มีนาคม 2005

ความพลัดพราก การสูญเสีย
และบทเรียนจากโศกนาฏกรรมสึนามิ

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2548

วิกฤตการณ์จากคลื่นยักษ์สึนามินำมาซึ่งความทุกข์และความสูญเสียที่สะเทือนใจผู้คนทั่วโลก

แต่ในท่ามกลางความทุกข์และความสูญเสียนั่นเองที่เราได้พบความห่วงใยและความมีน้ำใจต่อกันของเพื่อนมนุษย์ที่ไม่เคยได้รู้จักมักคุ้นกันเลย หลั่งไหลลงใต้ไปช่วยกอบกู้ ไปดูแลช่วยเหลือ และประคับประคองให้คนที่ล้มลงแล้วลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง แม้แต่ผู้ประสบภัยเองก็ยังอุทิศตนช่วยเหลือผู้อื่นทั้งที่ตนเองก็กำลังทุกข์ยากและปวดร้าวจากความพลัดพรากและการสูญเสีย

เราได้รับรู้เรื่องราวที่นักท่องเที่ยวถ่ายทอดให้สำนักข่าวต่างประเทศและถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เนต ของผู้หญิงคนหนึ่งที่คลื่นยักษ์พรากลูกชายของเธอไปจากมือ หัวอกของผู้เป็นแม่นั้นคงแทบจะแตกสลายอยู่แล้ว แต่เธอกลับกล้ำกลืนความปวดร้าวหันมาช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ฝรั่งที่เห็นเหตุการณ์เข้าไปบอกให้เธอพักผ่อนบ้าง เธอกลับบอกว่ายังพักไม่ได้ มีผู้คนบาดเจ็บมากมายเหลือเกิน แล้วหันกลับมาถามฝรั่งคนนั้นว่า คุณล่ะ บาดเจ็บตรงไหนบ้างหรือเปล่า

เธอเพิ่งสูญเสียลูกชายเธอไป แต่จิตใจที่ประเสริฐงดงามของเธอเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์

เรื่องราวของความดีงามที่ยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาเหล่านี้คงจะมีอีกมาก และไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องที่ดีงามเท่านั้น แต่เรื่องราวของความเจ็บปวดสูญเสียที่ช่วยให้เรารู้สึกรู้สมกับชะตาชีวิตและความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ก็ควรช่วยให้มีการบอกเล่าและรวบรวมไว้เป็นอนุสติให้เราได้รำลึกถึง

มนุษย์เยียวยาความปวดร้าวได้ด้วยการบอกเล่าเรื่องราว เพราะเรื่องเล่าช่วยจรรโลงโลกไว้ด้วยการให้ความหมายและช่วยแปลงเหตุการณ์ให้เป็นความทรงจำ

โศกนาฏกรรมอันดามันด้านหนึ่งจึงเป็นความทุกข์ยากและความสูญเสีย แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้เราตระหนักถึงความรักและศักยภาพของมนุษย์ที่ห่วงใยและยื่นมือเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก เป็นความดีงามที่เลือนรางห่างหายไปมากในยุคสมัยของความหวาดระแวง การแข่งขัน และการเข่นฆ่าอาฆาตกันในปัจจุบัน

ภัยพิบัติครั้งนี้ยังย้ำเตือนเราถึงความพลัดพรากและการสูญเสีย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงในชีวิตของเรา เป็นการเตือนให้เราเห็นถึงความเปราะบางและความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตที่เรามักลืมนึกถึง

จะว่าไปแล้ว มายาคติเรื่องความมั่นคงในสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้เราลืมความเปราะบางเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตนั้น เป็นผลจากอิทธิพลแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมกลไกเป็นสำคัญ การมองแบบกลไกทำให้เราคิดว่าเราสามารถรู้กฎเกณฑ์และตัวแปรต่างๆ ของธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อรู้กฎเกณฑ์และตัวแปรทุกตัว เราก็สามารถควบคุมความเสี่ยงและจัดการกับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามเจตจำนงของเราได้อย่างเบ็ดเสร็จ

นั่นเป็นความคิดวิทยาศาสตร์แบบเก่า วิทยาศาสตร์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นควอนตัมฟิสิกส์ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทฤษฎีระบบซับซ้อน หรือทฤษฎีเคออส ไม่เชื่อในเรื่องการทำนายหรือการควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะโลกที่วิทยาศาสตร์ใหม่ค้นพบนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะทอนลงมาเป็นกฎเกณฑ์หรือกลไกตายตัวง่ายๆ ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในทัศนะของวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นมีความเปราะบางและเอาแน่เอานอนไม่ได้มากกว่าที่วิทยาศาสตร์แบบกลไกอยากให้มันเป็น

ในจารีตความรู้อื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นมีวิธีคิดและวิธีมองโลกที่แตกต่างออกไป คติความเชื่อแบบพื้นบ้าน ศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมต่างๆ มักมีการเน้นย้ำให้ผู้คนตระหนักถึงความไม่แน่นอนและความเปราะบางของชีวิต รวมทั้งมีอนุสติให้รำลึกถึงความพลัดพราก ความสูญเสีย และความไม่ประมาทเป็นระยะอยู่เสมอ

ความเชื่อแบบชินโตของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แม้ชาวญี่ปุ่นที่นับถือชินโตจะไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าชินโตที่ตนเคารพบูชาเสมอๆ แต่จะมีช่วงอายุที่ถือกันว่าต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ (เช่น อายุ ๒๕ ๔๒ หรือ ๖๑ ปีในผู้ชาย และอายุ ๑๙ ๓๓ และ ๓๗ ปีในผู้หญิง เป็นต้น) เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงที่ชีวิตหมิ่นเหม่ต่อการมีเคราะห์กรรม เช่น ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การพลัดพราก หรือสูญเสีย

ความเชื่อที่ว่านี้คล้ายกับเรื่องเคราะห์และเรื่องเบญจเพสของไทย ที่ถือว่ามีช่วงเวลาหรือวัยที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เรียกว่าเป็นแบบฝึกหัดให้คุ้นเคยกับความเปราะบางเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตก็ได้

ส่วนที่ว่า แล้วมันเกิดอุบัติเหตุหรือเคราะห์กรรมขึ้นในช่วงเวลาหรืออายุที่ว่ามากกว่าปกติจริงหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสาระสำคัญคือการเตือนสติอยู่เสมอใหัมีความระแวดระวัง เพราะชีวิตนั้นจะไปกะเกณฑ์ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้

เมื่อชีวิตเปราะบางและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ท่าทีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตก็คือการมีชีวิตอยู่โดยความไม่ประมาท โดยเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

พูดถึงการเตรียมพร้อม เรามักให้ความสนใจแต่เฉพาะการเตรียมภายนอกด้วยมาตรการต่างๆ เช่นการติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิ การสร้างหน่วยกู้ภัย การซักซ้อมความพร้อมในการอพยพหนีภัยเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติภัยที่คาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ต้องทำให้ได้อย่างดีที่สุด

แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันและต้องรีบลงมือทำเพื่อให้ได้ผลทันในระยะยาว ก็คือการสร้างวิธีคิดและท่าทีที่ถูกต้องต่อชีวิต ต่อความพลัดพรากและการสูญเสีย เพราะชีวิตนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ ถึงจะไม่พลัดพรากหรือสูญเสียจากสึนามิ แต่ใครจะไปรู้ได้ว่า อะไรที่คาดไม่ถึงจะเกิดอีกในวันนี้พรุ่งนี้หรือไม่

การมีชีวิตอยู่โดยความไม่ประมาทจึงหมายถึงการมีสติปัญญาและเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าชีวิตย่อมมีการพลัดพรากและการสูญเสียเป็นธรรมดา และเราก็ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าความพลัดพรากและการสูญเสียจะมาถึงเมื่อไร

การไม่ประมาทจึงหมายถึงการฝึกฝนให้รู้จักปล่อยวางไม่ติดยึดผูกพันกับโลกธรรมทั้งหลายมากเกินไป เพราะชีวิตนั้นมันไม่มีอะไรแน่นอนให้เราพยากรณ์ล่วงหน้าหรือจัดการให้เป็นไปตามใจเราได้

ฟังดูก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก

แต่ถึงจะทำได้ยากก็คงต้องบอกตัวเองให้พยายามทำ จะได้มากบ้างน้อยบ้างก็คงต้องเริ่มต้นและหมั่นฝึกฝนกันไป

เพราะหากไม่ฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาต้องพลัดพรากหรือสูญเสียขึ้นมาทันทีทันใดก็จะทำใจไม่เป็น

เปรียบเสมือน เรือกำลังล่มแล้วเพิ่งจะมาหัดว่ายน้ำ ก็ไม่ทันการณ์

ที่สำคัญ คนอื่นก็หัดว่ายน้ำแทนเราไม่ได้เสียด้วยสิ

การรับรู้โลก และแบบจำลองความเป็นจริงภายใน

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2548

การรับรู้มีบทบาทอย่างไรบ้างกับการเรียนรู้ และการรับรู้เชื่อมโยงกับการสร้างโลกของเราอย่างไร?

เมื่อหลายเดือนก่อน มีบรรยากาศดีๆ จากการรวมตัวกันที่ร้านอาหารตีมู เชียงราย การพูดคุยในวันนั้นวนเวียนอยู่ในเรื่องการรับรู้อย่างน่าประหลาด จึงได้ความคิดดีๆ จากวงสนทนามาเขียนบทความอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนี้ขึ้น

เราให้ทุกคนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา อันเนื่องมาจากสมมติฐานที่ว่า คนเราสร้างโลกด้วยถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้คนตื่นรู้ด้วยว่า เรารับรู้โลกผ่านถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา ได้อย่างไร ตระหนักขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา มีผลต่อการสร้างโลกของเรามหาศาล และการมองโลกของเราอาจจะถูกจำกัดอยู่ด้วย ถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา ได้อย่างไร

กิจกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นกิจกรรมในการฝึกอบรมกระบวนการได้ดีอย่างหนึ่ง

การรับรู้โลกมีหลายชั้น

เมื่อมีผู้นำเสนอขึ้นในวงว่า การรับรู้ความเป็นไปของโลกน่าจะมีอยู่หลายชั้น ในใจผมนึกถึงภาพของการปอกหอมหัวใหญ่ออกไปทีละชั้นๆ มีการเสริมต่อว่า ในชั้นหนึ่งของความเป็นไป เราอาจจะรับรู้ว่าอะไรบางอย่างแตกต่างกัน เช่นเราเห็นคนสองคนมีจุดยืนต่างกัน ถ้าคนหนึ่งมีอุปไมยอุปมาว่าเป็นน้ำ และอีกคนหนึ่งอุปมาอุปไมยว่าเป็นไฟ น้ำกับไฟก็น่าจะขัดแย้งกัน แต่เมื่อเลื่อนชั้นของการรับรู้ขึ้นไป เช่นจากชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสอง น้ำนั้นอาจจะเป็นน้ำในหม้อต้มน้ำ และเมื่อน้ำกับไฟมาทำงานร่วมกัน เราจึงมีต้มยำกุ้งขึ้นมาได้ กล่าวคือในอีกระดับชั้นหนึ่ง น้ำกับไฟที่ดูขัดแย้ง กลับร่วมงานกันและสร้างคุณประโยชน์ได้

การรับรู้ที่ไปพ้นตัวแทนและภาพลักษณ์

เพื่อนในวงอีกคนหนึ่งไปเรียนเขียนรูปสีน้ำ ครูเขาให้วาดรูปส้มอยู่หลายวัน เพื่อนก็วาดส้มกลมๆ วาดวงกลมๆ ไว้ก่อน หลังจากปลุกปล้ำกับการวาดรูปส้ม จนกระทั่งส้มไม่เป็นส้มแล้วนั่นแหละครูจึงพอใจ

ส้มเป็นส้มนั้นก็คือนามธรรมของความเป็นส้ม บางทีเรามองเห็นแต่นามธรรมของความเป็นส้มที่มีอยู่ในความทรงจำของเรา แต่ไม่ได้มองเห็นส้มลูกนั้นที่อยู่ข้างหน้า เราจึงไม่สามารถวาดรูปส้มใบนั้นได้

ผู้เขียนเคยพาผู้คนไปเดินชมสวนอย่างผ่อนคลาย เมื่อเราผ่อนคลายจริงๆ เราจะเห็นกิ่งไม้กิ่งนั้น ก้อนเมฆก้อนนั้น ไม่ใช่เห็นนามธรรมของก้อนเมฆและกิ่งไม้ หลายคนเอ่ยออกมาว่า เพียงเดินเล่น เราก็เป็นสุขแล้ว แต่ดูเหมือนเราจะลืมการเดินเล่นอย่างนี้ไปเสียนานทีเดียว

แล้วการมองคนเล่า เราก็เห็นแต่ตัวแทนและภาพลักษณ์ คือมองคนผ่านความทรงจำในอดีต แต่ไม่เห็นตถตา หรือความเป็นไปจริงๆ ของคนๆ นั้น ในเวลานั้นๆ นี่เป็นปัญหาที่ปิดกั้นการรับรู้ และจึงมาปิดกั้นการเรียนรู้ไปด้วย

การรับรู้เป็นด่านแรกของการเรียนรู้ ถ้าเรายังติดกรอบการรับรู้อย่างเป็นตัวแทนและภาพลักษณ์ เราย่อมมองไม่เห็นความเป็นไปแท้จริงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่เห็นจากความทรงจำของเรา เราอยู่กับซากที่ตายแล้วของอดีต แต่ไม่สามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีชีวิตชีวา

ทำไมเราจึงสื่อสารต่อกันและกันได้น้อยกว่าแบคทีเรีย?

เป็นท้องเรื่องหนึ่งที่มีการพูดคุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ บุนนาค และอาจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี จากธรรมศาสตร์ โดยหมอวิธานเริ่มการสนทนาด้วยเรื่องเวิลด์ไวด์เว็บของแบคทีเรีย ว่ามันแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการแลกเปลี่ยนยีนกันอย่างไร ทั้งๆ ที่แต่ละตัวมีเพียงแปดยีนเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “เรียนรู้จากเซลล์มะเร็ง”, วิธาน ฐานะวุฑฒ์)

แต่คนเรากลับไม่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราติดกับดักอยู่ในโลกของการรับรู้แบบเดิมๆ โดยไม่มีการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง ปิดประตูการรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่จะรวมเอาชาวบ้านร้านถิ่นเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้ของเราด้วย

ทุกอารมณ์ลบของคนเรานั้นลึกที่สุดคือความกลัว ในทางตรงข้าม ความกล้าเผชิญทุกครั้งจะนำเราไปสัมผัสกับการรับรู้และมุมมองใหม่ๆ ในชั้นใหม่ๆ ของความเป็นจริง เพราะเมื่อเราถอยออกมามองภาพรวมได้กว้างขึ้น เราจะเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์มากขึ้น ในความจริงที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะเห็นว่ามุมมองของเราแต่เดิมนั้น แท้จริงคับแคบเพียงใด!

ดี ฮอค แห่งวีซ่าอินเตอร์เนชันแนล พูดเรื่องข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ

โดยการใคร่ครวญถึงความสำคัญของคำว่า “ข้อมูล” อย่างพยายามจะเข้าถึงแก่นความหมาย จนเกิดการปอกหัวหอมทางจิตเป็นร้อยๆ ชั้น ทำให้เขาได้คำๆ หนึ่งที่ใช้ระบุความสามารถและศักยภาพของข้อมูล คือ CRUSTTI ย่อมาจาก Capacity to Receive, Utilize, Store, Transform, and Transmit Information แปลเป็นไทยว่า ความสามารถที่จะรับ นำมาใช้ เก็บ แปรเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายข้อมูล ดี ฮอค ไม่ต้องการให้คิดเพียงว่า คำว่าข้อมูลแทนที่ด้วยตัวอักษรและตัวเลข แต่เป็นข้อมูลในความหมายของ เกรกอรี่ เบตสัน ที่ว่า “ข้อมูลคือความแตกต่าง ที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง” ที่มีอำนาจบอกกล่าวอะไรกับเรา ก่อรูปความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา และเปิดเนื้อที่ให้เราก่อรูปความแตกต่างกับมัน ที่จะก่อให้เกิดความแตกต่างในคนอื่นๆ ได้ หรือข้อมูลใหม่คือน้ำกรดที่กัดเซาะพรมแดนล้อมรอบตัวเรา และสร้างเงื่อนไขใหม่ ที่จะทำให้แบบแผนความสัมพันธ์ใหม่ก่อเกิดขึ้นมาได้

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลและความรู้ในความหมายของ ดี ฮอค ต่างจากความคุ้นเคยที่เราใช้อยู่โดยสิ้นเชิง

จากการศึกษาการรับรู้ในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ทำให้เรารู้ว่า การรับรู้ทุกประการไม่ได้เป็นสัจจะอันสูงสุด ไม่ได้เป็นความจริงที่สุด แต่เป็นความจริงที่ใช้การได้ในโอกาสนั้นในระดับใดระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่มีการรับรู้ที่ดีที่สุด

หากเราถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อเห็นภาพรวมมากขึ้น คิดให้ลงลึกไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะมีโอกาสรับรู้ดียิ่งขึ้น เหมาะยิ่งขึ้นกับการแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ ณ ขณะนั้นๆ

เมื่อเราไม่อหังการ์ เมื่อเรารู้ว่าไม่มีคำตอบสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดใจรับรู้เรียนรู้กับคนอื่นๆ ได้ และการแลกเปลี่ยนในบรรยากาศแห่งสุนทรียสนทนานั้น ชั้นของหัวหอมจะเพิ่มความลึกซึ้งยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เราจะเห็นภาพรวมที่กว้างไกลขึ้น โยงใยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นนี้เองที่เราอาจค้อมหัวเรียนรู้จากแบคทีเรียได้

เมื่อความเป็นจริงไม่มี
อันเกี่ยวเนื่องกับแบบจำลองความเป็นจริงภายใน


ในการรับรู้โลกนั้น จะมีแบบจำลองความเป็นจริงภายในอยู่ในตัวเรา ที่ทำให้ผู้คนรับรู้เรื่องราวบางอย่าง และไม่รับรู้เรื่องราวบางอย่าง เรียกว่าตาบอดตาใสคงได้ การที่ไม่รับรู้ ก็เป็นเพราะเรื่องราวนั้นไม่มีอยู่ในแบบจำลองความเป็นจริงภายในของเรานั่นเอง คือเราจะเห็นอะไรในโลกภายนอกได้ ต้องมีโลกภายในด้วย

ในควอนตัมฟิสิกส์ ถ้าเราต้องการเห็นอนุภาค เราก็จะเห็นอนุภาค ถ้าเราต้องการเห็นคลื่น เราก็จะเห็นคลื่น แต่ถ้าไม่มีคลื่นอยู่ในแบบจำลองความเป็นจริงภายใน คลื่นก็ไม่มีอยู่ เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีแบบจำลองความเป็นจริงภายในเรื่องอนุภาค อนุภาคก็ไม่มีอยู่

เราสร้างโลกภายในขึ้นจากการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ดังนั้น หากเราเข้าไปเผชิญอย่างเปิดใจ บางทีโลกภายในของเราจะถูกสร้างใหม่โดยรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกมากขึ้น การสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลาของโลกภายในนี้เอง คือการเรียนรู้

แต่ในบางที เราจะยึดโลกภายในอย่างจริงจังเกินไป ทำให้เราไม่เปิดรับ และไม่ยอมสร้างใหม่ ในความรู้เดิมที่มีกรอบจำกัด ด้วยเหตุนี้เอง ในสุนทรียสนทนา จึงให้มองทุกความคิดว่าเป็นเพียงสมมติฐาน ไม่ใช่สัจจะ อาจจะสร้างใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่ยึดติดในที่เดิม

ในวิทยาศาสตร์ใหม่ จิตหรือ Consciousness ของเราจะเข้าไปเกี่ยวพัน และเป็นตัวกำหนดผลการทดลองด้วย ดังนั้น ถ้าเรายึดมั่นว่าความคิดของเราเท่านั้นคือความจริง นั่นคือการยุติการเรียนรู้

ด้วยเหตุนี้ สมมติฐานที่เป็นอิสระจากผู้สังเกตจึงไม่มี ดังนั้น ความจริงก็ไม่มีด้วยเช่นกัน เพราะความจริงย่อมพัวพันอย่างแยกไม่ออกจากสมมติฐานของผู้สังเกตนั้นเอง

ธรรมชาติ ศาสนา กับสาเหตุแห่งความทุกข์

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 22 มีนาคม 2548

หนังสือพิมพ์ เจแปนไทม์ ลงรายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพีเกี่ยวกับสถานการณ์สึนามิว่า องค์กรด้านศาสนาที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นมีการแข่งขันกันเผยแพร่ศาสนาของตนเพื่อเสนอหนทางพ้นทุกข์แก่ดวงวิญญาณของผู้ประสบภัยในเกาะสุมาตรา

มีการช่วงชิงและตอบโต้กันบ้าง ตามประสาคนอยากทำดี

ที่ต้องช่วงชิงและแข่งขันกันนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะแต่ละศาสนาต่างก็เสนอหนทางออกจากความทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน

และที่เสนอทางออกไม่เหมือนกัน ก็เพราะแต่ละศาสนามีทฤษฎีว่าด้วยความทุกข์ที่แตกต่างกัน

จะว่าไปแล้ว ปัญหาการดำรงอยู่ของความทุกข์ ความชั่วร้าย และความไม่เป็นธรรม เป็นคำถามที่ทุกๆ ศาสนาพยายามให้คำตอบแก่มนุษย์ และเป็นโจทย์เก่าแก่ทางเทววิทยาที่วนเวียนกลับมาให้มนุษย์หาทางอธิบายด้วยทฤษฎีต่างๆ มาแต่อดีต จนถึงกับมีการบัญญัติศัพท์ทางวิชาการที่นักปรัชญาศาสนาและเทววิทยาใช้เรียกโจทย์นี้ว่า Theodicy

มักซ์ เวเบอร์ นักคิดทางสังคมศาสตร์ได้ศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาศาสนาต่างๆ และได้แสดงให้เห็นว่า ศาสนาต่างๆ ตอบคำถามเรื่องการดำรงอยู่ของความชั่วร้าย ความทุกข์ และความยุติธรรมไว้ไม่เหมือนกัน ปัญหาการดำรงอยู่ของความทุกข์และความชั่วร้ายนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงศาสนาที่เรียกว่าเอกเทวนิยม คือศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว

ความเชื่อแบบเอกเทวนิยมนั้นถือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง เพราะพระองค์ทรงสร้างโลกและสรรพชีวิตทั้งมวล รวมทั้งทรงบัญญัติกฎธรรมชาติทั้งหลายด้วย ไม่เพียงแต่พระเจ้าจะมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง (Omnipotent) และปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง (Omnipresent) พระองค์ยังทรงไว้ซึ่งคุณธรรมยุติธรรม (คือมีเหตุผล) และมีพระเมตตาอย่างที่สุดด้วย

ปัญหาก็คือว่า ถ้าพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมโลกนี้จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ ทำไมต้องมีสงครามที่เข่นฆ่าเด็กๆ ผู้ไร้เดียงสาหรือทำร้ายประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทำไมพระองค์ไม่ทำให้ความชั่วร้ายหมดไปจากโลกและให้โลกมีแต่ความยุติธรรมและสันติสุข

ยิ่งในกรณีโศกนาฏกรรมสึนามิที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตายเป็นเด็กๆ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

คำอธิบายที่มักพูดกันง่ายๆ ว่าพระเจ้าลงโทษ ดูจะใช้ไม่ได้สำหรับความตายของเด็กๆ จำนวนมากเหล่านี้ เพราะเราไม่เชื่อและไม่คิดว่าเด็กเหล่านี้จะได้ทำผิดอะไรใหญ่หลวงจึงต้องมาเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อเรายังเห็นคนที่ทำเรื่องที่เลวร้ายอย่างมากกลับยังลอยนวลเสพสุขอยู่

หากพิจารณาจากมุมมองทางศาสนา พวกที่ชอบตั้งคำถามและชอบโต้แย้งหาคำอธิบายเช่นนี้อาจถือว่าเป็นพวกใช้เหตุผลมากกว่าศรัทธา เพราะต้องไม่ลืมว่าศาสนามีเรื่องศรัทธาเป็นส่วนสำคัญอยู่ด้วย

จะว่าไปแล้ว การคาดคั้นหาเหตุผลโดยตัวมันเองก็อาจเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลได้เหมือนกัน

เพราะเหตุผลหรือคำอธิบายอาจไม่มีอยู่

หรือถึงจะมี ก็อาจไม่ใช่คำอธิบายที่จะนำไปสู่การดับทุกข์

ในหลายกรณี ศาสนาจึงมักหาทางออกจากโจทย์เหล่านี้ด้วยคำตอบที่ตอกย้ำศรัทธา ผู้นำทางคริสต์ศาสนาท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ถึงเหตุการณ์สึนามิที่ผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานว่า ให้ถือว่าเรื่องร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสมอนั้นเป็นเครื่องทดสอบศรัทธาที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า

เพราะแม้แต่พระเยซูก็ยังต้องเสียชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมานด้วยการถูกตรึงบนไม้กางเขน และที่เป็นเช่นนั้นก็เพื่อแสดงถึงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อประกาศเกียรติคุณของพระองค์

ที่สำคัญคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีเหตุผลอย่างไร พระเจ้าอาจจะทรงมีเหตุผลของพระองค์ แต่เราผู้เป็นมนุษย์ธรรมดานั้นอาจไม่มีสติปัญญาพอที่จะรู้ได้ เพราะถ้าเรารู้ไปหมดทุกอย่าง เราก็รู้เท่าพระเจ้า หรือไม่ก็เป็นพระเจ้าเสียเอง

หากพิจารณาจากศาสนาที่มีพระเจ้าหลายองค์หรือจากคติความเชื่อแบบพื้นบ้าน คำถามว่า ทำไมเรื่องเลวร้ายจึงเกิดขึ้นนี้ มีวิธีตอบที่แตกต่างและดูเหมือนง่ายที่จะเข้าใจมากกว่า

ในศาสนาฮินดู หรือลัทธิพราหมณ์นั้นมีพระเจ้าหรือเทพมากมายที่ทำหน้าที่ต่างกัน เทพที่สำคัญคือพระพรหม ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้าง พระวิษณุหรือเทพเจ้าแห่งการบำรุงรักษา และพระศิวะผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย สรรพสิ่งจึงถูกสร้างขึ้น ได้รับการบำรุงรักษา และบางครั้งก็ถูกทำลายลงเพื่อที่จะสร้างขึ้นใหม่เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป

ภัยธรรมชาติก็อาจเข้าใจได้ไม่ยากว่า เกิดจากวงจรอำนาจของเทพที่สลับผัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่

เทพของกรีกก็มีมากมายมหาศาลและมีการแบ่งบทบาทหน้าที่คล้ายกันนี้ด้วย

ในขณะที่คติความเชื่อแบบพื้นบ้านต่างๆ แม้ในบางวัฒนธรรมความเชื่อจะมีพระผู้สร้าง (เช่น พญาแถน) อันเป็นเทพสูงสุด แต่คำถามว่า “ทำไม” นี้ดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่ายและตรงไปตรงมากว่า เพราะคติความเชื่อพื้นบ้านในเรื่องผี เทพ หรือเจ้าต่างๆ นั้น มักเหลือพื้นที่ไว้สำหรับความไม่มีเหตุผลของผี เทพ หรือของเจ้า มากกว่าความคิดแบบเอกเทวนิยมที่ว่าไว้ข้างต้น

เพราะผีนั้น บางทีก็มีเหตุผล บางทีก็ไม่มีเหตุผล เทพก็ดูจะทรงพิโรธได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับเจ้าที่ต้องคอยเซ่นไหว้เอาอกเอาใจ

พูดง่ายๆ อำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้มีทั้งมิติของเหตุผลและมิติของอารมณ์

คือบางครั้งก็เอาแน่เอานอนกับท่านไม่ค่อยได้

คติพื้นบ้านเหล่านี้จึงยอมรับได้ว่าภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นได้ และมนุษย์นั้นมีชะตากรรมที่ไม่แน่ไม่นอน เพราะชีวิตเราขึ้นอยู่กับความไม่มีเหตุผลพอๆ กับความมีเหตุผล

การยอมรับว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และมนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้ไปเสียทุกสิ่ง ทำให้เรามีท่าทีต่อชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากท่าทีที่อหังการ มมังการ ที่เกิดจากการถือดีว่ามนุษย์นั้นรู้ได้ทุกอย่าง และเมื่อรู้ได้ทุกอย่าง ก็จัดการได้ทุกอย่าง โดยลืมเตือนตนเป็นอนุสติอยู่เสมอว่าชีวิตนั้นเปราะบางและหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้

ท่าทีแบบหลังนี้ ในทางพุทธถือว่าเป็นการมีชีวิตอยู่บนความประมาท

จิตวิวัฒน์กับการดับไฟใต้

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2548

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ผมไปบรรยายเรื่อง “พลังน้ำใจอันยิ่งใหญ่ กับการพัฒนาสังคม” ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นการประชุมร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย ๘-๙ แห่ง ที่กำลังจะส่งนักศึกษาเป็นอาสาสมัครไปช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยสึนามิที่ ๖จังหวัดภาคใต้ อธิการบดีหรือรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่ร่วมจัดก็ประชุมอยู่ในห้องนั้น เสร็จแล้วผมจะต้องรีบไปประชุมประจำปีของคณะกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ประชุมอยู่ที่ตึก ๖๐ ปี มูลนิธินี้จะประชุมในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี นอกจากจำเป็น เมื่อออกจากห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ก่อนจะถึงบันไดลง ผมพบ “กองทัพนักข่าว” ตั้งกล้องรออยู่เต็มไปหมด ไม่มีทางที่จะผ่านไปได้

ผมรู้ทันทีว่าเขาจะถามผมเรื่องอะไร

ต้องทบทวนเรื่องราวตอนนั้นสักนิด คือสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงการแบ่งโซนหมู่บ้านใน ๓ จังหวัดภาคใต้ วันเสาร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์ลงว่าผมไม่เห็นด้วยที่ไปแบ่งโซน วันอาทิตย์นักข่าวไปถามท่านนายกฯ แล้ววันจันทร์หนังสือพิมพ์ลงว่านายกฯ บอกให้ผมลองไปอยู่ที่ภาคใต้ดู ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ นักวิชาการประชุมกันที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดค้านเรื่องการแบ่งโซน หนังสือพิมพ์ลงข่าวในวันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พอวันอังคารที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เรื่องนายกฯ “ด่าแม่ง” นักวิชาการก็เป็นข่าวใหญ่ เพราะฉะนั้นด้วยสัญชาตญาณผมก็รู้ว่านักข่าวจะสัมภาษณ์ผมเรื่องอะไร ไม่ได้ถามเรื่องอาสาสมัครที่เรากำลังประชุมกันหรอกครับ

“ที่ท่านนายกฯ ด่านักวิชาการนั้น อาจารย์จะว่าอย่างไรครับ” นักข่าวถาม

“เราต้องเมตตาท่าน” ผมตอบ นักข่าวงง

“ท่านนายกฯ เหนื่อยและเครียด เราจะต้องเมตตาท่าน การทำงานก็ต้องมีการกระทบกะทั่งกันเป็นธรรมดา แต่เราควรจะต้องประคับประคองซึ่งกันและกันด้วย...” ผมอธิบายทำนองนี้

นักข่าวอาจจะผิดหวังว่าผมไม่ด่านายกฯ กลับไป ซึ่งก็จะเป็นที่ฮือฮาพาดหัวกันได้ แต่ประโยชน์ที่แท้จริงคงจะไม่มี คำตอบของผมอาจจะดูแปลกหรือ “ผิดธรรมดา”ไป เพราะธรรมดาจะคิดแบบแยกส่วน เป็นเขาเป็นเรา เป็นดำเป็นขาว เป็นบวกเป็นลบ แล้วก็ปะทะขัดแย้งกัน หรือถึงรุนแรง เพราะเราตกเป็นเหยื่อของมายาคติให้เห็น คิด และทำแบบแยกส่วน นี้คือปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในปัจจุบัน คือ การเห็น คิด และทำแบบแยกส่วน ทำให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรง สร้างความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ และวิกฤตด้วยประการต่างๆ

ธรรมชาติของสรรพสิ่งไม่ได้แยกส่วน แต่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน

ผมเคยเล่าถึงมนุษย์อวกาศชื่อ เอ็ดการ์ มิทเชลล์ เมื่อยืนอยู่บนดวงจันทร์ แล้วมองเห็นโลกทั้งใบ เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตของเขาเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง เกิดความรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมด เพราะมนุษย์ทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เมื่อเราเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว หรือเข้าถึงความจริง จะประสบความงาม ความเป็นอิสระ ความสุขและความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง

ทุกวันนี้มนุษย์ขาดความสุข เต็มไปด้วยความเครียดและความขัดแย้ง แต่ความสุขเกิดได้ฉับพลัน (Instant Happiness) เมื่อเราเข้าถึงความเป็นทั้งหมด ลองสัมผัสธรรมชาติรอบตัวอย่างลึกๆ จะเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติทั้งหมด เมื่อเข้าถึงความเป็นทั้งหมดจะเกิดความเป็นอิสระและความสุขทันที ปรกติเราสัมผัสตื้นๆ ลวกๆ เร็วๆ เข้าไปสู่การเป็นส่วนเสี้ยว ถูกบีบคั้น มีความขัดแย้งและความทุกข์

ขอให้ลองฝึกสัมผัสธรรมชาติลึกๆ ดูเถิด จะเกิดความสุขฉับพลันจากการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง ทุกวันนี้มนุษย์เครียด ขัดแย้ง และวิกฤต จนไม่มีทางไปด้วยการเห็นและการคิดแบบเดิมต่อไปได้อีกแล้ว นั่นคือเห็น คิด และทำแบบแยกส่วน

จิตวิวัฒน์ไปสู่ความมีจิตใหญ่ที่เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นระเบียบวาระของมนุษยชาติที่จะไปพ้นวิกฤต

เรื่องไฟใต้นั้นดับไม่ได้ด้วยการคิดแบบแยกส่วน เป็นเขาเป็นเรา แต่ถ้าเรามีจิตวิวัฒน์เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่เฉพาะแต่จะดับไฟใต้เท่านั้น แต่จะดับไฟอื่นๆ ด้วย

วิกฤตการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความรุนแรง แก้ไม่ได้ด้วยความรู้ เทคโนโลยี การเมือง และเงิน เพราะทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้วิถีคิดแบบเดิม คือคิดแบบแยกส่วน อาจมีความสำเร็จเป็นส่วนๆ แต่ความสำเร็จเป็นส่วนๆ นั้นเอง จะทำลายสมดุลของระบบทั้งหมด เช่น เซลล์มะเร็งมันประสบความสำเร็จมากในการแบ่งตัวเอง แต่มันเป็นความสำเร็จเฉพาะส่วน ซึ่งก็ทำลายความสมดุลของระบบทั้งหมด

มนุษย์เห็น คิด และทำ แบบแยกส่วนมาจนเคยชิน และได้สร้าง “โครงสร้าง” แบบแยกส่วนอันมโหฬารขึ้นมา “โครงสร้าง” นี้ได้กักขังมนุษย์ไว้เป็นส่วนๆ จนหมดศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ทั้งๆ ที่มนุษย์ควรจะมีศักยภาพมาก แต่กลับตกอยู่ในความหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะถูกกดทับและจองจำด้วย “โครงสร้าง” อันตนเองไม่เข้าใจ เครื่องมือที่ใช้คือความรู้ เทคโนโลยี การเมือง และเงิน ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะ ความรู้ เทคโนโลยี การเมือง และเงิน เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างที่ว่านั้น

เราต้องการอะไรที่มีอำนาจเหนือวัตถุ

สิ่งที่มีอำนาจเหนือวัตถุก็คือจิต

ถ้าจิตเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ คือความเป็นหนึ่งเดียว จิตจะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง (Transformation) เมื่อจิตเปลี่ยน พฤติกรรมก็เปลี่ยน โครงสร้างก็เปลี่ยน ทำให้มีความอิสระ ความสุข ความรักอันไพศาล แก้ปัญหาได้ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้

ทุกวันนี้มีทั้งความรู้เก่าและความรู้ใหม่เป็นอันมากที่จะทำให้เกิดจิตวิวัฒน์ ขอให้สนใจเรื่องนี้มากๆ จะสามารถสร้างความสุขฉับพลัน รู้การแก้ปัญหายากๆ และซับซ้อน พ้นวิกฤต และเกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้

จากคิดใหม่ ทำใหม่ สู่คิดดี ทำถูก
สู่การเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2548

ในช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลค่อนข้างมาก ทั้งจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักวิชาการและผู้นำศาสนาบางท่าน ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาล และโดยเฉพาะท่านนายกทักษิณก็ได้ตอบโต้และวิจารณ์กลับผู้วิจารณ์ทั้งหลายค่อนข้างดุเดือดเช่นกัน ที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายต่างพูดในทำนองว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้จริง แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือต่างฝ่ายต่างวิจารณ์ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้น

ไม่ว่าจะมีฝ่ายใดถูกหรือผิด สถานการณ์ที่ภาคใต้ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้น

หยุดวิจารณ์โจมตีซึ่งกันและกัน แล้วมาช่วยกันหาทางออกจะดีกว่าไหม?

ตั้งสติแล้วใช้ปัญญา สร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ที่พึงประสงค์และดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะดีกว่าไหม ?

สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม และโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน จึงไม่ควรใช้วิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาแบบเครื่องยนต์กลไก แบบแยกส่วน แต่ควรมองและจัดการแบบโยงสัมพันธ์ แบบองค์รวม

เลิกคิดแก้ไข แต่คิดสร้างและคิดพัฒนา จะดีกว่าไหม ?

เลิกคิดหาสาเหตุหรือต้นเหตุของปัญหาของความล้มเหลว มาเป็นการคิดหาและสร้างเหตุของความสำเร็จ เหตุของการพัฒนาจะดีกว่าไหม ?

มาเป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างและพัฒนาความสำเร็จ ดีกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้นพบสาเหตุของความล้มเหลว จะไม่ดีกว่าหรือ ?

ลองเปลี่ยนวิธีคิด ลองเปลี่ยนความคิดกันดีไหม? เพราะความคิดมีผลต่อการกระทำ และในทำนองเดียวกัน การกระทำก็มีผลต่อความคิด ทั้งสองอย่างไม่ได้แยกเบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกจากกัน มันสัมพันธ์เชื่อมโยง ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น
คิดชั่ว ทำเลว ได้ผล (ตนเองได้ประโยชน์ ผู้อื่น/สิ่งอื่นเสียประโยชน์)


ความคิดและการกระทำแบบนี้ถึงแม้จะมีผลเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะที่ตนเองได้ประโยชน์ แต่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเสียประโยชน์ การคิดและการกระทำแบบนี้เป็นแหล่งกำเนิดของความขัดแย้ง ความรุนแรง นำไปสู่การจัดการปัญหาแบบมีผู้แพ้ มีผู้ชนะ

แต่ถ้าคิดและทำอีกแบบหนึ่ง คือ
คิดดี ทำถูก ได้ผล (ตนเองได้ประโยชน์ ผู้อื่น/สิ่งอื่นได้ประโยชน์)


ความคิดและการกระทำแบบนี้เป็นแหล่งกำเนิดของความรักและสันติภาพ นำไปสู่การจัดการปัญหาแบบชนะด้วยกันทุกฝ่าย ทุกฝ่ายจะชื่นชม ยอมรับ และเคารพซึ่งกันและกัน บนความแตกต่างและหลากหลาย

ถ้าเราคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยการคิดดี ทำถูก ผลที่เกิดขึ้นก็น่าจะพึงประสงค์และยอมรับได้ด้วยกันทุกฝ่าย

ลองหยุดหรือเลิกยึดติดกับการมองปัญหาและการแก้ปัญหาแบบเดิมที่มุ่งเน้นการหาเหตุ หรือต้นเหตุของปัญหา แล้วหาทางแก้เหตุของปัญหานั้น มาเป็นการสร้างความสำเร็จด้วยการแสวงหาและสร้างเหตุแห่งความสำเร็จร่วมกันดูบ้าง น่าจะเป็นการท้าทายแบบใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าการแก้ปัญหาแบบเดิม

การเป็นผู้สร้างเหตุแห่งความสำเร็จน่าภาคภูมิใจมากกว่าการเป็นผู้ค้นพบเหตุของความล้มเหลวมิใช่หรือ? และที่จริงความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็ได้เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว แก้ไม่ได้ไม่ใช่หรือ?

พลังบวก พลังสร้างสรรค์ พลังความรัก ความเมตตา พลังแห่งความดีงาม เป็นพลังที่น่าชื่นชม น่าเข้าใกล้มากกว่าพลังอำมหิต พลังชั่วร้าย มิใช่หรือ ?

เรื่องที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าจะมองให้กว้างและครอบคลุมขึ้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น การจัดการสถานการณ์ในภาคใต้จึงต้องเน้นที่เรื่องสังคม เรื่องวัฒนธรรม และเรื่องคนเป็นฐาน ต้องมีสติและใช้ปัญญา มีเจตนาดี มีความรัก มีความเมตตา หนทางการพัฒนา (ไม่ใช่การแก้ปัญหา) ภาคใต้ จึงจะเริ่มต้นและมีทางออกที่ดีได้

เรื่องของสังคม วัฒนธรรมและเรื่องของคน ต้องการการพัฒนามากกว่าการแก้ไข

ถ้าต้องการให้สถานการณ์โดยรวมของภาคใต้ดีขึ้น ก็ควรคิดหาวิธีการพัฒนาที่เหมาะสม (Appropriate Development) ร่วมกัน

การพัฒนาที่เหมาะสมก็ควรสอดคล้องกับวิถีดำเนินชีวิตและเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่น คนในท้องที่จึงต้องเป็นผู้ร่วมการพัฒนาที่สำคัญ

ถ้าต้องการให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงทุกภาคของประเทศไทยมีความสงบสุข ก็ควรสร้างความสงบสุขด้วยสันติวิธี

คิดและทำทำนองนี้ จะเป็นวิธีคิดและวิธีทำที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นเหตุผลของกันและกันในวงจรของความดีงาม ซึ่งเป็นวงจรของการพัฒนาที่ควรเป็นสำหรับสังคมมนุษย์

ในหลวง องค์พระประมุขที่สุดประเสริฐของพสกนิกรชาวไทยทั้งมวลได้ทรงมีพระเมตตามอบแนวทางในการพัฒนาไว้ให้แล้ว รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะนำไปศึกษาพิจารณาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผล

คำหลัก (Key Words) ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดหลัก (Key Concepts/Principles) ในการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา

พัฒนา เป็นทั้งเป้าหมายและแนวทางในการปฏิบัติที่มุ่งเน้นการพัฒนา (Development Based)

การพัฒนาจะได้ผล ต้องเริ่มจากความเข้าใจในสถานการณ์ ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และความต้องการของคนในท้องถิ่น

จะเข้าใจได้ดี เข้าใจถูกต้อง ก็ต้องเข้าไปในท้องที่ ต้องเข้าถึงท้องที่และเข้าถึงจิตใจของคนในท้องถิ่น แนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจึงจะเกิด ทั้งสามส่วน คือ เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา จะต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน อย่าคิดและทำแบบแยกส่วน ต้องคิดและทำอย่างเป็นองค์รวม

ขอจบบทความนี้ด้วยคำกลอนต่อไปนี้

พ่อเตือน พ่อสอนไว้

เข้าถึงในท้องที่ เป็นสิ่งดีที่เข้าไป
เข้าถึงในหัวใจ เป็นสิ่งใหญ่ใจถึงใจ
ถ้าเข้าใจในความคิด วิถีชีวิตของคนได้
จะเข้าใจความเป็นไท เหนือหรือใต้ไทยเหมือนกัน
เพราะแตกต่างจึงหลากหลาย มีมากมายหลายสีสัน
ถึงมากเชื้อมากเผ่าพันธุ์ ก็อยู่ร่วมรวมหนึ่งเดียว
จึงต้องเน้นการพัฒนา มีเมตตาอย่าโดดเดี่ยว
พัฒนาเป็นหนึ่งเดียว ผูกเป็นเกลียวกอดเกี่ยวกัน
พ่อเตือนพ่อสอนไว้ ให้คนไทยสมานฉันท์
รู้รักสามัคคีกัน ร่วมรังสรรค์ความพอเพียง

ความกลัวความกล้า

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2548

ความกลัวความกล้าเป็นระนาบของเจตจำนง เป็นระนาบของชีวิตที่ดำเนินไปในความหลับใหล!

แนวคิดในเรื่องระนาบดังกล่าว มาจาก “สามระนาบแห่งการเรียนรู้และพัฒนาการของมนุษย์”
ในความคิดของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ หรือ “สามชั้นของสมอง” ของ พอล แมคคลีน หรือ “ไตรสิกขา”
ของศากยมุนี

สไตเนอร์กล่าวว่า เจตจำนงก็คือความหลับใหล อารมณ์ความรู้สึกก็คือความฝัน และความคิดก็คือความตื่น จากพัฒนาการแรกๆ ของชีวิต ตัวสำนึกรู้หรือจิตไม่ได้แจ่มกระจ่าง แต่จะค่อยๆ แจ่มกระจ่างขึ้นตามลำดับพัฒนาการของระนาบชีวิตหรือของชั้นสมอง

ความกลัวจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติมากกว่าทำงานในความตื่นรู้ บางทีเราไม่รู้ว่าเรากลัวอะไรหรือกลัวได้อย่างไรด้วยซ้ำ แต่ความกลัวก็เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของเรามากมาย บางทีมันอาจถูกส่งผ่านอะไรก็ไม่รู้มากับความเป็นไปรอบตัวเรา หรือว่ามันเป็นความกลัวที่เป็นสมุหภาพหรือที่เป็นของสังคมส่วนรวมที่ส่งผ่านมายังเรา มันอาจจะมาจากครอบครัวด้วยเช่นกัน จากบาดแผลในครอบครัวที่ส่งผ่านกันมาอย่างไม่รู้สำนึก แต่มันก็ดำรงอยู่กับเราเช่นนั้น

ความกลัวนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าความคิด เพื่อนผมคนหนึ่ง เขามีเพื่อนทำบริษัทเดียวกัน ตกลงกันแต่แรกว่าจะทำเล็กๆ ถ้าใหญ่ขึ้นหน่อยก็จะแตกตัวออกไป เป็นบริษัทเล็กๆ ที่เกี่ยวร้อยเชื่อมโยง ช่วยเหลือกันไปตามกำลัง เวลาพูดคุยก็เข้าใจกันดี แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ เธอจะต้องผลักดันให้ทำอะไรใหญ่โตอยู่ตลอดเวลา มันไม่โยงกันเลยกับความคิดที่คุยกันไปแล้ว มีความกลัวอะไรบางอย่างที่ผลักดันเธอลึกๆ อยู่ตลอดเวลา และเธอจะทำหลายสิ่งหลายอย่างไปอย่างไม่รู้ตัว มันอาจเป็นความกลัวที่จะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้

ชีวิตของพวกเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราถูกผลักดันอยู่ตลอดเวลา ด้วยพลังบางอย่างที่เราไม่ได้ตื่นรู้หรือเข้าใจ มันอยู่ในตัวเราลึกๆ และเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเราตลอดเวลา

อดีตที่แช่แข็งกับปัจจุบันที่ยืดหยุ่น

ความกลัวเป็นอดีตที่แช่แข็ง อดีตที่ไม่แปรเปลี่ยน ที่เราเอาไว้ใช้ป้องกันตัวในกาลเมื่อต้องเผชิญกับภัยอันตรายที่เป็นจริง แต่เมื่อภัยอันตรายนั้นแปรเปลี่ยนไปเป็นภัยอันตรายในจินตนาการ ความกลัวในจินตนาการก็ยังทำงานเหมือนกับในอดีต ความกลัวจึงกลายเป็นอดีตที่แช่แข็ง

อดีตที่แช่แข็งในรูปของร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่า

ความเป็นไปของชีวิตจะอยู่ในสามระนาบเสมอ คือ ระนาบของเจตจำนงหรือพลังชีวิต ระนาบของอารมณ์ความรู้สึก และระนาบของความคิด เป็นความต่างระดับของความหลับใหล ความฝัน และการตื่น ในความหลับใหล เรามีคู่ของความกลัวกับความกล้า ในอารมณ์ความรู้สึก เรามีคู่ระหว่างร่องอารมณ์กับมณฑลแห่งพลัง ในความคิด เรามีคู่อยู่ระหว่างความคิดที่ตายซาก อันเป็นเทปม้วนเก่า กับความคิดที่มีชีวิต

อดีตที่แช่แข็งของอารมณ์คือร่องอารมณ์ อดีตที่แช่แข็งของความคิดคือเทปม้วนเก่า

สำรวจระนาบแห่งเจตจำนงหรือพลังชีวิต

ระนาบแห่งเจตจำนงนี้เป็นระนาบที่อยู่ในความหลับใหล การเกิดขึ้นของระนาบนี้มักเป็นไปอย่างอัตโนมัติ และทำให้พลังชีวิตขับเคลื่อนไป สไตเนอร์เล่าว่า ความเข้มแข็งของเจตจำนงของเขาพัฒนาขึ้นเพราะว่าในวัยเด็ก เขาต้องเดินเท้าระยะทางเจ็ดไมล์ไปกลับระหว่างโรงเรียนและบ้านทุกวัน พลังชีวิตในวัยเด็ก เกิดจากการเคลื่อนไหวแขนขา เกิดขึ้นและสะสมอย่างไม่รู้ตัว เป็นเจตจำนงที่ทำให้คนเราสามารถทำอะไรได้สำเร็จเสร็จสิ้นในกาลต่อมา และเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับวลีที่ว่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”

คำคู่ขนานกับ “เจตจำนง” และ “พลังชีวิต” มี “บารมี” “นิสัย” “วินัย” เป็นต้น ที่จริงทั้งหมดอยู่ในหมวดศีลของพุทธธรรม

พลังเจตจำนง พลังแห่งอุปนิสัย ก่อเกิดจากการทำอะไรซ้ำๆ อยู่เสมอ เป็นประจำ อะไรที่เราทำอยู่ทุกวันเป็นนิสัย จะทำได้ง่าย ชีวิตนี้มีมิติของการทำซ้ำๆ อยู่ และมันเป็นไปอย่างหลับใหล ไม่รู้ตัว การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันเป็นนิสัยหรือพลังแห่งนิสัยทางด้านลบเท่านั้น

ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถสั่งสมแต่พลังนิสัยดีๆ ในการกระทำที่ดีงาม เราคงจะต้องเปิดมิติการตื่นรู้ขึ้นมาในความหลับใหลนั้นด้วย เราต้องเอาความคิด และอารมณ์ความรู้สึกเข้ามากำกับการพัฒนานิสัย คือเอาความตื่นมาช่วยความหลับใหล ความคิดที่มีชีวิต และอารมณ์ที่มีพลังย่อมอาจนำพาตัวเราไปสู่การทำซ้ำที่สร้างสรรค์มากกว่าการทำซ้ำที่จะนำพาเราไปสู่ปัญหาชีวิต

เราสามารถติดตั้งการตื่นรู้เข้าไปในความหลับใหลนั้นได้ด้วยการปฏิบัติธรรม เพราะในการปฏิบัติธรรม เราจะฝึกการตื่นรู้ขึ้นในการทำซ้ำๆ เช่น การตื่นรู้ในลมหายใจเข้าออก การตื่นรู้ในการย่างก้าว การตื่นรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างในกิจวัตรประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้นานวันเข้า มันจะกลายเป็นนิสัยแห่งการตื่นรู้คู่ไปกับการทำซ้ำๆ ที่ปกติคือความหลับใหล ความหลับใหลนั้นจะกลายเป็นครึ่งหลับครึ่งตื่น “รู้ตัวอย่างไม่รู้ตัว และอย่างไม่รู้ตัวเราก็รู้ตัวด้วย”

กาลเทศะแห่งการตื่นรู้ในระนาบของเจตจำนง

พลังชีวิตพื้นฐานที่สุดของอมีบาคือเข้าใกล้หรือถอยห่าง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของโคจรสถานหรืออโคจรสถาน การกำหนดแผนที่ของสถานที่จะไปและไม่ไปเป็นวิถีการพิจารณาเพื่อนำพลังแห่งระนาบนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต การที่เราไปและไม่ไปในสถานที่ต่างๆ นั้นจะก่อรูปแบบวิถีชีวิตของเราขึ้นมา เป็นการเข้าไปทำงานกับปริมณฑลแห่งความหลับใหล ซึ่งแต่ก่อนเราไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำงานด้วยได้อย่างไร

เพียงหาที่ทางโคจรในชีวิตประจำวัน ประจำเดือน ประจำเทศกาล ประจำปี ประจำช่วงปี เราก็ได้เข้าไปทำงานกับเจตจำนงหรือพลังชีวิตขั้นปฐมฐานนี้แล้ว เราเข้าไปทำงานกับความหลับใหลนี้ได้ เพียงแต่เราสัมผัสกับเรื่องราวของพลัง ว่าสถานที่ใดให้พลังแก่เรา เราควรจะเข้าไปสู่สถานที่นั้นเป็นประจำได้แค่ไหน ประจำวัน ประจำปี หรือเป็นเทศกาล หากเรานำพาตัวเราไปโคจรในที่ที่มีพลังตลอดเวลา เลือกที่ทำงานที่ให้พลังแก่เรา ที่อยู่ที่กินที่ให้พลังแก่เรา หรือบุคคลที่ให้พลังแก่เรา แสดงว่าเราได้จัดตั้งแวดล้อมของชีวิตที่เป็นมงคลขึ้นมาแล้ว

นอกจากนี้ กาลเวลาก็สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับที่ทาง อะไรที่เรากำหนดขึ้นมาทำเป็นประจำ นับเป็นพลังแห่งระนาบนี้ กิจกรรมดีๆ ที่ให้พลังและคุณค่าในการเรียนรู้และวิวัฒนาการ ควรจัดตั้งเข้ามาในตารางกิจวัตรประจำวัน ประจำเดือน ประจำฤดูกาลและอื่นๆ เรามักมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีเวลาให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง เราบอกว่าเราไม่มีเวลา แต่ที่จริง เรามีเวลามากมายให้กับกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์แต่อย่างใดเลย หากเราตระหนักรู้ในการใช้เวลาของเรามากขึ้น เราก็จะนำระนาบแห่งเจตจำนง ระนาบแห่งการทำซ้ำ มาใช้ในการเสริมส่งพลังชีวิตมากยิ่งขึ้น

วลีง่ายๆ ที่ผมใช้เพื่อเข้ามาแทนที่คำว่า “ไม่มีเวลา” ก็คือ “มีเวลา” เพียงคำศักดิ์สิทธิ์คำนี้ เราก็สามารถก่อให้เกิดเวลาที่จะทำสิ่งดีๆ ที่เราต้องการจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อน หรือการได้อ่านหนังสือดีๆ เพียงความคิดดีๆ ยังไม่พอ เพียงความรู้สึกดีๆ ก็ยังไม่พอ แต่เราต้องสามารถจัดสรรเวลาให้กับความคิดดีๆ และความรู้สึกดีๆ ให้มีที่ทางที่แท้จริงในชีวิตของเราด้วย

Back to Top