โดย
พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 เมษายน 2558
“เชสเมมโมเรียล” เป็นบ้านพักคนชราในรัฐนิวยอร์กที่ได้มาตรฐาน ตอนที่บิล โทมัสไปเป็นผู้อำนวยการใหม่ๆ เมื่อ ๑๖ ปีก่อน มีคนชราอยู่ประมาณ ๘๐ คน ทั้งหมดอยู่ในภาวะทุพพลภาพ ช่วยตัวเองแทบไม่ได้ ๔ ใน ๕ เป็นอัลไซเมอร์หรือมีความบกพร่องทางการรับรู้ เจ้าหน้าที่จึงต้องให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด สวัสดิภาพและความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของที่นั่น
บิลเป็นหมอหนุ่มวัย ๓๐ ต้นๆ ที่คุ้นเคยกับโรคภัยไข้เจ็บของคนชราเป็นอย่างดี เพราะโรงพยาบาลเก่าของเขานั้นมีคนชราเข้ามารับการรักษาอยู่เป็นประจำ แต่ทันทีที่ย้ายไปทำงานที่นั่น เขารู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่อยู่รอบตัว ผู้คนดูซึมเซา ห่อเหี่ยว ไร้ชีวิตชีวา ทีแรกเขาคิดว่าเป็นเพราะความผิดปกติในร่างกาย จึงสั่งตรวจสุขภาพคนชราทุกคนอย่างจริงจัง ทั้งสแกน ตรวจเลือด และเปลี่ยนยา แต่ผ่านไปหลายสัปดาห์เขาก็ยังไม่พบสาเหตุ
จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ข้อสรุปว่า ตัวการที่ทำให้ผู้คนที่นั่นไร้ชีวิตชีวามี ๓ ประการ ได้แก่ ความเบื่อหน่าย ความอ้างว้าง และความรู้สึกสิ้นเรี่ยวสิ้นแรง วิธีเดียวที่จะจัดการกับสาเหตุดังกล่าวก็คือ การเติมชีวิตเข้าไปในบ้านพักคนชรา เขาจึงเสนอให้เอาพรรณไม้สีเขียวมาใส่ไว้ในทุกห้อง รื้อสนามหญ้าแล้วปลูกผักปลูกดอกไม้แทนที่ เท่านั้นยังไม่พอเขายังเสนอให้เอาสัตว์เข้าไปเลี้ยงในนั้น ไม่ใช่แค่หมาหรือแมวตัวเดียว แต่หลายตัว รวมทั้งนกนานาชนิดด้วย
ข้อเสนอประการหลังสร้างความตกใจให้แก่หลายคนรวมทั้งกรรมการบ้านพัก เกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยเลยเพราะสัตว์อาจนำเชื้อโรคมาสู่คนชราได้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดจิปาถะ เช่น การให้อาหาร ทำความสะอาด แล้วยังต้องเก็บกวาดมูลสัตว์อีก เป็นการเพิ่มภาระแก่เจ้าหน้าที่ ยังไม่ต้องพูดถึงกฎของรัฐที่อนุญาตให้บ้านพักคนชรามีหมาหรือแมวแค่ตัวเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามบิลยืนยันข้อเสนอของตัว เขาถึงกับไปเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ผ่อนคลายระเบียบดังกล่าวจนได้ไฟเขียว สุดท้ายกรรมการบ้านพักก็ยินยอมตามข้อเสนอของเขา
วันแรกที่เริ่มโครงการนี้ เกิดความโกลาหล เพราะนอกจากหมา ๔ ตัว แมว ๒ ตัว กระต่ายและไก่ฝูงหนึ่งแล้ว ยังมีนกแก้วนับร้อยเข้ามาพร้อมกัน การดูแลสัตว์เหล่านี้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บางครั้งก็มีการเกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนเก็บกวาดขี้ที่หมาถ่ายไว้บนพื้นห้อง เจ้าหน้าที่หลายคนบอกว่างานของตนคือดูแลคนชรา ไม่ใช่ดูแลสัตว์ อย่างไรก็ตาม ไม่นานปัญหาดังกล่าวก็ค่อยๆ หมดไป สาเหตุสำคัญก็เพราะทุกคนสังเกตว่า บรรยากาศของที่นั่นแปรเปลี่ยนไป คนชราทั้งหลายเริ่มตื่นตัวและมีชีวิตชีวา
คนชราบางคนซึ่งไม่พูดไม่จากับใครมานาน จนใครๆ คิดว่าพูดไม่ได้แล้ว เริ่มพูดขึ้นมา บางคนซึ่งเอาแต่นั่งนิ่ง ไม่ยอมไปไหน และไม่สุงสิงกับใคร วันหนึ่งก็เดินมาหาเจ้าหน้าที่แล้วบอกว่า “ผมจะพาหมาไปเดินเล่น” บางคนก็มารายงานให้เจ้าหน้าที่ว่า “วันนี้นกไม่กินอะไรเลย” หรือมาเล่าว่า “นกร้องทั้งวัน” มีหญิงชราคนหนึ่ง ทีแรกก็นั่งดูเจ้าหน้าที่เดินไปเดินมา วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ถามเธอว่าสนใจตามเขาไปเลี้ยงนกไหม เธอพยักหน้าแล้วเดินตามไป ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ให้น้ำนก เธอก็ถือของช่วย วันต่อมาเธอก็ขมีขมันดูแลนกตัวนั้นเอง
บิลเล่าถึงชายชราผู้หนึ่ง ซึ่งสูญเสียภรรยาที่อยู่ด้วยกันมานานถึง ๖๐ ปี หลังจากนั้นเขาก็หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต กินอะไรก็ไม่ลง วันหนึ่งเขาขับรถพุ่งลงคู ตำรวจสันนิษฐานว่าเขาพยายามฆ่าตัวตาย ลูกๆ จึงส่งมาที่เชสเมมโมเรียล ตลอดสามเดือนที่อยู่ที่นั่น เขาหงอยเหงาเซื่องซึม ไร้ชีวิตชีวา ไม่ว่าให้ยาอะไรก็ไม่ช่วย รวมทั้งยาระงับโรคซึมเศร้า สุดท้ายเขาก็หยุดเดิน เก็บตัวอยู่แต่บนเตียง ไม่ทำอะไร และไม่ยอมกินอะไรเลย เห็นได้ชัดว่าเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว
แล้ววันหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็เอานกแก้วมาให้เขาคู่หนึ่ง เขาไม่ปฏิเสธ แต่ก็นั่งดูนกแก้วเฉยๆ ดูเหมือนว่าเขาไม่สนใจมันเลย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาให้อาหารนก เขาก็เล่าให้ฟังว่า นกเป็นอย่างไร และมันชอบอะไรบ้าง เป็นครั้งแรกที่เขาแสดงให้เห็นถึงความสนใจสิ่งนอกตัว แทนที่จะจมอยู่กับตัวเอง
ไม่นานเขาก็เริ่มกิน สวมเสื้อผ้าเอง และเดินออกจากห้อง เขาตรงไปหาเจ้าหน้าที่และบอกว่า หมาควรเดินเล่นทุกบ่าย เขาขออาสาพาหมาไปเดินเล่นเอง สามเดือนหลังจากนั้นเขาก็กลับเป็นปกติ และกลับบ้านได้
ไม่เพียงพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป สุขภาพของคนชราเหล่านั้นก็ดีขึ้นด้วย การวิจัยตลอดสองปีที่จัดทำโครงการดังกล่าว พบว่ายาที่ให้แก่คนชราในเชสเมมโมเรียลลดลงเหลือแค่ครึ่งหนึ่งของยาที่ให้แก่คนชราในที่อื่น โดยเฉพาะยากระตุ้น เช่น ฮาลดอล ลดลงอย่างฮวบฮาบ ค่ายาลดลงเหลือแค่ ๓๘ เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับบ้านพักคนชราแห่งอื่น ขณะเดียวกันจำนวนคนตายก็ลดลง ๑๕ เปอร์เซ็นต์
ประสบการณ์ที่เชสเมมโมเรียลชี้ชัดว่าธรรมชาติ ไม่ว่าสัตว์และต้นไม้ มีผลต่อจิตใจของคนชรามาก มันได้นำชีวิตชีวามาแทนที่ความเบื่อหน่าย ขจัดความอ้างว้างเพราะทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนคู่ใจ ช่วยดึงจิตให้ออกจากกรงที่ขังตัวเอง เป็นเครื่องยืนยันถึงสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่มนุษย์มีกับธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ชื่นชมธรรมชาติเท่านั้นยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วย เคยมีการทดลองที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในรัฐคอนเน็คติกัต ทุกคนได้รับต้นไม้หนึ่งต้น ต่างกันตรงที่ว่า คนชราครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้รดน้ำต้นไม้เอง รวมทั้งฟังคำบรรยายเกี่ยวกับอานิสงส์ของการดูแลรับผิดชอบตนเอง อีกครึ่งหนึ่ง มีคนรดน้ำต้นไม้ให้ รวมทั้งฟังคำบรรยายว่าเจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของเขาอย่างไรบ้าง ผ่านไปหนึ่งปีครึ่ง นักวิจัยพบว่า คนชรากลุ่มแรกมีความกระฉับกระเฉงกว่า ตื่นตัวมากกว่า และมีอายุยืนยาวกว่าด้วย
การวิจัยดังกล่าวนอกจากบ่งชี้ถึงคุณประโยชน์ของต้นไม้หรือธรรมชาติแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า การได้ทำหรือรับผิดชอบอะไรสักอย่างนั้นมีผลดีต่อจิตใจและสุขภาพ ยิ่งสิ่งนั้นมีชีวิตจิตใจด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดความสุข หลายคนมีความสุขที่ได้เลี้ยงแมวจรจัดหมากำพร้า ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ทั้งความสุขและความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าล้วนส่งผลให้คนชราที่เคยหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต อยากมีชีวิตอยู่ต่อ รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร และนั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่
คนเราไม่ได้ต้องการแค่ปัจจัยสี่และความปลอดภัยเท่านั้น แต่ก็ยังต้องการคุณค่าทางจิตใจ อาทิ เช่น สายสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง การได้ทำสิ่งที่มีความหมาย รวมทั้งความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า สิ่งเหล่านี้ประมวลกันเป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ คนชราและคนป่วยจำนวนไม่น้อย แม้จะได้รับการดูแลทางกายอย่างดี แต่เป็นเพราะขาดคุณค่าทางจิตใจดังกล่าว จึงไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป แต่หากมิติดังกล่าวได้รับการตอบสนอง แม้จะทุพพลภาพเพียงใด เขาก็อยู่ด้วยความสุขใจ และอาจจากไปอย่างสงบสุขด้วยเช่นกัน
แสดงความคิดเห็น