โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2555
เมื่อลองกลับไปพิจารณาการศึกษาของตนเองตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญเอกที่เมืองไทย และปริญญาเอกที่อเมริกา ผมพบว่าตนเองมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดขั้นพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับ “การศึกษา” หลายประเด็นที่อยากจะนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการศึกษา
แต่ผมจะขอเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตในเชิงคำถาม เพื่อการใคร่ครวญ ทบทวนเรื่องการศึกษาไทยและการศึกษาโลกโดยรวมที่ดำเนินมาและกำลังดำเนินอยู่ดังต่อไปนี้
- การศึกษากระแสหลักตกอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยแนวคิดและแนวปฎิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ใช่หรือไม่
- การศึกษากระแสหลัก มีลักษณะดังต่อไปนี้ ใช่หรือเปล่า
-
- มีผู้สอนกับผู้ถูกสอน แต่ไม่มีผู้เรียนรู้อย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ (ทั้งผู้สอนและผู้เรียน)
-
- มีผู้สอบกับผู้ถูกสอบ แต่ไม่มีผู้เรียนรู้อย่างแท้จริง ใช่หรือเปล่า
-
- เน้นการเรียน เน้นการรู้ แต่ไม่เน้นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ใช่หรือไม่
-
- เน้นการสอน (การบรรยายถ่ายทอดเนื้อหา) มากกว่าการคิด และกระบวนการเรียนรู้ ใช่หรือเปล่า
-
- เน้น “การรู้” และ “การไล่ให้ทัน” การเปลี่ยนแปลง มากกว่า “การรู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลง ใช่หรือไม่
- หลักสูตร โดยเฉพาะระดับปริญญาโท ปริญญาเอก มีลักษณะสำเร็จรูป เร่งรัด เรียนลัด ใช่หรือเปล่า
- สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งผลิต เป็นตัวกลาง เป็นบันไดสู่การเลื่อนสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ใช่หรือไม่
- สถาบันการศึกษามองผู้เรียนเป็นลูกค้า เป็นผู้บริโภค มากกว่าเป็นผู้เรียนรู้ เป็นพลเมือง ใช่หรือเปล่า
- การศึกษาในกระแสหลักเน้นกระดาษ (ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร) มากกว่าปัญญา ใช่หรือไม่
- การศึกษาในปัจจุบันเน้นปัญหา การหาสาเหตุของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหา มากกว่าการสร้างความสำเร็จในอนาคต และการสร้างเหตุของความสำเร็จ ใช่หรือเปล่า
- การศึกษายิ่งระดับสูงมากขึ้น ยิ่งเน้นเฉพาะทาง แยกส่วน มากขึ้น ใช่หรือไม่
- การศึกษาในปัจจุบันเน้นการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ ใช่หรือเปล่า
- การศึกษาในปัจจุบันเน้นความเป็นหนึ่ง มากกว่าความเป็นหนึ่งเดียวกัน ใช่หรือไม่
- การศึกษาในปัจจุบันเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นมิติภายนอกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ มากกว่าการการตระหนักรู้ เรียนรู้และรู้เท่าทันมิติภายใน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental Transformation) ใช่หรือเปล่า
ข้อสังเกตในรูปของคำถามทั้งหมดข้างบนนี้ เป็นข้อสังเกตที่ผมผ่านพบ ภายใต้ระบบการศึกษาไทยที่ได้รับอิทธิพลจากระบบการศึกษาของตะวันตกที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศมุ่งเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานโลก (สากล) อย่างขาดสติ ทำร้ายและทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม เพียงเพื่อเข้าสู่ความเป็นสากล อย่างไม่รู้เท่าทัน เพราะถูกครอบ รัด และล้อมกรอบด้วยแนวคิดและแนวปฎิบัติของลัทธิเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างถอนตัวไม่ออก
และต่อไปนี้คือผลของการใคร่ครวญทบทวนชีวิตการศึกษาของผม
การศึกษาระดับประถมและมัธยม ผมได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนขยัน ตั้งใจเรียน ให้เรียนให้เก่ง จะได้เรียนต่อให้สูง เพื่อจะได้มีงานทำที่ดี มีฐานะดี มีชื่อเสียง
การเรียนของผมส่วนใหญ่ใช้การท่องจำมากกว่าความเข้าใจ เพื่อให้สอบผ่านและได้คะแนนดี
ในระดับปริญญาตรี วิชาเอกของผมคือคณิตศาสตร์ วิชาโทคือภาษาอังกฤษ ผมยังคงใช้ความจำมากกว่าความเข้าใจ โดยเฉพาะวิชาเอกของผม ผมเรียนด้วยความทุกข์และกังวลใจเกรงว่าจะสอบตก ในวิชาเอกหลายวิชา ผมถามอาจารย์ว่าเรียนไปทำไม คำตอบที่เป็นมาตรฐานคือ เอาไว้เรียนต่อขั้นสูงต่อไป
การศึกษาระดับประถมถึงปริญญาตรี ยิ่งสูงขึ้นยิ่งห่างจากชีวิตและสังคมมากขึ้น เป็นวิชาการมากขึ้น เฉพาะทางมากขึ้น เตรียมตัวเพื่อการประกอบอาชีพมากขึ้น แข่งขันและเห็นแก่ตัวมากขึ้น
ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ผมเรียนทางด้านจิตวิทยาการศึกษา ผมรู้สึกสนุก และท้าทายมากขึ้นเพราะเริ่มเข้าใกล้ชีวิต เข้าใจมนุษย์และสังคมมากขึ้น แต่หลักสูตรสมัยที่ผมเรียนเน้นการวิจัยและให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงทดลอง เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมคิดเป็นระบบเพิ่มมากขึ้น มีความก้าวร้าวทางวิชาการมากขึ้น มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเรียนและรู้ เชื่อว่าสิ่งที่เรียน สิ่งที่รู้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
แต่เมื่อได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าทางด้านปรัชญาการศึกษา มุมมองเกี่ยวกับชีวิต โลก ความจริง ความดี ความงามของผมก็เปลี่ยนไป กว้างขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น หาคำตอบที่หลากหลายมากขึ้น อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรงาม อะไรไม่งาม เริ่มเป็นคำถามสำคัญมากกว่าความรู้และวิธีแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับการศึกษาและการวิจัยอนาคต ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความจริงก็เปลี่ยนไปอีก ยิ่งมองกว้างและไกลออกไปในอนาคตมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แยกอนาคตออกจากปัจจุบันและอดีต ทุกอย่างรวมทั้งเวลาล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นองค์รวมและไหลเลื่อนเคลื่อนไป อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ อนาคตเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ โดยเริ่มตั้งแต่ปัจจุบัน แต่การศึกษากระแสหลักดูเหมือนจะเน้นเนื้อหาความรู้ในอดีตมากกว่าแนวโน้มในอนาคต เน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าการสร้างอนาคต ใช่หรือไม่ ยิ่งเรียนสูง ยิ่งรู้ลึก แต่โง่กว้าง ใช่หรือเปล่า
เมื่อมีโอกาสในลักษณะที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เรียกว่า “จักรวาลกำหนด” แต่บางคนก็บอกว่าเป็น “ธรรมะจัดสรร” ให้ผมได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญานให้กับส.ส.ส. เมื่อเกือบสิบปีก่อน มีผลให้ผมกลายมาเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์และต่อมาได้เข้ามาเรียนรู้และขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในวงการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชนมากมาย กลุ่มจิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาศึกษาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญกับชีวิตผมมาก มากกว่าการศึกษาในระบบที่ผมได้รับมาเสียอีก
ผมจึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของการเรียนรู้โดยเฉพาะในเรื่องจิตตปัญญาศึกษาในวงการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภทของการศึกษา ซึ่งก็ได้ทำมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันแล้ว
ในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการขอให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ผู้เข้ารับการอบรม) หยุดใคร่ครวญ ทบทวนกับข้อสังเกตที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้นของบทความนี้อย่างมีสติ แล้วจึงนำมาสุนทรียสนทนาร่วมกัน เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษา การจัดการศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน การวัดการประเมินและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่แท้จริง ผ่านแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษาตามที่ผมเขียนไว้ในบทความ “การตกผลึกและการระเบิดประสบการณ์ทางจิตตปัญญาทัศน์และจิตตปัญญาปฏิบัติ” ในหนังสือพิมพ์
มติชนวันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ที่ผ่านมา
ลองใคร่ครวญ ทบทวนข้อสังเกตทั้งหมดดูนะครับ เราอาจจะได้มีโอกาสร่วมกันขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในสังคมไทยร่วมกัน
One Comment
เจ๋ง มาก เป็นประโยชน์มากค่ะ
รบกวนฝากเว็บด้วยนะค่ะ
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เซอร์เทนตี้
แสดงความคิดเห็น