พฤศจิกายน 2005

ศิโรราบ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 26 พฤศจิกายน 2548

เวลาที่เจ้ามัฟฟิ่นลูกสุนัขพุดเดิ้ลตัวใหม่ของผมถูกเจ้าลูกหมีซึ่งเป็นสุนัขตัวใหญ่กระโดดเข้าขย้ำ เจ้ามัฟฟิ่นมันจะนอนหงายท้องแบบยอมจำนน แต่ปากของมันก็ยังกัดต่อสู้เป็นระยะๆ ประมาณแบบว่า หนูไม่ได้ยอมแพ้นะ และเมื่อเจ้าลูกหมีลุกออกไป เจ้ามัฟฟิ่นก็ยังคงตามไปไล่กัดไล่แหย่สุนัขรุ่นพี่ตลอดเวลาอย่างไม่ลดละ

อากัปกิริยาที่เจ้ามัฟฟิ่นนอนหงายท้องแบบนั้นทำให้ผมนึกถึงคำๆ หนึ่งขึ้นมาว่าเป็นการ “ศิโรราบ” ต่อเจ้าลูกหมีสุนัขรุ่นพี่ ในพจนานุกรมภาษาไทยได้ให้ความหมายของคำว่า “ศิโรราบ” นี้ว่า “กราบกราน, ยอมอ่อนน้อม” เพราะถ้าเจ้ามัฟฟิ่นมันไม่ยอมศิโรราบแบบนั้น ตัวของมันอาจจะกระจุยเพราะคมเขี้ยวของเจ้าลูกหมีไปแล้วก็ได้

แสดงว่าธรรมชาติได้มอบ “ศิโรราบ” ไว้เพื่อให้เป็นหนทางหนึ่งของความอยู่รอดของสรรพสัตว์
ในวงจิตวิวัฒน์มีคำๆ หนึ่งที่เป็นคำที่หนังสือในแนว “จิตสำนึกใหม่” มักจะใช้เสมอๆ พวกเราพูดถึงเสมอๆ ในหลายๆ ครั้งก็คือคำว่า “surrender” ทั้งคุณเดวิด สปิลเลน ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ อาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน และอีกหลายๆ คนก็พยายามช่วยกันให้ความหมายว่า “surrender” ไม่ได้แปลว่า พ่ายแพ้หรือยอมแพ้นะ แต่น่าจะหมายถึง “ศิโรราบ” มากกว่า

ผลพวงทางความคิดอย่างหนึ่งที่สังคมในปัจจุบันยัง “ติดใจนิวตัน” และยังนำแนวคิดเรื่องนี้ซึ่งเป็น “ตรรกะ” โดยตรงที่นำมาจากวิทยาศาสตร์เก่าแบบของนิวตันก็คือ การควบคุม การจัดการและการคาดหวังผลแบบเด๊ะๆ ตามสูตรแรงเท่ากับมวลคูณกับอัตราเร่ง (F=ma) ของนิวตัน

เมื่อคุณเข้าใจและคุ้นเคยอย่างสม่ำเสมอว่าการที่เราต้องการจะให้ก้อนหินก้อนหนึ่งเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วขนาดหนึ่งเราจะต้องออกแรงจำนวนหนึ่ง เราก็จะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่าถ้าเราออกแรงทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเราก็ควรจะได้ผลของสิ่งที่เกิดขึ้น

ประการแรก เราอาจจะลืมไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนั้น “เป็นจริง” เฉพาะกับมิติเพียงหนึ่งหรือสองมิติที่อยู่ในโลกใบนี้” เท่านั้น ในมิติของความคิดและจิตใจนั้น มีมากกว่าสามมิติตามที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงหรือคุยกันถึงเรื่องราวของความคิดและจิตใจ เราอาจจะต้องมองให้ลึกมากกว่าปกติสักหน่อยเพราะถ้าเราจะต้องไปผลักก้อนหินบนยานอวกาศที่ความเร็วเหนือแสง สูตรของนิวตันก็คงจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว

ประการที่สอง สมการชีวิตไม่ได้ตรงไปตรงมาเป็นสมการเส้นตรงแบบ F=ma เสมอไป สมการชีวิตเป็นสมการเชิงซ้อนที่มีเหตุและปัจจัยต่างๆ มากมาย ผลที่เกิดขึ้นมาในสมการชีวิตจึงไม่ได้ตรงไปตรงมา จึงไม่อาจจะคาดคำนวณได้แบบง่ายๆ

ถ้าจะลงรายละเอียดกันจริงๆ แม้แต่สมการเชิงซ้อนในวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์เองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสมการของชีวิตได้ทั้งหมด เพียงแต่เรื่องราวในควอนตัมฟิสิกส์นั้นน่าจะบอกอะไรที่ใกล้เคียงมากกว่าและน่าจะดีกว่าสมการเชิงเดี่ยวอย่างสมการของนิวตัน

การควบคุมและคาดหวังผลแบบวิทยาศาสตร์เก่าหรือสมการเชิงเส้นเดี่ยวๆ จึงเป็นเรื่องราวที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็นจริง

แต่เรามักจะ “หลง” ไปเชื่อแบบนั้นเสมอ

บางทีเราก็มักจะสงสัยว่าทำไมตัวเราก็ดี๊ดีๆ แต่เรากลับไม่ได้ผลแห่งการทำดีของตัวเรา ไอ้คนข้างบ้านมันแสนจะชั่ว แต่มันกลับได้ดิบได้ดี มีเงินมีทองรวยเอารวยเอา

ในวิทยาศาสตร์ใหม่ “ศิโรราบ” จึงน่าจะหมายถึงความเข้าใจตรงนี้ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา “ปล่อยให้มันเป็นไป” รวมไปถึง “การไม่ตัดสิน” เหตุการณ์ต่างๆ ว่าผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี เพียง “น้อมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้นมาต่างๆ เหล่านั้นโดยที่ “ไม่ได้ยอมแพ้” คือถ้าเรายอมแพ้นั่นจะหมายความว่าเราจะยกเลิกภารกิจในรูปแบบนี้ทั้งหมด เพราะอาจจะคิดว่ามันล้มเหลว มันไม่ได้ผลหรอก

เพราะเมื่อเรา “ศิโรราบ” เราจะรู้สึกผ่อนคลาย เราจะรู้สึกง่ายต่อการจัดการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา

เพราะเมื่อเรา “ศิโรราบ” เราจะรู้สึกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “??” ใครไม่รู้จัดการ เราไม่มีหน้าที่จัดการตรงนั้น

บางทีเราจะรู้สึกว่าเหมือนกับมี “คนมาคอยคุ้มครอง” หรือบางทีเราจะรู้สึกว่า เหมือนกับการได้สื่อสารกับ “???” ใครก็ไม่รู้ ว่าให้เธอหรือเขาเป็นผู้จัดการไปนะ

เพราะเมื่อศิโรราบแล้วเรามักจะ “ไม่กลัว” เรามักจะรู้สึกเหมือนกับว่า “เรากล้า” มากขึ้นยังไงชอบกล เพราะเราเพียงทำไปตามหน้าที่ที่เราควรจะทำและเราไม่หวังผล คนส่วนมากจะกลัวว่าทำอะไรแล้วไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ กลัวความผิดพลาด เราสามารถใช้ความรู้สึกที่ศิโรราบมาลดทอนความกลัวตรงนี้ได้

“ศิโรราบ” อาจจะมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “อหังการ์”

ถ้าศิโรราบไม่ได้หมายถึงว่ายอมแพ้ อหังการ์ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะได้สิ่งที่ต้องการจะได้ อหังการ์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากนำไปสู่ “ความเข้าใจผิดที่เคร่งเครียด” และเหน็ดเหนื่อย เพราะสิ่งที่หวังว่าจะได้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ เช่น ผมเคยรู้สึกอหังการ์มากว่าผมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดเฉพาะทาง ผมสามารถทำผ่าตัดยากๆ ได้ พอเอาเข้าจริงผมก็ได้เรียนรู้ว่าความอหังการ์ของผมไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ในจุดหนึ่ง อหังการ์จึงไม่ได้หมายความว่าจะชนะเสมอไป รังแต่จะ “กดดันตัวเอง” ให้แข็งเกร็งและ “ล่อเป้า” ของความไม่พอใจให้กับผู้คนที่พบเห็นเสียเปล่าๆ

ในอีกนัยหนึ่ง ศิโรราบอาจจะถือได้ว่าเป็น “มาตรวัด” หรือ “ตัวชี้วัด” ตัวหนึ่งของความเจริญเติบโตด้านในของพวกเรา ถ้าเมื่อใดที่เรารู้สึกว่าสเกลหรือตัวชี้วัดในด้านนี้ของเราลดน้อยลง เราจะต้องตรวจตราดูแล้วว่ามีอะไรที่เรายังอหังการ์มากเกินไป

อหังการ์มีความคมกริบ มักจะบาดหรือทิ่มแทงและทำร้ายผู้คน แต่ศิโรราบกลับทำให้ผู้คนรู้สึกอ่อนโยน ทั้งๆ ที่จุดหมายเดิมของทั้งสองวิธีการไม่ได้เปลี่ยนเพราะศิโรราบก็ไม่ได้ยอมแพ้ ยังคงกระทำภารกิจมุ่งสู่จุดหมายที่ต้องการเหมือนกัน

ผมคิดว่า “ทักษะ” ของมนุษย์ในเรื่อง “ศิโรราบ” น่าจะเป็นทักษะหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์อย่างพวกเรามีความ “อ่อนโยนขึ้น” ซึ่งจะทำให้ “มีโอกาส” หลุดออกไปจาก “กับดักแห่งอัตตาภายใน” ตัวเองที่สามารถเกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา โดยที่เราอาจจะไม่สามารถรู้ได้ทันท่วงทีก่อนที่มันจะไปทำร้ายผู้คนอื่นๆ รอบข้างแบบไม่รู้ตัว

วิถีแม่มด
ตอน “ไม่ต้องพัฒนา”

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548

ตัวตนที่อ่อนเยาว์ (Younger Self)

ตัวตนที่อ่อนเยาว์ เมื่อเทียบกับตัวตนที่จำนรรจา หรือตัวตนที่พูดภาษา หรือ Talking Self จากหนังสือ The Spiral Dance ของ สตาร์ฮอว์ค (Starhawk)

“ตัวตนที่อ่อนเยาว์จะเข้ารับรู้ประสบการณ์ตรงจากโลก ด้วยการรับรู้อย่างเป็นองค์รวมด้วยสมองซีกขวา ประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก แรงขับพื้นฐาน ภาพ ความทรงจำ ญาณทัศนะ และการรับรู้อย่างกว้างๆ คลุมๆ เป็นบทบาทของตัวตนที่อ่อนเยาว์ ความเข้าใจภาษาของตัวตนที่อ่อนเยาว์มีขอบเขตจำกัด มันสื่อสารผ่านภาพ อารมณ์ การรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่างๆ ความฝัน ภาพฝัน และอาการทางกายต่างๆ จิตวิเคราะห์ดั้งเดิมได้พัฒนาความพยายามที่จะอ่านภาษาของตัวตนที่อ่อนเยาว์ แต่วิถีแห่งแม่มดไม่เพียงแค่ตีความ หากยังสอนเราให้พูดกับตัวตนที่อ่อนเยาว์ได้ด้วย”

“ตัวตนที่จำนรรจ์จัดสรรภาพลักษณ์ของตัวตนที่อ่อนเยาว์ ให้ชื่อต่างๆ กับมัน จัดที่ทางแบ่งประเภทพวกมันออกเป็นหมวดหมู่ ชื่อของตัวตนที่จำนรรจ์ ส่อให้เห็นถึงสมองซีกซ้ายที่วิเคราะห์แยกแยะ และใช้ภาษาพูดจา มันยังรวมถึงความสามารถที่จะเข้าใจภาษาแห่งคุณธรรม ที่แยกแยะและตัดสินถูกผิด ตัวตนที่จำนรรจ์สื่อผ่านถ้อยคำ ความคิดทางนามธรรม และตัวเลข”

มีคนเคยตั้งข้อสังเกตนานมาแล้วว่า ผมเขียนหนังสือกระโดดๆ คือขาดความต่อเนื่อง ผมเพิ่งมาเข้าใจวันนี้เองว่า ผมเขียนมันมาจากสมองซีกขวา หรือจากตัวตนที่อ่อนเยาว์ เมื่อผมพยายามจะแปรสิ่งที่ผมสัมผัส มาเป็นภาษาเขียน และภาษาเขียนมักจะไม่สามารถอธิบายได้หมดเสมอ มันเพียงเป็นภาพคลับคล้ายคลับคลาเท่านั้น

สตาร์ฮอว์ค พูดถึงการมองเห็นภายใต้แสงดาว (Starlight Vision) ว่ามันเป็นภาพเบลอที่ไม่คมชัด อันสามารถแยกวัตถุที่เห็นออกจากกันอย่างเด่นชัด แต่มันกลับไปมองเห็นแบบแผน ความเชื่อมโยงสัมพันธ์มากกว่าตัววัตถุต่างๆ ที่ดูเหมือนจะแยกขาดออกจากกัน

เมื่อเรานิ่งลงและพยายามล้วงลึกเข้าไปเข้าใจอะไรบางอย่างบางประการที่เห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าการเห็นในสภาพสามัญของเรา มันเหมือนกับการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่ ที่เฝ้าดูเรื่องราวที่ศึกษาอย่างเนิ่นนาน “เฝ้ามองอย่างเนิ่นนาน” จนกระทั่งสิ่งที่สังเกตกับเรากลืนเข้ามาเป็นสิ่งเดียวกัน

ตัวตนที่อ่อนเยาว์ในกระบวนการการเรียนรู้ของเรา

หมอวิธานกล่าวว่า อ่านเรื่องของแม่มดแล้วก็เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่แล้วในกิจกรรมการเรียนรู้หลาย ๆ ประการของพวกเรา ก็เหมือนกับพิธีกรรมของเหล่าแม่มดที่สตาร์ฮอว์คบรรยายไว้นั่นเอง แต่เมื่อลองมาอ่านเรื่องราวของธรรมชาติ ของความเป็นจริง ผ่านวิถีของแม่มดบ้าง ก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ มันเป็นความพยายามที่จะก้าวพ้นชุดภาษา ซึ่งคุณหมอเคยก้าวพ้นมาจากวิทยาศาสตร์เก่ามาใหม่ ทีนี้ลองมาก้าวพ้นด้วยภาษาของแม่มดบ้าง ครั้งที่แล้ว เมื่อเอาผมไปช่วยรักษาเยียวยาโรคหัวใจชั้นต้นที่คุณแม่ของหมอเป็น ก็ทำให้คุณแม่มองหมอด้วยสายตาแปลกๆ ไปทีหนึ่งแล้ว ในครั้งหลังนี้ เมื่อไปเยี่ยมแม่ที่กรุงเทพฯ คุณหมอไปทายทักดินฟ้าอากาศได้อย่างแม่นยำอีก คุณแม่ก็มองคุณหมอด้วยสายตาแปลกๆ อีกครั้ง แต่พอดีคุณหมอถือว่าการมองของคุณแม่ครั้งที่สองนี้ เป็นตัวชี้วัดความเพี้ยนที่ใช้การได้ ถือว่าเป็นเรื่องดีไปก็แล้วกัน ทำให้สบายใจไปได้

ตัวตนที่อ่อนเยาว์นั้น สตาร์ฮอว์คบอกว่าบุคลิกอยู่ที่เด็กวัยสามขวบ ที่ยังคงรักษาวิญญาณอิสระก่อนเข้าระบบโรงเรียน (อันหลังนี้ผมพูดเอง) ไว้ได้ แต่ก็มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างหัวชนฝาอยู่ มันเป็นพลังงานดิบๆ ที่มีความสด และเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ที่ยังไม่ถูกปรุงแต่งและขัดเกลาด้วยโหมดปกป้องของสังคมมนุษย์ที่อ่อนแอและเปราะบาง อันมาจากฐานของความกลัว

ตัวตนที่อ่อนเยาว์เป็นตัวตนที่เชื่อมอยู่ระหว่าง ตัวตนที่จำนรรจ์กับจิตวิญญาณหรือเทพธิดาหรือพระเจ้า เทพธิดาเป็นหญิง พระเจ้าเป็นชาย แต่ในความเป็นจริงระดับจิตวิญญาณยังไม่มีหญิงหรือชาย อันนี้สตาร์ฮอว์คพูดเอง

วิถีแม่มดจึงเอาความเป็นเด็กกลับมา เอาความขี้เล่น ความหฤหรรษ์ในวัยเด็กกลับเข้ามาในพิธีกรรมของแม่มดทั้งหลาย ในกระบวนการเรียนรู้แบบจิตวิวัฒน์ที่เชียงราย เรามักเริ่มกระบวนการด้วย การเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กให้กันและกันฟังในหมู่ผู้เข้าร่วม มันเป็นการนำพาผู้เข้าร่วมทั้งหลายเข้ามาอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกที่มีความกล้าหาญที่จะสำรวจตรวจตราโลกอย่างเด็กๆ เป็นโลกที่ยังไม่ถูกจับเข้าโรงเรียน เป็นโลกที่ยังไม่มีผิดถูก มิตรภาพก่อเกิดอย่างรวดเร็ว การหยั่งลงสู่วงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้นพบที่ทางของตนเองในวงก่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยกลับไปสู่ความเป็นเด็กนี้เอง

“ไม่ต้องพัฒนา”

ณัฐฬส วังวิญญู เพิ่งกลับมาจากสหรัฐอเมริกา เขาไปเรียนต่อเรื่อง Vision Quest หรือการถามหาญาณทัศนะที่จะบอกเล่าเรื่องราวของอนาคตแห่งตัวตนของตัวเอง พวกเรามีธรรมเนียมต้อนรับสมาชิกกลับบ้าน ด้วยการนั่งล้อมวงพูดคุยกัน มันเหมือนกับว่าเราได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับณัฐด้วย ณัฐเขาได้รับญาณทัศนะมาว่า เขาจะต้องเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น รับรู้สิ่งบอกเล่าจากแม่พระธรณีมากขึ้น รับรู้จากสรรพสิ่งในธรรมชาติมากขึ้น การหวนหาการกลับคืนสู่ผืนดินเป็นแรงเรียกที่รุนแรงยิ่งขึ้นกับสมาชิกในชุมชนของเรา มันเหมือนกับการเตรียมตัวให้กับวิกฤตของโลกที่กำลังจะก่อเกิด

นอกจากการเล่าเรื่องต่างๆ ที่เขาได้ไปประสบมาอย่างเร้าใจแล้ว เขาได้สรุปเรื่องราวใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเหล่ากระบวนกรแห่งสหรัฐด้วยคำพูดเพียงคำเดียวว่า “ไม่ต้องพัฒนา” อันนี้คงเป็นการเดินทางสวนกระแสที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง

ยังจำความคิดปฏิวัติอย่างถอนรากของ ไอวาน อิลลิช ได้ เขาบอกว่าศาสนาจักรของโรมันคาทอลิค ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นเครื่องมือในการปกครอง ที่พระใช้ปกครองคนสามัญ คือเรื่องของแคร์ (care) หรือการดูแล ก่อนจะดูแลก็จะต้องทำให้พร่องก่อน หรือทำให้รู้สึกว่าตัวของพวกเขาไม่มีก่อน พระจึงเข้าไปดูแลคนธรรมดาได้ ซึ่งก็คือการทำให้คนเป็นคนที่ยังไม่พัฒนา

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทุนนิยมโลกนำโดยสหรัฐได้ใช้คำว่า “พัฒนา” เพื่อสร้างจักรวรรดิใหม่ อันยิ่งใหญ่เกรียงไกรยิ่งกว่าเดิม โดยเข้าไปดูแลบรรดาผู้คนในโลกที่ยังไม่พัฒนาทั้งหลาย

ในการพัฒนามิติของจิตวิญญาณก็เช่นเดียวกัน กระบวนทัศน์เดิมก็จะต้องมีศาสดาไปพัฒนาศาสนิกชนทั้งหลาย หรือว่าแท้ที่จริง มนุษย์แต่ละคนมีพุทธะอยู่ในตัวแล้ว แทนที่จะต้องไปพัฒนา เราอาจจะหาทางให้มนุษย์ได้ค้นพบศักยภาพของพวกเขากันเอง กลับไปหาตัวตนที่เยาว์วัย หรือเจ้าตัวเล็ก เพื่อหาหนทางของแต่ละคนด้วยตนเอง

เมล็ดพันธุ์แห่งการปลดปล่อยมีอยู่ในแต่ละคนแล้ว เราเพียงเปิดพื้นที่ให้พวกเราได้กลับไปพานพบเจ้าตัวเล็กอีกครั้งหนึ่ง และให้เราได้บ่มเพาะดูแลเจ้าตัวเล็กด้วยตัวของตัวเอง ร่วมกันไปกับเพื่อนๆ อย่างเป็นหมู่คณะ ธรรมชาติภายในของเราก็จะเผยออก คลี่บานออกเอง อันเป็นหนทางแห่งองค์กรจัดการตัวเอง ทั้งที่เป็นปัจเจกและหมู่คณะ ที่จะดำเนินไปในเส้นทางที่ไม่ต้องพัฒนานั้น

ก็รู้กันอยู่!!



โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548

พวกเราล้วนมีทางเลือก
เราอาจเลือกที่จะอยู่บ้านบนดาวโลกดวงนี้
เรียนรู้กฎเกณฑ์กติกา ซึ้งซาบความเปราะบางและความงามแห่งโลก
แบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ยกับมนุษย์และสรรพสัตว์อื่น
เราไม่จำเป็นต้องเลือกทำเช่นนั้นก็ได้ แต่เราคงไม่อาจกล่าวว่า

“ถ้าพวกเราได้รู้ก่อน”

เรารู้กันแล้ว

แซลลี แม็คฟากิว



ในเชิงจิตวิทยานั้น หากคนคนหนึ่งไม่ยอมรับว่าพวกเขามีปัญหา หรือไม่ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ อาการนี้เรียกได้ว่าเข้าข่าย “ปฏิเสธ” อาทิเช่น คนติดเหล้าหรือคนติดยาจะปฏิเสธทันทีที่มีคนบอกว่าพวกเขามีปัญหา บางครั้ง พวกฆาตกรก็ปฏิเสธว่าตนเองได้ก่ออาชญากรรม พวกเราย่อมนึกถึงตัวอย่างทำนองนี้ได้อีกมาก สิ่งที่ยอมรับได้ยากยิ่งกว่าก็คือ ในบางครั้ง พวกเราส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธด้วยอาการทำนองนี้

ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ประชาชนมักจะถูกถามว่า ปัญหาสำคัญลำดับแรกที่อยากจะให้ท่านผู้ว่าราชการกทม. แก้ไข คืออะไร คำตอบก็เป็นอย่างเดิม ๆ – ปัญหาจราจร แล้วถ้าคุณซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่อยู่ในภาวะปฏิเสธ หนทางในการแก้ไขปัญหาย่อมหมายถึง การเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่างน้อยก็สองสามวันในแต่ละสัปดาห์ล่ะ การหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน การย้ายสำนักงานออกไปนอกเมือง การย้ายผู้คนออกไปจากตัวเมือง ไม่ใช่ฉัน! ไม่ใช่ครอบครัวฉัน! ก็รู้กันอยู่!

ปริมาณน้ำมันและแกสโซลีนที่เหลืออยู่ในโลกปัจจุบันนี้มีอยู่ค่อนข้างจำกัด และกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการใช้น้ำมันและแกสโซลีนกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเหตุนี้เอง ราคาน้ำมันและแกสโซลีนจึงสูงขึ้นและจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ราคาแกสโซลีนในประเทศไทยก็ย่อมไม่ลดลง แล้วรัฐบาลของคุณ หรือรัฐบาลของที่อื่นๆ ในโลก ได้เตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้กันอย่างไร? คุณทำอะไรล่ะ? กำลังปฏิเสธหรือเปล่า? ก็รู้กันอยู่!

ดาวโลกดวงนี้มีมนุษย์อยู่ล้นเกินกว่าจะรักษาภาวะความยั่งยืนไว้ได้ พวกเราต่างทำร้ายสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งยังช่วยแพร่กระจายเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่ที่บ่อนทำลายภูมิคุ้มกันโรคในตัว – ทั้งเอดส์เอย ซาร์สเอย ไข้หวัดนกเอย โรคดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดเอย ฯลฯ “หากมีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าโลกจะเจริญสักแค่ไหน ก็ย่อมจบเห่ ผมรู้ว่าภาวะนั้นกำลังจะมาเยือน” ดร. กวน ยี ผู้ชำนาญการด้านไวรัส แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้แสดงความเห็นไว้ขณะที่ไข้หวัดนกกำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง (นิตยสาร ไทม์ ฉบับประจำวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๕) พวกเราเตรียมตัวพร้อมหรือยัง?หรือว่ายังคงปฏิเสธ? ก็รู้กันอยู่!

บัดนี้ สหรัฐอเมริกากำลังประสบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากพายุเฮอริเคนแคทรินา และในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ เฮอริเคนอีกลูก (ริตา) ก็กำลังเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่เดียวกัน นำความทุกข์เดือดร้อนสู่ผู้คนนับล้าน ขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลอเมริกาก็ยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนกับพายุโซนร้อน อย่าเพิ่งยิ้ม! ที่เชียงใหม่นี่ ที่ที่ผมอาศัยอยู่นี่ ปีนี้เกิดน้ำท่วมสองหนแล้ว ผู้คนก็ยังคงตัดไม้ทำลายป่า สร้างเมืองคอนกรีต รถยนต์ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ คุณกับรัฐบาลทำอะไรกันบ้างเพื่อลดมลพิษทางอากาศและปกป้องภาวะโลกร้อน? ไม่เลย! ไม่มีอะไรเลย! ไม่ใช่เรื่องของคุณ – คอยดูต่อไปก็แล้วกัน ปฏิเสธหรือเปล่า? แน่ล่ะ ก็รู้กันอยู่!

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มที่คุณกับผม

“ท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรด้วยการต่อสู้หักหาญกับสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน ในการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง จำต้องสร้างสิ่งใหม่ที่ทำให้สิ่งเดิมจางหายไป”
อาร์ บัคมินิสเตอร์ ฟุลเลอร์


เราจะทำได้อย่างไร?
ก็เริ่มกันเลยไง!

“มนุษยชาติเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ที่พวกเราเรียกว่า “จักรวาล” ส่วนเสี้ยวนั้นถูกจำกัดด้วยกาลและอวกาศ เรารับรู้ตัวตน ความคิดและความรู้สึก เป็นดังบางสิ่งบางอย่างแยกตัวออกจากส่วนที่เหลือ – ซึ่งก็คือมายาการหนึ่งของจิตสำนึกนั่นเอง มายาการนี้เป็นดังที่คุมขังซึ่งขีดวงจำกัดเราไว้แต่เพียงความต้องการส่วนตัวและความพึงใจของผู้คนรอบข้างเพียงสองสามคน หน้าที่ของเราคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการนี้ ด้วยการขยายขอบเขตแห่งความกรุณาให้ครอบคลุมไปถึงสรรพชีวิตทั้งปวง ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์


สำหรับผม – ฝรั่งคนหนึ่ง – ถ้อยคำเหล่านี้คล้ายคลึงกับสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้เมื่อ ๒๕๐๐ ปีที่แล้ว ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน มีสักกี่คนที่ปฏิบัติเมตตาภาวนาเพื่อ “สรรพชีวิตทั้งปวง ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ” จะปฏิเสธหรือไม่ล่ะ? ก็รู้กันอยู่!

เรือเปล่า

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548

จางจื๊อเป็นปราชญ์จีนโบราณซึ่งมักนำเสนอปรัชญาที่ลึกซึ้งโดยอาศัยเรื่องเล่าที่ง่ายๆ เรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงคือเรื่อง “เรือเปล่า” จางจื๊อเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ชายคนหนึ่งกรรเชียงเรืออยู่ในแม่น้ำ ถ้าหากมีเรือเปล่าลำหนึ่งมาชนเข้า แม้เจ้าของเรือกรรเชียงจะเป็นคนเจ้าโทสะ เขาก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนอยู่ในเรือนั้น เขาคงต้องตะโกนบอกให้พายเรือหนีไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ได้ยิน ก็ต้องตะโกนดังขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น แต่อากัปกิริยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีคนอยู่ในเรือลำนั้น ดังนั้นจางจื๊อจึงแนะให้เราทำเรือของเราให้ว่างเปล่า หรือทำตนเป็น “เรือเปล่า” เพื่อจะได้ข้าม “แม่น้ำ” อย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครมาขัดขวางหรือกระทบกระทั่งด้วย

มองอย่างพุทธ “เรือเปล่า” ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี “ตัวตน” ออกไปรับคำด่า ใช่หรือไม่ว่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู”เมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่านั้นมาเป็น “ของกู” เกิดความสำคัญมั่นหมายว่า “ตัวกู” ถูกด่า หรือมี “ตัวกู”เป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก

ตัวตนหรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะถูกต่อว่าเท่านั้น หากยังทุกข์เมื่อประสบกับความสูญเสียพลัดพราก เพราะไปสำคัญผิดว่าสิ่งที่สูญเสียไปหรือบุคคลที่พลัดพรากไปนั้นล้วนเป็น “ของกู” แม้แต่เวลาเจ็บปวดทางกาย ก็ยังทุกข์ไปถึงใจเพราะไปสำคัญมั่นหมายว่า “กูเจ็บ” ท่านอาจารย์พุทธทาสเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ว่า เมื่อมีดบาดนิ้ว ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่า “มีดบาดฉัน” เมื่อไร จะเจ็บยิ่งกว่าเวลารู้สึกว่า “มีดบาดนิ้ว” เสียอีก

ทั้งๆ ที่สมัยนี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุมายมาย แต่เหตุใดผู้คนจึงทุกข์กันง่ายและทุกข์กันมากเหลือเกิน คำตอบก็คือเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ แถมยังเน้นตัวตนกันมากขึ้น จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอย่างสูง อะไรก็ตามที่ปรนเปรอ พะเน้าพะนอ หรือตอบสนองความต้องการของตัวตน เป็นต้องทำหรือหามาให้ได้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการไม่รู้จักหยุดหย่อน ผลคือเกิดความเร่าร้อน เครียด กระสับกระส่าย และเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับผู้คนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่คนใกล้ตัว ความขัดแย้งนี้บ่อยครั้งก็ลุกลามเป็นการประหัตประหารระหว่างกลุ่มชน เพราะการแบ่งเขาแบ่งเรา ใครก็ตามที่ไม่ใช่ “พวกกู” ก็ถือเป็นศัตรูไปหมด

ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองของจิต (ซึ่งตัวมันเองก็ไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน) เมื่อปรุงแต่งแล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้าไปอีก (เหมือนคนที่คิดเอาเองว่าแฟนนอกใจแล้วก็ยึดมั่นกับความคิดความเชื่อนั้นจนไม่ยอมเปิดใจรับความจริง) แต่ไม่ว่าจะยึดมั่นตัวตนอย่างไร มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ อาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ ความเป็น “ฉัน” นั้นแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อประสบความสำเร็จก็สำคัญว่า “ฉันเป็นคนเก่ง” แต่เมื่อล้มเหลวก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่ง” บางคนรู้สึกว่า “ตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร” แต่พอโดนโรคร้ายเกาะกินติดต่อกันหลายปี ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ป่วยใกล้ตาย” ก็เข้ามาแทนที่ อันที่จริงในวันหนึ่งๆ ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้นับสิบๆ อย่าง เช่นเป็นพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูก เป็นอาจารย์เมื่อพบหน้าศิษย์ และเป็นลูกน้องเมื่อไปหาเจ้านาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความเป็นฉันนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง หาได้มีจริงไม่

อะไรก็ตามที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมชวนให้เราฉุกคิดสงสัยในความมีอยู่ของมัน ตัวตนก็เช่นกัน ความเกิดดับและแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของ “ตัวกู” หรือความเป็นฉัน ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจเราย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวตนมีจริงหรือ ความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีอยู่จริงนั้นคอยรบกวนจิตใจของเราเป็นครั้งคราว แต่คนเรานั้นยากที่จะยอมรับได้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง กล่าวได้ว่าเป็นสัญชาตญาณของคนเราที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่ยึดมั่น ดังนั้นจึงพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ลึกลงไปถึงจิตไร้สำนึก แต่ไม่มีอะไรที่เราสามารถกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกได้ตลอด ความลังเลสงสัยดังกล่าวก็เช่นกัน มันไม่ได้หายไปไหน แต่ผุดออกมาสู่จิตสำนึกโดยแสดงตัวในรูปลักษณ์อื่น เช่น ความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่าย ไม่เป็นสุข หรือความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าพิกล อาการเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่ลึกๆ แต่หาไม่พบว่าคืออะไร

เป็นเพราะเกิดอาการดังกล่าว คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามแสวงหาวัตถุมาครอบครองให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อปรนเปรอตัวตนเท่านั้น จุดหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือเพื่อถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็น “ตัวกู ของกู” หรือเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตัวตน อะไรที่เป็นวัตถุรูปธรรม จิตก็อยากเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตน และเพื่อความมั่นคงของจิตใจ

พฤติกรรมอีกประเภทที่แสดงออกมาก็คือการเข้าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง อาทิ ชุมชน แก๊ง ตลอดจนชาติ (หรือแม้แต่บริษัท) การไปผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อถือเอาเป็นตัวกูของกูและเพื่อสร้างความมั่นคงของตัวตนเช่นกัน ยิ่งยึดถือมากเท่าไรก็ยิ่งมั่นใจในความมีอยู่ของตัวตน ทำให้ชีวิตไม่รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป

อันที่จริงแม้กระทั่งการดิ้นรนอยากมีชื่อเสียงหรือ “อยากดัง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนยุคปัจจุบัน ก็อธิบายได้ด้วยสาเหตุเดียวกัน การที่ผู้คนอยากให้ตนเองเป็นที่รู้จัก ลึกลงไปแล้วก็เพื่อยืนยันว่าตัวฉันมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีคนรู้จัก ก็เท่ากับเป็น “nobody” คือนอกจากชีวิตจะไม่มีความหมายแล้ว ยังหมายถึงการไม่มีตัวตนในสังคม ลึกไปกว่านั้นยังตอกย้ำความสงสัยในความไม่มีตัวตนให้หนักขึ้น

แต่ไม่ว่าจะครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด มีกลุ่มก้อนสังกัดยิ่งใหญ่หรือรักชาติแค่ไหน มีชื่อเสียงขจรขจายอย่างไร ก็ไม่สามารถขจัดความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่ายในส่วนลึกไปได้ ความรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าก็ยังจะมารบกวนอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรเราก็ไม่สามารถมีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่ได้

ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรือมั่นคงให้ได้ แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเสียแต่แรกว่าตัวตนนั้นหามีอยู่จริงไม่ รวมทั้งขจัดความกลัวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การยอมรับดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดเอง แต่เกิดจากการประจักษ์ถึงมายาภาพของตัวตน เห็นถึงอาการของจิตที่ปรุงแต่งความเป็นตัวฉันขึ้นมา รวมทั้งตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าทำให้เป็นทุกข์เพียงใด

การมีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าวอย่างถึงที่สุดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน แต่เราก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ในชีวิตประจำวัน เริ่มจากการสังเกตถึงความเป็นตัวฉันที่ผันแปรตลอดเวลา และอาการ “ตัวกู” ที่ชอบแล่นออกมารับคำตำหนิหรือสิ่งไม่พึงปรารถนาที่มากระทบ มองให้เห็นถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา และเปลี่ยนมาใช้สติและปัญญาออกรับสิ่งกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่สนใจว่า “ตัวกู” จะได้รับการปรนเปรอหรือถูกกระทบ จำคำของซุนวูได้หรือไม่ที่ว่า “บุกต้องมิหวังคำยกย่อง ถอยต้องมิกลัวอับอาย” จะรุกหรือถอยก็เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือ “ความถูกต้อง” เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพราะเอาตัวตนหรือ “ความถูกใจ” เป็นใหญ่

ด้วยวิธีนี้แหละ เราจึงจะค่อยๆ กลายเป็น “เรือเปล่า” ที่ข้ามฝั่งได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย

Back to Top