มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มกราคม 2551
ราวสิบปีก่อนเห็นจะได้ ที่ผู้เขียนมีโอกาสพบกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพนับถือได้โทรศัพท์มาถามด้วยความห่วงใยว่าสุลักษณ์พูดหรือสอนอะไรบ้าง ข้าพเจ้าตอบรายงานสั้นๆ ว่า “อาจารย์บอกว่าอย่าเชื่อผม”
คำว่า “อย่าเชื่อ” ส่งผลสะเทือนต่อผู้เขียนอย่างลึกซึ้ง ทำให้ต้องกลับไปศึกษากาลามสูตรในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในข้อที่ว่า
“อย่าเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
อย่าเชื่อเพราะผู้พูดควรเชื่อได้
อย่าเชื่อเพราะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา”
และเมื่อได้อ่านและศึกษางานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาสายวัชรยานมากขึ้นก็พบว่า คุรุมีความสำคัญยิ่ง เป็นต้นแบบอันแจ่มชัด ศิษย์จะต้องรับใช้และศรัทธาในตัวของอาจารย์อย่างล้นพ้น แต่ก่อนจะมอบตนเป็นศิษย์ของใคร เราจะต้องตรวจสอบครูบาอาจารย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลานับสิบปี และถ้าจำเป็น ท่านทะไลลามะกล่าวว่า “ต้องสอดแนมพฤติกรรมอาจารย์” ด้วยซ้ำไป
ในทางสายมหายานเอง ไถ่ นัท ฮันห์ ก็ย้ำเตือนอยู่เสมอว่า เวลาฟังบรรยายธรรมให้ทำตัวเหมือนพื้นดินรองรับความชุ่มชื่นจากเม็ดฝน อย่าได้คิดหรือเชื่อท่านในทันที
พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสเองในยามเจ็บป่วย เมื่อแพทย์จัดยาไปให้ท่านฉัน ท่านมักจะถามก่อนว่าเป็นยาอะไร แก้อะไร และหากสั่งห้ามฉันอาหารบางประเภทเพื่อมิให้อาการโรคกำเริบ ท่านก็จะต้องทดลองก่อนว่าจริงหรือไม่ หากพบว่าจริง จึงค่อยทำตาม
ท่าทีของครูบาอาจารย์ทางธรรมต่อสิ่งที่ถือว่าเป็นความรู้ความจริงนั้น ถือว่าน่าสนใจนัก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมอบหมายความไว้วางใจต่อผู้รู้ ผู้ชำนาญการ ดังจะเห็นได้ว่า เวลาที่สังคมไทยเผชิญกับวิกฤติหรือปัญหา ผู้สื่อข่าวก็จะวิ่งไปหาผู้รู้ที่สวมบทบาทโดยนักวิชาการ นักกฎหมาย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักเขียน ศิลปิน ฯลฯ ซึ่งเมื่อถูกถามบ่อยๆ เข้า ก็มักจะไว้วางใจในความรู้ของตนเองมากขึ้นจนปราศจากการทบทวนตรวจสอบ เลยไปถึงขั้นโอบกอดสัจจะนั้นอย่างแนบแน่น กลายเป็นเผด็จการสัจจะไปเสียเอง
นี้ยังไม่นับว่าผู้รู้เหล่านั้นมีความสุจริตใจเพียงใด ดังในทางสายวิทยาศาสตร์ที่พบว่ามีกรณีปลอมแปลงผลงานวิจัยมาแล้วหลายครั้ง เพราะประชาคมวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะให้ความเชื่อถือนักวิชาการผู้ชำนาญการที่ประจำการอยู่ตามมหาวิทยาลัยและ / หรือสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียง จึงเชื่อว่าบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์นั้นเป็นความจริง แต่สถิติจากสำนักงานบริการสุขภาพและมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๐ มีงานวิจัยปลอมที่ตรวจสอบได้ถึง ๑๘๕ รายการ และที่ยังคงค้างการตรวจสอบอีกนับพันรายการ
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช วัชราจารย์ที่นำพุทธศาสนาสายทิเบตไปเผยแพร่หยั่งรากลึกในดินแดนอเมริกาเคยรจนาในบทกวีไว้ว่า
“ฉะนั้น จงอย่าเชื่อ
เพราะการเชื่อนั้นคือการยอมมอบตน
จงอย่าเชื่ออย่างเด็ดขาด”
ทั้งนี้ ท่านขยายความว่า การดำรงตนอยู่บนหนทางแห่งความไม่เชื่อ จักทำให้เราพ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น พ้นไปจากความข้องติดในตัวตน ในความคิดความเห็นของตน อันนำไปสู่ปัญญาและกรุณา
โดยที่การไม่เชื่อย่อมต่างจากการไม่เชื่ออะไรเลย เพราะการไม่เชื่อนั้นเน้นย้ำกระบวนการก่อนที่จะเชื่อ แต่การไม่เชื่ออะไรเลยย่อมมีอันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาใกล้ตาย
วิชาความรู้ทั้งหลายในโลกนี้ประกอบไปด้วยความหลากหลาย แต่ทันทีที่สาขาวิชาใดหรือผู้เชี่ยวชาญใดประกาศตนว่า “ฉันมีคำตอบ” เราจะต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านั้นหรือเขาเหล่านั้นเพียงแต่พยายามเสนอ “คำตอบหนึ่ง” และปัญหาในโลกปัจจุบันนี้ล้วนมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกที ยากยิ่งที่จะใช้คำตอบใดคำตอบหนึ่ง สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ผู้รู้คนใดคนหนึ่งมาแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหานั้นย่อมกลายเป็นส่วน-ส่วน ไม่อาจแก้ได้ทั้งหมด
การสยบยอมต่อความรู้ สยบยอมต่อผู้รู้ สยบยอมต่อคุรุ โดยไม่ยอมตั้งคำถาม จึงไม่ต่างอะไรกับการสยบยอมต่ออำนาจ ที่มาในรูปแบบของวิทยานิพนธ์ เอกสารทางวิชาการ ฯลฯ ซึ่งเป็นหน้าตาหนึ่งที่แนบเนียนกว่าอาวุธและเงินตราเท่านั้นเอง
ครูบาอาจารย์ทางธรรมท่านจึงล้วนเน้นย้ำให้พิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อ การเชื่อหรือไม่เชื่อจึงไม่ใช่ประเด็น หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์
ระบบการศึกษาปัจจุบันล้วนทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ผลิตออกมาเป็นคนที่เชื่องเชื่อ เพราะไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า โลกจะร้อนหรือเย็น ผู้ปกครองล้วนต้องการประชาชนที่เชื่องเชื่อ มนุษย์ยุคนี้จึงมีหน้าตาคล้ายคลึงกับพลเมืองของโลกอนาคตที่ อัลดัส ฮักซ์เลย์ เขียนไว้ใน Brave New World คือ ผู้คนแทบจะไม่อ่านหนังสือ ไม่กลัวจะถูกปิดกั้นข่าวสารเพราะได้รับป้อนข้อมูลข่าวสารจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาจากผู้มีอำนาจ ผู้คนเหล่านี้ปราศจากความทุกข์ร้อนเพราะได้รับข่าวสารรายการบันเทิงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังหัวเราะให้กับเรื่องอะไร และปราศจากความหวาดกลัวหรือขัดแย้งต่อผู้มีอำนาจ เพราะได้เป็นมิตรเชื่องเชื่อและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจอย่างสิ้นเชิง
หากรัตนบุรุษอย่างพระพุทธเจ้ายังบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่พระองค์สอน อวตารของพระโพธิสัตว์อย่างท่านทะไลลามะยังบอกให้ลงทุนสืบพฤติกรรมครูบาอาจารย์จนแน่ชัด คุรุทางจิตวิญญาณต่างกระตุ้นเตือนไม่ให้เราไว้วางใจในความรู้และสติปัญญาภายในตัวของเรา สาอะไรกับอวิชชาภายนอก ที่มากวักมือเชื้อเชิญในรูปของสัจจะ คุณธรรม จริยธรรม โฆษณา พระคัมภีร์ ปาฐกถา การพัฒนา ทฤษฎีทางวิชาการ ความเห็นของผู้ชำนาญการ ฯลฯ
บางที เราน่าจะเสนอวิชา “ไม่เชื่อ ๑๐๑” บรรจุไว้ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ บ้าง
และ – ถ้าเขาหรือเธอจะไม่เชื่อที่เราเสนอ ก็ขออย่าได้ถือโกรธเลย
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 12 มกราคม 2551
The Talmud
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มกราคม 2551
ราว ๑๖๐ ปีก่อน ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ คนงานก่อสร้างทางรถไฟในนิวอิงแลนด์กำลังขยายทางรถไฟในรัฐเวอร์มอนต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ฟีนี่ส์ เกจ เป็นคนงานที่รับผิดชอบด้านการระเบิดหินที่ขวางทางตามแนวที่จะวางรางรถไฟ
ในการระเบิดหินโดยเฉพาะภูเขาหินขนาดใหญ่ ฟีนี่ส์ เกจ จะต้องขุดหินเป็นโพรงลึกเพื่อนำดินระเบิดเข้าไปใส่ไว้ในโพรงแล้วอัดทับด้วยทรายให้แน่น เมื่อทุกคนหลบอยู่ในระยะที่ปลอดภัยจึงใช้สายชนวนจุดระเบิด ฟีนี่ส์ เกจ เป็นคนงานที่ทำงานนี้ได้ดีที่สุดและไว้วางใจได้มากที่สุดคนหนึ่งของบริษัท
บ่ายสี่โมงครึ่งของวันหนึ่งในฤดูร้อน ฟีนี่ส์ เกจ ขุดโพรงหินด้วยชะแลงเหล็กที่เขาสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ หลังจากเอาดินระเบิดใส่ใว้จนเต็ม เขาบอกให้ลูกน้องที่ช่วยงานอยู่ให้เอาดินทรายมาใส่ทับปิดปากหลุม หลังจากหันไปคุยกับเพื่อนร่วมงานเพียงไม่กี่นาที ฟีนี่ส์ เกจ ก็ใช้เหล็กชะแลงอัดลงในหลุมเพื่อกระแทกทรายให้แน่น
เขาคิดว่าลูกน้องได้เอาทรายใส่ทับปิดปากหลุมแล้ว
แต่ในหลุมไม่มีทรายสักเม็ดเดียว เหล็กชะแลงของฟีนี่ส์ กระแทกผ่านดินระเบิดไปปะทะกับหินในหลุมเกิดเป็นประกายไฟจุดดินระเบิดที่อัดแน่นอยู่ในหลุมระเบิดสนั่นหวั่นไหวใส่ที่ใบหน้าของ ฟีนี่ส์ เกจ เต็มแรง
ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าแรงระเบิดก็คือ เหล็กชะแลงที่เขาถืออยู่
มันโดนแรงระเบิดและพุ่งออกจากหลุมดินระเบิด กระแทกเข้าที่โหนกแก้มด้านซ้าย พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะของ ฟีนี่ส์ เกจ ไปออกที่ตรงกลางศีรษะเหนือหน้าผาก
ท่อนชะแลงเหล็กที่เป็นเหมือนกระสุนขนาดใหญ่ ทะลวงทะลุศีรษะของ ฟีนี่ส์ เกจ ลอยไปตกบนพื้นห่างออกไปเกือบสามสิบเมตร
ร่างของ ฟีนี่ส์ เกจ กระเด็นลอยไปตกลงพื้น ไม่ตาย ไม่สลบ และรู้สึกตัวดี
ฟีนี่ส์ เกจ ยังตะลึงงันกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด
แต่ที่ตะลึงยิ่งไปกว่าตัว ฟีนี่ส์ เกจ เองก็คือ คนงานในเหตุการณ์ที่คิดว่า ฟีนี่ส์ เกจ น่าจะเสียชีวิตทันที แต่เขากลับมีเพียงอาการกระตุกที่แขนขาเล็กน้อยและรู้สึกตัวดี แถมพูดคุยได้เหมือนคนปกติ ฟีนี่ส์ เกจ ถูกหามใส่รถม้าส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงแรมที่ห่างออกไปไม่กี่สิบเมตร
แม้จะมีรูเปิดที่ศีรษะและบาดแผลเหวอะหวะของสมอง แต่ ฟีนี่ส์ เกจ กลับเดินลงจากรถม้าได้ด้วยตัวเอง
แพทย์ที่มาให้การรักษาถึงกับอึ้งกับบาดแผลและทึ่งกับการรู้สึกตัวเป็นปกติของ ฟีนี่ส์ เกจ เขาเขียนไว้ในบันทึกการแพทย์ว่า ฟีนี่ส์ เกจ มีบาดแผลจากวัตถุที่พุ่งทะลุโหนกแก้มไปออกที่เหนือหน้าผากกลางศีรษะ เป็นบาดแผลขนาดใหญ่ที่เห็นเนื้อสมองเต้นตุ๊บๆ อยู่ข้างใน แต่ ฟีนี่ส์ เกจ ก็รู้สึกตัวดี ตอบคำถาม และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
ฟีนี่ส์ เกจ พักรักษาตัวอยู่เพียงสองเดือนก็หายอย่างอัศจรรย์ โดยไม่มีการติดเชื้อรุนแรง
แต่ที่ประหลาดและน่าฉงนสนเท่ห์มากกว่าอุบัติเหตุ อาการ และการหายป่วยของ ฟีนี่ส์ เกจ ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ฟีนี่ส์ เกจ หลังอุบัติเหตุครั้งนั้น
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหันมาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล สมองกับอารมณ์กันใหม่
เพราะหลังฟื้นตัวจากอุบัติเหตุ แม้ ฟีนี่ส์ เกจ จะไม่ปรากฏมีอาการผิดปกติของร่างกาย ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ไม่มีอาการลิ้นแข็ง ไม่มีอาการเดินผิดปกติหรือมือไม้สั่น ไม่มีความผิดปกติของการพูดหรือการใช้ภาษา ซึ่งเป็นอาการที่รู้กันว่ามักพบในผู้ที่มีความผิดปกติของสมอง
แต่ ฟีนี่ส์ เกจ กลับไม่ใช่ ฟีนี่ส์ เกจ คนเดิม
สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือของเขา คืออารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง มุทะลุดุดัน และหยาบคาย จาก ฟีนี่ส์ เกจ ที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการงาน ตัดสินใจในการทำงานด้วยเหตุผล และมีความยับยั้งชั่งใจ กลายมาเป็น ฟีนี่ส์ เกจ ที่มีแต่ความหุนหันพลันแล่นและอารมณ์ที่รุนแรง
เหมือนถูกกำกับไว้เพียงสัญชาตญาณของสัตว์ป่า
ฟีนี่ส์ เกจ ต้องออกจากงานไปรับจ้างเป็นคนเลี้ยงม้า จากนั้นไปร่วมแสดงในคณะละครสัตว์ที่โชว์ของแปลก ซึ่งเขาจะถือท่อนเหล็กที่มันเคยเสียบทะลุหัวของเขาไปเดินโชว์ให้คนเห็นตัวจริงเป็นๆ ของคนที่ผู้ชมเคยอ่านจากข่าวอุบัติเหตุ แต่เขาทำงานนี้อยู่ได้ไม่นานก็ออกเดินทางไปเผชิญโชคในอเมริกาใต้ และกลับมาอยู่กับแม่และน้องสาวที่ซาน ฟรานซิสโก และเสียชีวิตเงียบๆ ที่นั่น
เรื่องราวของ ฟีนี่ส์ เกจ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กรณีศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาใช้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตใจ อารมณ์ และชีวิตทางสังคมของมนุษย์
จะว่าไปแล้ว วิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ
ในช่วงทศวรรษหลังนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องของจิต วิญญาณ และอารมณ์ พร้อมๆ กับความสนใจเรื่องจิต นักวิทยาศาสตร์ก็ได้หันมาเรียนรู้จากปรัชญาและศาสนาของตะวันออกโดยเฉพาะพุทธศาสนา ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกับนักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จัดเวทีเสวนากับองค์ทะไลลามะขึ้น เป็นการพูดคุยในเรื่องอารมณ์ ความเมตตากรุณา และจริยธรรมจากมุมมองของวิทยาศาสตร์
มีการตั้งข้อสังเกตว่า วิทยาศาสตร์ไม่ค่อยสนใจเรื่องของอารมณ์
และเมื่อวิทยาศาสตร์มาศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก วิทยาศาสตร์ก็จะให้ความสำคัญกับอารมณ์รุนแรงและเป็นอารมณ์ร้าย เช่น ความก้าวร้าว มากกว่าเรื่องอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องของความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทร
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์มักมองแบบแยกส่วน คือให้ความสำคัญกับการหาสารเคมีในสมองหรือแยกสมองออกเป็นส่วนๆ และหาดูว่าสมองส่วนไหนทำหน้าที่อะไรเป็นสำคัญ
ซึ่งก็ทำให้เราได้ความรู้ใหม่มากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างกรณีของ ฟีนี่ส์ เกจ ปัจจุบันเราก็เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า สมองส่วนหน้าด้านซ้ายของ ฟีนี่ส์ เกจ ซึ่งถูกชะแลงเหล็กทะลวงผ่านนั้น เป็นส่วนของสมองที่มีความสำคัญด้านอารมณ์ ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหรือประสบอุบัติเหตุทำลายสมองส่วนนี้จึงมักมีอารมณ์แปรปรวนหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งมีผลอย่างใหญ่หลวงต่อการมีชีวิตในสังคม
แต่ถ้าเราคิดอย่างนี้ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนอารมณ์และชีวิตทางสังคมให้เหลือแค่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีและโครงสร้างของระบบประสาทในสมองเท่านั้น
ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด
เพราะมีการค้นพบที่น่าสนใจมากอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นกลับกันว่า โครงสร้างระบบประสาทในสมองของเราเป็นผลจากการใช้ความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ ด้วย
มีงานวิจัยพบว่าในหมู่คนขับรถแท็กซี่ที่ต้องใช้จินตนาการเรื่องทิศทางและวาดภาพแผนที่การเดินทางบ่อย สมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างจินตภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพื้นที่ จะมีขนาดใหญ่กว่ามากกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ
จะเรียกว่า การปฏิบัติภาวนา หรือการหมั่นฝึกฝนหมั่นใชังาน จะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ได้
นอกจากนั้น สมองที่ผิดปกติยังสามารถเยียวยาได้จากสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมอีกด้วย
ในผู้ป่วยที่สมองสองซีกถูกตัดแยกออกจากกัน ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเป็นสองคน สองความรับรู้และสองความคิด มีชีวิตและการแสดงออกเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับว่าสมองซีกไหนมีอำนาจมากกว่า
เมื่อมีชีวิตอยู่ต่อไประยะหนึ่ง ความแปลกแยกของการมีสองความรู้สึกนึกคิดก็จะถูกสังคมและวัฒนธรรมหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นใหม่ได้
ทั้งที่เนื้อสมองทั้งสองซีกยังถูกตัดแยกขาดจากกันอยู่
จิต อารมณ์ เหตุผล สมอง และสังคม จึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์