มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2558
ในงาน Facilitator จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจกับพลวัตและสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังความแตกต่างขัดแย้งในสังคม องค์กร หรือแม้กระทั่งกับความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คนรอบข้างในชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญ
สิ่งนี้มักถูกแฝงเร้น ยากที่จะสังเกต หากแต่มีอิทธิพลปรากฏอยู่ในทุกๆ การพูดคุยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาผู้พัฒนางาน Process Work หรือจิตวิทยางานกระบวนการ เรียกสิ่งนี้ว่า “Rank” อันหมายถึงสถานะเชิงอำนาจของบุคคลหนึ่งๆ ซึ่งเป็นตัวกำหนดการสื่อสารและความสัมพันธ์ที่เขามีกับโลกและผู้คนรอบตัว
ที่สำคัญ Rank มาพร้อมกับอภิสิทธิ์ (Privilege) ซึ่งคือผลประโยชน์และความได้เปรียบที่เราได้รับจากการมี Rank นั้น เช่น อภิสิทธิ์ที่ได้เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีความได้เปรียบเชิงโครงสร้างสังคม มีโอกาสเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง มีชีวิตที่สะดวกสบาย ไม่ต้องปากกัดตีนถีบด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันอภิสิทธิ์นี้ อีกแง่หนึ่ง ก็มีจุดมืดบอดอาจทำให้เรากลายเป็นพวกสุขนิยม ใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆ ไม่รับรู้ความทุกข์ยากของคนที่มีโอกาสด้อยกว่า หรือเสียเปรียบทางสังคม เช่น คนยากไร้ กลุ่มคนรากหญ้า หรือกลุ่มชายขอบของสังคม เป็นต้น
ในชีวิตประจำวัน เราสื่อสาร Rank ของเราและประเมิน Rank ของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากการแต่งตัว นาฬิกา กระเป๋า ภาษาที่เราใช้ รถที่เราขับ หลายคนเวลาที่ต้องเข้างานสังคม มักนิยมถามถึงชาติตระกูลหรือการศึกษาว่าเรียนจบอะไร ปริญญาตรี โท เอก ในหรือนอกประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ที่น่าสนใจกว่านั้น Rank บางอย่างก็เป็นสิ่งที่มิใช่ได้รับจากภายนอก หากแต่สามารถบ่มเพาะให้เติบโตได้จากภายใน
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558
ประสบการณ์การนำแนวคิดและแนวปฏิบัติ “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” ไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ในปีที่สองของผม มีความสนุก ท้าทาย และยากมากขึ้น เพราะความแปลกแยกลดลง ความสนิทสนมระหว่างทีมประเมินกับทีมพัฒนาเพิ่มขึ้น ทีมประเมินจึงต้องหาความสมดุลระหว่างการเป็นผู้ประเมินกับความเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ผมต้องคอยเตือนตนเอง บอกทีมประเมิน ทีมพัฒนา และทีมกรมชลฯ เป็นระยะๆ ว่า ถึงแม้เรามีเป้าหมายร่วมกัน แต่บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเฉพาะของเราแตกต่างกันออกไป เปรียบเสมือน “กล้วยเครือเดียวกัน แต่คนละหวี”
ที่ยากและท้าทายมากกว่านั้นคือ เรายังไม่พบว่าทีมพัฒนาได้นำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับวิทยากรกระบวนการชุมชน (FA ชุมชน) และประชาชนในพื้นที่ ทั้งในปีแรกและในช่วงแรกของปีที่สอง ทั้งที่ในทางปฏิบัติผมได้ทำกระบวนการจิตตปัญญากับทีมพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ มีการพูดคุยประเด็นนี้ในการประชุมร่วมสามฝ่าย นำไปสู่การตกลงร่วมกันว่าให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างเป็นทางการให้กับทีมทำงานทั้งสามฝ่ายโดยมีผมเป็นวิทยากรกระบวนการ และหวังว่าจะมีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปใช้กับ FA ชุมชน และ FA ชุมชนนำไปใช้กับประชาชนในพื้นที่
เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่สอง ทีมพัฒนาได้เริ่มนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเน้นความสำคัญของการฟังในกระบวนการปรึกษาหารือและการทำงานร่วมกัน และการสะท้อนการเรียนรู้ หรือ AAR (After Action Review) กับ FA ชุมชน แต่จากการสังเกตการทำงานของ FA ในพื้นที่ และจากข้อมูลทางเอกสารรายงานของทีมพัฒนา ทีมประเมินยังไม่พบหลักฐานว่า FA ชุมชนได้นำกระบวนการจิตตปัญญาไปใช้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นเรายังพบว่า การวางแผน และการออกแบบการประชุมเสริมความรู้และการประชุมถอดบทเรียนในปีที่สอง FA ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในแนวดิ่ง ไม่ใช่แนวตั้งจากล่างขึ้นบน และไม่ใช่แนวระนาบ จึงมิใช่การทำงานแบบร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมรับผล และร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างครบวงจรและอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นในปีสุดท้ายของโครงการ จะต้องทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2558
“เจี๊ยบ” มีอาชีพที่มั่นคงพอสมควร แต่วันหนึ่งเมื่อพบว่าแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เธอได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เพราะไม่มีพี่คนใดสามารถปลีกตัวมาดูแลแม่เต็มเวลาเนื่องจากมีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น ปีแรกๆ พี่ๆ ก็ให้เงินช่วยเหลือไม่ขาดมือ ทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจี๊ยบ แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เงินช่วยเหลือจากพี่ๆ ก็เริ่มขาดๆ หายๆ ทั้งๆ ที่ฐานะยังดีอยู่ เธอต้องตามทวงครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้เงินมา บางครั้งก็ขอไม่ได้ เธอต้องควักเงินเองขณะที่เงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ
ระยะหลังความจำของแม่เลอะเลือนหนักขึ้น แถมช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องมีคนงานมาช่วยเธอ เช่น อุ้มแม่ขึ้นหรือลงจากเตียง รวมทั้งทำงานบ้านแทนเธอ แต่พี่ๆ กลับไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจ้างคนงาน เธอจึงดูแลแม่คนเดียวต่อไปด้วยความยากลำบาก หลังจากดูแลต่อเนื่องนานนับสิบปีจนอายุเลย ๕๐ แล้ว กายก็เหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนใจก็คับข้องและขุ่นเคืองที่พี่ๆ ไม่เห็นใจเธอเลย แถมไม่สนใจแม่ด้วย จะมาหาแม่ก็ต่อเมื่อเป็นวันแม่ กราบแม่เสร็จ พูดคุยกับแม่สักพักก็ไป แล้วหายไปเป็นปี ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวกับแม่ บ่อยครั้งเวลานึกถึงพี่ๆ ที่สุขสบายขณะที่เธอลำบาก เธอก็อดท้อใจไม่ได้ว่าทำไมทำดีจึงต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วทำไมคนที่ไม่ไยดีแม่เลยจึงมีชีวิตที่สุขสบาย
วันหนึ่งเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นคนสนใจธรรมะ แทนที่เพื่อนจะเห็นใจเธอ กลับบอกว่า ที่เธอเหนื่อยยากทุกวันนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับแม่ในชาติก่อน ชาตินี้จึงต้องมาใช้กรรม ส่วนพี่ๆ ของเธอนั้นทำกรรมดีในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงสุขสบาย
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2558
มีผู้เข้าร่วมในหลักสูตรหนึ่งของผมคนหนึ่งเล่าว่า เธอไปเรียนมาหลายอาจารย์ในแนวทางคล้ายคลึงกันนี้ แต่เหมือนยังวิ่งวนอยู่ในเขาวงกต คือได้อะไรบางอย่าง แต่ไม่ยั่งยืน แล้วกลับมาตีบตันเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไปสองสามสัปดาห์ แต่เมื่อได้มาเรียนกับผมในเรื่องเยียวยาปม ทำให้เห็นแสงสว่าง หาทางเดินต่อไปได้
ทำไมต้องทำงานกับทรอม่า
ทรอม่าหรือปมหรือบาดแผลต่างๆ คือความปั่นป่วนที่ค้างคามาจากอดีต และพร้อมจะถูกสะกิดให้มีชีวิตขึ้นมาในปัจจุบัน เหมือนมีผีร้ายสิงสู่อยู่ในตัว และคนก็ไม่มีอำนาจบังคับควบคุม เมื่อผีร้ายกลับเข้ามา คนก็ถูกครอบครองด้วยระบบอัตโนมัติที่หลับใหลอย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง และจะกระทำการรุนแรงทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ยั่งยืน ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่คืบหน้า ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน ก่อปัญหาอย่างหนักหน่วงให้กับสถาบันครอบครัวและองค์กรทุกประเภท
ในที่สุดผมได้ค้นพบว่า หากจะทำค่ายการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลอย่างยั่งยืน เราจะต้องทำงานเยียวยาปมและบาดแผลจากอดีตเหล่านี้ ข่าวดีคือ ในเวลานี้ หากประมวลผลรวบรวมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวเข้ามาเชื่อมประสานและก่อประกอบกันเข้าแล้ว เราจะพบว่าการเยียวยาปมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้อีกต่อไป แต่เราอาจเรียนรู้กระบวนการเยียวยาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางได้ทุกๆ ภาคสนาม ไม่ว่าในเรื่องของการศึกษา สุขภาวะ การพัฒนาสังคม การเมือง หรือองค์กรต่างๆ อันหลากหลาย
โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2558
“ถึงตัวอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายมาอีกประมาณ ๗ กิโล ทางสะดวกราดยางทั้งสาย” คุณนันทวรรณ หาญดี หรือพี่นันกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา อธิบายเส้นทางมาบ้านยางแดงกับผู้เขียนสองข้างทางจาก อ.สนามชัยเขต ไปบ้านยางแดงมีไร่มันสำปะหลัง สวนยูคาลิปตัสสวนยางพาราสลับเป็นระยะ
สำหรับผู้เขียน บ้านยางแดงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสะสมพลังการเปลี่ยนแปลงของชุมชนฐานราก (Organization or Community Transformation) ที่โผล่ปรากฏขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทยในยุคที่เต็มไปด้วยการถกเถียงถึงสิทธิในกำหนดอนาคตตนเองว่าควรเป็นของใคร
ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาแม่บ้านยางแดงมีผู้หญิงหลายวัยกำลังนั่งคุยกันอยู่เนื่องจากวันที่ ๑๐ ของทุกเดือนเป็นวันประชุมกลุ่มออมทรัพย์ “เครื่องมือ” สำคัญในการทำงานชุมชนของบ้านยางแดงซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมากกว่า ๓๐ ปี ผู้ที่บุกเบิกงานนี้คือคุณเกษม เพชรนที หรือพี่เกษม ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำงานกับมูลนิธิบูรณะชนบท (บชท.) องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกในไทยที่ตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๐
พี่นันเล่าว่า ทศวรรษ ๒๕๒๐ พี่เกษมมาที่บ้านยางแดง สมัยนั้น “ชาวบ้านไม่มีอาหารกินพอเพียง เด็กไปโรงเรียน ครึ่งหนึ่งไม่มีข้าวกลางวันกิน บางส่วนเอาข้าวไปแต่ไม่มีกับข้าว มีไม่ถึง ๕ ครอบครัวที่เด็กๆ จะมีข้าวและกับข้าวไปพร้อม อีกครึ่งหนึ่งมาโรงเรียนไม่มีอาหารกลางวัน เด็กไปเก็บฝักกระถินยักษ์ ลูกมะม่วงหิมพานต์สุกที่นิ่มๆ กิน แล้วกินน้ำ วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนก็ไม่พอ รองเท้าเสื้อผ้าเด็กก็ไม่พอ ทุกอย่างขาดแคลน ยารักษาโรคไม่พอ เขตนี้เป็นชุมชนตั้งใหม่ อนามัยไม่มี เส้นทางเป็นทางเกวียน ทางลากซุง ชาวบ้านต้องมาถากถางปลูกพืชไร่มันสำปะหลัง ๑๐๐%”
จากการที่ชุมชนร่วมกันสร้างโรงเรียนบ้านยางแดง พี่เกษมจึงนำประเด็นโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนเป็นโจทย์ตั้งต้นชวนคนในชุมชนคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ชาวบ้านเลือกใช้ชุดประสบการณ์ที่มีคือปลูกมันสำปะหลังหาเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ผลคือขาดทุน แต่สิ่งสำคัญที่ได้คือกระบวนการเรียนรู้ เห็นถึงวงจรมันสำปะหลังที่พึ่งพาระบบตลาด ไม่สามารถควบคุมได้
ปี ๒๕๒๔ พี่เกษมชักชวนครูเก็บข้อมูลชุมชนทุกครัวเรือนทุกประเด็น เช่น เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ความรู้ชาวบ้าน นำข้อมูลมาสังเคราะห์ จัดกลุ่มปัญหา และคืนข้อมูลสู่ชุมชน เปิดเวทีชวนคนในชุมชนมาพูดคุยช่วยกันดูภาพรวม หาปัญหาร่วมของชุมชนจนได้ข้อสรุปว่า จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ ให้มีอาหารกินพอเพียงในครอบครัวนำไปสู่การทำโครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัด ที่ตั้งชื่อตามแควสองสายที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง
โครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรแตร์ เด ซอมม์ (Terre des Hommes) และโครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท หรือ WCARRD (World Conference on Agrarian Reform for Rural Development) พี่เกษมประสานหน่วยงานรัฐมาสนับสนุนงานความรู้ เช่น ปศุสัตว์อำเภออบรมการเลี้ยงสัตว์ สถานีพัฒนาที่ดินแนะนำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ รวมทั้งตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก “เถ้าแก่” และสร้างการพึ่งตนเองในระยะยาว
พี่นันเข้ามาบ้านยางแดงปี ๒๕๒๘ เป็นช่วงที่โครงการสรุปบทเรียน และเตรียมขยายพื้นที่ทำงาน บทเรียนหนึ่งที่พบคือ ผู้หญิงขาดการมีส่วนร่วม การทำงานพัฒนาชุมชนในระยะต่อมาจึงมีโจทย์หลักคือ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิง พี่นันเข้ามาอยู่ในชุมชนครบรอบปีเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน และตั้งข้อสังเกตว่าคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้หญิงหาอยู่หากินกับป่าใกล้บ้าน เก็บพืชผัก เช่น หน่อไม้ หน่อข่าป่า ยอดหวาย ดอกกระเจียว มาทำอาหารในครัวเรือนและขายตามงานวัด ตลาดนัด พี่นันจึงชวนเด็กๆ เก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากไผ่ป่าที่บ้านของเด็กแต่ละคน ประมวลข้อมูลให้เห็นทรัพยากรธรรมชาติ และรายได้ในชุมชน ตามไปพูดคุยกับแม่ของเด็กๆ จนกระทั่งรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาแม่บ้านยางแดง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๙ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงที่มาแลกเปลี่ยนพูดคุย และร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไข
นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ส่งผลให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินจากนายทุน ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าใกล้บ้านยางแดงถูกแพ้วถางพร้อมกับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เข้ามาส่งเสริมในพื้นที่คือ ยูคาลิปตัส สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางรายได้ของชุมชน กลุ่มแม่บ้านยางแดงจึงมีการพูดคุยกันและได้ข้อสรุปว่า ต้องย้ายป่ามาไว้ในบ้านคือ เอาผักพื้นบ้านในป่า เช่น แต้ว เสม็ด กระเจียวหน่อข่าป่า หวาย ไม้ไผ่ มาปลูกเป็นป่าครอบครัว ซึ่งต่อมาขยายเป็นสวนผสมผสาน ประกอบกับบ้านยางแดงมีการทำนา หลังเก็บเกี่ยวจะมีฟางเหลือ พี่นันจึงหาความรู้และทดลองเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยด้วยตนเอง แล้วมาส่งเสริมคนในชุมชนเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง
กลุ่มออมทรัพย์ ป่าครอบครัว สวนผสมผสาน และการเพาะเห็ด จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรชุมชน แนวคิดนี้ขยายผลออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง และหลังจากปี ๒๕๓๒ ได้กลายเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงชุมชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนจากหลายพื้นที่
งานเครือข่ายทำให้การทำงานของกลุ่มแม่บ้านยางแดงยกระดับไปสู่งานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ทางกลุ่มได้เข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน ขับเคลื่อนประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืนให้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ และเป็นชุมชนหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย คนในชุมชนเป็นคนบริหารจัดการผ่านกลุ่มออมทรัพย์ ในปี ๒๕๔๔ มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต เพื่อทำงานทั้งระบบ ตั้งแต่ชุดความรู้ผลิต และจัดการผลผลิตสู่ตลาดในระดับท้องถิ่นและระดับสากล โดยมีระบบมาตรฐานรองรับ
ทศวรรษ ๒๕๕๐รัฐมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จึงทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายสมัชชาแปดริ้วยั่งยืนและเครือข่ายนักวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของการสร้างโรงงานไฟฟ้าด้วยการทำ CHIA (Community Health Impact Assessment) คือประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตนเอง ชูประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญทั้งระดับประเทศและระดับโลก และนำข้อมูลชุดนี้นำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งชะลอการก่อสร้าง โดยให้กลับไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
ประสบการณ์การเคลื่อนไหวทำให้เกิดเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน มีการเสนอ “วาระเปลี่ยนตะวันออก” ที่ประกาศเจตนาว่า คนภาคตะวันออกต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวเอง และประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของวาระเปลี่ยนตะวันออก มีการริเริ่มโครงการ “๓๐๔ กินได้” ซึ่งเป็นการสร้างความหมายใหม่กับพื้นที่ที่ถนนหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตัดผ่านว่า เป็นพื้นที่ผลิตอาหารใกล้เมืองที่สำคัญ
ประสบการณ์กว่า ๓๐ ปีของบ้านยางแดงจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ความรู้มาพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาภายในชุมชน จนนำไปสู่การขับเคลื่อนงานนโยบายของสังคม ซึ่งเคล็ดลับสำคัญของการขับเคลื่อนขบวน คือทำให้ความรู้เป็น “ความรู้ที่กินได้” เห็นและเข้าใจได้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของขบวนการทางสังคมตามแนวทางนี้ คือการเพิ่มอำนาจการมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตตนเองของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ที่เป็นฐานรากที่กว้างใหญ่ที่สุดของสังคมไทย เป็นขบวนการทางสังคมที่กินได้สำหรับคนทั้งหมด
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2558
ปีนี้เป็นปีดีแน่ๆ สำหรับชีวิตผม เป็นปีที่เพื่อนเก่าๆ กลับมาคืนดี ถึงวันนี้ก็นับได้สองราย ที่จริงจะว่าให้เป็นปริมาณก็หาไม่ หากเลขสองก็มากกว่าเลขหนึ่ง และสองก็อาจก่อประกอบเป็นแบบแผนเล็กๆ ได้ เช่นอาจจะกล่าวได้ว่า ปี ๒๕๕๘ เป็นปีแห่งการคืนดี ทำให้ผมอยากพูดถึงเรื่องไดอะล็อคด้านมืด (dark side) หรือถอดบทเรียนไดอะล็อคด้านมืดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวสักหน่อย ที่จริงอาจจะเป็นเพียงการตั้งต้น และจะไม่สมบูรณ์หากคนที่นิยมไดอะล็อคด้านมืดไม่ได้มาถอดบทเรียนเองหรือมาร่วมกันถอดบทเรียนด้วยกัน
การตัดสิน
เรื่องหนึ่งที่ผมจะนำเสนอไดอะล็อคด้านมืดก็คือ การตัดสินผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่ง การพูดความจริง (อาจจะเป็นคำเรียบง่ายเกินไปในไดอะล็อคด้านมืด) แล้วลองเอามาเทียบเคียงกับคำว่า “การโยนตัวกวน” ของงานกระบวนการว่า จริงๆ แล้วคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ไดอะล็อคเป็นการพูดคุยที่มีวินัยเข้ามากำกับ จะสำเร็จเป็นผลดีต้องเป็นวินัยที่มาจากภายใน และจะยิ่งดียิ่งขึ้น ถ้าวินัยนั้นได้ซึมซับเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของผู้พูดแล้ว และวินัยที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการห้อยแขวนการตัดสิน พูดภาษาชาวบ้านคือการไม่ตัดสินเพื่อนๆ ในวง และไม่เพียงแต่ไม่ตัดสินโดยการกล่าวออกมา หากไม่ตัดสินแม้ในใจเลยทีเดียว เพราะหากเราตัดสินในใจแล้ว การฟังของเราจะไม่สมบูรณ์ หรือไม่ได้ฟังเอาเลย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ แม้เป็นเพียงการพยายามไม่ตัดสินคนอื่นในใจของเรา ความเป็นไดอะล็อคก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2558
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน ไปเปิดวงสนทนาจิตตปัญญาที่นครสวรรค์ นักธุรกิจหญิง สาวมั่นแห่งปากน้ำโพคนหนึ่ง บ่นลูกน้องให้พระอาจารย์ฟังว่า รู้สึกเบื่อหน่ายที่ลูกน้องและคนใกล้ชิดไม่ได้ดั่งใจ พระอาจารย์ตอบกลับไปว่า
“ใจของเราเองยังไม่ได้ดั่งใจเลย แล้วจะให้ใจใครมาได้ดั่งใจเรา”
ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำให้เธออยู่อบรมต่อเป็นเวลาสามวัน จากเดิมที่แอบกระซิบว่าจะ “มาแวบเดียว”
อะไรคือความปรารถนาลึกๆ ของคนทุกคน? เป็นคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเอง จากการเรียนในสถาบันศึกษา ผมได้รู้จักกับมาสโลว์ที่พยายามแยกแยะความต้องการของมนุษย์ออกเป็นขั้นๆ แต่พอถึงวันนี้ ผมพบว่าโมเดลแบบนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้มาอธิบายความซับซ้อนของมนุษย์ได้
จนผมมาเจอคำอธิบายของจิตวิเคราะห์สายลากอง (lacan)1 ที่ผมเห็นว่าเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าอยู่ เพราะเขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสามารถล่วงรู้ได้ว่าตัวเองปรารถนาอะไร ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงในใจว่าไม่จริงหรอก ฉันรู้ดีว่าเดี๋ยวเที่ยงนี้ เย็นนี้ฉันอยากจะทานชาบูให้หนำใจ แต่ช้าก่อนครับ ในทางจิตวิเคราะห์เขาไม่เรียกการอยากทานชาบูว่าเป็นความปรารถนา เพราะมันเป็นเพียงความต้องการ และยังพูดต่อไปว่า เราสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ เช่น อยากทานอาหารอร่อยก็ไปทาน อยากไปเที่ยวก็ไป แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ “ความปรารถนา”
การไม่อาจรู้ความปรารถนา ตรงกับคำของพระอาจารย์ที่บอกว่า “ใจของเราเองก็ยังไม่ได้ดั่งใจ”
โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2558
ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมวงสนทนาเล็กๆ ของกลุ่มเอ็นจีโอที่มีประสบการณ์เข้มข้นและยาวนานในการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคม สิทธิชุมชน และสิทธิในการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมบัติร่วมกันของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
เราใช้เวลาสองวันหนึ่งคืนกับการพูดคุยข้ามพรมแดนชีวิตและงานของแต่ละคน แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว เชื่อมร้อยภาพความทรงจำร่วมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานรากของประเทศไทย และช่วยกันร้อยเรียงหมุดหมายสำคัญของสายธารขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานทางสังคมของคนหลายคนในวงสนทนา เช่น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ ที่มีกรณีชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคัดค้านการทำประมงอวนลากอวนรุนที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ มีกรณีคัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) รวมทั้งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของมหากาพย์การคัดค้านเขื่อนปากมูล หลังจากนั้นขบวนเริ่มมีการจัดการตนเองในลักษณะการเชื่อมโยงกลุ่มงานต่างๆ เข้าหากันเป็นเครือข่ายข้ามประเด็นและข้ามพื้นที่มากขึ้น เพื่อผนึกกำลังและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวที่มุ่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เช่น การรวมตัวของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ในปี ๒๕๓๗ และสมัชชาคนจนในปี ๒๕๓๘ เป็นต้น
โดย ภัทร กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2558
ถ้าชีวิตของผมเป็นเหมือนหนังสือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คงเปรียบเหมือนการขึ้นบทใหม่ จากแต่เดิมที่เรียนรู้อยู่กับชุมชนมาได้ ๔ ปี ถึงตอนนี้ บริบททั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป ช่วงต่อไป ผมต้องออกมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีการประคองใกล้ชิดจากลุง (วิศิษฐ์ วังวิญญู) และชุมชนอย่างที่เคยเป็นมา ในช่วงที่เกิดการปรับเปลี่ยนใหม่ๆ ต้องยอมรับว่า รู้สึกสั่นสะเทือนมาก มันเกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งตัว แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงในชีวิตก็ล้วนเป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ? ผมนึกถึงช่วงที่ตัวเองเดินทางออกจากกรุงเทพฯ จากชีวิตในระบบมาสู่การเรียนรู้วิถีใหม่ที่ชุมชนเชียงราย ในตอนนั้น หลังจากติดอยู่ในวังวนยาเสพติดมา ๓ ปี คืนหนึ่ง ในวันที่ชีวิตดิ่งลงถึงจุดต่ำสุด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เริ่มจากแฟนที่เคยเล่นยาอยู่ด้วยกันตัดสินใจแยกทางไป แล้วจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง พ่อแม่ก็เดินทางมาหาพร้อมกับบอกว่า พวกเขารู้แล้วว่าผมติดยา ในเช้าวันนั้นเอง เราก็เดินทางออกจากกรุงเทพฯ มาสู่เชียงรายและชุมชนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
จากวันนั้นถึงวันนี้ กินเวลา ๔ ปีกว่าๆ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้อยู่ในโลกใบใหม่ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง หากจะนิยาม ๔ ปีในชุมชนเป็นบทหนึ่งในหนังสือ ผมจะให้ชื่อบทว่า “การศึกษาที่แท้” เพราะนี่คือการศึกษาที่ลงลึกถึงหัวใจ ไม่ใช่การเรียนเพื่อจดจำเนื้อหาดังที่เคยเป็นมา แต่ทุกๆ บทเรียนที่เกิดขึ้นคือความเข้าใจที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวตนของผมอย่างถึงราก ผมเลิกยาได้จากความสนิทสนมที่มีกับลุง ผมเริ่มเปิดตัวเองสู่โลกของการอ่านการเขียน จากคนที่เคยขยาดแขยงหนังสือเล่มหนาๆ ชื่อยากๆ มาวันนี้ ผมสามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้อย่างเมามัน อย่างที่ไม่กลัวว่าตัวเองจะไม่เข้าใจ และที่สำคัญ จากเด็กขี้อายที่ลึกๆ ยังรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตัวเองอยู่ตลอด ตอนนี้ผมสามารถเป็นผู้นำพาการเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มีนาคม 2558
ผู้นำที่ไม่สามารถออกจากกล่อง
แล้วเขาจะออกจากกล่องได้อย่างไร?
ทำอย่างไรผู้นำจึงจะสามารถออกจากกล่อง โดยสามารถทะลุกรอบคิดอันคับแคบออกไปได้
นี่คือประสบการณ์ของผมกับการทำงานกับผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรต่างรูปแบบมานับครั้งไม่ถ้วน ผมค้นพบว่าผู้นำจะติดอยู่ในกรอบของอะไรบ้างดังนี้
สิ่งที่ผู้นำทำได้ยากคือ
หนึ่ง การเปิดโอกาสให้คนอื่นตัดสินใจ ได้เป็นองค์กรจัดการตัวเอง ในระดับเจตจำนง (Willing) คือการปล่อยให้เกิดการเรียนรู้ โดยเปิดให้คนคนนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ให้เป็นองค์กรจัดการตัวเอง ในวิวัฒนาการขององค์กร เมื่อกลายเป็นวิวัฒนาการระดับสูงสุดเท่าที่เป็นได้ องค์กรจะเปิดให้คนทำงานได้มีโอกาสตัดสินใจในการทำงานของตัวเอง ในระบบการศึกษาคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เอง