หัวใจสิงห์ สิทธาของไทย



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2560

สืบเนื่องจากงานเสวนาประมวล เพ็งจันทร์-วิศิษฐ์ วังวิญญู

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ เราสองผู้เฒ่าจัดคุยกันให้เพื่อนพ้องและลูกหลานฟัง หลายคนบอกว่ามันเข้มข้นอบอวลไปด้วยพลังงานดีๆ มากมาย ผมจึงอยากบันทึกบางประเด็นที่ทรงพลังและน่าสนใจจะสืบค้นต่อ

ผมขอโฟกัสไปที่อาจารย์ประมวลก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์ตอนอายุห้าสิบ เมื่อออกเดินเพื่อค้นหาอิสรภาพ อาจารย์ประมวลคนเก่าที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมหรือความไม่ถูกต้องทุกๆ กรณีอย่างเข้มข้น รวมถึงการรักษาต้นพะยอมริมถนนเอาไว้อย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นต้น ณ บัดนี้ คงต้องยอมรับว่า เราหาประมวลคนเก่าไม่เจอในร่างของชายคนนี้

ประเด็นน่าสนใจหลายประเด็นได้ผุดพรายขึ้นมา ที่ดูเหมือนความแตกต่างของขั้วขัดแย้งระหว่างเราสองคน เช่นเรื่องของความคิดและประสบการณ์ เวลาผู้เข้าร่วมฟังในงานนี้มีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกเรื่องราวเป็นขาวเป็นดำ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเช่นนั้นล่ะหรือ

ประสบการณ์เดินสู่อิสรภาพของอาจารย์ประมวล แน่นอนว่าเป็นอะไรที่เข้มข้น เหมือนว่านี่เป็นการที่อาจารย์นำเอาความคิดที่สั่งสมหลายสิบปีออกมาปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงก่อนหน้านั้นอาจารย์ไม่ปฏิบัติเลยหรือ คงไม่ใช่ ผมว่าอาจารย์ก็ปฏิบัติตลอดเวลา มีประสบการณ์ตรงมาตลอด แต่การเดินครั้งนั้น เป็นประสบการณ์ตรงที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาทั้งหมดของอาจารย์มากกว่า


มีคนถามอาจารย์ว่า จะแนะนำคนอายุสามสิบสี่สิบกว่าที่อยู่ในห้องนี้อย่างไร ว่าเราควรหยุดอ่านหนังสือไหม? เหมือนเวลานี้อาจารย์ก็แทบจะหยุดอ่านหนังสือไปแล้ว อาจารย์ประมวลยืนยันว่า พวกท่านควรอ่านหนังสือ อ่านมากๆ ด้วย ที่จริงการอ่านหนังสือของอาจารย์ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การเดินสู่อิสรภาพของอาจารย์ระเบิดเป็นการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ได้

ณ ห้วงเวลานี้ หลังจากการเดินสู่อิสรภาพในวัยห้าสิบ อาจารย์ทิ้ง “ความคิด” ต่างๆ ไปแล้ว มีคนถามว่าอาจารย์มียุทธศาสตร์กับสังคมไหม อาจารย์มีอุดมการณ์อะไรไหม? อาจารย์ตอบว่าคงไม่มี อาจารย์ทิ้งความคิดไปแล้ว ในห้องนั้นเราคงสรุปว่า อาจารย์ดำรงอยู่กับหัวใจที่เปิดออก อาจารย์ไม่ใช้มือถือ ไม่กำหนดวาระของชีวิต แต่ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ข้างหน้านำพาไป วาระของอาจารย์ก็คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้านั้นเอง ครั้งหนึ่งตอนที่เดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางไปขึ้นรถไฟ มีผู้หญิงคนหนึ่งมารอคุยกับอาจารย์ อาจารย์ก็คุยกับผู้หญิงคนนั้นจนสิ้นเรื่องราว แล้วจึงเดินทางต่อ โชคดีที่เรื่องราวจบได้ในเวลาอันสั้น พวกเราเข้าใจว่า ถ้าเรื่องจำเป็นต้องยืดยาวออกไป อาจารย์คงไม่หวั่นไหวที่จะทิ้งตั๋วรถไฟไปแน่ๆ เลย นี่แหละคือชีวิตของอาจารย์ ณ วันนี้

ผมแบ่งพื้นที่จิตเป็นสามส่วน หนึ่ง คือแกนใน แกนชีวิตของเรา ก็คือ ก้อนกลมๆ ของแสงใสกระจ่าง เทียบได้กับไฟจราจรสีเขียว กับสภาวะ flow หรือ สภาวะของจิตเบิกบานที่ทำงานได้ดีที่สุด สอง เทียบกับไฟจราจรสีเหลือง เป็นเมฆหมอกที่ครอบคลุมก้อนกลมของแสงใสกระจ่างอยู่ มันคือความเคยชิน อัตโนมัติที่หลับใหล อันสืบเนื่องมาในกมลสันดานของมนุษยชาติ หล่อหลอมมาเป็นอัตตาตัวตนของเรา และสาม เทียบกับไฟจราจรสีแดง เป็นห้วงทุกข์ เป็นการระเบิดออกซึ่งอารมณ์ลบทั้งหลาย ซึ่งก็ไปสร้างสมอัตตาตัวตนของเราให้หนาแน่นและแข็งกระด้างยิ่งขึ้นไปอีก

ในพื้นที่แห่งจิตนี้ สีเหลืองสีแดงของอาจารย์ดูเหมือนจะจางคลายออกไป จนแทบจะไม่เหลือ อาจารย์จึงดำรงอยู่ในแสงใสกระจ่างนั้น ในความรักและปัญญาอันไม่มีประมาณนั้น อย่างไม่กลัวเกรงอะไรอันใดในโลกอีกแล้ว

ถ้ามามองถึงระดับของการเข้าถึงความจริงก็เช่นเดียวกัน ไล่จากสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ไปถึงภาวนามยปัญญา ช่วงก่อนอายุห้าสิบ อาจารย์ก็คงอ่านและคิดมากหน่อย การประจักษ์แจ้งด้วยภาวนาก็คงมีอยู่บ้าง อาจจะเป็นแสงกระพริบริบหรี่เข้ามาบ้าง โดยที่ยังไม่แจ่มจรัส ต่อเนื่องเรืองรอง

แต่พอตัดสินใจและได้ไปเดินสู่อิสรภาพ อาจารย์ก็ระเบิดการเรียนรู้ออกอย่างหมดจดหมดสิ้นเปลือกนอก เข้าสู่จิตเดิมแท้ที่ไม่ต้องคิด ให้จักรวาลหรือธรรมชาติเข้ามาจัดสรรชีวิตให้เป็นไป โดยจะผ่านคุณสมปองภรรยาหรืออะไรก็ตามที่ไหลผ่านเข้ามาในชีวิตอาจารย์ โดยทิ้งข้อแม้ใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นไป

การฝึกฝนมรรคมีองค์แปดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) ในการสอนปรัชญา แม้จะยังไม่ละความเคยชินเดิมในช่วงชีวิตก่อนหน้าอายุห้าสิบ แต่ด้วยสัจจบารมีรวมกับศรัทธาอันแก่กล้า ที่ตัดสินใจพลิกผันชีวิตเข้าสู่วานปรัสถ์ (ช่วงวัยที่สามในอาศรม ๔) อย่างสิ้นเชิงโดยไม่ประนีประนอม ผลปรากฏก็คืออิสรภาพอันจริงแท้ที่เราต่างสัมผัสได้จากอาจารย์ในวันนั้น

อาจารย์ประมวลจำต้องละทิ้งความคิดทั้งหมดทั้งมวลหรือไม่ อาจารย์จำต้องละทิ้งอุดมคติ อุดมการณ์ และการคิด ตลอดจนการทำงานทางยุทธศาสตร์หรือไม่ ผมคิดว่าไม่จำเป็นเลย อาจารย์สามารถเล่นกับสิ่งเหล่านี้ได้ในกรอบหรือมุมมองใหม่ ด้วยจิตเดิมแท้อันใสกระจ่าง อย่างทรงไว้ซึ่งอิทธานุภาพสูงสุดเสียด้วยซ้ำไป

แต่อาจารย์ก็เลือกเช่นนี้ อาจจะชั่วคราวหรือตลอดไปก็ไม่ทราบได้ แต่แม้เพียงเท่านี้ อาจารย์ก็ทรงไว้ซึ่งอิทธานุภาพอันไม่จำกัดขอบเขตเสียแล้ว

อธิบายแบบนิวโรไซน์บวกจิตวิทยาตัวตน สีเหลืองเป็นวงจรอัตโนมัติ เป็นไปเพราะทำซ้ำจึงกลายเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติแปลว่าสมองไม่ต้องออกแรง หากอาศัยอาการไหลไปตามวงจรเดิม มันเป็น fixed mindset ด้วย มันเป็นอัตวาทุปาทานด้วย คือการยึดมั่นในอัตตาตัวตน

พื้นที่จิตสีเหลืองบวกสีแดง สีแดงเป็นเวลาที่ปมระเบิดออก มีไกปืนที่ถูกเหนี่ยว มีระเบิดที่ถูกจุดสายชนวน มันจึงระเบิดออกมา เราได้สร้างปมในเด็ก ด้วยการเลี้ยงดูและการศึกษาที่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง และมิจฉาทิฐิของสังคมมนุษย์ สืบกมลสันดานอันพลาดผิดกันมาอย่างยาวนาน สีแดงคือเชนปาในภาษาทิเบต แปลว่าตะขอเกี่ยว อันทำให้เราไม่เป็นอิสระ ถูกจำขังและเจ็บปวดรวดร้าว แม้สีเหลืองเอง มันก็คือการระเบิดออกอย่างอ่อนๆ ของสีแดง สีเหลืองสีแดงจึงเสริมสร้างกันและกัน ก่อร่างเป็นป้อมปราการทะมึนอันแกร่งกระด้างของอัตวาทุปาทานนั้นเอง

ผมสัมผัสได้ว่า อาจารย์ประมวลถอยออกไปอยู่ในแสงใสกระจ่างของสีเขียวได้อย่างเด็ดขาดแล้ว จึงไม่ต้องเวียนกลับมาในสีเหลืองสีแดงอีกก็ยังได้ แต่จากจุดนั้น ก็สามารถคิดได้ อาจจะมียุทธศาสตร์ กระทำการเพื่อมนุษยชาติได้ด้วย มีอุดมคติ อุดมการณ์ได้ด้วย

ด้วยการดำรงอยู่ในหน้าต่างสามบานนั้นเอง คือ หนึ่ง หน้าต่างแห่งปัจจุบันขณะ สอง หน้าต่างแห่งความอ่อนโยนหรือหน้าต่างแห่งพรหมวิหาร สาม หน้าต่างแห่งการใคร่ครวญหรือหน้าต่างแห่งการรื้อสร้าง ถ้าเป็นเช่นนี้ การดำรงอยู่ในโลกก็เป็นอิสระจากโลกย์ได้ มิใช่หรือ?

ดังคำของพุทธศาสนานิกายเซนที่กล่าวว่า ก่อนเริ่มเดินทางธรรม ภูเขาย่อมเป็นภูเขา แม่น้ำย่อมเป็นแม่น้ำ ต่อมา เมื่อปฏิบัติเกิดมรรคผล เธอย่อมเห็นว่า ภูเขาไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ แล้วก็ปฏิบัติต่อไปอีก จนธรรมเป็นวิถี แบบว่าสูงสุดคืนสู่สามัญที่เธอก็จะเห็นว่า ภูเขาก็คือภูเขา แม่น้ำก็คือแม่น้ำ แต่ภูเขาและแม่น้ำที่เห็นในขั้นที่สามนั้น หาใช่ภูเขาลูกเดิมและแม่น้ำสายเดิมไม่

Back to Top