ความคับแคบสุดโต่งในยุคข้อมูลข่าวสาร



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2560

ในยุคที่ใครๆ เรียกว่ายุคข้อมูลข่าวสาร ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้มีความรู้กว้างขวาง และเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองที่คับแคบลง และมีความเห็นที่สุดโต่งมากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกวันนี้ ข้อมูลมีมากมายท่วมท้นจนผู้คนจัดการกับมันได้ยากขึ้น จึงเกิดมีเทคโนโลยีคัดกรองข้อมูลข่าวสารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตัวคัดกรองหรือ filter ดังกล่าว มีทั้งที่ผู้บริโภคเลือกเอง และที่ถูกเลือกมาให้ผู้บริโภค โดยผู้ให้บริการ เช่น Google, Amazon และ Facebook เป็นต้น ทั้งนี้โดยประมวลจากข้อมูลการใช้งานของเรา เช่น เมื่อเราต้องการให้ Google ค้นหาข้อมูลเรื่องใด Google จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรา เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ เพื่อให้ได้ผลที่สอดคล้องกับความต้องการของเรามากที่สุด ส่วน Amazon ก็สามารถคาดการณ์ได้จากพฤติกรรมของเราว่า เรามีรสนิยมแบบใด ดังนั้นจึงน่าจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อแนะนำสินค้าที่ตรงกับรสนิยมของเรา ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่เราติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่เราติดต่อน้อยที่สุดออกไป เป็นต้น

เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเหมือนดี ช่วยทุ่นเวลาให้แก่เรา เพราะคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เราไม่สนใจออกไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรารับรู้แต่ข้อมูลที่ถูกใจเรา รวมทั้งรับรู้ประเด็นที่หลากหลายน้อยลง มิหนำซ้ำยังรับรู้แต่แง่มุมที่แคบลงด้วย

ใช่แต่เท่านั้น สื่อออนไลน์หรือเว็บข่าวที่เกิดขึ้นมากมาย ยังหนุนเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพราะสื่อดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นเนื้อหาจึงขาดความหลากหลาย ผิดกับสื่อดั้งเดิมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมวลชนซึ่งมีความหลากหลายสูง (เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า สื่อมวลชน) จึงมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่หลากหลายน้อยลงเท่านั้น แม้แต่มุมมองก็แคบลง เจาะจงเฉพาะแนวใดแนวหนึ่ง สุดแท้แต่กลุ่มผู้อ่าน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้อ่านรับรู้แต่มุมเดียว รวมทั้งได้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ความจำเป็นในทางธุรกิจยังกระตุ้นให้สื่อออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการฟรี พยายามลงข่าวที่ถูกใจผู้อ่าน มากกว่าคำนึงถึงความถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากมีผู้เข้าชมมาก ก็จะได้ค่าโฆษณามากขึ้น แน่นอนว่าการลงข่าวให้ถูกใจผู้อ่าน มักหนีไม่พ้นที่จะเติมสีสัน เขียนให้หวือหวา รวมทั้งสนองอคติของผู้อ่าน ผลก็คือหากผู้อ่านมีอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว ก็จะมีอคติเพิ่มขึ้น นี้คือแรงจูงใจเดียวกันกับที่กระตุ้นให้โซเชียลมีเดียทั้งหลายพยายามนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคอยากเห็น เพื่อค่าโฆษณาจะได้เข้ามา

ธรรมดาคนเราก็อยากคบหาและแวดล้อมด้วยคนที่คิดเหมือนกัน มีรสนิยมคล้ายกัน จุดยืนเดียวกันอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะเสริมอัตตาของกันและกัน แต่ในชีวิตจริง เราต้องเจอคนที่หลากหลาย แม้ในหมู่บ้านเดียวกัน ผู้คนก็ยังนานาจิตตัง ยิ่งในเมืองด้วยแล้ว การพบคนที่ต่างความเห็น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ไม่ชอบ แต่ก็มีข้อดี คือทำให้เรามีมุมมองที่กว้าง ยอมรับความหลากหลาย เข้าใจคนที่เห็นต่าง แต่ในยุคปัจจุบันเราสามารถสนทนาพูดคุยกับคนที่คิดแบบเดียวกันได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องเจอคนที่เห็นต่างเลย เพียงแต่อยู่บ้านและนั่งหน้าคอมฯ หรือก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์ ผ่านโปรแกรมอย่าง Facebook, Line, Twitter ซึ่งเปิดโอกาสให้เราเลือกคนที่คอเดียวกัน และปฏิเสธคนที่คิดต่างกัน

เทคโนโลยีดังกล่าวสนองความต้องการของอัตตาเป็นอย่างดี เพราะช่วยให้ความคิดความเชื่อที่ฝังตัวอยู่นั้นเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น และถูกท้าทายน้อยลง หากความคิดความเชื่อดังกล่าวแฝงไปด้วยอคติ หรือเป็นการรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยิ่งทำให้อคติรุนแรงขึ้น รับรู้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากขึ้น นำไปสู่ทัศนะที่สุดโต่งในที่สุด ในอดีต แม้คนที่มีความคิดสุดโต่งจะมีอยู่ แต่ไม่ง่ายที่คนเหล่านี้จะได้มาพบปะกัน เพราะมีจำนวนน้อยและอยู่กระจัดกระจายกันมาก แต่ปัจจุบันคนที่มีความคิดสุดโต่ง สามารถพบปะสนทนากัน และตอกย้ำความเชื่อของกันและกันได้ง่ายมาก เพราะสามารถเข้าถึงทางอินเทอร์เน็ต แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็สามารถพบปะพูดคุยกันได้ทุกวันและทุกเวลา เพียงแต่ใช้ Line, Facebook, Skype หรือโปรแกรมอื่นๆ อีกมากมาย

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายในยุคข้อมูลข่าวสาร ก็คือ ความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการตอกย้ำอคติของตนเอง ซึ่งบางคนเรียกว่า auto propaganda หรือการโฆษณาฝังหัวตัวเอง แม้จะเจอคนมากมาย แต่ผู้คนก็เลือกที่จะได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตนเอง ผ่านคำพูดของคนพวกเดียวกัน อย่างที่บางคนเรียกว่า echo chamber ลำพังอุบายของอัตตาที่ใช้ในการปกป้องความคิดความเชื่อที่ผูกติดฝังตัว เราก็รู้ทันได้ยากอยู่แล้ว ทุกวันนี้ยังมีเครื่องมือมากมายรอบตัวที่อัตตาสามารถฉวยใช้เพื่อปกป้องความคิดความเชื่อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแม้มีศักยภาพในการเปิดมุมมองของเราให้กว้าง แต่ก็สามารถจำกัดความคิดเห็นของเราให้แคบลง มีอคติมากขึ้น รวมทั้งสามารถเผยแพร่ความเท็จได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้พึงตระหนักด้วยว่า โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ทั้งหลาย พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เรา “ติด” มัน และใช้เวลาอยู่กับมันให้นานที่สุด ด้วยการสนองและปรนเปรออัตตาของเรา (อาทิ การมีปุ่ม like ให้กด มี newsfeed ที่ถูกใจเรา และได้แสดงภาพ selfie)

การที่ผู้คนในสังคมมีความเห็นแตกต่างกันจนกลายเป็นคนละขั้ว และมีความเกลียดชังกันอย่างรุนแรง รวมทั้งมีกลุ่มสุดโต่งมากมายไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ มีส่วนอย่างมากในการตอกย้ำอคติและความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งล้วนเป็นผลแห่งการยึดติดถือมั่นในความคิด ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนคือฝ่ายที่ถูกต้อง ดีงาม ส่วนอีกฝ่ายคือพวกที่หลงผิด ชั่วร้าย ผลก็คือ ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันพลัดตกลงในกับดักแห่งความรุนแรง ซึ่งแต่ละคนกระทำแก่กันในนามของการปกป้องความดีและความถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วเป็นการปกป้องอัตตาของตนต่างหาก

เราจะออกจากกับดักดังกล่าว ไม่พลัดเข้าไปสู่กระแสแห่งความสุดโต่งและความรุนแรงได้อย่างไร ในด้านหนึ่งก็ต้องมีความหนักแน่น ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เพียงเพราะมีคนบอก แม้จะเป็นเพื่อน คำสอนของพระพุทธองค์ที่เรียกว่าหลักกาลามสูตรนั้น มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะข้อความที่ “อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา หรือเพราะเข้าได้กับความเชื่อความเห็นของตน หรือเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้” แต่ควรเชื่อต่อเมื่อได้ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและด้วยสติปัญญาของตน

อีกด้านหนึ่งก็ควรเปิดใจ พร้อมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และแตกต่างจากเรา ยอมที่จะรับคนที่คิดไม่เหมือนเรามาเป็นเพื่อน ไม่ว่าในโลกจริงหรือในโลกไซเบอร์ แม้อัตตาจะไม่ชอบ แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กทันที หากเราถือว่าความดี ความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญกว่าอัตตา

Back to Top