝ่ายตน มีเสี้ยนมีหนองก็ไม่จัดการ ปล่อยให้ปวดระบมอยู่

ก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยพลังของสัจจานุรักษ์ คือ ซื่อตรงต่อสัจจะ เปิดใจรับฟังผู้อื่นโดยไม่ด่วนตัดสิน ไม่เอาศรัทธาของตนเป็นเครื่องชี้ขาดว่าสิ่งที่เราเชื่อเท่านั้นที่เป็นความจริง สามารถชื่นชมความดีของอีกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

เมื่อสังคมมีสิ่งนี้ร่วมกันก็จะสามารถสร้างทางออกที่มีลักษณะข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (transcend and include) คือ ทางออกที่ไม่ใช่แค่แดง ไม่ใช่แค่เหลือง แต่ดีกว่าแดง ดีกว่าเหลือง มีทั้งแดงและเหลือง (และสีอื่นๆ ด้วย) รวมอยู่ในนั้น ทางออกเช่นนี้จะสามารถเป็นทางออกนำไปสู่สันติที่แท้จริง ไม่ใช่การซื้อเวลา ที่ยังต้องรอลุ้นระทึกกับการเผชิญหน้าครั้งถัดไปอยู่ดี

ผู้คนหันมามีจินตนาการแบบเด็กๆ ใสๆ ที่อะไรๆ ก็เป็นไปได้ เช่น

ทุกฝ่ายเอ่ยปวารณาระดับชาติกัน
ยอมรับความผิดจริงๆ อยากเอ่ยปากขอโทษกับทุกคน เสื้อแดงขอโทษเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองขอโทษเสื้อแดง ขอโทษประชาชนทั้งหมด ขอโทษแผ่นดิน ขอโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านนี้เมืองนี้ ขอโทษผู้เสียหาย ขอโทษตนเอง ขอโทษแม้กระทั่งลูกเล็กเด็กแดง ที่พวกเราเองทุกคนปล่อยให้เรื่องราวใหญ่โตบานปลายมาถึงขนาดนี้

สังคมยินดีที่จะนิรโทษกรรม ทั้งคดีต่างๆ ของพันธมิตร เสื้อเหลือง ปิดสนามบินและอื่นๆ คดีของรัฐบาลชุดก่อนๆ หน้า รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน การสั่งสลายการชุมนุม ขอพื้นที่คืน และอื่นๆ รวมทั้ง นปช. เสื้อแดง ด้วย การปิดราชประสงค์ การบุกโรงพยาบาล

ลูกหลานของพวกเราได้เติบโตในวัฒนธรรมที่การ “กล้าทำ กล้ารับ กล้าขอโทษ กล้าให้อภัย” เป็นคุณธรรมหลักประจำใจ เพราะพวกเขาได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่พวกเราเหล่าบรรพบุรุษได้เคยทำเป็นแบบอย่างในอดีต เขารู้ว่าถ้าเขาแสดงความกล้าหาญพอ กล่าวขอโทษจากใจ เพื่อนร่วมสังคมเดียวกับเขาจะกล้าหาญที่จะให้อภัยเช่นกัน

นักต่างๆ ไม่ติดกรอบตนเอง ทะลุกำแพงของความถูกต้องทางวิชาการ ของตัวบทกฎหมายที่อุตส่าห์ไปร่ำไปเรียนมาจากเมืองนอก สร้างทางออกโดยใช้ใจ ใช้ความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้สามัญสำนึก ร่วมด้วย

ลองนึกว่าหากต้องช่วยประนีประนอมพี่น้องในบ้านเดียวกันที่ทะเลาะกันอยู่ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวชายคาเดียวกัน ใช่ว่าจะเป็นตัดสินหาคนถูกแล้วไล่อีกคนออกจากบ้าน ทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดเสมอไป เหมือนผู้ใหญ่เขาสอนว่าเวลาสามีภรรยาทะเลาะกันอย่าใช้แต่เหตุผล ชีวิตไม่ได้มีแต่ความถูกต้องอย่างเดียวที่สำคัญ ความสัมพันธ์ก็สำคัญ ดังนั้นให้ใช้ความรักกันเยอะๆ

ยกให้แกนนำ นปช. รัฐบาล พันธมิตร หลากสี เป็นผู้กล้าหาญ แม้แต่ละคนแต่ละฝ่ายจะเคยทำอะไรผิดมาบ้าง แม้จะมีใครไม่ชอบบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นผู้มีบุญคุณ ที่ช่วยกันนำพาประเทศออกจากขอบเหวได้อย่างหวุดหวิด

สร้างความเป็นธรรมในสังคม แก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตราที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ เท่านั้น เช่น กำหนดว่ารัฐต้องปฏิรูประบบภาษี ให้จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและเป็นธรรม ปฏิรูปการถือครองที่ดิน ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมความเป็นธรรมในการค้า ส่งเสริมผู้ค้ารายย่อย ป้องกันการผูกขาด การทุ่มตลาด ภายในระยะเวลาสั้นที่สุดที่เป็นไปได้

กลุ่มผู้นำของสถาบันต่างๆ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ท้าทาย ต่างก้าวออกมา แล้วถือโอกาสนี้เป็นเจ้าภาพร่วมในการสังคายนาประเทศ โดยเริ่มจากการบอกว่าตนเองและสถาบันของตนเองจะเสียสละอย่างไร ที่ควรลดขนาดก็ลดขนาดตนเอง ที่ควรโปร่งใสก็ทำให้ตนเองโปร่งใส ที่ควรได้น้อยลงก็จะประกาศขอลดรายได้ของตนเองลง

สถาบัน องค์กร บริษัท ห้างร้านใด พอมีทรัพย์ มีกำลังก็บริจาคเงินออกมาช่วยชาติอีกครั้ง (ครั้งที่แล้วลำพังโครงการช่วยชาติของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ก็รวบรวมได้ทองคำถึง 967 แท่ง น้ำหนักมากกว่า 12 ตัน เงินสดอีก 10 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ) นำเงินบริจาคช่วยชาติที่ร่วมกันนี้ไปช่วยดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบ ล้มตาย พิการ บาดเจ็บ สูญเสียรายได้ จากการเผชิญหน้าหลายปีที่ผ่านมา

ทำให้ทุกภาคส่วนได้เป็นเจ้าภาพการทำสังคายนาและกอบกู้อารยธรรมของเราร่วมกัน

ท้าทายเยาวชนออกจากโลกไซเบอร์มาลงมือลงไม้ทำกิจกรรมจิตอาสา ร่วมสั่งสมทุนและตระเตรียมโครงสร้างทางสังคมไว้รอรับภัยธรรมชาติระดับโลกที่จะมาแน่ๆ ในเร็วๆ นี้

จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม สนับสนุนละคร ส่งเสริมดนตรี ศิลปะ เพื่อสร้างความรัก ความเข้าใจอันดี ตลอดปี หรือตลอดทศวรรษยิ่งดี สร้างอัตลักษณ์ใหม่จากทุนทางวัฒนธรรมเดิมของเรา นำความเป็นสยามเมืองยิ้มกลับมาอีกครั้ง

แกนนำทุกสี ทุกกลุ่ม ทั้งคุณทักษิณ คุณวีระ คุณณัฐวุฒิ คุณจตุพร คุณเหวง คุณสนธิ คุณสมศักดิ์ คุณสมเกียรติ คุณจำลอง คุณพิภพ คุณอภิสิทธิ์ คุณอนุพงษ์ ร่วมกันเล่นมิวสิกวิดีโอเพลง “เสียงในความเงียบ” (ดูตัวอย่างได้ที่ http://bit.ly/8may2553)

รัฐและประชาชนทุกคนร่วมกันจัดงานรื่นเริงฉลอง เหมือนตักบาตร ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ รับขวัญประเทศ ลด แลก แจก แถม เชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยว มาใช้จ่าย มาดูว่าคนไทยใจกว้าง เป็นพี่เป็นน้อง ทะเลาะกันก็ยังกลับมาคืนดีกันได้




เสียงเพลงนุ่มๆ ของจอห์น เลนนอน ลอยมากับสายลม ชวนให้มี “จินตนาการ” เหมือนกับชื่อเพลง ในเพลงยังบอกอีกว่า “You may say I’m a dreamer, but I’m not the only one.” เธออาจจะบอกว่าฉันเป็นคนช่างฝัน แต่ฉันจะบอกเธอให้นะ ไม่ใช่ฉันคนเดียวหรอก แล้วฉันก็หวังไว้ว่าสักวันหนึ่งเธอจะก็จะมาร่วมฝันด้วยกัน

ใช่สิ ฉันอาจจะเป็นคนช่างฝัน แต่ เฮ้! ไหนๆ จะฝันกันแล้ว ฉันก็อยากจะฝันดีนะ!

Back to Top