มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2548
วิกฤตการณ์จากคลื่นยักษ์สึนามินำมาซึ่งความทุกข์และความสูญเสียที่สะเทือนใจผู้คนทั่วโลก
แต่ในท่ามกลางความทุกข์และความสูญเสียนั่นเองที่เราได้พบความห่วงใยและความมีน้ำใจต่อกันของเพื่อนมนุษย์ที่ไม่เคยได้รู้จักมักคุ้นกันเลย หลั่งไหลลงใต้ไปช่วยกอบกู้ ไปดูแลช่วยเหลือ และประคับประคองให้คนที่ล้มลงแล้วลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง แม้แต่ผู้ประสบภัยเองก็ยังอุทิศตนช่วยเหลือผู้อื่นทั้งที่ตนเองก็กำลังทุกข์ยากและปวดร้าวจากความพลัดพรากและการสูญเสีย
เราได้รับรู้เรื่องราวที่นักท่องเที่ยวถ่ายทอดให้สำนักข่าวต่างประเทศและถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เนต ของผู้หญิงคนหนึ่งที่คลื่นยักษ์พรากลูกชายของเธอไปจากมือ หัวอกของผู้เป็นแม่นั้นคงแทบจะแตกสลายอยู่แล้ว แต่เธอกลับกล้ำกลืนความปวดร้าวหันมาช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ฝรั่งที่เห็นเหตุการณ์เข้าไปบอกให้เธอพักผ่อนบ้าง เธอกลับบอกว่ายังพักไม่ได้ มีผู้คนบาดเจ็บมากมายเหลือเกิน แล้วหันกลับมาถามฝรั่งคนนั้นว่า คุณล่ะ บาดเจ็บตรงไหนบ้างหรือเปล่า
เธอเพิ่งสูญเสียลูกชายเธอไป แต่จิตใจที่ประเสริฐงดงามของเธอเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์
เรื่องราวของความดีงามที่ยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาเหล่านี้คงจะมีอีกมาก และไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องที่ดีงามเท่านั้น แต่เรื่องราวของความเจ็บปวดสูญเสียที่ช่วยให้เรารู้สึกรู้สมกับชะตาชีวิตและความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ก็ควรช่วยให้มีการบอกเล่าและรวบรวมไว้เป็นอนุสติให้เราได้รำลึกถึง
มนุษย์เยียวยาความปวดร้าวได้ด้วยการบอกเล่าเรื่องราว เพราะเรื่องเล่าช่วยจรรโลงโลกไว้ด้วยการให้ความหมายและช่วยแปลงเหตุการณ์ให้เป็นความทรงจำ
โศกนาฏกรรมอันดามันด้านหนึ่งจึงเป็นความทุกข์ยากและความสูญเสีย แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้เราตระหนักถึงความรักและศักยภาพของมนุษย์ที่ห่วงใยและยื่นมือเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก เป็นความดีงามที่เลือนรางห่างหายไปมากในยุคสมัยของความหวาดระแวง การแข่งขัน และการเข่นฆ่าอาฆาตกันในปัจจุบัน
ภัยพิบัติครั้งนี้ยังย้ำเตือนเราถึงความพลัดพรากและการสูญเสีย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงในชีวิตของเรา เป็นการเตือนให้เราเห็นถึงความเปราะบางและความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตที่เรามักลืมนึกถึง
จะว่าไปแล้ว มายาคติเรื่องความมั่นคงในสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้เราลืมความเปราะบางเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตนั้น เป็นผลจากอิทธิพลแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมกลไกเป็นสำคัญ การมองแบบกลไกทำให้เราคิดว่าเราสามารถรู้กฎเกณฑ์และตัวแปรต่างๆ ของธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อรู้กฎเกณฑ์และตัวแปรทุกตัว เราก็สามารถควบคุมความเสี่ยงและจัดการกับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามเจตจำนงของเราได้อย่างเบ็ดเสร็จ
นั่นเป็นความคิดวิทยาศาสตร์แบบเก่า วิทยาศาสตร์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นควอนตัมฟิสิกส์ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทฤษฎีระบบซับซ้อน หรือทฤษฎีเคออส ไม่เชื่อในเรื่องการทำนายหรือการควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะโลกที่วิทยาศาสตร์ใหม่ค้นพบนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะทอนลงมาเป็นกฎเกณฑ์หรือกลไกตายตัวง่ายๆ ได้
พูดง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในทัศนะของวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นมีความเปราะบางและเอาแน่เอานอนไม่ได้มากกว่าที่วิทยาศาสตร์แบบกลไกอยากให้มันเป็น
ในจารีตความรู้อื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นมีวิธีคิดและวิธีมองโลกที่แตกต่างออกไป คติความเชื่อแบบพื้นบ้าน ศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมต่างๆ มักมีการเน้นย้ำให้ผู้คนตระหนักถึงความไม่แน่นอนและความเปราะบางของชีวิต รวมทั้งมีอนุสติให้รำลึกถึงความพลัดพราก ความสูญเสีย และความไม่ประมาทเป็นระยะอยู่เสมอ
ความเชื่อแบบชินโตของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แม้ชาวญี่ปุ่นที่นับถือชินโตจะไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าชินโตที่ตนเคารพบูชาเสมอๆ แต่จะมีช่วงอายุที่ถือกันว่าต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ (เช่น อายุ ๒๕ ๔๒ หรือ ๖๑ ปีในผู้ชาย และอายุ ๑๙ ๓๓ และ ๓๗ ปีในผู้หญิง เป็นต้น) เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงที่ชีวิตหมิ่นเหม่ต่อการมีเคราะห์กรรม เช่น ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การพลัดพราก หรือสูญเสีย
ความเชื่อที่ว่านี้คล้ายกับเรื่องเคราะห์และเรื่องเบญจเพสของไทย ที่ถือว่ามีช่วงเวลาหรือวัยที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เรียกว่าเป็นแบบฝึกหัดให้คุ้นเคยกับความเปราะบางเอาแน่เอานอนไม่ได้ของชีวิตก็ได้
ส่วนที่ว่า แล้วมันเกิดอุบัติเหตุหรือเคราะห์กรรมขึ้นในช่วงเวลาหรืออายุที่ว่ามากกว่าปกติจริงหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสาระสำคัญคือการเตือนสติอยู่เสมอใหัมีความระแวดระวัง เพราะชีวิตนั้นจะไปกะเกณฑ์ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้
เมื่อชีวิตเปราะบางและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ท่าทีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตก็คือการมีชีวิตอยู่โดยความไม่ประมาท โดยเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
พูดถึงการเตรียมพร้อม เรามักให้ความสนใจแต่เฉพาะการเตรียมภายนอกด้วยมาตรการต่างๆ เช่นการติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิ การสร้างหน่วยกู้ภัย การซักซ้อมความพร้อมในการอพยพหนีภัยเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติภัยที่คาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ต้องทำให้ได้อย่างดีที่สุด
แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันและต้องรีบลงมือทำเพื่อให้ได้ผลทันในระยะยาว ก็คือการสร้างวิธีคิดและท่าทีที่ถูกต้องต่อชีวิต ต่อความพลัดพรากและการสูญเสีย เพราะชีวิตนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ ถึงจะไม่พลัดพรากหรือสูญเสียจากสึนามิ แต่ใครจะไปรู้ได้ว่า อะไรที่คาดไม่ถึงจะเกิดอีกในวันนี้พรุ่งนี้หรือไม่
การมีชีวิตอยู่โดยความไม่ประมาทจึงหมายถึงการมีสติปัญญาและเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าชีวิตย่อมมีการพลัดพรากและการสูญเสียเป็นธรรมดา และเราก็ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าความพลัดพรากและการสูญเสียจะมาถึงเมื่อไร
การไม่ประมาทจึงหมายถึงการฝึกฝนให้รู้จักปล่อยวางไม่ติดยึดผูกพันกับโลกธรรมทั้งหลายมากเกินไป เพราะชีวิตนั้นมันไม่มีอะไรแน่นอนให้เราพยากรณ์ล่วงหน้าหรือจัดการให้เป็นไปตามใจเราได้
ฟังดูก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก
แต่ถึงจะทำได้ยากก็คงต้องบอกตัวเองให้พยายามทำ จะได้มากบ้างน้อยบ้างก็คงต้องเริ่มต้นและหมั่นฝึกฝนกันไป
เพราะหากไม่ฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาต้องพลัดพรากหรือสูญเสียขึ้นมาทันทีทันใดก็จะทำใจไม่เป็น
เปรียบเสมือน เรือกำลังล่มแล้วเพิ่งจะมาหัดว่ายน้ำ ก็ไม่ทันการณ์
ที่สำคัญ คนอื่นก็หัดว่ายน้ำแทนเราไม่ได้เสียด้วยสิ
แสดงความคิดเห็น