โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2560
ผมนั่งอยู่ในการบรรยายของวิทยากรในค่ายเยาวชน เรื่องราวที่วิทยากรพูดเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเกษตรในอดีตและฉายภาพในเห็นอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบันของประเทศไทย เรื่องราวดังกล่าวได้รับความสนใจจากเยาวชนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยมัธยมต้นพอสมควร แต่พอถึงช่วงถามตอบ คำถามที่น้องๆ ถามกลับเป็นคำถามที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในการบรรยายสักเท่าไร
“อาจารย์บอกว่าให้พวกผมตั้งคำถาม แต่ทำไมเวลาผมตั้งคำถามกับครูในห้อง ครูเขาไม่ยอมตอบผมครับ”
“อาจารย์คะ มันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างการสร้างสรรค์และการลบหลู่ แล้วเราจะสร้างสรรค์อย่างไรไม่ให้ลบหลู่”
“อาจารย์คะ การที่เราออกจากนอกกรอบแค่เพียงนิดเดียว แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่าเราไร้สาระ ทำไมล่ะคะ?”
บรรยากาศในห้องเหมือนกับเชื้อเพลิงลุกติดไฟ การแลกเปลี่ยนสนทนาเป็นไปอย่างคึกคักมีชีวิตชีวา ยิ่งเมื่อวิทยากรแบ่งปันเรื่องเล่าซึ่งตัวเขาเองถูกกดขี่มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษา เราจะได้ยินเสียงน้องๆ เยาวชนเปล่งเสียงฮือฮาเป็นระยะ
“ตอนนั้น ครูให้ผมวาดรูปดอกไม้ ผมก็ลงมือวาดทันที พอครูมาถึงเขาบอกว่ายังไม่ได้บอกให้วาด วาดก่อนได้อย่างไร แล้วดูสิ ครูจะให้วาดดอกไม้ห้ากลีบ ทำไมวาดเจ็ดกลีบ”
“ก็บ้านผมขายดอกไม้ ผมรู้ว่าดอกไม้เจ็ดกลีบก็มี!”
อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในวิชาประวัติศาสตร์ เมื่ออาจารย์ตรวจข้อสอบให้เขาผิด เขาจึงไปทักท้วงครูผู้สอน