มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2549
เมื่อลูกชายอายุ ๖ ขวบของ อัล กอร์ - อดีตอนาคตประธานาธิบดีคนถัดไปของอเมริกา - ประสบอุบัติเหตุรถชนและต้องอยู่ในภาวะใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ร่วมเดือน ในฐานะของผู้เป็นพ่อ อัล กอร์ จะตกอยู่ในภาวะเจ็บปวดทุรนทุรายภายในอย่างไรไม่มีใครล่วงรู้ได้ หากแต่สิ่งที่เขาได้บอกเล่าออกมาในภายหลังก็คือ เขาตั้งคำถามกับตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า “เราควรใช้ชีวิตอย่างไรในโลกนี้?”
เขาได้ประสบกับภาวะที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียผู้เป็นแก้วตาดวงใจ ได้เผชิญหน้ากับคำถามอันเป็นแก่นแกนของชีวิต ใคร่ครวญกับคำถามของตนอย่างลึกซึ้ง และแปรเปลี่ยนชีวิตของตนให้เป็นคำตอบ
ความรักของเขาที่มีต่อลูกชายนั้นคงยิ่งใหญ่มหาศาล เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่สั่งสมมาก็คงได้เวลาผลิดอกงอกใบออกมา เขาเข้าใจแล้วว่าในยามที่เราสูญเสียสิ่งล้ำค่า เราจะเป็นเช่นใด และเมื่อขยายความรักที่มีต่อลูกชายออกมานอกตัวเป็นความรักต่อโลกและสรรพสิ่ง เขาก็พบว่าสิ่งล้ำค่าของมนุษยชาติ ก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง
และหากเวลาของชีวิตหนึ่งบนโลกนี้มีไม่มากนัก เราจะทำอย่างไรให้การดำรงอยู่ของเราบนโลกไม่เป็นไปในรูปแบบของการทำร้ายทำลาย ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกระทั่งลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา
เมื่อหลายวันก่อนหลังจากดูภาพยนตร์ An Incovenient Truth จบ ข้าพเจ้าได้ยินบทสนทนาที่น่าสนใจ
“หากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมไหม?” – เสียงหนึ่งถาม
“ตามผลวิจัย ก็คงสักร้อยปีกระมัง แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงแล้วล่ะ” – เสียงหนึ่งตอบ
วลีที่ว่า “แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงแล้วล่ะ” หมายถึงอะไรหนอ? – หมายถึงชีวิตนี้มันสั้นนัก จะทำอะไรกับโลกไปเราก็ไม่มีอายุยืนยาวอยู่พอที่จะรับผลของมัน ลูกหลานของเราจะอยู่ในโลกที่ไม่สมประกอบหลังจากนี้ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมของเขาอย่างนั้นล่ะหรือ
“คิดมากน่า” - ความหมั่นไส้พยายามปลอบใจ
นึกถึง “คนคิดมาก” ที่รู้จักอีกกลุ่ม ครั้งนั้น ดร. สมพร จันทระ ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ และ ดร. วนารักษ์ ไซพันธุ์แก้ว ยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางสิ่งแวดล้อม ทั้งสามท่านชักชวนพี่น้องเพื่อนฝูงไปปิคนิคและเดินเล่นในป่า หลังจากก่อไฟปิ้งย่างรับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อย ก็ช่วยกันเก็บกวาดเศษอาหารเศษขยะใส่ถุงดำเพื่อขนออกมาทิ้งข้างนอก ข้าพเจ้าเห็นทั้งสามท่านกำลังจัดการกับเตาไฟ เมื่อไปชะโงกดู ก็เห็นกำลังกวาดขี้เถ้าใส่ถุง ข้าพเจ้าขมวดคิ้วถามว่า ขี้เถ้ายังต้องขนไปทิ้งหรือ ฝากไว้กับแม่พระธรณีไม่ได้หรืออย่างไร พี่สาวหนึ่งท่านในนั้นก็ตอบว่า ไม่ได้หรอก ขี้เถ้ามีฤทธิ์เป็นด่าง เรามาทำกิจกรรมในป่า แล้วเรายังจะทำให้ดินของป่า ระบบนิเวศน์ของป่าในระยะยาวเปลี่ยนไปอีกได้อย่างไร
บทเรียนเรื่องขี้เถ้านี้ฝังใจข้าพเจ้าอยู่นานทีเดียว สิ่งที่รับมาประทับในใจเห็นจะเป็นว่า คำสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องใดใดในตำราก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับการได้เห็น “คำสอนที่มีชีวิต” เราไม่อาจเรียนรู้เรื่องศีลธรรมหรือสิ่งแวดล้อมได้จากการท่องพระเวท หากย่อมตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งเมื่อได้สัมผัสกับของจริง กับคนที่ทำชีวิตของตนให้เป็นอย่างนั้นได้จริงๆ
อัล กอร์ เป็นอย่างที่ภาพยนตร์นำเสนอจริงหรือ? หลายคนบอกว่าเขาเป็นคนบ้า เรื่องโลกร้อนก็เป็นแค่ทฤษฎี แต่คนบ้าคนนี้มีหลักฐานงานวิจัยที่พร้อมจะนำเสนอเป็นกะตั๊ก หลายคนมองว่าเขาบ้า คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนทั้งโลกได้อย่างไร ด้วยการพูดบรรยายประกอบสไลด์ไปทีละเมืองทีละเมืองอย่างนั้นหรือ? ถ้า อัล กอร์ บ้าด้วยเหตุนี้ เขาก็คงไม่โดดเดี่ยวนัก เพราะเมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว มีคนบ้ายิ่งกว่าเขา ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งสมบัติพัสถาน โกนผมเผ้าหนวดเครา ไปอยู่ป่า บำเพ็ญภาวนา เมื่อพบกับความรู้แจ้ง ก็เดินจาริกเผยแพร่ธรรม ทีละคน ทีละหมู่บ้าน ทีละเมือง อัล กอร์ ไม่ใช่ศาสดา หากมีสิ่งที่เรียกว่าความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และความกรุณาที่ล่วงพ้นไปจากเขตแดนและกาลเวลา
เรื่องโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง การมองเรื่องโลกร้อนที่จำกัดกรอบพิจารณาเฉพาะพื้นที่จึงเป็นเรื่องตลก อย่าว่าแต่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เลย ถ้าท่วมไปครึ่งโลก กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย เพราะความหมายของพรมแดนประเทศจะหายไป และอาจจะเหลือแต่เพียงพรมแดนแห่งการอยู่รอดเท่านั้น มนุษยชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร หากไม่ใส่ใจความอยู่รอดของโลก
คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร? เมื่อเผชิญกับความจริงที่ไม่น่าพึงใจ มนุษย์เรามักจะปฏิเสธไม่ยอมรับก่อน พอเลี่ยงไม่ได้ก็สุดโต่งไปอีกทาง คือรู้สึกสิ้นหวัง อัล กอร์ เสนอไว้อย่างน่าคิดว่า ถ้าเราเลือกสมดุลตรงกลาง เราก็ต้องถามตนเองว่า – เราจะทำอะไรได้บ้าง
แล้วเราก็จะเป็น อย่างที่ทำนั่นแหละ
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2549
“ใครอายุช่วง ๓๖ - ๔๒ ปีโปรดฟังทางนี้…ขอให้ดีใจถ้าคุณ...เบื่อ เซ็ง สิ้นหวัง เสพติดอยู่กับอะไรสักอย่าง สนุกแต่รู้สึกไร้ความหมาย เกลียดตัวเอง ไร้ความภาคภูมิใจหรือแรงบันดาลใจ มีชีวิตไปวันๆ เพราะผมคิดว่าคุณมาถูกทางแล้วครับ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นกรรมที่มีร่วมกันของคนที่กำลังอยู่ในอายุช่วงนี้ (คนในช่วงอายุอื่นก็อาจประสบกับภาวะการณ์แบบนี้ได้เช่นกัน หากมากน้อยต่างกันไป)”
หลังจากที่ได้เชิญอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เข้าร่วมประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการประชุมที่น่าประทับใจมากหนหนึ่ง ดังที่มีบันทึกการประชุมดีๆ เผยแพร่ออกไป รวมทั้งซีดีเอ็มพี ๓ เรื่อง "การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้" แจกจ่ายออกไปบางส่วน
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารสาธารณะได้สัมภาษณ์อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ช่วยขยายเนื้อหาสาระแห่งการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้เห็นแจ่มชัดขึ้น
เทวาลัยแห่งการเรียนรู้ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไมซอร์ (Mysore University) แดนภารตะ ไม่ได้ทำให้เขาค้นพบคำตอบที่แท้ของชีวิต
เมื่อวันคล้ายวันเกิดปีที่ 50 ของเขา ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2547 ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตัดสินใจลาออกจากข้าราชการ ปลดเปลื้องสถานะทางสังคมเพื่อออกจาริก เขาเดินทางด้วยการเดินเท้า จากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย บ้านเกิดของเขาที่สุราษฎร์ธานี โดยใช้วันเวลาไปทั้งสิ้น 66 วัน
การเดินเท้านับกว่าพันกิโลเมตร เพียงเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต แสวงหาคุณค่าของ “ความเป็นมนุษย์” ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ย่อมไม่ธรรมดา
ยิ่งเขาตั้งเงื่อนไขให้แก่ตนเองว่า จะไม่ขอใครทาน จะไม่พกหรือใช้เงินสักแดงเดียว หากแต่จะขอรับน้ำและอาหารเฉพาะผู้ที่หยิบยื่นให้เท่านั้น การเดินเท้าทางไกลทำนองนี้ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทัศนะของใครหลายคน
ทว่าสำหรับเขา ไม่ใช่เพียงค้นพบคำตอบดังที่ใจปรารถนาระหว่างทาง รวมทั้งพบความสุขทุกขณะก้าวเท่านั้น แต่วันนี้ เขายังยินดีเผื่อแผ่เรื่องราวการเดินเท้าทางไกลไว้ให้แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ประสบปมปัญหาเช่นเดียวกับเขา เก็บรับเป็นแรงใจไว้พร้อมเผชิญหน้ากับฉากชีวิตในชาตินี้ต่อไปอีกด้วย
ทำไมถึงเลือก “การเดินเท้า” เพื่อแสวงหาความรู้
ที่จริงมีองค์ประกอบหลายอย่าง เริ่มต้นที่สุดคงเป็นพื้นฐานการศึกษาของผมที่ศึกษามาทางปรัชญาและศาสนา ที่นี้ ทางปรัชญาและศาสนามีอะไรให้อ่านเยอะมาก ซึ่งผมก็พยายามอ่าน แล้วก็พบว่าหนังสือแต่ละเล่มมีประเด็นเป็นคำตอบ แต่จริงๆ ผมกลับพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นคำตอบสำหรับเรา มันเป็นแต่เพียงคำตอบที่มีผู้อื่นตอบไว้
ทีนี้ มันมาสัมพันธ์กับผมเพราะผมสนใจมิติทางสังคม ผมคิดว่าปัญหาสังคมที่เราคิดเอานั้น ดูเหมือนว่าเรารู้ แต่ที่จริง กลับไม่ใช่ความรู้ที่ใจเราเข้าไปสัมผัสได้จริง
ผมมีความรู้ทางทฤษฎีมาพอสมควรแล้ว จากการได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก จากการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และจากการพูดคุยกับใครหลายคน ผมคิดว่า ถ้ามีคำตอบ การเรียน การทำงานมาขนาดนี้ ผมน่าจะมีคำตอบได้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ใช่
ผมยังมีข้อสงสัยใน “ความเป็นมนุษย์” ที่ยังมีความรู้สึกหวงแหนสิ่งที่เรามีอยู่ รู้สึกหวาดกลัวสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา หรือในฐานะพุทธศาสนิกชนที่รู้ว่า ความรัก ความเมตตาเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งควรจะอยู่ในตัวผม แต่ทำไม ผมถึงทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป
ในบางขณะ บางโอกาส เวลาที่ผมต้องเผชิญกับการโต้เถียงกับคนที่มีข้อโต้แย้งที่แตกต่างกันอย่างมากมาย จนบางครั้ง ผมถึงกับรู้สึกเกลียดเขาด้วยซ้ำไป ในความรู้สึกแบบนี้ มันมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ทำให้ผมต้องหาวิธีอื่นมากกว่าการอ่านหนังสือแล้วคิดเอา
ผมอยากใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาอะไรบางอย่างที่หาไม่ได้จากการนั่งครุ่นคิดหรืออ่านหนังสือ แล้วเมื่อผมคิดว่าผมน่าจะทำเช่นนี้ได้ (คือการเดิน) กอปรกับครอบครัวของผม ผมมีภรรยาที่รักผมมาก มากพอที่จะเป็นพลังให้ผมทำในสิ่งที่รักได้ และผมก็ไม่มีบุตร ไม่มีพันธะที่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ผมน่าจะทำได้
ถ้าเช่นนั้น วันหนึ่ง เมื่อผมคิดกับภรรยาว่าเราน่าจะทำได้เอง โดยไม่ควรโยนภาระนี้ไปให้แก่คนอื่น และที่เราทำนี้ ก็คงไม่ใช่เพียงเพื่อหาคำตอบให้แก่ตัวเองเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงการหาคำตอบให้แก่คนที่ใกล้ชิด และที่รู้จักเรากันในวงกว้างออกไปด้วย สาทิสกุมารแห่งศาสนาเชน สานุศิษย์ของมหาวีระยังทำได้ ทำไมสานุศิษย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างผมจะทำไม่ได้ นี่คือประเด็นที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเราทำได้ และเป็นสิ่งยืนยันที่ชี้ว่า สิ่งที่ผมคิดนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่วิจิตรพิสดารอะไร
ก่อนหน้าจะออกเดิน อาจารย์ได้ปฏิบัติธรรมในรูปแบบไหนบ้าง
พูดถึงเรื่องรูปแบบการปฏิบัติธรรม ผมผ่านการปฏิบัติธรรมเชิงรูปแบบมาตั้งแต่สมัยตอนที่เป็นนักบวชแล้ว ผมเคยเดินจาริกธุดงค์สมัยที่ยังเป็นพระภิกษุ ขณะที่อยู่อินเดีย ผมก็บำเพ็ญตนคล้ายๆ กับนักบวช คือหมายความว่า ถ้าผมจะไปที่ไหน หากเป็นไปได้ ผมจะใช้วิธีเดินไป ตามคติของชาวอินเดีย หรือแม้กระทั่ง ตอนที่ผมจะเดินจริงๆ
เนื่องจากผมงดเว้นการเดินเป็นเวลานาน ผมกับภรรยาจึงปรึกษากันว่า ผมต้องทดสอบก่อน นับจากวันที่ 23 ตุลาคม จนถึง 14 พฤศจิกายน (ปี 2547) นั่นก็เกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ ที่ผมเดินทุกวัน ซ้อมเดินตั้งแต่เช้ามืดจนมาถึงตอนค่ำ เช่น เดินขึ้นไปถึงพระธาตุดอยสุเทพแล้วเดินกลับลงมา
พอมาถึงที่ราบ ผมเดินไม่ได้เลย จะข้ามถนนก็ข้ามไม่ได้ เป็นทางวันเวย์ซึ่งต้องวิ่งข้าม จะรอให้รถหยุดแล้วค่อยข้ามก็ไม่ได้เพราะรถไม่หยุด จนผมต้องจ้างรถพาผมข้ามถนนมาส่งถึงบ้าน ภรรยาของผมที่รออยู่ที่บ้านต้องออกมาอุ้มผมเข้าบ้าน นี่คือการฝึกเดินวันแรกที่บอกให้ผมรู้ว่า การเดินเท้าทางไกลทำได้ แต่ไม่ง่ายนัก
แล้วผมก็เดินทุกวันจนกระทั่งวันหนึ่ง ผมสามารถเดินได้ถึง 30 – 40 กม. ไม่มีปัญหาเลย ผมฝึกสมาธิให้สามารถต้านทานเวลาที่จิตของเราโดนอะไรในทางโลกย์มากระทบ ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ที่เราทั้งปรารถนาและไม่ปรารถนา ยามที่มันมารบกวนเรา เราจะต้องทำจิตของเราให้นิ่ง และเพียรระวังที่จะมีอารมณ์ “อกุศล” คือความโลภ ความโกรธ ความหลง และอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมในเมื่อผมรู้ทั้งรู้ว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัดให้หมดไป
ถึงผมท่องจำทฤษฎีได้เยอะแยะ จำวิธีการกำจัดความโกรธ แต่ผมก็กำจัดไม่ได้ มันเข้ามารบกวนจิตของผม ทำให้ผมเสียสมาธิ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ด้วยวิธี “คิด” เอาเอง ผมจำต้องบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำจิตของผมให้มีเมตตาธรรมอย่างจริงจังในความรู้สึก ไม่ใช่เป็นความเมตตาจาก “ความคิด”
การปฏิบัติธรรมที่ผ่านมา จึงเป็นการปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่ถูกจัดวางไว้แล้ว ปฏิบัติได้อย่างสบาย เช่น อยู่ในที่ๆ เงียบสงบ ไม่มีใครมารบกวน ซึ่งอย่างนั้น ผมคิดว่าทำไม่ยาก แต่ผมต้องการทำสมาธิภาวนาในขณะที่เราก้าวย่างไปสู่ชุมชน ซึ่งบางครั้ง ก็มีคนรังเกียจเดียดฉันท์เรา บางครั้งคนก็กลัวเรา บางครั้งคนเขาก็ไล่เรา ซึ่งผมอยากจะรู้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้น จิตของผมจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันหนึ่ง ผมไม่ได้เป็นอาจารย์ เมื่อวันหนึ่ง ผมไม่ใช่ใครสักคนที่มีใครรู้จัก ไม่ใช่พระ แต่เป็นคนแปลกหน้า ผมอยากเรียนรู้ว่า ถ้าวันหนึ่งที่ผมตกอยู่ในสายตาของคนอื่นว่าเป็นคนบ้า คนน่ากลัว ผมจะทำจิตของผมอย่างไร นี่คือการทำสมาธิภาวนาในมิติทางสังคมอย่างที่ผมต้องการทำจริงๆ
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2549
ช่วงนี้การเมืองดูสับสนอลหม่าน สับสนเสียจนข้าพเจ้านึกถึงทฤษฎีโกลาหล Chaos Theory ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์เคยนำเสนอต่อสังคมไทยในเชิงอุปมาทางวัฒนธรรม ข้าพเจ้าคิดว่าหากนำโจทย์ที่อาจารย์ชัยวัฒน์เคยทิ้งไว้เกี่ยวกับทางแพร่งของสังคมไทยมาขบคิดต่อ เราก็อาจจะมีทางเลือกอื่นเพิ่มเติมได้ในวาระเช่นนี้
หลายคนแย้งว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะมาปรับใช้กับทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรมได้ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ กลศาสตร์แบบนิวตัน ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ก็ได้แปรสภาพมาเป็นโลกทัศน์แบบกลไก และการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำความคิดในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มาได้ยาวนาน แล้วทฤษฎีโกลาหลซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่มีอายุเพียง ๓๐ ปี น่าจะทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไปอย่างไรได้บ้าง?
ทฤษฎีโกลาหลบอกเราว่า ชีวิตนั้นแท้จริงแล้วก็คือความโกลาหล ไม่อาจควบคุมได้ แต่หากเรายอมรับและชื่นชมกับความจริงนี้ได้ ก็ย่อมค้นพบโอกาสและหนทางใหม่ เพื่อเข้าถึงสัจจะความจริงในระดับที่ละเอียดประณีตขึ้นไป
เมื่อครั้งที่แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน กำลังยืนอยู่ตรงขอบของพรมแดนความรู้ฟิสิกส์ทฤษฎีในยุคนั้น เขายอมรับว่าตนเองตกอยู่ในภาวะสับสน ไม่แน่นอน มีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ และประกอบด้วยความลังเลสงสัยอยู่มาก แต่เมื่อเขาทอดทิ้งความกังวล ทดลองก้าวออกจากเขตแดนเดิม เขาก็ได้พบกับคำตอบแบบใหม่ นั่นคือ กลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเปิดโฉมหน้าฟิสิกส์กระบวนทัศน์ใหม่ขึ้นมาคู่ขนานกับทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์
ความคิดใหม่ ทัศนะใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากยอมตนเข้าไปสู่ในภาวะความสับสน และเมื่อเขากล้าที่จะเสี่ยง ยอมที่จะผิดพลาด เขาก็ได้รับโอกาสในการเข้าถึงมุมมองใหม่ และต่อยอดความรู้ออกไปได้อีก
และเมื่อผู้หญิงผิวดำตัวเล็กๆ อย่างโรซา พาร์ก ได้ปฏิเสธการลุกจากที่นั่งให้กับคนผิวขาว ก่อนจะถูกจับดำเนินคดี และนำไปสู่ขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๕ การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากคนเพียงคนเดียวแต่ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ยิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดตามทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีก ซึ่งทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งเดิมคิดว่า ต้องมีอำนาจจึงจะควบคุมเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาได้ ในสภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวายได้เปิดโอกาสให้เราได้เปลี่ยนแปลงตนเอง แม้เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ย่อมนำไปสู่ความตระหนักรู้ร่วมกันของผู้คนจำนวนมหาศาล
ในป่าเขตร้อน ขอนไม้ผุเริ่มเป็นที่อยู่ของเห็ดรา ซึ่งเรียกเอาพวกมดหรือนกเข้ามาหาอาหารและทำรัง ในสังคมที่ดูวุ่นวายไร้ระเบียบนี้ ปรากฏระบบการจัดการตัวเองอย่างชัดเจน เห็ดรารู้ว่าจะหาขอนผุได้ที่ไหน มดทุกตัวรู้ว่าตัวเองจะทำทำหน้าที่อะไรโดยไม่มีใครสั่ง
เรามักจะคิดว่าองค์กรต้องมีผู้นำ ต้องมีการแข่งขัน และครอบครองอำนาจ แต่ธรรมชาติเป็นเรื่องของการเกื้อกูลอิงอาศัยกัน หาใช่เป็นการแข่งขันดังที่นักทุนนิยมและผู้นิยมดาร์วินมักอ้างถึง เมื่อผู้คนแปลกแยกจากกัน การเริ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอาจจะเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้อง แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป พลังภายในตัวปัจเจกแต่ละคนจะไหลเลื่อนเชื่อมโยงกันได้ กลายเป็นพลังกลุ่ม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคได้ ดังที่เคยปรากฎอยู่ในวงสุนทรียสนทนาบ่อยครั้ง
ฟริตจอฟ คาปรา นักคิดร่วมสมัยเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เรากำลังประสบภาวะวิกฤติในการรับรู้” ดังที่ลงทุนมหาศาล เพื่อส่งนักบินอวกาศขึ้นไปนอกโลก และเมื่อมองลงมา จึงได้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง” – โลกทัศน์เดิมที่แต่ละคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจ
ความรู้และเทคโนโลยีในยุคแห่งการรู้แจ้งได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์แบบองค์รวมไปสู่แบบกลไก มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีอายุยืน แต่ชีวิตได้กลายเป็นกลไกที่แยกส่วนจากกันไปเสียแล้ว วิกฤติทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนนี้
เราถูกสอนว่า ปัญหาสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวกับตัวเรา เราจึงไม่อาจตอบได้ว่า ผู้นำที่ฉ้อฉลเผด็จการ เชิดชูเงินตราให้อยู่เหนือคุณค่าความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณ มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมอย่างไร
ความรู้จากทฤษฎีโกลาหลกำลังจะนำเราเข้าสู่กระบวนทัศน์แบบใหม่ เราต้องหวนคืนไปสู่องค์รวม เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง
เราอาจเข้าใจได้ว่า การที่กดราคาข้าวไว้ต่ำย่อมทำให้การปลูกฝิ่นน่าพิศมัยกว่า การปล่อยให้มีการซีดีเถื่อนขายเกลื่อนเมืองย่อมทำให้เด็กและเยาวชนหาซี้อวีซีดีโป๊มาดูได้ในราคายี่สิบบาท
หรืออีกนัยหนึ่ง แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ปัญหา การตั้งคำถามว่าการใช้ยาเสพติดข้องเกี่ยวกับเราในฐานะสังคมอย่างไร? การดูภาพยนต์อุจาดลามกเกิดขึ้นได้ในสังคมแบบไหน? ด้วยคำถามเหล่านี้ เราอาจจะพบหนทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ได้
ที่สำคัญ ทฤษฎีโกลาหลย้ำว่า ในโลกที่สรรพสิ่งเชื่อมโยงถึงกันทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวเองแม้จะดูเล็กน้อย ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกและจักรวาลทั้งหมด