พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2552

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน มีข่าวการเสียชีวิตของผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายคน จึงใคร่ขอฉวยและโหนโอกาสมาปรารภและปราศรัยเรื่องความสะทกสะท้อน ความรู้สึก ในการเกิดมรณานุสติ (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) สักบทความหนึ่ง

ที่จริงแล้ว คนตายมีตลอดเวลา แต่ถ้าชื่อเสียงไม่โด่งดัง ผลกระทบในวงกว้าง (มากๆ) ก็ไม่มี แต่การตายทุกครั้งมีผลกระทบต่อสังคมไม่มากก็น้อยเสมอ เพราะไม่มีชีวิตใดที่หลุดพ้นไม่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะชื่อเสียงโด่งดังเหล่านี้ ทำให้เกิดความรู้สึก (แปลกๆ) คือความใกล้เคียงเป็นอมตะหรือเปล่า ที่พอนำมาเคียงคู่กับคำว่า “ตาย” จึงเกิดความสะเทือนใจมากเป็นพิเศษ

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน มีน้องนักศึกษาทันตแพทย์ปี ๑ กลุ่มหนึ่ง กับอาจารย์ที่ปรึกษา มาคุยกันเรื่องกิจกรรมพิเศษเรื่องการศึกษาชีวิตมนุษย์ (น่าอิจฉาที่นักศึกษาทันตะได้เรียนวิชานี้ แต่นักศึกษาแพทย์กลับไม่ได้เรียน อันนี้เป็นความสะท้อนใจวูบหนึ่งที่เกิดขึ้น) ซึ่งเขาจะใช้เวลาถึง ๒ เดือนในการใช้ประสบการณ์ตรงมาเขียนรวบรวมเป็นไดอารีและรายงาน น้องกลุ่มนี้อยากจะมีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ญาติ และอาสาสมัคร เพื่อจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง จึงมาคุยว่าจะเรียนอะไรบ้าง จะเขียนอะไรบ้าง (โครงการ) จะต้องทำอะไรบ้าง

ปรากฏว่า พอน้องเขาถามคำถาม และนำเสนอสั้นๆ ทีละคนว่า ทำไมถึงได้อยากทำเรื่องนี้ คนที่เริ่มเรียนก่อนคือตัวผมเอง เพราะมีหลายๆ คำถามที่ย้ำให้เราใคร่ครวญถึงสิ่งที่เรากำลังทำ และสิ่งที่เรากำลังคิดว่าเรากำลังทำอยู่

  • อยากจะหาวิธีพูดที่เป็นกำลังใจให้คนไข้ ไม่ทำให้เขาเสียใจค่ะ
  • อยากจะทราบว่าคนที่อยู่ในสภาวะแบบนี้ เขาคิดอย่างไร และสู้ต่อไปได้อย่างไร
  • มีอะไรที่เราไม่ควรพูด ไม่ควรทำไหมคะ กลัวจะพูดผิดค่ะ
  • เคยดูแลคุณตาครับ ท่านป่วยอยู่ที่บ้านอยู่นานก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
  • จะรู้สึกอย่างไร ถ้าขณะที่เราทำความดี แต่มีคนยังจะฟ้องร้องเรา หรือแม้กระทั่งทำร้ายเรา
  • วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ (learning objectives) ควรจะมีอะไรบ้าง?
  • กระบวนการเรียนควรจะมีอะไรบ้าง?
  • ให้คะแนนวิชานี้อย่างไร?

คำถามและการสนทนาที่เกิดขึ้น ทำให้ผมนึกย้อนไปในขณะนี้และรู้สึกได้ว่า จริงๆ แล้วตอนนั้นผมไม่ได้อยู่กับน้องๆ ที่มาคุยตลอดเวลา แต่ใช้เวลาส่วนหนึ่งจมลึกลงไปในตัวเอง และคงจะพูดอะไรออกมาหลายอย่างที่จริงๆ แล้วเป็นการพูดกับตัวเองมากกว่ากำลังพูดกับน้องๆ

เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง เมื่อได้มาอยู่ร่วมกับคนที่กำลังจะเสียชีวิตและญาติๆ ของเขา?

ไม่ทราบจะเริ่มต้นตรงไหน ผมลองถามน้องๆ ว่า มีใครเคยใกล้ชิดกับความตายไหม มีน้องนักศึกษาทันตะคนหนึ่งบอกว่า เขาเคยดูแลคุณตาที่ป่วยเป็นมะเร็งที่บ้านหลายปี ต้องป้อนข้าว ป้อนน้ำ แต่ก็ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ที่เหลือไม่เคยเห็นคนตายเหมือนกัน [สะท้อนถึงลักษณะการตายในปัจจุบัน ที่มักจะเกิดขึ้นในที่ลึกลับ เสร็จแล้วต่อไปยังห้องชันสูตร แล้วอาจจะต่อไปที่ห้องแถลงข่าว และส่วนหนึ่งสัมผัสกับความจริงนี้โดยอ่านมรณกรรมประกาศ (obituary) ทางหน้าหนังสือพิมพ์ (ใครลองจินตนาการเมื่อชื่อของเราไปปรากฏอยู่บนหน้านี้ จะได้ความรู้สึก “เหนือจริง” (surreal) เกิดขึ้น)] ดูเผินๆ เหมือนการตายเป็นไปตามระบบสายพาน หรือไหลไปตามครรลอง มีคนมาเก็บงานทีละส่วนๆ จนสิ้นสุด แล้วรอเวลาเมื่อชิ้นใหม่ งานใหม่ ไหลเข้ามาต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

ผมอ่านเจอที่ไหนว่า “เมื่อมีคนเสียชีวิตนั้น เปรียบได้เสมือนกับห้องสมุดหลังหนึ่งไฟไหม้หายไปเลยทีเดียว” (อยากให้มีคนยืนยันโค้ดคำพูดนี้ด้วยครับ)

เรื่องราวที่เป็น “กิจกรรมทบทวนชีวิต” หรือ life review ที่เกิดขึ้น ณ วาระนี้ แต่ละคนจะมีเวลาไม่เท่ากัน และในสภาวะสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน

ก่อนที่จะได้มาคุยกับน้องๆ ทันตะ ผมไปเยี่ยมคนไข้รายหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชายอายุ ๑๘ ปี แต่เป็นมะเร็งกระดูกระยะลุกลามกระจายไปทั่วตัวแล้ว แต่ที่ทำให้เขาทุกข์มากเมื่อตอนเราไปคุย กลับเป็นเรื่องราวชีวิตก่อนหน้านี้ ที่เขาออกมาจากบ้านระหกระเหเร่ร่อนไปอยู่กับคนอื่นตั้งแต่เด็กๆ เพราะที่บ้านพ่อกับแม่แยกทางกัน น้องสาวก็หนีออกจากบ้านเช่นกัน มีประโยคหนึ่งที่ผมถามคือ “ทุกวันนี้หาความสุขได้จากการทำอะไรบ้าง?”

คนไข้ตอบว่า “ไม่มีครับ”

เราถามต่อไปว่า “แล้วในอดีตล่ะ ก่อนหน้านี้ชอบทำอะไร มีความสุขตอนไหน?”

คนไข้นิ่งคิดอยู่นาน… น้ำตาไหล

“นึกไม่ออกครับ…”

นึกถึงตอนที่ผมเคยบรรยายให้นักศึกษาแพทย์ฟัง บางที ณ เตียงสุดท้ายที่เรากำลังนอนอยู่นั้น สิ่งสุดท้ายที่เรามีคือ “ความทรงจำ” นั่นเอง และหน้าที่ของเราคือเอื้ออำนวยความสะดวกทุกอย่างเพื่อให้ความทรงจำดีๆ กลับมาในตอนนั้น เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงเขาไปให้ได้ เช่น การดูแลอาการปวด อาการเหนื่อย อาการต่างๆ ให้ดี แต่มีบางครั้งที่เราพบเขาเมื่อสายเกินไป เพราะคนไข้บางรายจะทนทุกข์กับ “ความทรงจำเก่า” บางประการที่รอเวลาโผล่ปรากฏมาหลายปี แต่ถูกกดเอาไว้ด้วยพลังมากมาย เพราะไม่อยากจะจัดการกับมัน และเมื่อร่างกายเปราะบางลง พลังที่กดไว้ไม่พออีกต่อไป สิ่งเหล่านี้จะประเดประดังพังทลายลงมาเหมือนเขื่อนที่แตกร้าว

คนไข้รายนี้ไม่ได้มีแต่ประสบการณ์เลวร้ายเพียงอย่างเดียว เขาเคยทำงานที่ศูนย์ดูแลรถยนต์ แต่เมื่อร้านต้องปิดกิจการลง เจ้าของร้านก็อุตส่าห์พาไปหานายเก่าที่มีโรงกลึง ซึ่งรับเขาไปทำงานด้วย ฝึกงาน ฝึกประกอบอาชีพ นายใหม่คนนี้เคยถามเขาว่าอยากเรียนต่อไหม เขาจะส่งเรียนให้ แต่ด้วยความเกรงใจจึงได้ปฏิเสธไป ถามว่า “นายคนนี้เป็นคนอย่างไร?” คนไข้ก็บอกว่า “เป็นคนน่ากลัวแต่ใจดีครับ” “น่ากลัวยังไงเหรอ” “แกเป็นคนเสียงดัง สั้น ห้วน (ตามประสาคนใต้) แต่จริงๆ แล้วแกใจดีครับ”

ผมบอกกับพยาบาลที่วอร์ดว่า คนไข้รายนี้อาจจะได้ประโยชน์จากอาสาสมัครข้างเตียง เพราะแกเป็นคนบ้านแตกและทุกข์ของแกเกิดจากความสัมพันธ์ที่เปราะบางมาตลอดทั้งชีวิต โดยเฉพาะจากพ่อและแม่ ส่วนกับหมอกับพยาบาล แกประทับใจมาก คุณพยาบาลก็ยิ้ม แต่บอกว่า “แต่บางทีเราก็เสียงดังนะคะ เพราะแกได้มอร์ฟีนเยอะ สะลึมสะลือ” ผมเลยบอกพยาบาลแกไปว่า “น้องคนนี้ เขามีความประทับใจกับเสียงดังครับ เพราะคนเสียงดังที่เขาเจอนั้นใจดี”

ผมครุ่นคำนึงถึงเรื่องราวนี้ในสมอง ตอนที่คุยกับน้องๆ ทันตะว่า “เราจะได้อะไรบ้าง อะไรคือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่เราจะได้จากกิจกรรมเหล่านี้” ในที่สุดผมตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะได้อะไรบ้าง แต่ป่วยการที่จะปิดป้ายไว้ก่อนว่าเราจะได้อะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นการเตรียมตัวอะไรบางอย่างที่เราสมควรจะได้ เราจึงได้ไปอยู่ตรงนั้น ถ้าเราไปแสวงหาโดยตั้งเป้าไว้ก่อน เราอาจจะพลาดสิ่งที่ถูกส่งมาให้เราเรียนโดยเฉพาะในวันนั้นไป”

แม้กระทั่งสิ่งที่คนไข้รายนี้กำลัง “สอนเราอยู่” เขาเองอาจจะไม่รู้ตัว น้องทันตะคนหนึ่งบอกว่า “หนูอยากจะทำเรื่องนี้ เพราะมันเป็นการให้ และน่าจะเป็นความดีด้วย” เมื่อผมคิดถึงคนไข้รายนี้ ผมจึงบอกไปว่า “ก็จริง... แต่บางที เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ให้หรอกนะ ที่เราไปอยู่ที่นั่น บางครั้งเราพบว่า เรากำลังไปเรียน และเรากำลังไปเอา มากกว่าที่เราจะให้คนไข้เสียอีก”

จิตที่ “อหังการ” ทำให้เราเกิดความฮึกเหิม คะนอง ทรงพลัง อาจจะทำให้เรามีความกระชุ่มกระชวย และมี “ไพ่ขลิบทอง” อยู่ในมือไว้เล่นในเกมแห่งชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องดี แต่จิตอหังการอาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ได้เหมือนกัน ถ้าเรา “สรุป” ไว้ก่อนว่าเราไปในฐานะผู้ให้ ไม่ได้เป็นผู้รับ

และข้อสำคัญ เราอาจจะ “ขาดความรู้สึกกตัญญูรู้คุณ” ไป ซึ่งเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่เราควรจะได้เรียน ในขณะที่เรามีอภิสิทธิ์ไปยืนอยู่ในห้องเรียนชีวิตนั้นๆ

ถ้าหากเราไปทำงาน (และเป็นคำเหมือนกับ “ไปเรียน”) ณ เวลานั้นเองที่เรากำลังรับหน้าที่สืบทอดองค์ความรู้ในห้องสมุดชีวิตส่วนตัวของเรา สืบทอดเพื่ออะไรเล่า? ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้กับใครที่กำลังรอรับอยู่สักคนหนึ่งในอนาคต อาจจะเป็นคนที่เรายังไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำในตอนนี้ แต่เราได้มาเรียน เพื่อจะเป็นตัวเชื่อมความรู้ตรงนี้ไปหาคนสมมติคนนั้นที่กำลังรอเราอยู่ หรือแม้กระทั่งอาจจะนำไปใช้กับคนที่เรารู้จัก กับญาติพี่น้อง และสุดท้ายกับตัวเราเองก็เป็นได้

หลายสัปดาห์ก่อน มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่จำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยลาหยุดงานและเดินทางจาก ม.อ. ไปกรุงเทพเพื่อไปชมคอนเสิร์ต ไมเคิล แจ็คสัน (ชุดที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกนั่นแหละครับ) เลยถามผมว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง คงจะเข้าใจว่าผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ไมเคิล แจ็คสัน ผมเองเพิ่งทราบข่าวจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ตอนกลางคืนว่า ไมเคิล แจ็คสัน ตาย (ไล่ๆ กับ ฟาราห์ ฟอเซท) ในอายุอานาม ๕๐ ปี ก็สะท้อนใจ นั่งเหม่อมองอินเทอร์เนต ค่อยๆ ได้อ่านประวัติและการทบทวนชีวิตของเขาที่ค่อยๆ ผุดโผล่ขึ้นเป็นชุดๆ นั่งชมวิดีโอการแสดงคลาสสิกมากมาย รู้สึกว่าไม่ว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร ทำอะไรไว้บ้าง แต่คนๆ นี้​ “ทิ้งอะไรไว้” มากมาย กว่าคนอีกหลายๆ คนจะได้ทำให้กับโลกที่เราอยู่นี้ การจะด่วนตัดสินคนๆ หนึ่ง ดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไร้สาระอย่างสิ้นเชิง มากกว่าการที่เราควรจะพยายามเรียนรู้ว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง สิ่งที่เรากำลังจะ “ตกทอดไว้ให้คนรุ่นหลัง” คงจะไม่ได้มีเพียงเนื้อหนังมังสา เขา กระดอง แต่เป็นสิ่งอื่นมากกว่า

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

One Comment

ผู้มาใหม่ กล่าวว่า...

ได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วเกิดความสั่นสะเทือนขึ้นภายในใจ จนน้ำตาไหลออกมาภายนอกให้ได้ใคร่ครวญและตัดสินใจได้ว่า ชีวิตนี้จะทำอย่างไรต่อไปให้ประดับไว้ในโลกา...

ขอขอบพระคุณมากค่ะ
เยาวลักษณ์ จินดาบรรเจิด

Back to Top