มิถุนายน 2010

พุทธ (โธ่) เอ๋ย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2553

นั่งคุยกับน้าชายของผมช่วงเดือนที่แล้ว จู่ๆ เขาปรารภออกมาว่า

"พวกสันติวิธีนี่ก็แปลกนะ อยากให้ผู้คนมีสันติแต่ใช้วิธีการไปนั่งสมาธิในสวนสาธารณะ"

ผมฉงนกับการเปิดประเด็นของน้า "อ้าว ก็เขารณรงค์ทำให้ชาวพุทธมีส่วนร่วมทางการเมือง มันไม่ดีหรือ?"

"ดีมันก็ดีอยู่ แต่น้าว่าจริงๆ แล้วมันควรจะนั่งอยู่บ้านใครบ้านมัน" ผมทำคอย่น แล้วซักแกต่อ

"แล้วคนอื่นเขาจะรู้ได้ยังไงล่ะน้า ว่าเรากำลังแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าไม่ให้คนไทยฆ่ากัน

หันมาปรองดองกันด้วยสันติวิธี" ยกคำใหญ่อย่างนี้น้าแกต้องจนแน่ ผมนึกในใจ

"ก็ออกไปจากบ้านอย่างนั้น มีเจตนาอย่างไรกันล่ะ นั่งไปมันก็ร้อนใจ สู้นั่งอยู่ที่บ้านไม่ได้" น้ำเสียงของน้ายังไม่หวั่นไหว

บ๊ะ น้านี่ดื้อด้านไม่เบา ขอแย้บแกสักที "น้าตกกระแสไปแล้วหล่ะ สมัยนี้เค้าต้องออกสื่อ นั่งสมาธิก็ต้องออกสื่อ ชาวบ้านเขาจะได้รู้เห็น คนรุ่นใหม่เขาจบการศึกษาสูง เขารู้จักใช้สื่อ น้าไม่รู้จักอะไร เชยสิ้นดี"

แกสวนขึ้นทันควัน "มันจะยากอะไร ศรชัย” เรียกท้ายชื่อผมขึ้นเสียงสูง “น้าก็ใช้สื่อได้ ก็เอากล้องทีวีมา แล้วมีคนจุดเทียนสักเล่มหนึ่ง แล้วก็เริ่มนั่งสมาธิไปพร้อมๆ กัน กล้องก็ถ่ายเทียนเล่มนั้นไปเรื่อยๆ พอเทียนหมดก็ให้สัญญานระฆัง ทำอย่างนี้ทุกวันให้ทำกันจริงๆ ทั้งประเทศนะ รับรองใจไม่ร้อน นี่แหละสันติวิธีของจริง”

น้าคนนี้เวลาแกพูดอะไร ดูแกปักใจเชื่ออย่างนั้นจริงๆ แล้วนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แกเอาตัวรอดไปได้ของแกแบบข้างๆ คูๆ ผมไม่อยากจะอธิบายให้แกฟังเรื่องว่าการออกทีวีมันต้องมีลูกเล่น มีสีสัน ไอ้การจุดเทียนเล่มเดียวให้กับคนทั้งประเทศดู สำหรับนักการตลาดแล้วมันไม่มีจุดขาย แล้วใครหน้าไหนจะมาเป็นสปอนเซอร์รายการแบบนี้ ผมยังมีอีกหลายเหตุผลที่สามารถยกมาถกกับแกได้ แต่อะไรบางอย่างสะกิดใจผมให้ต้องนึกตรึกตรอง สิ่งที่น้าพูดอาจจะฟังดูไม่มีเหตุผล แต่อีกใจหนึ่งเห็นว่ามันก็เข้าทีอยู่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนก็คือทำไมไม่มีใครคิดจะทำแบบนี้กันหนอ การที่ไม่มีใครกล้าเสนอเรื่องแบบนี้กับสื่อ ก็แสดงให้เห็นเป็นนัยๆ ถึงอำนาจของสื่อที่มีสิทธิคัดกรองและเลือกเฟ้นสิ่งที่จะถูกนำเสนอต่อสาธารณะ และไอเดียเรื่องเทียนของน้าก็คงเป็นไอเดียแรกๆ ที่ถูกโยนลงถังผงของ บก.

แล้วชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย อย่างพวกเราควรจะทำอย่างไรกันดีในการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง หลายคนหันไปหาสื่อที่ตัวเองถนัดเช่นพวก เฟซบุ๊ก เว็บบอร์ดการเมือง กลุ่มอีเมล์ ที่รวมๆ เรียกว่า โซเชียล มีเดีย ทั้งหลาย แต่สื่อสังคมสาธารณะแบบนี้ก็กลายเป็นเวทีน้ำลายขนาดใหญ่ที่รองรับด้วยโครงข่ายดิจิตอลราคาแพง เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราแสดงความกักขฬะต่อกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธภาพสูงขึ้น รวมทั้งสามารถส่งความพาลทะโรของเราไปให้กับผู้คนมากหน้าหลายตาได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ในจำนวนนี้ก็ไม่เว้นเฟซบุ๊กของเครือข่ายสันติวิธี ซึ่งหมายมุ่งจะแสดงออกอย่างสันติ แต่เป็นที่รู้กันว่าข้อความที่แสดงออกของชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย เหล่านั้น ก็สนุกสนานกันอย่างถึงพริกถึงขิงเลยทีเดียว

เวลานี้จึงมีกระแสของคนบางกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย อย่างพวกเราหันมาสนใจในประเด็นสังคมกันให้มากขึ้น โดยการสร้างวาทกรรมทำนองว่า หากเราหมกตัวอยู่กันแต่ในบ้าน แสดงว่าเราหลบหนีจากความเป็นจริงของสังคม พวกที่ปฏิบัติธรรมอยู่แต่ในบ้าน หรืออยู่ในวัดแถวบ้านก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวก "หนีปัญหา" เป็นชาวพุทธแบบปัจเจกชน ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับใคร กลายเป็นชาวพุทธสมัยเก่าที่เตรียมรอโละทิ้ง ปลดระวาง ชาวพุทธรุ่นใหม่ควรจะต้องออกมาแสดงตัว ออกมาเดินแสดงจุดยืนกันบนท้องถนน รวมทั้งต้องทำการถ่ายทอดทีวีให้เห็นเวลามีการรวมตัวสวดมนต์กันมากๆ เพื่อที่จะได้ให้คนรุ่นใหม่เกิดศรัทธาแล้วหันมาปฏิบัติธรรมในลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมืองกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้เยาวชนที่ไม่ค่อยสนใจธรรมะได้เกิดความตื่นตัว และหันมามองว่าธรรมะนี่ก็สามารถนำมาเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้เหมือนกันนะ ไม่ใช่ของโบราณอะไร

ความพยายามที่จะปรับหลักธรรมให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นมาเพราะความไม่เข้าใจหลักธรรมว่ามันเป็นของที่นำสมัยอยู่เสมอ เป็นของที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เป็นสัจจะอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าคนจะไม่หันมานับถือ หรือไม่นำพา ธรรมะก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น หลังๆ มานี้มีกระแสธรรมเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) ที่มองว่าชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย ควรจะมีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น หรือชาวพุทธจะต้องหันมามีจิตอาสา ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตนเอง หันมาเปลี่ยนแปลงสังคม บางคนมองไปถึงขนาดว่าพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างความอยุติธรรมของสังคมในยุคนี้ พูดไปพูดมาเอาพุทธศาสนาไปเป็นเครื่องมือของการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายไปซะฉิบ จะเอาพุทธศาสนาไปสลายโครงสร้างที่กดขี่ (Superstructure) หรือลดช่องว่างระหว่างชนชั้น แนวคิดเหล่านี้อาจจะเป็นความเห็นของเจ้าลัทธิทฤษฎีการเมือง แต่ไม่ใช่ความเห็นของพุทธศาสนา อันที่จริงแล้วถ้าใครอยากจะเล่นการเมืองก็น่าจะไปทางนั้นให้เต็มตัว แต่ถ้าจะกระเตงเอาชื่อของศาสนาเพื่อไปทำกิจของการเมืองมันดูไม่เหมาะ

ลองดูท่านเชอเกียม ตรุงปะ เจ้าของฉายาคุรุบ้า ในสายวัชรยาน ท่านเป็นผู้ที่มีวิธีการสอนพุทธศาสนาในแนวทางที่เรียกได้ว่าหาความอนุรักษ์นิยมแทบไม่ได้ ขนาดท่านเป็นของท่านอย่างนั้น ท่านก็ยังต้องยอมรับการมีอยู่ของชนชั้นและสถานภาพทางสังคมว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของโลก "...ถ้าสังคมยังจำเป็นต้องมีการปกครองและการควบคุมบังคับ ดังนั้น ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่ใครบางคนยังคงต้องสวมเสื้อชุดใหญ่ไปนั่งที่โต๊ะเจรจา และใครบางคนก็ยังคงต้องสวมเครื่องแบบเพื่อรักษาสันติภาพอยู่"

จะมีก็แต่ชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย ที่เป็นวัยรุ่นใจร้อนเท่านั้น ที่จะร้อนรนเพราะสังคมมันเปลี่ยนไม่ได้อย่างใจ เพราะมองข้ามความเป็นจริงไปในโลกแห่งอุดมคติที่นึกฝันเอา พวกนี้มีแต่ให้ชาวบ้านเขาหัวเราะขำ เพราะชาวบ้านจริงๆ ที่เขาอยู่กับรากเหง้า อยู่กับวัด อยู่กับชุมชน เขากลมกลืนอยู่กันได้ตามปกติ มีความสุขตามอัตภาพ มีแต่ผู้คนที่เผาใจตัวเองในนามของชาวบ้านหรือประชาชนเท่านั้น ที่นั่งตรงไหนก็นั่งไม่ติดที่ เรียกว่า "อยู่ไม่เป็น" จึงไม่เห็นความอยากที่จูงจมูกของตัวเองให้ไปทางนั้นที ไปทางนี้ที พอเห็นชาวบ้านเขาอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ก็อดรนทนไม่ได้ หาว่าชาวบ้านโง่ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ ถูก "พุทธศาสนาแบบไทย" ล้างสมองให้เซื่องเซื่อ ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ไม่ดูว่าเวลาตัวเองถูกฝรั่งหลอกว่าปัจเจกชนนิยมนี้ดี กลับบูชาแล้วรับเอามาถือเอาไว้ราวกับเป็นสิ่งวิเศษเป็นแก้ว (นึก) สารพัด

เหตุที่ชาวบ้านเขาอยู่กับบ้าน อยู่กับวัดกับชุมชนอย่างกลมกลืน เป็นเพราะมีธรรมของคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือนยึดถืออยู่ประจำใจ ในทิเบตก็มีคำสอนคล้ายกันที่ยกมาจากคำสอนกษัตริย์อินเดีย คือ "แก้วเจ็ดประการแห่งกษัตราธิราช" กล่าวถึงบุคคลหรือคุณธรรมที่จะต้องมีแวดล้อมตนเพื่อเป็นเครื่องรักษาไม่ให้ตกต่ำ ยกตัวอย่างมณีดวงแรกก็คือราชินีหรือคู่ครอง ดวงที่สองคือเสนาบดี ฯลฯ ผมดูแล้วยังไกลตัวเราเกินไป “ทิศ ๖” ของเรานั่นไงชัดกว่าเยอะ ทิศ ๖ คือหลักวิธีที่บุคคลพึงบำรุงผู้อื่นตามทิศต่างๆ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ บุตรภรรยา เพื่อน ลูกน้อง สมณะ ท่านบอกหมดว่าบุคคลควรจะมีหน้าที่พึงกระทำต่อกันอย่างไร แต่ที่เราไม่รู้เป็นเพราะเราไม่ศึกษาให้ลึก เพราะเห็นเป็นของเด็กชั้นประถมเอาไว้อ่านเล่น เมื่อเราไม่รู้หน้าที่ เราจะไปเรียกร้องเอาแต่สิทธิ มันก็หนีไม่พ้นที่เราฮึ่มๆ ใส่กัน คราวนี้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน เพื่อนก็ไม่เป็นเพื่อนเสียแล้ว ใครที่ว่าพุทธศาสนาไม่สนใจและไม่รู้มิติทางสังคม ลองไปหาอ่าน คิหิปฏิบัติ แล้วจะรู้ว่าคุณได้พลาดอะไรไปบ้าง

สันติวิธีจริงๆ แล้วเริ่มที่บ้าน เพราะบ้านเราไฟใหม้อยู่แท้ๆ เราจะวิ่งไปถกกับเพื่อนบ้านเรื่องปรัชญาเยอรมันเมื่อกลางศตวรรษที่ ๑๙ อยู่ทำไมกันอีกเล่า เอ้า! หากไม่เชื่อผมก็ลองฟังท่านเชอเกียม ตรุงปะกันสักหน่อย

“ถ้าคุณต้องการจะช่วยแก้ปัญหาของโลก คุณจะต้องเริ่มจัดการกับบ้าน จัดการกับชีวิตของคุณให้เป็นระเบียบเสียก่อน...ผู้คนมักจะมีความต้องการอันสูงส่งที่จะขึ้นอยู่เหนือชีวิตอันอ่อนล้าของตน เพื่อที่จะช่วยเหลือโลก แต่ถ้าคุณยังไม่ได้เริ่มขึ้นที่บ้าน ก็นับว่าไม่มีความหวังที่จะช่วยโลกได้…”

ใครที่บ้านไฟใหม้อยู่ รีบกลับไปดับไฟที่บ้านด่วนนนนนน!!!!!!

คาร์ล มาร์กซ์ผิด เฮเกลผิด – ชนชั้นจึงผิดตาม



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2553

คาร์ล มาร์กซ์ เจ้าลัทธิสังคมนิยม ผู้เชื่อเฮเกลอย่างยิ่ง เชื่อใน “ไดอะเล็กติก” แต่ตรงกันข้ามกับเฮเกล เพราะเป็นนักวัตถุนิยมจ๋า จึงผิดตาม (เกิดคำว่า “ชนชั้น” ที่เป็นหัวใจของหนังสืออันมีชื่อเสียงของเขา, Communist manifesto, 1848) และเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนเชื่อตามไปด้วย - เนื่องจากปัญญาคือเป้าหมายชีวิตของผู้เขียน ทั้งที่ตอนนั้นมีปัญญาแค่หางอึ่ง - ตั้งแต่วัยรุ่นกระทั่งร่วมสามสิบปีก่อน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อเรื่องนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์หรือกระบวนทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกทัศน์ทางสังคมนิยมมาเป็นธรรมาธิปไตยที่เชื่อมั่นในศาสนาพุทธและความจริงแท้ ซึ่ง ฌ็อง เปียเจต์ บอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากมาก เพราะได้ผ่านวัยเด็ก (๓-๑๑ ขวบ) ไปแล้ว ยากเพราะคนส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ได้มีจิตใต้สำนึกกับพฤติกรรมไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ทางสังคมของผู้ผ่านวัยเด็กไปแล้วนั้น ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้เกิดจากจิตใต้สำนึก หากแต่เป็นเรื่องจิตสำนึกที่ผ่านการบริหารโดยสมอง คือประสบการณ์ที่มีใหม่ที่จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

กระบวนการทั้งคู่ ทั้ง I กับ II (process I and II) เป็นกระบวนการของสมองและที่สมอง ซึ่งกระบวนการที่ I เป็นไปจากบนลงมาล่าง ด้วยกลไกของแควนตัมเมคคานิกส์ในการเลือกสภาวะความเป็นไปได้ของคลื่น ส่วนกระบวนการที่ II เป็นเรื่องของคลาสิคัลหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์ ซึ่งทำนายผลที่แน่นอนได้ เป็นไปจากล่างมาสู่บนของสมอง – ผู้เขียนคิดเอง – ว่ามันอาจเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึก (cosmic unconsciousness as consciousness) ซึ่งแสดงว่าจิตอาจจะเป็นสิ่งที่เล็กละเอียดอย่างยิ่ง และเป็นเหมือนกับคลื่นอนุภาค (wave particles or quiff) คือทั้งจิตกับคลื่นอนุภาค ต่างมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการแต่จิตละเอียดกว่ามากนัก

ขณะที่มาร์กซ์เป็นวัตถุนิยม เฮเกลซึ่งนักปรัชญาทั้งหลายเชื่อว่าเป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกตะวันตกในศตวรรษที่ ๑๙ กลับเป็นจิตนิยม โดยเฉพาะหนังสือชื่อ ปรัชญาของประวัติศาสตร์ (Philosophy of History) อันประกอบด้วยอภิปรัชญาของเฮเกลเอง ซึ่งเขาเชื่อว่าตนเองได้ค้นพบกฎธรรมชาติของการเกิดความคิดที่จะกลายเป็นความรู้ที่เรียกว่า “ไดอะเล็กติก” (คำที่ยืมมาจากพลาโต) ซึ่งประกอบด้วย “เธสีส” (thesis) และจะต้องมีธรรมชาติของความเป็นตรงกันข้ามกันเสมอ (โดยธรรมชาติเช่นกัน) ที่เรียกว่า “แอนตี้เธสีส” (antithesis) และทั้งสองฝ่ายจะต่อสู้และหักล้างกัน จนความเป็นองค์กรทั้งสองฝ่ายนั้น หมดเกลี้ยงเหลือแต่เศษส่วนประกอบอันเป็นองค์กรนั้นๆ ซึ่งจะรวมกันเกิดองค์กรใหม่เรียกว่า “ซีนเธสีส” (synthesis) อภิปรัชญาของเฮเกลที่คิดว่า ประวัติศาสตร์โดยธรรมชาติของประเทศชาติใดในโลก เป็นการเขียนขึ้นของคนเขียนประวัติศาสตร์ โดยเน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของสังคมประเทศชาตินั้นๆ

เมตาฟิสิกส์ “ไดอะเล็กติก” ของ ฟีดดริช เฮเกล มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อ คาร์ล มาร์กซ์ จนเขายอมรับอย่างศิโรราบ ยกเว้นมาร์กซ์คิดว่าเพราะเฮเกลเป็นนักปรัชญาจิตนิยม จึงคิดอะไรมีความรู้อะไรมักจะเป็นไปตามประสบการณ์ที่ไตร่ตรองบนเหตุผลหรือตรรกะของตนเอง ความคิดความรู้ที่นำเสนอต่อสาธารณชนจึงเป็นอภิปรัชญาแทนที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ มาร์กซ์จึงมีความเห็นว่าประวัติศาสตร์ของสังคมและชุมชนของมนุษยชาติ – ไม่ว่าประเทศใด – ประกอบด้วยชนชั้นของผู้ที่ไม่มี หรือมีน้อย หรือผู้ที่ใช้แรงงาน ผู้รับใช้บุคคลจำพวกแรกหรือคนอื่นๆ กับผู้ที่มี หรือมีมาก หรือผู้ที่ใช้บุคคลจำพวกแรก ที่แน่นอน ย่อมมีบุคคลที่มีชนชั้นหรือวรรณะระหว่างคนสองจำพวกที่กล่าวมานั้น คาร์ล มาร์กซ์ จึงได้เขียนหนังสือที่เป็นอุดมการณ์ที่โด่งดังยิ่งนั้นขึ้นมา

ออกัสเต คอมเต (Auguste Comte) เป็นนักจิตวิทยาสังคมผู้คิดว่าสังคมของมนุษย์แยกออกจากมนุษย์แต่ละคน และแยกจากมนุษยชาติโดยรวมไม่ได้ เขาจึงได้ตั้งสาขา “สังคมวิทยา” ขึ้นมาเพื่อศึกษาสังคมมนุษย์โดยเฉพาะ แต่เขาเข้าใจสังคมในเชิงวิทยาศาสตร์หรือชีววิทยาของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน โดยไม่ได้ศึกษาฟิสิกส์อย่างเพียงพอ จึงมองชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ไปในทางชีววิทยา ซึ่งขึ้นกับการสังเกต “สิ่งที่มีชีวิต” ในขณะนั้นๆ อย่างเป็นระบบ

ออกัสเต คอมเต จึงมองวิวัฒนาการของจิตใจของมนุษย์ไปในเชิงชีววิทยา คือขึ้นกับประสบการณ์การสังเกตของมนุษย์แค่นั้น ซึ่งก็คือวิทยาศาสตร์ จึงมองว่าสังคมของมนุษย์คือประสบการณ์ที่มองเห็น (สังเกต) ได้ ประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการจิตของมนุษย์และสังคม ซึ่งก็คือวัฒนธรรม จึงจบลงที่วิทยาศาสตร์ (magic mythic and science)

ที่เอาออกัสเต คอมเต มาพูดถึงในที่นี้เพื่อแสดงว่า นักจิตวิทยาสังคมหรือนักปรัชญาสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์สังคมทั้งหลาย ควรศึกษาค้นคว้าวิทยาศาสตร์ให้ถึงแก่นแกนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะฟิสิกส์ (และแควนตัมฟิสิกส์หลังปี ๑๙๒๗) ทั้งนี้ก่อนที่นักวิชาการพวกนั้นจะเขียนและตีพิมพ์หนังสือออกมาสู่สาธารณชน เนื่องจากพวกเขามักไม่รู้ว่า หนังสือของตัวเองนั้นมีอิทธิพลความสำคัญสุดต่อสาธารณชนผู้อ่านทั่วไปยิ่งนัก โดยที่คนทั่วไปจะไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือหรือวารสารด้านวิทยาศาสตร์หนึ่ง อ่านแล้วไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือหรือข้อมูลนั้นๆ เกี่ยวกับมนุษย์หรือสังคมของมนุษย์อีกหนึ่ง ซึ่งเราโดยทั่วไปก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่าอะไรๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสังคมของมนุษย์ หรือแม้แต่ใกล้ๆ กับตัวมนุษย์แล้ว มนุษย์เราแทบทุกคนจะมีความรู้สึกว่า เรื่องนั้นน่าสนใจเป็นที่ยิ่งและมักจะจดจำกันไปอย่างยาวนานนัก แถมยังลบออกไปจากความทรงจำยากที่สุด เพราะเรามักหลงตัวเอง

ฟรีดดริช เฮเกล และ คาร์ล มาร์กซ์ ก็เป็นเช่นนั้น รวมถึงเรื่องของชนชั้น ซึ่งหนักกว่าชั้นวรรณะของอินเดียโบราณที่มีอยู่จนกระทั่งวันนี้ และผู้เขียนคิดว่า ไม่มีทางที่มนุษย์จะกำจัดให้ออกไปจากสังคมโดยรวมได้หมดจริงๆ เพราะว่ามันผิดธรรมชาติ กอไผ่หรือกอหมากมีต้นที่แคระแกรนเตี้ยเล็กและต้นที่สูงชันอวบสมบูรณ์ในกอเดียวกัน พระพุทธองค์ถึงกล่าวว่า คนเรามีสูง มีต่ำ มีดำ มีขาว มีจน มีรวย เป็นพราหมณ์หรือราชา เป็นคนพาลต่ำช้าหรือเป็นโจร ฯลฯ เป็นเพราะกรรมอย่างเดียว

พระพุทธองค์ไม่ได้ถือชั้นวรรณะของมนุษย์ผู้ “ประเสริฐ” กว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะเกิดมาจากต่างครรภ์มารดาในสังคมเดียวกัน แต่เป็นเพราะพฤติกรรมต่างหาก ไล่ต่อไปแล้วก็ขึ้นกับการเลี้ยงดูและพันธุกรรม คือห้อมล้อมด้วยคนถ่อยคนพาลคนต่ำช้า หรือมีพ่อแม่เป็นโจร มีโคตรเหง้าเป็นโจร โดยมีสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กมากกว่าเล็กน้อย แต่หากไล่ไปจนถึงที่สุดก็เป็นเพราะกรรมเหมือนกัน ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยตัวแทนแบบที่เรามีอยู่ หากแต่เชื่อในวิวัฒนาการทางจิตที่ไปตามสเปคตรัมของจิตเป็นธรรมชาติสำคัญที่สุด ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของจักรวาล หาใช่สสารวัตถุหรือเนื้อเยื่อไม่ อย่าลืมว่าความประพฤติหรือพฤติกรรมของมนุษย์นั้น นักวิทยาศาสตร์ทุกคนบอกกับเราตลอดเวลาว่า ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำหนดโดยจิตหรือนามทั้งสิ้น ไม่ว่าจิตจะเป็นคนละเรื่องกับสมองหรือเป็นผลการทำงานของสมอง

ที่ว่าทั้งเฮเกล ทั้งมาร์กซ์และทั้งชนชั้นที่ผิดนั้น ผิดอย่างไร? ขอชี้แจงดังนี้

ข้อแรก คิดว่าเฮเกลผิดในเรื่องเวลา เฮเกลก็เช่นเดียวกับคนในยุคนั้นที่มองอะไรๆ เป็นเส้นตรงตามลูกศรแห่งเวลา ทฤษฎี “ไดอะเล็กติก” ก็เป็นเช่นนั้น ในขณะที่ความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้น ปรากฏการณ์ของจักรวาลเคลื่อนที่ไม่เป็นเส้นตรง แต่เป็นวัฏจักร “ก้นหอย” (vortex or no-linear science)

ข้อสอง ผิดที่เรื่องขององค์กร มันไม่มี “เธสีส” “แอนตีเธสีส” และ “ซีนเธสีส” แบบที่เฮเกลคิด มันต้องมีตัวดึงดูดและทางสองแพร่งก่อนความล่มสลายขององค์กรเก่า ถึงจะมีองค์กรใหม่โผล่ปรากฏขึ้นมา และมันไม่มีการรวมกันหรอก มีแต่มากกว่า (เอบวกบี ไม่เท่ากับ เอบี)

ข้อสาม ความเป็นองค์รวมซ้ำซ้อนองค์รวมไปเรื่อยๆ ฯลฯ เฮเกลไม่ได้พูดถึง อิมมานูเอล ค้านท์ ที่แม้จะเป็นคนรุ่นก่อนกว่า แต่ก็ร่วมสมัยกัน ความเป็นองค์รวมหรือทั้งหมด (holism) ของค้านท์ การมองชีวิต “การเป็นไปเช่นนั้นของมันเอง” (autopoiesis) อันเป็นหัวใจของปรัชญาของค้านท์ ขัดแย้งกับความคิดของเฮเกลเองที่บอกว่าความจริงที่แท้จริงคือจิตที่สมบูรณ์ (หรือจิตหนึ่งหรือจิตใต้สำนึกร่วมของจักรวาล) เฮเกลจึงผิดที่เขาตั้งทฤษฎีไดอะเล็กติกขึ้นมา แต่กลับไม่รวมความจริงที่แท้จริงหรือจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลไว้ในทฤษฎีไดอะเล็กติกของเขา

และคาร์ล มาร์กซ์ ยิ่งผิดเข้าไปอีกฐานเชื่อเฮเกลและไดอะเล็กติกอย่างศิโรราบ จริงอยู่ มาร์กซ์ได้เปลี่ยนประเทศชาติเป็นชนชั้นของสังคม ทั้งยังได้สร้างลัทธิคอมมูนิสต์ขึ้นมา (ประกอบด้วยสามทฤษฎีย่อย แต่มีทฤษฎีไดอะเล็กติกสำคัญที่สุด) ผู้เขียนรู้สึกเหมือนกับ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มาร์กซ์ เฮเกล กับไดอะเล็กติก ไม่รวมจิตและองค์รวมไว้ด้วย ผู้เขียนจึงรู้สึกเสียใจยิ่งนักที่เชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ มานานร่วมสามสิบปี แถมเชื่อในวัยทำงานเสียด้วย จนกระทั่งมีวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ แควนตัมเมคคานิกส์ทฤษฎีเคออส ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ไม่เดินเป็นเส้นตรง ฯลฯ เกิดขึ้นและได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมานานจริงๆ

ชนชั้นวรรณะทางสังคมนั้น – ไม่ว่าศักดินา ชนกรรมาชีพ อำมาตย์ หรือทาส ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีมาตั้งแต่ยุคโฮโม อีเรคตัส ในอดีตแล้ว ปัจจุบันและอนาคตเราจะต้องไม่ผิดอีก เช่น อเมริกา ยุโรป กับที่เราตั้งใจผิดและปรารถนาผิดๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยตัวแทน ความเท่าเทียมกันที่ตาเห็น ดังที่พระพุทธองค์กล่าวว่า วรรณะไม่เป็นธรรมหากมองแต่กายที่เห็น แต่ไม่มองที่พฤติกรรมควบคุมด้วยจิตที่ไม่เห็น นั่นคือวิวัฒนาการทางจิตที่สำคัญกว่ากาย

ประเทศไทยหัวใจมนุษย์



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2553

ความตายของพี่น้องคนไทยในมิคสัญญีกลียุคเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ควรจะก่อให้เกิดความสลดสังเวชอย่างใหญ่หลวงในหัวใจของคนไทยทุกคน ใหญ่หลวงถึงขั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน วิกฤตรุนแรงจะเกิดซ้ำซากและรุนแรงยิ่งขึ้น ก็ทำนองเดียวกับที่คอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้เคยอ้างถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง”

วิถีเดิมนำเราเข้าไปสู่ความรุนแรง ความรุนแรงจะไม่หายไปด้วยวิถีเดิมอันเป็นวิถีที่นำไปสู่ความรุนแรง จึงต้องการวิถีใหม่โดยสิ้นเชิง วิถีใหม่ต้องใช้ใจนำ ไม่ใช่ใช้ความคิดนำ เพราะความคิดนั้นถูกครอบงำโดยกิเลสได้ง่าย นำไปสู่ความคับแคบ แยกส่วนสุดโต่ง แตกแยก คุมแค้น และรุนแรง ใจนั้นเหนือและใหญ่กว่าความคิด และมีอำนาจแห่งความสมานมากกว่า เช่น ความเมตตา กรุณา ความเห็นใจ การให้อภัย ถ้ามีความเมตตา กรุณา ความเห็นใจ การให้อภัย จะไปเปลี่ยนวิถีคิด เช่น จากคิดเชิงวิหิงสาไปเป็นเชิงอหิงสา ทำให้ไม่จมปลักอยู่ในความเกลียด ความโกรธ และความพยาบาท ชาติใดตกอยู่ในอารมณ์คุมแค้นและพยาบาทเรื้อรัง จะเจ็บป่วย เจ็บปวด และนำไปสู่ความรุนแรง

ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ

ถ้าไม่มีอยู่ก็ไม่รู้น้ำใจจะหลั่งไหลมาจากไหน แต่เพราะมีอยู่เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ตกอยู่ในความทุกข์ยาก เช่น เมื่อเกิดหายนภัยสึนามิ คลื่นน้ำใจจึงหลั่งไหลใหญ่โตกว่าคลื่นสึนามิเสียอีก การที่คลื่นน้ำใจไหลไปรวมกันทำให้ชาติมีพลัง น้ำใจแห่งการเยียวยานั้นไม่ถามหาความคิด หรืออุดมการณ์หรือสีอะไร ถือความเป็นเพื่อนมนุษย์เป็นตัวตั้ง น้ำใจไหลเหนือความขัดแย้ง จึงมีพลังสมานมากกว่าการโต้เถียงกันด้วยเหตุผลหรืออุดมการณ์ ชาติ ที่ประสบหายนภัย เช่น แผ่นดินไหว เขาไม่ได้ต้องการหายนภัย แต่ชาติเขาเข้มแข็งขึ้นเมื่อมีหายนภัยจากการที่ประชาชนในชาติรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อบรรเทาทุกข์และเยียวยาความสูญเสีย

ชีวิตแต่ละชีวิตมีค่าในฐานะเป็นมนุษย์ ในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อ ๑๐ เมษายน และพฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อนคนไทยต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อสีอะไร ทหารหรือตำรวจ เขาคือเพื่อนมนุษย์ บางคนมีพ่อ มีแม่ มีลูก มีครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่กำลังทุกข์โศกเพราะความสูญเสีย และยังคนที่บาดเจ็บในเหตุการณ์อีกกว่าพันคน เขาเหล่านี้ต้องการการเยียวยาด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ในโลกที่กำลังเจ็บป่วยอย่างยิ่ง การเยียวยาเป็นมาตรการสำคัญที่จะพลิกฟื้นชีวิตของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ได้รับการเยียวยาและฝ่ายที่ไปเยียวยาผู้อื่น เราต้องเยียวยาซึ่งกันและกัน และเยียวยาโลก คนไทยควรจะใช้ความสูญเสียเป็นโอกาสทำให้ชาติเข้มแข็งขึ้น ด้วยการรวมใจเป็นหนึ่งเดียวในการบรรเทาทุกข์และเยียวยาผู้สูญเสียด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

มนุษย์แม้เป็นสัตว์แต่ก็ต่างจากสัตว์ ที่ต่างจากสัตว์ก็อยู่ที่การมีจิตใจสูงหรือหัวใจของความเป็นมนุษย์ สัตว์ก็ทำไปตามธรรมชาติของสัตว์ เช่น กิน ขี้ ปี้ นอน กัดกัน แต่ใจของมนุษย์นั้นไปได้ไกลแสนไกลเหนือธรรมชาติดังกล่าวของสัตว์ เช่น ความเมตตา กรุณา ความเห็นใจ การให้อภัย อหิงสา อพยาบาท การมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ไปไกลถึงหัวใจของพระโพธิสัตว์ก็ได้ จึงกล่าวว่าใจใหญ่กว่าและเหนือกว่าความคิด เรามักใช้ความคิดนำจนเคยชิน และลืมไปว่าใจใหญ่กว่าและเหนือกว่าความคิด การทำอะไรๆ จึงควรใช้ใจนำและความคิดตาม ไม่ใช่ใช้ความคิดแต่เพียงอย่างเดียว การคิดนำไปสู่ความรุนแรง ความทุกข์เกิดจากความคิด ถ้าวางความคิดได้ก็สิ้นสุด การใช้ใจนำจึงลดทุกข์และลดความรุนแรง

สมองของมนุษย์มีส่วนที่มาจากสัตว์และมีส่วนใหม่ที่เป็นสมองมนุษย์พอกอยู่ข้างนอก มนุษย์วิวัฒนาการจากสัตว์จึงมีร่องรอยของสัตว์อยู่ในอวัยวะต่างๆ สมองชั้นในสุดของมนุษย์เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน ทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอด ชั้นกลางเป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ ชั้นนอกสุด เรียกว่า นีโอ-คอร์เตกส์ เป็นสมองมนุษย์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ศีลธรรม ส่วนที่เป็นสมองสัตว์อยู่ค่อนไปข้างหลัง บางทีจึงเรียกว่าสมองส่วนหลัง ส่วนสมองมนุษย์นั้นเรียกว่าสมองส่วนหน้า

ถ้ามนุษย์เอาแต่คิดต่อสู้เอาเปรียบกัน จะใช้สมองส่วนหลังมาก และไปเอาสมองส่วนหน้ามารับใช้มัน มนุษย์จึงสามารถทุจริตคดโกงและร้ายกาจได้สุดๆ เหนือสัตว์ โดยไม่คำนึงถึงความจริงและศีลธรรม ถ้าเราอยู่ในโหมดของการต่อสู้เอาเปรียบกันนานเกินไป สมองส่วนหลังหรือสมองแห่งความเป็นสัตว์จะเด่นกว่าสมองของความเป็นมนุษย์ สังคมไทยอยู่ในโหมดของการต่อสู้แก้แค้นกันไปมานานเกินไปแล้ว มีผลกระทบต่อโครงสร้างเรื่องสมองสัตว์ สมองคน ที่มีผลรุนแรงต่อสังคม จึงต้องเปลี่ยนเกียร์ของประเทศไปเป็นประเทศไทยหัวใจมนุษย์ให้ได้

การพัฒนาในอารยธรรมสมัยใหม่ของโลกเน้นที่การทำกำไรสูงสุดหรือโลภจริต โลภะนำไปสู่ความรุนแรงหรือโทสะ โลภะ หรือโทสะเกิดจากอวิชชาหรือโมหะ และเพิ่มพูนโมหะ โลภะ-โทสะ-โมหะ จึงป้อนซึ่งกันและกันเป็นวงจรของอกุศลมูล โลกที่ขับเคลื่อนด้วยอกุศลมูล นำไปสู่วิกฤตการณ์แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างรุนแรง ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม วิกฤตจนสุดทางไปแบบเดิม อันเป็นเหตุให้ไอน์สไตน์มีวจนะดังกล่าว หรือลาสโล โกรฟ และรัสเซลล์ กล่าวว่าโลกไม่รอดวิกฤตอย่างรุนแรงนอกจากการปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) หรือท่านทะไลลามะกล่าวว่า ต้องการการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ หรือท่านอาจารย์พุทธทาสฝากปณิธานไว้ว่า มนุษย์ต้องถอนตัวออกจากวัตถุนิยม

วิกฤตการณ์ปัจจุบันเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ ไม่ใช่วิกฤตการณ์เล็ก เป็นวิกฤตการณ์ทางอารยธรรม และมาถึงจุดเปลี่ยนทางอารยธรรม (Civilization Turning Point) อารยธรรมปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อมนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ นั่นเป็นที่มาของการมีคอลัมน์จิตวิวัฒน์ในหนังสือพิมพ์มติชนเป็นประจำ

ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความพอเพียงมาแต่โบราณ โดยที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก เคยมีป่าไม้กว่าร้อยละ ๖๐ ของพื้นที่ ผลิตอาหารได้เหลือกิน มีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อย เมื่อเราเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนามาเป็น “ประเทศไทยมุ่งกำไรสูงสุด” ก็เกิดการแย่งชิงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาก ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างมากขึ้น การต่อสู้ทางการเมืองรุนแรงขึ้น เพราะเป็นการเมืองของการแย่งชิงทรัพยากรของประเทศ ความไม่เป็นธรรมมากขึ้น มีความเสื่อมเสียทางศีลธรรมและความรุนแรงมากขึ้นๆ จนเกิดมิคสัญญีกลียุค

เราต้องเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จาก “ประเทศไทยมุ่งกำไรสูงสุด” ไปเป็น “ประเทศไทยหัวใจมนุษย์” โดยเอาใจนำ

ใจเป็นเรื่องที่ร่วมกันได้

ผลประโยชน์และอำนาจเป็นเรื่องที่ร่วมกันไม่ได้


คนทุกข์ยากและขาดโอกาสในประเทศมีมาก ถ้าเราร่วมกันทำงานด้วยใจ เพื่อเยียวยาผู้ทุกข์ยากและสร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่แบบให้ทานผู้ต่ำต้อย แต่โดยเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน และสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ของเขา เราจะสมานฉันท์กันได้

เราไม่สามารถสมานฉันท์โดยการเถียงกันด้วยความคิด

แต่ความสมานฉันท์จะเกิดจากการทำงานด้วยใจเพื่อเพื่อนมนุษย์


รัฐบาลควรใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐทุกประเภท สื่อสารการทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ของกลุ่มและเครือข่ายต่างๆ ให้รู้ถึงกันอย่างกว้างขวาง ให้คลื่นแห่งน้ำใจเพื่อเพื่อนมนุษย์รับรู้กันทั้งแผ่นดิน

การทำงานร่วมกันด้วยใจเมื่อดำเนินไปๆ จะมีสิ่งหนึ่งผุดบังเกิดขึ้น คือความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ความเชื่อถือไว้วางใจกันเป็นทุนมหาศาลเพื่อความสุขและเพื่อการแก้ปัญหาที่ยาก ทุนนี้ซื้อไม่ได้ด้วยเงินไม่ว่ามากเท่าใด แต่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันด้วยใจ

การใช้ใจนำในการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์จึงหาใช่เป็นเพียงการรักษาตามอาการ แต่จะก่อให้เกิดขึ้นของจิตสำนึกใหม่ พลังจิตสำนึกเป็นพลังมหาศาลประดุจพลังนิวเคลียร์ในตัวมนุษย์ (Human nuclear energy) อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยหัวใจมนุษย์คือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานประเทศไทย ถ้าเราร่วมกันทำอะไร ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ และสร้างประเทศไทยหัวใจมนุษย์ขึ้นมาได้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

Back to Top