มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2549
ก่อนอื่นขอแจ้งว่าบทความนี้ไม่เกี่ยวกับนักการเมือง
สัปดาห์นี้ เราสนทนากันถึงสภาวะของจิตที่ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กระวนกระวาย และกลุ้ม กังวล
นิสิตปริญญาเอกกำลังจะเข้าสอบเพื่อการรับรองดุษฎีนิพนธ์ เขาเดินเข้าไปในห้องใหญ่ เงียบสนิท ไฟสว่างจ้า มีกรรมการสอบ ๕ คน นั่งเคร่งขึมจ้องมองมาที่ตัวเขา
นิสิตคนนั้นรู้สึกหวั่นไหว จำเป็นต้องตั้งสติให้ดี มิฉะนั้นอาจมีกิริยาปากกล้าขาสั่น
หญิงสาวนั่งอยู่ในร้านอาหาร มีความรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งกำลังจ้องเธออยู่ เหลียวไปพบชายหนุ่มกำลังมองมา ทำหน้ายิ้มๆ เธอรู้สึกหวั่นไหว ไม่แน่ใจว่าหนุ่มคนนี้จะมาไม้ไหน
พนักงานบริษัทหนึ่ง ย้ายที่ทำงาน ๓ บริษัทแล้ว เขาไปอยู่ที่ไหน ประธานบริษัทล้มละลายทุกแห่ง ขณะที่งานของเขากำลังรุ่งอยู่ในขณะนี้ ประธานบริษัทก็เชื่อมือเขามาก แต่อยู่ๆ บริษัทก็มีลางบอกเหตุว่ากำลังจะซวดเซ เขาจึงรู้สึกหวั่นไหว ไม่กล้าออกมาวางก้ามเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ใหญ่เหมือนเช่นเคย
นักกีฬาคนหนึ่งเป็นแชมเปี้ยนมาทุกเกมแข่งขัน เขามั่นใจว่าไม่มีใครมาชนะเขาได้ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีคนเก่งโนเนมมาเป็นคู่แข่ง แสดงฝีมือตอนซ้อมชนะสถิติที่เขาเคยทำมา เขารู้สึกหวั่นไหว ใจหนึ่งก็คิดหาเหตุผลที่จะไม่ลงแข่งครั้งนี้ แต่เสียงเชียร์ให้เขาสู้ตายก็ดังมาไม่ขาดระยะ เขาก็เริ่มลังเลไม่แน่ใจ เขาเชื่อว่าคนที่เชียร์เขาต้องเป็นคนที่รักเขา ดังนั้นจิตที่อ่อนไหวก็เริ่มฮึกเหิม เขาพร้อมที่จะลงสนามแข่ง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน
ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ผู้เขียนประสงค์จะอธิบายสภาวะหนึ่งของจิตที่ตกอยู่ในนิวรณ์
นิวรณ์ ๕ เป็นหัวข้อธรรมที่กั้นขวางจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นอกุศลธรรม ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง และทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง
จิตที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ จะลุ่มหลงอยู่ในความปรารถนา มีความขัดเคือง หดหู่ เซื่องซึม บางครั้งมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กลุ้ม กังวล มีความไม่แน่ใจในเหตุการณ์อนาคต ไม่มั่นใจและมักจะออกอาการลังเล สงสัย วันนี้เป็นอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง เขามักจะโทษว่าคนอื่นผิด ตนเองทำถูก คนที่คิดประเภทนี้ ทางจิตวิทยาถือว่าเป็นพวก I am O.K., you are not O.K.
ใครที่รู้ตัวว่ากำลังมีสภาวะหวั่นไหวเช่นนี้ วิธีการแก้ไขอย่างรีบด่วน คือการแสวงหากัลยาณมิตร ที่จะชี้แนะ และช่วยเหลือให้รู้จักวิเคราะห์ตนเอง เข้าถึงความจริงเพื่อเกิดสติ และใช้ปัญญา
คนที่โชคดี คือคนที่มีกัลยาณมิตรแวดล้อมอยู่ กัลยาณมิตรเป็นเพื่อนแท้ ที่ไม่หวังฉกฉวยผลประโยชน์จากเพื่อน คอยเตือนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่ชักนำไปในทางที่เสื่อม
กัลยาณมิตร มีความจริงใจและพูดตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าเพื่อนมีสภาพจิตที่หวั่นไหว เขาจะมาช่วยหาสาเหตุ และช่วยชี้ทางธรรมเพื่อปรับปรุงตน คือ สังวร ๕ ประการ ซึ่งจะช่วยให้มีวินัยในตนเอง สำรวมกายวาจาใจ ใช้สติ มีความอดทนอดกลั้น พากเพียรในการเลี้ยงชีพอย่างสุจริต และใช้ปัญญาญาณ คือความรู้ในการพิจารณาตนเองท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ในที่สุด จิตก็จะผ่องใสขึ้น คลายทุกข์ได้
คนที่โชคร้ายก็คือคนที่นอกจากไม่มีกัลยาณมิตรแล้ว เขายังถูกแวดล้อมด้วยปัจจามิตร คือ ศัตรูที่แฝงมาในร่างของมิตร เพียงเพื่อตักตวงผลประโยชน์ และอำนาจวาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายคำ “มิตตปฏิรูปก์” หรือ “มิตรเทียม” ไว้ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ว่าเป็นคนที่พึงทราบว่าเป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีความหมายคล้ายกับปัจจามิตรนั่นเอง มิตรประเภทนี้มี ๔ ลักษณะ คือ (๑) คนปอกลอก (๒) คนดีแต่พูด (๓) คนหัวประจบ (๔) คนชวนฉิบหาย
เฉพาะลักษณะที่ ๓ นั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ พระคุณเจ้าอธิบายคำ “คนหัวประจบ” ไว้ ๔ ประการ คือ
๑) จะทำชั่วก็เออออ
๒) จะทำดีก็เออออ
๓) ต่อหน้าสรรเสริญ
๔) ลับหลังนินทา
พวกศัตรูในร่างมิตรนี้อันตรายอย่างยิ่ง คนพวกนี้นอกจากจะปากหวาน พินอบพิเทา กราบไหว้แล้ว ยังอาจจะใช้อุปกรณ์และวิธีการต่างๆ มาประกอบ เช่น การมอบดอกไม้ ของกำนัล ร้องเพลงเชียร์ เพื่อตอกย้ำความรู้สึกมั่นใจ ฮึกเหิม ลืมตัว จนกว่าจะรู้ซึ้งว่าหลงผิดก็สายเกินจะกลับตัว
สังคมไทยขณะนี้เป็นสังคมข่าวสารและสังคมตรวจสอบอย่างเข้มข้น ประชาชนเริ่มค้นหาความดีและคนดี และเริ่มจำแนกได้ว่าใครดีแท้ และใครดีปลอมๆ เกิดโครงการในองค์กรต่างๆ เพื่อทำแผนที่คนดี และค้นพบว่าคนดีๆ มีอยู่ทั่วไปเต็มแผ่นดิน เขาเป็นคนธรรมดา พระธรรมดา ข้าราชการธรรมดา แต่ชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างสังวร มีสติ ใช้ปัญญา และเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น
ความชั่วและคนชั่วก็ยังมีอยู่ และมักจะเป็นข่าวบอกเล่ากันทุกวัน สำรวจดีๆ บางทีอาจพบว่าคือตัวเราเอง เมื่อใดที่ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังทำไม่ดี จงเร่งตั้งสติ ปรึกษากัลยาณมิตร แสวงหาหนทางที่ช่วยให้รู้คิดอย่างมีโยนิโสมนสิการ
จิตที่หวั่นไหวนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา หลายครั้งที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จนทำให้จิตหวั่นไหว สภาวะของจิตจึงต้องได้รับการฝึกฝน ภาวนาอย่างพากเพียรต่อเนื่องจนเกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง พอที่จะต้านกับแรงกดดันในชีวิตได้
ถ้าต้องการพัฒนาจิตด้วยตนเอง วิธีง่ายๆ นั้น ทำได้โดยฝึกสติสังวร หรืออินทรีย์สังวร เป็นการสำรวมสติ ตั้งมั่น ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสกับสิ่งที่พึงประสงค์ หรือไม่พึงปรารถนา กำหนดรู้ว่าสิ่งที่ได้เห็นได้ยินนั้นจะเกิดผลดีหรือร้าย ก็แล้วแต่อารมณ์จะปรุงแต่งให้เป็นไป เมื่อกำหนดรู้เท่าทันแล้ว จิตก็ไม่หวั่นไหวโดยง่าย
การตั้งสติสำรวมตนให้กำหนดรู้ ทำให้บุคคลมีเวลาหยุดยั้งสักนิด เพื่อคิดก่อนพูด คิดอย่างตริและตรอง ก็จะไม่เป็นคนปากไว มือไว ท้าตีท้าต่อย เพื่อกลบเกลื่อนความหวั่นไหวของตนเอง
การสำรวมจิต นำไปสู่พฤติกรรมที่สำรวม สุขุม ซึ่งเป็นกิริยาที่ดีตามวิถีวัฒนธรรมไทย แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนเฉื่อยชา เชื่องช้า ซึมเซา ซึ่งเป็นท่วงท่าที่สุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง
ในสังคมที่กำลังเร่งรีบ แข่งขันกันอยู่อย่างบ้าคลั่ง จนทำให้จิตใจของผู้คน ฟุ้งซ่าน ระส่ำ ระสาย บทความนี้เป็นเพียงเสียงเตือนค่อยๆ ของกัลยาณมิตร ที่หวังให้เพื่อนร่วมทุกข์ได้พบทางสร้างสุขในจิตใจ
ปัจจุบันนี้วงการศึกษาไทยได้เริ่มคิดถึงการพัฒนาปัญญา และกระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลมากขึ้น เราเริ่มตระหนักว่าการเรียนเพื่อรู้เรื่องภายนอกตัว การเรียนศาสตร์หรือความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกกว้างเท่านั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาความรู้ภายในตนควบคู่กันไป เกิดความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก วิธีการรับรู้ของตน วิเคราะห์ตน แล้วหมั่นฝึกจิตของตนให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้น การภาวนา การปฏิบัติฝึกฝนขัดเกลาจิต จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวพ้นนิวรณ์ ๕ เกิดศีลสังวร คือความสำรวมระวังตน เพื่อปิดกั้นบาปและอกุศลทั้งปวง
ความสำรวมกาย วาจา ใจ จึงเป็นภูมิคุ้มกันความหวั่นไหว เป็นต้นทางของสติ เป็นที่มาของศรัทธา และเป็นแนวนำสู่ปัญญา เกิดสภาวะจิตที่ตั้งมั่น สงบ และสง่างาม
ท่ามกลางมิตรเทียมที่ห้อมล้อมอยู่ บุคคลใดสำนึกได้ จงรีบเสาะหากัลยาณมิตรสักคนหนึ่ง เพื่อสนทนาและฟังเขาอย่างลึกซึ้ง จิตที่หวั่นไหวจะผ่อนคลายลง
ลองเป็นคนธรรมดาสักระยะเวลาหนึ่ง ไม่มีอำนาจ ไม่มีผลประโยชน์ ให้คุณให้โทษใครไม่ได้ อยู่อย่างสันโดษและสำรวมตน ทำได้เช่นนี้ ไม่นานปัจจามิตรที่ตามติดอยู่จะถอยไป เหลือไว้แต่เพื่อนแท้ไม่กี่คน
ถึงเวลานั้น จิตไม่หวั่นไหว ใจก็เป็นสุข
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2549
ในบรรดารูปแบบและวิธีการที่หลากหลายในการเรียนรู้ของมนุษย์ เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้เรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นความประณีตละเอียดอ่อน
การเล่าเรื่องและการเรียนรู้จากเรื่องเล่าเป็นความสามารถที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เด็กเล็กๆ จึงสามารถเรียนรู้โลกจากการฟังเรื่องเล่ามาเนิ่นนานก่อนหน้าที่จะรู้จักตัวเลขและการคำนวณ อาจกล่าวได้ว่า สัญชาตญาณการเรียนรู้จากเรื่องเล่านี้เองที่ทำให้มนุษย์เข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่ซับซ้อนได้แตกต่างไปจากสัตว์
เพราะมนุษย์ทำความเข้าใจโลกผ่านเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องเป็นสำคัญ โลกและการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งจึงปรากฏในความรับรู้ของมนุษย์ในรูปของเรื่องราว
ในวัฒนธรรมต่างๆ มีเรื่องเล่ามากมายที่สังคมใช้บอกกล่าวเล่าความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการกำเนิดโลกและตำนานปฐมกาลในศาสนาต่างๆ หรือแม้แต่ทฤษฎีการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ก็เป็นความพยายามที่จะบอกเล่าและเข้าใจโลกในฐานะของเรื่องราวที่มีจุดกำเนิด มีการคลี่คลายที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนเป็นโลกที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
จารีตความรู้ต่างๆ ในอารยธรรมมนุษย์แต่ครั้งประวัติศาสตร์ก็อาศัยเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นมหากาพย์ ตำนาน นิทาน หรือชาดก ในการปลูกฝังมโนทัศน์ ถ่ายทอดแง่คิด รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่มนุษยชาติมาโดยตลอด
แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เรามักเชื่อกันว่ายึดถือความรู้ที่เน้นเฉพาะข้อเท็จจริงและการตรวจวัดในเชิงปริมาณ ก็ยังต้องเรียนรู้และถ่ายทอดความคิดผ่านเรื่องเล่า ดังเรื่องราวของกาลิเลโอผู้หย่อนวัตถุที่หนักเบาต่างกันลงจากหอเอนเมืองปิซา หรือนิวตันผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงเมื่อลูกแอ๊ปเปิ้ลหล่นใส่ศีรษะ แม้ว่าเรื่องทั้งสองจะเป็นเพียงเรื่องเล่าลือที่ไม่เคยปรากฏมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นเรื่องเล่าที่ถูกบอกเล่าเสมอในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดความอัศจรรย์ของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการหาความรู้จากการทดลอง
สำหรับในวัฒนธรรมและภาษาไทยแล้ว การไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการสื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ เรามักเรียกว่าพูดไม่รู้เรื่อง การทำในสิ่งไม่ควรทำก็มักเรียกว่า ไม่เข้าเรื่อง หรือทำได้ไม่ดี เราก็เรียกว่า ไม่ได้เรื่อง
ถ้าจะว่า เราเกี่ยวข้องและเข้าใจโลกรอบตัวผ่านความเป็นเรื่องราว ก็คงไม่ผิด
เรื่องเล่าจึงเป็นทั้งเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้และวิธีการทำความเข้าใจโลก
แต่คุณค่าและมนต์เสน่ห์ของเรื่องเล่าดูเหมือนจะจางหายไปในระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการเรียนเฉพาะข้อเท็จจริงเป็นข้อๆ และทำความเข้าใจโลกผ่านความจริงที่ถูกแยกเป็นแท่งๆ แบ่งเป็นท่อนๆ
การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่ามาเป็นการเน้นความรู้เชิงนามธรรมเป็นข้อๆ นี้ ปรากฏหลักฐานที่น่าสนใจในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นยุคของการเร่งรัดปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย มีเรื่องเล่าว่าคณะธรรมทูตที่เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตรวจติดตามการสอนศาสนาในหัวเมือง มีหนังสือรายงานกลับมายังส่วนกลางว่า พระบ้านนอกตามหัวเมืองสมัยนั้นสอนศาสนากันไม่เป็น เพราะแทนที่จะสอนหัวข้อธรรมะที่เป็นหมวดหมู่ กลับเอาแต่เทศนาชาดกและเล่านิทาน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเรียนรู้ในแบบพื้นบ้านพื้นถิ่นนั้นเป็นการเรียนรู้จากเรื่องเล่า (Narrative) ในขณะที่คณะธรรมทูตจากส่วนกลางนั้นเน้นไปที่ความรู้ในเชิงนามธรรม (Abstract)
ในวัฒนธรรมความรู้สมัยใหม่ที่เราคุ้นเคย สิ่งที่ร่ำเรียนกันในระบบการศึกษามักเน้นไปที่ความรู้ในเชิงนามธรรม เช่น กฎเกณฑ์ สมการทางวิทยาศาสตร์ หรือทฤษฎีสังคมเป็นข้อ ๆ แม้แต่การเรียนเรื่องศีลธรรมหรือศาสนา ก็มักเป็นการท่องจำหัวข้อหลักธรรมคำสอนที่เป็นข้อๆ เช่นกัน
พูดง่ายๆ ระบบการศึกษาที่ว่านี้ทำให้โลกและชีวิตของเรากลายเป็นปรนัย คือแยกออกเป็นข้อๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อและไม่มีโครงเรื่องให้ต้องทำความเข้าใจ
ในทางการแพทย์ซึ่งเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิต ความทุกข์และต้องการความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ การศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญไปที่เทคนิคการพิเคราะห์โรคผ่านหมวดหมู่ของอาการมากกว่าการเรียนรู้เรื่องราวชีวิตหรือความทุกข์ของผู้ป่วย
ความรู้ในเชิงนามธรรมนี้ แม้จะช่วยให้เข้าใจในระดับหลักการและเทคนิคเชิงกลไกได้ดี แต่มักเป็นการเรียนรู้ที่สอนได้แต่เหตุผลที่แห้งแล้ง
ในทางตรงข้าม การบ่มเพาะความประณีตอ่อนโยนและความเข้าใจความเป็นมนุษย์ในจารีตดั้งเดิมต่าง ๆ นั้น มักเน้นไปที่การเรียนรู้ผ่านเรื่องราวหรือเรื่องเล่าเป็นสำคัญ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เราอาจเรียนรู้เรื่องการทำทานจนสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำว่า การทำทาน คือการสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน นอกจากนั้นยังรู้อีกว่า ทานมีสามประเภทคือ อามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน แต่การทบทวนหลักคำสอนในเรื่องการทำทานแบบนามธรรมเป็นข้อๆ นี้ คงไม่สามารถน้อมนำเราให้เห็นอกเห็นใจและให้ทานได้ดีเท่ากับการได้อ่านหรือฟังเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ในมหาเวสสันดรชาดกแน่
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ในทุกศาสนา การเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยธรรมและความเป็นมนุษย์มักเป็นการเรียนรู้ด้วยเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นตำนานทวยเทพ ชาดก นิทานปริศนาธรรม หรือแม้แต่ตำนานเรื่องราวพื้นบ้านที่มีมากมายในวัฒนธรรมต่าง ๆ
เพราะเรื่องเล่านั้นเป็นเครื่องมือให้มนุษย์เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดที่ประณีตอ่อนโยนได้
เมื่อเราละเลยที่จะเรียนรู้จากเรื่องเล่า การเข้าถึงความประณีตละเอียดอ่อนของชีวิตก็เป็นไปได้อย่างจำกัด มนุษย์จึงปฏิบัติต่อกันราวกับเป็นหุ่นยนต์กลไก ความรุนแรงแพร่ขยายไปเหมือนโรคระบาด และผู้คนถูกทำร้ายและทำร้ายกันได้อย่างไร้ความยั้งคิด
หากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปอย่างไม่ต้องสงสัยจากการเรียนรู้ของเราก็คือหัวใจของความเป็นมนุษย์ สำนึกร่วมของความเป็นมนุษยชาติหนึ่งเดียวกันที่ทำให้เรามีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนไหวต่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์
ภาวะพร่องของความเป็นมนุษย์และการขาดสำนึกของความเป็นมนุษย์ร่วมกันนี้เอง ที่ทำให้เราไม่รู้สึกรู้สมกับปัญหาสังคมและไม่อินังขังขอบกับความทุกข์ยากของผู้คน
หากภารกิจหนึ่งของยุคสมัยคือการเรียนรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์แล้ว เราคงไม่สามารถทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงไปได้หากปราศจากแรงบันดาลใจและการเรียนรู้จากเรื่องเล่า
เพราะความเป็นมนุษย์ในตัวเรานั้นถูกเร้าให้แสดงออกและงอกงามได้ด้วยเรื่องเล่านั่นเอง