กันยายน 2012

การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 กันยายน 2555

หนังสือ The Dance of Change: The Challenges to Sustaining Momentum in Learning Organizations (1999) โดย ปีเตอร์ เซงเก (Peter Senge) และคณะ จับแก่นสารของกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างน่าสนใจว่า

คำถามพื้นฐานแรกของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรคือ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ให้มีพลังอย่างยั่งยืนได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก “การสั่งการ” นั้นเกิดผลรวดเร็ว มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในระยะแรก และหากก่อให้เกิดผลกำไรมากขึ้นด้วยแล้ว ก็จะยิ่งสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานได้เป็นอย่างดี และทำให้ทุกคนเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ก่อผล พลังขับเคลื่อนนี้ก็อาจแผ่วลงหากขาดการผลักดันจากคำสั่ง เพราะมันพึ่งพิงแรงขับจากภายนอกมากกว่าแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง ระดับความสนใจและความกระตือรือร้นที่เคยมีเริ่มร่วงหล่น และหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่คอยผลักดันโครงการ ต้องเปลี่ยนหน้าที่และตำแหน่ง โครงการก็อาจชะงักลง

หากจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการเอา “การเรียนรู้” นำหน้า ที่อาจเริ่มจากคนกลุ่ม เล็กๆ ที่มีความสนใจในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ร่วมกันคิด ออกแบบ ทดลอง ปรับปรุงพัฒนา ร่วมกันไป สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์หน้างานและชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม และจากกลุ่มคนหนึ่งก็ค่อยๆ ขยายออกไปสู่ผู้คนที่สนใจ ให้คุณค่า และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การสร้างความสุขในการทำงาน การสร้างสมดุลให้กับชีวิต เป็นต้น

โครงการที่สร้างกระแสความสนใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีและยั่งยืน มักจะมีองค์กรประกอบดังต่อไปนี้
  • เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายและพัฒนากระบวนการทำงานจริง
  • มีกลุ่มคนที่มีอำนาจในการกระทำการให้บรรลุผลได้จริงเกี่ยวข้อง
  • สร้างสมดุลระหว่างการทำงาน (Action) และการทบทวน (Reflection) โดยเปิดโอกาสให้กับการทดลองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
  • สร้างโอกาสที่เป็นเหมือน “พื้นที่สีขาว” ให้ทีมงานในการคิด ใคร่ครวญ และทบทวน โดยไม่ต้องรู้สึกกดดันที่จะต้องตัดสินใจ
  • สามารถเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรและทีมงานรวมได้จริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลงที่จำกัดการเรียนรู้และการเติบโตที่คนทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงจำต้องทะลวงผ่านไปให้ได้ ได้แก่

๑. ไม่มีเวลาพอ ยิ่งถ้ามีงานเยอะอยู่แล้ว จะยิ่งมีแนวโน้มมองว่าไม่มีเวลาสำหรับโครงการ พิเศษต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามา จึงต้องมีการบริหารจัดการเวลาให้เป็นระบบขึ้น และหลอมรวมโครงการพัฒนาต่างๆ มาด้วยกัน บางองค์กรเต็มไปด้วยโครงการนั่นโครงการนี่ มีคณะกรรมการหลายชุดหลายการประชุมที่ต้องเข้า แทนที่จะนำมาร่วมกันทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เหมือนกัน

๒. ขาดความช่วยเหลือ การขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นถูกมองว่า “ไม่มีความสามารถ” ทำให้ผู้ริเริ่มเรื่องใหม่ๆ หลายกรณีต้องทำอยู่ลำพังโดยขาดความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ในองค์กรเดียวกัน ดังนั้นในเรื่องนี้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำต้องลงทุนลงแรงในการขอ ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ นับตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่มีการระดมความคิดเห็น แบ่งปันปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นจริง องค์กรจำต้องสร้างศักยภาพของการโค้ชชิ่งให้เกิดขึ้นได้จริง โดยการรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงมาก่อน ผู้ที่สามารถรับฟังเป็น ตั้งคำถามได้และเอื้อเฟื้อความช่วยเหลือได้ ผู้นำต่างๆ จำต้องหาผู้ที่จะช่วยรับฟังและแบ่งเบาปัญหาที่เกิดขึ้นในใจ ต้องละวางความคิดที่ยึดอยู่ว่า “ผมแก่เกินว่าที่จะต้องมีครูคอย แนะนำแล้ว” การสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายพัฒนาองค์กร (OD) หรือฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เท่านั้น แต่ต้องเกิดจากความช่วยเหลือและความร่วมมือของทุกฝ่าย

๓. การไม่เห็นความสำคัญ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่สามารถทำให้คนในองค์กรเห็น ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลัง ดังนั้นระดับจัดการสักคนควรจะช่วยทำให้ผู้คนเห็นว่า โครงดังกล่าวนี้จะทำให้สถานที่และบรรยากาศในการทำงานดีขึ้นอย่างไร รวมทั้งร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรร่วมกันตั้งแต่ต้น ควรเปิดโอกาสให้มีการตั้งคำถามเพื่อคลี่คลายความสงสัยหรือความสับสนเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการได้อย่างเต็มที่ โดยเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ปลายทางที่องค์กรต้องการเห็น

๔. การเป็นตัวอย่างที่ดี การพูดอย่างทำอย่าง กัดกร่อนความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้อย่างง่ายดาย และยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดเผย ผู้นำจะต้องรู้ว่าการสร้างความน่าเชื่อถือนั้นต้องกระทำผ่านการลงมือเห็น เป็นให้ดูมากกว่า การพูดจาแบบจับประเด็นได้ และพวกเขาจะต้องฝึกบ่มเพาะความอดทนอดกลั้นในการทำงานภายใต้แรงกดดัน โดยไม่ไประเบิดอารมณ์ใส่ลูกน้องแบบใช้อำนาจเหมือนอย่างที่ทำๆ มา ในทางกลับกันลูกน้องก็พัฒนาทักษะในการสื่อสารกับหัวหน้าได้อย่างเปิดเผย และช่วยเหลือให้หัวหน้าและทีมงานได้รับรู้ภาพรวมของปัญหาก่อนการแก้ไข

๕. ความกลัวและความวิตกกังวล เป็นความรู้สึกที่เป็นปกติธรรมดาที่มักเกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากมีมากเกินไปอาจบั่นทอนและกีดขวางการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้คนอาจรู้สึกไม่มั่นใจถึงความสามารถในหน้าที่หรือบทบาทใหม่ของตัวเอง หรือจะสามารถสร้างความไว้วางใจหรือความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงานใหม่ได้หรือไม่

สิ่งที่จะช่วยได้คือ การจัดให้มีกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพก่อนการเข้าสู่ภาวะท้าทายและตึงเครียด และเปิดรับฟังความรู้สึกของทีมงานเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

๖. การวัดผลและประเมินผล วิธีการประเมินผลที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอาจไม่สามารถนำมาวัดผล ความสำเร็จของโครงการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ดังนั้นต้องฝึกรอคอยผลของการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีความสุข ต้องชักชวนผู้บริหารและผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบ และประเมินกระบวนการวัดผล และต้องยอมรับว่าผลการประเมินอาจไม่ได้น่าพึงพอใจเสมอ เพราะการสร้างสิ่งใหม่จำต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านความไม่สำเร็จ

๗. แบ่งพรรคแบ่งพวก ระหว่างพวกที่ทำการเปลี่ยนแปลงและพวกที่ไม่เอาด้วย ทีมงานที่ทำงานด้านนี้ควรฝึกเปิดใจรับคำติเตียน วิพากษ์วิจารณ์หรือฟีดแบคจากผู้ที่ได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วยจากการเปลี่ยนแปลง และพึงแยกแยะเพื่อให้มองเห็นประโยชน์จากการสื่อสารเชิงลบเหล่านี้ และเข้าไปรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทีมงานจำต้องฝึกท้าทายสมมติฐานและความเชื่อของตัวเองและขยายการรับรู้ให้ทั่วถึงทุกฝ่ายในองค์กร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย

๘. การบริหารจัดการ ทั้งทางนโยบายและโครงสร้าง ควรสนับสนุนให้การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ ในการขยายผลให้ข้ามขอบเขตระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ข้ามสายงานให้มากขึ้นเรื่อยๆ ทีมงานพึงเคารพขอบเขตเหล่านี้และทำความเข้าใจกับผู้นำที่อยู่ในเขตแดนต่างๆ และขยายผลลัพธ์ให้ตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรไปด้วย

๙. การแพร่กระจาย ในการเปลี่ยนแปลงจะต้องพบเจอสิ่งกีดขวางการเปลี่ยนแปลง ทีมงานจะต้องศึกษาเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งแบบที่เป็นและไม่เป็นทางการ เพื่อหาช่องทางการสื่อสารและขยายผลให้แผ่กว้างออกไปสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กรผ่านกลุ่มคนที่มีทักษะและได้รับการยอมรับในพื้นที่ของตัวเอง

๑๐. ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย ประสบการณ์และบทเรียนที่ทีมงานได้รับรู้จะเป็นประโยชน์ สำหรับองค์กรให้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และเป้าหมายขององค์กร เพื่อสร้างตัวเองไปในทางทิศทางที่สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นจริง

รู้เท่าทันภาพตัวตน


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 กันยายน 2555

เป็นคนเก่ง หรือ คนขยัน อย่างใดจะดีกว่ากัน

แครอล ดเว็ค แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีคำตอบ เขาได้ทำการทดลองกับนักเรียนนับร้อย ส่วนใหญ่เพิ่งย่างเข้าวัยรุ่น ทุกคนได้ทำแบบทดสอบที่ค่อนข้างยาก จากนั้นบางคนก็ได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความสามารถ เช่น “คุณเก่งมาก” แต่บางคนได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความพยายาม เช่น “คุณพยายามมากเลย”

เขาพบว่านักเรียนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง มีความสามารถ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงทำสิ่งยากๆ ที่ไม่เคยทำ ทั้งๆ ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากสิ่งนั้น เหตุผลก็คือเขากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ซึ่งทำให้คนอื่นเห็นจุดอ่อนของตน และสงสัยในความสามารถของตัว

ในทางตรงข้ามร้อยละ ๙๐ ของเด็กที่ได้รับคำชมว่าขยัน สู้งาน กลับกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งยากๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาไม่กลัวความล้มเหลว ถึงแม้ผลจะออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่หรือรู้สึกลบกับตนเอง เพราะเขาได้ทำเต็มที่แล้ว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับคนที่ได้รับคำชมว่าขยัน ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบกับสำนึกในตัวตนของเขา ต่างจากคนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง เขาจะสร้างภาพตัวตนว่าเป็นคนเก่ง ดังนั้นหากประสบความล้มเหลว มันไม่เพียงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเขาในสายตาของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับตัวตนที่เป็นคนเก่งของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจทำให้ภาพตัวตนดังกล่าวคลอนแคลน จนเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งนั่นย่อมสร้างความทุกข์ใจแก่เขาอย่างมาก ดังนั้นเขาจึงมักเลี่ยงทำงานที่ยากหรือเสี่ยงต่อความล้มเหลว และพอใจที่จะทำงานที่ถนัดหรือมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า

การทดลองดังกล่าวให้ข้อคิดที่ดี ไม่เฉพาะกับเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่ในแง่ที่ว่า ควรชมลูกหลานของตนอย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในแง่ที่ว่า เราควรจะเลือกสร้างสำนึกเกี่ยวกับตัวตนอย่างไร รวมทั้งตระหนักถึงจุดอ่อนจุดแข็งของภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ตนสร้างขึ้นมาหรือเลือกรับเอามาด้วย

อันที่จริง ความเป็นคนเก่ง กับความเป็นคนสู้งาน นั้นไม่จำเป็นต้องแยกกัน คนๆ หนึ่งสามารถมีภาพตัวตนทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ แต่สำนึกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อันใด หรือมีอะไรมากระตุ้นให้สำนึกอันใดผุดขึ้นมาในจิตใจของเรา จะว่าไปแล้วนอกจากความเป็นคนเก่ง หรือความเป็นคนสู้งานแล้ว ยังมีภาพตัวตนอีกมากมายที่ก่อตัวขึ้นในใจของเรา เช่น ความเป็นหญิง เป็นชาย เป็นไทย เป็นพุทธ เป็นพ่อแม่ เป็นคนสุภาพ เป็นคนหัวก้าวหน้า ฯลฯ ภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ผุดขึ้นมานั้นสามารถส่งผลให้เกิดพฤติกรรม หรือความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันได้ รวมทั้งความสามารถที่แสดงออกมาด้วย

มาร์กาเร็ต ชิน และคณะ ได้เคยทำการทดลองกับผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยขอให้ทำแบบทดสอบด้านคณิตศาสตร์ แต่ก่อนหน้านั้นมีการแบ่งผู้หญิงดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของเธอ (เช่น ถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับหอพักรวม) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเพศของตน ส่วนกลุ่มที่สองนั้นถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ (เช่น ภาษาที่เธอใช้ในบ้าน รวมถึงประวัติครอบครัวของพวกเธอ) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเชื้อชาติของตน

เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จ ผลปรากฏว่า ผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นผู้หญิงนั้นทำผลงานได้แย่กว่าผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำอธิบายก็คือ เมื่อพวกเธอถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกว่าเป็นผู้หญิง ก็จะนึกไปถึงทัศนคติที่ผู้คนทั่วไปมีต่อผู้หญิงว่า เรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง ผลก็คือไม่มีความมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น ส่วนอีกกลุ่มนั้นเมื่อถูกปูทางให้เกิดสำนึกว่าเป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็จะรู้สึกมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น เพราะคนทั่วไปมองว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเก่งคณิตศาสตร์



การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าความคาดหวังหรือสายตาที่ผู้อื่นมองเรานั้น มีผลต่อพฤติกรรมของเราด้วย แต่จะมีผลในทางบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพตัวตนอันใดที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาในจิตสำนึกของเรา ภาพตัวตนเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทั้งความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวัง และการแสดงออก

เมื่ออยู่กับลูก ภาพตัวตนว่าเป็นพ่อแม่ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อไปทำงานเจอเจ้านาย ภาพตัวตนว่าเป็น ลูกน้องก็มาแทนที่ แต่ถ้าเจอลูกน้อง ภาพตัวตนว่าเป็นเจ้านายก็ผุดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละบริบทนั้น เราจะแสดงอาการต่างกัน เช่น ตอนที่มีสำนึกว่าเป็นเจ้านาย ก็วางตัวขึงขัง พูดเสียงห้วน แต่พอเกิดสำนึกว่าเป็นลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มีทีท่าอ่อนน้อม พูดจาสุภาพ มีน้ำเสียงนุ่มนวล ครั้นกลับถึงบ้าน ก็ใช้อำนาจกับลูก สั่งให้ลูกหยุดเล่นวีดีโอเกม และรีบทำการบ้านทันที

การเกิดภาพตัวตนหรือมีสำนึกว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ พุทธศาสนาเรียกว่า “ชาติ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องแม่เท่านั้น แต่รวมถึงการเกิดทางใจด้วย คือ เกิด “ตัวกู” ขึ้นมา ซึ่งมักนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด เพราะตัวกูแต่ละอย่างนั้นจะมีกิเลสและความยึดติดถือมั่นบางอย่างพ่วงติดมาด้วยเสมอ เริ่มตั้งแต่กิเลสที่อยากให้ตัวกูคงอยู่ยั่งยืน (หรือดับไปหากเป็นตัวกูที่ไม่ปรารถนา) กิเลสที่อยากให้ผู้อื่นสนองปรนเปรอตัวกูให้เติบใหญ่มั่นคง (ดังนั้นจึงทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน รวยกว่าตน หรือมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากกว่าตน) รวมทั้งกิเลสที่อยากให้ใครก็ตามที่ขัดขวางการเติบใหญ่ของตัวกูนี้มีอันเป็นไป

เมื่อเกิดสำนึกในความเป็นแม่ หญิงสาวย่อมมีความสุขที่เห็นลูกเจริญเติบโตและมีความสุข แต่จะเป็นทุกข์ทันทีหากลูกไม่เชื่อฟังแม่หรือพูดจาไม่สุภาพกับแม่ เพราะแม่ย่อมคาดหวังความเคารพของลูก แม่ผู้หนึ่งตำหนิลูกที่เอาแต่เล่นวีดีโอเกมจนไม่สนใจทำการบ้าน แถมยังนอนดึก ไปโรงเรียนสายเป็นประจำ พอแม่ว่าลูกมากๆ ลูกก็โกรธ ไม่ยอมคุยกับแม่ แม่พยายามพูดคุยกับลูก แต่ลูกก็ไม่สนใจ เอาแต่เล่นวีดีโอเกม สุดท้ายแม่ยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่หันมาคุยกับแม่ แม่จะฆ่าตัวตาย แต่ลูกก็ยังทำหูทวนลม แม่ทนไม่ได้อีกต่อไป จึงปราดไปที่ระเบียงแล้วโดดลงมาจากตึกสูง ร่างกระแทกพื้นตายคาที่

เมื่อเกิดสำนึกหรือภาพตัวตนว่าเป็นแม่ ก็ย่อมมีกิเลสหรือความยึดติดถือมั่นอย่างแม่ คือต้องการให้ลูกเคารพเชื่อฟัง เมื่อลูกไม่เคารพเชื่อฟัง ก็เป็นทุกข์ ตัวกูถูกบีบคั้นอย่างแรง จึงต้องการตอบโต้เพื่อเอาชนะ หากใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล ก็อาจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งหาได้เป็นประโยชน์แก่ใครเลยไม่

มีสำนึกว่าเป็นอะไร ก็มีทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ในพุทธศาสนาก็คือการไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรเลย มีก็แต่รับรู้สมมติว่าเป็นอะไรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพราหมณ์ผู้หนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นเทวดาหรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นคนธรรพ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นยักษ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ครั้นถามว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธเช่นกัน สุดท้ายพราหมณ์ถามว่า ท่านเป็นอะไรเล่า พระองค์ตรัสตอบว่า อาสวะหรือกิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ พระองค์ละได้หมดสิ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้พราหมณ์สับสน จึงตรัสว่า “ท่านจงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด”

ปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แต่อย่างน้อยมีบางสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ รู้เท่าทันภาพตัวตนที่สร้างขึ้นในใจ ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน มีความอยากหรือหรือความยึดมั่นในเรื่องอะไรที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ปล่อยให้ความอยากความยึดมั่นนั้นครอบงำใจ จนบีบคั้นผลักไสให้เราเป็นทุกข์เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ขณะเดียวกันก็รู้จักเลือกใช้ภาพตัวตนให้เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมชักนำให้เราทำความดี มีความเพียร ขัดเกลาตนเอง เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้สำนึกในตัวตนเพื่อละความยึดมั่นในตัวตน เช่นเดียวกับที่พระสาวกหลายท่านใช้ตัณหาละตัณหาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์

ใคร่ครวญ ทบทวนการศึกษาไทย การศึกษาโลก



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2555

เมื่อลองกลับไปพิจารณาการศึกษาของตนเองตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญเอกที่เมืองไทย และปริญญาเอกที่อเมริกา ผมพบว่าตนเองมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดขั้นพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับ “การศึกษา” หลายประเด็นที่อยากจะนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการศึกษา

แต่ผมจะขอเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตในเชิงคำถาม เพื่อการใคร่ครวญ ทบทวนเรื่องการศึกษาไทยและการศึกษาโลกโดยรวมที่ดำเนินมาและกำลังดำเนินอยู่ดังต่อไปนี้
  • การศึกษากระแสหลักตกอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยแนวคิดและแนวปฎิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ใช่หรือไม่
  • การศึกษากระแสหลัก มีลักษณะดังต่อไปนี้ ใช่หรือเปล่า
  • มีผู้สอนกับผู้ถูกสอน แต่ไม่มีผู้เรียนรู้อย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ (ทั้งผู้สอนและผู้เรียน)
  • มีผู้สอบกับผู้ถูกสอบ แต่ไม่มีผู้เรียนรู้อย่างแท้จริง ใช่หรือเปล่า
  • เน้นการเรียน เน้นการรู้ แต่ไม่เน้นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ใช่หรือไม่
  • เน้นการสอน (การบรรยายถ่ายทอดเนื้อหา) มากกว่าการคิด และกระบวนการเรียนรู้ ใช่หรือเปล่า
  • เน้น “การรู้” และ “การไล่ให้ทัน” การเปลี่ยนแปลง มากกว่า “การรู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลง ใช่หรือไม่
  • หลักสูตร โดยเฉพาะระดับปริญญาโท ปริญญาเอก มีลักษณะสำเร็จรูป เร่งรัด เรียนลัด ใช่หรือเปล่า
  • สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งผลิต เป็นตัวกลาง เป็นบันไดสู่การเลื่อนสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ใช่หรือไม่
  • สถาบันการศึกษามองผู้เรียนเป็นลูกค้า เป็นผู้บริโภค มากกว่าเป็นผู้เรียนรู้ เป็นพลเมือง ใช่หรือเปล่า
  • การศึกษาในกระแสหลักเน้นกระดาษ (ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร) มากกว่าปัญญา ใช่หรือไม่
  • การศึกษาในปัจจุบันเน้นปัญหา การหาสาเหตุของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหา มากกว่าการสร้างความสำเร็จในอนาคต และการสร้างเหตุของความสำเร็จ ใช่หรือเปล่า
  • การศึกษายิ่งระดับสูงมากขึ้น ยิ่งเน้นเฉพาะทาง แยกส่วน มากขึ้น ใช่หรือไม่
  • การศึกษาในปัจจุบันเน้นการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ ใช่หรือเปล่า
  • การศึกษาในปัจจุบันเน้นความเป็นหนึ่ง มากกว่าความเป็นหนึ่งเดียวกัน ใช่หรือไม่
  • การศึกษาในปัจจุบันเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นมิติภายนอกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ มากกว่าการการตระหนักรู้ เรียนรู้และรู้เท่าทันมิติภายใน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental Transformation) ใช่หรือเปล่า

ข้อสังเกตในรูปของคำถามทั้งหมดข้างบนนี้ เป็นข้อสังเกตที่ผมผ่านพบ ภายใต้ระบบการศึกษาไทยที่ได้รับอิทธิพลจากระบบการศึกษาของตะวันตกที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศมุ่งเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานโลก (สากล) อย่างขาดสติ ทำร้ายและทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม เพียงเพื่อเข้าสู่ความเป็นสากล อย่างไม่รู้เท่าทัน เพราะถูกครอบ รัด และล้อมกรอบด้วยแนวคิดและแนวปฎิบัติของลัทธิเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างถอนตัวไม่ออก

และต่อไปนี้คือผลของการใคร่ครวญทบทวนชีวิตการศึกษาของผม

การศึกษาระดับประถมและมัธยม ผมได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนขยัน ตั้งใจเรียน ให้เรียนให้เก่ง จะได้เรียนต่อให้สูง เพื่อจะได้มีงานทำที่ดี มีฐานะดี มีชื่อเสียง

การเรียนของผมส่วนใหญ่ใช้การท่องจำมากกว่าความเข้าใจ เพื่อให้สอบผ่านและได้คะแนนดี ในระดับปริญญาตรี วิชาเอกของผมคือคณิตศาสตร์ วิชาโทคือภาษาอังกฤษ ผมยังคงใช้ความจำมากกว่าความเข้าใจ โดยเฉพาะวิชาเอกของผม ผมเรียนด้วยความทุกข์และกังวลใจเกรงว่าจะสอบตก ในวิชาเอกหลายวิชา ผมถามอาจารย์ว่าเรียนไปทำไม คำตอบที่เป็นมาตรฐานคือ เอาไว้เรียนต่อขั้นสูงต่อไป การศึกษาระดับประถมถึงปริญญาตรี ยิ่งสูงขึ้นยิ่งห่างจากชีวิตและสังคมมากขึ้น เป็นวิชาการมากขึ้น เฉพาะทางมากขึ้น เตรียมตัวเพื่อการประกอบอาชีพมากขึ้น แข่งขันและเห็นแก่ตัวมากขึ้น

ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ผมเรียนทางด้านจิตวิทยาการศึกษา ผมรู้สึกสนุก และท้าทายมากขึ้นเพราะเริ่มเข้าใกล้ชีวิต เข้าใจมนุษย์และสังคมมากขึ้น แต่หลักสูตรสมัยที่ผมเรียนเน้นการวิจัยและให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงทดลอง เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมคิดเป็นระบบเพิ่มมากขึ้น มีความก้าวร้าวทางวิชาการมากขึ้น มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเรียนและรู้ เชื่อว่าสิ่งที่เรียน สิ่งที่รู้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

แต่เมื่อได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าทางด้านปรัชญาการศึกษา มุมมองเกี่ยวกับชีวิต โลก ความจริง ความดี ความงามของผมก็เปลี่ยนไป กว้างขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น หาคำตอบที่หลากหลายมากขึ้น อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรงาม อะไรไม่งาม เริ่มเป็นคำถามสำคัญมากกว่าความรู้และวิธีแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับการศึกษาและการวิจัยอนาคต ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความจริงก็เปลี่ยนไปอีก ยิ่งมองกว้างและไกลออกไปในอนาคตมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แยกอนาคตออกจากปัจจุบันและอดีต ทุกอย่างรวมทั้งเวลาล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นองค์รวมและไหลเลื่อนเคลื่อนไป อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ อนาคตเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ โดยเริ่มตั้งแต่ปัจจุบัน แต่การศึกษากระแสหลักดูเหมือนจะเน้นเนื้อหาความรู้ในอดีตมากกว่าแนวโน้มในอนาคต เน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าการสร้างอนาคต ใช่หรือไม่ ยิ่งเรียนสูง ยิ่งรู้ลึก แต่โง่กว้าง ใช่หรือเปล่า

เมื่อมีโอกาสในลักษณะที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เรียกว่า “จักรวาลกำหนด” แต่บางคนก็บอกว่าเป็น “ธรรมะจัดสรร” ให้ผมได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญานให้กับส.ส.ส. เมื่อเกือบสิบปีก่อน มีผลให้ผมกลายมาเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์และต่อมาได้เข้ามาเรียนรู้และขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในวงการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชนมากมาย กลุ่มจิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาศึกษาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญกับชีวิตผมมาก มากกว่าการศึกษาในระบบที่ผมได้รับมาเสียอีก

ผมจึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของการเรียนรู้โดยเฉพาะในเรื่องจิตตปัญญาศึกษาในวงการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภทของการศึกษา ซึ่งก็ได้ทำมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันแล้ว

ในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการขอให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ผู้เข้ารับการอบรม) หยุดใคร่ครวญ ทบทวนกับข้อสังเกตที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้นของบทความนี้อย่างมีสติ แล้วจึงนำมาสุนทรียสนทนาร่วมกัน เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษา การจัดการศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน การวัดการประเมินและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่แท้จริง ผ่านแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษาตามที่ผมเขียนไว้ในบทความ “การตกผลึกและการระเบิดประสบการณ์ทางจิตตปัญญาทัศน์และจิตตปัญญาปฏิบัติ” ในหนังสือพิมพ์มติชนวันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ที่ผ่านมา

ลองใคร่ครวญ ทบทวนข้อสังเกตทั้งหมดดูนะครับ เราอาจจะได้มีโอกาสร่วมกันขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในสังคมไทยร่วมกัน

มนุษย์พันหน้า
กรณีศึกษา เมื่อลูกชายป่วยหนัก



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 กันยายน 2555

ในทางพุทธธรรม คือในปฏิจจสมุปบาท เราจะเลือกลงไปในวงจรลบ คือเลือกที่จะทุกข์ คือวนเวียนลงไปในความทุกข์แบบงูกินหาง คือการกัดกินตัวเอง หรือว่าเราจะเลือกเข้าสู่วงจรปฏิจจสมุปบาทเชิงบวก ทั้งที่มีโอกาสจะจมลงไปในกองทุกข์ แต่กลับสามารถอยู่กับประสบการณ์ตรงได้ หรืออยู่กับตถตาได้โดยไม่ปรุงแต่งเพิ่มเติมเข้าไป ไม่สร้างเรื่องราวเพิ่มเติมความทุกข์เข้าไปอีกก็ได้

จากงานวิจัยทางสมองก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายหนึ่งๆ เราจะเลือกลงไปทุกข์หรือไม่ลงไปทุกข์ก็ตาม สมองจะทำงานอยู่สองช่วงตอน คือ “ก่อนและหลัง” ก่อนคือมีโอกาสเลือกว่าจะเข้าไปทุกข์ หรือเข้าสู่วงจรของงูกินหางแห่งทุกข์หรือไม่ หรือจะไปทางอื่นๆ ที่ไม่ปรุงแต่งทุกข์ให้มากขึ้นก็ได้ และอีกช่วงหนึ่งที่สมองจะทำงานอย่างแข็งขันอีกครั้ง ก็คือช่วงผลลัพธ์หรือช่วงท้ายสุด มันจะมีโอกาสประมวลผลว่า ถ้าเราเลือกแบบนี้ก็จะได้แบบนี้ เหมือนเราจะมีโอกาสคิดใคร่ครวญประเมินผลเมื่อกระบวนการทางสมองมาสิ้นสุดอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากสองช่วงนี้แล้ว เส้นกราฟแสดงว่า สมองจะเฉื่อยเนือย จะไม่ทำงาน คือสมองจะหยุดทำงานหรือทำงานน้อยที่สุด แต่จะไหลไปตามวงจรอัตโนมัติ แล้วแต่ว่าจะเลือกเข้าวงจรไหน พอเข้าไปแล้วมันก็จะไหลไปตามอัตโนมัตินั้นเอง ซึ่งผมจะเรียกว่า อัตโนมัติที่หลับใหล เพราะว่ามันจะเป็นไปในโหมดความขี้เกียจของสมอง อย่างไม่ตื่นรู้ อย่างไม่รู้เท่าทัน ก็คือมันจะเป็นไปในความหลับใหลนั้นเอง



โอกาสจมกองทุกข์ จะหมุนเวียนกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ช่วงหนึ่งที่ลูกชายผมซึ่งป่วยหนักอาการยังไม่ค่อยดี ทุกๆ วันแทบจะไม่กล้าโทรไปถามทีมผู้ดูแลเลยว่าอาการของเขาเป็นอย่างไร ไม่อยากฟังข่าวร้ายๆ ดังมีคำกล่าวที่ว่าทุกข์ของลูกมันยิ่งใหญ่กว่าทุกข์ของตัวเอง เรามักจะคิดอยู่บ่อยครั้งว่าให้เราป่วยเองเสียยังดีกว่า ตอนนั้นผมกำลังอยู่ในงานด้วย มันยากลำบากมากที่จะทำให้ใจเป็นปกติ เรื่องราวที่พกพาความทุกข์มันจะวนเวียนกลับมาเรื่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างถี่ๆ และมีแนวโน้มที่จะจมลงไปในกองทุกข์อยู่ตลอดเวลา เป็นกองทุกข์ที่ถอนตัวขึ้นมาได้ยาก แม้ธรรมชาติที่สวยงาม เสียงดนตรีที่เคยช่วยให้ผ่อนคลาย ตอนนั้นก็ไม่อาจช่วยอะไรได้เลย และในฐานะพ่อใบเลี้ยงเดี่ยวที่ยังจะต้องทำงานอยู่ โดยเฉพาะต้องมีเงินทองที่ใช้รักษาลูก มันก็อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก



การเข้าสู่ประสบการณ์มนุษย์พันหน้า

ในจิตวิทยาสายคาร์ล จุง มนุษย์มีเสี้ยวส่วนต่างๆ ที่ก่อประกอบขึ้นเป็นทั้งหมดอย่างครบครัน หรือที่เรียกว่า wholeness แต่ปมทางจิตวิทยาอันเกิดจากบาดแผลทางจิตใจในอดีตของเรา ได้ทำให้เราทิ้งเสี้ยวส่วนต่างๆ เหล่านี้ไป ทำให้เราไม่ครบครัน ทำให้เราขาดวิ่น ขาดแคลน และเส้นทางเดินของการพัฒนาจิตสายนี้ ก็คือการกลับไปพัฒนาตัวเอง กลับไปนำพาตัวเองเพื่อเข้าสู่ความครบครันนี้

ทีนี้เสี้ยวส่วนแต่ละเสี้ยวก็คือบุคลิกภาพหนึ่งๆ ที่เป็นตัวละครตัวหนึ่งๆ เลยทีเดียว เทียบเคียงเป็นซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งๆ ก็ได้ แต่ละตัวจะมีศักยภาพไปในแต่ละลักษณะไม่เหมือนกัน เป็นทั้งศักยภาพที่จะกระทำการใดๆ ได้ หรือเป็นศักยภาพหรือแนวโน้มที่จะนำพาไปสู่ความตีบตันหรือนำพาไปสู่กองทุกข์ได้ด้วย



เพียงเคลื่อนย้ายตัวตนหรือการเปลี่ยนหน้าก็หายทุกข์

ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเราอยู่กับตัวตนใดตัวตนหนึ่ง เช่น ตัวตน ก. อันเป็นตัวตนที่เราจะทุกข์ เราก็ทุกข์ แต่พอเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนหน้าไปสู่ตัวตน ข. ซึ่งเวลาอยู่ในตัวตน ข. เราไม่ทุกข์ พอเราย้ายไปสู่ความเป็นตัวตน ข. เราก็กลับไม่มีความทุกข์เลย พอเปลี่ยนตัวตนหรือเคลื่อนย้ายตัวตนได้ เพียงเวลาสั้นๆ ความทุกข์อันใหญ่หลวงก็หายไปโดยสิ้นเชิง ก็แปลกประหลาดมหัศจรรย์

การเคลื่อนย้ายตัวตน ยังเป็นศักยภาพที่จะไปกระทำการต่างๆ อันแตกต่างหลากหลายให้สำเร็จได้อีกด้วย

แปลว่า ยิ่งมีความหลากหลายตัวตน ก็ยิ่งมีความหลากหลายทางสมรรถนะหรือความสามารถ



การเคลื่อนย้ายตัวตนในกรณีของลูกชายป่วย

ตัวตนเด่นๆ ที่ทำให้ผมผ่านพ้นประสบการณ์ของลูกชายที่ป่วยหนักได้ดี คือสามารถโยกย้ายตัวตนออกไปจากกองทุกข์อันเวียนวนอย่างไม่สามารถสานสร้างอะไรดีๆ ออกมาได้ และยังค้นพบตัวตนอื่นๆ อันมีศักยภาพยิ่งใหญ่ต่างๆ ที่จะทำให้เรามีความสามารถหลากหลายมาใช้ในการดูแลลูกชาย และดูแลตัวเองที่ทำให้พร้อมจะดูแลลูกชายได้ดียิ่งขึ้น

เช่นตัว “นักรบ” ตัวตนนี้ไม่ยอมจำนน มันจะลงมือกระทำการ ไม่ยอมนั่งเฉยๆ และจมลงไปในกองทุกข์ แต่มันจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง มันน่าจะเป็นกระทิง ธาตุไฟในบุคลิกภาพแบบผู้นำสี่ทิศ เช่นตอนแรกก็เข้าไปในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาวิธีการรักษาต่างๆ จนได้ความรู้เรื่องตัวยาจากพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง แล้วก็ศึกษาวิธีสกัด หาอุปกรณ์และเคมีที่จะใช้ จนสามารถผลิตยาออกมาได้เองอย่างน่าอัศจรรย์ใจ!

อีกตัวตนหนึ่งที่อยากจะพูดถึงในที่นี้คือ ตัวจิตวิญญาณ หรือ spiritual being ตัวตนนี้มันมองชีวิตทั้งหมดคือการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ เห็นทุกสิ่งอย่างที่เข้ามาในชีวิตเป็นการปฏิบัติธรรม มันเห็นโจทย์หนักๆ ยากๆ เป็นโอกาส และทุกข์อย่างใหญ่หลวงนี้ก็คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของเราและของลูกด้วย

ตัวจิตวิญญาณนี้มองว่า ทั้งลูกชายและผมได้ตั้งโจทย์การพัฒนาทางจิตเอาไว้ก่อนมาเกิด และได้ตั้งโจทย์ที่ยากมากๆ เอาไว้ ตอนตั้งโจทย์เราสองคนคงคิดไว้แล้วว่าเราน่าจะตอบโจทย์ได้เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เราก็คงต้องศรัทธาว่าตัวเองทำได้ หรือว่าเราได้เคยตั้งโจทย์ง่ายๆ มาแล้วในชาติอื่นๆ แต่ในชาตินี้เราอาจจะคิดว่าเอาเถอะลองทำแบบฝึกหัดยากๆ ดูบ้าง

ตัวจิตวิญญาณนี้มันมองได้อย่างสุดๆ เลย คือมองว่าถ้าลูกชายจะตายจากไปก็โอเค มันได้เลือกมาอย่างนั้น มันได้ตั้งโจทย์มาอย่างนั้น และจะต้องเป็นไปอย่างนั้น และไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตาม เราสองคนก็จะได้มีโอกาสเติบโตทางจิตวิญญาณนั้นเอง

ยังมีอีกตัวตนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นแพทย์แบบกระบวนทัศน์เก่า ซึ่งแพทย์กระบวนทัศน์เก่าก็จะมีอำนาจบางอย่าง มีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ที่มาปกป้องคุ้มครองตัวแพทย์เองด้วยและเป็นอำนาจแบบการวิเคราะห์โดยนัยยะแห่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ช่วยให้มีการตัดสินใจที่ชัดเจนแต่ละช่วงว่าจะดูแลลูกชายอย่างไร ความชัดเจนในตัวตนนี้ยังได้ทำให้เราไม่สาละวนเกาะแกะอยู่กับลูกชายบ่อยเกินไป นานเกินไป จนไปสร้างแรงกดดันให้ทีมงานดูแลที่น่ารักและแสนดี

และบางทีในช่วงเวลาที่ลูกป่วยเช่นนี้ เราอาจจะคิดว่าเราทำดีที่สุดหรือยัง อันนี้แหละที่ตัวตนใหญ่ๆ อีกตัวหนึ่งกำลังคืบคลานเข้ามา มันคือผู้วิจารณ์ เราดูแลผู้วิจารณ์นี้ด้วยการรู้เท่าทัน และไม่ต้องจมลงไปในเรื่องราวกับเขา หากขอบคุณ และบอกเขาว่า เราได้ทำดีที่สุดแล้วในแต่ละช่วงเวลา

ตัวตนที่สำคัญยิ่งอีกตัวหนึ่งที่จะกล่าวถึง ก็คือเด็กน้อยผู้เปราะบางของเรา

คือเวลาป่วยหนักๆ ในวัยเด็ก หรือที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม (ผมเคยเป็นไข้มาลาเรียปางตายครั้งหนึ่งในวัยยี่สิบต้นๆ ตอนนั้นบวชเป็นพระ) แม้ในช่วงป่วยหนักนั้นเอง เราจะรู้สึกว่าชีวิตมันมีอะไรดีๆ บางอย่างอยู่ด้วย มันอาจจะเป็นการที่เราสามารถกลับไปเป็นเด็กน้อยผู้เปราะบางอีกครั้ง กลับไปหยุด และอาจจะกลับมาหาตัวตนทางจิตวิญญาณได้อีกด้วย

เด็กน้อยตัวนี้ทำให้ผมสัมพันธ์กับลูกชายได้ลึกมาก บางทีไม่ต้องพูด เพียงอยู่ด้วยกันเฉยๆ เราสองคนก็มีความสุขแล้ว

ตัวตนนี้มันทำให้หัวใจอ่อนโยนและได้เรียนรู้เรื่องความรักอีกครั้งหนึ่ง เป็นความรักใสๆ ที่มีพลังมหาศาล

Back to Top