ศิโรราบ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 26 พฤศจิกายน 2548

เวลาที่เจ้ามัฟฟิ่นลูกสุนัขพุดเดิ้ลตัวใหม่ของผมถูกเจ้าลูกหมีซึ่งเป็นสุนัขตัวใหญ่กระโดดเข้าขย้ำ เจ้ามัฟฟิ่นมันจะนอนหงายท้องแบบยอมจำนน แต่ปากของมันก็ยังกัดต่อสู้เป็นระยะๆ ประมาณแบบว่า หนูไม่ได้ยอมแพ้นะ และเมื่อเจ้าลูกหมีลุกออกไป เจ้ามัฟฟิ่นก็ยังคงตามไปไล่กัดไล่แหย่สุนัขรุ่นพี่ตลอดเวลาอย่างไม่ลดละ

อากัปกิริยาที่เจ้ามัฟฟิ่นนอนหงายท้องแบบนั้นทำให้ผมนึกถึงคำๆ หนึ่งขึ้นมาว่าเป็นการ “ศิโรราบ” ต่อเจ้าลูกหมีสุนัขรุ่นพี่ ในพจนานุกรมภาษาไทยได้ให้ความหมายของคำว่า “ศิโรราบ” นี้ว่า “กราบกราน, ยอมอ่อนน้อม” เพราะถ้าเจ้ามัฟฟิ่นมันไม่ยอมศิโรราบแบบนั้น ตัวของมันอาจจะกระจุยเพราะคมเขี้ยวของเจ้าลูกหมีไปแล้วก็ได้

แสดงว่าธรรมชาติได้มอบ “ศิโรราบ” ไว้เพื่อให้เป็นหนทางหนึ่งของความอยู่รอดของสรรพสัตว์
ในวงจิตวิวัฒน์มีคำๆ หนึ่งที่เป็นคำที่หนังสือในแนว “จิตสำนึกใหม่” มักจะใช้เสมอๆ พวกเราพูดถึงเสมอๆ ในหลายๆ ครั้งก็คือคำว่า “surrender” ทั้งคุณเดวิด สปิลเลน ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ อาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน และอีกหลายๆ คนก็พยายามช่วยกันให้ความหมายว่า “surrender” ไม่ได้แปลว่า พ่ายแพ้หรือยอมแพ้นะ แต่น่าจะหมายถึง “ศิโรราบ” มากกว่า

ผลพวงทางความคิดอย่างหนึ่งที่สังคมในปัจจุบันยัง “ติดใจนิวตัน” และยังนำแนวคิดเรื่องนี้ซึ่งเป็น “ตรรกะ” โดยตรงที่นำมาจากวิทยาศาสตร์เก่าแบบของนิวตันก็คือ การควบคุม การจัดการและการคาดหวังผลแบบเด๊ะๆ ตามสูตรแรงเท่ากับมวลคูณกับอัตราเร่ง (F=ma) ของนิวตัน

เมื่อคุณเข้าใจและคุ้นเคยอย่างสม่ำเสมอว่าการที่เราต้องการจะให้ก้อนหินก้อนหนึ่งเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วขนาดหนึ่งเราจะต้องออกแรงจำนวนหนึ่ง เราก็จะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่าถ้าเราออกแรงทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเราก็ควรจะได้ผลของสิ่งที่เกิดขึ้น

ประการแรก เราอาจจะลืมไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนั้น “เป็นจริง” เฉพาะกับมิติเพียงหนึ่งหรือสองมิติที่อยู่ในโลกใบนี้” เท่านั้น ในมิติของความคิดและจิตใจนั้น มีมากกว่าสามมิติตามที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงหรือคุยกันถึงเรื่องราวของความคิดและจิตใจ เราอาจจะต้องมองให้ลึกมากกว่าปกติสักหน่อยเพราะถ้าเราจะต้องไปผลักก้อนหินบนยานอวกาศที่ความเร็วเหนือแสง สูตรของนิวตันก็คงจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว

ประการที่สอง สมการชีวิตไม่ได้ตรงไปตรงมาเป็นสมการเส้นตรงแบบ F=ma เสมอไป สมการชีวิตเป็นสมการเชิงซ้อนที่มีเหตุและปัจจัยต่างๆ มากมาย ผลที่เกิดขึ้นมาในสมการชีวิตจึงไม่ได้ตรงไปตรงมา จึงไม่อาจจะคาดคำนวณได้แบบง่ายๆ

ถ้าจะลงรายละเอียดกันจริงๆ แม้แต่สมการเชิงซ้อนในวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์เองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสมการของชีวิตได้ทั้งหมด เพียงแต่เรื่องราวในควอนตัมฟิสิกส์นั้นน่าจะบอกอะไรที่ใกล้เคียงมากกว่าและน่าจะดีกว่าสมการเชิงเดี่ยวอย่างสมการของนิวตัน

การควบคุมและคาดหวังผลแบบวิทยาศาสตร์เก่าหรือสมการเชิงเส้นเดี่ยวๆ จึงเป็นเรื่องราวที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็นจริง

แต่เรามักจะ “หลง” ไปเชื่อแบบนั้นเสมอ

บางทีเราก็มักจะสงสัยว่าทำไมตัวเราก็ดี๊ดีๆ แต่เรากลับไม่ได้ผลแห่งการทำดีของตัวเรา ไอ้คนข้างบ้านมันแสนจะชั่ว แต่มันกลับได้ดิบได้ดี มีเงินมีทองรวยเอารวยเอา

ในวิทยาศาสตร์ใหม่ “ศิโรราบ” จึงน่าจะหมายถึงความเข้าใจตรงนี้ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา “ปล่อยให้มันเป็นไป” รวมไปถึง “การไม่ตัดสิน” เหตุการณ์ต่างๆ ว่าผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี เพียง “น้อมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้นมาต่างๆ เหล่านั้นโดยที่ “ไม่ได้ยอมแพ้” คือถ้าเรายอมแพ้นั่นจะหมายความว่าเราจะยกเลิกภารกิจในรูปแบบนี้ทั้งหมด เพราะอาจจะคิดว่ามันล้มเหลว มันไม่ได้ผลหรอก

เพราะเมื่อเรา “ศิโรราบ” เราจะรู้สึกผ่อนคลาย เราจะรู้สึกง่ายต่อการจัดการต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา

เพราะเมื่อเรา “ศิโรราบ” เราจะรู้สึกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “??” ใครไม่รู้จัดการ เราไม่มีหน้าที่จัดการตรงนั้น

บางทีเราจะรู้สึกว่าเหมือนกับมี “คนมาคอยคุ้มครอง” หรือบางทีเราจะรู้สึกว่า เหมือนกับการได้สื่อสารกับ “???” ใครก็ไม่รู้ ว่าให้เธอหรือเขาเป็นผู้จัดการไปนะ

เพราะเมื่อศิโรราบแล้วเรามักจะ “ไม่กลัว” เรามักจะรู้สึกเหมือนกับว่า “เรากล้า” มากขึ้นยังไงชอบกล เพราะเราเพียงทำไปตามหน้าที่ที่เราควรจะทำและเราไม่หวังผล คนส่วนมากจะกลัวว่าทำอะไรแล้วไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ กลัวความผิดพลาด เราสามารถใช้ความรู้สึกที่ศิโรราบมาลดทอนความกลัวตรงนี้ได้

“ศิโรราบ” อาจจะมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “อหังการ์”

ถ้าศิโรราบไม่ได้หมายถึงว่ายอมแพ้ อหังการ์ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าจะได้สิ่งที่ต้องการจะได้ อหังการ์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากนำไปสู่ “ความเข้าใจผิดที่เคร่งเครียด” และเหน็ดเหนื่อย เพราะสิ่งที่หวังว่าจะได้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ เช่น ผมเคยรู้สึกอหังการ์มากว่าผมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดเฉพาะทาง ผมสามารถทำผ่าตัดยากๆ ได้ พอเอาเข้าจริงผมก็ได้เรียนรู้ว่าความอหังการ์ของผมไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ในจุดหนึ่ง อหังการ์จึงไม่ได้หมายความว่าจะชนะเสมอไป รังแต่จะ “กดดันตัวเอง” ให้แข็งเกร็งและ “ล่อเป้า” ของความไม่พอใจให้กับผู้คนที่พบเห็นเสียเปล่าๆ

ในอีกนัยหนึ่ง ศิโรราบอาจจะถือได้ว่าเป็น “มาตรวัด” หรือ “ตัวชี้วัด” ตัวหนึ่งของความเจริญเติบโตด้านในของพวกเรา ถ้าเมื่อใดที่เรารู้สึกว่าสเกลหรือตัวชี้วัดในด้านนี้ของเราลดน้อยลง เราจะต้องตรวจตราดูแล้วว่ามีอะไรที่เรายังอหังการ์มากเกินไป

อหังการ์มีความคมกริบ มักจะบาดหรือทิ่มแทงและทำร้ายผู้คน แต่ศิโรราบกลับทำให้ผู้คนรู้สึกอ่อนโยน ทั้งๆ ที่จุดหมายเดิมของทั้งสองวิธีการไม่ได้เปลี่ยนเพราะศิโรราบก็ไม่ได้ยอมแพ้ ยังคงกระทำภารกิจมุ่งสู่จุดหมายที่ต้องการเหมือนกัน

ผมคิดว่า “ทักษะ” ของมนุษย์ในเรื่อง “ศิโรราบ” น่าจะเป็นทักษะหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์อย่างพวกเรามีความ “อ่อนโยนขึ้น” ซึ่งจะทำให้ “มีโอกาส” หลุดออกไปจาก “กับดักแห่งอัตตาภายใน” ตัวเองที่สามารถเกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา โดยที่เราอาจจะไม่สามารถรู้ได้ทันท่วงทีก่อนที่มันจะไปทำร้ายผู้คนอื่นๆ รอบข้างแบบไม่รู้ตัว

Back to Top