เมษายน 2014

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 เมษายน 2557

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน ถือเป็นนวัตกรรมทางการประเมินที่ผู้เขียนนำสองแนวคิดได้แก่กัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Evaluation) ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ริเริ่มนำไปใช้ในการประเมินภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และ จิตตปัญญาศึกษา มาผนวกควบรวมกัน เกิดเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติใหม่ทางการประเมิน

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นการประเมินที่มีรูปแบบ ขั้นตอนและกระบวนการประเมินที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย สอดประสานไปกับบริบท ธรรมชาติ ประเภท และวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ ที่ “หวังผล” หรือ “เอื้อให้เกิดผลสำเร็จ” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การประเมิน “ผล” การดำเนินงานเทียบเคียงกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นลักษณะของการประเมินเพื่อตัดสินที่ทำกันอยู่ทั่วไป

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะร่วมดำเนินการไปพร้อมๆกับทีมผู้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่การทำเป็นครั้งคราวเช่นครึ่งโครงการครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการอีกหนึ่งครั้ง หรือบ่อยหน่อยก็ทำเป็นรายไตรมาสตามรูปแบบที่ทำกันอยู่โดยทั่วไป

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเหมาะกับการประเมินโครงการพัฒนาต่างๆทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และสังคม เพราะเป้าหมายสูงสุดของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินคือผลการพัฒนาที่มีทั้งผลิตภาพ และความสุขความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านั้น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของโครงการ/การพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆ กันระหว่างผู้รับผิดชอบ/เจ้าภาพโครงการพัฒนา ทีมพัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการ และทีมประเมิน

ทีมประเมินจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในลักษณะของการแทรกแซง ผู้จ้องจับผิด หรือผู้ประเมิน“ผล” ตัดสินถูกผิด แต่เข้าในลักษณะของการเป็นกัลยาณมิตร การเอื้อและเสริมให้เกิด “ผล” ผ่านสามกระบวนการหลักของจิตตปัญญาศึกษาคือ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยตั้งอยู่บนความเชื่อและหลักการสำคัญสี่ประการของจิตตปัญญาศึกษาอย่างแท้จริง คือ
  • ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (ในกระบวนการประเมิน และการแจ้งผลการประเมินต้องไม่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาถูกทำร้ายหรือทำลาย)
  • ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล (ไม่เทียบเคียงกับใคร)
  • เชื่อในเรื่องความเป็นองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง (ให้ความสำคัญกับบริบท ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยรอบด้าน)
  • เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ (ทีมพัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนา ทีมประเมิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง)


แนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นการให้ความหมายใหม่ของการประเมินที่เน้นกระบวนการร่วมให้และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างความสำเร็จ เป็นการประเมินแบบมีส่วนร่วม ที่ผนวกควบรวมฐานการเรียนรู้ทั้งสามฐานตามแนวจิตตปัญญาศึกษาได้แก่ฐานกาย ฐานหัว และฐานใจเข้าไปในการประเมิน ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของกัลยาณมิตรประเมินที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในบทความ “กัลยาณมิตรประเมิน: การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ”

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เป็นทั้งผู้ประเมินภายนอก และผู้พัฒนาผู้ประเมินภายนอกให้กับ สมศ.หลายปี ได้รับทราบคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบจากผู้รับการประเมิน ผู้ประเมินภายนอก นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมากมาย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนารูปแบบและกระบวนการประเมินที่พึงประสงค์ที่เอื้อให้เกิดผลสำเร็จ และในขณะเดียวกันก็มีความสุขความพึงพอใจของทุกฝายที่เกี่ยวข้อง

กัลยาณมิตรประเมินที่อาจารย์สมหวังริเริ่มไว้ จุดประกายและกระตุ้นให้ผู้เขียนศึกษาค้นคว้าศาสตร์และศิลป์ของการประเมินอย่างจริงจังมากขึ้น ผลการศึกษาเบื้องต้นปรากฏออกมาเป็นบทความชื่อ “กัลยาณมิตรประเมิน: การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

บทความนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดไปบรรยาย และมีการขออนุญาตนำบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ในหลากหลายวาระ ทุกครั้งที่ไปพูดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เขียนก็จะออกตัวก่อนว่าตนเองก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ยังอยู่ในชั้นตอนของการศึกษาและพัฒนา แต่ผู้เขียน “ติดใจ” แนวคิดการนำความเป็นกัลยาณมิตรเข้ามาในวงการประเมิน เพราะการประเมินที่เคยเรียนมาในฐานะที่เป็นศาสตร์เป็นวิชา และประสบการณ์การจริงในฐานะที่เป็นผู้ประเมินภายนอก มันมีลักษณะที่เป็นทางการ แข็งกระด้าง แห้งแล้ง ไม่ค่อยเป็นมิตรทั้งในหลักการ ขั้นตอน วิธีการ และกระบวนการประเมิน บางครั้งบางกรณีก็มีแต่ความเจ็บปวด มันจึงเป็นเสมือน “ซาตานที่จำเป็น” (Necessary Evil) ขององค์กร เพราะถูกบังคับให้ต้องทำ การประเมินภายนอกจึงแปลกแยก แยกส่วนออกมาจากการปฏิบัติงานจริง จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งและส่วนเดียวกับการปฏิบัติงาน บางครั้งบางกรณีจึงเป็นเรื่องของการ “สร้าง” ร่องรอยอย่างเร่งรีบ และ “การตรวจสอบ” กับ “การวัดและการประเมินผล” ตามหลักฐาน (ร่องรอย) ที่เตรียมไว้ให้ตรวจสอบ แล้วก็แยกย้ายกันไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แต่ถ้ามีความเป็นกัลยาณมิตรในจิตใจของผู้ประเมิน ในทุกขั้นตอนและกระบวนการของการประเมิน “ซาตามที่จำเป็น” ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็น “นางฟ้ามาช่วย” ก็เป็นได้

แต่ตอนนั้นก็เป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตามที่ปรากฏในบทความ ประกอบกับผู้เขียนมีภารกิจอื่นมากขึ้น ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้ประเมินภายนอกอีก เพราะไม่มีเวลา ก็เลยไม่ได้สานต่อเรื่องกัลยาณมิตรประเมิน

เมื่อมีเวลาใคร่ครวญทบทวนแนวคิดและแนวปฏิบัติของ “จิตตปัญญาศึกษา” เพราะมีโอกาสไปเป็นวิทยากร และกระบวนกรทางจิตตปัญญาศึกษาบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา มักจะมีคำถามว่าเรื่องการวัดการประเมินผลจะทำอย่างไรหากมีการจัดการเรียนการสอนตามแนวจิตตปัญญาศีกษา ผู้เขียนก็เริ่ม “ปิ๊งแว้บ” ที่จะนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาผนวกกับกัลยาณมิตรประเมิน เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการประเมิน เป็น “ตัวช่วย” หรือ “ตัวขับเคลื่อน” หรือ “เทคโนโลยื/เครื่องมือการพัฒนา” ให้โครงการบรรลุเป้าหมาย ตาม “ตัวชี้วัด” และระดับมาตรฐานที่กำหนดไว้ในโครงการ

ที่ตื่นเต้นและท้าทายมากก็คือ แนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินที่คิดและออกแบบไว้ กำลังจะมีโอกาสได้ลองนำไปใช้จริงเป็นครั้งแรกกับ “โครงการประเมินผลโครงการการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ที่มีปรมาจารย์ทางการประเมิน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สมหวัง พิธิยาณุวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ ประสบการณ์ตรงครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น

เกร็ดบางประการกรณีองค์กรขัดแย้งกัน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 เมษายน 2557

เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นงานกระบวนการที่ผมท้าทายตัวเองไปด้วย มีบางหน่วยงานในเครือบริษัท SCG ทางฝ่ายพัฒนาองค์กรเขาใจป้ำ เขาวางใจ ให้ผมเข้าไปคลี่คลายความขัดแย้งในองค์กร นำคนที่เกี่ยวข้องสิบกว่าคนมาร่วมกระบวนการคราวละสามวัน สองครั้ง ในเวลาห่างกันไม่เกินสองเดือน เพื่อตีเหล็กตอนยังร้อนๆ แล้วตามมาเข้ากระบวนการอีกครั้งนานสองวัน ทำให้งานน่าจะสมบูรณ์พอสมควร และกระบวนการที่ทำสามารถคลี่คลายปัญหาขัดแย้งได้ลุ่มลึกจริง

ต่อมาเมื่อข่าวเริ่มกระจายออกไป มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสานเชิญให้ไปทำกระบวนการคล้ายๆ กัน เพราะมีความขัดแย้งรุนแรงพอสมควรและฝังรากลึกมายาวนานมาก ถึงขนาดมีการฟ้องร้องกันเองในองค์กรด้วย แต่ผมไม่ต้องการระบุชื่อให้องค์กรเสื่อมเสียนะครับ เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เพียงแต่พวกเราจะตระหนักและให้ความสำคัญแค่ไหนเท่านั้น คงต้องให้เครดิตหน่วยงานเหล่านี้ที่กล้ายอมรับปัญหาและพร้อมจะตั้งต้นแก้ไขปัญหามากๆ

ข้างล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของการถอดบทเรียนจากองค์กรต่างๆ ที่ผมไปทำงานกระบวนการมา ไม่ขอระบุนะครับว่าเป็นใครที่ไหน สรุปเป็นแนวคิดหลักๆ ได้บางประการ เผื่อว่ากระบวนกร หรือคนในองค์กรจะเห็นประเด็นและเอาไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตัวเองได้บ้าง

ถอดบทเรียนงานอบรมองค์กรที่มีความขัดแย้งแห่งหนึ่ง ที่จัดให้สามวัน

หนึ่ง องค์ประกอบทั้งหมดสำคัญเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ไม่มีอะไรที่จะมองข้ามไปได้เลย

สอง ตั้งแต่ผมเขียนจดหมายฉบับน้อยออกไป โดยมุ่งหวังจะเชื้อเชิญให้คนสำคัญๆ ของทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้งได้มาเข้าร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรากฏว่าได้ผลพอสมควร จดหมายเขียนไว้อย่างนี้ครับ

“ก่อนเราจะไปเจอกันในงาน ผมอยากจะทักทายพวกเราเหล่าผู้เข้าร่วมก่อนนิดหน่อย อยากเล่ารายละเอียดบางอย่างของเวิร์คช็อปในอนาคตอันใกล้นี้ ว่าเราจะทำอะไร และไม่ทำอะไรบ้าง?

๑. สิ่งที่เราจะไม่ทำในงานคือ “การหาคนผิด” ไม่ว่ากรณีใดจะเกิดขึ้นก็ตาม เราจะไม่โยนความผิดไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเป็นอันขาด พวกเราทุกคนเจ็บปวดกันมามากแล้วกับวัฒนธรรมหาแพะรับบาป ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียความรู้สึกแล้ว ยังไม่ส่งเสริมกระบวนการอันเป็นกุศลใดๆ เลย

๒. ผมเชื่อว่า “ทุกคน” มีคุณค่า ทุกคนมี “เพชร” อันมีลักษณะเฉพาะอยู่ในตัว ในงาน ๓ วันที่เราจะอยู่ด้วยกัน พวกเราจะช่วยกันค้นหาเพชรที่ว่า และเจียระไนให้ส่องประกายสวยงาม กระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้คือการค้นหาศักยภาพภายใน และต่อยอดบทเรียนจากฐานที่เป็นคุณค่าหลักของแต่ละคน

๓. วิชาที่จะเรียนกัน เราอาจเรียกมันว่าเป็นวิชาผู้นำก็ได้ กระนั้น ความเป็นผู้นำแบบนี้ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการทำงานเท่านั้น หากมันยังสามารถช่วยให้ชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัวมีความสุขมากขึ้นด้วย

๔. ย้อนกลับไปที่ข้อ ๒. อีกหน่อย คือในกระบวนการค้นหาและเจียระไนเพชรนั้น พวกเราเชื่อไหมว่า หากทุกคนตระหนักถึงคุณค่าภายในของกันและกันจริงๆ เมื่อนั้น สิ่งมหัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้น!”

สาม การพูดความจริง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความจริงที่ไม่ได้มุ่งให้ร้ายหรือตัดสินใคร แต่ให้เห็นโทษของการกระทำบางอย่าง หรือเผยข้อเท็จจริงบางประการออกมา ซึ่งเป็นสิ่งใหม่มากๆ สำหรับสังคมไทย ที่สำคัญการจัดกระบวนการกลุ่มให้พวกเขาสามารถพูดอะไรออกมาได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่บวกนัก ยังลบมากอยู่ แต่การได้พูด การพูดได้ มันก็ไปแตะอะไรบางอย่างในโลกภายของแต่ละคน ทุกครั้งที่เราโยนประเด็นเข้าไปใกล้ความจริงภายในของผู้คน แม้ว่าจะเสี่ยงเสียว หวาดเสียว แต่ก็จะช่วยให้บางประเด็นที่สำคัญๆ ได้โผล่ปรากฏออกมา

สี่ เชื่อมโยงลักษณะเฉพาะกับหลักสากลตลอดเวลา ประเด็นที่สำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ ผมเชื่อมโยงกับเรื่องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นมนุษย์ที่แท้ โดยไล่ลำดับจาก “พึ่งพิง - depend” มาเป็น “อิสระต่อกัน - independent” และมาเป็น “พึ่งพาอาศัยกันและกัน - interdependent” ในที่สุด กล่าวคือขั้วขัดแย้งฝ่ายหนึ่ง ผู้นำของเขาอารีอารอบประนีประนอมยอมความ แต่ระบบที่สร้างขึ้นมารอบๆ ตัว ทั้งตัวเองสร้าง และลูกขุนรอบๆ สร้าง ก็คือระบบอุปถัมภ์ ต้องนับว่าเป็นระดับพัฒนาการของการพึ่งพิง และอีกฝ่ายหนึ่ง ความเป็นผู้นำ และวัฒนธรรมกลุ่มเป็นแบบอิสระต่อกัน คือเล่นตามกติกา เน้นงานมากกว่าความสัมพันธ์ แล้วชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายก็ยังพัฒนาไปสู่การพึ่งพาอาศัยกันและกันได้ คือต่างดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ในช่วงเวิร์คช็อปมีกลุ่มไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด ได้เอ่ยขึ้นมาอย่างน่าคิดว่า ผู้นำทั้งสองที่ขัดแย้งกันอยู่นี้ ก็เหมือนกับวิสกี้กับน้ำ หากผสมเข้าด้วยกัน ย่อมเป็นเหล้าอร่อยกลมกล่อม ใช่ไหม?

ห้า ให้พวกเขาได้สัมผัสศรัทธาที่ว่า ลึกลงไปทุกคนเป็นคนน่ารัก เป็นคนดี และที่พวกเขาก้าวร้าวทำร้ายเพื่อนนั้น ลึกลงไปก็มีสาเหตุ อันมาจากความอ่อนแอของคนคนนั้นเอง

หก สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาเข้ามาเป็นพระเอกนางเอกได้ คือให้พวกเขามาเป็นผู้กระทำ เป็นผู้เล่น ให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในศูนย์กลางของเวที

เจ็ด ทำงานกับระบบประสาทอัตโนมัติ ด้วยความปลอดภัย ด้วยความเคารพศรัทธาที่กระบวนกรมีต่อพวกเขา ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติค่อยๆ ผ่อนคลาย เข้าสู่วงจรของระบบประสาทพาราซิมพาเธอติก (Parasympathetic) ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย โปร่งโล่ง ความสุขลึกๆ ของความเป็นปกติของชีวิตธรรมดา ก็ค่อยๆ ซึมซาบเข้ามา

แปด การเล่าชีวิตวัยเด็ก และการทำแบบฝึกหัดให้เข้าไปดูความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ในวัยเด็กของพวกเขา ให้พวกเขาได้ไปสัมผัสความกลัว ความเหงา ความเศร้าอีกครั้งหนึ่ง ในบรรยากาศแห่งความปลอดภัย ทำให้ความรุนแรงของความทรงจำแฝงเร้นค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง ในขณะเดียวกัน ก็ปรับคลื่นสมองให้ดิ่งลงไปสู่คลื่นอัลฟาและเธตา คือการเชื่อมสะพานโลกภายนอกกับโลกภายในเข้าด้วยกัน ให้เห็นว่าภายนอกกระทำอะไรกับโลกภายในในอดีต และภายในอาจจะไปกระทำอะไรกับอดีตที่ผ่านมาแล้วได้บ้าง การลงไปลึกขึ้น และได้ใคร่ครวญ เท่ากับการเข้าไปอยู่ในเบ้าหลอมแห่งสติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเมื่อถึงจุดสุกงอมหนึ่ง อาจจะเกิดการเยียวยา หรือกลายร่าง ที่หนอนจะกลับกลายเป็นผีเสื้อ

เก้า ในบรรยากาศเช่นนี้ การดำดิ่งลงไปในชีวิตวัยเด็ก อันปราศจากมารยา หรือมายา เข้าไปหาความรู้สึกที่จริงแท้ จะทำให้ความต้องการที่แท้จริงเปิดออกมา นั่นคือการแสวงหามิตรภาพ ลึกๆ ลงไปแล้ว มนุษย์ทุกคนมีเยื่อใยที่เกี่ยวโยงเข้าหากัน ยิ่งถ้าเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แม้จะผิดใจกันรุนแรงอย่างไร ก็มีความหวนหาอาลัยต่อความรู้สึกดีๆ ที่เคยมีต่อกัน หัวใจย่อมค่อยๆ เปิดแง้มออกมา และเมื่อกาลเวลาเหมาะสม เพื่อนๆ ก็จะโผเข้ากอดกัน และอภัยทานก็เป็นจริงขึ้นมาได้

สิบ ในแง่มุมมองของตัวกระบวนกรเอง ทัศนคติต่อความเป็นไปในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะต้องเลื่อนไหลเอามากๆ ไม่ควรแช่จมอยู่กับที่ เพราะเป็นไปได้ง่ายมากเวลาเราฟังความข้างหนึ่งแล้วจมลงไปเข้าข้างฝ่ายที่เราฟังความอยู่ ผมเองก็เป็น เพียงแต่ว่าผมไหลเลื่อนได้ เชื่อไปแล้ว เอียงข้างไปแล้ว แต่ชั่วขณะหนึ่งที่ออกจากวงหนึ่งๆ มาก็เหมือนจะมีแวบเล็กๆ ให้ตั้งหลักว่า ถอยออกมาดูก่อนนิดหนึ่งก่อนได้อยู่

ข้อเขียนเล็กๆ ชิ้นนี้ คงไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งให้องค์กรใดได้ทันทีทันใด ขอให้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการแสวงหา สืบค้นองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งในองค์กร หากมีใครสนใจมากกว่านี้ หรือมีคำถามมาอีก ผมก็ยินดีจะขยายข้อเขียนอีกเป็นตอนๆ ต่อไป

เดินเท้าเพื่อสายน้ำ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 เมษายน 2557

ช่วงวันที่ ๑๔-๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ผมได้ไปเดินเท้าร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายวิชาชีพและชาติพันธุ์จำนวนร้อยกว่าคน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่ขาน และยืนยันว่าจะสืบสานชีวิตที่เลื่อนไหลของสายน้ำแม่ขานให้ดำรงอยู่ต่อไปพร้อมกับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่พึ่งพาป่าเขาและธรรมชาติ ในเขตอำเภอสะเมิงและสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่ป่าและเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั้งที่อยู่บริเวณต้นน้ำ คือชุมชนสบลาน และชุมชนท้ายน้ำ คือบ้านแม่คะนิงใต้ ซึ่งได้ช่วยกันดูแลรักษามานานหลายชั่วอายุคน

หลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี ๒๕๕๔ ภาครัฐพยายามกอบกู้บรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจด้วยการสร้างนโยบายแก้ไขน้ำท่วมอย่าง “ยั่งยืน” โดยรื้อเอานโยบายเดิมเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ จำนวน ๒๑ เขื่อนทั่วประเทศ และเพื่อลดกระแสต่อต้านคำว่า “เขื่อน” ทางโครงการเลือกใช้คำว่า “อ่างเก็บน้ำ” แทน โดยหยิบมารวมกันไว้ใน โมดูล A1 “โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก” ที่ ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน คว้าโครงการนี้ไป ด้วยงบประมาณ ๔๘,๕๐๐ ล้านบาท โดยเลือกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ๑๘ แห่ง ความจุเก็บกักน้ำทั้งหมดประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในเวลาไม่เกิน ๕ ปี

ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา รัฐพยายามจะประกาศให้พื้นที่ป่าที่ชุมชนเหล่านี้ดูแลกลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ รวมถึงมีโครงการสร้างเขื่อนออกมาเป็นระยะ แต่ทุกอย่างเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อโครงการเขื่อนแม่ขานถูกบรรจุให้เป็น ๑ ใน ๒๑ เขื่อนของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาทที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แม้ตัวโครงการจะยังไม่มีความชัดเจน แต่เมื่ออาศัยข้อมูลเดิมของกรมชลประทาน พบว่าเขื่อนแม่ขานจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่ากว่า ๓,๐๐๐ ไร่ ไม่นับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้าน ซ้ำยังปิดกั้นทางเข้าออกไปสู่ตัวอำเภอสะเมิงที่จะกระทบต่อชาวบ้าน ๘ หย่อมบ้านจำนวน ๒,๐๐๐ คน จึงทำให้คนทั้งในและนอกพื้นที่คัดค้าน เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าเชิงนิเวศวิทยาและสังคม

การที่ผมรู้จักที่นี่มาหลายสิบปี ทำให้รับรู้ได้ว่าชาวบ้านที่นี่มีความรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกกังวลหวาดวิตกเวลาได้ข่าวนโยบายการสร้างเขื่อนแม่ขานที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมทับพื้นที่ป่าและที่ทำการเกษตรจำนวน หลายพันไร่ อีกทั้งแม่น้ำขานก็เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังจะทำให้การสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านหลายแห่งและอำเภอสะเมิงยากลำบากยิ่งขึ้น คุณป้าคนหนึ่งที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของที่นี่ ชื่อพะหมื่อ ยอดฉัตรมิ่งบุญ กล่าวสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ถ้าเขื่อนมา น้ำจะท่วม ไม่ใช่แค่ท่วมที่ป่าที่ทำกิน แต่ท่วมวิถีชีวิตของพวกเราไปด้วย ท่วมขวัญและชีวิตของพวกเราไปด้วย”

ผมเองเป็นคนเชียงราย และรู้ดีว่าป่าในพื้นที่อาศัยของคนเมืองอย่างพวกเราและชนเผ่าต่างๆ ถูก แปรไปเป็นไม้และพื้นที่เกษตรเพื่อการค้าจนไม่เหลือแล้ว ยกเว้นพื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของชาวปกาเกอญอหรือกะเหรี่ยงนั่นเอง แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เท่าเดิม เพราะผ่านการสัมปทานป่าครั้งใหญ่ๆ ในอดีต แต่ถือว่ายังมีเหลือไว้ให้ร่มเย็นและสามารถกักเก็บน้ำฝนในแต่ละปีได้มาก ความข้อนี้บรรดานักอนุรักษ์ทั้งในฝั่งประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือแม้แต่ข้าราชการป่าไม้บางคนที่ทำงานใกล้ชิดกับเรื่องนี้อย่างเปิดใจน่าจะทราบดี ดังนั้นนโยบายการ “พัฒนา” (ที่แปลว่าทำให้ดีขึ้น) ต่างๆ ของรัฐเช่นการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่จะหมายถึงการควบคุมการดำเนินชีวิตในเขตป่าอย่างรัดกุมและเข้มข้นมากขึ้น จึงไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผู้พิทักษ์ป่าตัวจริงเหล่านี้

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่อาศัยพื้นที่ป่าและชุมชนสบลานในการนำผู้คนเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิต การเปลี่ยนผ่านและเติบโตทางจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า “นิเวศภาวนา” อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ภายในที่มีค่าและทรงพลังมาก และส่งผลให้เกิดความตื่น ความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและเป้าหมายของชีวิต ในแต่ละปี ผมจะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมการเดินทางภายในจำนวนไม่เกิน ๒๐ คน เพื่อไปใช้เวลา ๘ วันในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเคารพ มีมิติของการภาวนา การประกอบพิธีกรรมสำหรับการสละทิ้ง การละวาง การหลอมรวมและการกำเนิดใหม่ ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนหลายร้อยชีวิตได้รับประโยชน์ทางจิตใจจากผืนป่าและสายธารในบริเวณนี้แทบทั้งสิ้น

ดังนั้นสำหรับผมแล้วผืนป่าและแม่น้ำแห่งนี้จึงเป็นมากกว่า “ทรัพยากร” แต่เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตที่สามารถให้พลังทางจิตวิญญาณแก่ผู้มาเยือน ท่ามกลางสังคมที่มีความวุ่นวาย สับสน พัวพันกับวังวนของเงินตราและบริโภคนิยม เป็นที่ที่เหมาะสมสำหรับการภาวนาเพื่อการเข้าใจตัวเองและธรรมชาติของชีวิต

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือชุมชนปกาเกอญอที่อยู่แถบนี้ยังคงมีวิถีชีวิตแตกต่างจากเมืองใหญ่อย่างยิ่ง หลายบ้านยังไม่มีไฟฟ้า เพราะเลือกอยู่อย่างเรียบง่ายและพึ่งพาธรรมชาติ ผมจึงมองว่าชุมชนแบบนี้เป็นเหมือน “ชุมชนต้นแบบ” ในการดำรงชีพอย่างพอเพียงและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากชีวิตเมืองที่ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด ในสายตาของผม พวกเขาคือครูในการกินอยู่และรักษาอย่างยั่งยืน

การเดินทางของขบวนธรรมยาตรานี้เริ่มต้นที่หมู่บ้านต้นน้ำ คือบ้านสบลาน คณะเดินทางประกอบไปด้วยประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนจากในท้องถิ่นเอง ทั้งหมู่บ้านต้นน้ำและท้ายน้ำ จังหวัดแพร่ ลำพูน และอ.แม่แจ่ม นักข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ชาวต่างประเทศที่ทำงานด้านการส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติ นักศึกษาและนักเรียนจากโรงเรียนทางเลือก นักวิชาการทางธรณีวิทยา นักพฤกษศาสตร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่อุทยายานออบขานเองที่มีบ้านอยู่ที่แม่คะนิงใต้ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อนขึ้น

การเดินเท้าเพื่อศึกษาระบบนิเวศตลอดสองข้างฝั่งแม่น้ำขานนี้ เป็นไปอย่างราบรื่น สนุกสนาน มีชีวิตชีวา มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามความสนใจ เช่น เดินช้าเพื่อศึกษาระบบนิเวศและธรณีวิทยา เดินกลางๆ เพื่อภาวนาและสร้างความตระหนักรู้ต่อแผ่นดินและป่าไม้ เดินเร็วเพื่อไปถึงเป้าหมายและตระเตรียมความพร้อมของจุดต่อไป แต่ทั้งหมดคือการเดินเท้าเพื่อทำความรู้จักคุณค่าของระบบนิเวศแม่น้ำขาน ในระหว่างทางมีการค้างแรมและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันรอบกองไฟ และเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง คืออุทยานแห่งชาติออบขาน ก็มีการอภิปรายคัดค้านผ่านสื่อสาธารณะ รวมทั้งมีการแสดงของนักเรียนโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า (วิถีชีวิต) ที่น่าประทับใจ เรียกรอยยิ้มและน้ำตาจากผู้ชมได้ไม่น้อย ที่เห็นเด็กๆ กลุ่มละครลูกไม้ ออกมาประกาศว่า “เรารักบ้านของเรา เรารักสายน้ำ เราไม่ต้องการเขื่อน” อย่างแข็งขัน

ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตความขัดแย้งระหว่างกลุ่มความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่างไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด สิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นคือประชาชนได้ออกมาตรวจสอบ มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อรัฐบาลและสังคม ในสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การจำนำข้าว การคัดค้านเขื่อน และอื่นๆ นับเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่สำคัญ และหวังว่าคนที่มาทำหน้าที่ใช้อำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมือง จะได้ตระหนักรู้ถึงพลังประชาชนที่มีจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ในการปกปักษ์รักษาถิ่นกำเนิด วัฒนธรรม และทรัพยากรที่เกื้อกูลต่อชีวิต โดยกล้ามารับฟังเสียงของประชาชนโดยเฉพาะเสียงของชนชายขอบของสังคม ชนกลุ่มน้อยหรือคนกลุ่มน้อย และค้นหาทางออกในการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมไม้ร่วมมือที่ดีในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นไปได้อย่างยิ่ง และดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในความหมายที่แท้จริง คือการทำให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น นำมาซึ่งความผาสุกของราษฎร ส่วนระบบสั่งการและควบคุมด้วยการใช้อำนาจหรืออ้างความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหนือกว่าคนท้องถิ่นนั้น ดูจะเป็นแนวทางที่ไม่มั่นคงเอาเสียเลย

จิตวิวัฒน์นั้นหมายถึงจิตสำนึกใหม่ของการเข้าใจชีวิตที่สามารถอยู่ร่วมอย่างเรียนรู้ และการมองเห็นชีวิตว่ามีศักยภาพในการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองและร่วมไม้ร่วมมือ การเมืองหรือการบริหารและปกครองก็เช่นกัน จำต้องวิวัฒน์ไปให้พ้นการแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคพวกหรือส่วนตน และเอื้อเฟื้อให้เกิดประชาธิปไตยที่มีทั้งการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและมีคุณธรรมกำกับไปพร้อมๆ กัน

เส้นผมบังจักรวาล



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 เมษายน 2557

ในเว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เมื่อเร็วๆ นี้เอง มีบทความเกี่ยวกับการฝึกทักษะของผู้นำที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ชื่อของบทความนี้แปลเป็นไทยได้ว่า “การฝึกสติสำหรับผู้บริหารที่ไม่มีเวลานั่งสมาธิ”​ คำว่าสติ มาเรีย กอนซาเลซ ใช้คำว่า mindfulness ส่วนสมาธิ เธอใช้คำว่า meditation

แม้กระแสของการพูดคุยเรื่อง “สติ” และ “สมาธิ” จะกว้างขวางออกไปมากแค่ไหน แต่ผมก็ยังพบว่าผู้คนยังคงเข้าใจผิด และสับสนระหว่างสองคำนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นพี่ฝรั่งหรือน้องไทย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าทั้งสองคำนี้ไม่ได้พูดถึงสิ่งเดียวกัน สติไม่ใช่สมาธิ และสมาธิไม่ใช่สติ แต่มันมีความเกี่ยวข้องกันอยู่

สติคือการระลึก ไม่ใช่ระลึกอดีต จดจำได้ว่าวางกุญแจบ้านเอาไว้ตรงไหน หรือนึกได้ว่าลืมซื้อนมกลับบ้าน แต่เป็นการ “รู้สึกตัว” คือหลุดจากสภาวะของการติดตามความคิด การจมจ่อมอยู่กับความคิด มันคือการวาร์ปกลับเข้ามาสู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ชั่วขณะ ที่เอ็กค์ฮาร์ท โทลเลอ ผู้เขียนหนังสือ The Power of Now พูดว่าให้รับรู้ปัจจุบันขณะโดยไม่มีม่านหมอกของความคิดมากางกั้น (Screen of mind) การกลับมารู้สึกตัวนี่เองคือสติ เพราะเป็นอิสระจากความคิด

โทลเลอได้จำแนกเวลาเป็นสองแบบ แบบแรกคือเวลานาฬิกา (clock time) ซึ่งก็คือเวลาที่เรารู้จักกันดีว่า เป็นเวลาที่เราสามารถบอกได้ด้วยนาฬิกา เช่นเวลาผ่านไปกี่นาทีแล้ว หรือนัดเพื่อนไว้ที่ร้านกาแฟตอนบ่ายสอง เป็นตัวอย่างของเวลานาฬิกา แต่เวลาอีกแบบหนึ่ง เข้าใจยากกว่า เขาเรียกมันว่า “เวลาทางจิต” (psychological time) หากพวกเราเคยมีความสุขจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว ตรงกันข้ามถ้าเราอยู่ในช่วงที่มีความทุกข์ทรมานกลับรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าเสียเหลือเกิน นี่เรียกว่า เวลาทางจิต ซึ่งแต่ละคนก็รับรู้แตกต่างกันไป ไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในที่เดียวกัน เวลานาฬิกาเดียวกัน ทำกิจกรรมเดียวกัน การรับรู้เวลาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาวะภายในของแต่ละคน

โทลเลออธิบายว่า เราควรต้องฝึกตัวเองให้หลุดออกจากกรงขังของ “เวลาทางจิต” หมายถึง พยายาม “ออกจากความคิด” ต่างๆ ที่ทำให้เราเวิ่นเว้อวุ่นวายอยู่ในหัวเรา โดยที่ความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตจริงยังไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับคนเรา ส่วนใหญ่แล้วแทนที่จะรีบแก้ไข เรากลับไปเสียพลังงานทางจิตใจให้กับการครุ่นคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อยู่ในวังวนของปัญหา ก็เหมือนพวกแอพที่เขียนมาไม่ดี ทำให้สมาร์ทโฟนของเราค้างจนต้องกดปุ่มรีเซต

เดี๋ยวนะ ผมพูดว่า “รีเซต”

ใช่ “รีเซต” นี่แหละคือตัว “สติ” คือออกจากโปรแกรมความคิดที่ค้างเติ่งอยู่ในหัวสมองของเรา แล้วกลับมาเริ่มใหม่ที่ “ความรู้สึกตัว” มันคือความสดใหม่ เหมือนพึ่งรีสตาร์ทเครื่องใหม่ๆ สมาร์ทโฟนของเราจะว่องไว ตอบสนองได้ดี เพราะยังไม่มีอะไรมาค้างคาในหน่วยความจำ การจะทำแอ็คชันอะไรก็รวดเร็ว ยืดหยุ่น แก้ไขปัญหาได้เต็มศักยภาพ

ทุกวันนี้ถามตัวคุณเองว่า คุณเหมือนสมาร์ทโฟนเครื่องเก่าที่เปิดโปรแกรมเอาไว้เยอะแยะมากมาย จนแทบทำอะไรไม่ได้เลยหรือเปล่า? ถ้าใช่คุณก็ไม่ต่างจากคนมากกว่าครึ่งโลกที่มีชีวิตอยู่อย่างหลับๆ ตื่นๆ ใช้ศักยภาพของตัวเองไม่ถึงครึ่ง

ตอนเริ่มต้น ผมเกริ่นว่า มาเรีย กอนซาเลซ​ ผู้เขียนบทความใน HBR พูดถึงวิธีการกลับมารู้สึกตัวแบบสั้นๆ ที่เธอใช้คำว่า micro-meditation เธอให้กลับมาสังเกตลมหายใจ และถ้าหากใจลอยเวลากำลังฟังใครอยู่ก็ให้กลับมาฟังใหม่ และนี่ก็เป็นเรื่องเดียวกับการฝึกสติในชีวิตประจำวันที่กูรูหลายคนพูดแต่ไม่บอกวิธีการ หรือเวลาบอกก็ไม่ชัดเจน โดยพยายามเอาวิธีการทำ “สมาธิ” แบบนั่งหลับตาตามลมหายใจมาใช้ในชีวิตประจำวันอันแสนวุ่นวาย ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อย “เฟล” ครับ

มันใช้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าใช้เครื่องมือไม่ถูกกับงาน!

ทำ “สมาธิ” เหมือนกับการชาร์จแบตสมาร์ทโฟน เวลาเราจะใช้ เราไม่ได้เอาแบตไปใช้งาน แต่แบตให้พลังงานคือกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้สมาร์ทโฟนของเราทำงาน หน้าจอสว่าง เปิดแอพต่างๆ ขึ้นมาทำงาน ถ้าแบตอ่อน แน่นอนบางโปรแกรมก็รันไม่ขึ้น

แต่ผมเห็นว่า มาเรียมาถูกทางแล้วที่แนะนำเรื่องการฟัง ว่าถ้าหากใจลอยไปเมื่อไรให้กลับมาตั้งใจฟังใหม่ การฝึกสติด้วยการฟังในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ดี เพราะวันวันหนึ่งสำหรับคนทำงาน เราต้องพบปะผู้คน สนทนา หรือประชุม จะมีโอกาสให้เราได้ฝึกการฟังมาก ให้ลองสังเกตว่า เราฟังอย่างไร ใหม่ๆ เราจะไม่รู้เลยว่าเราคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ในขณะกำลังฟัง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน เป็นพฤติกรรมเดิม แก้ไขได้โดยให้รู้สึกตัวให้ไวที่สุดว่าเรากำลังคิดไปเรื่องอื่น ตรวจจับการหลุดลอยเข้าไปใน “เวลาทางจิต” ของเราให้เร็วกว่าที่เคยเป็นอยู่ แล้วกลับมาฟังใหม่ ในช่วงขณะที่เรารู้สึกตัวว่าเรากำลังคิดไป ช่วงเวลาสั้นๆ นั้น ความคิดจะหยุดทำงาน นี่เรียกว่า สติ หรือ ปัจจุบันขณะของโทลเลอ การกลับมาฟังใหม่และอยู่กับสิ่งที่กำลังฟังได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่บีบเค้น ไม่วอกแวกไปเรื่องอื่นนั่นเรียกมีสมาธิ (ขณิกสมาธิ)

ถ้าความรู้สึกตัวทำงาน พร้อมความตั้งมั่นอยู่กับสิ่งที่ทำ และถ้ามีปัญญาญาณมารองรับ เราเรียกลักษณะของจิตใจแบบนี้ว่า “จิตที่คู่ควรกับงาน” หรือจิตที่อยู่ใน optimal learning state ซึ่งสามารถตรวจวัดผลในทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะคลื่นสมองจะเข้าสู่สภาวะคลื่นเธตา (theta state) ซึ่งจะเปิดศักยภาพของมนุษย์ให้ทำในสิ่งที่มนุษย์ครึ่งหลับครึ่งตื่นทำไม่ได้ คือการเรียนรู้ที่ข้ามพ้นสภาวะที่จิตใจถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วยความคิดที่วิ่งวุ่น สิ่งใหม่จะผุดบังเกิดขึ้นได้ อันที่จริงเราทุกมีศักยภาพนี้อยู่แล้ว แต่เพราะเราไม่ปล่อยให้มันทำงาน กลับใช้ความกลัวและความวิตกกังวลผลิตความคิดขึ้นมาตัดรอนศักยภาพตัวเองตลอดเวลา

บางทีเส้นผม (แ-่ง) ก็บังทั้งจักรวาลเลย!

Back to Top