กล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2553

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางสังคม/การเมือง ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤตจนยากจะเยียวยา เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองคล้ายๆ กัน เช่น

คู่กรณีโดยตรง (หรือตัวแทน) ต่างอ้างความชอบธรรมของฝ่ายตน และกล่าวโทษ/โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างนำหลักฐาน/พยานเฉพาะที่สนับสนุนฝ่ายตนมานำเสนอ เพื่อหักล้างอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเอง

กองเชียร์ของแต่ละฝ่าย ต่างก็ออกมาสนับสนุน กระตุ้น และปลุกเร้าฝ่ายของตนเอง

บุคคล กลุ่มบุคคล ตัวแทนขององค์กร/หน่วยงานต่างๆ จะออกมาเรียกร้องให้คู่กรณีหันหน้ามาเจรจากัน ไม่ใช้ความรุนแรง ขอให้ใช้แนวทางสันติ ยุติการเข่นฆ่า ขอให้ถอยคนละก้าว...

การคิด การกระทำ การพูดดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นปฏิกิริยา (Reaction) ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกำลังดำเนินอยู่

ความคิดเห็นที่ให้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในลักษณะของการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียทางวัตถุสิ่งของ หรือโดยเฉพาะหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปเพื่อสังเวยวิกฤตการณ์...

ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่เป็นแบบ “แพ้-แพ้” เช่นขอให้ถอยคนละก้าว หรือขอให้ยอมเสียสละทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการชัยชนะ และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้

คำถามก็คือ ทำไมไม่ช่วยกันหาวิธีที่ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสได้ หรือรู้สึกว่าได้ชัยชนะ

ชัยชนะที่ไม่ใช่มาจากการทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ ด้วยกำลังหรืออาวุธหรือด้วยเล่ห์เพทุบาย

แต่เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยืนยาว ไม่ใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอการแก้แค้นและมีโอกาสพ่ายแพ้

เป็นชัยชนะที่เกิดจากการเข้าใจ และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และผลกระทบหลากหลายที่จะตามมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นชัยชนะที่เกิดจากสติ และปัญญา จึงจะนำมาซึ่งสันติสุขที่แท้จริง...

ข้อเสนอให้พิจารณาคือ...ขอให้มีความกล้าที่จะ เปลี่ยน (ความคิด) เปลี่ยน (คำพูด) เปลี่ยน (การกระทำ)

เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับกระบวนท่า กล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจ...

เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยืนยาว มิใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอคอยความพ่ายแพ้และการแก้แค้น

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางสังคม/การเมือง ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤตจนยากจะเยียวยา จะมีนักวิชาการ และนักวิเคราะห์ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่าย ในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ จะมีการเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการให้ข้อมูล มีการยกตัวอย่าง อ้างอิงข้อเท็จจริงบางส่วน แล้วมีข้อสรุปตามที่ผู้พูดหรือผู้วิเคราะห์ต้องการจะนำเสนอ และในหลายกรณีที่มีการสรุปเกินจริง หรือมีการตัดสิน/ประเมินว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด ทั้งทางกฎหมาย และ/หรือทางคุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติของสังคมไทยและของสากล

วิธีคิดและการปฏิบัติในทำนองดังกล่าวเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปในสังคมกระแสหลัก ปัญหาอาจแก้ไขหรือมีข้อสรุปได้ด้วยกฎหมาย ด้วยเสียงส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผล...แต่ความขัดแย้ง ความโกรธแค้นชิงชังยังคงอยู่ รอเวลาที่จะแก้แค้นเอาคืน เมื่อมีโอกาส...ดังสำนวนนวนิยายกำลังภายในของจีนที่ว่า “แค้นนี้ สิบปีชำระก็ยังไม่สาย”

สำนวนฝรั่งที่ว่า Reason leads to conclusion (เหตุผลนำไปสู่ข้อสรุป) และ Emotion leads to action (อารมณ์นำไปสู่การกระทำ) ก็ให้แง่คิดที่น่าสนใจ แต่เราจะต้องระวังไม่ด่วนสรุปและตีความไปในลักษณะสุดโต่ง แบบแยกส่วนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง การก้าวข้ามหรือการก้าวพ้นแต่ปนอยู่ (transcend but include) จะสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่งมากกว่า การคิด การพูด และการกระทำของฝ่ายหนึ่งจะผนวกควบรวมเป็นการคิด การพูด และการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ไหลเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่สามารถตัดส่วนหนึ่งส่วนใดแยกออกมาเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วบอกว่าสาเหตูเริ่มต้นมาจากฝ่ายใด แต่ในความเป็นจริง คู่กรณีมักจะอ้างจุดหนึ่งจุดใดเป็นจุดเริ่มต้น แล้วใช้กระการบวนการอ้างเหตุผล เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตนเอง

การใช้หัว (เหตุผล/ความคิด) สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ก็จริง แต่อาจไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงจากผู้ถูกตัดสินว่าผิดหรือแพ้เพราะส่วนใหญ่จะตกอยู่ในลักษณะจำยอมมากกว่า ไม่ว่าจะจำยอมด้วยเหตุผล ถูกบีบบังคับ จำยอมด้วยกฎหมาย หรือเสียงส่วนใหญ่...

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางสังคม/การเมือง ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤตจนยากจะเยียวยา เราจะพบว่าต่างฝ่ายต่างยื่นข้อเสนอให้อีกฝ่ายยอมหยุดหรือถอยออกไปก่อน โดยอ้างว่าเพื่อแสดงความจริงใจ อีกฝ่ายต้องปฏิบัติก่อน ผลก็คือไม่มีฝ่ายใดยอมหยุดหรือถอยก่อน

ถ้าจะแสดงความจริงใจต่อกันและกันทั้งสองฝ่าย ทำไมทั้งสองฝ่ายไม่นัดวัน/เวลาหยุดหรือถอยพร้อมๆ กัน โดยมีกลุ่มคน/องค์กรกลางเป็นพยานสังเกตการณ์

ขอเสนอให้ทุกฝ่าย กล้าที่จะทำสิ่งต่อไปนี้...๒ หยุด และ ๒ ยื่นที่ยิ่งใหญ่

หยุด เพื่อให้โอกาสตนเองได้มีเวลาทบทวนใคร่ครวญอย่างจริงจังเกี่ยวการคิด การพูด และการกระทำของตนเอง ผลที่เกิดขึ้นตามมา...แล้วถามว่าประเทศไทยได้อะไร จากการคิด การพูด และการกระทำของเรา

หยุด เพื่อให้โอกาสตนเองมีเวลาใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีศักดิ์ศรี...แล้วถามว่าเราจะให้อะไรที่เรามี เราทำได้ และภูมิใจที่จะให้ ภูมิใจที่จะทำ เพื่อประเทศของเรา

ยื่น ความรัก ความเมตตาให้กับตนเอง ผู้อื่น และประเทศไทย

ยื่น ความร่วมมือ เท่าที่จะทำได้ตามสถานการณ์ และลงมือทำทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ทำเพื่อประเทศไทย บ้านของเราทุกคน

ทั้งหมด ขอให้ทำด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความเมตตาที่ไม่มีสิ้นสุด อย่างมีสติ

ข้อเสนอนี้มิได้ปฏิเสธความเป็นนิติรัฐ ผู้ทำผิดกฎหมายยังคงต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายยังคงต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่เขาจะเข้าสู่กระบวนการด้วยความเข้าใจและด้วยความเต็มใจ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีหัวใจให้กัน ไม่ใช่แค่การเอาแพ้เอาชนะกันทางกฎหมาย กำลัง และ/หรือเล่ห์เพทุบาย

เรากล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจหรือไม่ เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และยืนยาว มิใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอคอยการแก้แค้น

ขอให้กล้าที่จะก้าวข้ามหัว สู่หัวใจ เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ยืนยาว มิใช่ชัยชนะชั่วคราวที่รอคอยความพ่ายแพ้...ด้วยกัน

ให้โอกาสตัวเอง ให้โอกาสผู้อื่น ให้โอกาสประเทศไทย

สติมา ปัญญาเกิด

สติมา ปัญญาเกิด

สติมา ประเทศไทยเกิด

Back to Top