เพราะอะไรคนเราถึงคิดไม่เหมือนกัน

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 12 มกราคม 2551

“We don’t see things the way they are, we see things the way we are.”

The Talmud


สมองของมนุษย์นั้นทำงานซับซ้อนมาก แต่ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขและความมีประสิทธิภาพประสิทธิผลของมนุษย์ทั้งสิ้น การศึกษาทำความเข้าใจการทำงานของสมองจึงมีประโยชน์มาก ในการที่จะทำให้เรา “เข้าใจ” หรือ “เข้าใกล้ความจริง” มากขึ้นเรื่อยๆ

ในสมองมนุษย์นั้นประกอบด้วยเซลล์จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนล้านเซลล์ (๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐) และจากการศึกษาวิจัยการทำงานของสมอง นักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่พบว่า ในเซลล์สมองจำนวนมากมายถึงแสนล้านเซลล์นั้นจะทำงานเชื่อมโยงถึงกันเป็นกลุ่มๆ และการเชื่อมโยงกันของเซลล์สมองกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เอง เมื่อเชื่อมหากันแล้วก็จะเป็นที่ “เก็บชุดข้อมูล” ต่างๆ เอาไว้ตามประสบการณ์ของมนุษย์แต่ละคนนั้นๆ

ถ้าจะลองคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ “จำนวนของชุดข้อมูล” เหล่านี้ในสมองจะประมาณเท่ากับ สองยกกำลังด้วยจำนวนเซลล์สมองที่มีอยู่นั่นเอง ดังนั้น เราจะพบได้ว่ามีจำนวนของ “ชุดข้อมูล” ในสมองมากมายเกินกว่าที่จะนับได้จริงๆ แต่ทั้งหมดสามารถเก็บไว้ได้ในสมอง

“ชุดข้อมูล” เหล่านี้ ฮัมบูโต มาตูราน่า นักชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่เรียกว่า “Structurally Determined” หมายความว่า เมื่อได้รับสิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อมภายนอก สมองก็จะ “รับรู้” และ “มีปฏิกิริยาตอบรับ” ต่อสิ่งเร้าที่ได้รับเข้ามา โดย “เสิร์ช” เข้าไปค้นหา “โครงสร้างของชุดข้อมูล” ที่เหมาะสมซึ่งเก็บเอาไว้ในสมองที่เกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างกันของเซลล์สมองต่างๆ

พูดง่ายๆ “ชุดข้อมูล” ทั้งหมดก็คือ “ประสบการณ์” ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในอดีตของมนุษย์คนนั้นนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเคยเรียนรู้เก็บไว้ว่า “การขับรถฝ่าไฟแดง” เป็นสิ่งผิดกฎหมายและไม่ควรทำ สมองเราก็จะมี “ชุดข้อมูล” ว่าด้วยการขับรถฝ่าไฟแดงเก็บไว้เป็น “Structurally Determined” อยู่ในหัวของเรา วันหนึ่งเมื่อเราเห็นคนขับรถฝ่าไฟแดงปุ๊บ สมองก็จะใช้ชุดข้อมูลที่เก็บไว้นี้ออกมามีปฏิกิริยาทำให้เราโกรธ ไม่พอใจว่า ทำไมเขาทำแบบนั้น ค่อนข้างทันทีแบบเป็นอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว

ด้วยความตั้งใจของการออกแบบเพื่อที่จะให้มนุษย์สามารถมีประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว “ชุดข้อมูล” ที่เป็น “โครงสร้างภายใน” เหล่านี้ได้ถูกเลือกให้ทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติรวดเร็ว จนเราไม่ทันตั้งตัว แต่ทีนี้ปัญหาก็คือ “ความเร็ว” เหล่านี้ทำให้เรา “ไม่ได้ใช้ชุดข้อมูลใหม่ๆ” เลย แต่เราถูกบังคับให้เลือกใช้ชุดข้อมูลเดิมๆ โดยไม่รู้ตัว

ต่อเมื่อ “เราสามารถรู้สึก” ถึง “ผลของชุดข้อมูล” ที่มีอยู่เดิมได้ว่ามีผลอย่างไรต่อร่างกายแล้วเท่านั้น สมองจึงจะสามารถเรียนรู้ว่า เออ...ปฏิกิริยาแบบนี้มันส่งผลดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย เช่น ถ้าทำให้เราโกรธ เราก็ต้องรับรู้ว่า เออ...กำลังโกรธนะ ใจมันเต้นรัว มันหูอื้อ มันอึดอัด ฯลฯ

ต่อเมื่อ “รับรู้” ผลที่เกิดขึ้นได้แบบนี้เท่านั้น เราจึงจะสามารถ “มีโอกาส” “สร้างชุดข้อมูล” ชุดใหม่ให้เกิดขึ้นแทน “ชุดข้อมูลชุดเก่า” ที่ใช้มาเดิมๆ ตลอดชีวิตได้

และนี่เองก็คือจุดเริ่มต้นของ “การเรียนรู้” เพื่อความผาสุกของตัวมนุษย์คนนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุด” เรื่องหนึ่งของคนในยุคปัจจุบันก็คือ “การไม่รับรู้” เมื่อ “ไม่รับรู้” คือ “ไม่รู้สึก” กับเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นตรงหน้า สมองก็เลยใช้แต่ “ชุดข้อมูลชุดเดิม” หรือ “โครงสร้างภายในอันเก่า” ที่ใช้มาตลอด จึงไม่มีโอกาสเรียนรู้ที่จะสร้าง “สายใยของเซลล์สมอง” ชุดใหม่ที่จะถูกถักทอเป็น “Structurally Determined” ชุดใหม่ เมื่อไม่สามารถ “รับรู้” เรื่องใหม่ได้ ก็ย่อม “มองไม่เห็น” ว่า “เกิดอะไรขึ้น” โดยเฉพาะกับประสบการณ์เดิมๆ

คุณหมอแมททิว บัดด์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า ในตอนที่เขาทำงานกับองค์การอนามัยโลก เพื่อรณรงค์ให้ไข้ทรพิษหมดไปจากโลกนี้ เขาเข้าไปทำการปลูกวัคซีนให้กับชนเผ่าต่างๆ ในประเทศแถบแอฟริกา เวลาเข้าไปนั้นก็จะต้องผูกมิตรกับหัวหน้าชนเผ่าเสียก่อน เขาคิดว่าวิธีการผูกมิตรที่ดีก็คือ การใช้กล้องโพลารอยด์ถ่ายรูปหัวหน้าชนเผ่าแล้วมอบให้เป็นของขวัญก่อนที่จะทำการปลูกฝีให้กับเด็กๆ ในชนเผ่านั้น ปรากฏว่าเมื่อเขาถ่ายรูปให้หัวหน้าชนเผ่าหนึ่ง หัวหน้าชนเผ่าคนนั้นมองดูรูปของตัวเองในรูปแล้วก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร สีหน้าบูดบึ้งพร้อมกับส่งรูปแผ่นนั้นกลับมาให้เขา “หัวหน้าชนเผ่าไม่สามารถมองเห็นว่ารูปในแผ่นโพลารอยด์นั้นคือรูปตัวของเขาเอง” เขาส่งรูปกลับไปให้ หัวหน้าชนเผ่าก็ส่ายหัวไม่เข้าใจและส่งรูปกลับมาสองสามครั้ง สถานการณ์เริ่มจะตึงเครียด จนกระทั่งล่ามต้องพาหัวหน้าชนเผ่าคนนั้นไปที่ลำธาร ให้เขามองตัวเองในน้ำแล้วเปรียบเทียบกับรูปบนแผ่นโพลารอยด์ หัวหน้าชนเผ่าถึงได้โห่ร้องด้วยความแตกตื่นยินดีและมองเห็นตัวเขาเองในกระดาษโพลารอยด์แผ่นนั้น

“การไม่รับรู้” แบบนี้ มาตูราน่าเรียกว่า “Cognitive Blindness” ซึ่งหมายความว่า “พวกเราทุกคน” รวมทั้งผมและท่านผู้อ่านในขณะนี้ด้วย ต่างก็มีความ “มืดบอด” นี้ต่อ “อะไรก็ตาม” ที่ไม่ตรงกับ “โครงสร้างภายใน” ของเรา เราไม่มีทางและไม่มีวันเข้าใจ “สิ่งที่ไม่ตรงกับ” “โครงสร้างภายใน” ของเรา เหมือนกับหัวหน้าชนเผ่าคนนั้นที่รูปในโพลารอยด์ไม่ตรงกับ “โครงสร้างภายใน” ของเขา

นี่คือ “สาเหตุ” ที่ทำให้ “คนเราคิดไม่เหมือนกัน” เพราะเราแต่ละคนมี “โครงสร้างภายใน” หรือ “Structurally Determined” ที่แตกต่างกันนั่นเอง คนที่ชอบคุณทักษิณกับคนที่ไม่ชอบคุณทักษิณก็เพราะมี “โครงสร้างภายใน” อันนี้ที่แตกต่างกันอยู่ในสมองนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด

วิธีการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่ “ความพยายาม” ที่จะไปรู้เรื่องราว หรือให้ข้อมูลใดๆ หรือพยายามไปเปลี่ยนแปลงใคร หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม แต่วิธีการแก้ปัญหาจะอยู่ที่ทุกฝ่ายต้องฝึกฝน “การรับรู้” ว่า “มีชุดข้อมูลใดที่ถูกเลือก” และ ณ เวลานั้น “เรารู้สึกอย่างไร?” เราต้องฝึกฝน “ทักษะการรับรู้” ให้มากขึ้นต่างหาก

เพราะถ้าเรา “รับรู้” ได้ เราก็จะ “เปิดโอกาส” ให้สมองได้ “เลือก” ที่จะใช้ “โครงสร้างภายใน” ที่แตกต่างไปจากเดิม อย่าลืมว่าเรามี “ชุดข้อมูล” มากมายเป็นจำนวนถึงสองยกกำลังจำนวนของเซลล์สมองที่มีอยู่ในหัวเราให้เลือก

แน่นอนว่า “การฝึกการรับรู้” “ต้องอาศัยเวลา” แต่อย่างน้อยความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ก็พอจะช่วยให้เราเข้าใจได้บ้างว่า “ทำไมคนเราถึงคิดไม่เหมือนกัน”

Back to Top