ความกลัวความกล้า

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2548

ความกลัวความกล้าเป็นระนาบของเจตจำนง เป็นระนาบของชีวิตที่ดำเนินไปในความหลับใหล!

แนวคิดในเรื่องระนาบดังกล่าว มาจาก “สามระนาบแห่งการเรียนรู้และพัฒนาการของมนุษย์”
ในความคิดของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ หรือ “สามชั้นของสมอง” ของ พอล แมคคลีน หรือ “ไตรสิกขา”
ของศากยมุนี

สไตเนอร์กล่าวว่า เจตจำนงก็คือความหลับใหล อารมณ์ความรู้สึกก็คือความฝัน และความคิดก็คือความตื่น จากพัฒนาการแรกๆ ของชีวิต ตัวสำนึกรู้หรือจิตไม่ได้แจ่มกระจ่าง แต่จะค่อยๆ แจ่มกระจ่างขึ้นตามลำดับพัฒนาการของระนาบชีวิตหรือของชั้นสมอง

ความกลัวจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติมากกว่าทำงานในความตื่นรู้ บางทีเราไม่รู้ว่าเรากลัวอะไรหรือกลัวได้อย่างไรด้วยซ้ำ แต่ความกลัวก็เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของเรามากมาย บางทีมันอาจถูกส่งผ่านอะไรก็ไม่รู้มากับความเป็นไปรอบตัวเรา หรือว่ามันเป็นความกลัวที่เป็นสมุหภาพหรือที่เป็นของสังคมส่วนรวมที่ส่งผ่านมายังเรา มันอาจจะมาจากครอบครัวด้วยเช่นกัน จากบาดแผลในครอบครัวที่ส่งผ่านกันมาอย่างไม่รู้สำนึก แต่มันก็ดำรงอยู่กับเราเช่นนั้น

ความกลัวนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าความคิด เพื่อนผมคนหนึ่ง เขามีเพื่อนทำบริษัทเดียวกัน ตกลงกันแต่แรกว่าจะทำเล็กๆ ถ้าใหญ่ขึ้นหน่อยก็จะแตกตัวออกไป เป็นบริษัทเล็กๆ ที่เกี่ยวร้อยเชื่อมโยง ช่วยเหลือกันไปตามกำลัง เวลาพูดคุยก็เข้าใจกันดี แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ เธอจะต้องผลักดันให้ทำอะไรใหญ่โตอยู่ตลอดเวลา มันไม่โยงกันเลยกับความคิดที่คุยกันไปแล้ว มีความกลัวอะไรบางอย่างที่ผลักดันเธอลึกๆ อยู่ตลอดเวลา และเธอจะทำหลายสิ่งหลายอย่างไปอย่างไม่รู้ตัว มันอาจเป็นความกลัวที่จะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้

ชีวิตของพวกเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราถูกผลักดันอยู่ตลอดเวลา ด้วยพลังบางอย่างที่เราไม่ได้ตื่นรู้หรือเข้าใจ มันอยู่ในตัวเราลึกๆ และเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเราตลอดเวลา

อดีตที่แช่แข็งกับปัจจุบันที่ยืดหยุ่น

ความกลัวเป็นอดีตที่แช่แข็ง อดีตที่ไม่แปรเปลี่ยน ที่เราเอาไว้ใช้ป้องกันตัวในกาลเมื่อต้องเผชิญกับภัยอันตรายที่เป็นจริง แต่เมื่อภัยอันตรายนั้นแปรเปลี่ยนไปเป็นภัยอันตรายในจินตนาการ ความกลัวในจินตนาการก็ยังทำงานเหมือนกับในอดีต ความกลัวจึงกลายเป็นอดีตที่แช่แข็ง

อดีตที่แช่แข็งในรูปของร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่า

ความเป็นไปของชีวิตจะอยู่ในสามระนาบเสมอ คือ ระนาบของเจตจำนงหรือพลังชีวิต ระนาบของอารมณ์ความรู้สึก และระนาบของความคิด เป็นความต่างระดับของความหลับใหล ความฝัน และการตื่น ในความหลับใหล เรามีคู่ของความกลัวกับความกล้า ในอารมณ์ความรู้สึก เรามีคู่ระหว่างร่องอารมณ์กับมณฑลแห่งพลัง ในความคิด เรามีคู่อยู่ระหว่างความคิดที่ตายซาก อันเป็นเทปม้วนเก่า กับความคิดที่มีชีวิต

อดีตที่แช่แข็งของอารมณ์คือร่องอารมณ์ อดีตที่แช่แข็งของความคิดคือเทปม้วนเก่า

สำรวจระนาบแห่งเจตจำนงหรือพลังชีวิต

ระนาบแห่งเจตจำนงนี้เป็นระนาบที่อยู่ในความหลับใหล การเกิดขึ้นของระนาบนี้มักเป็นไปอย่างอัตโนมัติ และทำให้พลังชีวิตขับเคลื่อนไป สไตเนอร์เล่าว่า ความเข้มแข็งของเจตจำนงของเขาพัฒนาขึ้นเพราะว่าในวัยเด็ก เขาต้องเดินเท้าระยะทางเจ็ดไมล์ไปกลับระหว่างโรงเรียนและบ้านทุกวัน พลังชีวิตในวัยเด็ก เกิดจากการเคลื่อนไหวแขนขา เกิดขึ้นและสะสมอย่างไม่รู้ตัว เป็นเจตจำนงที่ทำให้คนเราสามารถทำอะไรได้สำเร็จเสร็จสิ้นในกาลต่อมา และเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับวลีที่ว่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”

คำคู่ขนานกับ “เจตจำนง” และ “พลังชีวิต” มี “บารมี” “นิสัย” “วินัย” เป็นต้น ที่จริงทั้งหมดอยู่ในหมวดศีลของพุทธธรรม

พลังเจตจำนง พลังแห่งอุปนิสัย ก่อเกิดจากการทำอะไรซ้ำๆ อยู่เสมอ เป็นประจำ อะไรที่เราทำอยู่ทุกวันเป็นนิสัย จะทำได้ง่าย ชีวิตนี้มีมิติของการทำซ้ำๆ อยู่ และมันเป็นไปอย่างหลับใหล ไม่รู้ตัว การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันเป็นนิสัยหรือพลังแห่งนิสัยทางด้านลบเท่านั้น

ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถสั่งสมแต่พลังนิสัยดีๆ ในการกระทำที่ดีงาม เราคงจะต้องเปิดมิติการตื่นรู้ขึ้นมาในความหลับใหลนั้นด้วย เราต้องเอาความคิด และอารมณ์ความรู้สึกเข้ามากำกับการพัฒนานิสัย คือเอาความตื่นมาช่วยความหลับใหล ความคิดที่มีชีวิต และอารมณ์ที่มีพลังย่อมอาจนำพาตัวเราไปสู่การทำซ้ำที่สร้างสรรค์มากกว่าการทำซ้ำที่จะนำพาเราไปสู่ปัญหาชีวิต

เราสามารถติดตั้งการตื่นรู้เข้าไปในความหลับใหลนั้นได้ด้วยการปฏิบัติธรรม เพราะในการปฏิบัติธรรม เราจะฝึกการตื่นรู้ขึ้นในการทำซ้ำๆ เช่น การตื่นรู้ในลมหายใจเข้าออก การตื่นรู้ในการย่างก้าว การตื่นรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างในกิจวัตรประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้นานวันเข้า มันจะกลายเป็นนิสัยแห่งการตื่นรู้คู่ไปกับการทำซ้ำๆ ที่ปกติคือความหลับใหล ความหลับใหลนั้นจะกลายเป็นครึ่งหลับครึ่งตื่น “รู้ตัวอย่างไม่รู้ตัว และอย่างไม่รู้ตัวเราก็รู้ตัวด้วย”

กาลเทศะแห่งการตื่นรู้ในระนาบของเจตจำนง

พลังชีวิตพื้นฐานที่สุดของอมีบาคือเข้าใกล้หรือถอยห่าง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของโคจรสถานหรืออโคจรสถาน การกำหนดแผนที่ของสถานที่จะไปและไม่ไปเป็นวิถีการพิจารณาเพื่อนำพลังแห่งระนาบนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต การที่เราไปและไม่ไปในสถานที่ต่างๆ นั้นจะก่อรูปแบบวิถีชีวิตของเราขึ้นมา เป็นการเข้าไปทำงานกับปริมณฑลแห่งความหลับใหล ซึ่งแต่ก่อนเราไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำงานด้วยได้อย่างไร

เพียงหาที่ทางโคจรในชีวิตประจำวัน ประจำเดือน ประจำเทศกาล ประจำปี ประจำช่วงปี เราก็ได้เข้าไปทำงานกับเจตจำนงหรือพลังชีวิตขั้นปฐมฐานนี้แล้ว เราเข้าไปทำงานกับความหลับใหลนี้ได้ เพียงแต่เราสัมผัสกับเรื่องราวของพลัง ว่าสถานที่ใดให้พลังแก่เรา เราควรจะเข้าไปสู่สถานที่นั้นเป็นประจำได้แค่ไหน ประจำวัน ประจำปี หรือเป็นเทศกาล หากเรานำพาตัวเราไปโคจรในที่ที่มีพลังตลอดเวลา เลือกที่ทำงานที่ให้พลังแก่เรา ที่อยู่ที่กินที่ให้พลังแก่เรา หรือบุคคลที่ให้พลังแก่เรา แสดงว่าเราได้จัดตั้งแวดล้อมของชีวิตที่เป็นมงคลขึ้นมาแล้ว

นอกจากนี้ กาลเวลาก็สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับที่ทาง อะไรที่เรากำหนดขึ้นมาทำเป็นประจำ นับเป็นพลังแห่งระนาบนี้ กิจกรรมดีๆ ที่ให้พลังและคุณค่าในการเรียนรู้และวิวัฒนาการ ควรจัดตั้งเข้ามาในตารางกิจวัตรประจำวัน ประจำเดือน ประจำฤดูกาลและอื่นๆ เรามักมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีเวลาให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง เราบอกว่าเราไม่มีเวลา แต่ที่จริง เรามีเวลามากมายให้กับกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์แต่อย่างใดเลย หากเราตระหนักรู้ในการใช้เวลาของเรามากขึ้น เราก็จะนำระนาบแห่งเจตจำนง ระนาบแห่งการทำซ้ำ มาใช้ในการเสริมส่งพลังชีวิตมากยิ่งขึ้น

วลีง่ายๆ ที่ผมใช้เพื่อเข้ามาแทนที่คำว่า “ไม่มีเวลา” ก็คือ “มีเวลา” เพียงคำศักดิ์สิทธิ์คำนี้ เราก็สามารถก่อให้เกิดเวลาที่จะทำสิ่งดีๆ ที่เราต้องการจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อน หรือการได้อ่านหนังสือดีๆ เพียงความคิดดีๆ ยังไม่พอ เพียงความรู้สึกดีๆ ก็ยังไม่พอ แต่เราต้องสามารถจัดสรรเวลาให้กับความคิดดีๆ และความรู้สึกดีๆ ให้มีที่ทางที่แท้จริงในชีวิตของเราด้วย

Back to Top