สิงหาคม 2009

วิถีแห่งการเปลี่ยนแปลง



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2552

ในระยะหลังมานี้ ผู้เขียนเฝ้าสังเกตกระบวนการเรียนรู้และการปรับตัวขององค์กรต่างๆ ที่ไปให้คำปรึกษา และฝึกอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันจะพยายามทุกทางในการหาวิธีการและแรงจูงใจให้คนในองค์กรเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น ในทำนองที่ว่า “งานได้ผล คนเป็นสุข” โดยมีแนวโน้มอย่างหนึ่งคือ การเพิ่มระดับ “การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์” ในการแสดงความคิดเห็นและการกระทำในระดับต่างๆ มากขึ้น

นั่นเป็นเพราะโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนมีสมองส่วนหน้าในการ “คิดวิเคราะห์และจินตนาการ” และปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการ “เลือกหรือกำหนด” การกระทำที่จะส่งผลต่อตัวเอง หลายองค์กรจึงพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของหัวหน้างานจากการสั่งการและควบคุม มาเป็นการปรึกษาหารือร่วมกับลูกน้อง เพื่อให้ได้ความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ให้คุณค่ากับความคิดความรู้ของผู้ปฏิบัติงานมากกว่าการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสายพานการผลิตความสำเร็จเท่านั้น

เหตุผลอีกประการหนึ่งของความพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหัวหน้างาน หรือ “เจ้านาย” คือเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งภายใน ลดอัตราการลาออกของคนในองค์กร เพราะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาด้วยการศึกษาที่ดี ไม่เคยเป็นลูกน้องใคร และมีทางเลือกมากมาย มักจะไม่อยากทนอยู่กับแรงกดดันที่เกิดขึ้นในงาน และไม่ต้องการอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบบนลงล่างที่ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัฒนธรรมการบริหารในองค์กรทั่วไป แม้ว่าหลายๆ แห่งจะให้ผลตอบแทนทางวัตถุมากมายก็ตาม นั่นอาจเป็นเพราะสิ่งที่มนุษย์ต้องการนอกเหนือจากเพื่อการอยู่รอด และความสะดวกสบายทางวัตถุแล้ว คือการได้รับคุณค่าและประสบการณ์ การดำรงอยู่อย่างมีความหมาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่องค์กรอาจจะสนองตอบให้ได้หากมีแนวทางหรือวัฒนธรรมที่เหมาะสม

โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งที่สมัครเข้าโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) ต่างก็ได้เรียนรู้อย่างมากมายในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมา บางแห่งได้รับบทเรียนว่า “งานได้ผล คนแตกแยก” หรือ องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่พยายามสร้างนวัตกรรม และการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (change management) กลับต้องเผชิญกับแรงต้านการเปลี่ยนแปลงในองค์กรทั้งแบบเปิดเผยและแบบปิดงำ จนเกิดภาวะถดถอยทางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ภาวะผู้นำขององค์กรระส่ำระสาย เกิดความหวาดระแวง ผู้คนแบ่งแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า วิธีการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เช่น การให้โบนัสหรือรางวัลตอบแทน และการเลื่อนขั้นเพื่อความก้าวหน้าทางการงาน ได้ผลเพียงระยะสั้น เพราะเป็นการให้ที่ไม่สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) และความมุ่งมั่นในระยะยาว

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นปัญหาเชิงแนวคิด เพราะเราต่างคิดได้ พูดได้ และไม่ใช่ปัญหาการขาดเทคนิควิธีการ แต่ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติและการปฏิบัติมากกว่า เพราะวิถีปฏิบัติในการทำงานแบบเดิมๆ ที่ฝังรากลึกมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่มีชีวิตและอิทธิพลในตัวเอง โดยไม่ขึ้นกับผู้นำ ทำให้การสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ในการทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรม “นายสั่ง” ที่เป็นความคุ้นเคยเปรียบได้กับอวัยวะขององค์กรที่ใช้มาจนชำนาญ แล้วอยู่ๆ จะมาบอกว่าให้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะใหม่ว่าเป็น “นายรับฟัง” เป็นการฝืนวงจรเดิมของสมอง เพราะวิถีเดิมที่อาศัยการออกคำสั่งก็ได้ผลรวดเร็วทันใจ แม้ไม่ได้ “ใจ” ผู้ปฏิบัติตามทุกคนหรือทุกครั้ง แต่ก็ทำให้งานสัมฤทธิ์ผล

วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่รักษาระเบียบแบบแผนทางความคิดและการกระทำของผู้คนในองค์กรไว้ ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่เลื่อนไหล มีชีวิต เราไม่สามารถควบคุมวัฒนธรรม แต่เราสามารถสร้างเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้วัฒนธรรมเกิดการแปรเปลี่ยนตัวเองได้ ดังนั้นแม้ผู้นำจะออกมาปลุกระดมและเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองมากเพียงใด ก็ยังต้อง “ใช้เวลา” ในการสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย เชื้อเชิญให้ทุกคนกล้าแบ่งปันประสบการณ์เฉพาะตัว และสติปัญญามาก่อให้เกิดการเรียนรู้ จนสามารถส่งไปถึงความรู้สึกนึกคิดและการกระทำที่กลายเป็นวิถีของความร่วมไม้ร่วมมือ ที่มีทั้งหัวใจ แรงบันดาลใจ และวิสัยทัศน์ร่วมของคนส่วนใหญ่

ในทางตรงกันข้าม หากความพยายามเปลี่ยนแปลงมีที่มาจากการพยายาม “สั่งการและควบคุม”แบบเดิมๆ สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือแรงต่อต้าน และอคติต่อโครงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพราะผู้คนจะเปลี่ยนแปลงเมื่อพวกเขาเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่พวกเขา ธรรมชาติของระบบชีวิตเป็นเช่นนี้เสมอ คือเลือกที่จะมอง และ “เห็น” แล้วจึง “เลือก” ที่จะกระทำการบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เขา “เห็น”​ นั้น ผู้นำจึงจำต้องสืบค้นเข้าไปในใจของผู้คนว่ากำลังมองโลกอย่างไร จนเกิดความ “เห็นใจ” ผู้คนตามวาระของเขา แล้วสร้างโอกาสให้ผู้คนได้มาร่วมถางทางเส้นใหม่ ที่ไม่มีใครถูกละทิ้งไว้เบื้องหลัง

แน่นอน นี่เป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนัก แต่เป็นบทบาทที่ทรงเกียรติของคนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำมิใช่หรือ

ถึงจะไร้เหตุผล – ถ้าเป็นนักวิชาการก็ต้องฟัง



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2552

จากหัวข้อของบทความ ขอให้ผู้อ่านคิดให้ถ้วนถี่ว่า เหตุผลที่เราใช้ในการกำหนดและกำกับวิถีชีวิตอยู่ทุกวันนั้น คืออะไร? มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวของโลกที่ทำอะไรก็ถูกหมดอย่างนั้นหรือ? คิดให้ดีแล้วค่อยอ่านให้จบ เพราะบทความนี้น่ากลัว แถมยังมีความเป็นไปได้ ทั้งต้องรู้ว่าที่ยกมานั้นไม่ใช่คำพูดของผู้เขียน หากแต่เป็นของศาสตราจารย์โรงพยาบาลเคมบริดส์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด จิตแพทย์ จอห์น อี. แมค (John E. Mack) ที่เสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน ทั้งที่มีอายุเพียง ๖๐ ปีต้นๆ

ในคำนำหนังสือของเขา (Abduction, 1995) ซึ่งผู้เขียนบทความได้นำเนื้อหามาเขียนลงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในปีเดียวกัน และปีต่อๆ มาอีกสองหรือสามบทความ โดยเฉพาะข้อสงสัยของผู้เขียนที่ว่า ทำไม? การลักพาตัวไปโดยมนุษย์ต่างดาวถึงเกิดแต่กับฝรั่ง – เพิ่งมารู้คำตอบใน www.abovetopsecret.com วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๐๐๘ นี่เอง ที่บอกว่า มนุษย์ต่างดาวมักจะลักพาคนที่มีเลือดชนิด Rh-negative โดยเฉพาะจากครอบครัวฝ่ายแม่ทั้งตระกูล ซึ่งคนคอเคเชียนจะมีหมู่เลือดชนิดนี้มากถึง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่คนเอเชียมีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า – ดังที่ได้เขียนมาตลอด – คนมองโกลอยด์รวมทั้งไทยเราด้วย มาจากโฮโมอีเรคตัส (บรรพบุรุษของมนุษย์ที่มีใบหน้าตั้งตรงเหมือนมนุษย์ยุคใหม่แล้ว จัดเป็นมนุษย์แรกเริ่ม) ที่อพยพไปด้วยและวิวัฒนาการไปด้วย - เป็นโฮโมซาเปียนส์หรือมนุษย์ปัจจุบัน – ทางเอเชียหรือตะวันออก แทนที่จะรอให้มีวิวัฒนาการที่อาฟริกาก่อนถึงจะอพยพในภายหลัง เช่น คอเคเชียน และนิโกร ซึ่งทำให้เราสามารถอธิบายการกำเนิดของมนุษย์ชวาและมนุษย์ปักกิ่ง (Java man and Peking man) ซึ่งเป็นโฮโมอีเรคตัสได้ทั้งหมด

กลับมาที่ จอห์น อี. แมค ตอนนั้น บางกอกโพสต์ในบ้านเราได้ลงข่าวหน้าหนึ่งในเรื่องหนังสือ Abduction ของเขาหลังจากวางตลาด เพราะมีอาจารย์ไปฟ้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดว่า หนังสือของเขาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง อธิการบดีจึงตั้งคณะกรรมการที่ส่วนมากเป็นนักวิทยาศาสตร์มาสอบสวน หลังจากได้ทำการตรวจงานวิจัยอันเป็นที่มาของหนังสือดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการต่างเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า งานวิจัยและหนังสือของเขาเป็น “วิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง” ทำให้อธิการบดีและคณะกรรมการต้องออกหนังสืออย่างเป็นทางการ พร้อมกับเดินทางไปพบ จอห์น อี. แมค เพื่อขอโทษถึงบ้าน และได้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่หนังสือพิมพ์บ้านเราต้องเอามาลง

การนำเรื่องทั้งหมดมาลงในมติชนอีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้เขียนคิดว่าบทความดังกล่าวสำคัญ เนื่องจากนักวัตถุนิยมจ๋ากำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนมาสนับสนุนวิทยาศาสตร์ใหม่ ที่ให้ความจริงคล้ายๆ กับความจริงทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากทางตะวันออก ซึ่งไร้เหตุผล ตามที่นักฟิสิกส์ใหม่ทุกคนบอก

เรื่องที่ปราศจากตรรกะและไร้เหตุผลอย่างนี้ ก็เหมือนกับคำทำนายของศาสนาและลัทธิความเชื่อในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เรื่องความล่มสลายระดับโลกในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ตามปฏิทินของชาวมายาในอเมริกากลาง (The crash of 2012!) ซึ่งตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๕๕๕ และเป็นปีที่พระเถระมากหลายในพุทธศาสนาและในศาสนาใหญ่แทบจะทุกศาสนาเตือนให้ชาวโลกระวังไว้เหมือนๆ กัน ทั้งยังตรงกับที่ผู้เขียนจะอายุครบ ๘๔ ปี ซึ่งได้เคยบอกกับเพื่อนๆ หลายคนว่าเป็นปีที่ผู้เขียนน่าจะตาย

จริงๆ แล้ว ไม่ว่าใครเชื่อหรือไม่เชื่อเพราะไม่มีตรรกะและเหตุผล ก็ไม่เกี่ยวกับการเกิดหรือไม่เกิดของเหตุการณ์นั้น ทั้งยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทั้งในพุทธศาสนาและฟิสิกส์ใหม่หรือแควนตัมเมคานิกส์ ซึ่งทั้งสองวินัยบอกไว้เหมือนๆ กันว่า เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นศักยภาพของความ “น่าเป็นไปได้” หรือทางเลือกของผู้สังเกต (choice) หรือจิตของเรา (Henry Stapp: Mind, Matter and Quantum Mechanics, 2004 และ Arthur Zajonc editor: The New Physics and Cosmology: Dialogues with the Dalai Lama, 2004) เนื่องจากภาวะล่มสลายของสภาพความเป็นคลื่น (wave-function collapse)

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามคำทำนาย ไม่ได้หมายความว่าผู้ทำนายผิด หรือคาดการณ์เอาเอง แต่โดยที่ทางเลือกของความ “น่าเป็นไปได้” มีหลายๆ อย่าง ทำให้เหตุการณ์ซึ่งเกิดจากการเลือกหรือความล่มสลายของคลื่นเป็นไปอย่างอื่น อย่าลืมว่าแควนตัมเมคคานิกส์นั้น ไม่มีทั้งตรรกะและเหตุผลเช่นในคลาสสิคัลฟิสิกส์ของนิวตัน ที่เป็นความจริงทางโลกแห่งกายวัตถุที่เรามองเห็นหรือรับรู้ อันเป็นที่มาของตรรกะและเหตุผล การเกิดของเหตุที่ก่อผลซึ่งทำนายได้ (cause and effect; and determinism) ซึ่งตรงกันข้ามกับแควนตัมเมคคานิกส์ ดังที่ เดวิด ฟิงเกลสไตน์ นักฟิสิกส์มีชื่อจากเอ็มไอที กล่าวว่า “เราจะหาตรรกะเหตุผลในแควนตัมเมคคานิกส์ไม่ได้หรอก ต้องหาตรรกะทางแควนตัมถึงจะได้” (cited by Nick Herbert: Quantum Reality, 1985)

เพราะฉะนั้น คำทำนายในศาสนาต่างๆ รวมทั้งคำทำนายของนอสตราดามุส เอ็ดการ์ เคซี่ รวมทั้งปฏิทินชาวมายาในเรื่อง ค.ศ. ๒๐๑๒ และเรื่องการย้ายแผนที่โลกหรือย้ายขั้วโลก (geographical reversal & pole shift) จะคล้ายๆ กับเรื่องของ ๕-๕-๒๐๐๐ (วันที่ ๕ เดือน ๕ ปี ค.ศ.๒๐๐๐) ที่ดาวมาเข้าแถวกันถึง ๗ ดวง โดยไม่มีเหตุการณ์อะไร แต่เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นในวันและเวลานั้นๆ ไม่ใช่เป็นการทำนายที่ผิด แต่เป็นไปตามกฎทางเลือกแห่งแควนตัม คือความ “น่าเป็นไปได้” ที่กล่าวมาข้างบน

อย่าลืมว่าศาสดา อรหันต์ นะบี หรือนักบุญในศาสนาต่างๆ นั้น ต่างรับรู้เหตุการณ์ทั้งหลายในสมาธิหรือญาณหยั่งรู้ แม้ว่าการสลายคลื่นศักยภาพของความน่าเป็นไปได้ จะขึ้นอยู่กับจิตใจและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นด้วย แต่ผู้ทรงศีลหลายคนรวมทั้งผู้มีความสามารถต่างเห็นหรือรับรู้เช่นเดียวกัน แม้เวลาจะต่างกัน เช่น ปรากฏการณ์ที่จะเกิดใน ค.ศ. ๒๐๑๒ หรือปีมะโรง พ.ศ. ๒๕๕๕

จึงมีความน่าเป็นไปได้สูงมากกว่าปกติที่นักวิชาการจะต้องฟังเพื่อเตรียมบอกประชาชนว่า จงอย่าได้ประมาทเป็นอันขาด

ริชาร์ด มูลเลอร์ (Richard Muller: Nemesis, 1988) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย คิดว่า ดวงอาทิตย์ของเราเป็นหนึ่งในดาวคู่แฝด (binary-star system) ซึ่งมีวงโคจรที่จะปรากฏให้เราเห็นในท้องฟ้า ว่ามีดวงอาทิตย์สองดวงทุกๆ ๒๖-๓๐ ล้านปี อันพ้องกับเหตุการณ์ล่มสลายของโลกที่เกิดจากอุกาบาตหรือดาวหางวิ่งมาชนโลก เพราะดาวใหญ่จะเกี่ยวมา เช่น ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อนพร้อมๆ กับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ และการสูญพันธุ์ของแมมมอลยักษ์เมื่อราวๆ ๓๐ ล้านปีก่อนพอดี จริงๆ แล้วภายใน ๒๕๐-๒๖๐ ล้านปีที่แล้ว โลกเรามีสภาวะล่มสลายโลกทั้งหมด ๑๐ ครั้ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คิดว่าเกิดจากอุกาบาตหรือดาวหางวิ่งมาชน สังเกตได้จากการพบอิริเดียมในชั้นดินแต่ละครั้งล้วนห่างเวลากัน ๒๖-๓๐ ล้านปีทั้งนั้น ยกเว้น ๒ ครั้งที่วิทยาศาสตร์ไม่รู้ แต่คาดว่าอุกาบาตหรือดาวหางวิ่งเฉียดเฉี่ยวโลกไป

เรื่องที่ ริชาร์ด มูลเลอร์ เขียนในหนังสือ Nemesis นั้น ผู้เขียนได้นำมาเขียนเป็นบทความเมื่อหลายปีก่อน ที่สำคัญคือ ทฤษฎีเรื่องดวงอาทิตย์คู่แฝดที่มีวงโคจรซึ่งจะต้องมาเจอกันในท้องฟ้าทุก ๓๐ ล้านปี - นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อ - ไม่เพียงตรงกับปรากฏการณ์โลกพังที่เกิดจากแรงดึงดูดของดาวคู่แฝดที่วิ่งเข้ามาใกล้ ซึ่งทำให้ดวงอาทิตย์สลับขั้วแม่เหล็กและการย้ายภูมิศาสตร์โลกเป็นประจำ (periodic extinction) เนื่องจากดาวคู่แฝดไปเกี่ยวเอาดาวหางหรืออุกาบาตให้วิ่งมาชนโลกด้วย

ทฤษฎีของมูลเลอร์ตรงกับรายงานของ ปีเตอร์ วอร์โลว์ (Peter Warlow: Pole Flipping and Earth Magnetism, New Scientist, 1978) ที่คิดว่าการย้ายแผนที่โลก (ย้ายขั้วโลกใต้ไปทางเหนือ) และการสลับขั้นแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จากดาวคู่แฝดที่เขามาใกล้ๆ ระบบสุริยะ พร้อมกับเหนี่ยวนำเอาดาวหาง-อุกาบาตมาด้วยนั้น ไม่น่าจะใช่อย่างที่นักคอมพิวเตอร์ขององค์การนาซ่าคิดในอินเทอร์เน็ต

นอกจากทางวิทยาศาสตร์แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวยังตรงกับคำทำนายของศาสนาใหญ่เช่น ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และนอสตราดามุสด้วย

นอสตราดามุสเขียนในโคลง ๒:๔ ว่า

“ดาวใหญ่ดวงหนึ่งจะแผดเผาอยู่เจ็ดวัน

เมฆจะทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นสองดวง”

และโคลงที่ ๑:๘๔ มีว่า

“ดวงจันทร์จะมืดอย่างที่สุด

พี่ชาย (ดวงอาทิตย์) ผ่านสิ่งหนึ่งที่สีแดงคล้ำเช่นสีเลือด

ดาวใหญ่ที่ซ่อนตัวมานาน...ท่ามปลางฝนสีเลือด”

แอลเลน วอห์ฮัน (Alan Vaughan: Patterns of Prophecy, 1976) แปลคำโคลงของนอสตราดามุส ว่า “จะมีดาวใหญ่สีเลือดดวงหนึ่ง (อีกดวง) ปรากฏให้เห็นซึ่งจะลุกไหม้อยู่เจ็ดวัน เมฆจะทำให้เห็นดวงอาทิตย์มีสองดวง” แอลเลน วอห์ฮัน คิดว่าดวงอาทิตย์คู่แฝด “เป็นเรื่องเหลวไหล” ทางดาราศาสตร์ (โคลงของนอสตราดามุไม่เคยเรียงลำดับก่อนหลัง, John White: Pole Shift, 1994)

ผู้เขียนได้เขียนเรื่องที่น่าคิดและน่ากลัวยิ่งนี้ ซึ่งอาจเกิดหรือไม่เกิดในปี ๒๐๑๒ ก็ได้ เพราะรอบเวลาถึง ๓๐ ล้านปีจะมีครั้งหนึ่งดังที่นักดึกดำบรรพ์วิทยาบอกนั้น นับว่ายาวนานนัก ตอนแรกผู้เขียนลังเลใจว่าจะเขียนดีหรือไม่ เพราะผู้เขียนได้เรียนรู้มากขึ้นและอายุมากขึ้นด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้เขียนคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นวินัยที่ค้นหาและตอบความจริง ทั้งเรื่องดังกล่าวยังสนับสนุนชาวโลกให้มีการเปลี่ยนแปลงจิตสู่ระดับจิตวิญญาณที่สูงกว่าได้ จึงตัดสินใจเขียน

อาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เคยพูดในกลุ่มจิตวิวัฒน์ว่า ในปี ๒๐๑๓ มนุษยชาติจะมีจิตสูงกว่าปัจจุบัน แต่ไม่บอกว่าประชากรโลกจะเหลือเท่าไหร่ หรือจะเป็นเช่นที่ เจมส์ ลัฟลอค นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกบอกหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อต้นปีนี้ว่า โลกจะเหลือคนแค่ ๑๘ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่จะเกิดในปี ๒๐๒๐ ไปแล้วเพราะโลกร้อน อาจารย์ยังบอกว่าในปีนั้นจะมีหิมะตก ซึ่งเป็นไปได้ถ้าเกิดการย้ายแผนที่ไปทางเหนือ

โรงเรียนนอกกะลา



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2552

“เราทำไม่ได้หรอก” เป็นคำพูดที่คุณครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ยินจากผู้มาดูงานเสมอๆ คุณครูเล่าว่า มีอยู่คราวหนึ่งที่ได้ยินคำนี้จากผู้มาดูงานถึงห้าครั้งในเวลาครึ่งชั่วโมง

เวทีจิตวิวัฒน์เดือนสิงหาคมได้รับเกียรติจากคุณครูวิเชียรมาเล่าเรื่องโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ให้ฟัง โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีชื่อเสียง มีผู้บริหาร และคุณครูจากเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศไปดูงานมากมาย นำไปสู่คำถามท้าทายว่าจะสามารถทำโรงเรียนแบบลำปลายมาศในพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้จริงหรือ

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีเสียงออดเสียงระฆัง

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีแบบเรียนสำเร็จรูป

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการให้ดาว

เหล่านี้คือประเด็นท้าทายระบบการศึกษา ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาคงเป็นโรงเรียนทางเลือกที่เก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ และนักเรียนมาจากครอบครัวคนชั้นกลางหรือผู้มีอันจะกิน แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนนี้จะมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าได้ด้วยการจับฉลากเท่านั้น และไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ร้อยละ ๗๐ ยากจน อีกอย่างน้อย ๔๐ ครอบครัว เป็นเด็กกำพร้า มีเด็กสติปัญญาบกพร่องร่วมเรียนด้วย

นักเรียนโรงเรียนนี้ทำอะไรกัน มาตรฐานและคุณภาพเป็นอย่างไร คุณครูวิเชียรเล่าผลการประเมินภายนอกให้ฟังว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้มาประเมินโรงเรียนแล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ๑๓ มาตรฐาน และอยู่ในเกณฑ์ดี ๑ มาตรฐาน ผลการสอบเอ็นที (National Test) พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศ ทั้งที่โรงเรียนไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “วิชาวิทยาศาสตร์”

คุณครูของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะใส่ใจในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนเป็นสำคัญ ให้นักเรียนได้เลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ เรียนรู้การวางแผน และลงมือทำจริง จากนั้นจึงนำผลงานมาแสดงและแลกเปลี่ยน ช่วยกันประเมินและเรียนรู้การวางแผนอีก เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยๆ ไป เป็นไปตามปรัชญาที่ว่าการเรียนรู้ที่แท้เกิดจากการลงมือทำจริง

“เมื่อเดือนก่อน ผมกลับไปเยี่ยมบ้าน พบหลานตัวเล็กเรียนอนุบาลที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง” คุณครูวิเชียรเปิดประเด็น “ไหนเอามาดูซิ เรียนอะไร” คุณครูพูดกับหลาน “หลานเขาค้นหนังสือมาให้ดู ๘ เล่มใหญ่ เป็นแบบเรียนสำเร็จรูปที่ทางโรงเรียนจัดให้ ๕ แผ่นแรกเป็นใบความรู้ อีกแผ่นเป็นแบบฝึกหัด แล้วอีกแผ่นเป็นข้อสอบ ทุกวิชาจะเป็นแบบแผนเช่นนี้เหมือนๆ กันหมด”

“พอกลับมาที่โรงเรียน ซึ่งเราจะมีวงพูดคุยกับครู ผมก็ลองแบ่งครูเป็นสองกลุ่ม แจกกระดาษให้ครูแต่ละคน” คุณครูวิเชียรเล่าต่อไป “กลุ่มหนึ่งให้พับกบ พวกเขาฮือฮาเพราะรู้ว่ามีวิธีพับกบอยู่ พวกเขาถกเถียงกัน แล้วมีครูคนหนึ่งบอกว่า หนูจำได้ หนูจะสอนให้ กลุ่มนี้เลยได้กบมาเหมือนๆ กันหมด” คุณครูวิเชียรว่า “อีกกลุ่มให้พับกระต่าย ไม่มีเสียงฮือเหมือนกลุ่มแรก เพราะพวกเขารู้ว่ายังไม่มีใครสอนวิธีพับกระต่าย พวกเขานิ่ง มองหน้ากัน แล้วลองทำดู ปรากฏว่าทุกคนพับได้กระต่าย ๑๐ ตัวที่ไม่เหมือนกันเลย”

เพราะไม่เคยมีใครพับกระต่ายมาก่อน ทุกคนจึงต้องค้นหาวิธีกันเอาเอง ด้วยวิธีนี้ครูแต่ละคนจึงเข้าใจกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น

ผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่พอคุณครูของโรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไปนานๆ เข้า ก็จะเกิดอาการเริ่มรู้ทาง เริ่มรู้ว่าต้องทำอย่างไร เริ่มลัดขั้นตอน แล้วก็ละเลยกระบวนการหาคำตอบด้วยตนเองไปในที่สุด คล้ายๆ กับที่หลายแห่งเผชิญ เปรียบเสมือนรู้วิธีพับกบก็พับแต่กบตามวิธีที่เคยพับกันมา เพราะง่ายกว่า

คุณครูวิเชียรตอบว่า สิ่งที่เราต้องการให้ครูแม่นยำที่สุดคือกระบวนการ ไม่ใช่ความรู้ แล้วในขั้นตอนที่นักเรียนนำผลงานมาแสดงและแลกเปลี่ยนนั้น จะแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ ซึ่งกันและกัน ด้วยวิธีนี้การเรียนรู้จึงจะสดและใหม่อยู่เสมอ

นอกเหนือจากครูแล้วทางโรงเรียนยังต้องเอาชนะใจผู้ปกครองด้วย มีการร่างหลักสูตรเพื่อจัดการผู้ปกครองโดยเฉพาะ เพราะผู้ปกครองมักคาดหวังให้เด็กอ่านออกเขียนได้คัดไทยตามเส้นประโดยเร็ว

“โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีเส้นประ”

โรงเรียนมีชั่วโมงที่ผู้ปกครองจะเวียนกันมาสอนนักเรียน ที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ได้เพราะครูใช้เวลาทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าวันหนึ่งพวกเราต้องตายจากไป ผู้ปกครองก็ต้องตาย ครูก็ตายด้วย ที่เหลืออยู่คือเพื่อนๆ ของลูกเรา การสอนเพื่อนลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยวิธีคิดแบบนี้ใครมีความรู้อะไรก็มาสอน ไม่รู้จะสอนอะไรก็มาทำกับข้าว หรือเล่านิทาน พอเวลาผ่านไปหลายปี ผู้ปกครองจะเริ่มเปลี่ยน ไม่คาดหวังลูกในเรื่องการสอบแข่งขัน แต่มั่นใจในสิ่งที่โรงเรียนทำ ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน เชื่อมั่นว่าเด็กสามารถจะอยู่และเป็นนักจัดการได้ และที่เห็นได้ด้วยตาแน่ๆ คือนักเรียนทุกคนเป็นคนดี ไม่เกเร เมื่อถึงวันไหว้ครู ผู้ปกครองจะเป็นผู้จัดงานให้และมาร่วมงานไหว้ครูกันมากมาย

สำหรับครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแล้ว “ถ้าเป็นครูที่ดีไม่ได้ เราจะไปทำอาชีพอื่น”

ในความเห็นของผู้เขียนบทความ กลับไปที่คำพูดตอนต้นเรื่องว่า “เราทำไม่ได้หรอก” อาจจะฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าหมดทางไป แต่ที่จริงแล้วเราไม่ควรทำได้ หากคำว่าทำได้จะหมายความว่าการลอกแบบโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เพราะไม่มีใครควรลอกใคร

สิ่งที่ผู้ไปดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาควรได้มากกว่าเราทำได้หรือทำไม่ได้ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องกล้าทำหรืออย่างน้อยก็กล้าที่จะเริ่มทำ ให้ตระหนักรู้ว่าการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีต้องการความเป็นอิสระจากการครอบงำทั้งปวง ไม่ยึดติดในมาตรฐานหรือตัวชี้วัดที่ตายตัว พร้อมจะออกแบบระบบใหม่หรือกระบวนการเรียนรู้อย่างใหม่ๆ ด้วยความร่วมมือของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน

เป็นไปได้ว่ายังมีคุณครูอย่างคุณครูวิเชียรหรือคุณครูโรงเรียนแห่งนี้มากมายกระจายในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทย แต่ด้วยการบริหารการศึกษาแบบรวมศูนย์อำนาจทำให้ไม่มีใครกล้าคิดถึงกระบวนการเรียนรู้แบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่ส่วนกลางกำหนด

กรณีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องจิตวิวัฒน์ แต่ยังเป็นเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาด้วย ถ้าผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติมีจิตวิวัฒน์ การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจะเป็นไปได้ แล้วเราจะมีคุณครูอย่างคุณครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาอีกหลายแห่ง

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2552

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน มีข่าวการเสียชีวิตของผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายคน จึงใคร่ขอฉวยและโหนโอกาสมาปรารภและปราศรัยเรื่องความสะทกสะท้อน ความรู้สึก ในการเกิดมรณานุสติ (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) สักบทความหนึ่ง

ที่จริงแล้ว คนตายมีตลอดเวลา แต่ถ้าชื่อเสียงไม่โด่งดัง ผลกระทบในวงกว้าง (มากๆ) ก็ไม่มี แต่การตายทุกครั้งมีผลกระทบต่อสังคมไม่มากก็น้อยเสมอ เพราะไม่มีชีวิตใดที่หลุดพ้นไม่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะชื่อเสียงโด่งดังเหล่านี้ ทำให้เกิดความรู้สึก (แปลกๆ) คือความใกล้เคียงเป็นอมตะหรือเปล่า ที่พอนำมาเคียงคู่กับคำว่า “ตาย” จึงเกิดความสะเทือนใจมากเป็นพิเศษ

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน มีน้องนักศึกษาทันตแพทย์ปี ๑ กลุ่มหนึ่ง กับอาจารย์ที่ปรึกษา มาคุยกันเรื่องกิจกรรมพิเศษเรื่องการศึกษาชีวิตมนุษย์ (น่าอิจฉาที่นักศึกษาทันตะได้เรียนวิชานี้ แต่นักศึกษาแพทย์กลับไม่ได้เรียน อันนี้เป็นความสะท้อนใจวูบหนึ่งที่เกิดขึ้น) ซึ่งเขาจะใช้เวลาถึง ๒ เดือนในการใช้ประสบการณ์ตรงมาเขียนรวบรวมเป็นไดอารีและรายงาน น้องกลุ่มนี้อยากจะมีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ญาติ และอาสาสมัคร เพื่อจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง จึงมาคุยว่าจะเรียนอะไรบ้าง จะเขียนอะไรบ้าง (โครงการ) จะต้องทำอะไรบ้าง

ปรากฏว่า พอน้องเขาถามคำถาม และนำเสนอสั้นๆ ทีละคนว่า ทำไมถึงได้อยากทำเรื่องนี้ คนที่เริ่มเรียนก่อนคือตัวผมเอง เพราะมีหลายๆ คำถามที่ย้ำให้เราใคร่ครวญถึงสิ่งที่เรากำลังทำ และสิ่งที่เรากำลังคิดว่าเรากำลังทำอยู่

  • อยากจะหาวิธีพูดที่เป็นกำลังใจให้คนไข้ ไม่ทำให้เขาเสียใจค่ะ
  • อยากจะทราบว่าคนที่อยู่ในสภาวะแบบนี้ เขาคิดอย่างไร และสู้ต่อไปได้อย่างไร
  • มีอะไรที่เราไม่ควรพูด ไม่ควรทำไหมคะ กลัวจะพูดผิดค่ะ
  • เคยดูแลคุณตาครับ ท่านป่วยอยู่ที่บ้านอยู่นานก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
  • จะรู้สึกอย่างไร ถ้าขณะที่เราทำความดี แต่มีคนยังจะฟ้องร้องเรา หรือแม้กระทั่งทำร้ายเรา
  • วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ (learning objectives) ควรจะมีอะไรบ้าง?
  • กระบวนการเรียนควรจะมีอะไรบ้าง?
  • ให้คะแนนวิชานี้อย่างไร?

คำถามและการสนทนาที่เกิดขึ้น ทำให้ผมนึกย้อนไปในขณะนี้และรู้สึกได้ว่า จริงๆ แล้วตอนนั้นผมไม่ได้อยู่กับน้องๆ ที่มาคุยตลอดเวลา แต่ใช้เวลาส่วนหนึ่งจมลึกลงไปในตัวเอง และคงจะพูดอะไรออกมาหลายอย่างที่จริงๆ แล้วเป็นการพูดกับตัวเองมากกว่ากำลังพูดกับน้องๆ

เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง เมื่อได้มาอยู่ร่วมกับคนที่กำลังจะเสียชีวิตและญาติๆ ของเขา?

ไม่ทราบจะเริ่มต้นตรงไหน ผมลองถามน้องๆ ว่า มีใครเคยใกล้ชิดกับความตายไหม มีน้องนักศึกษาทันตะคนหนึ่งบอกว่า เขาเคยดูแลคุณตาที่ป่วยเป็นมะเร็งที่บ้านหลายปี ต้องป้อนข้าว ป้อนน้ำ แต่ก็ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ที่เหลือไม่เคยเห็นคนตายเหมือนกัน [สะท้อนถึงลักษณะการตายในปัจจุบัน ที่มักจะเกิดขึ้นในที่ลึกลับ เสร็จแล้วต่อไปยังห้องชันสูตร แล้วอาจจะต่อไปที่ห้องแถลงข่าว และส่วนหนึ่งสัมผัสกับความจริงนี้โดยอ่านมรณกรรมประกาศ (obituary) ทางหน้าหนังสือพิมพ์ (ใครลองจินตนาการเมื่อชื่อของเราไปปรากฏอยู่บนหน้านี้ จะได้ความรู้สึก “เหนือจริง” (surreal) เกิดขึ้น)] ดูเผินๆ เหมือนการตายเป็นไปตามระบบสายพาน หรือไหลไปตามครรลอง มีคนมาเก็บงานทีละส่วนๆ จนสิ้นสุด แล้วรอเวลาเมื่อชิ้นใหม่ งานใหม่ ไหลเข้ามาต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

ผมอ่านเจอที่ไหนว่า “เมื่อมีคนเสียชีวิตนั้น เปรียบได้เสมือนกับห้องสมุดหลังหนึ่งไฟไหม้หายไปเลยทีเดียว” (อยากให้มีคนยืนยันโค้ดคำพูดนี้ด้วยครับ)

เรื่องราวที่เป็น “กิจกรรมทบทวนชีวิต” หรือ life review ที่เกิดขึ้น ณ วาระนี้ แต่ละคนจะมีเวลาไม่เท่ากัน และในสภาวะสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน

ก่อนที่จะได้มาคุยกับน้องๆ ทันตะ ผมไปเยี่ยมคนไข้รายหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชายอายุ ๑๘ ปี แต่เป็นมะเร็งกระดูกระยะลุกลามกระจายไปทั่วตัวแล้ว แต่ที่ทำให้เขาทุกข์มากเมื่อตอนเราไปคุย กลับเป็นเรื่องราวชีวิตก่อนหน้านี้ ที่เขาออกมาจากบ้านระหกระเหเร่ร่อนไปอยู่กับคนอื่นตั้งแต่เด็กๆ เพราะที่บ้านพ่อกับแม่แยกทางกัน น้องสาวก็หนีออกจากบ้านเช่นกัน มีประโยคหนึ่งที่ผมถามคือ “ทุกวันนี้หาความสุขได้จากการทำอะไรบ้าง?”

คนไข้ตอบว่า “ไม่มีครับ”

เราถามต่อไปว่า “แล้วในอดีตล่ะ ก่อนหน้านี้ชอบทำอะไร มีความสุขตอนไหน?”

คนไข้นิ่งคิดอยู่นาน… น้ำตาไหล

“นึกไม่ออกครับ…”

นึกถึงตอนที่ผมเคยบรรยายให้นักศึกษาแพทย์ฟัง บางที ณ เตียงสุดท้ายที่เรากำลังนอนอยู่นั้น สิ่งสุดท้ายที่เรามีคือ “ความทรงจำ” นั่นเอง และหน้าที่ของเราคือเอื้ออำนวยความสะดวกทุกอย่างเพื่อให้ความทรงจำดีๆ กลับมาในตอนนั้น เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงเขาไปให้ได้ เช่น การดูแลอาการปวด อาการเหนื่อย อาการต่างๆ ให้ดี แต่มีบางครั้งที่เราพบเขาเมื่อสายเกินไป เพราะคนไข้บางรายจะทนทุกข์กับ “ความทรงจำเก่า” บางประการที่รอเวลาโผล่ปรากฏมาหลายปี แต่ถูกกดเอาไว้ด้วยพลังมากมาย เพราะไม่อยากจะจัดการกับมัน และเมื่อร่างกายเปราะบางลง พลังที่กดไว้ไม่พออีกต่อไป สิ่งเหล่านี้จะประเดประดังพังทลายลงมาเหมือนเขื่อนที่แตกร้าว

คนไข้รายนี้ไม่ได้มีแต่ประสบการณ์เลวร้ายเพียงอย่างเดียว เขาเคยทำงานที่ศูนย์ดูแลรถยนต์ แต่เมื่อร้านต้องปิดกิจการลง เจ้าของร้านก็อุตส่าห์พาไปหานายเก่าที่มีโรงกลึง ซึ่งรับเขาไปทำงานด้วย ฝึกงาน ฝึกประกอบอาชีพ นายใหม่คนนี้เคยถามเขาว่าอยากเรียนต่อไหม เขาจะส่งเรียนให้ แต่ด้วยความเกรงใจจึงได้ปฏิเสธไป ถามว่า “นายคนนี้เป็นคนอย่างไร?” คนไข้ก็บอกว่า “เป็นคนน่ากลัวแต่ใจดีครับ” “น่ากลัวยังไงเหรอ” “แกเป็นคนเสียงดัง สั้น ห้วน (ตามประสาคนใต้) แต่จริงๆ แล้วแกใจดีครับ”

ผมบอกกับพยาบาลที่วอร์ดว่า คนไข้รายนี้อาจจะได้ประโยชน์จากอาสาสมัครข้างเตียง เพราะแกเป็นคนบ้านแตกและทุกข์ของแกเกิดจากความสัมพันธ์ที่เปราะบางมาตลอดทั้งชีวิต โดยเฉพาะจากพ่อและแม่ ส่วนกับหมอกับพยาบาล แกประทับใจมาก คุณพยาบาลก็ยิ้ม แต่บอกว่า “แต่บางทีเราก็เสียงดังนะคะ เพราะแกได้มอร์ฟีนเยอะ สะลึมสะลือ” ผมเลยบอกพยาบาลแกไปว่า “น้องคนนี้ เขามีความประทับใจกับเสียงดังครับ เพราะคนเสียงดังที่เขาเจอนั้นใจดี”

ผมครุ่นคำนึงถึงเรื่องราวนี้ในสมอง ตอนที่คุยกับน้องๆ ทันตะว่า “เราจะได้อะไรบ้าง อะไรคือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่เราจะได้จากกิจกรรมเหล่านี้” ในที่สุดผมตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะได้อะไรบ้าง แต่ป่วยการที่จะปิดป้ายไว้ก่อนว่าเราจะได้อะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นการเตรียมตัวอะไรบางอย่างที่เราสมควรจะได้ เราจึงได้ไปอยู่ตรงนั้น ถ้าเราไปแสวงหาโดยตั้งเป้าไว้ก่อน เราอาจจะพลาดสิ่งที่ถูกส่งมาให้เราเรียนโดยเฉพาะในวันนั้นไป”

แม้กระทั่งสิ่งที่คนไข้รายนี้กำลัง “สอนเราอยู่” เขาเองอาจจะไม่รู้ตัว น้องทันตะคนหนึ่งบอกว่า “หนูอยากจะทำเรื่องนี้ เพราะมันเป็นการให้ และน่าจะเป็นความดีด้วย” เมื่อผมคิดถึงคนไข้รายนี้ ผมจึงบอกไปว่า “ก็จริง... แต่บางที เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ให้หรอกนะ ที่เราไปอยู่ที่นั่น บางครั้งเราพบว่า เรากำลังไปเรียน และเรากำลังไปเอา มากกว่าที่เราจะให้คนไข้เสียอีก”

จิตที่ “อหังการ” ทำให้เราเกิดความฮึกเหิม คะนอง ทรงพลัง อาจจะทำให้เรามีความกระชุ่มกระชวย และมี “ไพ่ขลิบทอง” อยู่ในมือไว้เล่นในเกมแห่งชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องดี แต่จิตอหังการอาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ได้เหมือนกัน ถ้าเรา “สรุป” ไว้ก่อนว่าเราไปในฐานะผู้ให้ ไม่ได้เป็นผู้รับ

และข้อสำคัญ เราอาจจะ “ขาดความรู้สึกกตัญญูรู้คุณ” ไป ซึ่งเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่เราควรจะได้เรียน ในขณะที่เรามีอภิสิทธิ์ไปยืนอยู่ในห้องเรียนชีวิตนั้นๆ

ถ้าหากเราไปทำงาน (และเป็นคำเหมือนกับ “ไปเรียน”) ณ เวลานั้นเองที่เรากำลังรับหน้าที่สืบทอดองค์ความรู้ในห้องสมุดชีวิตส่วนตัวของเรา สืบทอดเพื่ออะไรเล่า? ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้กับใครที่กำลังรอรับอยู่สักคนหนึ่งในอนาคต อาจจะเป็นคนที่เรายังไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำในตอนนี้ แต่เราได้มาเรียน เพื่อจะเป็นตัวเชื่อมความรู้ตรงนี้ไปหาคนสมมติคนนั้นที่กำลังรอเราอยู่ หรือแม้กระทั่งอาจจะนำไปใช้กับคนที่เรารู้จัก กับญาติพี่น้อง และสุดท้ายกับตัวเราเองก็เป็นได้

หลายสัปดาห์ก่อน มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่จำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยลาหยุดงานและเดินทางจาก ม.อ. ไปกรุงเทพเพื่อไปชมคอนเสิร์ต ไมเคิล แจ็คสัน (ชุดที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกนั่นแหละครับ) เลยถามผมว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง คงจะเข้าใจว่าผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ไมเคิล แจ็คสัน ผมเองเพิ่งทราบข่าวจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ตอนกลางคืนว่า ไมเคิล แจ็คสัน ตาย (ไล่ๆ กับ ฟาราห์ ฟอเซท) ในอายุอานาม ๕๐ ปี ก็สะท้อนใจ นั่งเหม่อมองอินเทอร์เนต ค่อยๆ ได้อ่านประวัติและการทบทวนชีวิตของเขาที่ค่อยๆ ผุดโผล่ขึ้นเป็นชุดๆ นั่งชมวิดีโอการแสดงคลาสสิกมากมาย รู้สึกว่าไม่ว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร ทำอะไรไว้บ้าง แต่คนๆ นี้​ “ทิ้งอะไรไว้” มากมาย กว่าคนอีกหลายๆ คนจะได้ทำให้กับโลกที่เราอยู่นี้ การจะด่วนตัดสินคนๆ หนึ่ง ดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไร้สาระอย่างสิ้นเชิง มากกว่าการที่เราควรจะพยายามเรียนรู้ว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง สิ่งที่เรากำลังจะ “ตกทอดไว้ให้คนรุ่นหลัง” คงจะไม่ได้มีเพียงเนื้อหนังมังสา เขา กระดอง แต่เป็นสิ่งอื่นมากกว่า

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

Back to Top