การรับรู้โลก และแบบจำลองความเป็นจริงภายใน

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2548

การรับรู้มีบทบาทอย่างไรบ้างกับการเรียนรู้ และการรับรู้เชื่อมโยงกับการสร้างโลกของเราอย่างไร?

เมื่อหลายเดือนก่อน มีบรรยากาศดีๆ จากการรวมตัวกันที่ร้านอาหารตีมู เชียงราย การพูดคุยในวันนั้นวนเวียนอยู่ในเรื่องการรับรู้อย่างน่าประหลาด จึงได้ความคิดดีๆ จากวงสนทนามาเขียนบทความอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนี้ขึ้น

เราให้ทุกคนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา อันเนื่องมาจากสมมติฐานที่ว่า คนเราสร้างโลกด้วยถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้คนตื่นรู้ด้วยว่า เรารับรู้โลกผ่านถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา ได้อย่างไร ตระหนักขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา มีผลต่อการสร้างโลกของเรามหาศาล และการมองโลกของเราอาจจะถูกจำกัดอยู่ด้วย ถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมา ได้อย่างไร

กิจกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นกิจกรรมในการฝึกอบรมกระบวนการได้ดีอย่างหนึ่ง

การรับรู้โลกมีหลายชั้น

เมื่อมีผู้นำเสนอขึ้นในวงว่า การรับรู้ความเป็นไปของโลกน่าจะมีอยู่หลายชั้น ในใจผมนึกถึงภาพของการปอกหอมหัวใหญ่ออกไปทีละชั้นๆ มีการเสริมต่อว่า ในชั้นหนึ่งของความเป็นไป เราอาจจะรับรู้ว่าอะไรบางอย่างแตกต่างกัน เช่นเราเห็นคนสองคนมีจุดยืนต่างกัน ถ้าคนหนึ่งมีอุปไมยอุปมาว่าเป็นน้ำ และอีกคนหนึ่งอุปมาอุปไมยว่าเป็นไฟ น้ำกับไฟก็น่าจะขัดแย้งกัน แต่เมื่อเลื่อนชั้นของการรับรู้ขึ้นไป เช่นจากชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสอง น้ำนั้นอาจจะเป็นน้ำในหม้อต้มน้ำ และเมื่อน้ำกับไฟมาทำงานร่วมกัน เราจึงมีต้มยำกุ้งขึ้นมาได้ กล่าวคือในอีกระดับชั้นหนึ่ง น้ำกับไฟที่ดูขัดแย้ง กลับร่วมงานกันและสร้างคุณประโยชน์ได้

การรับรู้ที่ไปพ้นตัวแทนและภาพลักษณ์

เพื่อนในวงอีกคนหนึ่งไปเรียนเขียนรูปสีน้ำ ครูเขาให้วาดรูปส้มอยู่หลายวัน เพื่อนก็วาดส้มกลมๆ วาดวงกลมๆ ไว้ก่อน หลังจากปลุกปล้ำกับการวาดรูปส้ม จนกระทั่งส้มไม่เป็นส้มแล้วนั่นแหละครูจึงพอใจ

ส้มเป็นส้มนั้นก็คือนามธรรมของความเป็นส้ม บางทีเรามองเห็นแต่นามธรรมของความเป็นส้มที่มีอยู่ในความทรงจำของเรา แต่ไม่ได้มองเห็นส้มลูกนั้นที่อยู่ข้างหน้า เราจึงไม่สามารถวาดรูปส้มใบนั้นได้

ผู้เขียนเคยพาผู้คนไปเดินชมสวนอย่างผ่อนคลาย เมื่อเราผ่อนคลายจริงๆ เราจะเห็นกิ่งไม้กิ่งนั้น ก้อนเมฆก้อนนั้น ไม่ใช่เห็นนามธรรมของก้อนเมฆและกิ่งไม้ หลายคนเอ่ยออกมาว่า เพียงเดินเล่น เราก็เป็นสุขแล้ว แต่ดูเหมือนเราจะลืมการเดินเล่นอย่างนี้ไปเสียนานทีเดียว

แล้วการมองคนเล่า เราก็เห็นแต่ตัวแทนและภาพลักษณ์ คือมองคนผ่านความทรงจำในอดีต แต่ไม่เห็นตถตา หรือความเป็นไปจริงๆ ของคนๆ นั้น ในเวลานั้นๆ นี่เป็นปัญหาที่ปิดกั้นการรับรู้ และจึงมาปิดกั้นการเรียนรู้ไปด้วย

การรับรู้เป็นด่านแรกของการเรียนรู้ ถ้าเรายังติดกรอบการรับรู้อย่างเป็นตัวแทนและภาพลักษณ์ เราย่อมมองไม่เห็นความเป็นไปแท้จริงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่เห็นจากความทรงจำของเรา เราอยู่กับซากที่ตายแล้วของอดีต แต่ไม่สามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีชีวิตชีวา

ทำไมเราจึงสื่อสารต่อกันและกันได้น้อยกว่าแบคทีเรีย?

เป็นท้องเรื่องหนึ่งที่มีการพูดคุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ บุนนาค และอาจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี จากธรรมศาสตร์ โดยหมอวิธานเริ่มการสนทนาด้วยเรื่องเวิลด์ไวด์เว็บของแบคทีเรีย ว่ามันแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการแลกเปลี่ยนยีนกันอย่างไร ทั้งๆ ที่แต่ละตัวมีเพียงแปดยีนเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “เรียนรู้จากเซลล์มะเร็ง”, วิธาน ฐานะวุฑฒ์)

แต่คนเรากลับไม่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราติดกับดักอยู่ในโลกของการรับรู้แบบเดิมๆ โดยไม่มีการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง ปิดประตูการรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่จะรวมเอาชาวบ้านร้านถิ่นเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้ของเราด้วย

ทุกอารมณ์ลบของคนเรานั้นลึกที่สุดคือความกลัว ในทางตรงข้าม ความกล้าเผชิญทุกครั้งจะนำเราไปสัมผัสกับการรับรู้และมุมมองใหม่ๆ ในชั้นใหม่ๆ ของความเป็นจริง เพราะเมื่อเราถอยออกมามองภาพรวมได้กว้างขึ้น เราจะเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์มากขึ้น ในความจริงที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะเห็นว่ามุมมองของเราแต่เดิมนั้น แท้จริงคับแคบเพียงใด!

ดี ฮอค แห่งวีซ่าอินเตอร์เนชันแนล พูดเรื่องข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ

โดยการใคร่ครวญถึงความสำคัญของคำว่า “ข้อมูล” อย่างพยายามจะเข้าถึงแก่นความหมาย จนเกิดการปอกหัวหอมทางจิตเป็นร้อยๆ ชั้น ทำให้เขาได้คำๆ หนึ่งที่ใช้ระบุความสามารถและศักยภาพของข้อมูล คือ CRUSTTI ย่อมาจาก Capacity to Receive, Utilize, Store, Transform, and Transmit Information แปลเป็นไทยว่า ความสามารถที่จะรับ นำมาใช้ เก็บ แปรเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายข้อมูล ดี ฮอค ไม่ต้องการให้คิดเพียงว่า คำว่าข้อมูลแทนที่ด้วยตัวอักษรและตัวเลข แต่เป็นข้อมูลในความหมายของ เกรกอรี่ เบตสัน ที่ว่า “ข้อมูลคือความแตกต่าง ที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง” ที่มีอำนาจบอกกล่าวอะไรกับเรา ก่อรูปความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา และเปิดเนื้อที่ให้เราก่อรูปความแตกต่างกับมัน ที่จะก่อให้เกิดความแตกต่างในคนอื่นๆ ได้ หรือข้อมูลใหม่คือน้ำกรดที่กัดเซาะพรมแดนล้อมรอบตัวเรา และสร้างเงื่อนไขใหม่ ที่จะทำให้แบบแผนความสัมพันธ์ใหม่ก่อเกิดขึ้นมาได้

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลและความรู้ในความหมายของ ดี ฮอค ต่างจากความคุ้นเคยที่เราใช้อยู่โดยสิ้นเชิง

จากการศึกษาการรับรู้ในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ทำให้เรารู้ว่า การรับรู้ทุกประการไม่ได้เป็นสัจจะอันสูงสุด ไม่ได้เป็นความจริงที่สุด แต่เป็นความจริงที่ใช้การได้ในโอกาสนั้นในระดับใดระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่มีการรับรู้ที่ดีที่สุด

หากเราถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อเห็นภาพรวมมากขึ้น คิดให้ลงลึกไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะมีโอกาสรับรู้ดียิ่งขึ้น เหมาะยิ่งขึ้นกับการแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ ณ ขณะนั้นๆ

เมื่อเราไม่อหังการ์ เมื่อเรารู้ว่าไม่มีคำตอบสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดใจรับรู้เรียนรู้กับคนอื่นๆ ได้ และการแลกเปลี่ยนในบรรยากาศแห่งสุนทรียสนทนานั้น ชั้นของหัวหอมจะเพิ่มความลึกซึ้งยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เราจะเห็นภาพรวมที่กว้างไกลขึ้น โยงใยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นนี้เองที่เราอาจค้อมหัวเรียนรู้จากแบคทีเรียได้

เมื่อความเป็นจริงไม่มี
อันเกี่ยวเนื่องกับแบบจำลองความเป็นจริงภายใน


ในการรับรู้โลกนั้น จะมีแบบจำลองความเป็นจริงภายในอยู่ในตัวเรา ที่ทำให้ผู้คนรับรู้เรื่องราวบางอย่าง และไม่รับรู้เรื่องราวบางอย่าง เรียกว่าตาบอดตาใสคงได้ การที่ไม่รับรู้ ก็เป็นเพราะเรื่องราวนั้นไม่มีอยู่ในแบบจำลองความเป็นจริงภายในของเรานั่นเอง คือเราจะเห็นอะไรในโลกภายนอกได้ ต้องมีโลกภายในด้วย

ในควอนตัมฟิสิกส์ ถ้าเราต้องการเห็นอนุภาค เราก็จะเห็นอนุภาค ถ้าเราต้องการเห็นคลื่น เราก็จะเห็นคลื่น แต่ถ้าไม่มีคลื่นอยู่ในแบบจำลองความเป็นจริงภายใน คลื่นก็ไม่มีอยู่ เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีแบบจำลองความเป็นจริงภายในเรื่องอนุภาค อนุภาคก็ไม่มีอยู่

เราสร้างโลกภายในขึ้นจากการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ดังนั้น หากเราเข้าไปเผชิญอย่างเปิดใจ บางทีโลกภายในของเราจะถูกสร้างใหม่โดยรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกมากขึ้น การสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลาของโลกภายในนี้เอง คือการเรียนรู้

แต่ในบางที เราจะยึดโลกภายในอย่างจริงจังเกินไป ทำให้เราไม่เปิดรับ และไม่ยอมสร้างใหม่ ในความรู้เดิมที่มีกรอบจำกัด ด้วยเหตุนี้เอง ในสุนทรียสนทนา จึงให้มองทุกความคิดว่าเป็นเพียงสมมติฐาน ไม่ใช่สัจจะ อาจจะสร้างใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่ยึดติดในที่เดิม

ในวิทยาศาสตร์ใหม่ จิตหรือ Consciousness ของเราจะเข้าไปเกี่ยวพัน และเป็นตัวกำหนดผลการทดลองด้วย ดังนั้น ถ้าเรายึดมั่นว่าความคิดของเราเท่านั้นคือความจริง นั่นคือการยุติการเรียนรู้

ด้วยเหตุนี้ สมมติฐานที่เป็นอิสระจากผู้สังเกตจึงไม่มี ดังนั้น ความจริงก็ไม่มีด้วยเช่นกัน เพราะความจริงย่อมพัวพันอย่างแยกไม่ออกจากสมมติฐานของผู้สังเกตนั้นเอง

Back to Top