2017

สมานแผลในใจด้วยสติ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2560

นักธุรกิจผู้หนึ่ง ระยะหลังหันมาสนใจทำสมาธิ แล้วก็ทำได้ดีด้วย ทำแล้วใจสงบ แต่มีอยู่คราวหนึ่ง พอจิตสงบมาก ก็จะเห็นภาพ เรียกว่านิมิต เป็นภาพมือข้างหนึ่งที่ยื่นออกมา พอเขาเห็นภาพนี้ในก็รู้สึกกลัวขึ้นมาทันที เพราะมือนั้นคือมือของพ่อ เป็นมือที่เคยตบตีเขาสมัยที่ยังเป็นเด็ก เขากลัวมาก แล้วก็โกรธด้วย ความรู้สึกนี้รบกวนจิตใจมากจนกระทั่งนั่งสมาธิต่อไม่ได้ ต้องเลิก

หลังจากนั้นเมื่อนั่งสมาธิทีไร พอจิตสงบนิ่ง ก็จะเห็นภาพนี้ เกิดความรู้สึกทั้งกลัวและโกรธ จนกระทั่งต้องเลิกนั่ง เพราะว่ามันทำให้เขาย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พ่อเคยทุบตีเขาตอนเป็นเด็กครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจเขามาก และไม่อยากระลึกนึกถึง เมื่อเห็นภาพดังกล่าวในสมาธิบ่อยเข้า เขาก็เลยตัดสินใจเลิกนั่งสมาธิ

แต่หลังจากที่เลิกนั่งสมาธิไปได้พักหนึ่ง เขาได้คิดว่านี้ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เขาเห็นว่าการนั่งสมาธิเป็นของดี ถ้าจะเลิกนั่งเพราะเหตุนี้ก็ไม่ควร เขาตัดสินใจว่าจะต้องก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นชาตินี้คงทำสมาธิไม่ได้เลย

อ่านต่อ »

เคล็ดวิชาที่เรียนจากหลักสูตรสายอาร์โนลด์ มินเดล



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2560

ผมไปเรียนหลักสูตร "พลานุภาพแห่งการรู้เท่าทัน: ประชาธิปไตยเชิงลึกสำหรับการนำกระบวนการกลุ่มใหญ่และการโค้ช" (Deep Democracy Leadership, Large Group Facilitation & Coaching) มาครับ โดย แมกซ์และเอเลน ชูปัค เซียนอันดับต้นๆ ศิษย์ก้นกุฏิของอาร์โนล์ด มินเดล ผู้ก่อตั้ง Process Work ซึ่งมาสอนเมืองไทยเป็นครั้งแรกที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ข้อความด้านล่างเป็นกิจกรรมบางอย่างที่อาจใช้ในงานโค้ชแบบมินเดลได้

ผมเคยเข้าเรียนเรื่อง Process Work กับจิล เอมสลี มาแล้วอย่างน้อยสองรอบ รวมกับช่วงหนึ่งที่ได้อ่านหนังสือของอาร์โนลด์ มินเดล อย่างเมามัน เพราะผมมีนิสัยอ่านหนังสืออย่างดื่มด่ำเป็นคนคนไป เมื่อเห่อมินเดลก็จะอ่านงานของมินเดลเหมือนไปดำรงอยู่ในโลกของเขาเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าผมมีโอกาสชุบตัวอยู่ในโลกของมินเดลพอสมควร

แต่การเข้าอบรมกับแมกซ์และเอเลน ทำให้ผมได้เรียนสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยเรียนรู้มาบ้างเหมือนกัน โดยงานอบรมจะแบ่งออกเป็นสองช่วงในหนึ่งวัน ช่วงเช้ามักจะเป็นการโค้ชและช่วงบ่ายจะเป็นการนำกระบวนการในกลุ่มใหญ่ (large group facilitation) หรือการเรียนรู้เรื่องกระบวนการกลุ่ม (group process)

อ่านต่อ »

สร้างสันติแบบโป๊ปฟรานซิส



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2560

แม้ว่าการเสด็จเยือนพม่าและบังคลาเทศระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคมที่ผ่านมาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขสูงสุดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักสิทธิมนุษยชนและสื่อหลายสำนักว่า พระองค์ไม่กล่าวคำว่า “โรฮิงญา” เลยในที่สาธารณะในประเทศพม่า และกว่าที่พระองค์จะพูดชื่อเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ ก็เป็นวันสุดท้ายของการเยือนบังคลาเทศแล้ว เมื่อพระองค์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบนเครื่องบินขากลับจากบังคลาเทศ คำอธิบายของพระองค์ว่าเพราะอะไรจึงไม่กล่าวคำว่า “โรฮิงญา” ในประเทศพม่า ยิ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถึงขนาดมีการต่อว่าว่าพระองค์เป็น “กิ้งก่าเปลี่ยนสี”

ดิฉันรู้สึกสนใจในการมาเยือนพม่าและบังคลาเทศของโป๊ปในครั้งนี้เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าในฐานะชาวคริสต์ ย่อมมีความใส่ใจในตัวประมุขด้านจิตวิญญาณของนิกายที่ตนเองนับถือ แต่ที่ทำให้สนใจยิ่งขึ้นก็เพราะนี่คือโป๊ปฟรานซิส กว่าห้าปีของการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์มักจะทำอะไรที่แหวกแนวจากจารีตโบราณของศาสนจักร จนบางครั้งดิฉันยังรู้สึกหวาดเสียวในความปลอดภัยของพระองค์ แต่สิ่งต่างๆ ที่พระองค์กล้าทำนั้นเรียกว่า “ได้ใจ” คนทำงานด้านความยุติธรรมและสันติภาพในสังคมเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อได้ยินว่าพระองค์จะมาเยือนพม่า ความคิดแรกก็คือ “ทำไมถึงเป็นพม่า” เพราะพม่าเป็นประเทศพุทธ มีชาวคริสต์เป็นจำนวนน้อยมาก ไม่เคยมีพระสันตะปาปาองค์ใดเสด็จเยือนมาก่อนหน้านี้เลย เพื่อนที่แจ้งข่าวช่วยไขข้อข้องใจว่า “โป๊ปจะมาเรื่องโรฮิงญา” คำถามต่อไปที่ตามมาทันทีก็คือ “ถ้ามาเรื่องโรฮิงญา แล้วพม่าจะให้โป๊ปเข้าประเทศหรือ” เป็นที่รับรู้ว่าแม้สหประชาชาติจะเห็นว่าโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก แต่รัฐบาลพม่าไม่แม้แต่จะนับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ หากถือว่าเป็นพวกเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ และไม่ยอมใช้คำว่าโรฮิงญา เรียกเพียงแค่ว่าพวกเบงกาลี พระคาร์ดินัลและที่ประชุมพระสังฆราชคาทอลิกของพม่าเองคงมีความหวั่นใจอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดออกมาให้คำแนะนำก่อนโป๊ปจะเสด็จว่า อย่าใช้คำเรียกว่าโรฮิงญา เพราะเป็นคำที่จะนำภัยมาสู่ชาวมุสลิมในพม่าเอง แต่ขอให้โป๊ปใช้ “วิธีที่ไม่ทำร้ายใคร”

อ่านต่อ »

การตั้งแกน (Centering)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เก็บความและแปลจาก About Aikido, Centering, Conflict and Communication by Judy Ringer
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2560

การตั้งแกนเป็นคำเรียกในวิชาไอคิโด้ หมายถึงการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในความไม่รู้และการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เพื่อให้สามารถนำพาชีวิตไปได้อย่างสอดคล้องกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไม่ต่อต้าน เสียดทานหรือสงบยอม แต่เป็นการหลอมรวมเอาอุปสรรคเข้ามาแล้วแปรเปลี่ยนเป็นความสร้างสรรค์ได้อีก โดยมองเห็นทรัพยากรที่มั่งคั่งหลากหลายทั้งภายในและภายนอกตัวเอง

ความเชื่อพื้นฐานของไอคิโด้คือ เราสามารถจัดการ ใช้งาน และเปลี่ยนทิศทางพลังงานของการโจมตีได้ด้วยการหลอมรวมเข้ากับพลังงานที่พุ่งใส่เราเพื่อจัดการมัน แทนที่จะปกป้องหรือกระแทกกลับไป เราอาศัยการเข้าไปสังสรรค์เกี่ยวพันแทนการต่อต้าน นักเรียนไอคิโด้ฝึกฝนตนเองให้สามารถจับการกระทำของคู่ต่อสู้แล้วเปลี่ยนทิศทางมันด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและทรงพลัง ในขณะเดียวกัน เราก็เริ่มตระหนักถึงแนวโน้มของตัวเองที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบฝ่ายตรงข้ามและเรียนรู้ที่จะตั้งแกนให้มั่นคงในทุกๆ สถานการณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะ หลักการ และวิธีมองโลกที่สามารถนำมาใช้นอกโรงฝึกได้ เช่นในที่ทำงานหรือในชีวิตประจำวัน

ถาม: ในเวิร์กช็อปของคุณและในสิ่งที่คุณเขียน คุณใช้คำว่า แกนบ่อยทีเดียว แกนคืออะไร คุณเลือกที่จะมีแกนอย่างไร และอยู่กับมันอย่างไร

ตอบ: เวลาฉันพูดถึงแกนหรือสภาวะมีแกน ฉันกำลังพูดถึงสภาวะของทั้งจิตใจ ร่างกาย จิตวิญญาณที่มีผลต่อความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างเรากับสิ่งที่แวดล้อมตรงหน้า มันเป็นวิถีทางของการดำรงอยู่ในโลก และการเปิดรับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา บางคนอาจเรียกว่ามันเป็นทัศนคติที่เรามีต่อชีวิต เวลาเรามีแกน เราจะสามารถควบคุมการรับพลังงานที่คนอื่นส่งถึงเราได้ เราควบคุมตัวเองได้และไม่ได้ควบคุมอะไรอื่นนอกเหนือจากตัวเอง แต่เราสามารถควบคุมวิธีการที่เราปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นทั้งหมด

อ่านต่อ »

“ความดี” จากฐานราก: สร้างชุมชนคุณธรรมด้วยวิถีวัฒนธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2560

ทุกปีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จะมีการรายงานดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index: CPI) ของแต่ละประเทศ โดยในปี 2559 ประเทศไทยได้ที่ 101 จาก 176 ประเทศ มีคะแนน 35 จาก 100 คะแนน ลดลงจากปี 2558 ที่ได้อันดับที่ 76 มี 38 คะแนน

ผลรายงานแต่ละปีส่งผลให้สังคมตั้งคำถามกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่กลไกการแก้ปัญหาที่มักพูดถึงหรือเรียกร้องให้มี คือมาตรการทางกฎหมายและบทลงโทษ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การแก้ปัญหาการทุจริตในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง คือการพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม ซึ่งเกิดขึ้นผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนและวิถีวัฒนธรรมที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความยั่งยืน ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินโครงการส่งเสริมเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการที่เชิญชวนให้ชุมชนมาร่วมเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมคุณธรรมด้วยทุนความดีที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง

โครงการเริ่มจากการเปิดรับสมัครชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ในเดือนตุลาคม 2560 และเชิญชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมงานรวมพลังเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม เมื่อ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดนครนายก มีผู้แทนจาก 43 ชุมชน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมงาน

อ่านต่อ »

จุดอ่อนของความหลง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560

ธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตก็คือพยายามอยู่รอดให้ได้และเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์อกุศลก็มีธรรมชาติคล้ายๆ กัน มันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเติบใหญ่และแพร่ขยายไปเรื่อยๆ มันจะสั่งให้เราทำทุกอย่างเพื่อเราจะได้จมอยู่ในอารมณ์นั้นนานๆ เวลาเราโกรธใคร บางครั้งเรากลัวว่าจะลืมโกรธเขา จึงต้องตอกย้ำ เช่น สักชื่อเขาไว้ที่แขนบ้าง เขียนชื่อติดกระจกในห้องนอนบ้าง เพื่อย้ำเตือนว่าไอ้นี่มันเลว จะต้องโกรธมันชั่วฟ้าดินสลาย

ในทำนองเดียวกัน เวลาเราเศร้า ความเศร้าจะบงการให้เราอยู่ในอำนาจของมันไปเรื่อยๆ สังเกตไหมเวลาเศร้าเราอยากฟังเพลงอะไร อยากฟังเพลงสนุกหรือเปล่า ไม่อยากหรอก เราอยากฟังเพลงเศร้า เพื่ออะไร เพื่อเศร้าหนักขึ้นๆ ถามว่าอะไรสั่งให้เราฟังเพลงเหล่านั้น ความเศร้ามันสั่ง มันสั่งใจเราว่าให้เปิดแต่เพลงเศร้าๆ มันจะได้ครองจิตใจเราไปนานๆ นี้คืออุบายของมัน

สุดท้ายมันก็จะบงการให้เราคอยปกปักรักษามันไม่ให้อ่อนแรง เวลาเราโกรธใครบางคน ถ้าหากมีเพื่อนแนะนำเราว่า ให้อภัยเขาไปเถอะ ความโกรธมันจะสั่งให้เราเล่นงานเพื่อนคนนั้นทันที เช่น ต่อว่าเขา หาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับคนนั้น เขาไม่รักเราจริง ฯลฯ ความโกรธมันสั่งให้เราทำเช่นนั้น ก็เพราะมันรู้ว่าถ้าเราทำตามคำแนะนำของเขา คือให้อภัย ความโกรธก็จะจืดจางหรือเลือนหายไป

อ่านต่อ »

โรงเรียนวัด



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิก

ายน 2560

ระหว่างที่พวกเราอยู่บนรถบัสเพื่อเดินทางลงใต้ มิตรสหายบางคนเอ่ยขึ้นว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก และศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งศรัทธา”

ประโยคง่ายๆ นี้ชวนให้ตั้งคำถามอะไรได้มากมาย

ผมได้มีโอกาสเข้าไปในโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในความเข้าใจของผมก็น่าจะเป็นเหมือนโรงเรียนที่สอนภาษาอิสลาม แต่พอเข้าไปเยี่ยมชมแล้วรู้สึกว่านี่ไม่ใช่โรงเรียน แต่ควรจะถูกเรียกว่า “วัด” มากกว่า และเด็กนักเรียนที่มาเรียนก็ควรจะถูกเรียกว่าเป็น “เณร” หรือ “พระ” เสียมากกว่า เพราะบาบอหรือคุณครูที่สอน (ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือน) จะเน้นถ่ายทอดความรู้จากคัมภีร์อัลกุรอานเป็นหลัก และเด็กๆ ที่มาอยู่อาศัยต้องมากินนอนเหมือนโรงเรียนประจำและไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาในโรงเรียนยกเว้นว่าจะได้ปิดผ้าคลุมผมเป็นที่เรียบร้อย (ไม่ว่าจะมาจากศาสนาอะไรก็ต้องมีผ้าคลุมผมเหมือนกันหมด) ความสมถะของการอยู่การกินและการอุทิศตัวเพื่อศึกษาธรรมของเด็กๆ และเยาวชนทำให้ผมรู้สึกเลื่อมใส

บาบอเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนแห่งนี้ยังใช้หลักสูตรเหมือนเมื่อแปดสิบปีที่แล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เด็กที่นี่เมื่อแปดสิบปีที่แล้วเรียนอย่างไร เดี๋ยวนี้ทุกคนก็ยังเรียนเหมือนเดิม ผมรู้สึกตื่นเต้นและอ้ำอึ้ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก จะมีหลักสูตรการศึกษาของใครกันที่สามารถพูดได้แบบนี้ ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษา การวัดผล อะไรต่อมิอะไรมากมายไม่เคยหยุดนิ่งในนามของการพัฒนา คล้ายกับว่าเรากำลังวิ่งไล่ตามจับปลายสุดของรุ้ง ซึ่งมันไม่เคยมีอยู่จริง แต่ที่นี่รากแก้วของเขาหยั่งลงไปอย่างมั่นคง ผมไม่ได้ดูที่ไหนเลย เพียงแค่คุณสบตากับเด็กนักเรียนของที่นี่ซึ่งนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยบนพื้นกระเบื้องสีขาว ในห้องเรียนใหญ่ที่ปราศจากผนังกั้นห้อง เด็กวัยรุ่นราวหนึ่งร้อยคนไม่มีใครก้มหน้าอ่านสมาร์ทโฟน หรือคุยเล่นล่อกแล่ก พวกเขาตั้งใจในสิ่งที่บาบอพูด และเมื่อคุณครูปล่อยมุกตลก ทั้งห้องก็มีเสียงหัวเราะครืนขึ้นพร้อมๆ กัน

อา... นี่ไม่ใช่สวรรค์ของนักการศึกษาทุกคนหรอกหรือ? ทุกวันนี้ผมได้ยินได้ฟังคำพร่ำบ่นจากมิตรสหายซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาบอกว่า “...แววตาของพวกเขาส่วนใหญ่ดูไร้ชีวิต ไม่ได้มีความมุ่งมั่นปรารถนาอยากจะเรียนรู้อะไร คำถามที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ตรงที่ถามออกไปจึงมีแต่ความเงียบ และความอ้ำอึ้งเป็นคำตอบ ไม่ใช่พวกเขาไม่เข้าใจคำถาม แต่มันคือการไม่มีอะไรจะตอบ...”

ส่วนแววตาของเด็กในปอเนาะผมจะบอกอย่างไรดีล่ะ มันมีความจริงอยู่ในนั้น จริงเสียจริงคุณจะตกใจ มันทำให้เรารู้สึกว่าเขากำลังมองมาที่เราว่าเรากำลังมองพวกเขาอย่างไร เมื่อเปิดโอกาสให้พวกเราซักถามเด็กๆ หลายๆ คนก็สอบถามเพื่อไขข้อข้องใจ และบาบอก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ถามเรากลับบ้าง เด็กคนหนึ่งยกมือขึ้นและพูดชัดถ้อยชัดคำว่า “พวกพี่ๆ คิดอย่างไรกับศาสนาอิสลาม?” คำถามสั้นๆ แต่สะเทือนเข้าไปข้างในใจ นั่นสิ ผมถามตัวเอง และรู้สึกโชคดีที่ตนเองไม่ได้รับเลือกให้ต้องมาตอบคำถามนี้ เพราะผมคงจะตอบคำถามนี้ได้ยากเพราะมีสายตาของน้องๆ เป็นร้อยคู่ที่จับจ้องและรอฟังคำตอบ

อันที่จริงทุกประโยคที่เราถามน้องๆ ทุกคนจะวกไปตอบเข้าไปสู่เรื่องคำสอนของศาสดาของเขา โดยไม่ต้องมีการนัดหมายกันไว้ ราวกับว่าทุกลมหายใจของเขาไม่เคยสงสัยต่อการมีชีวิตอยู่ของตนเองเลย เพราะเขารู้ว่าเขาเกิดมาทำไม คำตอบนี้ชัดเจนจนเขาขาดสิ่งที่คนในโลกสมัยใหม่มี นั่นก็คือความลังเลสงสัย ซึ่งเป็นสมบัติของคนในยุคที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า ทุกวันนี้เรามีพระเจ้าองค์ใหม่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว แต่ผมก็แอบสงสัยว่าจะมีใครมีความรู้สึกอิ่มเอมต่อคำตอบที่วิทยาศาสตร์ได้ให้กับเราหรือไม่ ผมอ่านข่าวว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กวัยรุ่นมากกว่าครึ่งเชื่อว่าโหราศาสตร์คือแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศจีนซึ่งเชื่อเรื่องพวกนี้ไม่ถึง ๘ % มันบอกอะไรเกี่ยวกับสภาวะขาดพร่องทางจิตวิญญาณหรือไม่ ในอเมริกา มีบริการด้านความงามชื่อ Mystic Lipstick ที่โฆษณาว่าสินค้าประเภทเสริมความงามจะช่วยเยียวยาจิตวิญญาณได้ ผลคือตอนนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วนเมืองไทยก็ไม่น้อยหน้ากัน เพราะอาจารย์ดังก็ทำลิปสติกปลุกเสกมาขายโดยผ่านการรับรองจาก อย. แล้ว

ตอนผมอยู่ใต้ เวลาไปมัสยิดผมสังเกตเห็นว่าศาสนิกชนของเขาจะสำรวมและมีความเพียร บางที่เขานั่งอยู่ตรงมุมห้องเพียงคนเดียว ปากพร่ำบ่นอะไรบางอย่าง หรือบางทีผมเห็นวัยรุ่นมุสลิมนั่งอยู่ที่บันไดมัสยิด ในมือมีมือถือและใส่หูฟัง แต่สิ่งที่เขาฟังนั้นหาใช่เพลงที่มีเนื้อหาเรื่องอกหักรักคุดแต่เป็นเสียงอ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเขาตั้งใจฟังอย่างซาบซึ้ง นี่ไม่ใช่หรือคือการภาวนา “อยู่กับตัวเอง” ซึ่งกระบวนกรทั้งหลายพยายามบอกกับผู้เข้าร่วมให้ฝึกฝนและทำ พวกเขากำลังอยู่กับตัวเองและพยายามเชื่อมต่อตนเองกับพระเจ้า ซึ่งไม่ได้ทำเล่นๆ แล้วแต่อารมณ์ แต่ทุกวัน วันละห้าเวลา พวกเขาน้อมศิโรราบเพื่อต่อสายตรงถึงพระเจ้าของเขา วันละห้าเวลา!! ผมว่าในเรื่องของจิตวิญญาณ ถ้าคุณยังมานั่งพูดถึงจิตวิญญาณนี่แสดงว่าคุณยังไม่เจ๋งพอ เพราะถ้าหากคุณแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับวิถีดำเนินแห่งชีวิต คุณก็ไม่อาจจะแยกออกมาพูดถึงมันราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอกนู่น

ผมกลับมาดูวัดพุทธของไทยแล้วรู้สึกทอดถอนใจ เรามาไกลเหลือเกิน ไกลออกไปอีกทาง เรามีวัดที่มีหมอดูมืออาชีพมาเปิดออฟฟิศอยู่ในวัด มีการนำเอารูปเคารพของศาสนา เช่น พระราหู พระพิฆเนศ มาประดิษฐสถานซึ่งบางที่ก็โดดเด่นยิ่งใหญ่กว่าพระประธานในวัดเสียอีก ไม่มีแล้วมัคนายกที่ชวนให้ท่านซื้อกระเบื้อง ซื้ออิฐเพื่อช่วยสร้างโบสถ์ แต่เป็นหมอดูที่บอกว่าท่านจะต้องซื้ออะไร ทำพิธีอะไรเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือเสริมดวงชะตา คิดอีกทีหรือมันจะเป็นการส่งเสริมพิธีกรรมในการถวายสังฆทานแบบเวียนเทียนให้กับธุรกรรมธุรกิจในวัดก็ไม่ทราบได้ ส่วนพุทธศาสนิกชนของเราเวลาไปวัดจะมีกี่คนจะพยายามสำรวมกาย สำรวมจิตเพื่อนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนใหญ่ไปถ่ายรูปเซลฟี่ไหว้ประหลกๆ 5 นาที ขอพรนั่นนี่ แล้วก็ออกไปเที่ยวที่อื่นต่อ จากประสบการณ์ตรงที่ผมเคยไปนอนเป็นเด็กวัดที่วัดไทยใน L.A. ศาสนิกชนคนไทยก็ดี คนลาวก็ดี ที่เดินเข้ามาในวัดสิ่งแรกที่ต้องการก็คือ ขอให้พระสงฆ์ทำพิธีเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์หรือให้ค้าขายร่ำรวย ประเภทที่จะเข้าวัดมาเพื่อจะขอปรึกษาหัวข้อธรรมกับพระสงฆ์นั้นไม่เห็นมี

ที่บอกว่า “ศาสนาแห่งปัญญา” ดูจะเป็นคำกล่าวที่เกินจริงไปเสียแล้ว

ผมมาคิดถึงโรงเรียนปอเนอะ แล้วทำให้รู้สึกเสียดายเหลือเกินที่ธรรมเนียมการเรียนในวัดได้ถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ ๕ การแยกส่วนการศึกษาให้เป็นแบบสมัยใหม่ ทำให้รากเหง้าบางอย่างที่สืบทอดกันมาสูญหายไป ผมตกใจเมื่อรู้ว่าเด็กในโรงเรียนปอเนาะที่ห่างไกลความเจริญหลายคนมาจากกรุงเทพฯ เมืองฟ้าเมืองอมร และพ่อแม่ส่งพวกเขามาเรียน การส่งลูกเข้าโรงเรียนปอเนาะเปรียบเหมือนความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของวงศ์ตระกูล คำถามที่เราถามเด็กปอเนาะก็คือ “จบไปแล้วจะไปทำอะไร” เราถามคำถามเขาโดยเอาโลกทัศน์อรรถประโยชน์นิยมอันคับแคบของโลกสมัยใหม่ไปครอบทับเขา แต่คำตอบที่ได้คือการอุทิศชีวิตของเขาให้กับพระเจ้า คำตอบนี้ทำเอาพวกเรางงงวย ไม่เข้าใจ เพราะคนสมัยใหม่ทุกสิ่งทุกอย่างคือการแลกเปลี่ยน แลกไปได้มา ตำแหน่งที่เด็กน้อยยืนตอบเรานั้นอยู่กันคนละระนาบความเข้าใจของพวกเรา

มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับคนยุคนี้ที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ สำหรับคนที่ไม่เคยเริ่มถามตัวเองว่ามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร เราย่อมไม่มีหูเพื่อที่จะฟังจากคนที่ได้ค้นพบความหมายของการดำรงอยู่โดยสิ้นสงสัย แต่จะกลัวไปไย ในเมื่อเรายังมีเงินซื้อลิปสติกปลุกเสกเมตตามหานิยมซึ่งได้ตราประทับรับรองจาก อย.

ศิลปะของการสูญเสีย



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2560

พวกเราแต่ละคนคงเคยทำของหายกันมาไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นดินสอ ปากกา หมวก ร่ม แว่นตา กระเป๋าสตางค์ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรเอทีเอ็ม กุญแจบ้าน ฯลฯ ของเหล่านี้บางทีก็หายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าเป็นของที่ถูกสร้างหรือทำขึ้นมาสำหรับมีไว้หายยังไงยังนั้น ของเหล่านี้พอหายบ่อยขึ้น หลายคนก็เริ่มชิน ความหงุดหงิดโมโหหรือความเสียดายก็น้อยลงกว่าครั้งแรก-แรก แล้วก็ใช้ชีวิตกันต่อไป

ของบางอย่างไม่หาย แต่เราก็คงเคยทำจานชามหล่นแตก แก้วเจียระไนหรือเซรามิกสะสมชิ้นโปรดหลุดมือ อุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้หน้ารถยุบไปทั้งคัน บ้านของใครบางคนก็ไหม้ไปทั้งหลังต่อหน้าต่อตา ไฟเผาข้าวของหมดสิ้น รวมทั้งลูกหมาอัลเซเชียนครอกใหม่ที่เพิ่งลืมตาออกมาดูโลก เมื่อข้าวของในชีวิตเสียหายบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น ก็มีภูมิคุ้มกันในชีวิตมากขึ้น แล้วก็ใช้ชีวิตกันต่อไป

เมื่ออายุมากขึ้น ก็คงเริ่มตระหนักกันว่า นอกจากข้าวของแล้ว เวลาก็ยังหายได้ด้วย ผู้ใหญ่แต่ละคนล้วนสูญเสียวัยเยาว์ ผู้สูงอายุล้วนสูญเสียวัยหนุ่มสาว และพวกเราทุกคนล้วนเคยเสียเวลาให้กับหลายเรื่องและหรือหลายคน กระนั้น แม้ว่าวันเวลาเหล่านั้นจะน่าเสียดาย แต่ก็ไม่สามารถซื้อของใหม่มาทดแทนเหมือนข้าวของ การสูญเสียเวลาในทุกเวลานาทีในปัจจุบันขณะก็ทำให้เกิดความเคยชิน จนหลายครั้งไม่รู้สึกถึงความเสียดายด้วยซ้ำ แต่พวกเราก็ใช้ชีวิตกันต่อไป

อ่านต่อ »

การพลิกตนไปมาระหว่างโลกคู่ขนาน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2560

ที่ผมเขียนหัวข้อนี้ จะเล่าว่ามันเกิดได้จริง ทำได้จริง และได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมฝึกก่อนหน้านี้ คือการดำรงอยู่กับอาการปั่นป่วนต่างๆ (urges) มันเป็นอาการทางกาย ความรู้สึกแย่ที่ปรากฏในร่างกายของเรา แต่กาย ใจ ความคิด (หรือเรื่องราว) มีความผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกหรือแยกยากมาก ดังฝรั่งบัญญัติคำว่า neurobiology โดยเอาเรื่องเซลล์ประสาทมาควบรวมอยู่กับชีวภาพ คือเอาสิ่งที่เกิดในร่างกายมาควบรวมกับอารมณ์และความคิดนั่นเอง

ปีเตอร์ เลอวีน (Peter A. Levine) บอกว่าทรอม่าเป็นอาการช็อกทางกาย คือร่างกายแช่แข็ง ถ้าร่างกายได้คลี่คลายออก ทรอม่าก็จะคลี่คลายและหายไปในที่สุด เหมือนกวางเจอเสือก็จะแกล้งตายหรือแช่แข็งตัวเอง ต่อเมื่อเสือจากไปแล้ว กวางจะสั่นทั้งตัวอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็ออกจากอาการช็อกได้อย่างสิ้นเชิง จนต่อมามีคนสร้างกระบวนการช่วยให้ร่างกายสั่นเพื่อใช้บำบัดทรอม่า เรียกว่า TRE (Tension & Trauma Release Exercises)

ส่วน The Little Book of Big Change ของเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson) ผมได้เรียนรู้เรื่อง urges ว่าเมื่อเราดำรงอยู่กับมัน ไม่ปัดทิ้ง ไม่หลีกหนี ความปั่นป่วนเหล่านี้จะสามารถคลี่คลายได้

อ่านต่อ »

จิตอาสาข้ามพรมแดน



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2560

เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ภาพที่นำเสนอส่วนมาก คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดจากการเจรจาสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นำหรือผู้แทนของแต่ละประเทศในระดับนโยบาย แต่ประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ยังมีมิติอื่นๆ อีกหรือไม่

จากการทำงานร่วมกันของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๐ ในโครงการศึกษาคุณธรรมในอาเซียน: จิตอาสาในอาเซียนภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร พบว่าความร่วมมือที่สำคัญในอีกมิติหนึ่งของผู้คนในภูมิภาคอาเซียน คือ มิติทางสังคม โดยคุณค่าร่วมที่เชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคนี้เข้าไว้ด้วยกัน คือความเอื้ออาทรและการแบ่งปัน (Caring and Sharing) ผ่านกระบวนการเป็น “จิตอาสา” ของกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาสังคม

เพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนถึงการเชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคอาเซียนจากงานจิตอาสา ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดงานประชุมนานาชาติ “ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณธรรมผ่านงานจิตอาสา: ASEAN Caring and Sharing Community” เมื่อวันที่ ๑๒-๑๓ กันยายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุม ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านต่อ »

จิตวิญญาณสหกรณ์ (๒): สานต่อให้ถูกต้อง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2560

เมื่อผู้ที่ทำงานสหกรณ์รู้ เข้าใจ และศรัทธาในอุดมการณ์ หลักการ แนวคิดและแนวปฏิบัติของสหกรณ์ เขาและเธอก็จะคิด พูด และทำงานสหกรณ์ด้วยจิตอาสา อย่างมีจิตสำนึกสาธารณะ คำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักสหกรณ์ที่มีจิตวิญญาณสหกรณ์

ผู้บริหารสหกรณ์จึงควรต้องเป็น หรือพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้ เพื่อให้เป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ และศรัทธาในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ ทำงานด้วยการยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือสร้างอาณาจักรของตนเอง

สมาชิกสหกรณ์พึงต้องเรียนรู้ เข้าใจ และศรัทธาในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ เรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของการเป็นสมาชิกตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ไม่ใช่เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เรียกร้องปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสูงๆ เท่านั้น แต่ต้องรักษา ใช้สิทธิและหน้าที่ทั้งในฐานะสมาชิกและเจ้าของสหกรณ์

เครือข่ายสหกรณ์ทุกรูปแบบและทุกลักษณะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน

อ่านต่อ »

จิตวิญญาณสหกรณ์ (๑) : จุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน 2560

ผมมีโอกาสเข้าไปทำงานด้านสหกรณ์ในตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัดตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นงานที่หนัก และเหนื่อยใจมาก แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายมากเช่นเดียวกัน เพราะเข้ามาบริหารในช่วงที่ระบบสหกรณ์ทั่วประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา เริ่มตั้งแต่ปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ปัจจุบันอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ มาจนถึงปัจจุบัน ที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งเลิกกิจการของสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัด มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งสองสหกรณ์ที่กล่าวถึงในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ของทั้งสองแห่ง

แม้มีประสบการณ์น้อย แต่ผมก็ศึกษาและเรียนรู้ตลอดเวลา ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงานสหกรณ์อย่างเต็มที่ ผนวกกับการที่ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสหกรณ์โดยตรง พอจะสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากคนในวงการสหกรณ์เองโดยเฉพาะผู้บริหารสหกรณ์ ไม่ใช่ระบบ ไม่ใช่โครงสร้าง ไม่ใช่แนวคิด หลักการ อุดมการณ์และ/หรือปรัชญาของสหกรณ์ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความจริง ความดี ความงาม ทั้งในแนวคิดและแนวปฏิบัติของความเป็นสหกรณ์

อยากจะพูดตรงๆ ว่าปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นมาจากผู้บริหาร และผู้ที่ทำงานทั้งที่อยู่ในสหกรณ์ และผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์ เพราะไปติดกับดักอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

อ่านต่อ »

ความคับแคบสุดโต่งในยุคข้อมูลข่าวสาร



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2560

ในยุคที่ใครๆ เรียกว่ายุคข้อมูลข่าวสาร ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้มีความรู้กว้างขวาง และเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองที่คับแคบลง และมีความเห็นที่สุดโต่งมากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกวันนี้ ข้อมูลมีมากมายท่วมท้นจนผู้คนจัดการกับมันได้ยากขึ้น จึงเกิดมีเทคโนโลยีคัดกรองข้อมูลข่าวสารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตัวคัดกรองหรือ filter ดังกล่าว มีทั้งที่ผู้บริโภคเลือกเอง และที่ถูกเลือกมาให้ผู้บริโภค โดยผู้ให้บริการ เช่น Google, Amazon และ Facebook เป็นต้น ทั้งนี้โดยประมวลจากข้อมูลการใช้งานของเรา เช่น เมื่อเราต้องการให้ Google ค้นหาข้อมูลเรื่องใด Google จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรา เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ เพื่อให้ได้ผลที่สอดคล้องกับความต้องการของเรามากที่สุด ส่วน Amazon ก็สามารถคาดการณ์ได้จากพฤติกรรมของเราว่า เรามีรสนิยมแบบใด ดังนั้นจึงน่าจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อแนะนำสินค้าที่ตรงกับรสนิยมของเรา ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่เราติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่เราติดต่อน้อยที่สุดออกไป เป็นต้น

เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเหมือนดี ช่วยทุ่นเวลาให้แก่เรา เพราะคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เราไม่สนใจออกไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรารับรู้แต่ข้อมูลที่ถูกใจเรา รวมทั้งรับรู้ประเด็นที่หลากหลายน้อยลง มิหนำซ้ำยังรับรู้แต่แง่มุมที่แคบลงด้วย

ใช่แต่เท่านั้น สื่อออนไลน์หรือเว็บข่าวที่เกิดขึ้นมากมาย ยังหนุนเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพราะสื่อดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นเนื้อหาจึงขาดความหลากหลาย ผิดกับสื่อดั้งเดิมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมวลชนซึ่งมีความหลากหลายสูง (เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า สื่อมวลชน) จึงมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่หลากหลายน้อยลงเท่านั้น แม้แต่มุมมองก็แคบลง เจาะจงเฉพาะแนวใดแนวหนึ่ง สุดแท้แต่กลุ่มผู้อ่าน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้อ่านรับรู้แต่มุมเดียว รวมทั้งได้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมอยู่แล้ว

อ่านต่อ »

ความรู้ที่ใช้จริงไม่ได้ ไม่ใช่ความรู้



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กันยายน 2560

วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังทำการอบรมทักษะกระบวนกรให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น เทพกีตาร์บอกกับผมว่า พี่ชายจะมาเยี่ยม เขาเข้ามาร่วมที่โต๊ะอาหารแต่ไม่ได้แตะต้องอะไรเลยเพราะทานมาแล้ว เราสนทนาแลกเปลี่ยนกันและเขาเล่าเรื่องให้ฟังว่า อยากให้เทพกีตาร์ไปช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งของเขาซึ่งในตอนนี้กำลังแย่ ปัญหาครอบครัวและการเงินรุมเร้าจนนอนไม่หลับ และต้องหลบไปพำนักอยู่กับเขา วันๆ ไม่ยอมพูดจากับใคร พูดอะไรก็ไม่ฟัง ในที่สุดเขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยโยนหนังสือเล่มหนึ่งให้เขาหนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ตกตั้งใหม่*

จากวันที่ได้หนังสือ พี่ชายเล่าว่า เขาถือหนังสือเล่มนี้ติดตัวและหยิบไปอ่านแทบทุกที่ไม่เว้นแม้เข้าห้องน้ำ หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาสงบลง นอนหลับได้ และเริ่มพูดจากับคนอื่น เมื่อพี่ชายถามว่าเขาอยากได้อะไร เขาบอกว่ารู้ว่าหนังสือนี้มีสามเล่ม และต้องการสองเล่มที่เหลือ และบอกว่าหนังสือนี้ทำให้เขาได้สติ และสามารถผ่านเรื่องราวร้ายๆ มาได้ ผมได้ยินแล้วรู้สึกดีใจ เพราะหลังจากผมเป็นบรรณาธิการหนังสือ ตกตั้งใหม่ อยู่สองเล่ม ก็ไม่ค่อยได้รับคำวิจารณ์ติชมใดๆ จากผู้อ่านเลย จนรู้สึกท้อถอย และรู้สึกว่าหนังสือที่ผมตั้งใจทำจนสุดฝีมือและแจกฟรีให้เป็นวิทยาทาน โดยการบริจาคจากกัลยาณมิตร กลับไม่มีใครสนใจอ่านสักเท่าไร ต่างจากหนังสือแนะนำช่องทางรวยที่มีกี่เล่มก็ขายได้หมด

ผมรู้สึกดีใจที่ในที่สุดก็มีคนอย่างน้อยหนึ่งคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ดีใจที่มันเป็นปัจจัยให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตเขา นั่นคือข้อพิสูจน์ว่าแนวทางของการกลับมารู้สึกตัว ที่เรียกว่า “รีเซต” นั้นใช้ได้ผล และสามารถเยียวยาผู้คนที่กำลังอยู่ในภาวะคับขันของชีวิตได้เป็นอย่างดี

อ่านต่อ »

สืบสานปัญญาญาณจากแม่ธรรมชาติ



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กันยายน 2560

คนไทยแต่โบราณมีความเชื่อในแม่ธรรมชาติ ที่เป็นความเชื่อหลักๆ ของคนในทุกภาคก็คือแม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา ในวิถีชีวิตชาวนา ความศรัทธาในแม่ทั้งสามนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นในพิธีกรรมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความเคารพนอบน้อมและความเกรงอกเกรงใจ ตัวอย่างเช่น ในการทำนา ชาวนาจะบอกกล่าวและทำพิธีกรรมต่อแม่โพสพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แรกหว่านข้าว ถอนกล้า ดำนา รับขวัญท้อง เกี่ยวข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้ง ไปจนถึงจะนำข้าวออกจากยุ้งมาหุงหาก็ยังต้องบอกกล่าวแม่โพสพ ศรัทธาเช่นนี้ทำให้ข้าวไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาหารที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ข้าวยังมีจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงจิตใจคน การทำนาของคนในยุคก่อนจึงไม่ใช่แค่การปลูกพืชทางกายภาพ แต่ยังเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมต่อกับพลังของแม่ธรรมชาติ

ความเชื่อโบราณเช่นนี้จะยังคงมีคุณค่าอยู่อีกหรือในยุค “ชาวนามือถือ” ชาวนาสมัยใหม่ที่ไม่ต้องลงมือทำนาเองแล้ว เพียงแค่ใช้มือถือโทรสั่งจ้างคนมาทำ ก็จัดการงานในนาได้ทุกขั้นตอน ระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ต้องรีบเร่งการผลิต ไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการทำพิธีกรรมที่ต้องอาศัยความประณีตละเอียดอ่อน ยิ่งบางพื้นที่ปลูกข้าวปีละสามหน พิธีรับขวัญท้องข้าวอันเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดในกระบวนการทำนายังกลับกลายเป็นสิ่งหายาก

ดิฉันมีโอกาสไปเป็นนักเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งทำการเผยแพร่เรื่องการทำนาอินทรีย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้เรียนรู้วิธีทำนาที่เคารพต่อแม่ธรรมชาติ รวมทั้งได้พูดคุยกับคุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิ จากประสบการณ์อันยาวนานในการทำงานเผยแพร่เรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำให้คุณเดชาได้คำตอบว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรจะก้าวล้ำแค่ไหน จะมีพันธุ์ข้าวมหัศจรรย์จากจีเอ็มโอหรือปุ๋ยยาราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยชาวนาได้จริง กระบวนการผลิตสมัยใหม่ยิ่งทำให้ชาวนาเป็นหนี้ และยังไม่สามารถสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ แต่ความเชื่อโบราณอันชาญฉลาดของปู่ย่าตายายนี้แหละที่จะเป็นทางรอดของชาวนา

คุณเดชาเล่าว่า ตอนแรกที่ทำมูลนิธิ ก็พยายามจะฟื้นฟูความเชื่อดั้งเดิมขึ้นมา เพียงแค่ให้เป็นขวัญเป็นศักดิ์ศรีของชาวนา จนกระทั่งปี ๒๕๔๘ มูลนิธิได้เชิญคุณโดโรธี แมคเคลน (Dorothy Maclean) จากชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) ในสกอตแลนด์มาสอนวิธีเชื่อมต่อกับปัญญาญาณของธรรมชาติให้กับชาวนาไทย ชุมชนฟินด์ฮอร์นทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการสื่อสารกับปัญญาญาณของธรรมชาติสำเร็จมาแล้ว แต่เดิมพื้นที่ของชุมชนเป็นทรายที่แห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์ คุณโดโรธีและเพื่อนร่วมงานสื่อสารกับปัญญาญาณในธรรมชาติ ผ่านการทำสมาธิ และได้รับคำแนะนำในการปลูกพืชที่เหมาะสม ทำให้พื้นที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนโด่งดังเพราะปลูกกะหล่ำได้หัวละ ๑๘ กิโลกรัม ปัจจุบันชุมชนกลายเป็นต้นแบบของการปลูกพืชอินทรีย์ชั้นแนวหน้าของโลก

คุณเดชาจึงเชื่อมั่นว่า การกลับไปหาความเชื่อโบราณนั่นเองที่จะให้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์สู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสู้กับการโฆษณาของบริษัทปุ๋ยและยา ตัวคุณเดชาเองมักจะมีความรู้แบบปิ๊งแว้บหรือญาณทัสนะ (Intuition) คืออยู่ๆ ก็มีความคิดขึ้นมาในหัวว่าควรจะปลูกข้าวอย่างไร และเมื่อนำความรู้นั้นไปทดลองทำ ก็ปรากฏว่าได้ผล เช่น ความรู้ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว โดยแกะเปลือกเมล็ดข้าวให้เป็นข้าวกล้อง เพื่อจะได้ดูลักษณะภายในของเมล็ดข้าวได้อย่างชัดเจน ทำให้เลือกเมล็ดที่มีลักษณะดีไปปลูกได้ ซึ่งไม่เคยมีใครคิดจะทำเช่นนี้มาก่อน ชาวนาแต่ไหนแต่ไรก็คัดเมล็ดพันธุ์จากข้าวเปลือกกันทั้งนั้น อยู่ๆ คุณเดชาก็เกิดความรู้นี้ขึ้นมาเอง จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิข้าวขวัญสามารถเพาะพันธุ์ข้าวที่ทนทานและให้ผลผลิตดีได้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่นนี้ โดยไม่ต้องมีห้องวิจัยไฮเทคแต่อย่างใด และที่สำคัญ นักเรียนชาวนาของมูลนิธิก็สามารถใช้วิธีนี้คัดพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับที่นาอินทรีย์ของตัวเองได้ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะทำให้ข้าวสามารถทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนได้

อีกองค์ความรู้สำคัญของโรงเรียนชาวนาที่มาจากการปิ๊งแว้บของคุณเดชาก็คือ การใช้จุลินทรีย์ป่ามาหมักฟางในนาข้าวให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอันอุดมซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้เงินทุนอะไรเลย ไม่ต้องเผาฟางเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนทำการปลูกข้าวรอบต่อไป ดังที่ชาวนามักจะทำกัน อันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก คุณเดชากล่าวว่าจุลินทรีย์ป่าเหล่านี้อยู่ร่วมกันมานาน จนเกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนจุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากห้องทดลอง มนุษย์เป็นคนคัดเอง นักวิจัยก็จะคัดเฉพาะตัวดีๆ เปรียบไปก็เหมือนเราคัดคนเก่งๆ มาทำงานร่วมกัน แต่ละคนก็ต่างมีความคิดของตัวเอง ทำงานร่วมกันก็มักจะตีกันเอง สู้จุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากธรรมชาติไม่ได้ และที่สำคัญชาวนาสามารถหาดินจากป่าที่สมบูรณ์มาเพาะเลี้ยงได้เองอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อจุลินทรีย์จากห้องทดลองเลย

คุณเดชาเชื่อว่าปัญญาญาณเหล่านี้เกิดมาจากความเคารพในแม่โพสพ ปัญญาญาณเช่นนี้ ไม่เพียงเกิดกับคุณเดชาคนเดียวเท่านั้น ลูกศิษย์ของโรงเรียนชาวนาคนอื่นก็นำวิชาที่เรียนจากคุณโดโรธีไปทดลองและได้ผลอย่างน่าทึ่ง ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งก็คือ คุณจักรภฤต บรรเจิดกิจ หรืออาจารย์เบ้ ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยชาวนา จังหวัดพิจิตร และผู้คิดค้นการใช้จุลินทรีย์จาวปลวกที่สามารถย่อยสลายฟางในนาข้าว ย่อยกองปุ๋ยหมักได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดโคนที่ราคาแสนแพงได้อีกด้วย

คุณจักรภฤตเล่าให้ดิฉันฟังว่า หลังจากเรียนจากคุณโดโรธีแล้ว ก็กลับไปฝึก โดยนั่งแกะเมล็ดข้าวเปลือกให้เป็นข้าวกล้องทีละเมล็ดๆ เพื่อให้เกิดสมาธิ จะกินข้าวแต่ละทีก็จะแกะเมล็ดข้าว จนกระทั่งเกิดการเชื่อมต่อกับปัญญาญาณของแม่ธรรมชาติได้ และได้รับภารกิจให้ก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ไม่คิดว่าตนเองจะทำได้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหลือเชื่อ จนสามารถก่อตั้งและให้ความรู้แก่ชาวนาได้ ส่วนที่มาของจุลินทรีย์จาวปลวกก็คือ ในปี ๒๕๕๑ เกิดปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า ในวันแม่ปีนี้ แม่ธรรมชาติจะให้ของขวัญ จึงจุดธูป ๒๑ ดอก (๒๑ คือกำลังของแม่ธรณี) แล้วขอความรู้จากแม่ธรณี เสร็จแล้วก็ถือจอบเดินหาความรู้นั้น จนไปขุดจอมปลวกแล้วเจอจาวปลวก ภายในมีจุลินทรีย์ซึ่งก็คือโปรโตซัวที่อยู่ภายในตัวปลวก โปรโตซัวเหล่านี้คอยย่อยสลายไม้ที่ปลวกกัดกิน เมื่อนำจุลินทรีย์นี้มาเพาะเลี้ยง ปรากฏว่าย่อยฟางข้าวในนาได้อย่างรวดเร็วมาก เพียงแค่สามวัน ฟางก็นิ่ม พร้อมเป็นปุ๋ยสำหรับข้าวได้ อาจารย์เบ้บอกว่า ลองคิดดูว่าปลวกกินบ้านยังได้ จุลินทรีย์จาวปลวกจึงย่อยฟางได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้น เมื่อนำไปฉีดต้นข้าว ต้นข้าวก็ยังแข็งแรงอีกด้วย อีกของขวัญอันพิเศษจากแม่ธรณีก็คือ เมื่อคุณจักรภฤตเพาะจุลินทรีย์นี้ มีบางส่วนล้นออกมาจากถัง ปรากฏว่าพอถึงวันพระ เห็ดโคนก็ขึ้นในบริเวณนั้น เห็ดโคนนั้นจะขึ้นอยู่ตามจอมปลวก แต่เมื่อใช้จุลินทรีย์จาวปลวกไปรดโคนต้นไม้ เห็นโคนก็ขึ้นได้เช่นกัน

เคล็ดลับการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์จาวปลวกก็แสนง่าย คุณจักรภฤตอธิบายว่า ใช้จาวปลวก ซึ่งก็คือตัวแทนของแม่ธรณี ข้าวสุก เป็นตัวแทนของแม่โพสพ น้ำสะอาดคือแม่คงคา ส่วนอากาศและความร้อนก็คือแม่พระพายและแม่พระเพลิง รวมแม่ทั้งห้าเป็นเบญจภาคี เหมือนนิ้วทั้งห้าที่ขาดจากกันไม่ได้ ทุกส่วนผสม ชาวนาไม่ต้องหาซื้อแต่อย่างใด แม้แต่กากน้ำตาลที่ใช้เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์อื่นๆ ก็ไม่ต้องซื้อเพราะใช้ข้าวสุกแทนได้

ของขวัญจากแม่ธรณีนี้เป็นประโยชน์สำหรับชาวนาอย่างยิ่ง ชาวนาสามารถทำนาอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาที่ทำลายสุขภาพ แถมยังมีเห็ดโคนขายเพิ่มรายได้อีกต่างหาก ชาวนาหลายรายที่ทำตามวิธีนี้สามารถปลดหนี้และมีชีวิตอย่างมีความสุขได้

ทั้งคุณเดชาและอาจารย์เบ้แบ่งปันองค์ความรู้อย่างไม่เคยหวงแหน เพราะถือว่าเป็นความรู้ที่มาจากแม่ธรรมชาติ ที่ต้องการช่วยผู้คน ทั้งชาวนาในประเทศ รวมไปถึงชาวนาต่างประเทศที่มาเรียนรู้จากมูลนิธิข้าวขวัญ ต่างก็ทดลองวิธีการของแม่ธรรมชาติจนได้ผลสำเร็จ อาจารย์เบ้ยืนยันว่า “ทำนาแบบนี้ ได้ข้าวมากกว่านาเคมีทุกคน ดินดีขึ้น มีความสุขทุกคน” ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ มูลนิธิข้าวขวัญจึงจัดให้มีพิธีไหว้ครูบูชาแม่โพสพ ในวันพืชมงคลของทุกปี ให้ชาวนาของโรงเรียนชาวนาได้มาร่วมใจกันขอบคุณ “ครู” ซึ่งก็คือแม่ธรรมชาติทั้งหลายที่มอบองค์ความรู้มาช่วยเหลือชาวนาและผู้คนที่กินข้าวทุกคนอย่างเมตตากรุณา บรรดานักเรียนชาวนา ซึ่งปีหลังๆ นี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเมืองที่ผันตัวเองไปเป็นชาวนา ต่างพากันมาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสืบสานปัญญาญาณของแม่ธรรมชาติกันต่อไป

หัวใจสิงห์ สิทธาของไทย



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2560

สืบเนื่องจากงานเสวนาประมวล เพ็งจันทร์-วิศิษฐ์ วังวิญญู

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ เราสองผู้เฒ่าจัดคุยกันให้เพื่อนพ้องและลูกหลานฟัง หลายคนบอกว่ามันเข้มข้นอบอวลไปด้วยพลังงานดีๆ มากมาย ผมจึงอยากบันทึกบางประเด็นที่ทรงพลังและน่าสนใจจะสืบค้นต่อ

ผมขอโฟกัสไปที่อาจารย์ประมวลก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์ตอนอายุห้าสิบ เมื่อออกเดินเพื่อค้นหาอิสรภาพ อาจารย์ประมวลคนเก่าที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมหรือความไม่ถูกต้องทุกๆ กรณีอย่างเข้มข้น รวมถึงการรักษาต้นพะยอมริมถนนเอาไว้อย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นต้น ณ บัดนี้ คงต้องยอมรับว่า เราหาประมวลคนเก่าไม่เจอในร่างของชายคนนี้

ประเด็นน่าสนใจหลายประเด็นได้ผุดพรายขึ้นมา ที่ดูเหมือนความแตกต่างของขั้วขัดแย้งระหว่างเราสองคน เช่นเรื่องของความคิดและประสบการณ์ เวลาผู้เข้าร่วมฟังในงานนี้มีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกเรื่องราวเป็นขาวเป็นดำ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเช่นนั้นล่ะหรือ

ประสบการณ์เดินสู่อิสรภาพของอาจารย์ประมวล แน่นอนว่าเป็นอะไรที่เข้มข้น เหมือนว่านี่เป็นการที่อาจารย์นำเอาความคิดที่สั่งสมหลายสิบปีออกมาปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงก่อนหน้านั้นอาจารย์ไม่ปฏิบัติเลยหรือ คงไม่ใช่ ผมว่าอาจารย์ก็ปฏิบัติตลอดเวลา มีประสบการณ์ตรงมาตลอด แต่การเดินครั้งนั้น เป็นประสบการณ์ตรงที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาทั้งหมดของอาจารย์มากกว่า

อ่านต่อ »

ตาที่ดี หูที่ดี – ได้เห็น ได้ยินอะไร?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2560

การอ่านออกเขียนได้ถือว่าเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนไม่ได้เรียนหนังสือ คงได้คำตอบว่าใช่

การได้เรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนจบ ปวช. คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนที่พูดหรือเขียนภาษาต่างประเทศไม่ได้หรือไม่คล่องแคล่ว คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การได้ทำงานที่มั่นคง มีรายได้แน่นอน มีเงินเดือน มีสวัสดิการ มีวันลาพักผ่อน เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การมีหน้าที่การงานอันมีเกียรติ ผู้คนให้ความเคารพนับถือ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถาม รปภ. หรือพนักงานเก็บขยะ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือโรงเรียนของลูก เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนชุมชนป้อมมหากาฬที่กำลังถูกไล่ที่ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากเจ็บป่วย แล้วสามารถเลือกรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ไม่เกี่ยงว่าเป็นรัฐหรือเอกชน ไม่กังวลว่าจะไม่มีเงินค่ารักษา หรือหาหมอที่ดีที่สุดไม่ได้ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนใช้สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคม คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

อ่านต่อ »

เมื่อคุณธรรมไม่ใช่ “ไม้เท้าวิเศษ” และต้องการ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2560

“คุณธรรมไม่ใช่ไม้เท้าวิเศษ” และต้องการ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม” ข้อเสนอสำคัญจากเวทีเสวนา “ปณิธานความดีจากการตั้งใจสู่การปฏิบัติ” ในงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และคุณสิน สื่อสวน ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องคุณธรรมผ่านมุมมองของศาสตร์ต่างๆ และการปฏิบัติจริง เริ่มจาก ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ นำเสนอปมปัญหาคุณธรรม ว่าเป็นความยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องใช้การพิจารณาไตร่ตรอง โดยได้ยกตัวอย่างการถกเถียงทางคุณธรรมจากวรรณกรรม สีดาราม เรื่องราวความรักของสีดาและพระรามร่างอวตารของนารายณ์ กรณีตัวอย่างเช่น นายภัทรช่างซักเสื้อ ที่ภรรยาไปดูแลแม่ที่ป่วย นายภัทรได้ไล่ภรรยาออกจากบ้าน เพราะคิดว่าไม่ซื่อสัตย์ ตามกฎสังคมสมัยนั้น นายภัทรจึงเป็นตัวแทนของคนที่ยึดกฎอย่างสมบูรณ์ โดยไม่สนใจเรื่องอะไรทั้งสิ้น ความดื้อด้าน คับแคบ ยึดมั่นกฎที่ดูเหมือนถูกต้อง ทำให้เกิดความล่มสลายของชีวิต ซึ่งเป็นการไตร่ตรองที่ขาดวิ่น ยึดกฎที่ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่ครอบคลุม ไม่สนใจข้อเท็จจริง ตัดสินเด็ดขาดโดยไม่ไตร่ตรอง หรือกรณีพระรามที่ไล่นางสีดา สะท้อนความเจ็บปวดของการตัดสินใจทำตามกฎ ตามมติ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวของทั้งสองฝ่าย

อ่านต่อ »

ชีวิตคือพิธีกรรม



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2560

เราหลายคนคงเคยสงสัยว่าจักรวาลหรือพระเจ้ามีประสงค์จะให้เราเกิดมาเพื่ออะไร ทำภารกิจอะไร หรือทำไมต้องพบกับอุปสรรคหรือวิกฤตบางอย่างของชีวิต ต้องเจอทุกข์ อิทธิพลของสิ่งต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเราทำให้ชีวิตแต่ละคนต้องประสบกับความสุข สมหวัง และความทุกข์​ ความเจ็บปวด ความพลัดพราก

ในทางจิตวิทยามีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และทำให้เห็นว่าหลายเรื่องที่เป็นนามธรรมมากจนดูเหมือนไม่สามารถเข้าใจ สามารถแกะรอยหรือถอดรหัสเส้นทางจิตวิญญาณได้ ว่าทำไมเรื่องราวต่างๆ ที่มีผลกระทบทางอารมณ์อย่างรุนแรงจึงเกิดขึ้นกับเรา ธรรมชาติหรือจักรวาลมีแผนการอะไรให้เรา

ในจิตวิทยาเชิงลึก ​(Depth Psychology) ที่ศึกษาธรรมชาติของจิต (psyche) เชิงลึก ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ความฝัน พฤติกรรมที่พึงและไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย เจมส์ ฮิลแมน (James Hillman) เป็นคนที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในการอธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาของผู้คนในสังคม เขาเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดเมล็ดพันธุ์ทางจิต (Acorn Theory) ที่บอกว่า เราแต่ละคนมีเอกลักษณ์หรือธรรมชาติที่จำเพาะในตัวเองมาพร้อมกับการเกิด ไม่ต้องพัฒนา เพียงแค่อาศัยเงื่อนไขบางอย่างให้เมล็ดพันธุ์ได้กะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่อออกมา ซึ่งอาจจะหมายถึงเหตุการณ์หรือวิกฤตชีวิตที่เกิดกับเราอย่างไม่ทันตั้งตัวหรือคาดคิดมาก่อน

อ่านต่อ »

แม่มดในโลกสมัยใหม่



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2560

เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปร่วมการเสวนาวิชาการเรื่อง “การยกระดับภูมิปัญญาพิธีงานปีผีมดสู่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในวงเสวนา คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนผู้มีความรู้ลึกซึ้งในภูมิปัญญาโบราณ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของแม่มดในสังคมไทย โดยยกหลักฐานอ้างอิงจากเอกสารโบราณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากกฎหมาย ตำนาน วรรณกรรม และตำราดาวในสมุดใบลาน สรุปได้ว่าแม่มดหรือที่เรียกตามคำโบราณเพียงสั้นๆ ว่า “มด” อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแต่มีในบ้านเราเท่านั้น ในโลกตะวันตก แม่มดก็ปรากฏมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คุณนิพัทธ์พรได้ฉายภาพสไลด์ทิ้งท้ายการบรรยาย เป็นภาพแกะสลักหินโบราณในประเทศฝรั่งเศส อายุกว่าสองหมื่นปี ภาพนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ Goddess of Laussel (ดูภาพประกอบ) และบอกว่านี่แหละคือภาพของแม่มดในโลกโบราณ พร้อมกับส่งต่อให้ดิฉันเล่าถึงเรื่องราวของแม่มดในโลกตะวันตก

การเสวนาวันนั้น ทำให้ดิฉันได้ทบทวนประสบการณ์ที่มีกับแม่มด ขณะที่ไปศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาจิตวิญญาณผู้หญิง ที่ California Institute of Integral Studies ในซานฟรานซิสโก ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหัวก้าวหน้าทั้งทางด้านไอทีและด้านการเมืองนี้ ในอีกด้านหนึ่งนับได้ว่าเป็นเมืองหลวงของแม่มดเลยทีเดียว มีแม่มดและพ่อมดจากหลากหลายสายมารวมตัว ใช้ชีวิตเรียนรู้วิถีการปฏิบัติแบบดั้งเดิมร่วมกัน มีกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ อย่างคึกคักตลอดทั้งปี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสาขาวิชาที่ดิฉันศึกษาก็คือ Starhawk แม่มดสำคัญคนหนึ่งของโลกตะวันตก ผู้ก่อตั้ง Reclaiming ชุมชนของผู้ปฏิบัติสายแม่มดที่ผนวกวิถีการปฏิบัติเข้ากับการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคม ดิฉันยังได้เช่าบ้านอยู่ร่วมกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นแม่มดในกลุ่มของ Reclaiming จึงทำให้มีโอกาสได้รู้จักและเรียนรู้วิถีปฏิบัติของแม่มดในโลกยุคใหม่อย่างใกล้ชิด

อ่านต่อ »

เพราะสุดโต่งตายตัวจึงตีบตันและแตกแยก เพราะแตกต่างและหลากหลายจึงคลายตัวและงดงาม



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2560

สังคมปัจจุบันมีแนวโน้มจะคิดและทำกันในลักษณะสุดโต่ง สุดขั้ว หรือสุดซอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การตัดสินว่าอะไร หรือใคร ดี-ชั่ว ถูก-ผิด อย่างรวดเร็วตามเกณฑ์ ตามมาตรฐาน ตามความคิด หรือตามความเชื่อของตนเอง และถ้าคู่กรณีต่างฝ่ายต่างก็พูด คิด และทำในลักษณะเดียวกัน โอกาสที่จะรับฟังเหตุผลหรือที่มาของการพูด การกระทำ และความคิดของกันและกันก็จะลดลง การฟังก็จะอยู่ในลักษณะของการจ้องจับผิดจากภาษาหรือท่าทาง มากกว่าที่จะเป็นการฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพราะเราได้ตัดสินเขาไปก่อนแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะตายตัวและตีบตันทางเลือก เกิดการแตกแยก แบ่งฝ่าย เอาแพ้เอาชนะ ต่างฝ่ายต่างก็อยู่ในท่าทีของการปกป้องตนเอง และโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

ยิ่งสุดโต่งตายตัว ยิ่งตีบตัน ยิ่งแตกแยก มองไม่เห็นจุดเด่น และความงดงามที่แตกต่างและหลากหลายของอีกฝ่ายหนึ่ง

หากเมื่อเราเรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพในความแตกต่างและหลากหลาย เราจึงมีโอกาสจะมองเห็นและซึมซับความงดงามของความแตกต่างและหลากหลายได้ การหลอมรวมเป็นหนึ่งบนความหลากหลายก็มีโอกาสจะเกิดขึ้น

อ่านต่อ »

ค้นหาความบรรสานของชีวิตเพื่อสุขภาพ ปัญญา และความรัก



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2560

ขอเริ่มต้นด้วยคำว่า ค่าผันแปรของชีพจร (heart rate variability) ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สุขภาพมีวิธีตรวจวัดค่าการผันแปรชีพจรออกมา และบอกว่าหากชีพจรมีการผันแปร นับเป็นเรื่องดีกับสุขภาพ คนที่ไม่ค่อยมีการผันแปรหรือค่าผันแปรต่ำกลับกลายเป็นคนที่จะมีปัญหาสุขภาพ

ผมจะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่าคืออะไร วัดอย่างไร ถ้าสนใจให้ไปหาค้นคว้าศึกษาเอาเอง แต่ผมจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้

ค่าผันแปรชีพจรที่ดี แสดงถึง หนึ่ง สุขภาพทางกายที่ดี มีประสิทธิภาพ สอง อารมณ์ดี มีความผาสุก สาม ประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วนหน้า (executive brain) อันหมายถึงเจตจำนง ความสามารถที่จะวางแผนและกระทำการตามแผนได้ สี่ การมีชีวิตที่ยืนยาว ห้า ความสามารถในการปรับตัวกับความเครียดและการฟื้นคืนจากความเครียดกลับสู่สภาพปกติได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


กับคำว่าบรรสาน

มีคำว่า coherence ผุดขึ้นมา คือธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตหรือระบบชีวิตเป็นระบบที่บรรสานกันอยู่แล้ว เมวัน โฮ นักชีวฟิสิกส์คนสำคัญของโลกผู้ล่วงลับ ได้ระบุว่า องค์ประกอบทั้งหมดของชีวิตเป็นผลึกเหลว (liquid crystalline) ที่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงอย่างมีระเบียบสูงสุด แต่ร่างกายเรามีทั้งสภาวะที่บรรสานและไม่บรรสาน เวลาสูญเสียความบรรสาน พลังจะรั่วไหล ความไม่ลงรอยและความขัดแย้งของระบบต่างๆ ทำให้พลังงานถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการสูญเสียมากมาย

ปกติในสภาวะบรรสาน พลังงานจะถูกหมุนเวียนส่งกลับมาให้ใช้งานได้อย่างเหลือเฟือ ไม่ร่อยหรอ เป็นช่วงที่เรามีพลังงานดีที่สุด ระบบขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างดีที่สุด โดยใช้พลังน้อยที่สุด และในขณะเดียวกัน ระบบย่อยอาหารและระบบซ่อมแซมฟื้นคืนพลังก็ทำงานได้ดี

อ่านต่อ »

คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2560

สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์มาบ้าง จะเข้าใจได้ว่าจุดร่วมของกระบวนการในลักษณะนี้ คือ นำพาแต่ละคนเข้าไปสำรวจ เรียนรู้เข้าใจตนเอง ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจบกระบวนการ หลายคนพบว่าการนำกระบวนการเรียนรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

สถานการณ์นี้นำไปสู่ประเด็นคำถามที่ว่า กระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์สามารถนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ทางสังคม (ที่มีความสลับซับซ้อนกว่าช่วงเข้าร่วมกระบวนการ) ได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่ได้

ผู้เขียนนำประเด็นคำถามข้างต้นไปสอบถามกับกระบวนกร/ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และวิทยากรที่เชิญมาร่วมจัดกระบวนการในงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งประกอบไปด้วย คุณอลงกรณ์ วินัยกุลพงค์ และทีมกระบวนกรจากเครือข่ายพุทธิกา คุณธนัญธร เปรมใจชื่น จากสถาบัน Sevenpresents และ รศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแต่ละท่านช่วยให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องงานกระบวนการที่นำมาใช้การพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์ในมุมมองที่หลากหลายกันไป

อ่านต่อ »

สังคมภิวัฒน์



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2560

เกือบสามสิบปีที่แล้ว ธนาคารโลกให้ทุนแก่การเคหะฯ สำหรับปรับปรุงที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ เมื่อเจ้าหน้าที่การเคหะฯ เข้าไปในชุมชนบ้านครัว แจ้งว่าจะทำทางระบายน้ำ โดยอธิบายว่าเป็นการใช้เงินที่กู้มาจากธนาคารโลก จึงจะขอให้ชุมชนช่วยกันชดใช้เงินคืน ชาวบ้านคนหนึ่งจึงลุกขึ้นยืนถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมรัฐจึงไปสร้างทางระบายน้ำที่สุขุมวิท ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกิน โดยไม่คิดเงิน แต่ในชุมชนที่ยากจนรัฐกลับจะคิด

เรื่องเล่าด้านบนนั้นมาจากบทความกึ่งวิชาการ “ชาวบ้าน ชาวเมือง: ชุมชนแออัดกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง” ของ ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ ผู้บุกเบิกงานมานุษยวิทยาในประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ซึ่งมีพื้นฐานจากวิธีคิดของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ทั้งยังแสดงให้เห็นประเด็นถกเถียง ๓ ประการ ได้แก่ (หนึ่ง) รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการเรื่องอะไรบ้าง? (สอง) ประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร? และ (สาม) อะไรที่รัฐกับประชาชนต้องทำร่วมกัน?

ประเด็นถกเถียงดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีผู้เสนอว่าประชาชนต้องร่วมจ่าย โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนมีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเองไม่ให้ป่วยเช่นกัน ภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็แย้งว่า บริการสุขภาพเป็นหน้าที่ของรัฐ และความเจ็บป่วยมิได้เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากยังมีปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ในระดับต่างๆ อีกมาก ส่งผลให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ โดยผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มประชากรชายขอบต่างๆ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อ่านต่อ »

กิจกรรมพิเศษของชีวิต



โดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2560



สำหรับเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบที่ต้องผ่าตัดไส้เลื่อน มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้ค้างแรมนอกบ้าน ได้นอนเตียงใหญ่ในห้องพักเดี่ยวของโรงพยาบาล ในช่วงหัวค่ำ ผมจะได้เจอกับพ่อแม่และน้องๆ ในบรรยากาศกึ่งปาร์ตี้ มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้กินช็อกโกแลตแท่งโตที่เย็นฉ่ำและหอมอร่อย ได้เกาะกระจกใสจากตึกชั้นสิบ มองลงมาและเห็นทิวทัศน์เบื้องสูงของกรุงเทพฯ

ผมรู้สึกว่าได้เห็นการแสดงความรักของคนใกล้ชิด ซึ่งแตกต่างออกไปจากวันธรรมดาอื่นๆ การป่วยจึงเป็นกิจกรรมพิเศษของชีวิต ความป่วยได้มอบสีสันใหม่ๆ ภูมิทัศน์ใหม่ๆ แนะนำผู้คนและความสัมพันธ์ใหม่ๆ มาสู่ชีวิตของเรา



เมื่อผมโตขึ้น ผมมีความสุขกับการไปโรงพยาบาลน้อยลง ผมเริ่มเรียนรู้ว่า การป่วยหนักเป็นความทรมานอย่างหนึ่ง คนป่วยต้องตื่นแต่เช้าไปโรงพยาบาล ต้องรู้วิธีหาบัตรคิว ต้องประคองใจอดทนรอคิวพบหมอ รอคิวตรวจร่างกาย รอคิวจ่ายยา

ผมได้เรียนรู้ว่า การรักษานั้นมีต้นทุนและเหน็ดเหนื่อย ได้เรียนรู้ว่าเออหนอ โรงพยาบาลของรัฐมีความจำกัดอย่างนี้เอง บุคลากรสุขภาพประเทศไทยเครียดอย่างนี้เอง

เมื่อผมป่วยหนัก ทำอะไรอื่นไม่ได้นอกจากการนอนพักอยู่ที่บ้าน หรือทำกิจกรรมเบาๆ ผมตระหนักถึงความจำเป็นของการพักผ่อนและการอยู่เฉยๆ ผมได้เรียนรู้ว่า การหยุดทำงานก็เป็นงานอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย

อ่านต่อ »

เยียวยาใจด้วยเมตตา



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2560

หญิงผู้หนึ่งเศร้าเสียใจมากเพราะสามีของเธอกำลังจะตายด้วยโรคร้าย เมื่อใดที่นึกถึงวันที่ไม่มีเขาอยู่ในโลกนี้ เธอยิ่งรู้สึกห่อเหี่ยว วันหนึ่งขณะที่สามีกำลังทรุดหนัก เธอพูดกับเขาว่า “ฉันจะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีคุณ” คำตอบของเขาคือ “นำความรักที่คุณมีให้กับผม ไปมอบให้คนอื่นๆ”

เธอพบว่าเมื่อสามีจากไป คำแนะนำของเขาช่วยเธอได้มาก การมอบความรักให้แก่ผู้อื่น ด้วยการช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือคนที่ลำบากกว่าเธอนั้น ช่วยให้เธอคลายความเศร้าโศกไปได้ไม่น้อย มันไม่เพียงทำให้เธอหลุดจากการจมดิ่งในความทุกข์เท่านั้น ความเมตตาที่ถูกปลุกขึ้นมายังช่วยขับไล่ความเศร้าโศกไปจากใจเธอ ยิ่งกว่านั้นความสุขใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เธอให้ความช่วยเหลือ ยังเป็นเสมือนน้ำชโลมใจที่ทำให้กลับมามีชีวิตชีวา

ความเมตตา ความใส่ใจและเอื้ออาทรต่อผู้อื่นนั้น เป็นโอสถที่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้ที่เศร้าโศกเพราะสูญเสียได้เป็นอย่างดี กุมารแพทย์ผู้หนึ่งสูญเสียสามีอย่างกะทันหัน ทันทีที่รู้ข่าว ใจเธอแทบสลาย เธอจมอยู่ในความเศร้าอย่างไม่รู้วันรู้คืน แม้งานศพเสร็จสิ้น ความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตก็ยังไม่จางคลาย ครั้นถึงเวลาที่ต้องไปทำงาน เธอก็เอาแต่จ่อมจมอยู่ในห้องพัก ไม่มีเรี่ยวแรงไปตรวจคนไข้ ทีแรกเพื่อนๆ ก็อยากให้เธออยู่กับตัวเองสักพัก ด้วยความหวังว่าไม่นานเธอก็จะดีขึ้น แต่ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ เธอก็ยังไม่ดีขึ้น เก็บตัวอยู่แต่ในห้องพักทั้งวัน

อ่านต่อ »

ความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างมิติภายในกับมิติภายนอก: ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับ เศรษฐกิจดิจิทัล



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2560

โลกยุคใหม่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ดูเหมือนจะเทไหลไปให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นมิติภายนอกมากกว่ามิติภายใน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมิติภายนอกมันจับต้องได้ทันที มันน่าตื่นเต้น ตื่นตา เร้าใจ และที่สำคัญ มันซื้อได้ ขายได้ โดยใช้เงิน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบและวิธีการใดเป็นตัวกลาง คนจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจแบบนี้จึงต้องขวนขวายหาเงินมาเพื่อจะให้ได้สิ่งที่อยากมีอยากได้ และเมื่อความอยากมีอยากได้มันเอ่อล้นจนขาดสติ คนก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีเดินทางลัดเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุด ได้ผลมากที่สุด โดยใช้ทุนน้อยที่สุด ซึ่งในทางวิชาการด้านการบริหารเรียกว่ามีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่บางรายก็มุ่งแต่ผล (ประโยชน์สูงสุดส่วนตน) โดยไม่สนใจเรื่องคุณธรรม ความถูกต้องดีงามที่เป็นมิติภายใน เช่น การแอบปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะ การปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และธนบัตร ฯลฯ

ขออนุญาตใช้ชุดภาษายุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า คนจำนวนหนึ่ง “ติดกับดัก” ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น แบบเร่งรีบในยุคดิจิทัล คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนจากการ “ทำมากได้น้อย สู่การทำน้อยได้มาก” ด้วยการโกงกิน รับสินบน การคอร์รัปชั่น แชร์ลูกโซ่ ปล้น ขโมยทรัพย์ของผู้อื่น...

อ่านต่อ »

ระบบการศึกษาซอมบี้



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2560

ผมนั่งอยู่ในการบรรยายของวิทยากรในค่ายเยาวชน เรื่องราวที่วิทยากรพูดเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเกษตรในอดีตและฉายภาพในเห็นอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบันของประเทศไทย เรื่องราวดังกล่าวได้รับความสนใจจากเยาวชนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยมัธยมต้นพอสมควร แต่พอถึงช่วงถามตอบ คำถามที่น้องๆ ถามกลับเป็นคำถามที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในการบรรยายสักเท่าไร

“อาจารย์บอกว่าให้พวกผมตั้งคำถาม แต่ทำไมเวลาผมตั้งคำถามกับครูในห้อง ครูเขาไม่ยอมตอบผมครับ”

“อาจารย์คะ มันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างการสร้างสรรค์และการลบหลู่ แล้วเราจะสร้างสรรค์อย่างไรไม่ให้ลบหลู่”

“อาจารย์คะ การที่เราออกจากนอกกรอบแค่เพียงนิดเดียว แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่าเราไร้สาระ ทำไมล่ะคะ?”

บรรยากาศในห้องเหมือนกับเชื้อเพลิงลุกติดไฟ การแลกเปลี่ยนสนทนาเป็นไปอย่างคึกคักมีชีวิตชีวา ยิ่งเมื่อวิทยากรแบ่งปันเรื่องเล่าซึ่งตัวเขาเองถูกกดขี่มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษา เราจะได้ยินเสียงน้องๆ เยาวชนเปล่งเสียงฮือฮาเป็นระยะ

“ตอนนั้น ครูให้ผมวาดรูปดอกไม้ ผมก็ลงมือวาดทันที พอครูมาถึงเขาบอกว่ายังไม่ได้บอกให้วาด วาดก่อนได้อย่างไร แล้วดูสิ ครูจะให้วาดดอกไม้ห้ากลีบ ทำไมวาดเจ็ดกลีบ”

“ก็บ้านผมขายดอกไม้ ผมรู้ว่าดอกไม้เจ็ดกลีบก็มี!” อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในวิชาประวัติศาสตร์ เมื่ออาจารย์ตรวจข้อสอบให้เขาผิด เขาจึงไปทักท้วงครูผู้สอน

อ่านต่อ »

ฟินด์ฮอร์น ชุมชนทางเลือกชายฝั่งทะเลเหนือ



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 เมษายน 2560

ผมมาถึงชุมชนทางเลือกชื่อฟินด์ฮอร์น ทางเหนือของสกอตแลนด์ ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ศกนี้ เป็นวันเปลี่ยนเวลาพอดี ทำให้เวลาที่ต่างจากประเทศไทยเหลือ ๖ ชั่วโมงแทน ๗ ชั่วโมง บ่งบอกการสิ้นสุดฤดูหนาว ก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอย่างเต็มตัว อากาศสดใส ฟ้าสีครามไร้เมฆ แดดเจิดจ้า แต่อากาศนอกบ้านหนาวจับใจ ปีนี้ ดอกแดฟโฟดิลกำลังผลิบาน ตามหน้าบ้านและตามริมทางสาธารณะทั่วไปแลเหลืองสะพรั่ง ดอกสโนว์ดร็อบสีขาวเรี่ยดินก็โผล่ขึ้นมาตามโคนไม้ใหญ่ตรงนั้นตรงนี้ ทิวลิบกำลังแย้ม อีกไม่กี่วันคงอวดสีสดฉูดฉาดแข่งกับดอกไม้หลากสีของฤดูกาลนี้

ที่นี่อยู่ทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ ชายฝั่งทะเลเหนือ เป็นชุมชนที่ฝรั่งเรียกว่าผู้คนตั้งใจสร้างขึ้นใหม่ และภายหลังได้ชื่อเพิ่มว่าเป็นชุมชนนิเวศด้วย เมื่อเกิดชุมชนแบบนี้ทั่วยุโรป จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายชุมชนนิเวศของโลกและพยายามเผยแพร่การจัดตั้งชุมชนแบบนี้ ในฐานะเป็นคำตอบหนึ่งของการหาทางออกให้แก่มนุษยชาติ เพื่อไปพ้นจากวิกฤตหลายด้านที่กำลังเผชิญอยู่

ผู้นำชุมชนหลายคนจากชุมชนเหล่านี้ทั่วยุโรป เคยมาประชุมร่วมกันที่อาศรมวงศ์สนิท เพื่อปรึกษาหารือกันเรื่องหลักสูตรที่จะให้การศึกษาเพื่อขยายชุมชนแบบนี้ อาศรมวงศ์สนิทก็เลยได้ชื่อเป็นชุมชนนิเวศไปด้วย และทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันมา

ชุมชนฟินด์ฮอร์นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยผู้ก่อตั้งสามคน คือ ปีเต้อ แคดดี้ (Peter Caddy) กับภรรยาคือ ไอลีน แคดดี้ (Eileen Caddy) และโดโรธี แมคเคน (Dorothy Mcclain) ไอลีนนั้นสามารถสื่อกับเทพชั้นสูงได้ ส่วนโดโรธีสามารถสื่อกับรุกขเทวากับสัตวเทวาได้ ถ้าพูดภาษาบ้านเรา สตรีทั้งสองท่านนี้ก็เป็นคนทรงนั่นเอง ส่วนปีเต้อนั้นเป็นคนเชื่อ และเป็นคนปฏิบัติ นำสิ่งที่สตรีทั้งสองรับสื่อมา ออกสู่การปฏิบัติเป็นประจำวัน

อ่านต่อ »

ตื่นรู้ในกายเพื่อจิต สู่ความผาสุกและอิสรภาพที่แท้จริงของชีวิต



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 เมษายน 2560

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Practicing Mind: Developing Focus and Discipline in Your Life ของธอมัส สเติร์นเนอร์ (Thomas M. Sterner) ผมยกให้เป็นหนังสือดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ได้อ่านในรอบหนึ่งปี

ธอมัส สเติร์นเนอร์ เป็นนักดนตรีแจ๊สและช่างจูนเปียโน ตอนหนึ่ง เขาเล่าเรื่องการจูนเปียโน ว่าด้วยการฝึกฝนตนเอง แทนที่จะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตั้งใจ อย่างไม่ตื่นรู้ ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ชีวิตที่ตั้งใจและตื่นรู้ สังเกตความเป็นไปของชีวิต ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพียงการล้างหน้า การบริหารร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เมื่อตื่นนอนก็ตาม หากเราใส่ใจ เราสามารถนำมาเป็นการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น

ธอมัสเล่าว่า วันนั้น เขาต้องจูนเปียโนสองตัว ตัวใหญ่สำหรับนักแสดงเปียโน ตัวเล็กสำหรับวงออเครสต้าที่จะเล่นล้อไปกับนักแสดง นับว่างานหนักเอาการ เพราะการจูนเปียโนเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและซ้ำซาก ต้องจูนสายเปียโนไปทีละสาย กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลานานมาก

ธอมัสมีไอเดียว่าเขาจะทำงานให้ช้าลง นี่แหละครับเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกต่าง เขาเริ่มจากเปียโนตัวแรกสำหรับนักแสดง ปกติเขาจะรวบเครื่องมือเอามากองแล้วเริ่มทำงาน แต่วันนี้ เขาค่อยๆ หยิบเครื่องมือแต่ละตัวออกมาวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ แล้วเริ่มจูนเปียโนทีละสายอย่างช้าๆ อย่างตั้งใจไปเรื่อยๆ จนจบงาน

อ่านต่อ »

“ความดี” หลากวัย



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 เมษายน 2560

ความตั้งใจทำ “ความดี” ของคนแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร คือ คำถามที่ทีมนวัตกรรมองค์ความรู้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำมาออกแบบแบบสอบถามเก็บข้อมูลการตั้งปณิธานทำความดีของคนในสังคมไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ ๗๐ บุคคลต้นแบบ ๗ ล้านความดี “ทำดีตามรอยพ่อ สานต่องานที่พ่อทำ” และเพื่อนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์การตั้งใจทำความดีของคนทุกช่วงวัย ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐

ทีมงานออกแบบประเด็นคำถามโดยเชื่อมโยงประเด็นการตั้งใจทำความดีของคนในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเข้ากับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔) ที่มุ่งขับเคลื่อนคุณธรรม ๔ ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ทีมงานตระหนักดีว่า ท่ามกลางความหลากหลายของคนในสังคม การระบุประเด็นการตั้งใจทำความดีไว้เฉพาะคุณธรรม ๔ ประเด็นข้างต้น อาจเป็นการ “สร้างกรอบ” การความตั้งใจทำความดีของคนในสังคมมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ แบบสอบถามจึงมีคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบเลือกนิยาม “ความดี” ที่ตนเองตั้งใจทำอย่างอิสระอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากส่วนที่เลือกตอบแบบปรนัย

อ่านต่อ »

ปฏิบัติการ “กล้าที่จะสอน” (๒)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2560

จากผลของการจัดหลักสูตร “กล้าที่จะสอน” ๖ ประการดังได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้าแล้ว (ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ๑ เมษายน ๒๕๖๐) ในฐานะกระบวนกร ผมรู้สึกว่าครูทั้งหลายเปิดรับและมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งสองโมดุลอย่างเต็มที่ และได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนแบ่งปันและทักษะการดูแลตัวเองและการสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างตั้งอกตั้งใจ จนนำไปประยุกต์กับการสอนในชั้นเรียนอย่างได้ผลเกินความคาดหมาย คิดว่ากิจกรรมอีกสองโมดุลข้างหน้า จะยิ่งเพิ่มศักยภาพและทักษะในการเป็นครูกล้าสอน กล้าให้พื้นที่กับชีวิตและธรรมชาติทั้งภายในตัวเองและในตัวผู้เรียนได้อย่างมีพลัง ซึ่งจะตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เอาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และพลิกกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้มีชีวิตชีวาและมีประสิทธิภาพ

การทำงานครั้งนี้ ยังทำให้มีความเข้าใจมากขึ้นในระบบการศึกษานั่นคือ

๑. สังคมยังมีคนที่มีใจจะสอน อยากเห็นลูกศิษย์หรือเยาวชนเติบโตทั้งทางจิตใจ มุมมอง และความสามารถทางการศึกษา และเชื่อว่าครูเหล่านี้มีความสามารถและความรู้ที่สามารถจะสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ เพียงต้องการพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทบทวนชีวิต และวิธีการสอนของตัวเอง เพื่อเพิ่มพลังใจในวิชาชีพครู ดังนั้น โครงการจึงเน้นความสำคัญที่การเรียนรู้จากกันและกันมากกว่าการให้ความรู้แบบการอบรมสัมมนา ที่เน้นการรับความรู้จากวิทยากรเป็นหลัก

อ่านต่อ »

ปฏิบัติการ “กล้าที่จะสอน” (๑)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2560

ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาร่วมกับสถาบันขวัญแผ่นดิน พัฒนาหลักสูตรเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้ “โครงการ จิตวิญญาณใหม่ (The New Spirit in Education)” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยใช้ชื่อว่า “กล้าที่จะสอน” เพื่อสนับสนุนพื้นที่บ่มเพาะจิตวิญญาณครู ฟื้นฟูพลังชีวิตและแรงบันดาลใจ รวมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติและกระบวนการเรียนรู้ที่ให้คุณค่ากับชีวิตของผู้สอนและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดความเป็นครอบครัวหรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ให้คุณค่ากับความสนใจใคร่รู้ อิสรภาพในการแสวงหาความรู้ ที่ถือเอาวิชาเป็นหลัก โดยหลักสูตรทั้งหมดจะมี ๔ ครั้งด้วยกัน (ครั้งละ ๓-๔ วันในช่วง ๖ เดือน) ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอที่จะก่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย เคารพและไว้วางใจกันได้อย่างแท้จริง เพื่อช่วยในการสืบค้นและทำความเข้าใจในตัวผู้สอนเอง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และกระบวนการเรียนรู้ที่จะสอดคล้องกับชีวิตและหวังว่าจะส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจ

ทั้งนี้ ทางผู้จัดได้ใช้แนวคิดของพาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) จากหนังสือ กล้าที่จะสอน (The Courage to Teach) ซึ่งถอดบทเรียนการสอนของผู้เขียนและเพื่อนร่วมวิชาชีพมากว่า ๔๐ ปี ที่ถือว่าหัวใจของการศึกษาอยู่ที่หัวใจของครูและกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นทางออกอย่างหนึ่งให้กับปัญหาระบบการศึกษาที่ตีบตันอยู่ในปัจจุบัน

อ่านต่อ »

ผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุดในโลกกับหัวใจที่แกร่งกล้าและงดงาม



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มีนาคม 2560

ผมได้ดูเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งจากรายการทีวีช่อง National Geographic ระหว่างที่ดูได้อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดที่หลากหลาย ได้สติและปัญญา มีความรู้สึกอยากจะเผยแพร่เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเธอผู้แกร่งกล้าคนนี้

ผู้หญิงคนนี้เธอมีชื่อว่า Lizzie Velasques เป็นคนอเมริกัน เกิดที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส เธอเกิดมาก่อนกำหนดพร้อมกับความผิดปกติซึ่งวงการแพทย์ก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่ามาจากอะไร คือเธอไม่สามารถเพิ่มน้ำหนัก (ไขมัน) ให้ตัวเองได้ รูปร่างของเธอจึงผอมบางมีแต่หนังหุ้มกระดูก เหมือนมนุษย์ต่างดาว หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว จนตัวเธอเองพูดว่าเธอเป็นผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุดในโลก

ความทุกข์ทรมานทางกายจากโรคประหลาดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ความเจ็บป่วยทางกายที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจนนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันอายุ ๒๕ ปี และความเจ็บปวดทางใจตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จากการถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อเลียน กลั่นแกล้ง ไม่มีเพื่อนเล่น มีแต่คนรังเกียจ ไม่มีใครอยากคบ เธอต้องคอยหลบซ่อนตัวจากจากคนอื่นๆ เพราะไม่อยากเห็นสายตา ท่าทาง การซุบซิบ และไม่อยากตอบคำถามเกี่ยวกับความผิดปกติของเธอกับคนรอบข้าง

ผู้ที่อยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้เธอตลอดมาก็คือคุณพ่อคุณแม่ของเธอเอง

เธอพูดกับตัวเองบ่อยๆ ว่าเธอจะยังตายไม่ได้ เธอรวบรวมความกล้า ส่งรูปตัวเองพร้อมคำบรรยายที่ระบุว่าเธอคือ “ผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุดในโลก” ลงในสื่อออนไลน์ ปรากฏว่ามีคนเข้าดูเกือบ ๕ ล้านครั้งในเวลาไม่นาน

อ่านต่อ »

อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มีนาคม 2560

“ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ตน” เป็นพุทธภาษิตที่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยคุ้นเคย หลายคนฟังแล้วก็โมทนาสาธุ แต่บางคนที่ช่างสังเกตหน่อยอาจสงสัยว่า ทำไมต้องมีคำว่า “ประพฤติดีแล้ว” เพราะธรรมนั้นเป็นสิ่งดีสิ่งประเสริฐ ปฏิบัติเมื่อไหร่ก็น่าจะเกิดผลดีเมื่อนั้นไม่ใช่หรือ ทำไมจึงต้องต่อท้ายว่า “ประพฤติดีแล้ว” ด้วย แสดงว่าอาจมีการประพฤติที่ไม่ดีก็ได้ นั่นก็หมายความว่า ถ้าหากประพฤติไม่ดีก็ไม่นำสุขมาให้ตน อาจจะเกิดผลตรงข้ามก็คือทำให้เกิดทุกข์ได้

ธรรมที่ประพฤติไม่ดีย่อมนำทุกข์มาให้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีภาษิตหนึ่งในคาถาธรรมบทที่มีความหมายสอดคล้องกัน ก็คือ “หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือตนเองฉันใด ความเป็นสมณะอันบรรพชิตรักษาไม่ดี ย่อมฉุดไปนรกฉันนั้น” หญ้าคานั้นดูเผินๆ ไม่มีพิษมีภัยอะไร เพราะไม่มีหนาม แต่ถ้าจับไม่ดีมันก็บาดมือเอาได้ ความเป็นสมณะหรือความเป็นพระนั้น แม้จะเป็นสิ่งดี สิ่งประเสริฐ แต่เมื่อได้ครองเพศนี้แล้ว ใช่ว่าจะเกิดความเจริญงอกงามหรือเกิดผลดีเสมอไป ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็สามารถลงนรกได้ เช่น พอบวชเป็นพระแล้วมีคนกราบไหว้ เคารพนับถือมากมาย ก็หลงคิดว่าตัวเองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว หรือเมื่อปฏิบัติดีมีคนศรัทธามีลาภสักการะเกิดขึ้น เกิดหลงติดในลาภสักการะนั้นก็จะเกิดความโลภ หลงตัวลืมตนนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดก็เป็นได้ เช่น ใช้ความเป็นสมณะของตัวล่อลวงให้คนหลง จะได้เอาลาภสักการะมาถวายมากๆ หรือทำยิ่งกว่านั้นคือ ใช้ความเป็นพระเพื่อหลอกให้สีกามาปรนเปรอกิเลสของตัว อันนี้เรียกว่าความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ถูกย่อมฉุดลงนรก

อ่านต่อ »

จิตวิญญาณในโลกหลังความจริง



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2560

พจนานุกรมออกซฟอร์ดได้ยกให้คำว่า “หลังความจริง” (Post-Truth) เป็นคำแห่งปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มันมีความหมายว่า ความเป็นจริงทางภววิสัยส่งผลต่อความคิดความเชื่อของผู้คนน้อยกว่าอารมณ์ความรู้สึกและความเชื่อส่วนตัว พูดภาษาง่ายๆ ก็คือ คนเราย่อมเอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าตัดสินเสมอๆ โดยไม่สนใจหลักฐานความเป็นจริงที่ปรากฏต่อตนเอง

นักจิตวิทยาได้แยกกระบวนการให้เหตุผลของมนุษย์เป็นสองระบบ ระบบแรก เราก่อร่างสร้างรูปความเชื่อของเราจาก “ญาณทัสสนะ” และระบบที่สอง ด้วยกระบวนการ “ความคิดเชิงเหตุผล” ญาณทัสสนะคือผลพวงของวิวัฒนาการดั้งเดิมที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อม มันเป็นกระบวนการที่ดำเนินอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกโดยเราไม่รู้ตัว ส่วนความคิดเชิงเหตุผลเป็นผลจากวิวัฒนาการของมนุษย์ในภายหลังที่ทำให้เราสามารถใช้เหตุผลเชิงนามธรรม ซึ่งจะถูกจำกัดด้วยความทรงจำและพัฒนาการทางปัญญา

นอกจากนั้น เขายังค้นพบว่า คนเราไม่ได้ใช้เพียงความคิดเชิงเหตุผลในการตัดสินใจทำอะไรต่างๆ ๑๐๐% เรายังใช้ญาณทัสสนะเข้ามาตัดสินในเรื่องต่างๆ โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว (และอาจจะอธิบายการกระทำนั้นด้วยเหตุผลในภายหลัง)

อ่านต่อ »

เล่าเรื่อง Process Work จิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ ตอน โรงเรียนกระบวนกรที่พอร์ตแลนด์



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มีนาคม 2560

“I learn Process Work by relationship and love.” Dawn Menken

หลายปีที่ผ่านมาศาสตร์ของกระบวนกร หรือ Facilitator เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในเมืองไทย ทั้งในแวดวงการฝึกอบรม การศึกษา และการเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม อาจเป็นเพราะว่าโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง เราอาจกำลังต้องการผู้นำที่มีความเป็นกระบวนกรมากขึ้น หมายถึงผู้นำที่สามารถหลอมรวมความแตกต่างหลากหลาย และนำพาผู้คนให้เกิดการมีส่วนร่วม เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันอย่างเคารพเท่าเทียม ส่วนตัวผมเองมักจะมีพี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักในแวดวงเขียนมาถามถึงการทำงานและการเรียนรู้ด้านนี้อยู่เป็นระยะ ผมก็มักจะเล่าให้ฟังโดยนัดพูดคุย เขียนแลกเปลี่ยนกันในโซเชียลมีเดีย และหลายท่านคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้

อ่านต่อ »

ปฏิรูปการศึกษาไทย: การสะท้อนการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

ในฐานะที่เป็นคนไทย รู้สึกเจ็บปวดลึกๆ ทุกครั้งที่ได้ยินคนไทยด้วยกันพูดว่า ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่พัฒนา และยิ่งรู้สึกสะเทือนใจมากขึ้นเมื่อได้ยินชาวต่างชาติที่รู้จักและรักประเทศไทย พูดว่าประเทศไทยมีของดีมีคุณค่ามากมาย แต่คนไทยไม่เห็นคุณค่าและรักษาของดีเหล่านั้น แต่กลับไปไล่ล่าเลียนแบบฝรั่ง ไปติดกับดักความคิดและมาตรฐานภายนอกแบบตะวันตก

ทำไมเราต้องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบต่างๆ ตามเกณฑ์ ตามมาตรฐานของต่างชาติ ที่เรียกว่ามาตรฐานสากล? ทำไมต้องตามเขา? ทำไมไม่ทำของเราให้แตกต่าง ดี และมีคุณค่ามากพอที่ต่างชาติจะมาเทียบเคียงกับเราบ้าง? ประเทศฟินแลนด์พัฒนาระบบและจัดการศึกษาของเขาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่เลียนแบบใคร แต่กลับได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง ประเทศไทยควรเรียนรู้จากเขา ไม่ต้องเลียนแบบฟินแลนด์ เพราะบริบทของไทยไม่เหมือนเขา

เท่าที่ผมสังเกตจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความคิด ทฤษฎี หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีการดำเนินชีวิต เราก็มีความคิดจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ทันสิ่งใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

หรือเมื่อไรที่มีผลการจัดอันดับที่ไม่ดี เราก็คิดจะปฏิรูปเพื่อหวังจะให้มีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้น

อ่านต่อ »

“คุณธรรม” ในสังคมพหุวัฒนธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560

“คุณธรรม” ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมมีลักษณะอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่นำมาชวนคิดชวนคุยในกลุ่มภาคีเครือข่ายและผู้เข้าร่วมงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และภาคีสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๑-๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการสื่อสารและสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กระบวนการพูดคุยในงานสมัชชาครั้งนี้ มีตั้งแต่การปาฐกถา การเสวนา และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เริ่มจากปาฐกถาเรื่อง “อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนสังคมพหุวัฒนธรรม” ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสาระสำคัญ ๓ เรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความเป็นพลเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้อาจมีความต่างกันเรื่องศาสนาหรือชาติพันธุ์ แต่มีจุดร่วมกันในเรื่องของความเป็นพลเมือง

ศ.ดร.กนก ยังได้เสนอถึงการสร้างรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ว่าประกอบไปด้วย ๑. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับ ๒. การใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ปัญหา และ ๓. การสร้างความไว้วางใจ โดยมีกระบวนการสมัชชา การเสวนาสร้างสรรค์ และการศึกษาวิจัย เป็นเครื่องมือสนับสนุน

อ่านต่อ »

ชีวิตแห่งการตื่นรู้ ทำอย่างไรการตื่นรู้จึงจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน?



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560

ชีวิตช่วงนี้ของผู้เขียน เป็นช่วงของการปรับตัว เนื่องจากมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังใจ เพราะหากไม่ตื่นรู้มากพอ เวลาก็อาจจะไหลไปอย่างไม่รู้ตัว จนชีวิตเป็นไปอย่างหลับใหลดุจเดียวกับการละเมอเดิน

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงต้องภาวนา โดยมีเป้าหมายคือ การกลับมาอยู่กับความตื่นรู้ทุกครั้งที่ระลึกรู้ตัว สั่งสมวงจรสมองแห่งความตื่นรู้ ออกจากความหลับใหล จากการละเมอเดิน ออกจากยถากรรมความเคยชินเดิมๆ เพราะทุกครั้งที่ระลึกรู้ขึ้นมาได้ จะทำให้วงจรสมองแห่งการตื่นรู้เข้มแข็งขึ้นอีกหนึ่งหน่วยเสมอ เมื่อถึงวันหนึ่งที่บรรลุถึงจำนวนวิกฤตหนึ่ง (critical number) จะเกิดกระบวนการ Myelination กับวงจรสมอง คือการสร้างฉนวนหุ้ม ซึ่งทำให้สมองยกระดับการทำงานสูงขึ้นเป็นสามพันเท่าตัว กลายเป็นความสามารถพิเศษของความรู้ตัว ของการตื่นรู้อย่างยิ่งยวด อย่างไม่ธรรมดา หรืออย่างเซียน คือไปถึงระดับที่ว่า แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ยังตื่นรู้อยู่ คือการตื่นรู้ได้กลายมาเป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิตเราไปแล้ว

ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Practicing Mind โดย โธมัส สเตอเนอร์ (Thomas M. Sterner) เขานำเรื่องการปฏิบัติธรรมของโลกตะวันออกมาเขียนให้ชาวตะวันตกได้อย่างน่าอ่านมาก น่าจะมีใครนำมาแปลให้คนไทยได้อ่านกันด้วย เขามีวิธีอธิบายให้เห็นว่า เราสามารถฝึกฝนวงจรสมองแห่งการตื่นรู้ได้ในทุกๆ เรื่องที่เราทำ อย่างมีความสุข อย่างได้ความสำเร็จ ไปถึงระดับที่ชีวิตเราจะมีแต่ความสำเร็จและความสุขได้ในทุกๆ เรื่องราวที่เรากระทำ

อ่านต่อ »

สังคมไทยขาดสถาบันเสรีนิยมที่เข้มแข็งหรือเปล่า



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม 2560

เป็นไปได้ไหมว่า สังคมไทยขาดสถาบันเสรีนิยมที่เข้มแข็ง ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน ในการสร้างระบบประชาธิปไตย

เมื่อผมป่วยหนัก กำลังไปเที่ยวกับครอบครัวและถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลในต่างจังหวัดกะทันหัน เพราะผมแต่งตัวปอนๆ แบบชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกระดับปฏิบัติต่อผมเหมือนผมเป็นพลเมืองชั้นสอง (นี่ใช้คำอย่างเบา) แต่พอมีเพื่อนที่เป็นหมอมาเยี่ยม ฐานะของผมก็เปลี่ยนไปในทางดีขึ้นหน่อยหนึ่ง พอต้องย้ายมาโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น เพราะต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยกว่า เมื่อแรกมาถึง ไม่มีใครรู้จัก ทุกคนก็ปฏิบัติต่อผมแบบพลเมืองชั้นสองอีก พอมีคนมีสถานะในเมืองมาเยี่ยม สถานะก็ค่อยๆ ดีขึ้น พยาบาลคนหนึ่งกำลังหน้างอและพูดเสียงเข้มใส่ผม ขณะรอหมอมาตรวจ พอดีหมอที่มาตรวจรู้จักกับคนใหญ่ในเมืองที่ฝากฝังผมผ่านๆ กันมา พูดคุยกับผมอย่างเสมอกัน ให้คุณค่าต่อกัน คุณพยาบาลคนนั้นก็เปลี่ยนสรรพนามเรียกผม จาก “ลุง” ห้วนๆ มาเป็นคุณด้วยเสียงอ่อนหวาน และยิ้มแย้มทันที

การเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นคนเสมอกัน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีเสมอกัน คือ สถาบันเสรีนิยมที่พื้นฐานที่สุด ที่สังคมไทยยังไม่ได้สร้างให้ตั้งมั่นหรือเปล่า ศาสนาพุทธที่เน้นเรื่องนี้โดยแก่นสาร ทำไมไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมให้คนเห็นคุณค่าของกันและกัน หรือว่าศาสนาพุทธในบ้านเรา ถูกตีความแบบศักดินามากเกินไปหรือเปล่า เช่นหลักเรื่องสมานัตตตา หมายถึงความเสมอภาค เลยถูกตีความว่าเป็นเรื่องต้องวางตัวเสมอต้นเสมอปลายไปหรือเปล่า

เป็นไปได้ไหมว่า เมื่อนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ รุ่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ และมิตรสหาย ถูกกำจัดโดยจอมเผด็จการอย่างเผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สังคมไทยยังไม่สามารถฟื้นสถาบันการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีและเสรีภาพทางวิชาการที่มั่นคงได้อีก แม้ในรอบ ๕๐ กว่าปีที่ผ่านมา เรามีคนทำงานสื่อสาธารณะที่เข้มแข็งกล้าหาญขึ้นบ้าง เรามีนักวิชาการที่ซื่อตรงต่อการแสวงหาสัจจะอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วสถาบันสื่อ และสถาบันทางวิชาการ ยังอ่อนแอเกินกว่าจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องและช่วงชิงพื้นที่การแสดงออกสาธารณะอย่างอิสรเสรี นี่เป็นสถาบันเสรีนิยมอันสำคัญยิ่งยวดของประชาธิปไตย คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานใช่ไหม เราจึงจะเข้าใจข้อความอย่าง “ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูดแม้แต่น้อย แต่ผมจะปกป้องเสรีภาพจนสุดชีวิต ให้คุณได้พูดสิ่งที่คุณอยากพูดนั้น”

อ่านต่อ »

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๓



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2560

โครงการประเมิน “โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทาน มีเวลาต่อเนื่องกันสามปี นับเป็นโครงการแรกของไทยและของโลกที่มีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของการประเมินแนวใหม่ที่เรียกว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

จากการ “ปิ๊งแว้บ” ทางความคิดในเรื่องกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินของผู้เขียนในต้นปี ๒๕๕๑ สู่การมีโอกาสนำไปปฏิบัติจริงกับโครงการของกรมชลประทาน ในปี ๒๕๕๖ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองหลายประการ ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ไปแล้วสองครั้ง ในลักษณะของการสะท้อนการเรียนรู้จากปีที่หนึ่งและปีที่สองของโครงการ

โครงการพัฒนาฯ นี้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปในปี ๒๕๕๙ ในฐานะทีมประเมินผู้นำกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้ ผู้เขียนมีบางประเด็นที่จะนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังต่อไปนี้

เมื่อพิจารณาจากปรัชญาการประเมินแนวใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การเอื้อ/การสร้างให้เกิดความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และความยั่งยืนของโครงการ พบว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าทุกพื้นที่นำร่องใน ๔ จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการได้รับความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ ทั้งในแง่ของการพัฒนากระบวนการวางแผนและการทำงานอย่างมีส่วนร่วม กระบวนการผลิต การตลาด และผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ โดยรวม กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการในทุกพื้นที่มีความภาคภูมิใจที่ชุมชนพื้นที่ของตนได้รับความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการ และจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้าน คณะทำงานในพื้นที่ ทีมพัฒนา โดยรวมมีความคาดหวังและตั้งใจจะสานต่อการทำงานการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนได้ในระดับหนึ่ง

อ่านต่อ »

มองเป็น เห็นประโยชน์จากทุกสิ่ง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มกราคม 2560

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักมอง ถ้าเราวางใจเป็น เราสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่ง แม้ว่ามันจะเป็นความเจ็บปวด ความสูญเสีย ตอนที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มีผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัวเป็นจำนวนมาก บางคนก็กลุ้มอกกลุ้มใจจนเป็นบ้า ฆ่าตัวตาย ซึ่งจัดว่าเป็นการซ้ำเติมตัวเอง เพราะว่าน้ำท่วมทำได้แค่พัดพาและทำลายทรัพย์สมบัติของเรา ไม่ได้ทำมากไปกว่านั้น แต่เมื่อวางใจไม่เป็นก็เลยกลุ้มอกกลุ้มใจจนเสียสติ จนเป็นบ้า หรือทำร้ายตัวเอง

แต่มีอยู่คนหนึ่งไม่ทุกข์เท่าไร เธอบอกว่าน้ำท่วมคราวนี้ทำให้เห็นเลยว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทุกอย่างมาอยู่กับเราแค่ชั่วคราวเท่านั้น อันนี้ถือว่าเธอได้ประโยชน์จากน้ำท่วม เพราะทำให้เห็นสัจธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่ทุกข์จากน้ำท่วมครั้งนั้น ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์เพราะความสูญเสียครั้งต่อๆ ไปด้วย

เราสามารถได้ประโยชน์จากความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมาสอนเราว่า สังขารไม่เที่ยง มาเตือนให้เราไม่ประมาทกับเวลาที่เหลืออยู่ ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” คือมีปัญญาเห็นสัจธรรมของสังขารร่างกาย หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาตมา ป่วยด้วยโรคมะเร็งครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ ตอนที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ท่านบอกว่า “มันแสนสบายหนอ เพราะมีคนทำให้ทุกอย่าง” ท่านยังกล่าวอีกว่า “ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไรหรอก เห็นไตรลักษณ์อย่างเดียวพอแล้ว มันแสดงให้เราเอง” เวลาเราป่วยก็ลองทำอย่างนี้ดูบ้าง คือพิจารณาไตรลักษณ์ จากร่างกายนี้ ไม่ใช่เอาแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ว่าทำไมต้องเป็นฉัน

อ่านต่อ »

Back to Top