เส้นผมบังจักรวาล



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 เมษายน 2557

ในเว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เมื่อเร็วๆ นี้เอง มีบทความเกี่ยวกับการฝึกทักษะของผู้นำที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ชื่อของบทความนี้แปลเป็นไทยได้ว่า “การฝึกสติสำหรับผู้บริหารที่ไม่มีเวลานั่งสมาธิ”​ คำว่าสติ มาเรีย กอนซาเลซ ใช้คำว่า mindfulness ส่วนสมาธิ เธอใช้คำว่า meditation

แม้กระแสของการพูดคุยเรื่อง “สติ” และ “สมาธิ” จะกว้างขวางออกไปมากแค่ไหน แต่ผมก็ยังพบว่าผู้คนยังคงเข้าใจผิด และสับสนระหว่างสองคำนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นพี่ฝรั่งหรือน้องไทย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าทั้งสองคำนี้ไม่ได้พูดถึงสิ่งเดียวกัน สติไม่ใช่สมาธิ และสมาธิไม่ใช่สติ แต่มันมีความเกี่ยวข้องกันอยู่

สติคือการระลึก ไม่ใช่ระลึกอดีต จดจำได้ว่าวางกุญแจบ้านเอาไว้ตรงไหน หรือนึกได้ว่าลืมซื้อนมกลับบ้าน แต่เป็นการ “รู้สึกตัว” คือหลุดจากสภาวะของการติดตามความคิด การจมจ่อมอยู่กับความคิด มันคือการวาร์ปกลับเข้ามาสู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ชั่วขณะ ที่เอ็กค์ฮาร์ท โทลเลอ ผู้เขียนหนังสือ The Power of Now พูดว่าให้รับรู้ปัจจุบันขณะโดยไม่มีม่านหมอกของความคิดมากางกั้น (Screen of mind) การกลับมารู้สึกตัวนี่เองคือสติ เพราะเป็นอิสระจากความคิด

โทลเลอได้จำแนกเวลาเป็นสองแบบ แบบแรกคือเวลานาฬิกา (clock time) ซึ่งก็คือเวลาที่เรารู้จักกันดีว่า เป็นเวลาที่เราสามารถบอกได้ด้วยนาฬิกา เช่นเวลาผ่านไปกี่นาทีแล้ว หรือนัดเพื่อนไว้ที่ร้านกาแฟตอนบ่ายสอง เป็นตัวอย่างของเวลานาฬิกา แต่เวลาอีกแบบหนึ่ง เข้าใจยากกว่า เขาเรียกมันว่า “เวลาทางจิต” (psychological time) หากพวกเราเคยมีความสุขจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว ตรงกันข้ามถ้าเราอยู่ในช่วงที่มีความทุกข์ทรมานกลับรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าเสียเหลือเกิน นี่เรียกว่า เวลาทางจิต ซึ่งแต่ละคนก็รับรู้แตกต่างกันไป ไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในที่เดียวกัน เวลานาฬิกาเดียวกัน ทำกิจกรรมเดียวกัน การรับรู้เวลาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาวะภายในของแต่ละคน

โทลเลออธิบายว่า เราควรต้องฝึกตัวเองให้หลุดออกจากกรงขังของ “เวลาทางจิต” หมายถึง พยายาม “ออกจากความคิด” ต่างๆ ที่ทำให้เราเวิ่นเว้อวุ่นวายอยู่ในหัวเรา โดยที่ความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตจริงยังไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับคนเรา ส่วนใหญ่แล้วแทนที่จะรีบแก้ไข เรากลับไปเสียพลังงานทางจิตใจให้กับการครุ่นคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อยู่ในวังวนของปัญหา ก็เหมือนพวกแอพที่เขียนมาไม่ดี ทำให้สมาร์ทโฟนของเราค้างจนต้องกดปุ่มรีเซต

เดี๋ยวนะ ผมพูดว่า “รีเซต”

ใช่ “รีเซต” นี่แหละคือตัว “สติ” คือออกจากโปรแกรมความคิดที่ค้างเติ่งอยู่ในหัวสมองของเรา แล้วกลับมาเริ่มใหม่ที่ “ความรู้สึกตัว” มันคือความสดใหม่ เหมือนพึ่งรีสตาร์ทเครื่องใหม่ๆ สมาร์ทโฟนของเราจะว่องไว ตอบสนองได้ดี เพราะยังไม่มีอะไรมาค้างคาในหน่วยความจำ การจะทำแอ็คชันอะไรก็รวดเร็ว ยืดหยุ่น แก้ไขปัญหาได้เต็มศักยภาพ

ทุกวันนี้ถามตัวคุณเองว่า คุณเหมือนสมาร์ทโฟนเครื่องเก่าที่เปิดโปรแกรมเอาไว้เยอะแยะมากมาย จนแทบทำอะไรไม่ได้เลยหรือเปล่า? ถ้าใช่คุณก็ไม่ต่างจากคนมากกว่าครึ่งโลกที่มีชีวิตอยู่อย่างหลับๆ ตื่นๆ ใช้ศักยภาพของตัวเองไม่ถึงครึ่ง

ตอนเริ่มต้น ผมเกริ่นว่า มาเรีย กอนซาเลซ​ ผู้เขียนบทความใน HBR พูดถึงวิธีการกลับมารู้สึกตัวแบบสั้นๆ ที่เธอใช้คำว่า micro-meditation เธอให้กลับมาสังเกตลมหายใจ และถ้าหากใจลอยเวลากำลังฟังใครอยู่ก็ให้กลับมาฟังใหม่ และนี่ก็เป็นเรื่องเดียวกับการฝึกสติในชีวิตประจำวันที่กูรูหลายคนพูดแต่ไม่บอกวิธีการ หรือเวลาบอกก็ไม่ชัดเจน โดยพยายามเอาวิธีการทำ “สมาธิ” แบบนั่งหลับตาตามลมหายใจมาใช้ในชีวิตประจำวันอันแสนวุ่นวาย ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อย “เฟล” ครับ

มันใช้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าใช้เครื่องมือไม่ถูกกับงาน!

ทำ “สมาธิ” เหมือนกับการชาร์จแบตสมาร์ทโฟน เวลาเราจะใช้ เราไม่ได้เอาแบตไปใช้งาน แต่แบตให้พลังงานคือกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้สมาร์ทโฟนของเราทำงาน หน้าจอสว่าง เปิดแอพต่างๆ ขึ้นมาทำงาน ถ้าแบตอ่อน แน่นอนบางโปรแกรมก็รันไม่ขึ้น

แต่ผมเห็นว่า มาเรียมาถูกทางแล้วที่แนะนำเรื่องการฟัง ว่าถ้าหากใจลอยไปเมื่อไรให้กลับมาตั้งใจฟังใหม่ การฝึกสติด้วยการฟังในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ดี เพราะวันวันหนึ่งสำหรับคนทำงาน เราต้องพบปะผู้คน สนทนา หรือประชุม จะมีโอกาสให้เราได้ฝึกการฟังมาก ให้ลองสังเกตว่า เราฟังอย่างไร ใหม่ๆ เราจะไม่รู้เลยว่าเราคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ในขณะกำลังฟัง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน เป็นพฤติกรรมเดิม แก้ไขได้โดยให้รู้สึกตัวให้ไวที่สุดว่าเรากำลังคิดไปเรื่องอื่น ตรวจจับการหลุดลอยเข้าไปใน “เวลาทางจิต” ของเราให้เร็วกว่าที่เคยเป็นอยู่ แล้วกลับมาฟังใหม่ ในช่วงขณะที่เรารู้สึกตัวว่าเรากำลังคิดไป ช่วงเวลาสั้นๆ นั้น ความคิดจะหยุดทำงาน นี่เรียกว่า สติ หรือ ปัจจุบันขณะของโทลเลอ การกลับมาฟังใหม่และอยู่กับสิ่งที่กำลังฟังได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่บีบเค้น ไม่วอกแวกไปเรื่องอื่นนั่นเรียกมีสมาธิ (ขณิกสมาธิ)

ถ้าความรู้สึกตัวทำงาน พร้อมความตั้งมั่นอยู่กับสิ่งที่ทำ และถ้ามีปัญญาญาณมารองรับ เราเรียกลักษณะของจิตใจแบบนี้ว่า “จิตที่คู่ควรกับงาน” หรือจิตที่อยู่ใน optimal learning state ซึ่งสามารถตรวจวัดผลในทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะคลื่นสมองจะเข้าสู่สภาวะคลื่นเธตา (theta state) ซึ่งจะเปิดศักยภาพของมนุษย์ให้ทำในสิ่งที่มนุษย์ครึ่งหลับครึ่งตื่นทำไม่ได้ คือการเรียนรู้ที่ข้ามพ้นสภาวะที่จิตใจถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วยความคิดที่วิ่งวุ่น สิ่งใหม่จะผุดบังเกิดขึ้นได้ อันที่จริงเราทุกมีศักยภาพนี้อยู่แล้ว แต่เพราะเราไม่ปล่อยให้มันทำงาน กลับใช้ความกลัวและความวิตกกังวลผลิตความคิดขึ้นมาตัดรอนศักยภาพตัวเองตลอดเวลา

บางทีเส้นผม (แ-่ง) ก็บังทั้งจักรวาลเลย!

Back to Top