พุทธ (โธ่) เอ๋ย



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2553

นั่งคุยกับน้าชายของผมช่วงเดือนที่แล้ว จู่ๆ เขาปรารภออกมาว่า

"พวกสันติวิธีนี่ก็แปลกนะ อยากให้ผู้คนมีสันติแต่ใช้วิธีการไปนั่งสมาธิในสวนสาธารณะ"

ผมฉงนกับการเปิดประเด็นของน้า "อ้าว ก็เขารณรงค์ทำให้ชาวพุทธมีส่วนร่วมทางการเมือง มันไม่ดีหรือ?"

"ดีมันก็ดีอยู่ แต่น้าว่าจริงๆ แล้วมันควรจะนั่งอยู่บ้านใครบ้านมัน" ผมทำคอย่น แล้วซักแกต่อ

"แล้วคนอื่นเขาจะรู้ได้ยังไงล่ะน้า ว่าเรากำลังแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าไม่ให้คนไทยฆ่ากัน

หันมาปรองดองกันด้วยสันติวิธี" ยกคำใหญ่อย่างนี้น้าแกต้องจนแน่ ผมนึกในใจ

"ก็ออกไปจากบ้านอย่างนั้น มีเจตนาอย่างไรกันล่ะ นั่งไปมันก็ร้อนใจ สู้นั่งอยู่ที่บ้านไม่ได้" น้ำเสียงของน้ายังไม่หวั่นไหว

บ๊ะ น้านี่ดื้อด้านไม่เบา ขอแย้บแกสักที "น้าตกกระแสไปแล้วหล่ะ สมัยนี้เค้าต้องออกสื่อ นั่งสมาธิก็ต้องออกสื่อ ชาวบ้านเขาจะได้รู้เห็น คนรุ่นใหม่เขาจบการศึกษาสูง เขารู้จักใช้สื่อ น้าไม่รู้จักอะไร เชยสิ้นดี"

แกสวนขึ้นทันควัน "มันจะยากอะไร ศรชัย” เรียกท้ายชื่อผมขึ้นเสียงสูง “น้าก็ใช้สื่อได้ ก็เอากล้องทีวีมา แล้วมีคนจุดเทียนสักเล่มหนึ่ง แล้วก็เริ่มนั่งสมาธิไปพร้อมๆ กัน กล้องก็ถ่ายเทียนเล่มนั้นไปเรื่อยๆ พอเทียนหมดก็ให้สัญญานระฆัง ทำอย่างนี้ทุกวันให้ทำกันจริงๆ ทั้งประเทศนะ รับรองใจไม่ร้อน นี่แหละสันติวิธีของจริง”

น้าคนนี้เวลาแกพูดอะไร ดูแกปักใจเชื่ออย่างนั้นจริงๆ แล้วนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แกเอาตัวรอดไปได้ของแกแบบข้างๆ คูๆ ผมไม่อยากจะอธิบายให้แกฟังเรื่องว่าการออกทีวีมันต้องมีลูกเล่น มีสีสัน ไอ้การจุดเทียนเล่มเดียวให้กับคนทั้งประเทศดู สำหรับนักการตลาดแล้วมันไม่มีจุดขาย แล้วใครหน้าไหนจะมาเป็นสปอนเซอร์รายการแบบนี้ ผมยังมีอีกหลายเหตุผลที่สามารถยกมาถกกับแกได้ แต่อะไรบางอย่างสะกิดใจผมให้ต้องนึกตรึกตรอง สิ่งที่น้าพูดอาจจะฟังดูไม่มีเหตุผล แต่อีกใจหนึ่งเห็นว่ามันก็เข้าทีอยู่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนก็คือทำไมไม่มีใครคิดจะทำแบบนี้กันหนอ การที่ไม่มีใครกล้าเสนอเรื่องแบบนี้กับสื่อ ก็แสดงให้เห็นเป็นนัยๆ ถึงอำนาจของสื่อที่มีสิทธิคัดกรองและเลือกเฟ้นสิ่งที่จะถูกนำเสนอต่อสาธารณะ และไอเดียเรื่องเทียนของน้าก็คงเป็นไอเดียแรกๆ ที่ถูกโยนลงถังผงของ บก.

แล้วชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย อย่างพวกเราควรจะทำอย่างไรกันดีในการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง หลายคนหันไปหาสื่อที่ตัวเองถนัดเช่นพวก เฟซบุ๊ก เว็บบอร์ดการเมือง กลุ่มอีเมล์ ที่รวมๆ เรียกว่า โซเชียล มีเดีย ทั้งหลาย แต่สื่อสังคมสาธารณะแบบนี้ก็กลายเป็นเวทีน้ำลายขนาดใหญ่ที่รองรับด้วยโครงข่ายดิจิตอลราคาแพง เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราแสดงความกักขฬะต่อกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธภาพสูงขึ้น รวมทั้งสามารถส่งความพาลทะโรของเราไปให้กับผู้คนมากหน้าหลายตาได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ในจำนวนนี้ก็ไม่เว้นเฟซบุ๊กของเครือข่ายสันติวิธี ซึ่งหมายมุ่งจะแสดงออกอย่างสันติ แต่เป็นที่รู้กันว่าข้อความที่แสดงออกของชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย เหล่านั้น ก็สนุกสนานกันอย่างถึงพริกถึงขิงเลยทีเดียว

เวลานี้จึงมีกระแสของคนบางกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย อย่างพวกเราหันมาสนใจในประเด็นสังคมกันให้มากขึ้น โดยการสร้างวาทกรรมทำนองว่า หากเราหมกตัวอยู่กันแต่ในบ้าน แสดงว่าเราหลบหนีจากความเป็นจริงของสังคม พวกที่ปฏิบัติธรรมอยู่แต่ในบ้าน หรืออยู่ในวัดแถวบ้านก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวก "หนีปัญหา" เป็นชาวพุทธแบบปัจเจกชน ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับใคร กลายเป็นชาวพุทธสมัยเก่าที่เตรียมรอโละทิ้ง ปลดระวาง ชาวพุทธรุ่นใหม่ควรจะต้องออกมาแสดงตัว ออกมาเดินแสดงจุดยืนกันบนท้องถนน รวมทั้งต้องทำการถ่ายทอดทีวีให้เห็นเวลามีการรวมตัวสวดมนต์กันมากๆ เพื่อที่จะได้ให้คนรุ่นใหม่เกิดศรัทธาแล้วหันมาปฏิบัติธรรมในลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมืองกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้เยาวชนที่ไม่ค่อยสนใจธรรมะได้เกิดความตื่นตัว และหันมามองว่าธรรมะนี่ก็สามารถนำมาเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้เหมือนกันนะ ไม่ใช่ของโบราณอะไร

ความพยายามที่จะปรับหลักธรรมให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นมาเพราะความไม่เข้าใจหลักธรรมว่ามันเป็นของที่นำสมัยอยู่เสมอ เป็นของที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เป็นสัจจะอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าคนจะไม่หันมานับถือ หรือไม่นำพา ธรรมะก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น หลังๆ มานี้มีกระแสธรรมเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) ที่มองว่าชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย ควรจะมีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น หรือชาวพุทธจะต้องหันมามีจิตอาสา ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตนเอง หันมาเปลี่ยนแปลงสังคม บางคนมองไปถึงขนาดว่าพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างความอยุติธรรมของสังคมในยุคนี้ พูดไปพูดมาเอาพุทธศาสนาไปเป็นเครื่องมือของการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายไปซะฉิบ จะเอาพุทธศาสนาไปสลายโครงสร้างที่กดขี่ (Superstructure) หรือลดช่องว่างระหว่างชนชั้น แนวคิดเหล่านี้อาจจะเป็นความเห็นของเจ้าลัทธิทฤษฎีการเมือง แต่ไม่ใช่ความเห็นของพุทธศาสนา อันที่จริงแล้วถ้าใครอยากจะเล่นการเมืองก็น่าจะไปทางนั้นให้เต็มตัว แต่ถ้าจะกระเตงเอาชื่อของศาสนาเพื่อไปทำกิจของการเมืองมันดูไม่เหมาะ

ลองดูท่านเชอเกียม ตรุงปะ เจ้าของฉายาคุรุบ้า ในสายวัชรยาน ท่านเป็นผู้ที่มีวิธีการสอนพุทธศาสนาในแนวทางที่เรียกได้ว่าหาความอนุรักษ์นิยมแทบไม่ได้ ขนาดท่านเป็นของท่านอย่างนั้น ท่านก็ยังต้องยอมรับการมีอยู่ของชนชั้นและสถานภาพทางสังคมว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของโลก "...ถ้าสังคมยังจำเป็นต้องมีการปกครองและการควบคุมบังคับ ดังนั้น ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่ใครบางคนยังคงต้องสวมเสื้อชุดใหญ่ไปนั่งที่โต๊ะเจรจา และใครบางคนก็ยังคงต้องสวมเครื่องแบบเพื่อรักษาสันติภาพอยู่"

จะมีก็แต่ชาวพุทธ (โธ่) เอ๋ย ที่เป็นวัยรุ่นใจร้อนเท่านั้น ที่จะร้อนรนเพราะสังคมมันเปลี่ยนไม่ได้อย่างใจ เพราะมองข้ามความเป็นจริงไปในโลกแห่งอุดมคติที่นึกฝันเอา พวกนี้มีแต่ให้ชาวบ้านเขาหัวเราะขำ เพราะชาวบ้านจริงๆ ที่เขาอยู่กับรากเหง้า อยู่กับวัด อยู่กับชุมชน เขากลมกลืนอยู่กันได้ตามปกติ มีความสุขตามอัตภาพ มีแต่ผู้คนที่เผาใจตัวเองในนามของชาวบ้านหรือประชาชนเท่านั้น ที่นั่งตรงไหนก็นั่งไม่ติดที่ เรียกว่า "อยู่ไม่เป็น" จึงไม่เห็นความอยากที่จูงจมูกของตัวเองให้ไปทางนั้นที ไปทางนี้ที พอเห็นชาวบ้านเขาอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ก็อดรนทนไม่ได้ หาว่าชาวบ้านโง่ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ ถูก "พุทธศาสนาแบบไทย" ล้างสมองให้เซื่องเซื่อ ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ไม่ดูว่าเวลาตัวเองถูกฝรั่งหลอกว่าปัจเจกชนนิยมนี้ดี กลับบูชาแล้วรับเอามาถือเอาไว้ราวกับเป็นสิ่งวิเศษเป็นแก้ว (นึก) สารพัด

เหตุที่ชาวบ้านเขาอยู่กับบ้าน อยู่กับวัดกับชุมชนอย่างกลมกลืน เป็นเพราะมีธรรมของคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือนยึดถืออยู่ประจำใจ ในทิเบตก็มีคำสอนคล้ายกันที่ยกมาจากคำสอนกษัตริย์อินเดีย คือ "แก้วเจ็ดประการแห่งกษัตราธิราช" กล่าวถึงบุคคลหรือคุณธรรมที่จะต้องมีแวดล้อมตนเพื่อเป็นเครื่องรักษาไม่ให้ตกต่ำ ยกตัวอย่างมณีดวงแรกก็คือราชินีหรือคู่ครอง ดวงที่สองคือเสนาบดี ฯลฯ ผมดูแล้วยังไกลตัวเราเกินไป “ทิศ ๖” ของเรานั่นไงชัดกว่าเยอะ ทิศ ๖ คือหลักวิธีที่บุคคลพึงบำรุงผู้อื่นตามทิศต่างๆ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ บุตรภรรยา เพื่อน ลูกน้อง สมณะ ท่านบอกหมดว่าบุคคลควรจะมีหน้าที่พึงกระทำต่อกันอย่างไร แต่ที่เราไม่รู้เป็นเพราะเราไม่ศึกษาให้ลึก เพราะเห็นเป็นของเด็กชั้นประถมเอาไว้อ่านเล่น เมื่อเราไม่รู้หน้าที่ เราจะไปเรียกร้องเอาแต่สิทธิ มันก็หนีไม่พ้นที่เราฮึ่มๆ ใส่กัน คราวนี้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน เพื่อนก็ไม่เป็นเพื่อนเสียแล้ว ใครที่ว่าพุทธศาสนาไม่สนใจและไม่รู้มิติทางสังคม ลองไปหาอ่าน คิหิปฏิบัติ แล้วจะรู้ว่าคุณได้พลาดอะไรไปบ้าง

สันติวิธีจริงๆ แล้วเริ่มที่บ้าน เพราะบ้านเราไฟใหม้อยู่แท้ๆ เราจะวิ่งไปถกกับเพื่อนบ้านเรื่องปรัชญาเยอรมันเมื่อกลางศตวรรษที่ ๑๙ อยู่ทำไมกันอีกเล่า เอ้า! หากไม่เชื่อผมก็ลองฟังท่านเชอเกียม ตรุงปะกันสักหน่อย

“ถ้าคุณต้องการจะช่วยแก้ปัญหาของโลก คุณจะต้องเริ่มจัดการกับบ้าน จัดการกับชีวิตของคุณให้เป็นระเบียบเสียก่อน...ผู้คนมักจะมีความต้องการอันสูงส่งที่จะขึ้นอยู่เหนือชีวิตอันอ่อนล้าของตน เพื่อที่จะช่วยเหลือโลก แต่ถ้าคุณยังไม่ได้เริ่มขึ้นที่บ้าน ก็นับว่าไม่มีความหวังที่จะช่วยโลกได้…”

ใครที่บ้านไฟใหม้อยู่ รีบกลับไปดับไฟที่บ้านด่วนนนนนน!!!!!!

Back to Top