จากคิดใหม่ ทำใหม่ สู่คิดดี ทำถูก
สู่การเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2548

ในช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลค่อนข้างมาก ทั้งจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักวิชาการและผู้นำศาสนาบางท่าน ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาล และโดยเฉพาะท่านนายกทักษิณก็ได้ตอบโต้และวิจารณ์กลับผู้วิจารณ์ทั้งหลายค่อนข้างดุเดือดเช่นกัน ที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายต่างพูดในทำนองว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้จริง แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือต่างฝ่ายต่างวิจารณ์ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้น

ไม่ว่าจะมีฝ่ายใดถูกหรือผิด สถานการณ์ที่ภาคใต้ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้น

หยุดวิจารณ์โจมตีซึ่งกันและกัน แล้วมาช่วยกันหาทางออกจะดีกว่าไหม?

ตั้งสติแล้วใช้ปัญญา สร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ที่พึงประสงค์และดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะดีกว่าไหม ?

สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม และโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน จึงไม่ควรใช้วิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาแบบเครื่องยนต์กลไก แบบแยกส่วน แต่ควรมองและจัดการแบบโยงสัมพันธ์ แบบองค์รวม

เลิกคิดแก้ไข แต่คิดสร้างและคิดพัฒนา จะดีกว่าไหม ?

เลิกคิดหาสาเหตุหรือต้นเหตุของปัญหาของความล้มเหลว มาเป็นการคิดหาและสร้างเหตุของความสำเร็จ เหตุของการพัฒนาจะดีกว่าไหม ?

มาเป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างและพัฒนาความสำเร็จ ดีกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้นพบสาเหตุของความล้มเหลว จะไม่ดีกว่าหรือ ?

ลองเปลี่ยนวิธีคิด ลองเปลี่ยนความคิดกันดีไหม? เพราะความคิดมีผลต่อการกระทำ และในทำนองเดียวกัน การกระทำก็มีผลต่อความคิด ทั้งสองอย่างไม่ได้แยกเบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกจากกัน มันสัมพันธ์เชื่อมโยง ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น
คิดชั่ว ทำเลว ได้ผล (ตนเองได้ประโยชน์ ผู้อื่น/สิ่งอื่นเสียประโยชน์)


ความคิดและการกระทำแบบนี้ถึงแม้จะมีผลเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะที่ตนเองได้ประโยชน์ แต่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเสียประโยชน์ การคิดและการกระทำแบบนี้เป็นแหล่งกำเนิดของความขัดแย้ง ความรุนแรง นำไปสู่การจัดการปัญหาแบบมีผู้แพ้ มีผู้ชนะ

แต่ถ้าคิดและทำอีกแบบหนึ่ง คือ
คิดดี ทำถูก ได้ผล (ตนเองได้ประโยชน์ ผู้อื่น/สิ่งอื่นได้ประโยชน์)


ความคิดและการกระทำแบบนี้เป็นแหล่งกำเนิดของความรักและสันติภาพ นำไปสู่การจัดการปัญหาแบบชนะด้วยกันทุกฝ่าย ทุกฝ่ายจะชื่นชม ยอมรับ และเคารพซึ่งกันและกัน บนความแตกต่างและหลากหลาย

ถ้าเราคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยการคิดดี ทำถูก ผลที่เกิดขึ้นก็น่าจะพึงประสงค์และยอมรับได้ด้วยกันทุกฝ่าย

ลองหยุดหรือเลิกยึดติดกับการมองปัญหาและการแก้ปัญหาแบบเดิมที่มุ่งเน้นการหาเหตุ หรือต้นเหตุของปัญหา แล้วหาทางแก้เหตุของปัญหานั้น มาเป็นการสร้างความสำเร็จด้วยการแสวงหาและสร้างเหตุแห่งความสำเร็จร่วมกันดูบ้าง น่าจะเป็นการท้าทายแบบใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าการแก้ปัญหาแบบเดิม

การเป็นผู้สร้างเหตุแห่งความสำเร็จน่าภาคภูมิใจมากกว่าการเป็นผู้ค้นพบเหตุของความล้มเหลวมิใช่หรือ? และที่จริงความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็ได้เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว แก้ไม่ได้ไม่ใช่หรือ?

พลังบวก พลังสร้างสรรค์ พลังความรัก ความเมตตา พลังแห่งความดีงาม เป็นพลังที่น่าชื่นชม น่าเข้าใกล้มากกว่าพลังอำมหิต พลังชั่วร้าย มิใช่หรือ ?

เรื่องที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าจะมองให้กว้างและครอบคลุมขึ้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น การจัดการสถานการณ์ในภาคใต้จึงต้องเน้นที่เรื่องสังคม เรื่องวัฒนธรรม และเรื่องคนเป็นฐาน ต้องมีสติและใช้ปัญญา มีเจตนาดี มีความรัก มีความเมตตา หนทางการพัฒนา (ไม่ใช่การแก้ปัญหา) ภาคใต้ จึงจะเริ่มต้นและมีทางออกที่ดีได้

เรื่องของสังคม วัฒนธรรมและเรื่องของคน ต้องการการพัฒนามากกว่าการแก้ไข

ถ้าต้องการให้สถานการณ์โดยรวมของภาคใต้ดีขึ้น ก็ควรคิดหาวิธีการพัฒนาที่เหมาะสม (Appropriate Development) ร่วมกัน

การพัฒนาที่เหมาะสมก็ควรสอดคล้องกับวิถีดำเนินชีวิตและเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่น คนในท้องที่จึงต้องเป็นผู้ร่วมการพัฒนาที่สำคัญ

ถ้าต้องการให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงทุกภาคของประเทศไทยมีความสงบสุข ก็ควรสร้างความสงบสุขด้วยสันติวิธี

คิดและทำทำนองนี้ จะเป็นวิธีคิดและวิธีทำที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นเหตุผลของกันและกันในวงจรของความดีงาม ซึ่งเป็นวงจรของการพัฒนาที่ควรเป็นสำหรับสังคมมนุษย์

ในหลวง องค์พระประมุขที่สุดประเสริฐของพสกนิกรชาวไทยทั้งมวลได้ทรงมีพระเมตตามอบแนวทางในการพัฒนาไว้ให้แล้ว รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะนำไปศึกษาพิจารณาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผล

คำหลัก (Key Words) ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดหลัก (Key Concepts/Principles) ในการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา

พัฒนา เป็นทั้งเป้าหมายและแนวทางในการปฏิบัติที่มุ่งเน้นการพัฒนา (Development Based)

การพัฒนาจะได้ผล ต้องเริ่มจากความเข้าใจในสถานการณ์ ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และความต้องการของคนในท้องถิ่น

จะเข้าใจได้ดี เข้าใจถูกต้อง ก็ต้องเข้าไปในท้องที่ ต้องเข้าถึงท้องที่และเข้าถึงจิตใจของคนในท้องถิ่น แนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจึงจะเกิด ทั้งสามส่วน คือ เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา จะต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน อย่าคิดและทำแบบแยกส่วน ต้องคิดและทำอย่างเป็นองค์รวม

ขอจบบทความนี้ด้วยคำกลอนต่อไปนี้

พ่อเตือน พ่อสอนไว้

เข้าถึงในท้องที่ เป็นสิ่งดีที่เข้าไป
เข้าถึงในหัวใจ เป็นสิ่งใหญ่ใจถึงใจ
ถ้าเข้าใจในความคิด วิถีชีวิตของคนได้
จะเข้าใจความเป็นไท เหนือหรือใต้ไทยเหมือนกัน
เพราะแตกต่างจึงหลากหลาย มีมากมายหลายสีสัน
ถึงมากเชื้อมากเผ่าพันธุ์ ก็อยู่ร่วมรวมหนึ่งเดียว
จึงต้องเน้นการพัฒนา มีเมตตาอย่าโดดเดี่ยว
พัฒนาเป็นหนึ่งเดียว ผูกเป็นเกลียวกอดเกี่ยวกัน
พ่อเตือนพ่อสอนไว้ ให้คนไทยสมานฉันท์
รู้รักสามัคคีกัน ร่วมรังสรรค์ความพอเพียง

Back to Top