คนที่เปลี่ยน โลกที่เปลี่ยน

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2549

เมื่อลูกชายอายุ ๖ ขวบของ อัล กอร์ - อดีตอนาคตประธานาธิบดีคนถัดไปของอเมริกา - ประสบอุบัติเหตุรถชนและต้องอยู่ในภาวะใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ร่วมเดือน ในฐานะของผู้เป็นพ่อ อัล กอร์ จะตกอยู่ในภาวะเจ็บปวดทุรนทุรายภายในอย่างไรไม่มีใครล่วงรู้ได้ หากแต่สิ่งที่เขาได้บอกเล่าออกมาในภายหลังก็คือ เขาตั้งคำถามกับตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า “เราควรใช้ชีวิตอย่างไรในโลกนี้?”

เขาได้ประสบกับภาวะที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียผู้เป็นแก้วตาดวงใจ ได้เผชิญหน้ากับคำถามอันเป็นแก่นแกนของชีวิต ใคร่ครวญกับคำถามของตนอย่างลึกซึ้ง และแปรเปลี่ยนชีวิตของตนให้เป็นคำตอบ

ความรักของเขาที่มีต่อลูกชายนั้นคงยิ่งใหญ่มหาศาล เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่สั่งสมมาก็คงได้เวลาผลิดอกงอกใบออกมา เขาเข้าใจแล้วว่าในยามที่เราสูญเสียสิ่งล้ำค่า เราจะเป็นเช่นใด และเมื่อขยายความรักที่มีต่อลูกชายออกมานอกตัวเป็นความรักต่อโลกและสรรพสิ่ง เขาก็พบว่าสิ่งล้ำค่าของมนุษยชาติ ก็คือโลกที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง

และหากเวลาของชีวิตหนึ่งบนโลกนี้มีไม่มากนัก เราจะทำอย่างไรให้การดำรงอยู่ของเราบนโลกไม่เป็นไปในรูปแบบของการทำร้ายทำลาย ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกระทั่งลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา

เมื่อหลายวันก่อนหลังจากดูภาพยนตร์ An Incovenient Truth จบ ข้าพเจ้าได้ยินบทสนทนาที่น่าสนใจ

“หากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมไหม?” – เสียงหนึ่งถาม

“ตามผลวิจัย ก็คงสักร้อยปีกระมัง แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงแล้วล่ะ” – เสียงหนึ่งตอบ

วลีที่ว่า “แต่เราก็คงอยู่ไม่ถึงแล้วล่ะ” หมายถึงอะไรหนอ? – หมายถึงชีวิตนี้มันสั้นนัก จะทำอะไรกับโลกไปเราก็ไม่มีอายุยืนยาวอยู่พอที่จะรับผลของมัน ลูกหลานของเราจะอยู่ในโลกที่ไม่สมประกอบหลังจากนี้ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมของเขาอย่างนั้นล่ะหรือ

“คิดมากน่า” - ความหมั่นไส้พยายามปลอบใจ

นึกถึง “คนคิดมาก” ที่รู้จักอีกกลุ่ม ครั้งนั้น ดร. สมพร จันทระ ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ และ ดร. วนารักษ์ ไซพันธุ์แก้ว ยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางสิ่งแวดล้อม ทั้งสามท่านชักชวนพี่น้องเพื่อนฝูงไปปิคนิคและเดินเล่นในป่า หลังจากก่อไฟปิ้งย่างรับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อย ก็ช่วยกันเก็บกวาดเศษอาหารเศษขยะใส่ถุงดำเพื่อขนออกมาทิ้งข้างนอก ข้าพเจ้าเห็นทั้งสามท่านกำลังจัดการกับเตาไฟ เมื่อไปชะโงกดู ก็เห็นกำลังกวาดขี้เถ้าใส่ถุง ข้าพเจ้าขมวดคิ้วถามว่า ขี้เถ้ายังต้องขนไปทิ้งหรือ ฝากไว้กับแม่พระธรณีไม่ได้หรืออย่างไร พี่สาวหนึ่งท่านในนั้นก็ตอบว่า ไม่ได้หรอก ขี้เถ้ามีฤทธิ์เป็นด่าง เรามาทำกิจกรรมในป่า แล้วเรายังจะทำให้ดินของป่า ระบบนิเวศน์ของป่าในระยะยาวเปลี่ยนไปอีกได้อย่างไร

บทเรียนเรื่องขี้เถ้านี้ฝังใจข้าพเจ้าอยู่นานทีเดียว สิ่งที่รับมาประทับในใจเห็นจะเป็นว่า คำสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องใดใดในตำราก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับการได้เห็น “คำสอนที่มีชีวิต” เราไม่อาจเรียนรู้เรื่องศีลธรรมหรือสิ่งแวดล้อมได้จากการท่องพระเวท หากย่อมตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งเมื่อได้สัมผัสกับของจริง กับคนที่ทำชีวิตของตนให้เป็นอย่างนั้นได้จริงๆ

อัล กอร์ เป็นอย่างที่ภาพยนตร์นำเสนอจริงหรือ? หลายคนบอกว่าเขาเป็นคนบ้า เรื่องโลกร้อนก็เป็นแค่ทฤษฎี แต่คนบ้าคนนี้มีหลักฐานงานวิจัยที่พร้อมจะนำเสนอเป็นกะตั๊ก หลายคนมองว่าเขาบ้า คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนทั้งโลกได้อย่างไร ด้วยการพูดบรรยายประกอบสไลด์ไปทีละเมืองทีละเมืองอย่างนั้นหรือ? ถ้า อัล กอร์ บ้าด้วยเหตุนี้ เขาก็คงไม่โดดเดี่ยวนัก เพราะเมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว มีคนบ้ายิ่งกว่าเขา ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งสมบัติพัสถาน โกนผมเผ้าหนวดเครา ไปอยู่ป่า บำเพ็ญภาวนา เมื่อพบกับความรู้แจ้ง ก็เดินจาริกเผยแพร่ธรรม ทีละคน ทีละหมู่บ้าน ทีละเมือง อัล กอร์ ไม่ใช่ศาสดา หากมีสิ่งที่เรียกว่าความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และความกรุณาที่ล่วงพ้นไปจากเขตแดนและกาลเวลา

เรื่องโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง การมองเรื่องโลกร้อนที่จำกัดกรอบพิจารณาเฉพาะพื้นที่จึงเป็นเรื่องตลก อย่าว่าแต่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เลย ถ้าท่วมไปครึ่งโลก กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย เพราะความหมายของพรมแดนประเทศจะหายไป และอาจจะเหลือแต่เพียงพรมแดนแห่งการอยู่รอดเท่านั้น มนุษยชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร หากไม่ใส่ใจความอยู่รอดของโลก

คนคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร? เมื่อเผชิญกับความจริงที่ไม่น่าพึงใจ มนุษย์เรามักจะปฏิเสธไม่ยอมรับก่อน พอเลี่ยงไม่ได้ก็สุดโต่งไปอีกทาง คือรู้สึกสิ้นหวัง อัล กอร์ เสนอไว้อย่างน่าคิดว่า ถ้าเราเลือกสมดุลตรงกลาง เราก็ต้องถามตนเองว่า – เราจะทำอะไรได้บ้าง

แล้วเราก็จะเป็น อย่างที่ทำนั่นแหละ

Back to Top