มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2548
ณ วันนี้ วันที่เทคโนโลยีเจริญเติบโตถึงขีดสุด ยังมีเหตุการณ์วิกฤตหลายต่อหลายเหตุการณ์บนโลก เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด การก่อความไม่สงบ ความขัดแย้งในสังคมและสงคราม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง ประดุจความทุกข์ของมวลมนุษย์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ชวนให้คิดเสมอๆ ว่า “ฤา ความรู้ของมนุษย์จะยังไม่เพียงพอ” แต่เมื่อไตร่ตรองดีๆ แล้ว ศาสตร์ต่างๆ อาจเพียงพอแล้วก็ได้ แต่มนุษย์เราอาจจะขาดความรู้อย่างอื่น ซึ่งก็คือ “ความรู้ในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน”
ในหนังสือเรื่อง A History of Knowledge: Past, Present, and Future โดย ชาร์ลส์ แวน ดอเรน (Charles Van Doren) อดีตบรรณาธิการของสารานุกรมชื่อดัง Britannica ได้เขียนบรรยายความรู้และวิทยาการของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มของความรู้ในอนาคต โดย แวน ดอเรน ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง ความรู้ทั่วไปและความรู้เฉพาะเจาะจง รวมทั้งความรู้ที่พยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความสุข (Relationship between Knowledge and Happiness) ทำให้ผู้อ่านได้เห็นความเพียรของมนุษย์ ในการศึกษาค้นคว้า เพื่อขจัดความไม่รู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการเตรียมการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเดิมๆ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และสงคราม อย่างไรก็ตาม เราจะได้เห็นความรู้ชุดใหม่ๆ ในการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น ดังที่องค์กรหลายๆ กลุ่มทั่วโลก เช่น สถาบัน IONS (Institute of Noetic Sciences) และมหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา กำลังสนใจ ในเรื่องของจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) อันจะเป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ปัญหาใหญ่ๆ ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะโลกในตะวันตกนั้น มีการศึกษาในเรื่อง จิตวิญญาณ (Spirituality) กันอย่างจริงจัง มีการศึกษาเชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งมีการเขียนและตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่มากมาย เช่น หนังสือเรื่อง Paths beyond Ego โดย โรเจอร์ วอลฌ์ (Roger Walsh) และ ฟรานเซส วอฮาน (Frances Vaughan) ซึ่งพูดถึงการวิจัยในด้านจิตสำนึกที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกในขณะนี้ เช่นเรื่องการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจของมนุษย์ การบำบัดและการแปรเปลี่ยน ความฝัน วิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ ปรัชญา ความรัก ประสบการณ์ใกล้ตาย การรับใช้ และนิเวศวิทยา
หรือหนังสือเรื่อง The Quantum and the Lotus : A Journey to the Frontiers Where Science and Buddhism Meet ที่เป็นการสนทนาระหว่าง มัธธิเยอร์ ริคาร์ (Matthieu Ricard) นักบวชทิเบตอดีตนักเคมีและ ตรินฮ์ ซวน ธวน (Trinh Xuan Thuan) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง บนโจทย์ที่ว่า “จริงหรือที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบรับกับความต้องการทางจิตวิญญาณของมนุษย์ที่จะหยุดความทุกข์ และความเข้าใจในตัวตนของมนุษย์” และ “จะเป็นไปได้อย่างไรในการที่จะให้ค้นหาความหมายของจิตวิญญาณในเชิงศาสนาเมื่อวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งความรู้แหล่งเดียวบนโลก” ริคาร์ บอกว่าทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธเข้าหาความจริงบนทางที่แตกต่างกัน ธวนเห็นด้วยกับความคิดที่มนุษย์ต้องการความรู้ทางจิตวิญญาณพอๆ กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้อ่านเรื่อง บิ๊กแบง (Big Bang) กลศาสตร์ควันตัม ธรรมชาติของเวลา คอมพิวเตอร์และความคิด และธรรมชาติของจิตสำนึก ซึ่งล้วนมีธรรมชาติของความสัมพันธ์ ธวนบอกว่า การเกิดของสะเก็ดดาวในจักรวาล ทำให้สรรพสิ่งล้วนมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทั้งมนุษย์ สัตว์โลก และพืชไพร เราต่างเชื่อมโยงกันผ่านห้วงของเวลาและสถานที่
นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่คลาสสิกยาวนานกว่า ๑๐ ปี ได้แก่เรื่อง Transformations of Consciousness โดย เคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) ที่ผสมผสานเรื่องจิตวิทยาและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ด้วยถ้อยคำพื้นฐานที่เข้าใจง่าย เชื่อมโยงวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน หลุดพ้นจากพันธนาการด้วยจิตวิญญาณที่เติบใหญ่ เป็นคู่มือสำหรับหลายต่อหลายคนทั่วโลก
รวมทั้งหนังสือที่กล่าวขวัญกันยาวนานอีกเล่มชื่อ The Global Brain Awakens โดย ปีเตอร์ รัสเซลล์ (Peter Russell) นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่กล่าวถึงภาวะคุกคามสรรพชีวิตบนโลก อันเกิดจากมายาและภาพลวงตา โดยเชื่อมโยงเรื่องกายวิภาคและสังคมศาสตร์ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่และศาสตร์โบราณต่างๆ เข้าด้วยกัน รัสเซลล์อธิบายถึงศักยภาพของมนุษย์ในการมองเห็นที่มากกว่าการมองเห็นด้วยตา โดยผ่าน “จิตสำนึก” ทำให้สามารถเชื่อมโยงมวลมนุษย์เข้าด้วยกันเหมือนเซลล์สมอง ผ่านการสื่อสารและเครือข่ายต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เหล่านี้เป็นหนังสือที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้รวบรวมขึ้น และได้รับความอนุเคราะห์จากห้องสมุดประชาชนแสงอรุณในการดูแลหนังสือ โดยผู้ที่สนใจสามารถขอยืมอ่านได้จาก ห้องสมุดประชาชนแสงอรุณ เลขที่ ๖๔ ซ.สาธร ๑๐ ถ.สาธรเหนือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทรศัพท์ ๑-๒๒๓๗-๐๐๘๐ ต่อ ๑๐๑ ทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น.
ยังมีหนังสือที่น่าอ่านและน่าศึกษาอีกมากมายหลายร้อยเล่ม ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถยกขึ้นมาได้ทั้งหมด จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจ สมัครเป็น Book Reviewer หรือผู้ถอดบทเรียนหนังสือ โดยมาร่วมอ่านร่วมเรียนรู้กับกลุ่มจิตวิวัฒน์ เพื่อเป็นก้าวต่อก้าวในการสั่งสมความรู้และศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างเชื่อมโยงกัน อันจะสร้างความเข้าใจและความสุขให้กับพี่น้องเพื่อนพ้องมนุษยชาติบนโลกแห่งความแตกต่างนี้ ได้ในราคาถูก
หากท่านสนใจสามารถขอรายชื่อหนังสือและสอบถามรายละเอียดได้ที่โครงการจิตวิวัฒน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ๑๑๖๘ ถนนพหลโยธิน ๒๒ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐๒-๕๑๑-๕๘๕๕
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2548
ท่านเคยรู้สึกขัดเคืองใจบ้างหรือไม่ เมื่อตนเองถูกกระหน่ำด้วยวาจาที่กล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ได้ยินแต่เสียงที่แสดงความหยามหมิ่นเชือดเฉือนด้วยจิตอคติ และเราต้องนั่งฟังอย่างยอมจำนน
ถ้าได้ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในการประชุมครั้งสำคัญ วิธีที่สมาชิกแสดงความไม่พอใจต่อคำพูดยั่วยุของคนอื่น ก็คือลุกขึ้นด่าว่าชี้หน้าโต้ตอบ หรือถ้าจะเอาอย่างตัวร้ายในละครโทรทัศน์ ก็คือลุกเดินเข้าไปชกหน้า ดังที่มีการแสดงจริงในสภาอันทรงเกียรติ
พฤติกรรมเช่นนี้ แสดงถึงสภาพคนที่เป็นทาสอารมณ์ จะด้วยความโกรธหรือความหลงผิดก็ตาม ล้วนเป็นการกระทำที่ควรละเว้น
เมื่อเราโกรธ ขัดเคือง คับแค้น ขัดใจ หัวใจจะเกรอะกรังไปด้วยความขุ่นข้องหมองไหม้ อยากเอาชนะ อยากทำลายล้าง หัวใจมันดำมืดทั้งดวง
อารมณ์เหมือนกองฟืน ความโกรธเหมือนไฟ ยิ่งหัวใจสุมความโกรธไว้นานเท่าใด มันจะคุกรุ่นเหมือนไฟสุมขอน ใจของเขาจะร้อน ทุกข์ทรมาน ยิ่งนานเข้าความโกรธก็กลายเป็นอาฆาตพยาบาท จ้องทำลายกันไม่มีที่สิ้นสุด
น่าแปลกที่ความโกรธนี้สามารถเพิ่มพลังทวีคูณในตัวเอง ยิ่งโกรธนานเท่าใด ก็จะมีเหตุปัจจัยมาเสริมให้ผูกโกรธมากขึ้นๆ ในที่สุดเหมือนกับเขาเป็นทาสที่ติดคุกความแค้นของตนเอง แม้ว่าคนที่เป็นเหตุของความโกรธนั้นจะลืมไปแล้วก็ตาม
เมื่อเขม่าไฟและคราบน้ำมันทอดอาหารเกาะแน่นอยู่เต็มผิวกระทะ แม่ครัวที่สะอาดจะรีบขัดถูออกไปโดยเร็ว ถ้ามันเขรอะเกรอะกรังมากๆ ก็อาจต้องใช้ฝอยลวดและผงขัดช่วย
หัวใจมนุษย์นั้นเล่า ถ้ามันขุ่นข้องพอกพูนด้วยความคับแค้นเศร้าหมอง จะใช้อะไรมาขัดเกลาให้สะอาดขึ้นมาบ้าง อะไรคือแปรงขัดความขุ่นข้องหมองใจ
เครื่องมือขจัดความโกรธ คือเมตตาธรรมและการลดความอหังการในตัวตน
ยิ่งเรารับรู้ว่าสถานะของตนนั้นเรืองอำนาจยิ่งใหญ่ ตัวเรานี้ขยัน เก่ง ฉลาดและแสนดี เมื่อนั้นจิตของเราจะเล็กนิดเดียว อย่างที่มีคำไทยว่า “ใจน้อย” อะไรมากระทบสักหน่อยก็หวั่นไหว
ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ตัวเรานี้ใช่จะยิ่งใหญ่อะไรนักหนา เราไม่มีอำนาจให้คนอื่นคิดตามที่เราคิด ในโลกอันกว้างใหญ่นี้ เราเป็นเพียงอณูหนึ่งของมวลมนุษยชาติ เราจะหลีกเลี่ยงความแตกต่างหลากหลายไปไม่ได้เลย
เมื่อตัวตนเล็กลง จิตใจก็กว้างเหมือนลำธารที่น้ำใสเปี่ยมฝั่ง ปาก้อนกรวดลงไปสักก้อนหนึ่ง ก็เกิดเพียงรอยวนเล็กๆ แล้วก็เลือนหายไป
การระงับความโกรธต้องไม่ใช่การเก็บกดให้อารมณ์รุนแรงนั้นจมลงไปในใจลึกๆ เพื่อให้ท่าทางภายนอกดูสงบ การเก็บกดนั้นมีผลเสียมากกว่าการแสดงออกด้วยซ้ำ วิธีที่ต้องทำ คือดูและฟัง เรียกสติมาอยู่กับตัว ค่อยๆ รับรู้แล้วพิจารณา
การฝึกจิตให้นิ่งนั้นยากมาก ต้องฝึกหัดต่อเนื่องยาวนาน เพราะเป็นการฝึกสติ ฝึกความยั้งคิด และเจริญธรรมารมณ์
การเจริญสตินั้นที่ฝึกกันส่วนใหญ่ เป็นการกำหนดลมหายใจเข้า - ออก กำหนดรู้สิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยิน บางคนใช้วิธีการฝึกตนให้สงบสำรวม บางคนทำใจให้ปล่อยวาง แผ่เมตตาให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ทั้งสิ้น
การฝึกสติหรือเจริญสติอยู่เสมอทำให้มีเวลาเริ่มต้นใช้ปัญญาไตร่ตรอง สติและปัญญาจึงเป็นเครื่องมือชุดใหญ่สำหรับใช้ขัดหัวใจเรา ให้สะอาดและสงบได้
การขัดหัวใจเอาสิ่งเศร้าหมองขุ่นมัวออกไปนั้น ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องอาศัยการฝึกฝนไปทีละน้อย รับรู้ตนเองและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตามความเป็นจริง การกำหนดรู้ความแตกต่างทางความคิดและนิสัยของคนรอบข้าง เมตตาและแบ่งปันความปรารถนาดีให้แก่กัน ตลอดจนการฝึกวิธีคิดอย่างถูกต้องแยบคายที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
ในมงคลวารวิสาขบูชานี้ ขอตั้งจิตเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ด้วยวิธีแห่งธรรมปฏิบัติ ดังนี้
“ทุกลมหายใจเข้า
ฉันจะรับเอาความฉ่ำเย็นของสายน้ำ และสายลมโชยชื่น
กลิ่นหอมของดอกไม้ ไออุ่นของความรักและความเมตตา
ทุกลมหายใจออก
ฉันจะฝึกหัดขัดเกลากายวาจาใจ
ฉันจะแบ่งปันความเข้าใจและเห็นใจ
สู่หัวใจของเพื่อนร่วมทุกข์ ทุกหมู่เหล่า
ตราบที่ยังมีลมหายใจ
ฉันจะลดความอหังการ พยุงจิตให้สูงและกว้างใหญ่
เข้าถึงความจริงของชีวิต ซึ่งเปลี่ยนแปลง คับข้องใจ ไม่ใช่ตัวตน
ขอให้ฉันปลอดภัยจากการคุกคามของความโกรธ
ขอให้ฉันขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส เป็นอิสระ
ด้วยศรัทธาและโยนิโสมนสิการ
เกิดเป็นกุศลธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา
ณ วันวิสาขปูรณมี มงคลดิถีนี้เทอญ”
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2548
"ได้ฝึกการลดละความเป็นตัวตนของตนเองค่อนข้างมาก ได้ฝึกวิธีที่จะทำตามคำพูดของคุณหมอประเวศ คือทำตัวตนให้เล็กลง ทำจิตใจให้ใหญ่ขึ้น"
กลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นการรวมตัวกันของคนที่สนใจ นักคิด นักปฏิบัติ เรื่องจิตวิวัฒน์ การเกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution) โดยการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการปฏิบัติจริงของตนเองด้วย บนฐานความเชื่อที่ว่าร่างกายของมนุษย์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในขณะที่จิตมนุษย์สามารถพัฒนาไปได้อีกมาก ทางออกของปัญหาที่รุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อนต่างๆ ในโลกล้วนไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการมีจิตใหญ่เป็นพื้นฐาน
จิตเล็ก คือความรู้สึกอันคับแคบ อึดอัดอยู่กับการเห็นโลกอย่างเป็นส่วนเสี้ยวและความเป็นตัวกูของกู ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นธรรมชาติ ในขณะที่จิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มีอิสระ มีความสุข มีความรักในเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เนื่องจากก้าวข้ามความจำกัดของตัวเองด้วยเพราะเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ
มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากทั้งทางวิทยาศาสตร์และศาสนา ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในการก้าวข้ามจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ โลกเริ่มสะสมความรู้และประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากขึ้น เพียงแต่ว่ามนุษยชาติจะเปลี่ยนผ่านได้ทันท่วงทีหรือไม่? นี้เป็นโจทย์สำคัญของจิตวิวัฒน์
----------------------------------------------
อีกสองเดือนกลุ่มจิตวิวัฒน์จะมีอายุครบสองขวบปีแล้ว ในการประชุมเดือนนี้จึงถือโอกาสระลึกย้อนกลับไป ประมวลประสบการณ์ ถอดบทเรียน และมองไปข้างหน้า ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อคิดเห็นของสมาชิกบางท่านมาเล่าสู่กันฟัง
สิ่งที่สมาชิกทั้งหมดรู้สึกร่วมกันคือ จิตวิวัฒน์เน้นเรื่อง การเรียนรู้ภายใน (Contemplative Learning) สิ่งที่แลกเปลี่ยนในที่ประชุมทำให้เห็นความกว้างใหญ่ไพศาลของความรู้ในโลก และความรู้อันจำกัดของตน สมาชิกหลายท่านเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมให้ความเคารพนับถือในวิชาความรู้ (และการปฏิบัติตน) มีทั้งที่เป็นพระ ปราชญ์ราชบัณฑิต และอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ท่านเหล่านี้พูดเป็นเสียงเดียวกันคือ การได้มาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะความงามอย่างมากมายนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองโดยพื้นฐานและอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน ลดละอัตตา และความมีเมตตาต่อผู้อื่น
ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่าท่านได้เรียนรู้ที่จะ "ละเว้นซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในหลักการ จากที่ตลอดชีวิตเป็นคนยึดมั่นอย่างมากในหลักของความถูก-ผิด มีบางอย่างที่ผิดไม่ได้ แต่ ๑ ปีกว่ามานี้มีความผ่อนคลาย คือเห็นว่าไม่ควรยึดติดในหลักทฤษฎี หลักการของโลกและชีวิตมากเกินไป" อีกทั้งยังได้ "ฝึกการลดละความเป็นตัวตนของตนเองค่อนข้างมาก ได้ฝึกวิธีที่จะทำตามคำพูดของคุณหมอประเวศ คือทำตัวตนให้เล็กลง ทำจิตใจให้ใหญ่ขึ้น ได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตบั้นปลาย"
ท่านมีประโยคเด็ด คือ "เดี๋ยวนี้ดีจัง เวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้มีโอกาสขัดใจตัวเอง" แล้วอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าเวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้เจริญสติรู้ตัวว่ากำลังจะเกิดความคับข้องใจ เลยได้โอกาส "ขัด"ความขุ่นข้องหมองใจออกไป
ท่านอาจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง เสริมว่า "มาที่นี่แล้วรู้อะไรมากขึ้นเยอะ ยิ่งรู้ก็ยิ่งรู้สึกว่ารู้น้อยขึ้นทุกที เพราะสิ่งที่ไม่รู้มันมาก ทำให้ตัวตนเล็กลงๆ ว่าที่เราไม่รู้มันมหาศาลเหลือเกิน ทำให้ตัวเองไม่สำคัญเท่าไหร่ เป็นผงธุลีเล็กๆ ในจักรวาล ตรงนี้เองทำให้มีเมตตาจิตขึ้น เตือนสติให้ดีกว่าเดิม"
ท่านอาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน ประเมินว่าสิ่งที่ได้คือ ปัญญาและความสุข "เป็นความสุขที่เกิดขึ้นภายใน ถ้าจะขยายความให้มากขึ้นคือ เราได้ความรู้ ได้ความจริง ได้ซึมซับความงาม ความคิดแต่ละคน ได้ความดีมากขึ้น"
ส่วนท่านอาจารย์ประสาน ต่างใจ เน้นย้ำถึงทั้งความสำคัญและความเร่งด่วนของการทำให้ทุกคนสนใจเรื่องจิตสำนึกใหม่ เพราะเป็นเรื่องความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด "ผมพยายามจะแข่งกับจักรวาล เท่าที่ทราบมาเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังจะสิ้นสุดเร็วๆนี้ เพราะว่าเราทำลายตัวเอง ... ยังติดบ่วงอยู่ บ่วงวิทยาศาสตร์ บ่วงเทคโนโลยี บ่วงกายภาพ ทำให้เราไปไหนไม่ได้ ... อย่างน้อยเราก็ฝากจิตใจ ฝากความปรารถนาที่จะสร้างชุมชน เพื่อจะเอาชุมชนให้รอด ผมว่าจักรวาลเขาหมดหวังกับเราแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ... ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันไปเลย เราต้องเอาจริงเอาจังกับมัน ให้คนตื่นและเปลี่ยนแปลงให้ได้ ไม่ใช่แค่ change แต่เป็น transformation ... ถ้าตัวเองเปลี่ยนแปลง ใกล้ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย"
หลวงพี่ไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต เห็นว่า จิตวิวัฒน์ "เป็นประโยชน์ในการนำความคิดใหม่ๆ มาให้ และมีการนำเสนอภาษาหรืออุปมาอุปไมยใหม่ๆ ซึ่งบางทีมันมีพลัง เรื่องความคิดใหม่ๆ ถึงแม้ว่ายาก แต่ถ้าใช้ภาษาที่ดีก็สามารถสื่อได้ตรง"
ส่วนเรื่องที่ควรปรับปรุงหลวงพี่แนะนำว่า วิธีการเข้าสู่จิตวิวัฒน์ของกลุ่ม จะเน้นอยู่ที่วิทยาศาสตร์กับศาสนา ขาดทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ซึ่งมีความรู้หลายอย่างให้ศึกษา ความรู้สังคมวิทยา มานุษยวิทยาชุดปัจจุบันที่แยกส่วนนั้นบั่นทอนศรัทธาในมนุษย์ ที่ผ่านมาด้านวิทยาศาสตร์ก็มี "วิทยาศาสตร์ใหม่" เข้ามาเสริม แต่ด้านอื่นยังไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ควรได้ส่งเสริมกัน อีกทั้งกลุ่มนักคิด นักปฏิบัติที่เชิญมามักเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน เป็นการมายืนยันความเชื่อเดิม น่าจะมีส่วนที่มาท้าทายความคิดของกลุ่มบ้าง ทำให้พลังในการไปเผชิญความท้าทายน้อยลง อาจทำให้ความคิดไม่แตกแขนง
คุณเดวิด สปิลเลน ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์มีลักษณะเป็นองค์กรจัดการตนเอง (Self-organizing) แต่ละคนรู้จักบทบาทของตน ไม่มีใครสั่งว่าใครต้องทำอะไร ทุกคนเรียนรู้ที่จะต่อยอดการฝึกจิตของกันและกัน มีความมั่นใจ ไว้วางใจให้กับชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าบางทีไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไรนำเสนอบ้าง ก็ไม่เป็นไร (คุณเดวิดได้บริจาคหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่จำนวนหลายร้อยเล่มเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ หลายเล่มเป็นหนังสือหายาก ทางกลุ่มจิตวิวัฒน์จะได้นำไปทำสรุปย่อความเป็นภาษาไทย จัดระบบ และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่ห้องสมุดแสงอรุณ ถ.สาธร โดยจะแจ้งรายละเอียดในโอกาสต่อไป)
คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร เห็นว่าจิตวิวัฒน์ "เป็นคลังสมองจริงๆ ขณะเดียวกันที่ประชุมนี้ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์ต่างๆ เห็นบูรณาการต่างๆ เห็นธรรมะที่อยู่ในวิถีชีวิตของอาจารย์ทั้งหลาย ออกมาในรูปของการปฏิบัติ ที่ทำให้เราแน่ใจว่าปฏิบัติได้ไม่ใช่อยู่แต่ในตำราหรือคัมภีร์ ผมคิดว่าการประชุมแบบนี้ถ้ามีการขยายขึ้นในอนาคตก็จะเป็นแสงสว่างในชุมชนนั้นๆ "
ภาพรวมของกลุ่มจิตวิวัฒน์ อาจสรุปได้ดังคำของท่านอาจารย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่สะท้อนว่า การประชุมจิตวิวัฒน์แตกต่างไปจากการประชุมอื่นซึ่งท่านได้เคยเข้าร่วม และล้วนเป็นการประชุมทำงานที่มีความเครียดและแรงกดดัน ขณะที่จิตวิวัฒน์เป็นการประชุมที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย ปราศจากความเครียด ผู้เข้าร่วมประชุมล้วนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันเป็นการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะอย่างแท้จริง
----------------------------------------------
กลุ่มจิตวิวัฒน์ ทำงานด้านความรู้ การใช้สติและปัญญา ยินดีที่จะส่งเสริมและร่วมมือกับผู้สนใจเรื่องจิตสำนึกใหม่กลุ่มอื่นๆ เพื่อช่วยกันสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาจิต นำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) ของสังคมและโลก